Categories
บทความ รีวิว ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

sensor ตรวจจับความเคลื่อนไหวด้วยรังสีอินฟราเรด

“เชื่อว่าคุณคงเคยเข้าไปใช้บริการร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดินเข้าไป จะได้ยินเสียงติ๊งต่อง แจ้งการเข้ามาของคุณๆ ให้พนักงานในร้านทราบ และเสียงทักทาย ก็จะดังตามมา ทั้งที่พวกเขาอาจไม่ได้เห็นคุณด้วยซ้ำ เค้ารู้ได้อย่างไร หน้าที่นี้ตกเป็นของตัวตรวจจับการเคลื่อนไหวครับ แล้วมันทำงานอย่างไร ตามผมมาครับ จะพาไปรู้จัก”

ความเคลื่อนไหวตรวจจับได้อย่างไร ?
สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เลือดอุ่นในภาวะที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีการกระจายพลังงานความร้อนออกมาจากตัวเองในรูปของการแผ่รังสีอินฟราเรดอยู่ตลอดเวลา โดยจะมีปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกายในขณะนั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวปริมาณของการแผ่รังสีก็จะเปลี่ยนแปลง รังสีอินฟราเรดจากมนุษย์หรือสัตว์เลือดอุ่นที่มีระดับความเข้มสูงสุดจะมีความยาวคลื่นประมาณ 9.4 ไมโครเมตร

ตัวตรวจจับความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตหรือที่เรียกว่า โมชั่นเซนเซอร์ (motion sensor) ที่ได้รับความนิยมและใช้งานง่ายคือ ตัวตรวจจับแบบอินฟราเรด ซึ่งใช้หลักการตรวจจับ​ที่​เรียกว่า ​ไพโรอิ​เล็ก​ตริก (pyro-electric) อัน​เป็นการ​ตรวจจับ​การ​แผ่รังสี​อินฟราเรด หาก​ระดับ​ของ​การ​แผ่รังสี​ไม่​เปลี่ยนแปลง แสดงว่า สิ่งมีชีวิต​ที่​ต้องการ​ตรวจจับ​นั้น​ไม่มี​การ​เคลื่อนไหว แต่​ถ้าหาก​มี​การ​เคลื่อนไหว​เกิดขึ้น ระดับ​ของ​การ​แผ่รังสี​อินฟราเรด​จะ​เปลี่ยนแปลง จึง​เรียกตัว​ตรวจจับ​แบบนี้​ว่า PIR (Passive InfraRed sensor)


รูปที่ 1 ไดอะแกรมการทำงานของตัวตรวจจับการแผ่รังสีอินฟราเรดซึ่งใช้ตรวจจับความเคลื่อนไหว

ใน​รูป​ที่ 1 เป็น​ไดอะแกรม​แสดง​หลักการ​ทำงาน​พื้นฐาน​ของ​ตัว​ตรวจจับ​พลังงาน​ความ​ร้อน​จาก​มนุษย์​หรือ​สัตว์​เลือดอุ่น เมื่อ​เกิด​การ​เคลื่อนไหว​ทำให้เกิด​การ​แผ่รังสี​อินฟราเรด​ขึ้น รังสี​จะ​ถู​กรวม​หรือ​โฟกัส​ไป​ยัง​ตัว​ตรวจ​จับหลัก​โดย​ใช้​เลนส์​แบบ​พิเศษ​ที่​เรียกว่า เลนส์​ไฟ​รเนล​หรือเฟ​รสนัล (Fresnel lens) จากนั้น​ตัว​ตรวจ​จับหลัก​จะ​ทำการ​ขยาย​สัญญาณ​แล้ว​ส่งไปยัง​วงจร​เปรียบเทียบ​เพื่อ​สร้าง​สัญญาณ​เอาต์พุต​ต่อไป


