Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มข. เชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่นและเกียรติคุณสารสิน หนุนวิจัยแนวหน้าระดับโลก

เมื่อเร็วๆนี้  มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นและเกียรติคุณสารสิน ประจำปี 2565 โดยมี ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวรายงาน  รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน ในการนี้มีนักวิจัยที่ได้รับรางวัล พร้อมครอบครัว คณะผู้บริหาร ร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ณ ห้องคอนเวนชัน 2 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวชั่น เซ็นเตอร์

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ได้กำหนดให้มีพิธีมอบรางวัลแก่นักวิจัยที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักวิจัยรุ่นหลัง ซึ่งในปี 2565 นับเป็นปีที่ 11 ของการมอบรางวัลฯ รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ปีนี้มีนักวิจัยรางวัลสารสินจำนวน 5 ท่าน นับว่ามากที่สุดกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยครอบคลุมทั้งกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยดีเด่นระดับเพชร จำนวน 9 ท่าน  นักวิจัยดีเด่นระดับเหรียญทอง จำนวน 7 ท่าน และนักวิจัยดีเด่นระดับเหรียญเงิน จำนวน 18 ท่าน  รวมรับรางวัลทั้งสิ้น 39 ท่าน

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยขอนแก่นรู้สึกยินดี และ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสได้จัดงานมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นและเกียรติคุณสารสิน ประจำปี 2565 ในช่วงเวลานี้เป็นปีที่พิเศษมาก เนื่องจากปี 2567 ที่กำลังจะมาถึง มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะมีอายุครบ 60 ปี ซึ่งผลงานวิจัยนับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยยืนยันความเข้มแข็ง และ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น

“ในขณะนี้มหาวิทยาลัยของเราอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research) ภารกิจที่สำคัญคือการสร้างผลงานวิจัยและนำงานไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการพัฒนา และ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเจริญก้าวหน้าต่อไป ขอบคุณทุกท่านที่ทุ่มเทสร้างผลงานให้กับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ขอขอบคุณครอบครัวนักวิจัยทุกท่านที่ให้โอกาสและสนับสนุน เพราะว่าการทำงานวิจัยจะต้องเสียสละ บางครั้งต้องกลับบ้านค่ำ หากครอบครัวไม่สนับสนุนก็ไม่สามารถเกิดผลงานวิจัยที่ดีมากมายเช่นนี้”

ศ.กุลธิดา ท้วมสุข คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์หนึ่งในผู้รับรางวัลเกียรติคุณสารสินในปีนี้ เปิดเผยว่า ตนเองเป็นนักวิจัยที่ศึกษาด้านมนุษยศาสตร์ดิจิตัล หรือ Digital humanity ที่นำเอาองค์ความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาจัดการด้วยวิธีการทางดิจิตัล แนวคิดดังกล่าวทำให้เป็นนักวิจัยคนแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบความสำเร็จ

“ดีใจมากที่ได้รางวัลเกียรติคุณสารสินในปีนี้ สำหรับผลงานวิจัยที่ภาคภภูมิใจมากเป็นผลงานวิจัย ด้าน KKU Smart Learning เป็นอีกแบรนด์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เป็นที่รู้จักในเวทีวิชาการ ทางการศึกษา สิ่งที่อยากจะฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์ผลงานให้ประสบความสำเร็จ ต้องรู้ 3 ประการ ประการแรก รู้เขา คือ การรู้ หรือ สนใจในปัญหาของประเทศ สนใจความก้าวหน้าทางวิชาการ ประเด็นสำคัญของโลก ที่เราสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะเข้าไป ศึกษาและแก้ปัญหา  ประการต่อมา รู้เรา คือ การรู้ตนเอง ว่ามีศักยภาพในด้านใด และต้องสร้างความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ต้องมุ่งมั่นในโจทย์วิจัยที่เราศึกษา ประเด็นสุดท้ายคือการรู้ร่วมกัน หมายถึง ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นมีเครือข่ายนักวิจัย ที่เราร่วมมือและให้พวกเขาช่วยเรา ในการปัญหาที่เราไม่เข้าใจ และ ท้ายที่สุดต้องมุ่งมั่นในมีเป้าหมายชัดเจน”

สำหรับรางวัลนักวิจัยดีเด่น และนักวิจัยเกียรติคุณสารสิน เป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดขึ้นทุกปีโดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 11 เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย เพื่อการพัฒนาความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ สังคม และการส่งเสริมความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ โดยใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการบริหารจัดการพันธกิจของมหาวิทยาลัย ตลอดจนเป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรที่มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท สร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่โดดเด่น และเป็นประโยชน์วงวิชาการและสังคม

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง ภาพ : อรรถพล ฮามพงษ์


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

นศ. วิศวกรรม ฯ มข. คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวด Moral Hackathon 2023

นักศึกษาวิศวกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Moral Hackathon 2023 จัดขึ้นภายใต้โจทย์ “Moral Move” เเรงขับเคลื่อนแห่งสังคมคุณธรรม จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งมีทั้งหมด 14 ทีม จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดย นางสาวชาคริยา จันทรคามิ ได้ร่วมกับเพื่อสมาชิกต่างสถาบัน ชื่อทีม Easy Easy” ประกอบด้วย นางสาวชาคริยา จันทรคามิ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ,นายปริภัทร์ มะลีแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,นายเมฆินทร์ วงศ์ศรีลานักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

จัดทำผลงานชื่อ “Sign Sense” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเชื่อมโลกของคนหูดี และคนหูหนวกเข้าด้วยกันผ่านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีส่วนช่วยในการสื่อสาร นวัตกรรมนี้จึงช่วยสื่อสารระหว่างผู้พิการในการได้ยินและคนหูดี ช่วยเชื่อมโลกสองใบเข้าด้วยกัน

