Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

Pandora กระตุ้นยอดขายออนไลน์ ทรานส์ฟอร์มระบบออมนิแชนแนลอีคอมเมิร์ซทั่วโลก ด้วยไอบีเอ็ม สเตอร์ลิง ซัพพลายเชน

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) และแพนดอร่า (NASDAQ: PNDORA) ดีไซเนอร์ ผู้ผลิต และผู้ทำตลาดเครื่องประดับแบบประกอบด้วยมือ (hand-finished) ชั้นนำ ร่วมกันพลิกโฉมและขยายศักยภาพระบบออมนิแชนแนลอีคอมเมิร์ซทั่วโลกด้วย IBM Sterling Order Managementช่วยให้แพนดอร่าซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์จิวเวลรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกสามารถเพิ่มยอดขายออนไลน์เป็นเท่าตัวในปี 2563 อีกทั้งยังสร้างมิติใหม่ก้าวนำอุตสาหกรรมเครื่องประดับด้วยมุมมองข้อมูลสินค้าคลังสินค้าแบบเรียลไทม์เพื่อให้สามารถบริหารจัดการดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แพนดอร่าให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า และได้นำ IBM Sterling Order Management เข้ามาช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นปรับตัวได้รวดเร็วให้กับระบบซัพพลายเชน เสริมความคล่องตัวให้กับธุรกิจของบริษัท รวมถึงช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับดิสรัปชันและลดความเสี่ยง การออโตเมทคำสั่งซื้อจากทุกช่องทางการขายมากขึ้น ทำให้แพนดอร่าสามารถปรับปรุงระบบปฏิบัติการซัพพลายเชนให้มีความยั่งยืนและยืดหยุ่นฟื้นตัวเร็ว พร้อมด้วยการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แพนดอร่าได้ลงทุนอย่างจริงจังในเรื่องเครื่องมือดิจิทัลและข้อมูล โดยได้ผนวกรวมเทคโนโลยีมากมายที่มี และทำให้ระบบมีความซับซ้อนน้อยลงแต่ทันสมัยมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างเทคโนโลยีช่องทางการขายดิจิทัลและร้านค้า และลดช่องว่างที่มีกับลูกค้าลง” นายจิม ครูกแชงค์ รองประธานด้าน Digital Development และ Retail Technology ของแพนดอร่า กล่าว “พันธกิจของเราคือการสร้างประสบการณ์ส่วนบุคคล และเราได้เดินหน้าปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มครั้งใหญ่ด้วย IBM Sterling และ Salesforce เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลใหม่ๆ ที่สามารถปรับตามความชอบของแต่ละบุคคล ปรับรูปแบบตามโลเคชันที่ลูกค้าอยู่ รวมถึงเชื่อมต่อในทุกช่องทางและทุกตลาด”

การเข้าสู่อีคอมเมิร์ซในช่วงกว่าหกปีที่ผ่านมานำสู่ก้าวย่างในการผนวกรวมเทคโนโลยีที่เป็นเลกาซีต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงการใช้โซลูชันบริหารจัดการคำสั่งซื้อใหม่ในทุกตลาดหลัก โดยใช้ IBM Sterling Order Management เป็นแบ็คเอนด์สำหรับระบบคลัง แพ็ค และจัดส่งสินค้าหรือฟูลฟิลเมนท์แบบออมนิแชนแนล และใช้ Salesforce Commerce Cloud สำหรับระบบอีคอมเมิร์ซ ซึ่งช่วยให้แพนดอร่าสามารถสร้างประสบการณ์การช็อปปิ้งแบบไม่มีสะดุดได้ในทุกช่องทาง การออโตเมทกระบวนการสั่งซื้อต่างๆ ทำให้พนักงานขายหน้าร้านและเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าเวอร์ชวลสามารถเห็นสถานะของสินค้าคงคลัง คำสั่งซื้อ และสถานะการจัดส่งแบบเอนด์ทูเอนด์ นำสู่ความสามารถในการตอบโจทย์ความคาดหวังของลูกค้า