รูปที่ 2 แสดงการทำงานของโมดูล PIR เมื่อนำมาใช้ในการตรวจจับความเคลื่อนไหว

ใน​รูป​ที่ 2 แสดง​สถานการณ์​ที่​แหล่งกำเนิด​รังสี​อินฟราเรด (อาจ​เป็น​มนุษย์​หรือ​สัตว์​เลือดอุ่น) เกิด​การ​เคลื่อนไหว​ภายใน​ระยะ​ทำการ​ของ​ตัว​ตรวจจับ จะ​ทำให้​โมดูล​ตรวจจับ PIR ตรวจจับ​พบ​การ​แผ่รังสี​อินฟราเรด​ที่​แตกต่างกัน จึง​ให้สัญญาณ​เอาต์พุต​เป็น​ลอจิก​สูง (high) อยู่​ชั่ว​ขณะเมื่อ​ตรวจจับ​พบ​การ​เคลื่อนไหว จากนั้น​กลับ​มา​เป็น​ลอจิก​ต่ำ (low) จนกว่า​จะ​ตรวจจับ​พบ​การ​เปลี่ยนแปลง​ของ​ระดับ​รังสี​อินฟราเรด​อีกครั้ง

เลนส์ไฟรเนล
เลนส์​ไฟ​รเนล​เป็น​เลนส์​แบบ​พิเศษ​ที่​ได้รับ​การ​ค้น​คิด​จาก​นัก​ฟิสิกส์​ชาว​ฝรั่งเศส​ชื่อ ​ออกั​สติน ชอง ไฟ​รเนล (Augustin-Jean Fresnel) โดย​แนวคิด​ของ​เลนส์​แบบนี้​คือ เป็น​เลนส์​แบบ​ขั้นบันได​ที่​ยอมให้​แสง​ผ่าน​ได้มาก​และ​จาก​ทุกทิศทาง ดัง​มี​โครงสร้าง​ตาม​รูป​ที่ 3


รูปที่ 3 โครงสร้างและหน้าตาของเลนส์ไฟรเนลซึ่งนำมาใช้ในโมดูล PIR

ทั้งนี้​เนื่องจาก​ตัว​เลนส์​ได้​ถูก​สร้างขึ้น​โดย​ลด​เนื้อ​วัสดุ​ใน​ส่วน​ที่​ไม่มีผล​กับ​การ​หักเห​ของ​แสง​ลง​ไป ทำให้​สามารถ​ทำ​เลนส์​ขนาดใหญ่​ที่​มี​น้ำหนัก​เบา​ได้ เดิมที​เลนส์ไฟ​รเนล​นี้​ได้รับ​การ​ออกแบบ​เพื่อให้​นำมาใช้​ใน​การ​กระจาย​ใน​ประภาคาร เพื่อให้​สามารถ​มองเห็น​ประภาคาร​ได้​จาก​ระยะไกล ต่อมา​ได้​มี​การ​พัฒนา​ให้​มี​ขนาด​เล็กลง แล้ว​นำมา​ครอบ​หลอดไฟ​เพื่อ​ทำเป็น​ตะเกียง ทำให้​ตะเกียง สามารถ​ส่องแสง​ได้​สว่าง​และ​มองเห็น​ได้​จาก​ระยะไกล ดัง​รูป​ที่ 4


รูปที่ 4 ตัวอย่างตะเกียงที่ใช้เลนส์ไฟรเนลในการเพิ่มอัตราการส่องสว่าง

แต่​เมื่อ​นำมาใช้​ใน​โมดูล​ตรวจจับ PIR ตัว​เลนส์​ไฟ​ร เนล​จะ​ถูก​ใช้งาน​ใน​ลักษณะ​กลับกัน​คือ ใช้​เลนส์​ไฟ​รเนล​ใน​การ​รวม​แสง​เข้า​มาจาก​ทุกทิศทาง​เพื่อ​โฟกัส​ลง​ไป​ยัง​ส่วน​ตรวจจับ​แสง​อินฟราเรด​ของ​โมดูล​ตรวจจับ PIR เพื่อ​ให้การ​ตรวจจับ​การ​เปลี่ยนแปลง​ของ​รังสี​อินฟราเรด​มี​ความ​ไว​สูง