นางสาวชาคริยา จันทรคามิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า “SignSense เกิดขึ้นจากที่พวกเรานั่ง ระดมความคิดกันว่าอยากลองทำเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ โดยสนใจกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน และสื่อความหมาย (คนหูหนวก) เมื่อลองศึกษาปัญหาของคนหูหนวกดูว่าปัจจุบันพวกเขามีปัญหาอะไรบ้าง เราจึงพบว่าจริงๆ แล้วคนหูหนวกไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก และไวยากรณ์ภาษามือไทยไม่เหมือนกับภาษาไทย ทำให้เค้าสื่อสารกับคนหูดีลำบาก บางคนจึงเขียนไม่ได้เลย อ่านไม่ได้ด้วย หรือเขียนออกมาแล้วคนหูดีไม่เข้าใจ พวกเราจึงเกิดไอเดียที่ว่าจะดีกว่ามั้ยถ้าจะทำให้คนหูหนวกและคนหูดียังสื่อสารกันได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายยังได้ใช้ภาษาแม่ของตัวเอง”

“พวกเราจึงทำ SignSense ซึ่งเป็น Application ที่ใช้ AI ที่แปลง ‘ภาษามือเป็นเสียง’ และ ‘แปลงเสียงเป็นภาษามือ’ ไปพร้อมๆ กันแบบ Realtime กล่าวคือเมื่อคนหูดีพูดก็จะแปลงคำพูดเป็นภาษามือ และเมื่อคนหูหนวกทำภาษามือก็จะแปลงเป็นเสียงออกไปให้คนหูดีได้ยินนั่นเอง โดยการแปลในลักษณะนี้จะทำให้สื่อสารกันได้อย่างไร้รอยต่อ (seamlessly) เพื่อสร้างความเท่าเทียม ลดช่องว่างในการสื่อสาร และทำให้คนหูหนวกได้เข้าถึงสื่อ, ข้อมูลมากขึ้นนั่นเอง”


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

เรียนฟรี !non degree 4 หลักสูตร คณะเกษตรฯ มข. ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ

คณะเกษตรฯ มข. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ KKU Lifelong Education ตอบสนองความต้องการของสังคม ดันหลักสูตรต้นแบบ 4 หลักสูตร ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ สอดคล้องกับทิศทางในการขับเคลื่อน Education Transformation ในประเด็นที่ 2 การศึกษาตลอดชีวิตประเภท non degree เรียนฟรี ! มีผู้สนใจสมัครเรียนเกินเป้าหมาย

 รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว) โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักสูตรภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ จำนวน 20 หลักสูตร เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรต้นแบบ ของโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Re-Skill/Up-Skill/New-Skill)

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลักสูตรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหลักสูตรต้นแบบดังกล่าว จำนวน 4 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) 2. หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร(Agriculture Biotechnology) 3.หลักสูตรการจัดการเกษตรปลอดภัยและการเกษตรอินทรีย์
และ 4. หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society)

ทุกหลักสูตรเรียนฟรี โดยหลักสูตรแรกที่เริ่มจัดการเรียนการสอนคือ หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society) มีผู้สนใจจากกลุ่มเป้าหมายจาก เกษตรกรพันธุ์ใหม่ (Smart Farmer) และกลุ่ม Young Smart Farmer ผู้เริ่มประกอบการธุรกิจเกษตร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ค้าและผู้ส่งออก กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้สนใจประกอบธุรกิจเกษตรสมัครเข้าร่วมโครงการร่วม 200 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนจำนวน 58 คน มีระยะเวลาการเรียนหลักสูตร 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 21 กันยายน 2566

หลักสูตรแบ่งเป็น 5 Module ดังนี้ การพัฒนาแนวคิดผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร  การออกแบบโมเดลธุรกิจเกษตรและการจัดการธุกิจเกษตรสมัยใหม่ การใช้แนวคิดเชิงออกแบบเพื่อการตลาดและการตลาดดิจิทัล การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและการสร้างแบรนด์ และ การตลาดบริการทางธุรกิจเกษตรด้วยจิตวิญญาณ เรียนทั้งแบบ Onsite และ Online โดยการเรียนภาคปฏิบัติจะได้ศึกษา ดูงานในสถานประกอบการ เมื่อเรียนจบหลักสูตรผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการผ่านหลักสูตรและสามารถเก็บหน่วยกิต ตลอดหลักสูตรจำนวน 9 หน่วยกิต (จากการเรียน 3 Module) เพื่อนำไปใช้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต

รศ.ดร.ดรุณี กล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรต้นแบบ non degree 4 หลักสูตรต้นแบบของ มข. ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ว่า ในวันที่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีกระทบอย่างมากต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยในแทบทุกพันธกิจ โดยด้านการศึกษา เราจะเห็นว่า ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนศึกษาตามระบบเท่านั้น ซึ่งนับวันจะน้อยลงเพราะเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่มหาวิทยาลัยจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ในการที่จะเข้ามาเรียน โดยเฉพาะ การ reskill /upskill

ทั้งนี้  KKU lifelong learning ก็เกิดขึ้นภายใต้นโยบาย Education Transformation ของท่านอธิการบดี รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ดังนั้นจะเห็นว่ามีหลักสูตรใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมทั้งหลักสูตรประเภท non degree  เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ และเป็นที่แน่นอนว่า ภาคการเกษตรฯ มีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนากำลังคนด้านนี้ในภาคส่วนต่างๆ จึงมีความสำคัญ การจัดหลักสูตร non degree ต้นแบบ 4 หลักสูตร ที่กระทรวง อว. เลือกให้ มข. ทำ ก็เป็นความร่วมมือของคณะ/ส่วนงาน เกือบ 10 ส่วนงาน ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร และจัดการเรียนการสอน ร่วมกับสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งก็เป็นการตอบสนองนโยบายด้าน spiritual ด้วยเช่นกัน

