Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Brake lamp Tester

หากคุณอยากรู้ว่าไฟเบรคของคุณทำงานปกติหรือไม่ คุณจะต้องทำอย่างไร?

คำตอบอยู่ที่นี่แล้วครับ ด้วยนวัตกรรมใหม่แห่งมนุษยชาติได้กำเนิดขึ้นแล้วที่นี่ที่เดียว กับอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบไฟเบรครถยนต์ ที่ใช้หลักการทำงานสุดแสนจะง่ายดาย แต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพในการทำงาน อาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงไม่กี่ชิ้น กับฝีมือด้านการประดิษฐ์อีกเล็กน้อย ก็ได้ตุ๊กตาจุ๊บๆ ดูดติดไฟเบรคยามต้องการทดสอบว่าไฟเบรคของคุณยังทำงานปกติดีหรือไม่

​สิ่ง​ประดิษฐ์​ขนาดเล็ก​ก​ะทัด​รัด แต่ช่วย​ลดภาระคน​​ใช้​รถยนต์ เพราะ​ใน​ยาม​ที่​ต้องการ​ตรวจสอบ​ว่า​ไฟ​เบรค​ทำงาน​ดี​อยู่​หรือไม่ วิธี​ที่​ง่าย​ที่สุด​คือ เรียก​คน​มา​ช่วย​ดู​ที่​ท้าย​รถ​ขณะ​เรา​เหยียบ​เบรค หาก​ปกติ​ดี ไฟ​เบรค​ที่​ควร​ติด ก็​จะ​ติด แล้ว​ถ้าหากไม่มี​แม้​ใคร​สัก​คน​มา​ช่วย​ดู​ให้​ล่ะ​ จะทำไง​ดี..ง่าย​ที่สุด​ก็​หาทาง​จอด​รถ​ไว้หน้า​กระจก จากนั้น​ดู​การ​ทำงาน​ผ่าน​กระจก​มอง​หลังแต่ไอ้กระจกที่ว่านั้นจะหาได้ที่ไหนหนอ งั้นเรามา​ออกแรง​นิดหน่อย กับ​ลงทุน​เล็กน้อย มา​สร้างตัว​ช่วย​ตรวจสอบ​การ​ทำงาน​ของ​ไฟ​เบรค​กันดีกว่า

แนวคิด
ถ้าหาก​ไฟ​เบรค​มี​สภาพ​ดี เวลา​เหยียบ​เบรค ไฟ​ต้อง​ติด​สว่าง ถ้า​ไฟ​เบรค​เสีย มัน​ก็​ไม่ติด ดังนั้น​การ​ตรวจสอบ​จึง​ใช้​แสง​ของ​ไฟ​เบรค​นี่​ล่ะ​ครับ อุปกรณ์​ตรวจจับ​แสง​ที่​หา​ง่าย​ราคาถูก​คือ LDR หรือ​ตัว​ต้านทาน​แปร​ค่า​ตาม​แสง ใน​ภาวะ​ที่​ไม่มี​แสง​มา​กระทบ มัน​จะ​มี​ค่า​ความ​ต้านทาน​สูง​และ​ลดลง​เมื่อ​ได้รับ​แสง เมื่อ LDR ได้รับ​แสง​ก็​จะ​ทำให้​วงจร​ทำงาน​แล้ว​ขับ LED ให้​กะพริบ และ​กะพริบ​ไป​ตลอด​จนกระทั่ง​ปิดสวิตช์​จ่ายไฟ ดังนั้น​ใน​การ​ใช้งาน​จึง​ให้​นำ​ชุด​ตรวจสอบ​นี้​ไป​ติด​เข้าที่​ตำแหน่ง​ของ​ไฟ​เบรค แล้ว​เปิดสวิตช์จ่ายไฟ พอ​เหยียบ​เบรค แล้ว​ไฟ​เบรค​ทำงาน​ปกติ LDR จะ​ได้รับ​แสง​จาก​ไฟ​เบรค วงจร​จึง​ทำงาน แสดงผล​ด้วย​ไฟกะพริบ


รูป​ที่ 1 แสดง​วงจร​สมบูรณ์​ของ Break lamp Tester

วงจร​และ​การ​ทำงาน
แสดง​ใน​รูป​ที่ 1 อุปกรณ์​ที่​เป็น​หัวใจ​หลัก​คือ LDR1 และ SCR1 โดย​ใน​ภาวะ​ปกติ LDR1 ไม่​ได้รับ​แสง จะ​มี​ค่า​ความ​ต้านทาน​สูงมาก จน​ไม่มี​กระแสไฟฟ้า​ไหล​เข้าที่​ขาเกต (G) ของ SCR1 ทำให้ SCR1 ไม่ทำงาน เมื่อ LDR1 ได้รับ​แสงสว่าง​มากพอ ค่า​ความ​ต้านทาน​ลดลง จึง​เริ่มมี​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน LDR1 ไป​ยัง​ขาเกต​ของ SCR1 ได้ ทำให้ SCR1 ทำงาน เกิด​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน​ตัว​มัน​ไป​ทำให้ LED1 และ LED2 ทำงาน

LED1 และ LED2 เป็น LED แบบ​พิเศษ​หน่อย​ครับ มัน​เป็น​แบบ​กะพริบ​ได้​เมื่อ​ได้รับ​แรงดัน​ไบแอส​ตรง ดังนั้น​เมื่อ SCR1 ทำงาน​ก็​จะ​มี​แรงดัน​ไบแอส​ตรง​ให้​แก่ LED1 และ LED2 ทำให้​มัน​ทำงาน เป็น​ไฟกะพริบ 2 ดวง

ตัว​ต้านทาน R1 มี​ความ​สำคัญมาก ใน​ภาวะ​ที่ LED1 และ LED2 ดับ (เพราะ​การ​ทำงาน​เป็น​ไฟกะพริบ​จะ​ต้อง​มี​ช่วงเวลา​หนึ่ง​ที่​ดับ) หาก​ไม่มี R1 จะ​ทำให้เกิด​ภาวะ​วงจรเปิด ทำให้​มี​แรงดัน​ตก​คร่อม​ที่​ขา A (แอโนด) และ K (แคโทด) ของ SCR1 ส่งผลให้​มัน​หยุด​ทำงาน​เอง​ได้ เมื่อ​มี R1 ต่อ​เข้าไป จะ​ทำให้​มี​กระแสไฟฟ้า​ไหล 2 ทาง​คือ ทาง​หนึ่ง​ผ่าน LED1 กับ LED2 และ​ทาง​หนึ่ง​ผ่าน R1 ใน​สภาวะ​ที่ LED1 และ LED2 ดับ ก็​ยังคงมี​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน R1 ทำให้​แรงดัน​ที่​ขา A และ K ของ SCR1 ยังคงมี​อยู่ SCR1 จึง​ยัง​ทำงาน​อยู่​ต่อไป​ได้ จนกว่า​จะ​มี​การ​ปิดสวิตช์​จ่ายไฟ​เลี้ยง กระแสไฟฟ้า​ที่​ไหลผ่าน R1 เรียกว่า กระแส​โฮลดิ้ง (Holding current) ควร​มี​ค่า​อย่าง​น้อย 5.8mA

การ​สร้าง
วงจร​นี้​มี​อุปกรณ์​ไม่​กี่​ตัว จึง​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ออกแบบ​ลาย​วงจร​พิมพ์ สำหรับ​ตัว​ต้น​แบบผม​ใช้​แผ่น​วงจร​พิมพ์​เอ​นก​ประสงค์​ดัง​รูป​ที่ 2 มา​ตัด​เป็น​วงกลม​ขนาด​เส้น​ผ่า​นศูนย์กลาง 2.5 ซม. ให้​สามารถ​ใส่ลง​ไป​ใน​ตัว​ตุ๊กตา​ได้


รูป​ที่ 2 ขวดเครื่องปรุงแฟนซีใช้เป็นตุ๊กตาและแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ที่เลือกใช้

การ​ติดตั้ง​อุปกรณ์​ให้​ติดตั้ง​ด้าน​ลาย​ทองแดง​โดย​บัดกรี​แปะ​ลง​ไป​เหมือน​การ​บัดกรี​พวก​อุปกรณ์ SMD ดัง​รูปที่ 3 และในรูปที่ 4 จะเป็นรูปวาดการวางอุปกรณ์ทั้งบนแผ่นวงจรพิมพ์และอุปกรณ์ที่ต้องใช้การโยงสายไฟเพื่อติดตั้งกับหัวตุ๊กตา สำหรับกะบะถ่านให้ติดตั้งด้านบนของแผ่นวงจรพิมพ์​แต่รอไว้ติดตั้งในขั้นตอนประกอบเป็นตุ๊กตาเพราะกะบะถ่านจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยึดเกาะกับตุ๊กตา