คุณสมบัติของโมดูลตรวจจับ ZX-PIR
อุปกรณ์ตรวจจับความเคลื่อนไหวที่นำมาเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างในที่นี้คือ โมดูล ZX-PIR ซึ่งใช้ตัวตรวจจับที่เรียกว่า PIR ซึ่งสามารถตรวจจับการแผ่รังสีอินฟราเรด โดยทำงานร่วมกับเลนส์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า เลนส์ไฟรเนล ซึ่งทำหน้าที่รวมรังสีอินฟราเรดที่ตัวตรวจจับได้รับ เพื่อส่งผ่านไปยังตัวตรวจจับ PIR เพื่อทำการประมวลผลต่อไป ในรูปที่ 5 แสดงลักษณะทางกายภาพของโมดูล ZX-PIR และขาต่อใช้งาน


รูปที่ 5 แสดงขนาด, ส่วนประกอบและการจัดขา และหน้าตาของโมดูล ZX-PIR

คุณสมบัติทางเทคนิคที่ควรทราบมีดังนี้
• ระยะการตรวจจับสูงสุด 20 ฟุต
• เมื่อตรวจพบความเคลื่อนไหวจะให้แรงดันเอาต์พุตที่สภาวะสูงที่ขาเอาต์พุต
• ใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงช่วง 10 ถึง 60 วินาทีหลังจากได้รับไฟเลี้ยง
• ใช้ไฟเลี้ยงในย่าน +3.3 ถึง +5V กระแสไฟฟ้าน้อยกว่า 100 mA

การใช้งาน
เนื่องจาก​เอาต์พุต​ของ​โมดูล ZX-PIR เป็น​สัญญาณ​ดิจิตอล​ที่​มี​สอง​สถานะ​คือ ลอจิก​สูง หรือ “1” และ​ลอจิก​ต่ำ​หรือ “0” จึง​สามารถ​เชื่อม​ต่อ​กับ​ขา​พอร์ต​ดิจิตอล​ของ​ไมโคร​คอนโทรลเลอร์​ได้​ทุก​ตระกูล โดย​ต้อง​กำหนด​ให้​ขา​พอร์ต​ที่​เชื่อม​ต่อ​นั้น​เป็น​อินพุต​ดิจิตอล​ก่อน และ​ไม่​ต้อง​ต่อตัว​ต้านทาน​พูลอัป​ที่​ขา​พอร์ต​ของ​ไมโคร​คอนโทรลเลอร์​ซึ่ง​นำมา​ต่อ​กับ​โมดูล ZX-PIR ดัง​รูป​ที่ 6 เนื่องจาก​เอาต์พุต​ของ ZX-PIR ไม่​สามารถ​จ่าย​กระแส​ได้​มาก​พอที่จะ​ควบคุม​ให้​ขา​พอร์ต​เป็น​ลอจิก “0” ใน​ภาวะ​ที่​ไม่​สามารถ​ตรวจจับ​การ​เคลื่อนไหว​ได้ หาก​มี​การ​ต่อตัว​ต้านทาน​พูลอัป​ที่​ขา​พอร์ต​ของ​ไมโคร​คอนโทรลเลอร์


รูปที่ 6 ตัวอย่างการเชื่อมต่อโมดูล ZX-PIR กับไมโครคอนโทรลเลอร์

ที่ไมโครคอนโทรลเลอร์ต้องเขียนโปรแกรมเพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทางลอจิกของขาพอร์ตที่ต่อกับโมดูล ZX-PIR

คลิกเพื่อชมตัวอย่างการใช้ PIR กับหุ่นยนต์เดินตามเส้น iBEAM

จากข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การตรวจจับความเคลื่อนไหวด้วยโมดูล PIR นี้ ความไวหรือประสิทธภาพในการทำงานจะขึ้นกับเลนส์ไฟรเนลเป็นสำคัญ ทางด้านการนำไปใช้งานนั้นจะเห็นได้ว่าง่ายมาก หากแต่ ต้องให้ความใส่ใจในด้านการติดตั้งตัวตรวจจับในตำแหน่งที่เหมาะสม