สำหรับหลักสูตรที่จะเปิดจัดการเรียนการสอนต่อไป คือ หลักสูตรการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม – 17 กันยายน 2566 สำหรับนิสิต/นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. ผู้ที่ทำงานแล้วและต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะ ผู้ที่ทำงานแล้วแต่ต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะที่แตกต่างไปจากเดิม กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และผู้สนใจประกอบธุรกิจการเกษตร ซึ่งอีก 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (Agriculture Biotechnology) ระยะเวลาการเรียนหลักสูตร 5 สิงหาคม – 19 พฤศจิกายน 2566 และหลักสูตรการจัดการเกษตรปลอดภัยและการเกษตรอินทรีย์ ระยะเวลาการเรียนหลักสูตร สิงหาคม – มกราคม 2567 ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างมาก

นับได้ว่าการจัดทำหลักสูตรต้นแบบ non degree 4 หลักสูตร ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve และเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ เพื่อสร้างฐาน (Platform) การพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งอนาคต โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิตและสร้างต้นแบบของหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระ โครงสร้างหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนการสอน สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในสภาพจริงเป็นสำคัญ พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและศักยภาพสูง รวมทั้งการร่วมมือกับสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบัณฑิตและกำลังคน รวมทั้ง ยังสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการขับเคลื่อน KKU Lifelong Education อีกด้วย

ท่านสามารถสมัครเรียนได้ที่

 https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSeoep68QrqhExGlspDVmjchIlj7Hkra2eY68POMDvOHfP_8Mg/closedform

ข่าว  : เบญจมาภรณ์  มามุข


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มข.ผนึกกำลัง บลจ.บัวหลวง สร้างนักการเงินและการลงทุนเลือดใหม่ยกระดับเศรษฐกิจครอบครัวอีสาน

ปัจจุบันสาขาการลงทุนและการบริหารจัดการลงทุนได้ก้าวขึ้นมามีความสำคัญในสาขาด้านการเงินที่เปิดกว้างในหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ท่ามกลางแนวคิด “ให้เงินช่วยทำงาน” เพื่อสร้างความมั่นคงและอิสรภาพทางการเงินก่อนวัยเกษียณ ประชาชนบางส่วนจึงเกิดความกระตือรือร้นที่จะ “หาทางเลือกการลงทุน” ที่ใช่เพื่อตอบโจทย์ชีวิตของตัวเอง

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความเข้าใจในการเงินและการลงทุนที่ถูกต้องและยั่งยืน จึงได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (BBLAM) หรือ บลจ.บัวหลวง ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจด้านการลงทุน ครอบคลุมมิติของการบริหารจัดการความมั่งคั่ง การให้ข้อมูลด้านวิชาชีพในอุตสาหกรรมการจัดการลงทุน และการให้ความร่วมมือในเชิงการวิจัยเชิงลึกด้านวิชาการ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ เกรียงไกร  กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.กัลปพฤกษ์  ผิวทองงาม  คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผู้บริหารจากบมจ.กรุงเทพฯและ BBLAM เข้าร่วมในพิธี

ศาสตราจารย์ ดร.กัลปพฤกษ์  ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า คณะเศรษฐศาสตร์มีการเรียนการสอนใน Modul Financial Economics ซึ่งเป็นกลุ่มรายวิชาที่นักศึกษาต้องใช้ความรู้ด้านการลงทุนอยู่แล้ว และ บลจ.บัวหลวง เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการจัดการลงทุน กองทุนส่วนบุคคล การจัดการกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการจัดการทรัพย์สินของผู้อื่น  “การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นการยกระดับความรู้ของนักศึกษา ที่จะออกไปประกอบอาชีพทางด้านการเงิน และยังนำความรู้นั้นไปสร้างความเข้าใจในด้านการเงินและการลงทุนให้ประชาชน ซึ่งหากเราทำสำเร็จในครั้งนี้จะถือเป็นการยกระดับครอบครัวไทยด้านการเงินและการลงทุนด้วย”

ทั้งนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มข. และ บลจ.บัวหลวงได้มีความประสงค์ร่วมกันที่จะให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนทางวิชาการและการวิจัยเชิงลึกรวมไปถึงการร่วมดำเนินกิจกรรมภายในข้อตกลงความร่วมมือ ดังนี้  1) โครงการให้ความรู้ด้านการลงทุนและแนะแนววิชาชีพด้านการลงทุน (Wealth Management &  Asset Management) 2) โครงการสหกิจศึกษา3) โครงการให้ความรู้ด้านการออมและการลงทุนเบื้องต้น 4) โครงการความร่วมมือด้านวิชาการระหว่าง บลจ. บัวหลวง และ มหาวิทยาลัย 5) โครงการแข่งขัน Idea Pitch Competition 6) โครงการศึกษาพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า การลงนาม MOA ระหว่างบลจ.บัวหลวงและมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งนี้ เป็น MOA ฉบับแรกที่บลจ.บัวหลวงได้ร่วมลงนามกับสถาบันการศึกษา เนื่องด้วยเล็งเห็นถึงการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของภูมิภาคอีสานโดยที่มีขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง การวางรากฐานทางการลงทุนในภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตของภูมิภาค ผนวกกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสถาบันที่เปี่ยมไปด้วยทรัพยากรบุคคลคุณภาพ องค์ความรู้ที่ทันสมัย และเครือข่ายที่จะสามารถเชื่อมโยงกับชุมชน    “ บลจ.บัวหลวงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ตามเป้าประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ร่วมกัน รวมถึงบรรลุพันธกิจหลักของ บลจ. บัวหลวงที่จะทำให้ครอบครัวไทย มีความมั่นคงทางการเงิน ”

ภาพ/ข่าว : รวิพร  สายแสนทอง


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

วิศวะ มข.ไขคำตอบ “ติดโซลาร์เซลล์ลดค่าไฟ” คุ้มจริงไหม ?