รูป​ที่ 3 ลักษณะการบัดกรีอุปกรณ์


รูป​ที่ 4 รูปแบบการต่อวงจรเช็กไฟเบรค

เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วก็มาทำการทดสอบ เริ่มด้วยการจ่ายไฟ +3V จากนั้นหาแสงไฟที่มีความสว่างพอๆ กับไฟเบรค แล้วส่องเข้าหา LDR จะทำให้ LED ติดและกะพริบ หากไม่ติดให้ทำการ​ปรับ​ความ​ไว​ใน​การ​ตรวจจับ​แสง​ของ​วงจร ด้วย​การ​ปรับ​ค่า​ของ VR1 ​ในขณะยังส่องไฟให้กับ LDR อยู่ โดยให้ค่อยๆ หมุน VR1 จน LED ติด ก็จะได้จุดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานแล้วครับ

การ​ประกอบ​เป็น​ตุ๊กตาจุ๊บๆ
(1) ติดตั้ง LDR เข้ากับกึ่งกลางของตัวดูดกระจก โดยเจาะรูขนาดเล็ก 2 รู พอให้ขาของ LDR สอดเข้าไปได้ จากนั้นดัน LDR เข้าไปจนแนบสนิทกับตัวดูดกระจก แล้วแยกขา LDR ออกไปคนละด้านแล้วใช้สายไฟขนาดเล็กบัดกรีจากขา LDR ไปยังแผงวงจรดังรูปที่ 4 จากนั้นใช้กาวซิลิโคนใสปิดรูที่ขา LDR สอดเข้าไปเพื่อให้ตัวดูดกระจกยังสามารถรักษาความเป็นสุญญากาศขณะดูดติดกับท้ายรถได้ดังเดิม


รูป​ที่ 5 ติดตั้ง LDR เข้ากับตัวดูดกระจก

(2) นำฝาของขวดเครื่องปรุงที่เป็นเหมือนหัวตุ๊กตา มาตัดส่วนที่เป็นรูสำหรับเทเครื่องปรุงออก เจาะรูตรงดวงตา 2 ข้างด้วยดอกสว่านขนาด 3 มม. เพื่อติดตั้ง LED 2 ดวง และรูด้านข้าง 2 ข้าง สำหรับร้อยสกรู 3 มม. ยาว 25 มม. เพื่อยึดตัวดูดกระจก สุดท้ายให้เจาะรูสำหรับติดตั้งสวิตช์เปิดปิด

(3) นำแผงวงจรที่ลงอุปกรณ์และโยงสายไฟเรียบร้อยแล้วติดตั้งลงไปด้านในดังรูปที่ 6 จากนั้นติดตั้งสวิตช์สำหรับเปิดปิด และ LED ทั้ง 2 ดวงเข้ากับรูที่เจาะไว้ตรงดวงตาด้วยปืนกาวซิลิโคนดังรูปที่ 6 สำหรับแสดงสภาวะไฟเบรค


รูป​ที่ 6 ติดตั้งแผ่นวงจรพิมพ์ลงไปด้านใน รวมทั้งส่วนที่ใช้การโยงสายสวิตช์เปิดปิด และ LED แสดงสภาวะไฟเบรค

(4) บัดกรีกะบะถ่าน 3V รุ่น CR2032 ไว้ด้านบนของแผ่นวงจรพิมพ์ ด้วยขนาดของกะบะถ่านที่มีขนาดกว้างกว่าส่วนหัวของตุ๊กตาเล็กน้อย เมื่อบัดกรีแล้วจึงทำให้แผ่นวงจรพิมพ์ด้านในถูกยึดติดเข้ากับหัวตุ๊กตาได้อย่างแน่นหนาดังรูปที่ 7


รูป​ที่ 7 การติดตั้งกะบะถ่านรุ่น CR2032 จะเห็นว่ากะบะถ่านมีขนาดกว้างกว่าหัวคุ๊กตาเล็กน้อยเมื่อติดตั้งแล้วทำให้แผ่นวงจรพิมพ์ด้านในถูกยึดเอาไว้อย่างแน่นหนา

(5) ตกแต่งช่องติดตั้งสวิตช์ด้วยสติ๊กเกอร์ลายหนัง แล้วนำฝาครอบสวิตช์มาสวมลงไปดังรูปที่ 8


รูป​ที่ 8 ตกแต่งตรงลอยเจาะสวิตช์ด้วยสติกเกอร์และสวมฝาครอบลงไป

(6) ติดตั้งตัวดูดกระจกเข้าส่วนหัวตุ๊กตาด้วยการใช้สกรู 3 มม. ยาว 30 มม. ร้อยเข้าไปตรงรูด้านข้างของหัวตุ๊กตาสอดทะลุห่วงของตัวดูดกระจกโดยให้ร้อยทะลุไปอีกด้านของของหัวตุ๊กตาแล้วล็อกด้วยนอตตัวเมียดังรูปที่ 9


รูป​ที่ 9 ติดตั้งตัวดูดกระจกด้วยชุดสกรู 3 มม. ยาว 30 มม.

เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ การใช้งานก็เพียงนำไปจุ๊บไว้กับฝาครอบไฟเบรคแล้วก็เดินไปเหยียบคันเบรค หาก LED ติดก็แสดงว่าไฟเบรคของเราทำงานปกติ เป็นไงครับลงทุนเพียงไม่กี่บาทก็สร้างความสะดวกให้กับชีวิตได้ ที่สำคัญยังไม่เคยเห็นมีขายในท้องตลาด อาจทำไปจำหน่ายก็เข้าท่าดีนะครับ


 

Categories
Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Pyramid Frame Light

สร้างสรรค์งานศิลปะด้วย LED

สร้างงานศิลปะประยุกต์ด้วย LED เปลี่ยนสีเอง ให้แสงส่องลอดผ่านช่องแคบๆ ออกมาจากปิระมิดจำลองดูลึกลับ อาจใช้ประดับบนโต๊ะทำงาน หรือใช้ทับกระดาษก็ยังได้ลองทำเล่นกันดูนะครับ เพราะโครงงานนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็น่าจะเสร็จ

เตรียมอุปกรณ์
1. LED แบบเปลี่ยนสีได้เอง
2. กระดาษแข็ง
3. กระดาษชานอ้อย
4. แฟ้มพลาสติกสีขาวขุ่น
5. แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์
6. กะบะถ่าน AA 2 ก้อน 1 อัน
7. สวิตช์เปิด-ปิด เลือกใช้สวิตช์ปรอท
8. กาวสองหน้าอย่างบาง และอย่างหนา

ขั้นตอนการสร้าง
1. ตัดแบบของกล่องปีระมิดตามแบบในรูปที่ 1 โดยให้มีฐานกว้างประมาณ 11 ซม.


รูปที่ 1 แบบของกล่องปิระมิด

2. เจาะเป็นช่องสามเหลี่ยมดังรูปที่ 2 ทั้ง 4 ด้าน


รูปที่ 2 ตัดกระดาษแข็งตามแบบแล้วเจาะช่องสามเหลี่ยม

3. ตัดแฟ้มพลาสติกอ่อนสีขาวขุ่นแบบที่แสงส่องผ่านได้ เป็นรูปสามเหลี่ยมดังรูปที่ 3 แปะด้านในกล่องปีระมิด


รูปที่ 3 แปะแฟ้มกลาสติกไว้ด้านในทั้ง 4 ด้าน

4. ตัดกระดาษชานอ้อยให้เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเท่ากับกล่องปีระมิด จากนั้นใช้คัตเตอร์ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ น้อยๆ นำไปติดบนปีระมิดด้วยกาวสองหน้าอย่างบาง โดยติดให้มีระยะห่างของแต่ละชิ้นประมาณ 1-2 มม. เพื่อเป็นช่องให้แสงส่องออกมาได้


รูปที่ 4 นำกระดาษชานอ้อยตัดเป็นชิ้นส่วนมาแปะด้วยกาวสองหน้าอย่างบาง

5. ติดตั้งสวิตช์ปรอท และ LED 4 ดวง บนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์


รูปที่ 5 การต่อวงจร

6. ใช้กาวสองหน้ายึดแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ติดกับกะบะถ่าน


รูปที่ 6 บัดกรีอุปกรณ์ลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แล้วติดบนกะบะถ่าน AA 2 ก้อน

การใช้งาน
เนื่องจากใช้สวิตช์ปรอทในการตรวจจับการเอียงเพื่อให้ LED ทำงาน ดังนั้นเมื่อเราวางตั้งขึ้น สารปรอทภายในหลอดแก้วก็จะไหลไปอยู่ส่วนกลางระหว่างขั้วไฟฟ้าทั้งสองทำให้กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงวงจรทำให้เกิดแสงสีเปลี่ยนสลับไป-มา จนยากจะบรรยาย และหากต้องการปิด ก็เพียงแต่เอียงเจ้าปิระมิดน้อย สารปรอทที่อยู่ในหลอดแก้วก็จะไหลไปอีกทางก็ไม่สามารถนำไฟไฟ้าได้ ก็ถือเป็นการปิดการทำงานครับ

