Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

แชฟฟ์เลอร์ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดโครงการแข่งขันด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาคธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดโครงการการแข่งขันความคิดสร้างสรรค์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (the Future EV Mobility Creative Contest for Sustainability) สำหรับนิสิตนักศึกษา โดยจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ภายใต้แนวคิด “พันธมิตรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งงานดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เยอรมนี  โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้แสดงความรู้ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ เช่น นวัตกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ นโยบายและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

แหล่งรวมนวัตกรรมและการพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้า

การแข่งขันในครั้งนี้จัดขึ้นตามนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว   (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทยที่กำลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน    อีกทั้งยังเป็นการจัดการแข่งขันเพื่อยกย่องความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมและการคมนาคมด้วยยานยนต์ไฟฟ้า (EV Mobility) ของประเทศเยอรมนี รวมถึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้กรอบความคิดริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศของเยอรมนี (German International Climate Initiative) ด้วย

นายชัชวาล ส้มจีน กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้กลายเป็นสังคมปลอดมลพิษ ภายใต้นโยบาย 30/30 ซึ่งหมายความว่า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดจะเน้นไปที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 และด้วยสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคส่วนยานยนต์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คาดว่าจะมากถึง 50% จึงทำให้ประเทศไทยซึ่งมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์เหมาะสมและเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ชั้นนำในภูมิภาคนี้สามารถสร้างโอกาสให้กับเราอย่างมากมาย ในการพัฒนาโซลูชั่นนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่กำลังเติบโตอย่างมีศักยภาพ

นายพีระดิษฐ์ โชติภาสพุทธิ ผู้จัดการหน่วยธุรกิจระบบส่งกำลัง แผนกเทคโนโลยียานยนต์ บริษัท แชฟฟ์เลอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า  ”ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนไปสู่อีโมบิลิตี้อย่างแท้จริง ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ที่ดีระหว่างนิสิตนักศึกษาและคณะที่ปรึกษา รวมถึงการแสดงนวัตกรรมโซลูชั่นที่หลากหลายที่มีส่วนช่วยผลักดันอุตสาหกรรมให้เติบโตเพิ่มขึ้น”    

โครงการนี้เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาส่งผลงานเข้าประกวดโดยใช้เกณฑ์การตัดสิน 3 หัวข้อหลัก คือ ความคิดสร้างสรรค์  ความเป็นไปได้ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน โดยผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าล่าสุด  โดยทีมที่ได้รับคัดเลือก ทีม ทีมละ คน เข้าร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ชิงเงินรางวัลรวม 100,000 บาทเมื่อวันที่ 27 – 28 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา  ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  

บ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถเหมาะสม

ปัจจุบันตลาดมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชาโดยเฉพาะในสายงานวิศวกรรมต่างๆ ดังนั้นการสร้างผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรที่มีความสามารถเหมาะสมจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาภาคส่วนการคมนาคมด้วยยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง

นางสาวพัชมน ปัญโญสุข หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท แชฟฟ์เลอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในธุรกิจเครือข่ายยานยนต์ก่อให้เกิดความต้องการด้านทักษะและความสามารถในวงกว้างเป็นอย่างมาก และเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในโลกอุตสาหกรรมดังกล่าว แชฟฟ์เลอร์เชื่อมั่นอย่างเต็มที่ถึงความสามารถของเราในการจัดหาเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อสร้างพนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสม พร้อมด้วยทักษะที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมอย่างการแข่งขัน EV Hackathon ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้แชฟฟ์เลอร์สามารถบ่มเพาะและดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการบุกเบิกและสร้างสรรค์โซลูชันเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

โดยก่อนหน้านี้ บริษัทแชฟฟ์เลอร์ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัยบูรพา ขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้          อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค (EEC Automation Park) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะและการปรับทักษะใหม่สำหรับวิศวกร คนทำงาน และผู้สำเร็จการศึกษาผ่านหลักสูตรโปรแกรมการเรียนรู้ และการฝึกอบรมทางเทคนิคที่ดำเนินการที่ศูนย์การเรียนรู้ อีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค ของมหาวิทยาลัยบูรพา นอกจากนี้นักศึกษายังสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการตรวจสอบสภาพตลับลูกปืนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของแชฟฟ์เลอร์ได้โดยตรง ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี  Smartcheck  และ OPTIME

