Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. จัดงานประกวดเฟ้นหาสุดยอดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมระดับประเทศ KMUTNB Innovation Awards 2021 ประกาศรับรางวัล Grand Prize พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประจำปี 2564 KMUTNB Innovation Awards 2021 ชิงถ้วยพระราชทานรางวัล Grand Prize สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รูปแบบออนไลน์ครั้งแรก ปรับเวทีสอดรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผู้สนใจจากสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา บริษัทเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวม 200 กว่าผลงาน

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศ ผ่านเวทีถ่ายทอดสด ที่ https://kmutnb-inno.top/ โดยในปีนี้แบ่งผลงานที่เข้าร่วมประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) Innovative Ideas ค้นหาสุดยอดแนวคิดนวัตกรรมต่อยอดสู่ผลงานที่ใช้ได้จริง 2) Innovative Products ค้นหาสุดยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษา ตลอดจนนักเรียนและประชาชนทั่วไป มีเวทีได้แสดงออกถึงความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานประโยชน์ระหว่างผู้ประดิษฐ์และผู้ที่สนใจ ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีความก้าวหน้า และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้

จากนั้นผู้เข้าประกวดที่ผ่านเข้าสู่รอบ 12 ทีมสุดท้าย จากผลงานงานทั้งสิ้น 204 ทีม ได้เริ่มนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ และช่วงบ่ายของวันงานคณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาผลงานและประกาศผลการตัดสิน ผลงานที่ได้รับรางวัล Grand Prize พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งคัดเลือกจากผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท ผลปรากฎว่า ผลงานเรื่อง เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพา ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรด ของ นายคานาเมะ มิอูระ นายกรธัช องค์ตระกูลกิจ นายณัฐนัย วรวิจิตราพันธ์
รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และ ศ.ดร.ชิเกโอะ ทานากะ ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยคานาซาวา ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภท Innovative Products ได้รับรางวัลดังกล่าวไปครอง และทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภท Innovative Ideas ได้แก่ ผลงานเรื่อง คิด-ดี ทีมจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย นายอัฟวัน นิเด็ง นายฟะห์มี เปาะสา นางสาวฮุสนา มะดอรอแม และรศ.ดร.มณฑล เลิศคณาวนิชกุล

นอกจากรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศแล้ว ยังมีการมอบรางวัลให้แก่รองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และชมเชยอีก 3 รางวัลในแต่ละประเภท รวมเป็นเงินรางวัลทั้งสิ้น 210,000 บาท ซึ่งผู้จัดงานจะจัดพิธีมอบรางวัลอย่างสมเกียรติทันที เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ดีขึ้นแล้ว ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ทั้งผู้ชนะและผู้เข้าประกวดทุกทีมต่างก็ได้รับจากการเข้าร่วมงานนี้ก็คือการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีความก้าวหน้า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้

โดยผลรางวัลในแต่ละประเภทมีดังนี้
ประเภท : Innovative Ideas

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง คิด-ดี (KID-D) (ID17) ทีมจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย นายอัฟวัน นิเด็ง นายฟะห์มี เปาะสา นางสาวฮุสนา มะดอรอแม และรศ.ดร.มณฑล เลิศคณาวนิชกุล ได้รับเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง ระบบ โฟลว์แบตเตอรี่-
โซล่าเซลล์ ไฮบริไดเซซัน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย นายศักดิ์สิทธิ์ จิตรวุฒิโชติ
นางสาวบุษบา การุณสิต นางสาวกรรณิการ์ อ้นอยู่ นายสุวัจน์ สิกบุตร และ ผศ.ดร.รังสิมา หญีตสอน ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง ชุดถังขยะประกอบได้ พร้อมถุง จากบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) โดย นางสาวพิมพ์ชนก อ่อนมา นางสาวนงลักษณ์ กรุทฤทธิ์ และ นางสาวศิริกาญจน์ สายสมร ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้รับเงินรางวัลผลงานละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่
ผลงานเรื่อง ชุดควบคุมระยะไกล สู้ภัยโควิด 19 ทีมจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย นายดิษยบดินทร์ ขันผนึก นายสุรดิษ พวงสมบัติ นายโชคอนันต์ รันนะโคตร และ รศ.ดร.เกียรติสิน กาญจนวนิชกุล
ผลงานเรื่อง จานใบไม้เคลือบผิวด้วยสารไคตินเพื่อป้องกันเชื้อราและเสริมความแข็งแรง ทีมจาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดย นายราธา โรจน์รุจิพงศ์ นายผ่านฟ้า เลาหสินนุรักษ์ นายศรัณย์ นวลจีน และ ดร.จันทร์จิรา มณีสาร
ผลงานเรื่อง ชุดตรวจวัดคอปเปอร์ II ไอออน โดยใช้เซลลูโลสอะซิเตดเป็นวัสดุรองรับ ทีมจาก วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี โดย นางสาวทักษพร เข็มรัมย์ นางสาวจิรัฏฐ์ญาดา บุญกระโทก นางสาวจุฬารัตน์ นนท์นอก นายอภินันท์ วิศุภกาญจน์ นางสาวศิรภัสสร ขบวนงาม นางสาวมุทิตา จวบกระโทก นางสาววนัชพร อ่วมจิ๋ว และ นางสาวเนตรนภา ทอจะโป๊ะ