ง่ายๆ แค่นี้ก็สร้างสรรค์เป็นงานอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีศิลปะได้แล้ว ดีไซเนอร์ที่เพิ่งเริ่มสนใจงานอิเล็กทรอนิกส์ และต้องการนำงานไปประยุกต์ให้ลูกค้าก็ลองทำกันดูนะครับ


 

Categories
Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Straw LED Lamp

ประดิษฐ์โคมไฟ LED สำหรับอ่านหนังสือและส่องสว่างยามค่ำคืนแบบง่ายๆ จากวัสดุเหลือใช้

“เมื่อไหร่จะซื้อโคมไฟมาติดให้ซักที” เสียงเล็กๆ ที่ทรงพลังจากแม่บ้านของผม ผู้ชื่นชอบการอ่านหนังสือก่อนนอนเป็นยิ่งนัก ทำเอาเมกเกอร์อย่างเราเริ่มอยู่ไม่เป็นสุข ต้องทำอะไรบางอย่างแล้วล่ะสิ

ในเมื่อโจทย์ที่ได้รับคือไฟสำหรับอ่านหนังสือหัวเตียง จะไปซื้อมาก็มีแต่ราคาสูง แถมเสียเชิงเมกเกอร์อย่างเราเป็นอย่างยิ่ง ว่าแล้วก็ร่างแบบ ทำการคุ้ยๆ เขี่ยๆ ของเก่าในบ้านจนเจอแถบ LED ที่เคยซื้อเก็บไว้ ลองนำมาสอดกับหลอดดูดที่ได้มาจากร้านสะดวกซื้อ แม้ขนาดของหลอดจะเล็กไปหน่อยแต่ก็ไม่เป็นไร ได้แสงขาวๆ สำหรับอ่านหนังสือเป็นใช้ได้ มาดูกันเลยครับว่า ผู้เขียนใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

อุปกรณ์ที่ต้องใช้
1. LED แบบแถบ 6 ดวง
2. หลอดดูดแบบงอได้ 3 อัน
3. ตัวดูดกระจก ทำเป็นฐานยึด
4. แจ็กอะแดปเตอร์
5. สายไฟเส้นเล็กยาวประมาณ 30 ซม.
6. อะแดปเตอร์ไฟตรง 12V.
7. ลวด (เป็นอุปกรณ์เสริม)

เครื่องมือการประดิษฐ์
1. หัวแร้ง+ตะกั่วบัดกรี
2. ปืนยิงกาวพร้อมกาวแท่ง
3. คัตเตอร์

รูปที่ 1 อุปกรณ์ที่ต้องใช้

ขั้นตอนการประดิษฐ์
(1) บัดกรีสายไฟเส้นเล็กเข้ากับขั้วบวกและลบของ LED แบบแถบดังรูปที่


รูปที่ 2 บัดกรีสายไฟเข้ากับขั้วบวกและลบ ของ LED แบบแถบ

(2) นำหลอดดูดมาผ่ากลางให้สามารถสอด LED แบบแถบเข้าไปได้ดังรูปที่ 3 แต่หากผู้อ่านมีหลอดขนาดใหญ่พอสอด LED แบบแถบได้ก็ให้ข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย (ตัวต้นแบบใช้หลอดจากร้านสะดวกซื้อเส้นผ่านศูนย์กลางมันเล็กไปหน่อย)


รูปที่ 3 ผ่าหลอดดูดเป็นแนวยาวเท่ากับ LED แบบแถบ

(3) ค่อยๆ แหวกเพื่อสอดสายไฟและ LED แบบแถบเข้าไปในหลอดดังรูปที่ 4


รูปที่ 4 บรรจุ LED แบบแถบเข้าไปในหลอดดูด

(4) ตัดหลอดอีก 1 ชิ้น ให้ความยาวเท่ากับ LED แบบแถบ ดังรูปที่ 5.1 แล้วผ่าตามแนวยาวดังรูปที่ 5.2 นำไปครอบ LED ดังรูปที่ 5.3 จะได้ตัวโคมดังรูปที่ 5.4


รูปที่ 5 ครอบหลอดอีกชิ้นเป็นโคม LED

(5) ต่อหลอดชิ้นใหม่เพื่อเพิ่มความสูงของโคม โดยให้สายไฟสอดเข้าในหลอดดังรูปที่ 6.1 สอดลวดยาวประมาณ 15 ซม. เข้าไปในหลอดดังรูปที่ 6.2 เพื่อเป็นช่วยรับน้ำหนักและดัดโค้งได้ตามต้องการ จากนั้นสอดปลายหลอดเข้ากับรูของตัวดูดกระจก ดังรูปที่ 6.4


รูปที่ 6 ต่อหลอดและเสริมลวด

(6) ทำตัวครอบปิดแจ็กอะแดปเตอร์ ในที่นี้ใช้ปลายของซิลิโคนแบบหลอดนำมาตัดให้ได้ขนาดตามต้องการแล้วยึดด้วยปืนยิงกาว


รูปที่ 7 ทำฝาครอบแจ็กอะแดปเตอร์

(7) บัดกรีปลายสายเข้ากับแจ็กอะแดปเตอร์ดังรูปที่ 8 แล้วยึดเข้ากับตัวดูดกระจกด้วยปืนยิงกาว


รูปที่ 8 บัดกรีสายไฟและติดตั้งแจ็กอะแดปเตอร์เข้ากับฝาครอบ

เพียงเท่านี้คุณก็ได้โคมไฟอ่านหนังสือประจำหัวเตียง การใช้งานก็เพียงเสียบอะแดปเตอร์ LED ก็สว่างผ่านการกรองแสงไม่ให้จ้าเกินไปด้วยหลอดดูดสีขาวขุ่น และยังปรับก้มเงยได้อีกต่างหาก

ลองทำกันดูนะครับ หรือจะนำไอเดียไปดัดแปลงใช้กับ LED แบบดวงเดี่ยวและใช้กะบะถ่านเอาก็ย่อมได้ สำหรับฉบับนี้ขอนำโคมไฟไปอวดแม่บ้านก่อนล่ะคร้าบ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Glow Buddha Shelf

ออกแบบหิ้งพระสไตล์โมเดิร์นที่มีไฟส่องนำทางในยามค่ำคืน แบบเดินผ่านปุ๊บ ติดปั๊บ กับวงจรง่ายๆ ไม่ต้องใช้ไมโครฯ
 
ปัญหาอย่างหนึ่งในยามค่ำคืนที่หลายคนต้องพบเจอก็คือ ความมืด แน่นอนว่าทำให้คุณมองทางและข้าวของที่วางอยู่บนพื้นไม่เห็น ตอนแรกตั้งใจจะทำไฟส่องทางเดินธรรมดาๆ แต่พอชายตาเห็นพระพุทธรูปในบ้านที่วางไว้บนหลังตู้หนังสือที่ดูไม่ค่อยดีเอาเสียเลย งานนี้เลยต้องมิกซ์แอนด์แมทช์กันหน่อย จึงนำไอเดียไฟส่องทางมาผสานกับงานออกแบบหิ้งพระใหม่ ที่มีระบบไฟเปิดปิดอัตโนมัติคอยให้แสงสว่างเราได้ไปในตัว

โดยรูปแบบหิ้งพระที่เราจะสร้างกันก็จะมีลักษณะดังรูปที่ 1 ใช้แผ่น
พลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น รองรับพระพุทธรูปที่มีหน้าตักกว้าง 17 ซม. ได้พอดี แต่แนวคิดนี้คงไม่เหมาะกับบ้านที่มีห้องพระแบบเป็นกิจลักษณะนะครับ แต่เหมาะสำหรับบ้านเล็กๆ หรือห้องพักคอนโดฯ ที่มีพื้นที่จำกัด เรียกว่า รุกยืนปุ๊บ ไฟติดปั๊บ


รูปที่ 1 หิ้งพระที่ต้องการสร้าง

การทำงานของวงจร
จากวงจรรูปที่ 2 เริ่มจากเมื่อ ZX-PIR V2.0 ตรวจจับคนเดินผ่านได้ จะส่งกระแสไฟฟ้าไปจ่ายให้กับทรานซิสเตอร์ Q1 ส่งผลให้รีเลย์ต่อหน้าสัมผัสที่ตำแหน่ง C (commond) และ NC (normal close) เข้าด้วยกัน ทำให้ LED ทั้งชุดส่องพระและชุดส่องแจกันหลอดแก้วติดสว่าง โดยจะติดสว่างไปจนกว่าจะครบการหน่วงเวลาที่ปรับไว้ของ ZX-PIR V2.0 และเมื่อครบเวลาการหน่วงหาก ZX-PIR V2.0 ไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ ZX-PIR V2.0 ก็จะหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ Q1 รีเลย์จะหยุดการต่อหน้าสัมผัส C และ NC ทำให้ LED ทั้งสองชุดดับ