สนใจซื้อหามาใช้งานได้ที่ www.inex.co.th


 

Categories
Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Glow Buddha Shelf

ออกแบบหิ้งพระสไตล์โมเดิร์นที่มีไฟส่องนำทางในยามค่ำคืน แบบเดินผ่านปุ๊บ ติดปั๊บ กับวงจรง่ายๆ ไม่ต้องใช้ไมโครฯ
 
ปัญหาอย่างหนึ่งในยามค่ำคืนที่หลายคนต้องพบเจอก็คือ ความมืด แน่นอนว่าทำให้คุณมองทางและข้าวของที่วางอยู่บนพื้นไม่เห็น ตอนแรกตั้งใจจะทำไฟส่องทางเดินธรรมดาๆ แต่พอชายตาเห็นพระพุทธรูปในบ้านที่วางไว้บนหลังตู้หนังสือที่ดูไม่ค่อยดีเอาเสียเลย งานนี้เลยต้องมิกซ์แอนด์แมทช์กันหน่อย จึงนำไอเดียไฟส่องทางมาผสานกับงานออกแบบหิ้งพระใหม่ ที่มีระบบไฟเปิดปิดอัตโนมัติคอยให้แสงสว่างเราได้ไปในตัว

โดยรูปแบบหิ้งพระที่เราจะสร้างกันก็จะมีลักษณะดังรูปที่ 1 ใช้แผ่น
พลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น รองรับพระพุทธรูปที่มีหน้าตักกว้าง 17 ซม. ได้พอดี แต่แนวคิดนี้คงไม่เหมาะกับบ้านที่มีห้องพระแบบเป็นกิจลักษณะนะครับ แต่เหมาะสำหรับบ้านเล็กๆ หรือห้องพักคอนโดฯ ที่มีพื้นที่จำกัด เรียกว่า รุกยืนปุ๊บ ไฟติดปั๊บ


รูปที่ 1 หิ้งพระที่ต้องการสร้าง

การทำงานของวงจร
จากวงจรรูปที่ 2 เริ่มจากเมื่อ ZX-PIR V2.0 ตรวจจับคนเดินผ่านได้ จะส่งกระแสไฟฟ้าไปจ่ายให้กับทรานซิสเตอร์ Q1 ส่งผลให้รีเลย์ต่อหน้าสัมผัสที่ตำแหน่ง C (commond) และ NC (normal close) เข้าด้วยกัน ทำให้ LED ทั้งชุดส่องพระและชุดส่องแจกันหลอดแก้วติดสว่าง โดยจะติดสว่างไปจนกว่าจะครบการหน่วงเวลาที่ปรับไว้ของ ZX-PIR V2.0 และเมื่อครบเวลาการหน่วงหาก ZX-PIR V2.0 ไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ ZX-PIR V2.0 ก็จะหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ Q1 รีเลย์จะหยุดการต่อหน้าสัมผัส C และ NC ทำให้ LED ทั้งสองชุดดับ

สร้างแผงวงจรควบคุมระบบไฟส่องสว่าง
เริ่มด้วยการเสียบอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์รุ่น uPCB02C ในตำแหน่งตามรูปที่ 3 จุดที่เป็นวงกลมสีแดงคือจุดติดตั้งขาอุปกรณ์ โดยให้ทำการคว้านรูติดตั้ง รีเลย์ และ IC1 ด้วยดอกสว่านขนาด 1 มม. หากไม่มีดอกสว่านอาจใช้ตะปูกดลงไปทั้งด้านบนและด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์จนสามารถเสียบอุปกรณ์ได้ ทำการบัดกรีแล้วเชื่อมต่อจุดเชื่อมต่อต่างๆ บนแผ่นวงจรพิมพ์ให้ครบ จากนั้นให้จัดเตรียมและเชื่อมต่อสายอุปกรณ์ต่อพ่วงต่อไปนี้
สายแจ๊กอะแดปเตอร์ตัวเมีย ใช้สายไฟ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายต่อ ZX-PIR V2.0 ใช้สาย IDC1MF จำนวน 3 เส้น
สายไฟเลี้ยง LED ส่องพระ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายไฟเลี้ยง LED ส่องหลอดแก้ว 2 เส้น ยาวเส้นละ 30 ซม. (2 ชุด)
สุดท้ายเชื่อมต่อจุดบัดกรีของอุปกรณ์ด้านล่างเข้าด้วยกันดังรูปที่ 4