ประเภท : Innovative Products

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพา ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรด ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยคานาซาวา โดย นายคานาเมะ มิอูระ นายกรธัช องค์ตระกูลกิจ นายณัฐนัย วรวิจิตราพันธ์ รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และ ศ.ดร.ชิเกโอะ ทานากะ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ และเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง เครื่องผลิต กรดไฮโปคลอรัส และโซเดียมไฮโปคลอไรท์ ทีมจาก บริษัท โปรลอก ไทเทเนียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดย นางสาวอรวรรณ ศรีตองอ่อน และ นายธนพล หวานสนิท ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับจากวัสดุฉลาดผลิตด้วยวิธีการสานสำหรับรักษาโรคหลอดเลือด สมองตีบตันระยะเฉียบพลัน ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย นายสรธรณ์ คูชัยยานนท์ นายกณวรรธน์ รัตนพงษ์เพียร นายสุรเชษฐ แก้วอยู่ และ รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้รับเงินรางวัลผลงานละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่
ผลงานเรื่อง ซินไบโอ โทโทล ไรซ์ ทีมจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย นายฐาปกรณ์ ชุมพล และ ผศ.ดร.ศรัณย์ พรหมสาย
ผลงานเรื่อง ระบบวิเคราะห์ดินสำหรับการปลูกผลไม้เศรษฐกิจ ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย นายนรเศรษฐ์ ไผ่ผาด และ ดร.วัชรีวรรณ จิตต์สกุล
ผลงานเรื่อง เยลลี่พร้อมดื่มจากน้ำหยวกกล้วยน้ำว้าเสริมเส้นใยสับปะรด ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย นางสาวนิราภรณ์ โลนุช นางสาวสุธิดา บัวคีรี และผศ.ดร.ศรีเวียง ฤทธิศักดิ์

เยี่ยมชมบูธผลงาน เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพา ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรด
https://kmutnb-inno.top/invention/4/atifact/167?back=%2Finvention%2F4
เยี่ยมชมบูธผลงาน คิด-ดี
https://kmutnb-inno.top/invention/4/atifact/110?back=%2Finnovative-ideas%2F4
ชมบันทึกการถ่ายทอดสดได้ที่
 https://youtu.be/K_-dTqWnECU
 https://www.facebook.com/KMUTNBINNO


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ . มอบหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC แก่สถาบันบำราศนราดูร สู้ภัยโควิค

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี พร้อมด้วยคุณภรณี ลีนุตพงษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ผศ.สมชาย เวชกรรม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ อาจารย์ ดร.สราวุฒิ สืบแย้ม ผู้ช่วยอธิการบดีการคลังและกิจการทั่วไป ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมและกายภาพ และทีมผู้วิจัย รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี และผศ.ดร.สถาพร วังฉาย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมมอบหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC รับมอบโดย นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ที่สถาบันบำราศนราดูร ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2564

นวัตกรรมหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ให้กับสถานพยาบาล และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นการออกแบบสร้างหุ่นฉายรังสี UVC ระบบควบคุมไร้สายด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส และเพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีและการนำเทคโนโลยีใช้ให้เกิดประโยชน์สู่สังคม ขนาดหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC 68x78x180 ซม.และใช้หลอดรังสียูวีที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ได้แก่ หลอดไอปรอทแรงดันต่ำ เปล่งรังสี 254 nm/หลอดอะมัลกัม เปล่งรังสี 254 nm/ หลอด UV LED ที่แปล่งรังสีในช่วง 242-313 nm หรือ 260-265 nm

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอเชิญชวนผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
สามารถบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” ธนาคารกรุงเทพ สาขา มจพ. เลขที่บัญชี 907-3-50043-2 ใบเสร็จรับเงินการบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.02-555-2000 ต่อ 1604


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. ปราจีนบุรี การประชุมวิชาการ “COCEAM 2021” รูปแบบออนไลน์

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี กำหนดจัดการประชุมวิชาการ The 5th Consortium of Cooperative Education in Agro-Industry and Management 2021 (COCEAM 2021) ระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานสหกิจศึกษาด้านอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาศาสตร์การอาหาร วิศวกรรมอาหาร การจัดการธุรกิจเกษตร กำหนดการส่งผลงานบทคัดย่อและบทความฉบับเต็ม (Proceeding) ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ค่าลงทะเบียน ประเภท อาจารย์/บุคลากร และผู้นำเสนอผลงาน วันที่ 1 มีนาคม – 15 มิถุนายน 2564 จำนวน 500 บาท และ วันที่ 16 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2564 จำนวน 800 บาท ส่วนนักศึกษาที่เข้าร่วมงาน ไม่มีค่าใช้จ่าย ภายในงานยังมีรางวัลในการประชุมวิชาการระดับชาติ 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลการแข่งขันการนำเสนอผลงาน (แบบปากเปล่า) และรางวัลการแข่งขันการนำเสนอผลงาน (แบบโปสเตอร์)

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ผศ.ดร.เกตินันท์ กิตติพงศ์พิทยา โทร. 093-3151919 อ.ดร.เปรมศักดิ์ พวงพลอย โทร. 063-0541379) อ.ดร.โกศล น่วมบาง โทร. 080-9956441 และ อ.ดารัตน์ เดชอำไพ โทร.088-3209010 ติดตามและสมัครเข้าร่วมงาน COCEAM ได้ที่ Website: www.agro.kmutnb.ac.th/coceam
E-mail: coceam.a@agro.kmutnb.ac.th และที่ Facebook page: Coceam

ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

สัมภาษณ์พิเศษ มจพ. สร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส (โควิด-19)

รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี และ ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดตัว “หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส” มีคุณสมบัติในการสร้างไอพ่นละอองฝอยละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน เรียกว่าเป็นระบบการสร้างละอองฝอยแบบ ยูแอลวี (ULV cold fog generator) ด้วยปั๊มแรงดันสูง 12 บาร์ มีอัตรkการไหล 1 ลิตรต่อนาที ใช้หัวฉีดพ่นจำนวน 16 หัวฉีด (หัวฉีดละเอียดชนิดพิเศษ) แบ่งเป็นระบบหัวพ่นเป็นวง 8 หัว และระบบหัวพ่นแบบทำงานร่วมกับพัดลมแรงดันสูง 8 หัว เนื่องจากขนาดละอองฝอยเฉลี่ย 50 ไมครอน จะสามารถพยุงตัวในอากาศได้นาน แล้วใช้ลำอากาศความดันและอัตราการไหลสูง นำพาละอองฝอยน้ำยาให้เคลื่อนที่ไปไกล 5-7 เมตร ส่งผลให้ละอองฝอยน้ำยาครอบคลุมไปทุกพื้นที่ การใช้ปริมาณน้ำยาต่อพื้นที่สม่ำเสมอ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถฉีดพ่นได้ต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง (ใช้น้ำยาผสม 25 ลิตร) จากการทดสอบการทำงานสามารถฉีดพ่นครอบคลุม พื้นที่ 37,680 ตารางเมตรต่อ 50 นาที หุ่นยนต์จะช่วยให้ประหยัดเวลาในการทำงาน และลดความเมื่อยล้าของผู้ฉีดพ่น

หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ถูกออกแบบให้ระบบควบคุมการเคลื่อนที่หุ่นยนต์เป็นแบบ “ไร้สาย” เพิ่มความสะดวกสบาย และสามารถเว้นระยะห่างจากรัศมีของการฉีดพ่นได้ ลดความเสี่ยงให้กับผู้ทำการฉีดพ่น จากการบังคับขับหุ่นยนต์ผ่านกล้อง ผ่านระบบสัญญาวิทยุ และมีจอแสดงผลกล้องจากหุ่นยนต์ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าของหุ่นยนต์ เพื่อช่วยให้ผู้บังคับสามารถควบคุมได้ง่ายมากขึ้น และสามารถปรับมุมได้ตามความเหมาะสมของสถานที่ และหมุนรอบแกน 120 องศา ทั้งนี้หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) มีขนาด กว้าง 60 x ยาว 80 x สูง 150 เซนติเมตร มีโครงสร้างที่ทนต่อความชื้นสูง โดยเลือกใช้สแตนเลส งบประมาณที่ใช้ประมาณ 70,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย และต้านภัยโควิด มจพ.”

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า รู้สึกห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดระลอก 3 พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยใกล้เคียงกับ 2 รอบที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนวัตกรรมหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่สามารถใช้.oพื้นที่เสี่ยงภัยจากการสัมผัส เช่น โรงพยาบาลสนาม อาคารสำนักงาน พื้นที่ชุมชน เป็นต้น เนื่องจากการใช้หุ่นยนต์เข้าไปทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค จะมีความปลอดภัยสูง ลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็น เพราะการควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ สามารถเว้นระยะห่างของการฉีดพ่นได้เป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือรวมแบ่งปันน้ำใจและดูแลให้ประเทศไทยพ้นภัยครั้งนี้ ด้วยการสร้าง “หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส” นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 เพื่อตอบโจทย์การยกระดับความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้บุคลากร มจพ. ผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ
รศ.ดร. ศุภชัย เล่าให้ฟังว่า วัตถุประสงค์ของการสร้างหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นการออกแบบสร้างหุ่นยนต์บังคับไร้สายเอนกประสงค์ในการบรรทุกอุปกรณ์ไปยังจุดเสี่ยงโรค เพื่อสร้างระบบฉีดพ่น ด้วยหลักการปั๊มแรงดันสูง เพื่อให้น้ำเกิดการแตกตัว และการนำส่งได้ระยะไกล อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ความรู้ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขาภิบาล ส่วนกลุ่มเป้าหมาย เน้นให้ความสำคัญกับการบริการทางสังคม รวมถึงขนส่งมวลชน ศาสนสถาน ศูนย์เด็กเล็ก/โรงเรียน มหาวิทยาลัย และแหล่งชุมชน ตลอดจนตลาด ห้างสรรพสินค้า และโรงมหรสพ เป็นต้น

หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส สามารถตอบโจทย์พื้นที่เสี่ยงภัยจากการสัมผัส และการพุ่งกระจายในอากาศ ดังเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งการนำหุ่นยนต์เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่สามารถเว้นระยะห่างจากรัศมีของการฉีดพ่นได้เป็นอย่างดี ใช้แบตเตอร์รี่ 55 แอมแปร์ 2 ลูก และมีวงจรชาร์จแบตเตอร์รี่ในระบบ 12 โวลต์และ 24 โวลต์ จ่ายไฟทำงานต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 150 นาที พร้อมพัดลมความเร็วรอบสูง มีกล้องช่วยในการมองขณะขับเคลื่อน สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1. ระบบไอพ่น : เริ่มจากการใช้น้ำยาที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ และมีผลการวิจัยสนับสนุน การยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อ ใช้ระบบสร้างความดันน้ำยาถึง 12 บาร์ แล้วผ่านรูเล็ก จากความดันสูงสู่ความดันบรรยากาศจึงทำให้เกิดการแตกตัวเป็นฝอยละออง จากนั้นนำส่งน้ำยาด้วยลำอากาศความเร็วลมสูงทำให้น้ำยาพ่นไปไกล 5-7 เมตร

2. ระบบหุ่นยนต์ : การออกแบบโครงสร้าง การวางตำแหน่งล้อ การสมดุลน้ำหนัก เพื่อให้การเคลื่อนตัวหุ่นยนต์เป็นไปอย่างราบเรียบ ด้วยการกำหนดความเร็ว สามารถเคลื่อนที่ไปในทุกพื้นที่ ใช้ล้อยางเต็มลม 2 ล้อ และเสริมด้วยล้ออิสระ 2 ล้อ

3. ระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร : เป็นสัญญาณวิทยุ ระยะของการบังคับ 50 เมตร กรณีที่โล่ง มีระบบ เปิด-ปิด การจ่ายน้ำยา และควบคุมหัวไอพ่นไปในทิศทางที่ต้องการได้ การบังคับการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ผ่านกล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าของตัวหุ่นยนต์ เพื่อช่วยให้ผู้บังคับสามารถควบคุมได้ง่ายมากขึ้น