สร้างแผงวงจรควบคุมระบบไฟส่องสว่าง
เริ่มด้วยการเสียบอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์รุ่น uPCB02C ในตำแหน่งตามรูปที่ 3 จุดที่เป็นวงกลมสีแดงคือจุดติดตั้งขาอุปกรณ์ โดยให้ทำการคว้านรูติดตั้ง รีเลย์ และ IC1 ด้วยดอกสว่านขนาด 1 มม. หากไม่มีดอกสว่านอาจใช้ตะปูกดลงไปทั้งด้านบนและด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์จนสามารถเสียบอุปกรณ์ได้ ทำการบัดกรีแล้วเชื่อมต่อจุดเชื่อมต่อต่างๆ บนแผ่นวงจรพิมพ์ให้ครบ จากนั้นให้จัดเตรียมและเชื่อมต่อสายอุปกรณ์ต่อพ่วงต่อไปนี้
สายแจ๊กอะแดปเตอร์ตัวเมีย ใช้สายไฟ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายต่อ ZX-PIR V2.0 ใช้สาย IDC1MF จำนวน 3 เส้น
สายไฟเลี้ยง LED ส่องพระ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายไฟเลี้ยง LED ส่องหลอดแก้ว 2 เส้น ยาวเส้นละ 30 ซม. (2 ชุด)
สุดท้ายเชื่อมต่อจุดบัดกรีของอุปกรณ์ด้านล่างเข้าด้วยกันดังรูปที่ 4

รูปที่ 2 วงจรของหิ้งพระเรืองแสง

 

รูปที่ 3 การจัดวางอุปกรณ์ด้านบนและการเชื่อมต่อด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์

รูปที่ 4 แผ่นวงจรพิมพ์ที่ติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว

ลงมือสร้างหิ้งพระ
เริ่มจากนำแผ่นพลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น มาตัดให้ได้ชิ้นส่วนตามแบบ (ดาวน์โหลดแบบ) ด้วยคัตเตอร์ให้ครบทุกชิ้น จากนั้นลงมือประกอบตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย
(1) นำพลาสวูด L1 และ R1 ประกบกับ T1 ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำ F1 และ B1 ประกบเข้าไปจะได้ส่วนของฐานบนสำหรับวางองค์พระดังรูปที่ 5.3

(2) นำพลาสวูดแผ่น C1 และ C2 มาตัดทำมุม 45 องศาด้วยคัตเตอร์ ดังรูปที่ 6.2 จากนั้นใช้ไดร์เป่าลมร้อนดัดให้โค้งเป็นซุ้ม แล้วติดด้านที่ตัด 45 องศาเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 6.3

คลิกเพื่อชมวิดีโอตัวอย่างการดัดพลาสวูด

(3) นำซุ้มที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 มาติดบนฐานพระดังรูปที่ 7.1 และ 7.2

(4) นำ L2 และ R2 ประกบเข้ากับแผ่น T2 เพื่อสร้างเป็นฐานด้านล่างของหิ้งดังรูปที่ 8.1

(5) เจาะช่องแจกันหลอดแก้วบนแผ่น T2 โดยการนำหลอดแก้วมาทาบและเจาะเป็นช่องด้วยวงเวียนคัตเตอร์ โดยทำทั้งสองข้างของฐานหิ้งดังรูปที่ 9.1 และ 9.2

(6) จับฐานหิ้งหงายขึ้น ติดตั้งแผ่น i1 และ i2 และแผ่น B2 เข้ากับแผ่น T2 ดังรูปที่ 10

(7) บัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 30 ซม. เข้ากับ LED 8 มม. สีขาว ทั้งสองดวงดังรูปที่ 11.1 จากนั้นใช้สว่านเจาะรูที่แผ่น T2 ขนาด 2 มม. แล้วสอดสายไฟออกไปอีกด้าน

(8) นำเศษพลาสวูดทรงกลมที่ถูกตัดจากขั้นตอนที่ 5 มาเจาะรูให้พอดีกับ LED 8 มม. จากนั้นติดตั้งเข้ากับแผ่น B2 โดยให้ LED หงายขึ้นสำหรับส่องหลอดแก้วดังรูปที่ 12.3 ทำเหมือนกันทั้งสองข้างดังรูปที่ 12.3 ยึดพลาสวูดเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน

(9) ทำไฟส่ององค์พระพุทธรูป โดยบัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 10 ซม. เข้ากับ LED แถบอ่อนดังรูปที่ 13.1 ลอกกาวที่แถบ LED ออก แล้วติดที่ฐานของซุ้มดังรูปที่ 13.2 เจาะรู 2 มม. สอดสายไฟเข้าไปด้านในดังรูปที่ 13.3

(10) เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.3 ซม. ที่ด้านหน้าฐานซุ้มสำหรับติดตั้ง ZX-PIR V2.0 จากนั้นเจาะรูติดตั้งแจ็กอะแดปเตอร์ไว้ด้านหลัง นำชุดแผงวงจรตรวจจับลงติดตั้งในกล่อง สำหรับแผงวงจรให้ใช้สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็กขันยึดรูของแผ่นวงจรพิมพ์เข้ากับพลาสวูด ส่วน ZX-PIR V2.0 ยึดด้วยปืนยิงกาว แล้วเชื่อมต่อสายไฟของชุด LED ส่ององค์พระ ส่วนไฟส่องหลอดแก้วให้ต่อตัวต้านทาน 450 โอห์ม คั่นไว้ดวงละ 1 ตัว การต่อดูจากรูปวงที่ 2 ประกอบ เมื่อต่อเสร็จแล้วใช้เทปพันสายไฟพันหุ้มขาและตัวต้านทานให้เรียบร้อยดังรูปที่ 14.5

(11) สุดท้ายประกอบชุดลิ้นชัก เริ่มจากนำแผ่นฝาข้างลิ้นชัก 2 ชิ้น แผ่นฝาท้าย และแผ่นพื้นลิ้นชัก มาประกอบเข้ากับแผ่น F2 ดังรูปที่ 15.1 จะได้ลิ้นชักสำหรับเก็บหนังสือพระธรรม หรือเก็บข้าวของอื่นๆ ดังรูปที่ 15.2

(12) นำแจกันหลอดแก้วเสียบลงในรูทั้งสองด้าน แล้วทำการทดสอบ เริ่มจากเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 9 หรือ 12 V แต่ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ 9 V จะได้แสงสว่างกำลังดี ลองใช้มือเคลื่อนผ่านหน้าหิ้งไฟจะต้องติด และจะดับลงตามการปรับค่าการหน่วงเวลาที่ตัว ZX-PIR V2.0 ก็เป็นอันเสร็จจากนั้นก็นำองค์พระพุทธรูปมาวางได้เลย

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/4 วัตต์
R1 : 1 kΩ
R2.R3 : 450 Ω 2 ตัว
ตัวเก็บประจุอิเล็กทรอไลต์
C1 : 47 µF 25 V
C2 : 220 µF 25 V
อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 : LM2940
Q1 : BC337
D1,D2 : 1N4001 2 ตัว
LED สีขาวแบบแถบอ่อน 2 ชุด (3 ดวง/ชุด)
LED สีขาว 8 มม. 2 ดวง
อื่นๆ
โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR V2.0
รีเลย์ 5 โวลต์
แจ็กอะแดปเตอร์แบบยึดแท่น
สาย IDC1MF 3 เส้น
หลอดแก้วหรือหลอดทดลอง 2 หลอด
พลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. 7 แผ่น
แผ่นวงจรพิมพ์ uPCB02C
เครื่องมือ
กาวร้อน
มีดคัตเตอร์
ปืนยิงกาว
หัวแร้งและตะกั่วบัดกรี
หมายเหตุ : ZX-PIR V2.0, แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ uPCB02C และพลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. มีจำหน่ายที่ www.inex.co.th สอบถามเพิ่มเติมโทร 0-2747-7001-4

แล้วเราก็ได้ของแต่งบ้านชิ้นใหม่ ขั้นตอนอาจจะดูยุ่งยากไปหน่อยแต่ถ้าลงมือปฏิบัติแล้วจะรู้ว่าง่ายมากๆ

อย่างไรก็ตามการบูชาพระพุทธรูปนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อการบนบานสานกล่าวนะครับ เรามีติดบ้านไว้เพื่อระลึกถึงพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้เรานำมาปฏิบัติ เพื่อรู้ตามเห็นตามซึ่งอริยสัจ 4 ยังประโยชน์ให้ถึงซึ่งวิมุตติ ขอให้เจริญในธรรมและสนุกกับการประดิษฐ์ครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