แชฟฟ์เลอร์ กรุ๊ป – We pioneer motion

ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภาคธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมระดับโลก แชฟฟ์เลอร์ กรุ๊ป ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับภาคอุตสาหกรรมและยานยนต์มามากกว่า 75 ปี ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการที่ทันสมัย ในด้านการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมดิจิตอล 4.0 และพลังงานหมุนเวียน  ทำให้แชฟฟ์เลอร์เป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือในด้านการจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการด้านอุตสาหกรรมและยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ชาญฉลาด และยั่งยืน เราผลิตชิ้นส่วนและระบบที่มีความแม่นยำสูงสำหรับระบบขับเคลื่อน (drive train) และระบบช่วงล่าง (แชสซี) รวมถึง ตลับลูกปืนหลายชนิด เหมาะสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท แชฟฟ์เลอร์ กรุ๊ป  มียอดขายประมาณ 13.9 พันล้านยูโรในปี พ.ศ. 2564 โดยเป็นหนึ่งในบริษัทครอบครัวที่ใหญ่สุดในโลก ด้วยจำนวนพนักงานมากถึง 83,300 คน อีกทั้งจากข้อมูลของ DPMA (สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าเยอรมนี) แชฟฟ์เลอร์เป็นบริษัทที่มีการพัฒนานวัตกรรมมากสุดเป็นอันดับสาม โดยมีการยื่นขอจดสิทธิบัตรไปมากกว่า 1,800  รายการในปี พ.ศ. 2564


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot คว้า 3 รางวัล จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2022”

.ดร.สุชาติ  เซี่ยงฉิน อธิการบดี  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ) จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มอบทุนการศึกษา และมอบเสื้อสามารถให้กับนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot  คว้า 3 รางวัล จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2022”  ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ Best-in-class Mobility (รางวัลหุ่นยนต์ที่มีสมรรถนะยอดเยี่ยม) และ Best team description papers (รางวัลนำเสนอข้อมูลทีมหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม) ได้อย่างสมศักดิ์ศรี โดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก ประจำปี พ.. 2565 ในการแข่งขัน “World RoboCup Rescue 2022”  ระหว่างวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ  โดยมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย รวมจำนวน 14 ทีม จาก 10 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรีย แคนาดา จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และไทย สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่เป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมากที่สุดอีกด้วย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565

ขวัญฤทัย ข่าว/สมเกษ ถ่ายภาพ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ มทร. สุวรรณภูมิ ร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ จังหวัดนนทบุรี

ผศ.ดร.สมพร ศรีวัฒนพล คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี ร่วมบรรยายในหัวข้อ “องค์ความรู้ด้านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับงานเกษตร และการประยุกต์ใช้” เพื่อร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ จังหวัดนนทบุรี  หัวข้อที่นำเสนอ ประกอบด้วย (1) การแปรรูปผลไม้ด้วยเทคนิคระบบวัดค่าไดอิเล็กตริค  (2) ระบบส่งรับข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนระยะไกลแบบประหยัด  (3) การฝึกสอนนักอิเล็กทรอนิกส์สำหรับงานเกษตรอัจฉริยะ  (4) การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลผลิตเกษตร และ  (5) การสาธิตเครื่องวัดความเค็มหวาน ด้วยสมาร์ทโฟน  เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ณ “เรือนหลังสวน” ตำบล บางพลับ อำเภอปากเกร็ด นนทบุรี

   สืบเนื่องจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ จังหวัดนนทบุรี ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม จ.นนทบุรี ถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะและโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ในโครงการเวทีถ่ายทอดความรู้ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอปากเกร็ด ผศ.ดร.พีรพงษ์ พรวงศ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม จ.นนทบุรี และรองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมจัดการบรรยายให้ความรู้ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะและโมเดลเศรษฐกิจ BCG แก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมสาธิตการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยการผลิตและแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรตามหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรชาวสวนผลไม้มาก 

ชวัญฤทัย-ข่าว 


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. จับมือ พพ. บูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐาน Building Energy Code (BEC)

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมและกายภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายกับนายเรืองเดช ปั่นด้วง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พร้อมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ 7 แห่ง เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐาน Building Energy Code (BEC) สู่การพัฒนาเป็นองค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564  ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน  กรุงเทพฯ การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้  เดินหน้านำพลังงานทดแทนมาใช้และลดใช้พลังงาน 30% ในปี 2580 จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในหรือก่อนหน้า ปี 2065  รวมถึงการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบในระบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบัน

สำหรับแนวทางปฏิบัติในการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามกฎกระทรวงฯ BEC  ปี 2563     นั้นทางกระทรวงพลังงาน  โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ออกกฎกระทรวงฯฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่  12  พฤศจิกายน 2563  ประเภทอาคารที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม

กฏกระทรวงฯ คือ อาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง ที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตาราเมตรขึ้นไป ใน 9 ประเภทอาคาร  ตามกฎกระทรวงฯ ข้อที่ 14 ได้ระบุว่าการตรวจประเมินในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีคุณสมบัติ ดังนี้  (1) วิศวกรที่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือ สถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม (2) ผู้ที่ได้รับการรับรองจาก พพ. ว่าเป็นผู้สำเร็จการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด และกฎกระทรวงฯ ข้อ 15 ระบุให้เจ้าของอาคาร มีหน้าที่จัดทำรายงานฯ เพื่อประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตหรือแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร คือ (1) ตรวจประเมินแบบอาคาร BEC ก่อนยื่นขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร (2) ตรวจประเมินแบบอาคาร BEC ก่อนยื่นขอใบรับรองการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร 

แนวทางการบังคับใช้จะเริ่มจากอาคารขนาดใหญ่ พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปในปีแรก และตั้งแต่  5,000 ตารางเมตรขึ้นไปในปีที่สอง และตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ใช้โปรแกรมตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน เป็นโปรแกรมช่วยในการประเมินอาคารที่ออกแบบ  ว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ หรือไม่ โดยปัจจุบันอยู่ในรูปแบบออนไลน์ (BEC Web-based) โปรแกรม BEC Web-based ใช้งานผ่าน http://bec.energy.in.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์/โทรสาร : 0-2225-2412 www.2e-building.com E-mail : 2e.center@gm  Facebook BEC Center ศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 

อย่างไรก็ตาม พพ. ได้เตรียมให้สถาบันการศึกษาชั้นนำ 7 แห่ง อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ร่วมวางเป้าหมายสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมมหาวิทยาลัยทั้งหมดที่มีความพร้อม เพื่อให้บุคคลากรของสถาบันการศึกษา และนิสิตนักศึกษาที่มีคุณสมบัติได้มีความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดในการบังคับใช้มาตรฐาน BEC ตลอดจนการบูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐาน Building Energy Code (BEC) สู่การพัฒนาเป็นองค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษาอย่างแท้จริง

ขวัญฤทัย ข่าว/สมเกษ ถ่ายภาพ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. รับนักศึกษาใหม่ หลักสูตรเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ โควตาดีเด่นด้านนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ (หุ่นยนต์) ปี ‘65

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) รับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน และระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2565  โดยวิธีพิเศษ สำหรับผู้มีความสามารถดีเด่นด้านนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ (หุ่นยนต์)  ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ฐานวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี ระดับปริญาญาตรี 4 ปี  และระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง /เทียบโอน 2-3 ปี  โดยจัดการเรียนการสอน ที่ มจพ. กรุงเทพ   มจพ.ปราจีนบุรี  และ มจพ.ระยอง  ดังนี้

– Download ระเบียบการและรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่บัดนี้ถึง วันที่ 20 ธันวาคม 2564
– ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสอบสัมภาษณ์ วันที่ 23 ธันวาคม 2564
– สอบสัมภาษณ์/นำเสนอผลงานและส่งผลตรวจสุขภาพ วันที่ 8 มกราคม 2565
– ประกาศผลสอบคัดเลือก วันที่ 14 มกราคม 2565
– ผู้สมัครยืนยันสิทธิ์ Clearing House (เฉพาะผู้สมัครระดับปริญญาตรี 4-5 ปี) วันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2565
– ประกาศรายชื่อผู้ยืนยันสิทธิ์ที่มีสิทธิ์เข้าศึกษา  วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565   

ทั้งนี้ สามารถศึกษาคู่มือการใช้งานระบบรับสมัครนักศึกษาออนไลน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่ http://admission.kmutnb.ac.th/download

สอบถามรายละเอียดได้ที่  งานรับสมัคร กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  (มจพ.)  โทร. 02-555-2000 ต่อ 1626–1628, Facebook : กลุ่มงานรับเข้าศึกษา มจพ. หรือhttp://www.admission.kmutnb.ac.th  