กลายเป็นข่าวสร้างความสนใจให้สังคมในช่วงฤดูร้อน เมื่อหนุ่มแชร์ประสบการณ์ค่าไฟฟ้าลดลง หลังที่บ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ค่าไฟฟ้าจากเดือนละ 4,000 – 5,000 บาท ลดลงเหลือเพียง 71 บาท จนหลายคนเริ่มมีความคิดอยากติดตั้งบ้าง แต่การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟนั้นจะคุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไปหรือไม่

รศ.ดร.รองฤทธิ์ ฉัตรถาวร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในบ้านทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ว่า ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ก่อนจะลดค่าไฟฟ้าได้นั้น ยังมีสิ่งที่ประชาชนต้องคำนึงถึง คือ ต้นทุนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 1 กิโลวัตต์ มีต้นทุน 30,000 – 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแผงและ inverter ซึ่งตามระเบียบการไฟฟ้า ระบุว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 3 เฟส จะติดตั้งได้ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ส่วนบ้านที่ใช้ไฟฟ้า 1 เฟส จะติดตั้งได้ไม่เกิน 5 กิโลวัตต์

“หากติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ สำหรับผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัย แล้วใช้ไฟตอนกลางวันตลอด ในวันที่แดดออกปกติ ก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 80-120 บาท ต่อวัน หรือหากเดือนนั้นๆ เป็นเดือนที่แดดออกดีก็จะสามารถลดได้ถึง 2,400 – 3,600 บาทต่อเดือน”

รศ.ดร.รองฤทธิ์ ระบุอีกว่า หากถามเรื่องระยะเวลาความคุ้มทุนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า หากใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันมากเป็นประจำจะช่วยคืนทุนได้ไว แต่หากใช้ไฟฟ้าเฉพาะช่วงกลางคืนเป็นประจำจะคืนทุนช้า เนื่องจากการขายไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แก่การไฟฟ้า เราจะขายได้ในอัตราอยู่ที่ 2.2 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้า ซึ่งโดยเฉลี่ยความคุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 4-8 ปี

ทั้งนี้ สำหรับการติดตั้ง โซลาร์เซลล์บนหลังคานั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ 

1.แบบออนกริด (On Grid) คือ การใช้โซลาร์เซลล์จ่ายไฟฟ้าควบคู่กับการรับไฟฟ้าจากการไฟฟ้า โดยทั่วไปจะไม่มีการติดตั้งแบตเตอรี่

2.แบบออฟกริด (Off Grid) คือ การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพียงอย่างเดียว ไม่พึ่งพาการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า การติดตั้งรูปแบบนี้ ต้องมีการติดตั้งแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ในช่วงกลางคืน  สำหรับการติดตั้งรูปแบบนี้อาจไม่เหมาะสมจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่ 1 ต้นทุนแบตเตอรี่ราคาสูง เช่น หากโซลาร์เซลล์มีต้นทุน 200,000 บาท ค่าแบตเตอรี่อาจสูงถึง 100,000 บาท  และ ปัจจัยที่ 2 คือ การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีความผันผวนไม่แน่นอน หากไม่มีแบตเตอรี่และไม่มีการซื้อไฟจากการไฟฟ้า จะทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟดับได้

3.แบบไฮบริด (Hybrid) คือ การใช้ไฟฟ้าจากทั้งจากโซลาร์เซลล์ และการไฟฟ้า โดยมีการติดตั้งแบตเตอรี่เพื่อเก็บกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไว้ใช้ในช่วงกลางคืน แต่หากไฟฟ้าไม่เพียงพอก็สามารถดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้ได้

“หากพิจารณาด้านความคุ้มค่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในรูปแบบที่ 1 หรือ On Grid คุ้มทุนไวที่สุด เนื่องจากไม่ต้องมีต้นทุนเรื่องแบตเตอรี่ จึงทำให้มีระยะเวลาคุ้มทุนไวกว่าแบบอื่น”

สำรวจปัจจัยสำคัญก่อนลงทุนติดตั้ง

ทั้งนี้ รศ.ดร.รองฤทธิ์ แนะนำว่า ก่อนจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้านควรพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ก่อน ทั้งพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หากไม่ใช่ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน แต่ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนเป็นประจำก็อาจไม่คุ้มค่ากับการติดตั้ง

ขณะเดียวกัน พื้นที่หลังคาบ้านก็ต้องเพียงพอต่อการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วย โดย 1 กิโลวัตต์ต้องใช้พื้นที่ประมาณ 7-8 ตารางเมตร ส่วนตำแหน่งในการติดตั้งก็ต้องหันไปทางรับแดด ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่า ควรติดตั้งหันไปทางทิศใต้ ทำมุม 15 องศาจากพื้นดิน จะทำให้โซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้สุงที่สุด และไม่ควรมีอาคารหรือต้นไม้มาบดบัง

นอกจากนี้ ภายในบ้านควรมีพื้นที่ใช้สอยที่เพียงพอสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์สนับสนุนการใช้งาน โดยเฉพาะ Inventer หรือตัวแปลงไฟฟ้าจากกระแสตรงของโซลาร์เซลล์ไปเป็นกระแสสลับให้สามารถใช้งานภายในบ้านได้ ซึ่งตำแหน่งการติดตั้งต้องอยู่ด้านล่างไม่ได้ติดบนหลังคา และต้องเป็นพื้นที่ไม่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมอีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เช่น การทำการสับเปลี่ยนระบบเชื่อมต่อของแผงโซลาร์เซลล์แบบอัตโนมัติเมื่อเกิดการบดบังบนแผง รวมถึงการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีความไม่แน่นอน แปรผันตามสภาพอากาศ ดังนั้น การพยากรณ์ค่ากำลังการผลิตของโซลาร์เซลล์ที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าทั้งได้

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

แพทย์ มข.เตือนเฝ้าระวังโควิด XBB.1.16 แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน Bivalent

แพทย์ มข.ชี้โควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เบื้องต้นพบว่า ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม แนะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มเสี่ยงขอให้ประเมินตนเองแล้วฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น Bivalent โดยเร็ว หรือ Walk in มารับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 19-30 เม.ย.นี้

หลังการเฉลิมฉลองและความสนุกสนานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ข่าวโรคระบาดอย่างโควิด-19 ก็กลับมาอีกครั้ง หนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จ.ขอนแก่น ระบุว่า หลังเทศกาลสงกรานต์คนสนิทติดเชื้อโควิด-19 จึงได้เฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อวันแรกก็ยังไม่พบ ก่อนที่วันที่ 2 จะเริ่มมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย และวันที่ 3 อาการเริ่มชัดเจน อ่อนเพลียมากขึ้น มีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียส จึงตรวจ ATK อีกครั้งแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19