LED อุปกรณ์พื้นฐานการสร้างสิ่งประดิษฐ์

LED ชื่อนี้คุ้นเคยกันดีในกลุ่มนักอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในกลุ่มของนักประดิษฐ์ที่ไม่เคยแวะเวียนไปเที่ยวเล่นตามบ้านหม้อ หรือไม่เคยแม้แต่นำขาของ LED ไปสัมผัสกับขั้วถ่านเพราะมัวแต่คิดว่าตัวเองไม่ใช่นักอิเล็กทรอนิกส์บ้างล่ะ ไม่มีความรู้เรื่องนี้บ้างล่ะ

Categories
Electronics Arts Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

สร้างงานศิลป์ ระบายสีด้วย LED

สร้างสรรค์งานศิลป์จากแสงของ LED ที่ควบคุมความสว่างและช่วงเวลาของแสงได้

เมื่อพูดถึง LED แล้วคุณนึกถึงอะไร แน่นอนว่าต้องคิดถึงสีสันที่ชวนหลงใหลอันหลากหลายของมัน ยิ่งนับวัน LED ยิ่งมีวิวัฒนาการสามารถสร้างเป็นเฉดสีใหม่ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้นึกสนุกขึ้นมาได้ว่า หากเราระบายสีลงบนผืนผ้าด้วย LED ล่ะ จะออกมาเป็นยังไง

นั่นล่ะครับ จึงเป็นที่มาของโครงงานนี้ และด้วยความเป็นคนชอบประดิษฐ์ของแต่งบ้านจึงไม่รอช้าจัดหาอุปกรณ์มาทดลองประดิษฐ์ให้รู้แจ้งกันไปเลยว่าจะออกมาหน้าตายังไง

แนวคิดการออกแบบ
เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสร้างแนะนำให้หาซื้อภาพวาดที่เขาลงสีไว้แล้วดังรูปที่ 1 จะเหลือพื้นที่ให้จิตกร LED ก็คือส่วนพื้นหลัง ซึ่งจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากท้องฟ้า จึงเหมาะสำหรับมือใหม่ใจร้อนทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วว่าภาพที่เราต้องลงสีคือท้องฟ้า คราวนี้ก็มาเรียงร้อยเรื่องราวโดยแนวความคิดของภาพนี้ก็จะเน้นไปที่บรรยากาศสบายๆ แห่งท้องทุ่งของหนุ่มบ้านไร่ที่ตอนท้ายก็ได้หวานใจไฮโซมาครอบครอง โดยแบ่งกลุ่ม LED ออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่

(1) ดวงอาทิตย์ ใช้ LED สีแดง 8 มม. แบบความสว่างสูง ส่องจากด้านหลังเพื่อให้ดูเหมือนพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า

(2) ท้องฟ้าส่วนล่าง ใช้ LED สีฟ้า 3 มม. แบบความสว่างสูง จำนวน 18 ดวง

(3) ท้องฟ้าส่วนบน ใช้ LED สีน้ำเงิน 8 มม. 15 ดวง

(4) หน้าต่างบ้านใช้ LED สีเหลือง 5 มม. 5 ดวง

(5) พระจันทร์ ใช้ LED สีเหลือง 8 มม. 1 ดวง

ต่อไปก็มาลำดับเนื้อเรื่องกันสักนิดก่อนจะเริ่มประดิษฐ์กันจริงๆ โดยเริ่มจาก เมื่อแสงสว่างในบ้านเริ่มลดลง ดวงอาทิตย์ก็จะติดขึ้นและค่อยๆ หรี่ลงจนดับ พร้อมกับการติดขึ้นของ LED ชุดที่ 2 นั่นก็คือท้องฟ้าส่วนล่างที่จะค่อยๆ เพิ่มความสว่างขึ้น ตามด้วย LED ชุดที่ 3 ท้องฟ้าส่วนบน ก็จะติดและค่อยๆ เพิ่มความสว่างขึ้นเช่นกัน จากนั้นไฟที่หน้าต่างบ้านคนก็ติดขึ้น และปิดท้ายด้วยดวงจันทร์ที่ค่อยๆ สว่างขึ้นจนเห็นชัดเจนเต็มดวง

ขั้นตอนการประดิษฐ์
เมื่อรู้ถึงแนวคิดและลำดับการทำงานของ LED แต่ละชุดไปแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาที่ทุกท่านรอคอย เรามาเริ่มลงมือประดิษฐ์กันเลยครับ

(1) นำกระดาษขนาด B4 หรือกระดาษลอกแบบแผ่นใหญ่ มาวางทับด้านหลังภาพ แล้วใช้ดินสอวาดตามรูปดังรูปที่ 2.2 จากนั้นใช้คัตเตอร์หรือกรรไกรตัดกระดาษ B4 ออกมาเราจะได้แบบของแผ่นกั้นแสงไม่ให้ส่องผ่านตำแหน่งที่เป็นลวดลายที่ได้ลงสีไว้แล้วดังรูปที่ 2.3

(2) ทำส่วนกั้นแสงโดยการนำกระดาษที่ตัดเป็นแบบทาบกับแผ่นยางดังรูปที่ 3.1 แล้วลากเส้นตามแบบด้วยดินสอแล้วตัดแผ่นยางออกมาตามแบบที่วาดไว้ (ขออภัยทำเพลินจนลืมถ่ายรูป)

(3) ตัดพลาสวูดดังรูปที่ 4 สำหรับทำเป็นกรอบเสริมด้านนอกเพิ่มพื้นที่ในการติดตั้งแผงวงจรควบคุม โดยความยาวขึ้นกับขนาดของกรอบรูปที่เราซื้อมา ส่วนความกว้างคือ 5 ซม.

(4) ติดแผ่นยางที่ตัดไว้จากขั้นตอนที่ 2 ลงไปด้านหลังภาพด้วยปืนยิงกาว แล้วติดตั้ง LED ต่อขนานกันลงไปบนแผ่นยางในบางตำแหน่งก่อนทดลองจ่ายไฟ +3V ด้วยแบตเตอรี่ CR2032 เพื่อดูความสว่างด้านหน้าของภาพว่าเกิดเงาสะท้อนหรือไม่ หากเกิดเงาของแผ่นยางพาดผ่านให้แก้ไขโดยการรีดแผ่นยางให้แนบสนิทกับพื้นรูปภาพ จากนั้นติดตั้งแผ่นพลาสวูดเข้ากับกรอบรูปดังรูปที่ 5

(5) ตัดพลาสวูดทำกรอบด้านหน้าเพื่อความสวยงามโดยขนาดขึ้นกับภาพที่ซื้อมาให้มีลักษณะดังรูปที่ 6.1 แล้วนำมาติดตั้งดังรูปที่ 6.3 ด้วยกาวร้อนจะได้กรอบรูปพลาสวูดห่อหุ้มภาพเขียนเอาไว้

(6) ติดตั้ง LED ลงในตำแหน่งที่ต้องการด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 7

(7) เชื่อมต่อตัวต้านทานเข้ากับ LED แต่ละชุด จากนั้นบัดกรีสายต่อมอเตอร์เข้ากับชุด LED ทั้งหมดจำนวน 5 ชุดดังรูปวาดที่ 8 จะได้ชุดไฟ LED สำหรับระบายสร้างบรรยากาศพร้อมนำไปเชื่อมต่อแผงวงจรไมโครคอน โทรลเลอร์รุ่น i-BOX 3S ที่พัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาโลโก้ดังรูปที่ 9 แล้ว

 

(8) เชื่อมต่อแผงวงจรตรวจจับแสง (ZX-02) เข้ากับช่อง SENSOR 3 ของแผงวงจร i-BOX3S จากนั้นบัดกรีสายไฟเส้นเล็กเข้ากับขั้วของสวิตช์กดติดปล่อยดับในตำแหน่ง RUN ดังรูปวาดที่ 8 เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เพราะแผงวงจร i-BOX3S จะทำงานเมื่อกดสวิตช์ RUN

(9) ติดตั้งแผงวงจร i-BOX3S และกะบะแบตเตอรี่ 4 ก้อน ไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วยปืนยิงกาว ไม่ให้บดบังแสงของ LED ขณะทำงานส่องกระทบกับผืนผ้าดังรูปที่ 10

(10) ต่อสาย LED ทุกจุดเข้ากับจุดต่อมอเตอร์โดยให้ LED ชุดท้องฟ้า ส่วนล่างต่อกับ MOTOR-B, ท้องฟ้าส่วนบนต่อกับ MOTOR-A, หน้าต่างต่อเข้ากับ MOTOR-C, ดวงอาทิตย์ต่อกับ MOTOR-D ช่อง Forward (ขั้วต่อสีขาว) , ดวงจันทร์ต่อกับ MOTOR-D ช่อง Backward (ขั้วต่อสีดำ)

(11) เจาะรูขนาด 3 มม. ที่กรอบด้านบนสำหรับติดตั้งแผงวงจรตรวจจับแสงดังรูปที่ 11.1 และ 11.2 และเจาะรูติดตั้งสวิตช์ RUN ที่ต่อพ่วงมาจากแผงวงจร i-BOX3S