แพนดอร่ายังได้จัดตั้งดิจิทัลฮับในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค ที่มีทีมดิจิทัล ดาต้า และเทคโนโลยี เป็นกำลังสำคัญในการติดตั้งระบบอย่างรวดเร็วในแบบรีโมททั้งหมด เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้แพนดอร่าจำเป็นต้องปิดสาขาส่วนใหญ่จากทั้งหมด 2,700 สาขาชั่วคราว การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบซัพพลายเชนจึงเป็นกลจักรสำคัญที่นำสู่ความสำเร็จชองธุรกิจอีคอมเมิร์ซของบริษัท โดยนอกเหนือจากทางเลือก go-to fulfillment ต่างๆ ที่ธุรกิจค้าปลีกจำนวนมากเสนอให้กับลูกค้า อาทิ การซื้อออนไลน์และรับของที่ร้าน (buy online pickup in store: BOPIS) และการเปิดให้ลูกค้าค้นหาสินค้าที่ไม่มีในสต็อกหรือไม่ได้วางขายที่หน้าร้านนั้นๆ แล้วจัดส่งให้ลูกค้าที่บ้านในภายหลัง (endless aisle) แล้ว แพนดอร่ายังได้นำเสนอทางเลือกที่ก้าวล้ำกว่าเพื่อมัดใจลูกค้ามากขึ้น อย่างการเข้าคิวร้านค้าเวอร์ชวลและการลองสินค้าแบบเวอร์ชวลผ่านเทคโนโลยี augmented reality (AR)

“ดิสรัปชันทั่วโลกที่ทุกอุตสาหกรรมต้องเผชิญเนื่องด้วยการค้าในทุกรูปแบบได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด กลายเป็นความท้าทายโดยเฉพาะสำหรับองค์กรที่ระบบบริหารจัดการการกระจายคำสั่งซื้อขาดการเชื่อมต่อและมีข้อจำกัดในการสเกล” นายจอร์แดน สเปียร์ Research Manager ด้าน Global Supply Chain จาก IDC Retail Insights กล่าว “จุดอ่อนตรงนี้ยิ่งผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีก้าวล้ำมาใช้เร็วขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถตอบสนองต่อพลวัตที่ผันผวนของผู้บริโภคได้ดีขึ้น องค์กรต่างกำลังมองหาเครื่องมือใหม่ที่จะตอบโจทย์ด้านความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพของระบบซัพพลายเชนได้ในระดับที่ต้องการ และเอื้อการปฏิสัมพันธ์แบบเวอร์ชวลไปด้วยในขณะเดียวกัน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ดีมานด์ที่เปลี่ยนไป”

การที่แพนดอร่าสามารถเห็นรายละเอียดคำสั่งซื้อและรายการสั่งซื้อที่รออยู่ รวมถึงสามารถบริหารจัดการระบบคลังสินค้าได้แบบเกือบเรียลไทม์ นำสู่มุมมองเชิงลึกที่ดีขึ้นของทั้งระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่โซลูชันการบริหารจัดการคลังสินค้า ระบบอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงศูนย์บริการลูกค้า พร้อมด้วยการเสริมออโตเมชันเพิ่มขึ้นให้กับบริการ self-service และการใช้แชตบ็อทช่วยส่วนงานสนับสนุนลูกค้าในเวลาที่แพนดอร่ามีปริมาณคำสั่งซื้อพุ่งสูงมากๆ

“เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงและจะยังคงปรับเปลี่ยนต่อไป ในขณะที่ธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวรับความชอบและความต้องการใหม่ๆ เหล่านี้ให้ได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อตอบรับการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นนี้ ธุรกิจค้าปลีกชั้นนำอย่างแพนดอร่าได้เลือกที่จะนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับธุรกิจ ผ่านการนำเอไอและคลาวด์มาใช้เพื่อเสริมศักยภาพและความสามารถในการสเกลให้กับงานปฏิบัติการด้านซัพพลายเชน” นายคารีม ยูซุฟ กรรมการผู้จัดการ ด้าน AI Applications และ Blockchain ของไอบีเอ็ม กล่าว “สิ่งที่แพนดอร่าทำแสดงให้เราเห็นว่า ธุรกิจจะยังสามารถเดินหน้าสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ หากผู้บริหารด้านธุรกิจและเทคโนโลยีพยายามมองหาแนวทางใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับลูกค้า ทั้งเพื่อลดความเสี่ยงและเร่งการเติบโต และเพื่อไม่ให้ธุรกิจต้องถูกดิสรัปท์”