“หลังจากตรวจพบก็มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และไข้สูงต่อเนื่อง จึงกินยาลดไข้ตามอาการ โดยซื้อยาเอง และโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล”

ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าว ระบุอีกว่า แม้จะฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มแล้ว แต่ครั้งนี้ก็ยังติดเชื้อ โดยเป็นการติดครั้งแรก ซึ่งส่วนตัวก็กังวลกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อคนใกล้ชิดติด แล้วตัวเองติดด้วย ขณะเดียวกันยังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีก และคาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์เชื้ออาจจะแพร่กระจายจนทำให้ผู้ติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มขึ้น

ขณะที่ ผศ.นพ.วันทิน ศรีเบญจลักษณ์ อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โควิด-19 ที่มีกระแสข่าวว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่นั้น ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน โดยสายพันธุ์ที่ถูกพูดถึงมาก คือ สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นการกลายพันธุ์เล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณตำแหน่งที่เรียกว่าโปรตีนหนาม ซึ่งอาจทำให้เชื้อมีคุณสมบัติแพร่กระจายได้เร็วขึ้น แต่เบื้องต้น ยังไม่มีข้อมูลว่าก่อให้เกิดโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น

อย่างไรก็ตาม หลังสงกรานต์มีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 158 เท่าในประเทศไทย แต่ต้องย้ำว่า ก่อนสงกรานต์เป็นช่วงที่โรคเงียบสงบ ดังนั้น 158 เท่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังเป็นจำนวนหลักร้อยคน

“ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม หากถามว่าต้องกังวลไหม อาจตอบว่า ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ไปก่อน”

ผศ.นพ.วันทิน ระบุอีกว่า อาการของโควิด-19 นั้น อาจจะแยกความแตกต่างกับอาการไข้หวัดใหญ่ได้ยาก เนื่องจากมีอาการใกล้เคียงกัน คือ มีทั้งไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และล่าสุดสำหรับสายพันธุ์ XBB.1.16  มีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อมีอาการตาแดงด้วย แต่อาการนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก็ยังสามารถยืนยันการติดเชื้อได้ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด

เช็ก! ใครควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น Bivalent  

สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ภายใน 3 เดือน หรือฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จนทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงมากแล้ว ก็มีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อใหม่ เพราะแม้ว่าเชื้อจะกลายพันธุ์แต่การหลบภูมิคุ้มกันยังไม่โดดเด่น แต่หากติดเชื้อและฉีดวัคซีนนานแล้ว ก็มีโอกาสติดเชื้อซ้ำหรือติดเชื้อใหม่ได้

การป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์อาจต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดใหม่ คือ วัคซีน Bivalent  ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดผสมกันระหว่างสายพันธุ์อู่ฮั่นและโอมิครอน โดยมีผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างจากวัคซีนชนิดเดิม ซึ่งจะเป็นตัวช่วยลดการติดเชื้อรุนแรงได้

ผศ.นพ.วันทิน  ย้ำว่า หากใครยังมีภูมิคุ้มกันดีก็ให้พิจารณาแล้วแต่บุคคล แต่กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงบุคลากรการแพทย์หน้าด่านที่ต้องดูแลผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ก็จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเองแล้วฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้  หากมีแนวโน้มการระบาดระลอกใหม่ ประชาชนก็ต้องปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงที่ชุมชน หรือแออัด ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเวลานั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพิจารณาแล้วว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนชนิดใหม่ Bivalent ของไฟเซอร์ ที่งานเวชกรรมสังคม ชั้น 2 อาคารเรียนรวม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 19-30 เมษายน 2566 ช่วงบ่ายของทุกวัน ยกเว้น วันหยุดราชการ

ข่าว  : ผานิต ฆาตนาค


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

เทคนิคการแพทย์ มข.อัปเกรด “เตียงอัจฉริยะ” ราคาเข้าถึงได้ เพื่อผู้สูงอายุติดเตียง

เทคนิคการแพทย์ มข.อัปเกรด “เตียงอัจฉริยะ ช่วยพลิกตะแคง” ราคาเข้าถึงได้ ทางเลือกป้องกันแผลกดทับ เพื่อผู้สูงอายุติดเตียง พร้อมลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนผลิตใช้งานเอง และต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน

13 เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ หวนกลับมาอีกปี เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คนให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ แต่เรื่องราวผู้ดูแลหรือญาติทำร้ายผู้สูงอายุติดเตียงยังคงถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงความกดดันและภาระของผู้ดูแล และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ

ล่าสุด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนา “เตียงพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ลดแผลกดทับ” เวอร์ชัน 3 สำหรับผู้สูงอายุติดเตียงในชุมชนโดยเฉพาะขึ้น โดย ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบแล้ว หลังมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด เฉพาะใน จ.ขอนแก่น มีผู้สูงอายุถึง 260,000 คน และมีผู้สูงอายุที่ติดเตียงถึง 20,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 5% นับเป็นกลุ่มที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เตียงพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ลดแผลกดทับ เวอร์ชัน 3 นี้ มีลักษณะพิเศษ คือ มีความสูง 60-70 เซนติเมตร มีผิวเบาะนุ่มและแน่น กระจายแรงกดได้ดี ลดอาการแผลกดทับที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้ โดยใช้วัสดุทำจากไม้และโลหะบางส่วน ซึ่งทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าจะช่วยพลิกตัวให้ผู้ป่วยผ่านสวิตช์ควบคุมที่ผู้สูงอายุสามารถกดใช้งานเองได้ หรือมีผู้ดูแลเพียงคนเดียวก็สามารถดูแลผู้สูงอายุติดเตียงได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณเพียง 10,000 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถเข้าถึงได้