 

(12) เปิดโปรแกรม Logo Blocks ขึ้นมา แล้วลากบล็อกมาวางเชื่อมต่อกันตามรูปที่ 12 ส่วนค่าตัวเลขของ SENSOR 3 สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่จะนำภาพไปติดตั้ง จากนั้นดาวน์โหลดโปรแกรมลงสู่แผงวงจร i-BOX3S กดสวิตช์ RUN เพื่อทดสอบการทำงานดังรูปที่ 13

(13) เมื่อโปรแกรมทำงานตามต้องการได้แล้ว มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการนำกระดาษขาวมาปิดบัง LED เอาไว้นอกจากจะช่วยไม่ให้แสงกระเจิงออกภายนอกแล้วยังช่วยสะท้อนแสงให้กระทบกับผืนผ้าได้ดีขึ้นอีกด้วย จากนั้นตัดเศษพลาสวูดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเจาะรูสำหรับแขวนผนังดังรูปที่ 14 ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการประดิษฐ์แล้วครับ

 

ปัญหาและการปรับแต่ง
สำหรับการปรับแต่งนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ปัญหาที่พบมักเกิดจากแสงของ LED เมื่อส่องกระทบกับผืนผ้าแล้วเป็นดวงๆ ไม่กระเจิงหรือดูไม่แนบเนียนเหมือนการระบายสี ให้ขยับเลื่อน LED เข้าไปในแผ่นยางดังภาพวาดที่ 15 ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว ส่วนความหนักเบาของสีก็ขึ้นอยู่กับค่าตัวต้านทานที่ต่อกับ LED แต่ละชุดด้วยนะครับ แต่หากไม่ต้องการเปลี่ยนค่าตัวต้านทานก็สามารถตั้งค่าจากโปรแกรม Logo Blocks ได้ด้วยการกำหนดที่บล็อกคำสั่ง setpower

การปรับแต่งคงมีเพียงเท่านี้ เพราะแผงวงจรที่ใช้ในโครงงานนี้ก็สำเร็จรูปมาให้พร้อมใช้งานอยู่แล้ว ที่เหลือก็อยู่ที่ความอุตสาหะของแต่ละท่านแล้วล่ะครับ ก็ขอให้สนุกกับงานศิลป์ในแบบของคุณได้ ณ บัดนี้

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/2 หรือ 1/4 วัตต์ ±5%
R1 = 30Ω
R2 = 20Ω
R3,R4,R5 = 47Ω   3 ตัว
LED สีฟ้า แบบขุ่น 3มม. 16 ดวง
LED สีฟ้า แบบขุ่น 8มม. 20 ดวง LED สีเหลือง แบบขุ่น 5มม. 5 ดวง
LED สีแดง แบบขุ่น 8มม. 1 ดวง LED สีเหลือง แบบขุ่น 8มม. 1 ดวง
สายต่อมอเตอร์ 5 เส้น
แผงวงจรตรวจจับแสง ZX-02
แผงวงจร i-BOX3S
สายไฟเส้นเล็กหรือสายแพ กรอบภาพเขียนสีน้ำ
พลาสวูด 5 มม. ขนาดขึ้นกับกรอบภาพเขียนที่ซื้อมา
หมายเหตุ : แผงวงจร i-BOX 3Sแผงวงจรตรวจจับแสง สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.inex.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

สอนประดิษฐ์รองเท้าไฟฉาย

อยากเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน แต่ไม่อยากเปิดไฟหัวเตียงเพราะกลัวแสงไฟจะรบกวนคนนอนข้างๆ หรือกระทั่งน้ำท่วมบ้านโดนตัดไฟต้องการไฟฉายแต่ไม่รู้วางไว้ที่ไหน

สิ่งประดิษฐ์นี้จะมาช่วยคุณได้ นั่นคือรองเท้าติดไฟ เพียงแค่คุณสวมรองเท้าคู่นี้เข้าไป จะทำให้คุณหมดปัญหาในเรื่องของแสงสว่างยามค่ำคืน การใช้งานเพียงสวมรองเท้าแล้วเดิน ก็จะมีแสงไฟส่องออกมาจากปลายของรองเท้า โอ้ว !! มันยอดมากเลยใช่ไหม ลงมือทำกันเลย

เตรียมอุปกรณ์
รองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน 1 คู่
กะบะถ่าน CR2032   1 อัน
ถ่าน  CR2032  3V   1 ก้อน
LED สีขาวขนาด 8 มม.    1 ดวง/ข้าง
แถบตีนตุ๊กแก ขนาด 4 x 1.5 ซม. 1 เส้น
สายไฟเส้นเล็กๆ
กาวร้อน  (กาวตราช้าง)
เข็มและด้าย

ลงมือประดิษฐ์กันเลย
(1) ขั้นตอนแรกนำรองเท้าใส่ในบ้านมา 1 คู่ หาซื้อได้ตามร้านไดโซ ที่ขายสินค้าราคาเดียวเพียง 60 บาท จากนั้นใช้คัตเตอร์หรือที่เลาะด้ายเลาะส้นรองเท้าออกประมาณ 5 ซม. ดังรูปที่ 1.1

(2) ขั้นต่อไปวางกะบะถ่านแล้วขีดเส้นเพื่อกำหนดตำแหน่งสำหรับติดตั้ง แล้วใช้คัตเตอร์เจาะตามรอยที่ขีดไว้ลึกลงไป โดยเผื่อให้กะบะถ่านโผล่ขึ้นมาประมาณ 1 มม.

(3) ต่อไปเป็นขั้นตอนการเชื่อมต่อวงจร ดัดขา LED สีขาวขนาด 8 มม. ดังรูปที่ 3.1 บัดกรีสายไฟเข้ากับขาของ LED แล้วนำ LED เสียบเข้าร่องส่วนปลายของรองเท้าเพื่อซ่อนขา LED และสายไฟดังรูปที่ 3.3 เก็บสายไฟให้เรียบร้อยโดยเหน็บเข้าร่องด้านข้างของรองเท้าดังรูปที่ 3.4 เจาะรูเล็กๆ ด้านข้างรองเท้าแล้วสอดสายไฟเข้าไปดังรูปที่ 3.6 เมื่อสอดสายไฟเข้าไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะนำกะบะถ่านไปวาง ให้ใช้คีมดัดขั้วกะบะถ่านด้านขั้วบวกขึ้นดังรูปที่ 3.8 แล้ววางลงไปในรูที่เจาะไว้ในขั้นตอนที่ 2 บัดกรีสายไฟให้เรียบร้อยตามรูปการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ต้องสังเกตขั้วบวกขั้วลบในการต่อให้ดี เพราะถ้าผิดขั้วอาจทำให้ LED พังได้

 

(4) เย็บเก็บชายให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้ผ้าหลุดลุ่ย ดังรูปที่ 4.1  นำแถบตีนตุ๊กแกขนาด 4 x 1.5 ซม. ทากาวร้อนแล้วติดลงไปดังรูปที่ 4.2 เมื่อติดแถบตีนตีนตุ๊กแกเพื่อใช้เปิด-ปิดเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่เสร็จแล้วให้ปิดส้นรองเท้าลง แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ด้วยอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น คุณก็สามารถเดินไปทั่วบ้าน โดยไม่ต้องเปิดไฟเลยสักดวงก็ได้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Toy คุณทำเองได้ (DIY)

ที่เสียบปากกาเรืองแสง

โครงงานการประดิษฐ์ของเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้สุดแสนจะง่ายดายไม่มีอะไรซับซ้อน เอาใจคนที่ชอบขีดๆ เขียนๆ กันซะหน่อย ด้วยการทำที่เสียบปากกาสุดเก๋ เพียงแค่เสียบก็มีไฟ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ช่องเสียบปากกาแต่ละช่องจะได้แสงไฟที่แตกต่างกัน อะอะ.. คงสงสัยละซิว่า ถ้าเสียบปากกาพร้อมกันทั้งสามช่องจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเสียบพร้อมกันก็จะเกิดการผสมสีของ LED ทั้งสามสีเลยทีเดียว อะฮ่า…เป็นไงละแหล่มเลยใช่ไหม เป็นที่เสียบปากกาแถมยังเป็นโคมไฟไปในตัวด้วย เอาล่ะๆ  มาลงมือทำกันเลย

ขั้นตอนการสร้าง
(1) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 23 x 2 ซม. แล้วใช้ความร้อนงอแผ่นพลาสวูดดังรูปที่ 1.1 เสร็จแล้วเจาะช่องลงบนกล่องพลาสติกขนาด 9 x9 ซม.เพื่อเสียบแผ่นพลาสวูดลงไป ใช้ดินสอกำหนดจุดที่จะเจาะลงบนกล่องพลาสติกแล้วใช้สว่านเจาะ จะได้ออกมาดังรูปที่ 1.4