เรียนรู้ประสบการณ์ออมนิแชนแนลของแพนดอร่าแบบละเอียด ว่าบริษัทฯ สามารถเดินหน้าแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ท่ามกลางหนึ่งในดิสรัปชันด้านซัพพลายเชนครั้งใหญ่ของโลกได้อย่างไร จากคีย์โน้ตงาน THINK 2021


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ผลสำรวจไอบีเอ็มชี้ การพึ่งช่องทางดิจิทัลมากขึ้นในช่วงโควิดระบาด กระทบไซเบอร์ซิเคียวริตี้ยาวนานต่อเนื่องเกินคาด

กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 15 มิถุนายน 2564: วันนี้ IBM Security ประกาศผลสำรวจทั่วโลกเกี่ยวกับพฤติกรรมทางดิจิทัลของผู้บริโภคในช่วงการแพร่ระบาด รวมถึงผลกระทบระยะยาวด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ พบสังคมคุ้นชินกับการปฏิสัมพันธ์ผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยผู้ที่สำรวจเลือกความสะดวกมากกว่าที่จะใส่ใจเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว นำสู่การกำหนดพาสเวิร์ดและพฤติกรรมด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่หละหลวม

ความหละหลวมด้านการรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภค ผนวกกับการการเร่งเดินหน้าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างรวดเร็วของธุรกิจในช่วงโควิด อาจกลายเป็นการเพิ่มโอกาสในการโจมตีอุตสาหกรรมต่างๆ ให้กับอาชญากรไซเบอร์ ตั้งแต่การโจมตีแบบแรนซัมแวร์ไปจนถึงการขโมยข้อมูล ข้อมูลจาก IBM Security X-Force ระบุว่าพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสมในด้านการรักษาความปลอดภัย ยังอาจถูกนำไปใช้ในที่ทำงานและอาจนำไปสู่เหตุด้านซิเคียวริตี้ที่ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก โดยการตั้งค่าประจำตัวผู้ใช้ที่ไม่เป็นไปตามคำแนะนำด้านความปลอดภัย กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการโจมตีไซเบอร์ในปี 2563 [1]

การสำรวจผู้บริโภค 22,000 คนใน 22 ประเทศทั่วโลก [2] ที่ดำเนินการโดยมอร์นิงคอนซัลท์ ในนามของ IBM Security ได้ระบุถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดที่มีต่อพฤติกรรมด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคไว้ดังนี้

  • การบูมของดิจิทัลจะส่งผลระยะยาว มากกว่าผลลัพธ์ที่การแพร่ระบาดได้ทิ้งเอาไว้: ผู้บริโภคที่สำรวจระบุว่าได้สร้างบัญชีออนไลน์ใหม่เฉลี่ย 15 บัญชีในช่วงการแพร่ระบาด ซึ่งเท่ากับบัญชีใหม่หลายพันล้านบัญชีได้ถูกสร้างขึ้นทั่วโลก โดย 44% ของกลุ่มที่สำรวจไม่มีแผนที่จะลบหรือปิดบัญชีใหม่เหล่านี้ ซึ่งหมายความว่าดิจิทัลฟุตปรินท์ของผู้บริโภคเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นในอีกหลายปีที่จะถึง และกลายเป็นการเพิ่มโอกาสการโจมตีให้กับอาชญากรไซเบอร์
  • การมีบัญชีมากเกินทำให้เหนื่อยหน่ายกับการตั้งพาสเวิร์ด: การเพิ่มขึ้นของบัญชีดิจิทัลนำสู่พฤติกรรมการตั้งพาสเวิร์ดที่หละหลวมของผู้บริโภคที่สำรวจ โดย 82% ยอมรับว่าใช้ข้อมูลยืนยันตัวตนซ้ำบ้างในบางครั้ง ซึ่งหมายความว่าบัญชีใหม่ส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดนั้น น่าจะใช้ชื่ออีเมลและพาสเวิร์ดซ้ำกับที่เคยใช้ก่อนหน้า และอาจเป็นอันเดียวกับที่เคยหลุดรั่วไปแล้วในเหตุข้อมูลรั่วไหลที่ผ่านมา
  • คนให้ค่ากับความสะดวกสบายมากกว่าเรื่องความปลอดภัยและไพรเวซี: มากกว่าครึ่งหนึ่ง (51%) ของกลุ่มมิลเลนเนียลชอบสั่งซื้อสินค้าผ่านแอพหรือเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มไม่ปลอดภัย มากกว่าการโทรสั่งหรือไปซื้อที่ร้านด้วยตัวเอง การเน้นความสะดวกในการสั่งซื้อผ่านช่องทางดิจิทัลโดยมองข้ามความปลอดภัย ทำให้ปัญหาด้านความปลอดภัยต้องกลายเป็นภาระของบริษัทที่ให้บริการเหล่านี้ เพราะต้องป้องกันตัวเองจากการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี การที่ผู้บริโภคเน้นการปฏิสัมพันธ์ผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ก็อาจนำสู่การเพิ่มขึ้นของการใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่รูปแบบต่างๆ ด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การดูแลสุขภาพระยะไกลหรือเทเลเฮลท์ ไปจนถึงดิจิทัลไอดี [3]