ขวัญฤทัย ข่าว 


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

พระจอมเกล้าฯ พระนครเหนือ มอบหุ่นยนต์ฉายแสง UVC ป้องกันเชื้อโควิด แก่ รพ.ราชวิถี

ผศ. สมชาย  เวชกรรม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์   รศ.ดร. ธีรวัช  บุณยโสภณ  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ อาจารย์ ดร.สราวุฒิ สืบแย้ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลังและกิจการทั่วไป พร้อมด้วยคุณภรณี  ลีนุตพงษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ  และทีมผู้วิจัย รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมมอบหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC รับมอบโดย นพ.ทัศนชาติ จิตรีธาตุ รองผู้อำนวยการด้านอำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี สนับสนุนโดยคุณอารยา ชัยวัฒนศิริกูล ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคติดเชื้ออื่นๆ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 

นวัตกรรมหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC มจพ. มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมต่างๆ สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด 19 (Coronavirus  Disease 2019  (COVID-19))  และโรคติดเชื้ออื่นๆ ให้กับสถานพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ เป็นการออกแบบสร้างหุ่นยนต์ฉายรังสี UVC ระบบควบคุมไร้สายด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส ขนาดหุ่นยนต์ 68x78x180 ซม. และใช้หลอดรังสียูวีที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้  ได้แก่ หลอดไอปรอทแรงดันต่ำ เปล่งรังสี 254 nm/หลอดอะมัลกัม เปล่งรังสี 254 nm/ หลอด UV LED ที่แปล่งรังสีในช่วง 242-313 nm หรือ 260-265 nm

ส่วนหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC มจพ. เวอร์ชั่นล่าสุดนี้ ได้รับการพัฒนาและปรับปรุง รูปลักษณ์ที่ทันสมัยกว่าเดิม ตัวเครื่องทำให้ Concept โดดเด่นจากรุ่นอื่นๆ แต่ยังคงความทนทาน ด้วยการออกแบบที่สวยงามมีสไตล์ เน้นรายละเอียดที่คมชัดและกะทัดรัดขึ้น

  ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอเชิญชวนผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สามารถบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” ธนาคารกรุงเทพ สาขา มจพ. เลขที่บัญชี 907-3-50043-2 ใบเสร็จรับเงินการบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.02-555-2000 ต่อ 1604

ขวัญฤทัย ข่าว- สมเกษ ถ่ายภาพ 


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ .มอบนวัตกรรมหุ่นยนต์ แก่ กระทรวง อว. สู้ภัยโควิค

อาจารย์ ดร. รักนรินทร์  แสนราช  รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง  พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.สราวุฒิ สืบแย้ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลังและกิจการทั่วไป  รศ.ดร.สิทธิโชค  สุนทรโอภาส ประธานสภาคณาจารย์และพนักงาน ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย  และทีมงานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมมอบหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC และหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส แก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รับมอบโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ และโฆษกกระทรวงฯ คุณสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจกระทรวงฯ และรศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564

นวัตกรรมหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด 19 (Coronavirus  Disease 2019  (COVID-19))  และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ให้กับสถานพยาบาล และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นการออกแบบสร้างหุ่นฉายรังสี UVC ระบบควบคุมไร้สายด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส และเพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สู่สังคม  ขนาดหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC 68x78x180 ซม.  และใช้หลอดรังสียูวีที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ได้แก่ หลอดไอปรอทแรงดันต่ำ เปล่งรังสี 254 nm/หลอดอะมัลกัม เปล่งรังสี 254 nm/ หลอด UV LED ที่เปล่งรังสีในช่วง 242-313 nm หรือ 260-265 nm ส่วนหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส ถูกออกแบบให้ระบบควบคุมการเคลื่อนที่หุ่นยนต์เป็นแบบ “ไร้สาย” มีคุณสมบัติในการสร้างไอพ่นละอองฝอยละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน เรียกว่าเป็นระบบการสร้างละอองฝอยแบบ ยูแอลวี (ULV cold fog generator) ด้วยปั๊มแรงดันสูง 12 บาร์ มีอัตราการไหล 1 ลิตรต่อนาที ใช้หัวฉีดพ่นจำนวน 16 หัวฉีด (หัวฉีดละเอียดชนิดพิเศษ) เพิ่มความสะดวกสบาย และสามารถเว้นระยะห่างจากรัศมีของการฉีดพ่นได้ ลดความเสี่ยงให้กับผู้ทำการฉีดพ่นจากการบังคับขับหุ่นยนต์ผ่านกล้อง ผ่านระบบสัญญาวิทยุ และมีจอแสดงผลกล้องจากหุ่นยนต์ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าของหุ่นยนต์  เพื่อช่วยให้ผู้บังคับสามารถควบคุมได้ง่ายสามารถปรับมุมได้ตามความเหมาะสมของสถานที่ และหมุนรอบแกน 120 องศา ทั้งนี้หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) มีขนาด กว้าง 60 x ยาว 80 x สูง 150 เซนติเมตร มีโครงสร้างที่ทนต่อความชื้นสูง โดยเลือกใช้สแตนเลส 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอเชิญชวนผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือด้านการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สามารถบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” ธนาคารกรุงเทพ สาขา มจพ. เลขที่บัญชี 907-3-50043-2 ใบเสร็จรับเงินการบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-555-2000 ต่อ 1604