(2) เจาะรูกล่องพลาสติกเพื่อทำที่เสียบปากกา ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 1 มม. ขนาด 4 x 1.5 ซม. 3 ชิ้นแล้วพับครึ่งดังรูปที่ 2.1 ติดลงไปด้านใต้กล่องพลาสติก ใช้ปากกากำหนดจุดเพื่อเจาะช่องเสียบปากกา ใช้กระดาษกาวติดลงไปใต้กล่องพลาสติกเพื่อจะได้เห็นรอยที่กำหนดไว้ได้ชัดเจน แล้วใช้สว่านเจาะรูได้ออกมาดังรูปที่ 2.4

(3) ตัดสายแพ 4 เส้น ยาว 20 ซม. ปอกปลายสายแพดังรูปที่ 3.1 เสร็จแล้วนำเทปโลหะนำไฟฟ้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาด 4 x 1.5 ซม. ติดสายแพ 3 เส้นเข้ากับแผ่นพลาสวูดหนา 1 มม. ซึ่งติดกับกล่องพลาสติกจากขั้นตอนที่ (2)

(4) ตัดแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ขนาด 6 x 0.5 ซม. บัดกรีตะกั่วลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อใช้เป็นหน้าสัมผัสสวิตช์ดังรูปที่ 4.2 ใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์เข้ากับด้านในของแผ่นพลาสวูดขนาด 1 ซม.ซึ่งติดกับกล่องพลาสติกจากขั้นตอนที่ (2) ดังรูปที่ 4.3 ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 5 x 0.5 ซม.ติดลงบนกล่องพลาสติก

(5) เสร็จแล้วติดกะบะถ่าน AAA ลงไป แล้วบัดกรีเชื่อมต่อสายแพที่เหลือ 1 เส้นเข้ากับขั้วลบของกะบะถ่าน ส่วนสายไฟขั้วบวกของกะบะถ่านให้บัดกรีเข้ากับแผ่นวงจรเอนกประสงค์ ดังรูปที่ 5.3 เสร็จแล้วจัดเก็บสายไฟให้เรียบร้อยจะได้ออกมาดังรูปที่ 5.4

(6) เชื่อมต่อวงจร  ตัดกระดาษแข็งสีขาววงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 ซม. จากนั้นตัดกระดาษสีขาวขนาด 15.5 x 4 ซม. ติดเข้ากับกระดาษแข็งวงกลม จะได้ออกมาดังรูปที่ 6.2 ต่อไปบัดกรี LED สีเขียว, ฟ้า และแดงเป็นชุด ชุดละ 3 ดวง โดยมีตัวต้านทาน 100Ω และ 68Ω เป็นตัวจำกัดกระแส บัดกรีลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ขนาด 2 x 1 ซม. ดังรูปที่ 6.3 จากนั้นนำเศษขาอุปกรณ์มาเชื่อมวงจรเข้าด้วยกันดังรูปที่ 6.5

(7) สอดสายแพขึ้นมาด้านบนของกล่องพลาสติกดังรูปที่ 7.1 นำแท่งพลาสวูดที่งอไว้จากขั้นตอนที่ (1.1) เสียบลงในช่องที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่ (1.4) ใช้ปืนยิงกาวยึดกล่องพลาสติกเข้ากับแท่งพลาสวูด เสร็จแล้วตัดกระดาษที่ทำเป็นโคมไฟจากขั้นตอนที่ (6.2) เพื่อให้สอดสายแพเข้ามาได้ดังรูปที่ 7.4 จากนั้นบัดกรีสายแพที่ติดเทปโลหะเข้ากับขาแอโนด (A) ของแผ่นวงจรพิมพ์ทั้ง 3 จุด โดยเลือกได้ตามต้องการ ส่วนอีก 1 เส้น คือกราวด์ ให้บัดกรีเข้ากับจุด (K) ของแผ่นวงจรพิมพ์ เมื่อบัดกรีเรียบร้อยก็ติดแผ่นวงจรพิมพ์ลงในกระบอกกระดาษที่ทำหน้าที่เป็นโคมไฟดังรูปที่ 7.6

(8) ใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดสายแพและโคมไฟเข้ากับแท่งพลาสวูด เสร็จสมบูรณ์แล้วจะได้ออกมาดังรูปที่ 8.3 เสร็จแล้วใช้ปากกาเสียบลงไปในช่องเสียบปากกาเพื่อทดสอบ LED

(9)  ทำขวดโหลเพื่อประดับตกแต่ง  นำขวดโหลใสขนาดเล็กมาประดับตกแต่ง
โดยใช้หินกรวดก้อนเล็กๆ สีใดก็ได้เทลงไปในขวด นำต้นไม้พลาสติกขนาดเล็กตกแต่งลงไปในขวด ขั้นตอนนี้จะใช้วัสดุและตกแต่งแบบไหนก็ได้แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน
(10) การใช้งาน เสียบปากกาลงไปในช่อง แผ่นสวิตช์ที่ติดเทปตะกั่วนำไฟฟ้าไปสัมผัสกับแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลไปยัง LED แต่ละสีแล้วเปล่งแสงออกมา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Electronics Arts Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

กระถางต้นไม้สื่ออารมณ์

มาฝึกให้เด็กๆ สนุกกับการดูแลต้นไม้ในบ้าน ไม่ให้เหี่ยวเฉาด้วยโครงงานนี้ Emotional POT ที่เหมือนมีต้นไม้เป็นเพื่อน โดยมันจะแสดงหน้าเศร้าบอกเรายามที่ดินเริ่มแห้ง และยิ้มยามดินชุ่มชื้น

โครงงานนี้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความชื่นชอบส่วนตัวจริงๆ ครับ เพราะการปลูกต้นไม้ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลายยามละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี และก็เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงรู้สึกเช่นเดียวกันที่สำคัญหากทำไว้ให้เด็กๆ ได้เล่นก็น่าจะเป็นของเล่นที่สอนให้พวกเขาได้รู้จักฝึกดูแลต้นไม้ได้อีกด้วย

เจ้า Emotional POT นี้ใช้หลักคิดง่ายๆ คือ เราจะตรวจสอบสภาพของดิน เมื่อดินชื้นจะให้มันแสดงหน้ายิ้ม และเมื่อดินแห้งจะต้องแสดงหน้าเศร้าหรือบึ้งนั่นเอง โดยใช้อุปกรณ์มาต่อกันเป็นวงจรง่ายๆ ที่นักอิเล็กทรอนิกส์มือใหม่และเก่าทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพื่อทำหน้าที่ตรวจจับความต้านทานของดิน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาออกแบบหน้าตากันเสียก่อนว่าจะให้ยิ้มยังไง และบึ้งแบบไหนจะได้รู้ว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

การออกแบบหน้าตา
สำหรับตัวต้นแบบผมใช้ LED แบบความสว่างสูงสีฟ้านำมาจัดเรียงกันบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบจุดไข่ปลาขนาดเล็กดังรูปที่ 1 จากนั้นบัดกรีขา K (แคโทด) ของ LED ทุกดวงเข้าด้วยกัน ส่วนขา A (แอโนด) บัดกรีแยกเป็นชุด จะได้ LED ทั้งหมด 5 ชุด ดังรูปที่ 2 เมื่อทำหน้าตาเสร็จแล้วก็มาดูวงจรที่จะใช้งานกันสักนิดนะครับ ดังรูปที่ 3

การทำงานของวงจร

วงจรนี้จะอาศัยทรานซิสเตอร์ Q1 และ Q2 เป็นตัวควบคุมการทำงานโดยที่จุด P ทั้งสองจุดจะถูกปักลงดิน โดยหากดินแห้งก็จะมีความต้านทานมาก กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านดินที่จุด P ได้ ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้ขา B ของ Q2 แทน ทำให้ Q2 ทำงานขับ Ry1 ให้ทำงาน รีเลย์ทำการต่อหน้าสัมผัส NO จ่ายไฟให้กับ LED 4 ดวงของชุดที่แสดงหน้าบึ้ง
ในทางกลับกันหากดินมีความชื้นค่าความต้านทานในดินต่ำ จึงมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจุด P ไปเข้าขา B ของ Q1 ทำให้ Q1 ทำงานและ Q2 จึงหยุดทำงาน หน้าสัมผัสของรีเลย์จึงกลับมาอยู่ที่ NC ซึ่งมีแรงดันจ่ายไปยัง LED 4 ดวงที่แสดงเป็นหน้ายิ้ม สำหรับความไวในการตรวจจับความชื้นปรับได้จาก VR1 ส่วน LED อีก 3 ชุดที่เหลือไม่มีผลใดๆ ต่อการทำงานของวงจรครับ เพราะมันจะติดตลอดเวลาที่เราจ่ายไฟเข้าวงจร