รูปที่ 2 วงจรของหิ้งพระเรืองแสง

 

รูปที่ 3 การจัดวางอุปกรณ์ด้านบนและการเชื่อมต่อด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์

รูปที่ 4 แผ่นวงจรพิมพ์ที่ติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว

ลงมือสร้างหิ้งพระ
เริ่มจากนำแผ่นพลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น มาตัดให้ได้ชิ้นส่วนตามแบบ (ดาวน์โหลดแบบ) ด้วยคัตเตอร์ให้ครบทุกชิ้น จากนั้นลงมือประกอบตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย
(1) นำพลาสวูด L1 และ R1 ประกบกับ T1 ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำ F1 และ B1 ประกบเข้าไปจะได้ส่วนของฐานบนสำหรับวางองค์พระดังรูปที่ 5.3

(2) นำพลาสวูดแผ่น C1 และ C2 มาตัดทำมุม 45 องศาด้วยคัตเตอร์ ดังรูปที่ 6.2 จากนั้นใช้ไดร์เป่าลมร้อนดัดให้โค้งเป็นซุ้ม แล้วติดด้านที่ตัด 45 องศาเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 6.3

คลิกเพื่อชมวิดีโอตัวอย่างการดัดพลาสวูด

(3) นำซุ้มที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 มาติดบนฐานพระดังรูปที่ 7.1 และ 7.2

(4) นำ L2 และ R2 ประกบเข้ากับแผ่น T2 เพื่อสร้างเป็นฐานด้านล่างของหิ้งดังรูปที่ 8.1

(5) เจาะช่องแจกันหลอดแก้วบนแผ่น T2 โดยการนำหลอดแก้วมาทาบและเจาะเป็นช่องด้วยวงเวียนคัตเตอร์ โดยทำทั้งสองข้างของฐานหิ้งดังรูปที่ 9.1 และ 9.2

(6) จับฐานหิ้งหงายขึ้น ติดตั้งแผ่น i1 และ i2 และแผ่น B2 เข้ากับแผ่น T2 ดังรูปที่ 10

(7) บัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 30 ซม. เข้ากับ LED 8 มม. สีขาว ทั้งสองดวงดังรูปที่ 11.1 จากนั้นใช้สว่านเจาะรูที่แผ่น T2 ขนาด 2 มม. แล้วสอดสายไฟออกไปอีกด้าน

(8) นำเศษพลาสวูดทรงกลมที่ถูกตัดจากขั้นตอนที่ 5 มาเจาะรูให้พอดีกับ LED 8 มม. จากนั้นติดตั้งเข้ากับแผ่น B2 โดยให้ LED หงายขึ้นสำหรับส่องหลอดแก้วดังรูปที่ 12.3 ทำเหมือนกันทั้งสองข้างดังรูปที่ 12.3 ยึดพลาสวูดเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน

(9) ทำไฟส่ององค์พระพุทธรูป โดยบัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 10 ซม. เข้ากับ LED แถบอ่อนดังรูปที่ 13.1 ลอกกาวที่แถบ LED ออก แล้วติดที่ฐานของซุ้มดังรูปที่ 13.2 เจาะรู 2 มม. สอดสายไฟเข้าไปด้านในดังรูปที่ 13.3