ผศ.ดร. สถาพร อธิบายว่า นอกจากนี้หุ่นยนต์ใช้วงจรควบคุมความปลอดภัยในการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าของหุ่นยนต์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ตัวส่งจะมีลักษณะเป็น Joy Controller ที่รับคำสั่งจากผู้ใช้งาน ประกอบไปด้วยสวิตช์ควบคุม ตัวส่งสัญญาณวิทยุและจอแสดงผลกล้องจากหุ่นยนต์ ตัวส่งจะรับค่าปุ่มกดจากผู้ใช้และส่งค่าไปหาตัวหุ่นยนต์ผ่านคลื่นวิทยุ เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ และ 2) ตัวรับจะประกอบไปด้วยตัวรับวิทยุทำหน้าที่รับข้อมูลจากตัวส่งวิทยุ ส่งไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ จากนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์จะทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับ จากนั้นจะส่งสัญญาณไปยังบอร์ดควบคุมมอเตอร์ ซึ่งมอเตอร์จะแบ่งออก 3 ส่วนคือ (1) มอเตอร์ขับเคลื่อนล้อ (2) มอเตอร์หมุนหัวพ่น ใช้สำหรับหมุนชุดพ่น และ (3) มอเตอร์ไอพ่นจะติดตั้งอยู่ในกระบอกพ่น สามารถปรับความเร็ว ปรับความแรงของลมให้มากน้อยตามความเหมาะสมของสถานที่
อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ได้ถูกทดสอบและนำไปทำงานภาคสนามโดยฉีดพ่นเพื่อป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้กับพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยแล้ว โดยได้ฉีดพ่นในห้องประชุม สถานที่ประชุม สนามกีฬาในร่ม สถานที่ทำงาน สำนักงาน สนามกีฬา และโรงอาหาร นับเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม ตอบโจทย์กับความต้องการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ผลงานจากรั้ว มจพ. ที่สร้างสรรค์เพื่อคนไทย ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอเชิญชวนร่วมบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ที่ “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” เพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดให้นักวิจัย สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ไปสู่สังคมเพื่อช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน
สนใจและสอบถามข้อมูลหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ได้ที่ รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทรศัพท์ 081-645-5411 หรือที่ LINE : supachai_line


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. รับมอบนวัตกรรมหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส (โควิด-19)

ศ.ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมคณะผู้บริหาร รับมอบหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส ผลงานของ รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี และ ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุม 215 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)“หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส” สามารถไอพ่นละอองฝอยละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน มีอัตราการไหลสูง นำพาละอองฝอยน้ำยาให้เคลื่อนที่ไปไกล 5-7 เมตร

ส่งผลให้ละอองฝอยน้ำยาครอบคลุมไปทุกพื้นที่ การใช้ปริมาณน้ำยาต่อพื้นที่สม่ำเสมอ เป็นไปอย่างมีประสิทธิ์ภาพ สามารถฉีดพ่นได้ต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง (ใช้น้ำยาผสม 25 ลิตร) ระบบควบคุมการเคลื่อนที่หุ่นยนต์เป็นแบบ “ไร้สาย” ทั้งนี้หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) มีขนาด กว้าง 60 x ยาว 80 x สูง 150 ซม. มีโครงสร้างที่ทนต่อความชื้นสูง โดยเลือกใช้สแตนเลส งบประมาณที่ใช้ประมาณ 70,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย และต้านภัยโควิด มจพ.”

ขวัญฤทัย ข่าว/สมเกษ ถ่ายภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะครุฯ มจพ. ขยายเวลาส่งบทความวิจัยการประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 13 และการจัดประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรม ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 8

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กำหนดจัดประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 13 The 13th National Conference on Technical Education (NCTechEd13) และการประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 8 The 8th International Conference on Technical Education (ICTechEd8) หัวข้อเรื่อง “Transitioning to the New Normal in Engineering and Education” ระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2564 นั้น ในรูปแบบ onsite (หรือ online เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รอบใหม่ในประเทศไทย) โดยจัดการประชุมสัมมนาภาพรวมและการประชุมกลุ่มย่อยในด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีทางการศึกษา วิจัยและพัฒนาหลักสูตร และการบริหารธุรกิจ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาต่าง ๆ การระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายความรู้ด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมให้กับคณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและผู้สนใจทั่วไปจากทั่วประเทศ

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. ได้ขยายเวลาการส่งผลงานวิจัยฉบับเต็มจากเดิมกำหนดส่งวันสุดท้ายวันที่ 29 มีนาคม 2564 เป็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2564
การจัดประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 13 ดำเนินการตามหลักการรักษาระยะห่างทางกายภาพ ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข ทางคณะผู้จัดงานประชุมวิชาการฯ ขอสงวนสิทธิ์ปรับเปลี่ยนการนำเสนอผลงานเป็นรูปแบบออนไลน์ หรือให้เป็นไปตามประกาศของศูนย์บริหาร

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือประกาศมหาวิทยาลัยต่อไป รายละเอียดดดังนี้
1) วันสุดท้ายของการรับผลงานวิจัยฉบับเต็ม (Submission of Full paper) วันที่ 10 พฤษภาคม 2564
2) แจ้งผลการพิจารณาผลงานวิจัยฉบับเต็ม (Notification of Acceptance) วันที่ 31 พฤษภาคม 2564
3) ส่งผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Submission of Final Manuscript) วันที่ 14 มิถุนายน 2564 พร้อมชำระเงินค่าลงทะเบียน

ขอเชิญคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมประชุมวิชาการ และส่งบทความวิจัยในกลุ่มสาขาวิชาดังกล่าวข้างต้น โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึง Download แบบฟอร์มทางเว็บไซต์ http://ncteched.fte.kmutnb.ac.th หรือ E-mail : ncteched@fte.kmutnb.ac.th และการประชุมวิชาการ
ครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 8 ทางเว็บไซต์ http://icteched.fte.kmutnb.ac.th หรือ
E-mail : icteched@fte.kmutnb.ac.th

โดยผลงานวิจัยที่ได้รับการตอบรับจะได้รับการพิจารณาลงตีพิมพ์
ในวารสารวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรม พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งวารสารวิชาการอยู่ในฐานข้อมูล TCI (กลุ่มที่ 2) และผลงานวิจัยที่ได้รับการตอบรับและนำเสนอในที่ประชุม ICTechEd8 (Track 1) จะได้รับคัดเลือกเข้าฐานข้อมูล Scopus สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คุณวลัยพร ยอดคำมี หรือคุณศิริพร ยางสวย สำนักงานคณบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2555-2000 ต่อ 3221 และ 3201