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์

เนื่องจากโครงงานนี้มีอุปกรณ์ไม่มาก จึงไม่ต้องเสียเวลาทำแผ่นวงจรพิมพ์ โดยวงจรตรวจจับความชื้นตัวต้นแบบนี้ผมใช้แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบไอซีบอร์ดมีลักษณะเป็นลายทองแดงแบ่งเป็นแถวยาวหลายแถว โดยมีจุดที่ต้องทำให้ลายทองแดงขาดจากกัน 3 จุด อยู่ใต้ตัวถังของรีเลย์ และจุดเชื่อมต่อที่เป็นเส้นสีดำตามรูปที่ 4 ใช้เศษขาอุปกรณ์ก็ได้ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับให้ดูการวางอุปกรณ์ตามรูปที่ 4 ได้เลย เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วให้ตรวจดูความเรียบร้อย

โดยเฉพาะช่องระหว่างลายทองแดงที่มักจะมีเศษตะกั่วจากการบัดกรีไปติดอยู่ อาจใช้แปรงขัดออกก็ได้ ต่อไปทำการเชื่อมแผงวงจรส่วนหน้าเข้ากับส่วนควบคุมด้วยสายแพ 6 เส้น โดยเผื่อความยาวของสายแพให้เท่ากับความสูงของกระถางก็เป็นอันเรียบร้อย พร้อมรับการทดสอบ

ทดสอบการทำงานของวงจร

เริ่มทดสอบโดยการนำอะแดปเตอร์ไฟตรง 6 ถึง 9V มาต่อเพื่อจ่ายไฟ LED จำนวน 4 ชุดคือ คิ้วซ้าย,คิ้วขวา,ตา+กึ่งกลางปาก และ หน้าบึ้ง จะต้องติด และเมื่อนำปลายสายของจุด P มาสัมผัสกัน LED ชุดปากยิ้มจะติดแทน แสดงว่า วงจรพร้อมทำงานแล้วครับ ต่อไปก็เป็นการสร้างกระถางน่ารักๆ ให้วงจรพักพิง

การสร้างกระถางต้นไม้
ในขั้นตอนนี้ผมถือว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความอดทนพอสมควร แต่โชคดีที่ในโลกนี้มีพลาสวูด จึงทำให้งานของผมเสร็จได้อย่างรวดเร็ว มาเริ่มกันเลยครับ
(1) นำพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 ที่ซื้อมาจาก TPE Shop ตัดตามแบบดังรูปที่ 5 นำชิ้นส่วนที่เป็นผนังของกระถางทั้ง 4 ชิ้นมาเฉือนขอบด้านข้างด้วยคัตเตอร์ให้ได้มุมประมาณ 45 องศา จากนั้นเจาะช่องของชิ้น A ที่จะใช้เป็นด้านหน้า แล้วนำพลาสวูดทั้ง 4 ชิ้น (A, B, C และ D) มาประกอบกันโดยใช้กระดาษกาวแปะเพื่อช่วยประคองไว้ดังรูปที่ 6.3 จากนั้นยึดด้วยกาวร้อนหรือกาวตราช้างก็จะได้โครงสร้างกระถางที่แน่นหนา ต่อไปอุดร่องด้านในกระถางเพื่อเสริมความแข็งแรงด้วยกาวซิลิโคนสีขาวแบบแห้งเร็วดังรูปที่ 6.4 เสร็จแล้วรอให้ซิลิโคนแห้งประมาณ 1 ชั่วโมง
(2) นำพลาสวูดส่วนฐาน E มาบากเป็นร่องขนาด 5 x 20 มม. จากนั้นนำแผงวงจรแสดงอารมณ์และสายไฟสำหรับวัดความต้านทานในดินมาพาดไว้ที่ปากกระถางก่อน แล้วจึงวางแผ่นฐานลงไปในกระถางดังรูปที่ 7 โดยแผ่นฐานนี้จะไม่ลงไปสุดก้นกระถาง เพราะเราต้องการเหลือพื้นที่ส่วนล่างไว้ติดตั้งแผงวงจรควบคุมนั่นเอง จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แผ่นฐาน E ก็จะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรงของกระถางได้เป็นอย่างดี
(3) การสร้างห้องให้กับแผงวงจรแสดงอารมณ์ ให้ตัดแผ่น PVC สีขาวชนิดที่แสงผ่านได้ให้มีขนาดกว้างกว่าช่องด้านหน้าของผนังกระถางเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นแผ่นหน้ากากกรองแสง แล้วใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดด้านในกระถางดังรูปที่ 8.1 ต่อไปติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ด้วยการนำแผ่นพลาสวูด F ที่มีรูปทรงเหมือนผนังกระถางแต่สั้นกว่า (ดูจากแบบรูปที่ 5) มายึดเข้ากับแผ่นพลาสวูด G ด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้ดอกสว่านขนาด 3 มม. คว้านรูของแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อให้สามารถสอดสกรูเกลียวปล่อยขนาดจิ๋วเข้าไปได้ จากนั้นก็ขันสกรูยึดแผงวงจรแสดงอารมณ์ดังรูปที่ 8.2 แต่อย่าให้แน่นมากเพราะจะทำให้แผ่นวงจรพิมพ์แตกหักได้ ต่อไปให้วางแผ่นพลาสวูด F ที่ติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ให้ระยะห่างระหว่าง LED กับแผ่นPVC ห่างกันเล็กน้อยประมาณ 2 ถึง 3 มม. จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แล้วนำกาวซิลิโคนมาอุดตามร่องเพื่อความเรียบร้อยและกันน้ำรั่วซึมในกรณีที่นำกระถางไปปลูกพืชน้ำ
(4) การติดตั้งแผงวงจรควบคุมให้คว่ำกระถางลงแล้วใช้ดอกสว่าน 3 มม. คว้านรูแผ่นวงจรพิมพ์ จากนั้นนำสกรูเกลียวปล่อยตัวจิ๋วขันยึดเข้าไปได้เลย ต่อไปเจาะรูเพื่อติดตั้งตัวต้านทานปรับค่าได้และแจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียดังรูปที่ 9.2
(5) ทำฝาปิดด้านบนด้วยแผ่นพลาสวูด H ขนาด 3 x 8.9 ซม. และพลาสวูด i และ J เป็นขา 2 ข้างสำหรับเป็นตัวล็อกไม่ให้ฝาหลุดออกมาโดยง่าย นำมาประกอบกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 10.1 เพียงเท่านี้คุณก็จะได้กระถางต้นไม้เล็กๆ น่ารัก ที่สร้างด้วยฝีมือตัวเองแล้วล่ะครับ
การนำไปใช้งานและปรับแต่ง
หาพรรณไม้สำหรับปลูกในร่ม เช่น ว่านต่างๆ บอน เฟิร์น พลูด่าง ฯลฯพรรณไม้พวกนี้จะไม่มีรากแก้วและไม่ต้องการแสงแดดมาก จึงเหมาะที่จะปลูกในร่ม การให้น้ำก็จะให้เมื่อดินแห้งเท่านั้น จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโครงงานนี้
 
เมื่อเตรียมพรรณไม้แล้ว ก็นำดินปลูกใส่ลงในกระถาง ทำการเสียบแจ็กอะแดปเตอร์เข้าที่ด้านหลังกระถาง หากดินที่ใส่ลงในกระถางแห้ง กระถางจะต้องแสดงหน้าบึ้ง แต่หากพบว่าแสดงหน้ายิ้มอยู่ให้ค่อยๆ ปรับตัวต้านทานปรับค่าได้ด้านหลังกระถาง เพื่อปรับความไว้ในการตรวจจับว่าต้องการให้ดินแห้งขนาดไหนจึงจะแสดงหน้าบึ้ง ในทางตรงกันข้ามเมื่อลองฉีดน้ำ (แนะนำให้ใช้กระบอกฉีดเอานะครับเพราะหากใช้วิธีรดน้ำอาจมีปริมาณน้ำมากเกินไปทำให้ต้นไม้เฉาได้) กระถางจะแสดงหน้ายิ้มก็เป็นอันสำเร็จพร้อมใช้งาน จากนั้นนำพรรณไม้ลงปลูกได้เลยครับ
ทิ้งท้ายอีกนิดครับ จากหลักการทำงานของวงจร ท่านสามารถนำวงจรนี้ไปใช้ในงานระบบใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน เพราะโครงงานนี้ใช้รีเลย์เป็นตัวจ่ายไฟให้ LED ดังนั้นหากเปลี่ยนจากการจ่ายไฟให้ LED เป็นจ่ายให้ปั้มน้ำขนาดเล็กแทนเพื่อรดน้ำต้นไม้ในสวนหน้าบ้านของคุณก็ย่อมได้ แต่อย่าลืมว่า ปั้มน้ำต้องการกระแสไฟฟ้าสูงกว่า LED มาก ดังนั้นต้องคำนึงถึงการทนกระแสที่หน้าสัมผัสของรีเลย์ด้วย ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกต้นไม้ครับ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Exit mobile version