“เรารู้ว่าที่ผ่านมาชุมชนเข้าไม่ถึงเตียงที่มีคุณภาพ อย่างชุมชนบ้านโต้น อ.พระยืน จ.ขอนแก่น มีผู้สูงอายุติดเตียงอยู่ถึง 12 คน แต่มีเตียงไม่เพียงพอ เมื่อมีผู้เสียชีวิตก็จะนำเตียงนั้นไปเวียนกันใช้ หากมีเตียงที่ชุมชนเข้าถึงได้ ปัญหานี้ก็จะหมดไป”

ด้าน ดร.วรวุฒิ ชมภูพาน อาจารย์วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ขอนแก่น คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ระบุว่า ผู้สูงอายุบางส่วนเป็นผู้ป่วยติดเตียงและต้องการได้รับการดูแล แต่ปัจจุบันบุตรหลานบางส่วนก็มีเวลาดูแลน้อยลง วิทยาลัยสาธารณสุขสิริธร จึงได้ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อคัดเลือกและส่งเตียงสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีคนไข้ได้รับเตียงไปใช้แล้ว 3-4 คน ผลตอบรับดีมาก พบว่าคนไข้ไม่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับ

สอดคล้องกับ น.ส.หอมไกล ไชยพิมูล อายุ 57 ปี ชาวบ้าน อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ระบุว่า ที่ผ่านมาคุณแม่วัย 96 ปี ซึ่งป่วยติดเตียงหลังหกล้มสะโพกหัก นอนอยู่บนพื้น ทุกครั้งจะตะแคงก็ปวดสะโพก จะลุกขึ้นนั่งก็ลำบาก เมื่อมีเตียงช่วยพลิกตะแคงมา ก็ทำให้การดูแลทำได้ง่ายขึ้น และช่วยไม่ให้เป็นแผลกดทับ

“คนดูแลก็อายุมากแล้ว ก้มก็ปวด  คุกเข่าไปช่วยตะแคงก็เจ็บ มีเตียงมาก็ช่วยได้เยอะ ช่วงที่มีธุระด่วนต้องออกไปข้างนอก คุณแม่ก็กดสวิตช์พลิกตัวเองได้ บ้านอื่นที่ไม่มีเตียง เห็นเขาเป็นแผลกดทับกันหลายคน ก็อยากให้เขาได้ใช้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ จากหลากหลายคณะ ลงพื้นที่ชุมชนผ่านโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบลมาโดยตลอด เพื่อพัฒนาทักษะให้คนในชุมชนทุก ๆ ด้าน รวมถึงด้านผู้สูงอายุด้วย การเปิดอบรม อสม. และ Caregiver หรือ อาสาสมัครท้องถิ่น รวมถึงการเปิดคลินิกกายภาพบำบัด คลินิกห้องปฏิบัติการ และคลินิกแพทย์แผนจีนที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้ด้วย


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

นักวิจัยมข. คว้ารางวัลมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ครั้งที่ 29 ประเภทบุคคล ทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 29 ณ โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะสุรวงศ์ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิฯ และนายอาคิฮิโระ นิคคาคุ ประธานบริษัทโทเรอินดัสตรีส์ อิงค์ (ประเทศญี่ปุ่น) ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นผู้มีความรู้ความสามารถ ศาสตราจารย์ ดร. อลิศรา เรืองแสง คณะเทคโนโลยี คว้ารางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทบุคคล ครั้งที่ 29 และผู้ที่ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 ได้แก่ การวิจัยคุณสมบัติของแป้งข้าวสำหรับการดูดซึมและการย่อยที่ต่ำเพื่อการลดดัชนีน้ำตาล โดย ดร. ธิดารัตน์ มอญขาม คณะเกษตรศาสตร์ และการวิจัยผลของสารสกัดสมุนไพรพื้นบ้านต่อการยับยั้งกระบวนการเติมหมู่น้ำตาลบนโปรตีนในเซลล์มะเร็งตับ โดย ดร. จารุพงษ์ แสงบุญมี คณะแพทยศาสตร์ พร้อมทั้ง ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีคณะเทคโนโลยี ร่วมแสดงความยินดี ณ โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะสุรวงศ์

 ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า การพัฒนาความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความสำคัญอันเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนในชาติ อีกทั้งยังเป็นข้อต่อสำคัญในการนำประเทศก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต และยินดีที่มูลนิธิฯ ได้มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างความรู้ความสามารถ และความตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศไทยโดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสุดท้ายขอแสดงความยินดีและส่งความปรารถนาดีและความภาคภูมิใจไปยังผู้ที่ได้รับรางวัลและทุนที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในครั้งนี้

 ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลไทยได้ประกาศ “นโยบาย BCG” ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมและปกป้องสิ่งแวดล้อม และ “แผนพลังงานชาติ” ที่ส่งเสริมการดำเนินการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างจริงจังและส่งเสริมการขยายการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น กลุ่มบริษัทโทเรก็มีความประสงค์ที่จะขยายธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่มที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง “ธุรกิจนวัตกรรมสีเขียว” ที่เป็นการดำเนินการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และ “นวัตกรรมเพื่อชีวิต” ที่มุ่งการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและมีสุขภาพที่ดี เมื่อจำแนกประเภทโครงการที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเงินทุนช่วยเหลือทางด้านการวิจัย มีโครงการวิจัยทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ 7 โครงการ เทคโนโลยีวัสดุ 8 โครงการ เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรม 6 โครงการ และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 1 โครงการ ซึ่งทุกโครงการล้วนแต่เป็นการดำเนินการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย ท่านหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวิจัยดังกล่าวจะหลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีก้าวล้ำของโทเรแล้วนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยขึ้นไปอีกระดับ

ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

นักวิจัย มข. ผนึก อินโนบิก (เอเซีย) ผลิต “โจ๊กใบหม่อนและผักแพว” ชะลอวัยทอง เพิ่มความจำขณะทำงาน สร้างมวลกระดูก