ขวัญฤทัย ข่าว –ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

อาจารย์ มจพ. พัฒนาต้นแบบปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มม. สัญชาติไทย มีความแม่นยำสูง

ผศ.ณรงค์เดช พัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) หัวหน้าโครงการ และคณะทำงานประกอบด้วย  ผศ.ณรงค์เดช พัฒนไพบูลย์ รศ.สถาพร ชาตาคม  ผศ.ดร.กิตติภัฎ  รัตนจันทร์  ผศ.ดร.สุนทร สิทธิสกุลเจริญ ผศ.วัชระ  ลายลักษณ์  ผศ.ดร.ศรายุทธ  เงินทอง  ผศ.ประมุข  เจนกิตติยนต์ และอาจารย์ ภาวัช จันทสร   ต้นแบบปืนเล็กยาวขนาด  5.56  มิลลิเมตร เป็นปืนเล็กยาวจู่โจม (Assault  Rifle)  ระบบการทำงานด้วยแก๊ส

ลูกสูบช่วงชักยาว (Gas-operated Long-stroke piston) ระยะการยิงหวังผลเป็นจุด 550 เมตร ระยะการยิงหวังผลเป็นพื้นที่ 800 เมตร ส่วนอายุการใช้งานลำกล้องและเครื่องลั่นไก 20,000 นัด ใช้ซองกระสุนความจุ 30 นัด  สำหรับกระสุนหัวแข็ง  M855  FMJ  (Full Metal Jacket)  อัตราการยิงต่อเนื่องอัตโนมัติ 600-800 นัด มีรูปแบบการยิง ห้ามไก (Safe) สามารถทำการยิงทีละนัด (Semi-Auto)  และยิงแบบอัตโนมัติ (Full-Auto) มีน้ำหนักเบา การใช้งานสามารถถอดประกอบเพื่อบำรุงรักษาในเบื้องต้นได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ   ปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตรกระบอกนี้คือผลงานการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (Army Research and Development Office) กองทัพบกไทย (RTA : Royal Thai Army) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

ผศ.ณรงค์เดช เล่าให้ฟังว่า การคิดค้นการพัฒนาต้นแบบปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร  มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร ที่เป็นต้นแบบที่เหมาะกับสรีระ และภารกิจของกองทัพบกไทย และการพัฒนาปืนเล็กยาว ขนาด 5.56  มิลลิเมตร ต้นแบบที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ที่ผลิต ปืนเล็กยาวขนาด 5.56×45 มิลลิเมตร นาโต้ (5.56×45 mm. NATO) จัดเป็นปืนเล็กยาวมาตรฐานประจำกองทัพประเทศในกลุ่มนาโต้ รวมถึงสหรัฐอเมริกา และมีประจำการในกองทัพต่าง ๆ เกือบทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยที่มีประจำการอยู่ประมาณ 200,000-300,000 กระบอก ปืนเล็กยาวเป็นอาวุธประจำกายของทหารในกองทัพ โดยเฉพาะทหารราบ ซึ่งต้องฝากชีวิตไว้กับปืนเล็กยาวประจำกายในการปฏิบัติการ ไม่ว่าภูมิประเทศ ภูมิอากาศจะเป็นอย่างไร ปืนเล็กยาวประจำกายต้องสามารถปฏิบัติการได้อย่างไม่ขัดข้อง และแน่นอน เพราะความขัดข้องเพียงเล็กน้อยที่เกิดกับปืนเล็กยาวประจำกายนั้นอาจจะหมายถึงชีวิตของทหารที่ฝากชีวิตไว้กับปืนกระบอกนั้น และภารกิจของหน่วยปฏิบัติการเลยทีเดียว 

ปัจจุบันกองทัพบกได้มีการจัดซื้อปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร TAVOR และอะไหล่ในการบำรุงรักษาที่มีราคาสูง จากประเทศอิสราเอล เข้ามาประจำการทดแทนปืนเล็กยาว M16 เดิม ที่หมดอายุการใช้งานไปตามเวลาด้วยงบประมาณของประเทศจำนวนหลายล้านบาท  และจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้การจัดหาปืนเล็กยาว เข้าประจำการในกองทัพทำได้ยาก ซึ่งคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ   ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการออกแบบ พัฒนา และผลิตปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร ขึ้นเองภายในประเทศ เพื่อเกียรติภูมิของประเทศชาติที่จะมีปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร ที่ออกแบบ และผลิตขึ้นเองประจำการในกองทัพ เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทัพในการป้องกันราชอาณาจักร และอธิปไตยของประเทศชาติ เสริมสร้างสมรรถนะของกองทัพ