“การแพร่ระบาดส่งผลให้มีบัญชีออนไลน์เพิ่มขึ้นสูงมาก และการที่สังคมเลือกความสะดวกสบายทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ อาจส่งผลต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล” นายชาร์ลส์ เฮ็นเดอร์สัน Global Managing Partner และหัวหน้าทีม IBM Security X-Force กล่าว “เวลานี้องค์กรต่างๆ จะต้องพิจารณาผลกระทบจากการพึ่งพาช่องทางดิจิทัล ที่มีต่อความเสี่ยงด้านซิเคียวริตี้ เมื่อพาสเวิร์ดมีความน่าเชื่อถือน้อยลงเรื่อยๆ วิธีหนึ่งที่องค์กรสามารถนำมาใช้ได้ นอกเหนือจากการยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย คือการเปลี่ยนไปใช้แนวทาง ‘zero trust’ โดยใช้ระบบ AI และการวิเคราะห์ขั้นสูงตลอดกระบวนการ เพื่อระบุภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น แทนที่จะทึกทักเอาว่าสามารถไว้ใจผู้ใช้ได้หากผ่านกระบวนการการยืนยันตัวตนแล้ว”

ผู้บริโภคคาดหวังความง่ายในการเข้าถึง

การสำรวจชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมหลากหลายของผู้บริโภค ที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในขณะที่ผู้คนใช้ประโยชน์จากการปฏิสัมพันธ์ทางดิจิทัลมากขึ้น แต่ก็มีความคาดหวังสูงในเรื่องความสะดวกในการเข้าถึงและใช้งานด้วยเช่นกัน

  • กฎ 5 นาที: จากการสำรวจพบว่า ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ (59%) ต้องการใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีในการสร้างบัญชีดิจิทัลใหม่
  • ครบสามครั้งเลิกทำ: ผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกจะพยายามเข้าสู่ระบบเพียง 3-4 ครั้ง หากไม่สำเร็จจะเริ่มรีเซ็ตพาสเวิร์ดใหม่ การรีเซ็ตพาสเวิร์ดไม่เพียงแต่ทำให้บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ยังอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความปลอดภัยหากเป็นพาสเวิร์ดที่เคยใช้กับบัญชีอีเมลที่เคยถูกแฮ็คแล้ว
  • พึ่งความจำ: 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้วิธีจำข้อมูลบัญชีร้านค้าออนไลน์ (เป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ใช้) ในขณะที่ 32% จดข้อมูลลงบนกระดาษ
  • การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (multi-factor authentication): เมื่อการใช้พาสเวิร์ดซ้ำคือปัญหาที่กำลังเพิ่มขึ้น การเพิ่มปัจจัยในการตรวจสอบสำหรับธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่บัญชีจะถูกบุกรุกได้ การสำรวจพบว่าประมาณสองในสามของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกหันมาใช้การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัยภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ทำแบบสำรวจ

ลงลึกช่องทางดิจิทัลเฮลธ์แคร์

ในช่วงการแพร่ระบาด ช่องทางดิจิทัลได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตอบสนองความต้องการวัคซีน รวมถึงการทดสอบและการรักษาโควิด-19 IBM Security วิเคราะห์ว่าการที่ผู้บริโภคใช้ช่องทางดิจิทัลที่หลากหลายในการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อาจกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลกับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการเริ่มใช้งานของกลุ่มผู้ใช้ใหม่ [4] โดยการสำรวจชี้ว่า