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด จัดงานแถลงข่าวพิธีลงนามการถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญาผลิตภัณฑ์ “โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด พร้อมผู้บริหารทั้งสองฝ่ายร่วมลงนามในพิธี ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นผลักดันผลงานวิจัยที่ดีและมีคุณภาพไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีผลการวิจัยรองรับ โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ และช่วยลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่น่าภาคภูมิใจคือ ผลงานนี้ใช้ใบหม่อนและผักแพวเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นพืชที่มีแหล่งเพาะปลูกมากในท้องถิ่นของภาคอีสาน ถือเป็นความตั้งใจอย่างยิ่งของทีมนักวิจัยที่อยากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับใบหม่อนและผักแพว

สำหรับผลงานทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง “โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” นั้น ทีมนักวิจัย นำโดย ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งตั้งใจพัฒนาสูตรขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องความจำและมีปัญหาเรื่องระบบกระดูก นอกจากนั้น ยังช่วยให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพซึ่งมีมูลค่าสูงได้ เช่นเดียวกับผู้บริหาร บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทชั้นนำด้านชีววิทยาศาสตร์ในภูมิภาคที่มีวิทยาศาสตร์อันเป็นเลิศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ก็มีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ทางด้าน Life Science และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก (A World-Leading Research and Development University) โดยหนึ่งในเป้าหมายคือ การวิจัย พัฒนาและการนำไปใช้ประโยชน์ จึงทำให้เกิดความร่วมมือและนำไปสู่การ Matching ผลงานวิจัยและธุรกิจในครั้งนี้

ศ.ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถนะมนุษย์และการเสริมสร้างสุขภาพ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อเราอายุมากขึ้น หรือ เข้าสู่วัยทอง สมดุลของการสร้างกระดูก และ การสลายกระดูก จะลดลงไป ทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด จะต้องไปแก้ไขที่ตัวต้นตอ ซึ่งเราพบว่าผักพื้นเมือง เช่น ผักแพว ใบหม่อนมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยเฉพาะ สารฟีนอลิก และ ฟลาโวนอยด์ รวมทั้งมีปริมาณแคลเซียมสูง

นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพหรือสารสำคัญต่างๆจำเป็นต้องมีความปลอดภัยต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด การที่เราจะทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต้องคุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำของเรา คือ Raw material หมายถึง วัตถุดิบ ต้องมีการคุมการปนเปื้อน ต้องเก็บในส่วนที่ดีที่สุด จึงต้องไปคุมในเรื่อง Good Agricultural Practices หลังนั้นก็ไปเตรียมสารสกัด In Vitro คือ การทดลองในหลอดแก้ว เพื่อมาดูลักษณะของสารสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่เราทำมากกว่าคนอื่น คือ ทำฤทธิ์ชีวภาพ หมายถึง เลือกตรวจสอบฤทธิ์ชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับพยาธิสภาพของโรคที่สนใจ อย่างเช่น กว่าที่จะได้สารสกัดใบหม่อนก็ต้องทำ solvent ต่างๆ หมายถึงตัวทำละลายๆต่างๆตัวไหนดีที่สุดก็เลือกตัวนั้นมา

อย่างเช่น ผักแพว ก็จะเลือกอันที่ดีที่สุดพอได้ตัวที่ดีที่สุดก็นำมาผสมกันในอัตราส่วนต่างๆ และก็เลือกอัตราส่วนที่ดีที่สุด เมื่อได้อัตราส่วนที่ดีที่สุด เราจะต้องนำไปจำลองในสภาวะที่ใช้จริง จึงนำไปทดสอบในสัตว์ทดลองแล้วมันมีศักยภาพ เราก็จะนำมาทดลองในอาสาสมัครวัยทอง ซึ่งพบว่าอาสาสมัครวัยทองมีความจำขณะทำงานดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเราพบว่าหนูหรือว่าสัตว์ทดลอง มีความหนาของกระดูกเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันหลังจากที่อาสาสมัครบริโภคไปแล้วทำให้เซลล์ ที่ทำหน้าที่สร้างกระดูกมีเพิ่มขึ้น และเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวสลายกระดูกลดลง เพราะฉะนั้นมันจึงสอดคล้องกับการทดลองที่เราพบในสัตว์ทดลอง

ต่อจากนั้นเราจึงทำเป็นสาร functional ingredients หรือ สารสกัดทางธรรมชาติจากพืชและสัตว์ ที่นิยมนำมาใช้ในกลุ่มยา อาหารเสริมและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ  และเราก็ลองมาทำใน prototype product แบบจำลองเพื่อเก็บ Feedback ก่อนการสร้าง Product จริง เอาสารตัวนี้มาผสมในโจ๊กสุขภาพและเราก็พบว่ามันดีขึ้น นำเอามาทำในเครื่องดื่มก็ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเห็นได้ว่าสาร functional ingredients ที่เราทำนี้เอาไปเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้

ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด กล่าวว่า นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจด้านยา ด้านวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์แล้ว ในการดำเนินธุรกิจด้านโภชนเภสัชและโภชนาการ อินโนบิก (เอเซีย) มีวัตถุประสงค์ให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ดี มีคุณภาพ มีโภชนาการดี สามารถป้องกันโรคต่างๆที่มาพร้อมกับการดำเนินชีวิตตามวถีสมัยใหม่ได้ โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร ผู้เชี่ยวชาญ และสนับสนุนงานวิจัยที่มีศักยภาพให้สามารถก้าวไปสู่ระดับเชิงพาณิชย์ ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศได้ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านโภชนาการแก่คนไทย

“โจ๊กที่มีส่วนผสมสารสกัดใบหม่อนและผักแพว” เป็นหนึ่งในงานวิจัยคุณภาพโดยนักวิจัยไทย  ที่นำพืชผักพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มาเป็นวัตถุดิบหลัก คือใบหม่อนและผักแพวที่มีคุณประโยชน์ เสริมสร้างความแข็งแรงของระบบต่างๆในร่างกาย ซึ่งเป็นระบบสำคัญที่มักแสดงความผิดปรกติในกลุ่มผู้สูงอายุ  สอดคล้องกับแนวโน้มของสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยวางแผนการจำหน่ายช่วงแรกในรูปแบบซอง  ตั้งเป้าออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 นี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับคนไทย  โดยเฉพาะผู้สูงวัย ได้รับประทานอาหารที่สะดวกและมีประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยมีแผนที่ต่อยอดสารสกัดใบหม่อนและผักแพวเป็นสินค้าประเภทอื่นๆอีกในอนาคต

