Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ย เปิดรับสมัครนิสิตนักศึกษาด้านไอซีที ร่วมประชันทักษะใน โครงการ ICT Competition 2021-2022 ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 พฤศจิกายน นี้

กรุงเทพฯ/ 27 ตุลาคม 2564 – หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ ประกาศเปิดตัวโครงการ Huawei ICT Competition 2021 – 2022 อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ภายใต้ธีม “Connection, Glory, Future” ซึ่งเริ่มขึ้นพร้อมกันในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีทีให้แข็งแกร่งและยั่งยืนยิ่งขึ้น

โครงการ Huawei ICT Competition ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 2558 เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถของนิสิตนักศึกษาด้านไอซีทีทั่วโลก เพื่อคัดสรรและบ่มเพาะผู้ที่มีความสามารถในด้านดังกล่าว และจัดคอร์สฝึกอบรมระดับโลกรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจัดขึ้นร่วมกับหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ (Huawei ICT Academy) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับองค์กร เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญคุณภาพสูงทางด้านไอซีทีให้มีจำนวนมากขึ้น การแข่งขันด้านไอซีทีนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมได้มีร่วมประลองทักษะในการแข่งขันชั้นนำ พัฒนาความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนพัฒนาต่อยอดความรู้เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีที กิจกรรม Huawei ICT Competition ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต (Seeds for the Future)” ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมของหัวเว่ย ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านไอซีทีในประเทศ และเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างประเทศและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน

การแข่งขัน Huawei ICT Competition 2021-2022 ในประเทศไทย ประกอบด้วยการแข่งขันหลายรอบ  โดยนิสิตนักศึกษาที่มีความสนใจและมีพื้นฐานด้านไอซีที สามารถรวมกลุ่มและลงทะเบียนสมัครเป็นทีม ๆ ละ 3 คน และเริ่มศึกษาด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเทคโนโลยีด้านเน็ตเวิร์ก เช่น ดาต้าคอม หรือเทคโนโลยีด้านคลาวด์ เช่น คลาวด์ เซอร์วิส กิจกรรมทั้งหมดจะจัดขึ้นตามมาตรการป้องกันโควิด-19  ทีมที่ชนะจะมีโอกาสลุ้นรับรางวัลสุดพิเศษ รวมถึงทริปเดินทางเพื่อพัฒนาความรู้ด้านไอซีที เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านวัฒนธรรม ตลอดจนถึงโอกาสในการทำงานที่หัวเว่ย

ตารางกิจกรรม Huawei ICT Competition 2021-2022
ลงทะเบียน 1-30 พฤศจิกายน
การทดสอบเบื้องต้น 4 ธันวาคม
ประกาศทีมผู้เข้ารอบ
  • ประเภทเครือข่าย (10 ทีม)
  • ประเภทคลาวด์ (10 ทีม)
8 ธันวาคม
ค่ายฝึกอบรมกับหัวเว่ย 17-19 ธันวาคม
การทดสอบ HCIA (รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ) 24-26 ธันวาคม
ประกาศทีมชนะเลิศของประเทศไทยและพิธีมอบรางวัล มกราคม 2565
รอบชิงชนะเลิศระดับภูมิภาค กุมภาพันธ์ 2565
รอบชิงชนะเลิศระดับโลก พฤษภาคม 2565

หมายเหตุ: ตารางข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น และอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวว่า “Huawei ICT Competition ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 นี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเฟ้นหาพันธมิตรรุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัลของประเทศในอนาคต ประเทศไทยได้กลายเป็นผู้นำในการเปิดให้บริการ 5G ในภูมิภาคอาเซียน และแรงหนุนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาทางด้านดิจิทัลก็คือรากฐานด้านบุคลากรที่แข็งแกร่ง หัวเว่ยได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรดิจิทัลอย่างต่อเนื่องผ่านแพลตฟอร์มความร่วมมือและโครงการต่าง ๆ อย่างเช่นโครงการนี้ ในขณะที่ไอซีทีได้เติบโตไปสู่ทุกอุตสาหกรรมและกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญในการพัฒนาและสร้างความก้าวหน้าทางสังคม”

นอกเหนือจากการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่โดดเด่นของบุคลากรด้านดิจิทัลในเวทีระดับโลกแล้ว โครงการ Huawei ICT Competition ยังเป็นโอกาสในการตอกย้ำคำมั่นที่จะทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นอีกด้วย  หัวเว่ย ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ร่วมเดินหน้าสำรวจแนวทางการพัฒนาใหม่ ๆ และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเทคโนโลยีไอซีที พัฒนาบุคลากร และลดช่องว่างด้านความขาดแคลนบุคลากรในสาขานี้  นอกจากนี้ บริษัทยังเดินกลยุทธ์ในการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเวทีที่เปิดกว้างและสร้างโอกาสใหม่ ๆ อย่างมั่นคง ซึ่งท้ายที่สุดจะสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์แบบ