 ขวัญฤทัย ข่าว/สมเกษ ถ่ายภาพ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. TOP 10 ม.ไทย จากการจัดอันดับ THE Ranking 2022

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ติดอันดับ TOP 10 มหาวิทยาลัยไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก Times Higher Education World University Rankings 2022 กลับมาติดอับดับอย่างสมศักดิ์ศรีอีกครั้ง สืบเนื่องจากปี 2563 มจพ. ถูกจัดอันดับที่ 13 โดยคิดคะแนนจากผลคะแนนดิบ ซึ่งปีนี้มีมหาวิทยาลัยไทยติดอับดับรวม 17 มหาวิทยาลัย Times Higher Education หรือ THE สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ชื่อดังจากประเทศอังกฤษ  ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับ Times Higher Education World University Rankings 2022 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นอันดับที่ 6 ร่วมของไทย

(คิดเป็นอันดับที่ 10 ของไทยจากผลคะแนนดิบ) จากทั้งหมด 17 มหาวิทยาลัย และจัดอยู่ในอันดับที่ 1201+ ของโลก จากมหาวิทยาลัยทั่วโลก 2,100 กว่าแห่ง

ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณาจากตัวชี้วัด  Times Higher Education University Rankings 2022 ในการจัดอันดับพิจารณาจากตัวชี้วัด 5 ด้าน ประกอบด้วย การเรียนการสอน (Teaching) ร้อยละ 30, การวิจัย (Research) ร้อยละ 30, การอ้างอิงงานวิจัย (Citations) ร้อยละ 30, รายได้ทางอุตสาหกรรม (Industry Income) ร้อยละ 2.5 และความเป็นนานาชาติ (International Outlook) ร้อยละ 7.5 โดยเมื่อนำผลคะแนนมาดูรายละเอียดตามรายตัวชี้วัด จะพบว่า มจพ. ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นจากปีก่อน คือ อันดับที่ 10 ของประเทศ โดยตัวชี้วัดที่ทำได้ดีและเด่นชัดที่สุดคือ ด้านการอ้างอิงงานวิจัย (Citations) ซึ่งจัดเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อนที่เป็นอันดับที่ 9 บ่งบอกถึงการที่มหาวิทยาลัยมีการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอขอบคุณบุคลากร นักวิจัย และนักศึกษาทุกท่านที่ร่วมมือกันพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลก  ดังวิสัยทัศน์ของการเป็น ‘มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ’

ข้อมูลเว็บที่จัดอันดับ https://bit.ly/3BKvUaa

ขวัญฤทัย ข่าว


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

อาจารย์ มจพ. คว้ารางวัล BEST PRESENTATION จากงานประชุม ICRES 2021 ตอบโจทย์ การอนุรักษ์พลังงาน

ผลงานวิจัย เรื่อง “Valorisation Wastes from Sugar Mill Plant and Water Supply Treatment Process as Alternative Materials for Ecological Ceramic Floor Tiles” รศ.ดร.อุบลรัตน์ หวังรักษ์ดีสกุล ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้รับรางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยม BEST PRESENTATION ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 2021 3rd International Conference on Resources and Environment Sciences (ICRES 2021) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้มาทำความรู้จักกับ รศ.ดร.อุบลรัตน์ หวังรักษ์ดีสกุล เล่าถึง ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล Best Presentation Award จากงานประชุมวิชาการนานาชาติ ICRES 2021 เป็นการประชุมแบบออนไลน์ ที่เน้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นงานวิจัยประเภท Waste Utilization ซึ่งเน้นการใช้อรรถประโยชน์กากของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ในการผลิตกระเบื้องเซรามิค ดังนั้น กากของเสียที่นำมาใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ จำต้องมีส่วนประกอบ Silica และ Alumina เป็นหลัก รวมทั้งสารประกอบโลหะออกไซด์ ที่ช่วยลดอุณหภูมิในการเผาเพื่อประหยัดพลังงานสำหรับการผลิตกระเบื้องเซรามิค โดยมีนายธนพงษ์ พุ่มม่วง นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผู้ร่วมวิจัยและสร้างชิ้นงานประดิษฐ์