/////////////////////

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มข.เปิดตัว AI แปลผลอายุร่างกายจากผลเลือด หนุนศาสตร์ชะลอวัย ชวนคนไทยชะลอโรค

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนจากผลตรวจเลือด สะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่าย โดยมีศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยศาสตราจารย์พัชรี  เจียรนัยกร นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการดัชนีความเยาว์วัยของร่างกายแบบองค์รวมจากปัญญาประดิษฐ์ข้อมูลสุขภาพ  รองศาสตราจารย์ จุรีรัตน์  ดาดวง คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Center of Excellence on Medical Biotechnology : CEMB) ศาตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศาสตราจารย์ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ (medical device) ชุดตรวจโรค (Lab diagnostics) และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนชาวไทยและระดับนานาชาติ  เพื่อรองรับ medical hub ที่กำลังจะเกิดขึ้น ฉะนั้น  โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนจากผลตรวจเลือด สะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่าย (Health AI for Biological Age and Importance organs) หรือ AI for healthcare   จึงเกิดขึ้น โดยความร่วมมือจากทีมนักวิจัยจากหลากหลายคณะ บูรณาการสร้างนวัตกรรมจากฐานข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวโปรแกรมนี้เป็นตัวช่วยให้บุคคลระมัดระวังเรื่องการพักผ่อน พฤติกรรมและการบริโภค โดยหวังว่าโปรแกรมนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนโดยรวมของประเทศได้

ศาสตราจารย์พัชรี  เจียรนัยกร นักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าโครงการดัชนีความเยาว์วัยของร่างกายแบบองค์รวมจากปัญญาประดิษฐ์ข้อมูลสุขภาพ   เผยว่า การวิจัยเป็นการนำฐานข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเขตสุขภาพ 7 8 9 10 โดยใช้ข้อมูลผู้มีสุขภาพดี 59,675 ชุด และฐานข้อมูลจากผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพเชิงลึกอีกประมาณ 3,000 ราย ข้อมูลที่เก็บใหม่จะมีการเก็บสมการพยากรณ์อายุชีวภาพจากความยาวเทโลเมียร์ หรือส่วนปลายของโคโมโซม เมื่อร่างกายเรามีการแบ่งตัวไปเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ส่วนปลายหรือที่เรียกว่าเทโลเมียร์ จะมีการหดสั้นลง ในทุก ๆ รอบในการแบ่งตัว  ผลการวิจัยพบว่าค่าการตรวจผลเลือดมีสมการเกี่ยวเนื่องกับอายุที่เพิ่มขึ้นตามวัย เมื่อนำมาประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ จนกระทั่งนำมาสู่การใช้ได้จริงในการประเมินอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ 4 อวัยวะได้แก่ ตับ ตับอ่อน ไต หัวใจ มีความแม่นยำเมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน ร้อยละ 83.7 ในเพศหญิง และ 81.5 ในเพศชาย โปรแกรม Health AI จะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลที่ได้จากผลตรวจเลือด ประมวลออกมาเป็นค่าอายุร่างกาย เช่นผลทดสอบการทำงานของหัวใจ จะประมวลค่าไขมันในเลือด คอเลสเตอรอล  ไตรกลีเซอไรด์  ไขมันเลว และไขมันดี ในโปรแกรมจะแสดงค่าผลเลือดความเสี่ยงการทำงานของหัวใจ  ค่าปกติจะอยู่ที่สีเหลือง หรือเขียว ยิ่งอยู่ไปทางสีแดงแปลว่า อันตรายต้องรีบปรึกษาแพทย์ อัลกอริทึมจะแปลคำแนะนำตามผลแลปที่ได้ในแต่ละบุคคล  โดยมีเป้าหมายว่า ถ้าเราจะส่งเสริม ให้คนมีสุขภาพดี จึงทำให้ร่างกายใกล้เคียงกับอายุจริง หรือจะส่งเสริมให้ดีกว่านั้นคือการชะลอวัย ทำให้อายุร่างกายอ่อนเยาว์กว่าอายุจริงของเรา กระตุ้นเตือนให้ประชาชนใส่ใจรักสุขภาพมากขึ้น นั่นคือเป้าหมายของโครงการ

ศาสตราจารย์ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “Health AI เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ยกระดับเป็นนวัตกรรมจนสู่การเปิดบริการเชิงพาณิชย์ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายศูนย์ชุดตรวจวินิจฉัยโรค โดย บพข. ให้การสนับสนุนงานประมาณดำเนินงานของศูนย์พัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด (Center for Innovation and Standard for Medical Technology and Physical Therapy; CISMaP) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 เครือข่ายศูนย์ชุดตรวจวินิจฉัยโรค ทั้งนี้แผนงานสุขภาพและการแพทย์ บพข. มีพันธกิจสำคัญในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องมือแพทย์ (Medical Devices) และเพิ่มทักษะ (Skills) ด้านการวิจัยจนถึงระบบมาตรฐานสากล โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีศักยภาพในการผลิตและยกระดับสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ”

ทั้งนี้ โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนจากผลตรวจเลือด สะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่าย (Health AI for Biological Age and Importance organs) หรือ AI for healthcare  ได้เปิดข้อตกลงความร่วมมือรองรับการใช้งานในกลุ่มสถานบริการสุขภาพ/บริษัท health technology สถานประกอบการที่สนใจติดต่อผ่านฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คลิกhttps://innoprise.kku.ac.th/   รวมถึงการใช้งานรายบุคคลในรูปแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ โดยประชาชนที่มีผลตรวจเลือดแล้วสามารถใช้บริการโปรแกรมผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดด้านล่าง

ข่าว/ ภาพ : จิราพร  ประทุมชัย


Exit mobile version