นิสิตนักศึกษาที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://e.huawei.com/en/talent/#/news/details?consultationId=1483  และลงทะเบียนได้ที่นี่


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ เดินหน้าจับมือมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เร่งเสริมแกร่งระบบนิเวศดิจิทัล

หัวเว่ยสนับสนุนการพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรไอซีที ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0  ส่งเสริมความร่วมมือเชิงรุกกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย

[กรุงเทพ, 3 กันยายน 2564] – บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลของไทย ด้วยการขยายเครือข่ายและกระชับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศผ่านโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ (Huawei ICT Academy Program) ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการพัฒนาทักษะดิจิทัล และบ่มเพาะบุคลากรในอนาคตให้มีทักษะความสามารถด้านดิจิทัลตรงกับความต้องการของตลาด ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ ประเทศไทย ได้เดินหน้าลงนามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยระดับชั้นนำของไทย เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านบุคลากรที่แข็งแกร่ง และส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คนในพื้นที่ได้มากขึ้น   ปัจจุบันมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยกว่า 25 แห่งในประเทศไทย ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านไอซีทีให้แก่นิสิตและนักศึกษา กระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้และเพิ่มทักษะด้านนวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองและการแก้ไขปัญหา หัวเว่ยมุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรและบริการที่มีคุณภาพ ร่วมพัฒนาหลักสูตรและสร้างห้องปฏิบัติการที่ครบครันด้วยเทคโนโลยีไอซีทีของบริษัท เช่น 5G, คลาวด์ คอมพิวติ้ง, ไอโอทีและบิ๊กดาต้า เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์การใช้โซลูชันจริง ที่จะช่วยส่งเสริมความคิดในเชิงสร้างสรรค์

มหาวิทยาลัยชั้นนำต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฯลฯ ล้วนมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างบุคลากรคุณภาพที่สามารถเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศและร่วมผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการเรียนรู้ในห้องเรียนสู่การรับรองที่ได้มาตรฐาน

สำหรับผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมผ่านโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ จะได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานวิชาชีพของหัวเว่ย ซึ่งเป็นการรับรองที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการสมัครงานของนิสิตนักศึกษา รวมไปถึงโอกาสฝึกงานกับบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย ตลอดจนอาจได้เป็นพนักงานของหัวเว่ยหรือบริษัทในเครือพันธมิตรอีกด้วย

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังให้การสนับสนุนด้วยการมอบบัตรกำนัลสำหรับการเข้าสอบประกาศนียบัตรระดับ HCIA มูลค่า 200 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่นิสิตนักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วมโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ รวมถึงอุปกรณ์อันล้ำสมัยสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการให้แก่สถาบันการศึกษา เพื่อประโยชน์แก่นิสิตนักศึกษาในรุ่นต่อ ๆ ไป

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหารบริษัท หัวเว่ย ประเทศไทย กล่าวว่า “หัวเว่ยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร เพราะพวกเขาคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมไอซีที  ดังนั้นโครงการหัวเว่ย ไอซีที
อะคาเดมี่ จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสามารถของนักศึกษาและยกระดับวงการไอซีทีของไทยให้พร้อมขับเคลื่อนอีโคซิสเต็มบุคลากรอย่างมั่นคงในอนาคต”

นายอาเบล กล่าวเสริมว่า “ผมอยากเชิญชวนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในไทยให้เข้าร่วมโครงการ หัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์หลักสูตรที่สอดรับกับความต้องการของตลาดไอซีทีที่มีการพัฒนาตลอดเวลา  ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างอีโคซิสเต็มบุคลากรด้านไอซีทีที่เปิดกว้าง ร่วมกันคิดสร้างสรรค์ และเอื้อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เพื่อช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนเเปลงสู่ยุคดิจิทัลและก้าวสู่ประเทศไทย 4.0”

ภายใต้วิสัยทัศน์ของหัวเว่ย ประเทศไทย ในการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด โครงการ หัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี่ มุ่งที่จะสร้างมาตรฐานการศึกษาด้านเทคโนโลยี พัฒนาความสามารถทางเทคนิค ส่งเสริมการบ่มเพาะนวัตกรรม รวมถึงการสร้างสรรค์ธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

สถาบันการศึกษาที่สนใจโครงการการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 088-841-4386 หรือเยี่ยมชมเพจเฟซบุ๊ก Huawei ICT Academy  https://www.facebook.com/HuaweiICTAcademyTH)


Exit mobile version