การพัฒนาต้นแบบปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร ลักษณะงานวิจัยเป็นแบบวิจัยเชิงทดลอง เป็นการศึกษาข้อมูลการยุทธศาสตร์ของทหารไทยและการศึกษาเทคโนโลยีของปืนเล็กยาวแบบต่าง ๆ ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการลูกกลิ้งหน่วงเวลาถอยหลังระบบปฏิบัติการแบบแก๊ส แบบแก๊ส – ลูกสูบ และแบบสปริงแรงเฉื่อย (Inertia spring) เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ในการออกแบบปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร เป็นการออกแบบเบื้องต้นเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบทางเทคนิคของปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร โดยตั้งเป้าหมายในการออกแบบไว้ 2-3 แบบ และคัดเลือกแบบที่เหมาะสมมาทำการพัฒนาประสิทธิภาพและทำการทดสอบการใช้งานภาคสนาม แบบที่ 1 การจัดทำข้อมูลสรุป ประกอบด้วย ข้อมูลการออกแบบพิมพ์เขียวของปืนยาว ขนาด 5.56 มิลลิเมตร ต้นแบบ แบบพิมพ์เขียวของเครื่องมือที่ใช้ในการผลิต  ระบบปฏิบัติการการที่นิยมกันในปืนเล็กยาวมี 3 แบบ ระบบปฏิบัติการที่นิยมในปืนเล็กยาวมีรูปแบบ คือ แบบที่ 1 ใช้แรงสะท้อนถอยหลัง (Recoil) จะใช้แรงสะท้อนถอยหลังของชุดลำกล้องมาดันชุดลูกเลื่อนให้ถอยหลังพร้อมกับทำการคัดปลอกกระสุนทิ้ง จากนั้นแรงจากสปริงที่รองรับชุดลูกเลื่อนอยู่จะดันชุดลูกเลื่อนกลับพร้อมกับป้อนกระสุน  แบบที่ 2 โบลว์แบ็ก (Blowback) จะใช้แรงดันที่แก๊สกระทำต่อปลอกกระสุน  ให้ปลอกกระสุนดันชุดลูกเลื่อนถอยหลังพร้อม กับทำการคัดปลอกกระสุนทิ้ง จากนั้นแรงจากสปริงที่รองรับชุดลูกเลื่อนอยู่จะดันชุดลูกเลื่อนกลับพร้อมกับป้อนกระสุน แบบที่ 3 ปฏิบัติการด้วยแก๊ส (Gas operate) จะใช้แรงดันแก๊สในรังเพลิงมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนชุดลูกเลื่อนโดยตรง หรือผ่านชุดลูกสูบ ซึ่งมีการเจาะรูเล็กที่ลำกล้อง เพื่อเอาแก๊สมาใช้ และต้องมีท่อส่งแก๊ส หรือชุดลูกสูบ กลไกแบบนี้มีข้อดีคือ รับแรงได้สูงจึงเป็นที่นิยมใช้ในปืนไรเฟิลจู่โจมในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตามขั้นตอนการออกแบบอย่างเป็นระบบ Pahl และ Beitz แบ่งขั้นตอนการออกแบบอย่างเป็นระบบ  4  ขั้นตอน  การวางแผนผลิตภัณฑ์  และการศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน  ขั้นตอนการออกแบบแนวคิด  การออกแบบเบื้องต้น   และขั้นตอนการดำเนินการออกแบบรายละเอียดต้นแบบปืน   สรุปผลจากผลการวิจัย การพัฒนาต้นแบบปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร สามารถใช้งานได้จริงตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ มีความแม่นยำอยู่ในระดับ (กลุ่มกระสุนที่ดีที่สุด) 0.7-3 MOA ที่ระยะยิง 50 -100 เมตร ซึ่งความแม่นยำนี้ขึ้นอยู่กับผู้เล็ง กล้องเล็ง และอุปกรณ์จับยึดเป็นสำคัญ

นอกจากนี้แล้ว ได้นำต้นแบบปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร ไปแสดงที่กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม กระทรวงกลาโหม ในงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์นานาชาติ Defense and Security 2019 ณ ศูนย์จัดแสดงสินค้า Impact เมืองทองธานี กรุงเทพฯ  ระหว่างวันที่ 18-21  พฤศจิกายน  2562 งานมหกรรมการวิจัยด้านยุทโธปกรณ์ สู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อศักยภาพของกองทัพและการปกป้องประเทศ (Thailand’s Armament and National Defense Research and Industry) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 และการนำเสนอผลงานวิจัยต่อ ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุดมศึกษาฯ ในโอกาสที่เยี่ยมชมมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา 

ประโยชน์จากพัฒนาต้นแบบปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศให้มีความเข้มแข็งลดการนำเข้าสินค้ายุทธภัณฑ์ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศและสามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่จะผลิตอาวุธประจำกายในกองทัพของประเทศได้ และยังสามารถที่จะใช้องค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอด เพื่อนำไปขยายผลในการผลิตเชิงพาณิชย์ ชึ่งปัจจุบัน ได้มีการประชุมร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ และสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก ในส่วนของการถ่ายทอดความรู้และแนวทางการขยายผลต่อไป  ต้นแบบปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลลิเมตร นับได้ว่าเป็นงานวิจัยและพัฒนาในประเทศจากฝีมือคนไทย สัญชาติไทยโดยแท้

สอบถามรายละเอียดได้ที่  ผศ.ณรงค์เดช  พัฒนไพบูลย์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม  วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์.0-2555-2000 ต่อ 6406 หรือ 096-829-5695

ขวัญฤทัย ข่าว -ภาพ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

อาจารย์ มจพ. พัฒนาปืนไรเฟิลซุ่มยิง .338 สำหรับนักทำลายใต้น้ำจู่โจม แม่นยำสูง ลดต้นทุนการนำเข้า

การพัฒนาปืนยาวไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) สำหรับนักทำลายใต้น้ำจู่โจมขนาด .338 นิ้ว ผลงานทีมของ รศ.สถาพร ชาตาคม อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยคณะทำงานประกอบด้วย ผศ.ดร. กิตติภัฎ รัตนจันทร์ ผศ.ณรงค์เดช พัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาวัช จันทสร ผศ.ดร.สุนทร สิทธิสุกลเจริญ ผศ.ดร.ศรายุทธ เงินทอง ผศ.วัชระ ลายลักษณ์ ผศ.ประมุข เจนกิตติยนต์ และนายทินกร สวัสดิสาร อีกหนึ่งชิ้นงานวิจัยต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการพัฒนาปืนไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) ขนาด .338 นิ้ว ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่าง มจพ. สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (Army Research and Development Office) กองทัพบกไทย (RTA: Royal Thai Army) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ชื่อขณะนั้น โดยต้นแบบปืนไรเฟิลซุ่มยิงขนาด .338 นิ้ว ได้มีการสร้างและทดสอบไปแล้วระยะหนึ่ง โครงการต้นแบบปืนยาวไรเฟิลซุ่มยิงขนาด .338 นิ้ว เป็นการศึกษาความต้องการด้านเทคนิคของปืนซุ่มยิง และถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับกองพลรบพิเศษ กองทัพบก และนักทำลายใต้น้ำจู่โจม กองทัพเรือ ปืนไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) ขนาด .338 นิ้ว ที่มีขนาดค่อนข้างกระทัดรัด มีน้ำหนักโดยประมาณ 6.5 กิโลกรัม ปืนไรเฟิลนี้สามารถพับพันท้ายเพื่อช่วยลดความยาวของปืน และปรับเปลี่ยนพันท้ายให้เหมาะสมกับการใช้งาน ทำให้สะดวกในการใส่ในกระเป๋าเป้สะพายหลัง ไม่เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนที่ มีการปรับปรุงในส่วนข้อมูลด้านเทคนิค และข้อมูลด้านการยศาสตร์ของทหารไทยมาทำการพัฒนารูปทรงภายนอกของปืน เพื่อพัฒนาปืนไรเฟิลซุ่มยิงขนาด .338 นิ้ว ที่เหมาะกับสรีระ และภารกิจของกองพลรบพิเศษ และนักทำลายใต้น้ำจู่โจม โดยสุดท้ายของโครงการต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปืนไรเฟิลที่มีความแม่นยำสูงนี้ให้กับ กองพลรบพิเศษ กองทัพบก และกองสนับสนุน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ โดยต้นแบบปืนยาวไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) ขนาด .338 นิ้ว มีประสิทธิภาพการซุมยิงที่ทำลายใต้น้ำจู่โจมมีความเที่ยงตรงและแม่นยำสูง ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแม่นยำและมีความแข็งแรงดี