(10) เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.3 ซม. ที่ด้านหน้าฐานซุ้มสำหรับติดตั้ง ZX-PIR V2.0 จากนั้นเจาะรูติดตั้งแจ็กอะแดปเตอร์ไว้ด้านหลัง นำชุดแผงวงจรตรวจจับลงติดตั้งในกล่อง สำหรับแผงวงจรให้ใช้สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็กขันยึดรูของแผ่นวงจรพิมพ์เข้ากับพลาสวูด ส่วน ZX-PIR V2.0 ยึดด้วยปืนยิงกาว แล้วเชื่อมต่อสายไฟของชุด LED ส่ององค์พระ ส่วนไฟส่องหลอดแก้วให้ต่อตัวต้านทาน 450 โอห์ม คั่นไว้ดวงละ 1 ตัว การต่อดูจากรูปวงที่ 2 ประกอบ เมื่อต่อเสร็จแล้วใช้เทปพันสายไฟพันหุ้มขาและตัวต้านทานให้เรียบร้อยดังรูปที่ 14.5

(11) สุดท้ายประกอบชุดลิ้นชัก เริ่มจากนำแผ่นฝาข้างลิ้นชัก 2 ชิ้น แผ่นฝาท้าย และแผ่นพื้นลิ้นชัก มาประกอบเข้ากับแผ่น F2 ดังรูปที่ 15.1 จะได้ลิ้นชักสำหรับเก็บหนังสือพระธรรม หรือเก็บข้าวของอื่นๆ ดังรูปที่ 15.2

(12) นำแจกันหลอดแก้วเสียบลงในรูทั้งสองด้าน แล้วทำการทดสอบ เริ่มจากเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 9 หรือ 12 V แต่ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ 9 V จะได้แสงสว่างกำลังดี ลองใช้มือเคลื่อนผ่านหน้าหิ้งไฟจะต้องติด และจะดับลงตามการปรับค่าการหน่วงเวลาที่ตัว ZX-PIR V2.0 ก็เป็นอันเสร็จจากนั้นก็นำองค์พระพุทธรูปมาวางได้เลย

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/4 วัตต์
R1 : 1 kΩ
R2.R3 : 450 Ω 2 ตัว
ตัวเก็บประจุอิเล็กทรอไลต์
C1 : 47 µF 25 V
C2 : 220 µF 25 V
อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 : LM2940
Q1 : BC337
D1,D2 : 1N4001 2 ตัว
LED สีขาวแบบแถบอ่อน 2 ชุด (3 ดวง/ชุด)
LED สีขาว 8 มม. 2 ดวง
อื่นๆ
โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR V2.0
รีเลย์ 5 โวลต์
แจ็กอะแดปเตอร์แบบยึดแท่น
สาย IDC1MF 3 เส้น
หลอดแก้วหรือหลอดทดลอง 2 หลอด
พลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. 7 แผ่น
แผ่นวงจรพิมพ์ uPCB02C
เครื่องมือ
กาวร้อน
มีดคัตเตอร์
ปืนยิงกาว
หัวแร้งและตะกั่วบัดกรี
หมายเหตุ : ZX-PIR V2.0, แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ uPCB02C และพลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. มีจำหน่ายที่ www.inex.co.th สอบถามเพิ่มเติมโทร 0-2747-7001-4

แล้วเราก็ได้ของแต่งบ้านชิ้นใหม่ ขั้นตอนอาจจะดูยุ่งยากไปหน่อยแต่ถ้าลงมือปฏิบัติแล้วจะรู้ว่าง่ายมากๆ

อย่างไรก็ตามการบูชาพระพุทธรูปนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อการบนบานสานกล่าวนะครับ เรามีติดบ้านไว้เพื่อระลึกถึงพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้เรานำมาปฏิบัติ เพื่อรู้ตามเห็นตามซึ่งอริยสัจ 4 ยังประโยชน์ให้ถึงซึ่งวิมุตติ ขอให้เจริญในธรรมและสนุกกับการประดิษฐ์ครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Exit mobile version