วัตถุประสงค์ของงานวิจัย เพื่อศึกษาผลของการใช้ เถ้าชานอ้อย แคลเซียมคาร์บอนเนต ดินตะกอนน้ำประปา และเศษแก้วสีชา สำหรับกระเบื้องปูพื้น และเพื่อพัฒนากระเบื้องดินเผาจากวัสดุของเสียจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2508-2555 ส่วนวัสดุของเสียที่นำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยนี้ มาจากโรงงานผลิตน้ำตาล คือ แคลเซียมคาร์บอเนต และ เถ้าชานอ้อย จากโรงผลิตน้ำประปา คือ ดินตะกอนน้ำประปา และเศษแก้วจากโรงผลิตขวดแก้ว ผลที่ได้ถือว่าเป็นการใช้กากของเสียในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาระต่อผู้ประกอบการในการกำจัดทิ้งวัสดุจากกระบวนการผลิต งานวิจัยนี้ได้รับทุนขับเคลื่อนงานวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ปี 2563 ระยะเวลา 1 ปี

ลักษณะเด่นของงานวิจัย วัสดุที่ใช้ในการผลิตเป็น กากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ในกระบวนการวิจัย และยังใช้อุณหภูมิในการเผาสำหรับกระเบื้องปูพื้นในงานวิจัยนี้ต่ำกว่าที่มีการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป สำหรับการประยุกต์ใช้ แคลเซียมคาร์บอเนต ของเสียจากโรงงานน้ำตาล นอกจากนี้ ยังได้ประยุกต์ใช้เศษแก้วที่มี เป็นส่วนประกอบของออกไซด์ที่ช่วยลดจุดหลอมตัวในการเผา เป็นการช่วยอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย

หากจะมองถึงประโยชน์การใช้งานวิจัย รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวว่าสามารถเป็นนำไปต่อยอดและพัฒนาไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมชุมชน ที่มีความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้สีสันที่แปลกตาจากที่โรงงานเคยผลิต รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ของเสีย มูลค่าของเสียเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้า สนับสนุนให้เกิดธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 084-676-3237

ขวัญฤทัย ข่าว – ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

กองกลาง มจพ. จัดโครงการโลว์คาร์บอน (Low Carbon) ด้วย “ต้นไม้ฟอกอากาศ” รูปแบบออนไลน์

อาจารย์ ดร.สราวุฒิ สืบแย้ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลังและกิจการทั่วไป มจพ. กล่าวเปิดงาน โครงการโลว์คาร์บอน (Low Carbon) ด้วย “ต้นไม้ฟอกอากาศ” และการมอบนโยบายการพัฒนาสำนักงานสีเขียวตามประกาศกองกลาง เรื่อง การส่งเสริมการจัดการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2564 โดยนางจารุวรรณ ศรีพงษ์พันธุ์กุล ผู้อำนวยการกองกลาง จากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง โลว์คาร์บอน (LOW CARBON) โดยผศ.ดร. ณัฐพงศ์ มกระธัช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมและกายภาพ ปิดท้ายด้วยพิธีมอบ “ต้นไม้ฟอกอากาศ” อาทิ ต้นรวย ไม่เลิก เศรษฐีพันล้าน ช้อนเงิน ช้อนทอง หัวใจทศกัณฑ์ เป็นต้น โครงการโลว์คาร์บอน (Low Carbon) เป็นบูรณาการเข้ากับโครงการของมหาวิทยาลัยตามคำรับรองการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และโครงการของสำนักงานอธิการบดี ดำเนินการโดยคณะกรรมการพัฒนาสำนักงานอธิการบดีสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวซึ่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม กองกลาง เข้ามาทำหน้าที่และเป็นตัวแทนของกองกลางในการส่งเสริมให้กองกลางมีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพภายใต้กรอบนโยบาย และแนวคิดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการบูรณาการด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการทำงาน รวมไปถึงแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเสริมสร้างแรงจูงใจร่วมกัน ตลอดจนการส่งเสริมให้ทุกกลุ่มงาน ในสังกัดกองกลาง นำกิจกรรมการส่งเสริมการจัดการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติภารกิจได้ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมตามแผนการพัฒนาสำนักงานสีเขียวตามประกาศกองกลางในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุม 215 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ


 

Exit mobile version