  • 63% ของผู้บริโภคเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 [5] ผ่านช่องทางดิจิทัลรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (เว็บ แอพมือถือ อีเมล และข้อความ SMS)  
  • แม้เว็บไซต์และเว็บแอพเป็นช่องทางการเข้าถึงแบบดิจิทัลที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด แต่ก็มีการใช้งานโมบายล์แอพ (39%) และข้อความ (20%) เป็นจำนวนมาก

เมื่อผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพพยายามผลักดันการแพทย์ทางไกล โปรโตคอลด้านความปลอดภัยที่ได้รับการออกแบบให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ก็จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ตั้งแต่การทำให้ระบบไอทีสำคัญๆ สามารถออนไลน์ได้แบบไม่มีสะดุด การปกป้องข้อมูลผู้ป่วยที่มีความละเอียดอ่อน หรือแม้แต่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ HIPAA งานเหล่านี้ครอบคลุมการแบ่งส่วนข้อมูลและการควบคุมที่เข้มงวด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้เฉพาะระบบและข้อมูลที่กำหนดไว้เท่านั้น รวมถึงเป็นการจำกัดผลกระทบจากบัญชีหรืออุปกรณ์ที่เคยถูกแฮ็ค ในการเตรียมพร้อมสำหรับเหตุแรนซัมแวร์และการโจมตีแบบขู่กรรโชก ข้อมูลผู้ป่วยจะต้องได้รับการเข้ารหัสอยู่ตลอดเวลา และต้องมีระบบการสำรองข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อให้สามารถกู้คืนระบบและข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ระบบเกิดการหยุดชะงักน้อยที่สุด

การปูทางสู่ข้อมูลประจำตัวดิจิทัล

แนวคิดของดิจิทัลเฮลธ์พาส หรือที่เรียกว่าพาสปอร์ตวัคซีน ถือเป็นการปูทางให้ผู้บริโภคได้รู้จักข้อมูลประจำตัวดิจิทัลในโลกการใช้งานจริง โดยเป็นแนวทางบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบลักษณะเฉพาะของตัวตนของเรา จากการสำรวจพบว่า 65% ของผู้ใหญ่ทั่วโลก กล่าวว่าพวกเขาคุ้นเคยกับแนวคิดของข้อมูลประจำตัวดิจิทัล และ 76% มีแนวโน้มที่จะเริ่มใช้หากเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

การเปิดประตูสู่แนวคิดการพิสูจน์ตัวตนแบบดิจิทัลในช่วงการแพร่รระบาดนี้ อาจช่วยกระตุ้นการยอมรับระบบดิจิทัลไอดีที่ทันสมัยในวงกว้าง ซึ่งมีศักยภาพพอที่จะเข้ามาแทนที่การใช้บัตรประจำตัวรูปแบบเดิมอย่างหนังสือเดินทางและใบขับขี่  โดยเป็นวิธีที่ผู้บริโภคจะสามารถเลือกให้เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกรรมนั้นๆ เท่านั้น แม้การใช้ข้อมูลประจำตัวแบบดิจิทัลจะสร้างโมเดลที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต แต่ก็ยังต้องมีมาตรการการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันการปลอมแปลง นำสู่ความจำเป็นในการใช้โซลูชันบล็อกเชนเพื่อตรวจสอบและอัพเดทข้อมูลยืนยันตัวตน โดยเฉพาะกรณีที่ข้อมูลถูกแฮ็ค 

องค์กรจะสามารถปรับตัวตามภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนได้อย่างไร