รศ.สถาพร เล่าให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปในช่วง ปี 2559 เป็นเฟสแรกที่ทีมงานและนักวิจัยได้เริ่มพัฒนาปืนไรเฟิลซุ่มยิง โดยได้รับงบประมาณสนับสุนนจากสำนักวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขณะนั้น มาจากแนวคิดของงานวิจัยเพื่อช่วยสร้างความมั่งคงชายแดนภาคใต้ “การพัฒนาปืนลูกซองอัตโนมัติสำหรับการต่อสู่ระยะประชิดต้นแบบ เพื่อสนับสนุนหน่วยทหาร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาปืนยาวซุ่มยิงขนาด .338 นิ้ว ที่เหมาะกับสรีระ และภารกิจของกองพลรบพิเศษ และนักทำลายใต้น้ำจู่โจม การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปืนยาวที่มีความแม่นยำสูงให้กับ กองพลรบพิเศษ กองทัพบก และกองสนับสนุน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรื
ลักษณะเด่นของต้นแบบปืนไรเฟิลซุมยิง (Sniper Rifle) ขนาด .338 คณะวิจัยได้สร้างเครื่องขึ้นเกลียวลำกล้อง เพื่อเพิ่มระยะหวังผลและความแม่นยำของกระสุนปืน ด้านความแข็งแรงของชิ้นส่วนที่สำคัญใช้โปรแกรมทางด้านไฟไนต์เอลิเมนต์ (FEM) ช่วยวิเคราะห์ และการจำลองการทำงานของปืนด้วยโปรแกรมด้าน 3D ใช้เทคนิคการยศาสตร์ของทหารไทยมาพัฒนารูปทรงภายนอกของปืน สามารถพับเก็บพันท้ายได้ คณะวิจัยได้ทำการทดสอบปืนไรเฟิลซุ่มยิง ที่ประเมินโดยผู้แทนจาก สกอ. และ สวพ.ทบ. อย่างเป็นทางการ เมื่อ 18 กรกฎาคม 2560 เป็นการการทดลองยิงด้วยกระสุนจริง โดยในการทดสอบทำการยิงด้วยกระสุน .338 ลาปัวแม็กนั่ม 250 gr (จัดหามาพร้อมกล้องเล็ง) และตั้งเป้ายิงที่ระยะ 200 หลา ในการปรับตั้งและเล็งปืนจะมีนายทหารประจำโครงการมาให้คำแนะนำ โดยผลการทดสอบประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี กลุ่มกระสุนเฉลี่ยเกาะกลุ่มอยู่ที่ 1.5 MOA (วัดที่ระยะ 200 หลา)

ประโยชน์จากการพัฒนาต้นแบบปืนยาวไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) สำหรับนักทำลายใต้น้ำจู่โจมขนาด .338 นิ้ว เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศให้มีความเข้มแข็งลดการนำเข้าสินค้ายุทธภัณฑ์ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศและสามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่จะผลิตอาวุธประจำกายในกองทัพของประเทศได้ เช่น การผลิตปืนเล็กยาวที่ใช้ในกองทัพ การผลิตปืนพกสั้นที่ใช้ในกองทัพ และยังสามารถที่จะใช้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้เพื่อดำรงสภาพและยืดอายุยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ในกองทัพได้และหากนำไปทำในเชิงพาณิชย์เราต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อ จัดหาปืนไรเฟิลซุ่มยิง และอะไหล่ในการบำรุงรักษาที่มีราคาสูง (กระบอกละประมาณ 500,000 บาท) จากต่างประเทศ

โดยงานวิจัยนี้สามารถทำการผลิตปืนไรเฟิลซุ่มยิงระยะไกลนี้มีค่าใช้จ่ายต่อกระบอกประมาณ 40,000 บาท (เมื่อผลิตจำนวนรวม 50 กระบอก) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำไปทดสอบให้ได้ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ (กมย.) เพื่อนำไปขยายผลในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป

สอบถามรายละเอียดได้ที่ รศ.สถาพร ชาตาคม อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์.0-2555-2000 ต่อ 6210 หรือ 0-2587-3921

ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี ร่วมหารือ ศภ.9 กสอ. เสริมแกร่ง ITC 4.0

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
โดย ผศ.ดร.ปิยะรัชช์ กุลเมธี คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ดร.พนิดา เรณูมาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ อาจารย์นาฏกาญจน์ จักรานุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนางานบริการวิชาการ ได้ร่วมหารือถึงแนวทางที่จะร่วมมือเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่าง มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี

โดยนางสาวหนึ่งหทัย ธรรมพิทักษ์ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชน และกลุ่มบริการธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ (ศภ.9 กสอ.) เข้าพบเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนี้แล้วยังได้หารือแนวทางเชื่อมโยงการทำงาน แนะนำการดำเนินงานของคณะ รวมถึงบทบาทภารกิจในงานบริการวิชาการ การฝึกอบรม ให้ความรู้ ให้คำแนะนำด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และการผลิตโดยใช้เครื่องจักรต่าง ๆ ตลอดจนเป็นศูนย์เชื่อมโยงเครือข่าย มจพ.ปราจีนบุรีเสริมแกร่ง ITC 4.0

