Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

โครงการ “Plastic Footprint Reduction และหนทางในการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต” จัดโดย สมาคมการจัดการของเสียแห่งประเทศไทย

สมาคมการจัดการของเสียแห่งประเทศไทย (SWAT) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการทางออนไลน์สำหรับโครงการลดพลาสติกฟุตปรินท์ ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SEA Circular ซึ่งริเริ่มโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNEP) และ Coordinating Body on the SEA of East Asia (COBSEA) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสวีเดน

เป้าหมายของโครงการนี้คือการลดพลาสติกที่ต้นทางผ่านการร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการศึกษา โครงการนี้มุ่งเน้นที่ต้นเหตุของปัญหา เนื่องจากมลพิษพลาสติกในทะเลมากกว่า 80% มาจากกิจกรรมบนบก โดยส่วนใหญ่เกิดจากทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยเอง

ใจความสำคัญของการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดย ฯพณฯ ยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล (H.E. Mr. Jon Åström Gröndahl) เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย และ ดร.อิซาเบล หลุยส์ (Dr Isabelle Louis)
รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ UNEP นั้น คือการให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับความจำเป็นของการร่วมมือกัน และความสำคัญของบทบาทของพันธมิตรภาคเอกชนในการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของพลาสติก

5 ภาคส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ อาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม และการบริการ เทศบาล และการศึกษา องค์กรต่างๆ ที่ร่วมโครงการประกอบไปด้วย
บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด บริษัท คอสมอสบริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเท็กซ์อินดัสตรี-
คอร์ปอเรชั่น จำกัด โรงแรม เดอะ สุโกศล ซิกซ์เซนส์เซส โฮเทล รีสอร์ท สปาส์ เทศบาลตำบลเวียงเทิง อ.เทิง
จ.เชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย และโรงเรียนวัดสร้อยทอง

 

การดำเนินการของโครงการนี้ประกอบด้วยการฝึกอบรมการวัดพลาสติกฟุตปรินท์ ให้แก่สมาชิกขององค์กรพันธมิตรและแต่ละองค์กรได้ทำการสำรวจข้อมูลพลาสติกฟุตปรินท์ เพื่อบ่งชี้ข้อมูลพื้นฐานและจุดที่ควรปรับปรุง ตามมาด้วยการพูดคุยเพื่อให้คำแนะนำแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกัน

การฝึกอบรมและคำแนะนำเรื่องพลาสติกฟุตปรินท์ ดำเนินการโดยคุณดัค วูดริง (Mr Doug Woodring) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Ocean Recovery Alliance ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง ที่ได้แบ่งปันเรื่องความสำคัญของการวัดและการทำความเข้าใจพลาสติกฟุตปรินท์ของเรา

ดร.จินดารัตน์ เทเลอร์ (Dr Chindarat Taylor) ประธานโครงการลดพลาสติกฟุตปรินท์ และอุปนายกสมาคมฯ นำเสนอผลลัพธ์และข้อค้นพบที่สำคัญในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีความพยายามอย่างมากมายในการคิดและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ การใช้วัสดุทางเลือก เช่น พลาสติกรีไซเคิลและวัสดุชีวภาพ และการดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติก เช่น นวัตกรรมในการเก็บรวบรวมถุงและกล่อง การนำมาใช้ซ้ำและการรีไซเคิลเศษการผลิตจากการผลิต การลดและเลี่ยงการใช้และการรีไซเคิลพลาสติกในโรงแรม โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เทศบาลแห่งหนึ่งส่งขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ไปยังโรงงานปูนซีเมนต์เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทั้งในประเทศไทยและที่อื่นๆ

ความร่วมมือคือกุญแจสู่ความสำเร็จ และโครงการนี้ได้นำบริษัทต่างๆ มารวมกันเพื่อเร่งให้เกิดนวัตกรรม เช่น บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กำลังเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับองค์กรพันธมิตรบางแห่ง

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้นเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่นเพิ่มโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่ยังขาดในหลายพื้นที่ สำหรับการรีไซเคิลทั้งทางกลและทางเคมี และโรงหมักปุ๋ยจากพลาสติกชีวภาพในระดับอุตสาหกรรม รัฐบาลสามารถมีบทบาทสำคัญในการนำกฎระเบียบและสิ่งจูงใจในด้านต่างๆ เช่น
การเพิ่มสัดส่วนพลาสติกรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ การแยกขยะที่ต้นทาง และการเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
การนำ Extended Producer Responsibility (EPR) มาประยุกต์ใช้ จะช่วยให้เกิดการปรับปรุงเชิงโครงสร้างในระยะยาว

ดร.จินดารัตน์สรุป โดยกล่าวว่าอนาคตอยู่ในมือเรา และความร่วมมือระหว่างบริษัท ลูกค้า ซัพพลายเออร์ ตลอดจนรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือหนทางที่จะมุ่งสู่การลดพลาสติกในทะเล สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ
การเปลี่ยนแปลงนี้กำลังเกิดขึ้นและรุดหน้าไปด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลที่ได้จากโครงการนี้จะมีความยั่งยืนและช่วยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยต่อไปในอนาคต

องค์กรพันธมิตรได้แบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการลดพลาสติกฟุตปรินท์และแสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเพิ่มเติมโดยทำงานร่วมกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก

ศ.ดร.อรทัย ชวาลภาฤทธิ์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับองค์กรพันธมิตรในการแบ่งปันประสบการณ์และการเรียนรู้ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาและปรับปรุงในอนาคต

นายภัทรพล ตุลารักษ์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า งานประชุมในวันนี้ได้มีผู้เชี่ยวชาญในสาขาสำคัญๆ มาให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับมาตรการทางกฎระเบียบและเศรษฐศาสตร์ เพื่อลดพลาสติกฟุตปรินท์ในช่วงต่างๆ ของวัฏจักรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ และการนำ EPR มาทดลองใช้ในประเทศไทย และกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าการวัดและทำความเข้าใจพลาสติกฟุตปรินท์ขององค์กรเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการพลาสติกให้ดีขึ้น ช่วยลดการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่แม่น้ำและทะเล การสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรเป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อทำงานและสนับสนุนความพยายามร่วมกันในการลดปัญหาพลาสติกในมหาสมุทรของเราต่อไป


 

Exit mobile version