คณะอุตสาหกรรมเกษตร และ ศภ.9 กสอ. มีแนวทางร่วมกันถึงความร่วมมือเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกันกับศูนย์ ITC 4.0 ของ ศภ.9 กสอ. เพื่อใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนด้าน Matching และเสริมแกร่งเดินหน้าส่งเสริมยกระดับมาตรฐานงานวิจัยให้ผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์วิจัยการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี มจพ. จับมือ สสว. เผยหลักสูตรสมรรถนะผู้ประกอบการเรียนรู้ SME Academy 365 ไลฟ์สไตล์ของ “คนยุคใหม่”

รศ.ดร. ปณิตา วรรณพิรุณ หัวหน้าศูนย์วิจัยการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาระบบการให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร (SME Academy 365) : งานสร้างและพัฒนาระบบการให้ความรู้

ประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่แล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้รับเกียรติ รศ. ดร. วีระพงศ์ มาลัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร ณ One Shot Studio กรุงเทพฯ

หลักสูตรสมรรถนะผู้ประกอบการเรียนรู้นี้เป็น “ตัวช่วยสำคัญ” สำหรับผู้ประกอบการไทย ที่ชื่อว่า SME Academy 365 ลักษณะโดดเด่นและสอดรับ “วิถีใหม่” (New Normal) คือ เครื่องมือ คืออาวุธ คือผู้ช่วยคนสำคัญ ที่จะช่วยหา “ทางรอด” ให้ธุรกิจ ให้ก้าวต่อไปได้ โดยได้รวบรวมความรู้รอบด้าน ทั้งด้านการจัดการ บริหาร การแก้ไขปัญหา พัฒนาต่อยอดธุรกิจ ที่มาในรูปแบบเนื้อหาที่น่าสนใจ และเข้าใจง่าย อาจกล่าวได้ว่า SME Academy 365 คือ Platform E-learning ที่เป็น “แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่เปิด 24 ชั่วโมง ตลอด 365 วันต่อปี” ไม่ว่าใครก็เข้ามาหาความรู้ได้ ด้วยระบบออนไลน์แบบเปิด ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบใด เป็น Platform E-learning ที่พัฒนาองค์ความรู้สำหรับ SME มีสาระน่ารู้ใหม่ ๆ ที่อินเทรนด์ เพิ่มอัพเดทอยู่เสมอ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ การเป็น SME อย่าหยุดการเรียนรู้ เพราะ SME Academy 365 เป็น Platform E-learning เรียนรู้และฝึกอบรมออนไลน์ ที่รวมองค์ความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำ SME ไทย ไปสู่การเป็น Smart SME เพราะโลกธุรกิจไม่เคยหยุดสอนเรา SME Academy 365 ศูนย์รวมการเรียนรู้และประสบการณ์ที่จะเปลี่ยนเราให้เป็น Smart SME ที่มิใช่เพียงประกอบธุรกิจได้ แต่คุณจะได้รับชัยชนะในธุรกิจเพียงปลายนิ้วสัมผัสที่จะทำให้แม้เจอวิกฤติโควิด แต่ธุรกิจไทยจะอยู่รอดและไปต่อได้ ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เป็นแนวทางจะต้องปรับเปลี่ยนไป SME Academy 365 จึงรวบรวมทุกอย่างที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือผู้ที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจ จำเป็นต้องรู้

ส่วนจุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือ

1. พัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับบริบทของผู้ประกอบการ
2. พัฒนาหลักสูตรที่จำเป็นในการพัฒนา SME ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมจัดทำชุดองค์ความรู้ที่จำเป็นแก่ SME
3. เผยแพร่ให้ SME ทราบถึงการมีอยู่ของระบบ SME Academy 365 และสามารถเข้ามาใช้งานและพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมและได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) รวมถึงผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจ จำนวน 10,000 ราย โดยจะทำการประชาสัมพันธ์ไปในวงกว้าง เพื่อเชิญชวนให้เข้าใช้งาน และเรียนรู้เนื้อหาบนระบบ SME Academy 365 โดยกลุ่มเนื้อหาประกอบไปด้วย

1. หลักสูตรสมรรถนะผู้ประกอบการ การเป็นผู้ประกอบการบนฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal Entrepreneurial) การคิดเชิงออกแบบสำหรับผู้ประกอบการ การจัดการนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับผู้ประกอบการวิถีใหม่ การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสำหรับผู้ประกอบการ วิถีใหม่ และการจัดการเงินและบัญชีสำหรับ MSME (Finance for MSME)

2. หลักสูตรสมรรถนะดิจิทัล ได้แก่ การจัดการพาณิชย์ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการวิถีใหม่ การตลาดดิจิทัล การประชาสัมพันธ์ดิจิทัล การเล่าเรื่องดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ และความฉลาดทางดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ รศ.ดร. ปณิตา กล่าว

SME Academy 365 เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย รวมถึงบุคคลทั่วไป เข้าถึงการพัฒนาตนเองจากระบบการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ที่เข้าถึงได้สะดวก เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของ “คนยุคใหม่” ที่ต้องการความรู้ด้านธุรกิจ มีหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนตาม ความถนัด เนื้อหาที่ทันสมัยเข้าใจง่าย ตอบโจทย์ประเภทธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและบุคลากรในองค์กรให้เติบโตและมีแหล่งเรียนรู้แบบต่อเนื่อง SME Academy 365 การเรียนรู้ออนไลน์ที่ดีที่สุด เพื่อการพัฒนาธุรกิจ SME กลุ่มผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าใช้งานได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ http://www.smeacademy365.com/
และติดตามรับชม vdo premiere launch เปิดตัว platform ได้ที่ https://www.facebook.com/OSMEP/

ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ


 

Exit mobile version