ธุรกิจที่พึ่งพาการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลกับผู้บริโภคมากขึ้นอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาด ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโพรไฟล์ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของตน ในสถานการณ์ที่พฤติกรรมและความชอบของผู้บริโภคกำลังปรับเปลี่ยนรับความสะดวกทางดิจิทัล IBM Security ได้แสดงข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  • แนวทาง Zero Trust: เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น บริษัทต่างๆ ควรพิจารณาการพัฒนาไปสู่แนวทางการรักษาความปลอดภัยแบบ “zero trust” ซึ่งทำงานภายใต้สมมติฐานที่ว่าผู้ที่ได้รับการยืนยันตัวตนหรือตัวเครือข่ายเองอาจเคยถูกแฮ็คมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบเงื่อนไขการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้ ข้อมูล และทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดสิทธิ์และความจำเป็นในการเข้าถึง แนวทางนี้กำหนดให้บริษัทต่างๆ รวมศูนย์ข้อมูลและแนวทางการรักษาความปลอดภัยเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายที่จะนำบริบทด้านความปลอดภัยเข้าปกป้องผู้ใช้ทุกคน อุปกรณ์ทุกชิ้น และทุกการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น
  • การปรับปรุงการบริหารจัดการตัวตนและการเข้าถึง (IAM) ของผู้บริโภคให้ทันสมัย: สำหรับบริษัทที่ต้องการใช้ประโยชน์จากช่องทางดิจิทัลในการสร้างความมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคต่อไป การทำให้กระบวนการยืนยันตัวตนเชื่อมกันแบบไร้รอยต่อเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การลงทุนในกลยุทธ์ Consumer Identity and Access Management (CIAM) ที่ทันสมัย สามารถช่วยให้องค์กรเพิ่มการมีส่วนร่วมทางช่องทางดิจิทัลได้ โดยมอบประสบการณ์การใช้งานอย่างราบรื่นทั่วทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัล และใช้การวิเคราะห์เชิงพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงของการใช้บัญชีหลอกลวง 
  • การปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว: การมีผู้ใช้ผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น หมายความว่าบริษัทก็จะมีข้อมูลผู้บริโภคที่ละเอียดอ่อนที่ต้องปกป้องมากขึ้น ค่าใช้จ่ายจากเหตุข้อมูลรั่วไหลในกลุ่มองค์กรที่ทำการศึกษามีมูลค่าเฉลี่ยกว่า 120 ล้านบาท [6] ดังนั้นองค์กรจึงควรกำหนดการควบคุมความปลอดภัยของข้อมูลอย่างรัดกุมเพื่อป้องกันการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่การมอนิเตอร์ข้อมูลเพื่อตรวจจับกิจกรรมที่น่าสงสัย ไปจนถึงการเข้ารหัสข้อมูลไม่ว่าข้อมูลจะอยู่ที่ไหน องค์กรควรใช้นโยบายความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสมทั้งกับระบบภายในองค์กรและบนคลาวด์ เพื่อรักษาความไว้วางใจของผู้บริโภค
  • การทดสอบระบบความปลอดภัย: เมื่อการใช้งานและการพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัทต่างๆ ควรจัดการทดสอบเฉพาะขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่เคยใช้ก่อนหน้ายังคงใช้ได้ในสภาพการณ์ใหม่นี้ การประเมินประสิทธิภาพของการตอบสนองต่อเหตุซ้ำๆ  รวมถึงการทดสอบแอพพลิเคชันเพื่อตรวจสอบช่องโหว่ด้านความปลอดภัย ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของขั้นตอนนี้

เกี่ยวกับ IBM Security
IBM Security นำเสนอหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการด้านความปลอดภัยที่ทันสมัยและครบวงจรที่สุด ผลงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยงานวิจัยของ IBM X-Force® ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก จึงช่วยให้องค์กรสามารถจัดการความเสี่ยงและป้องกันภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไอบีเอ็มบริหารจัดการองค์กรด้านการวิจัย การพัฒนา และการส่งมอบบริการรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยตรวจติดตามเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยกว่า 150,000 ล้านเหตุการณ์ต่อวันในกว่า 130 ประเทศ และได้รับสิทธิบัตรด้านความปลอดภัยมากกว่า 10,000 ฉบับทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่ www.ibm.com/security ติดตามบน Twitter ได้ที่ @IBMSecurity หรือไปที่ บล็อก IBM Security Intelligence 


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ขออนุญาตส่งข่าว “IBM และ Happily.ai นำ AI ช่วยองค์กรยกระดับประสบการณ์ของพนักงาน”

วันนี้ ไอบีเอ็มประกาศว่า Happily.ai ได้นำ IBM Watson เข้าช่วยให้มุมมองเชิงลึกเพื่อให้องค์กรสามารถเข้าใจความรู้สึกของพนักงานได้มากขึ้น และนำสู่การขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน ประสิทธิภาพในการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรในเชิงบวก

Happily.ai ใช้ความสามารถในการประมวลผลภาษาธรรมชาติของ IBM Watson ที่อยู่บน IBM Cloud ในการวัดอารมณ์และความรู้สึกของพนักงานในที่ทำงาน เพื่อสร้างพฤติกรรมเชิงบวกและเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรในหมู่พนักงาน ความสามารถในการประมวลผลภาษาธรรมชาติช่วยให้ IBM Watson สามารถวิเคราะห์ภาษาที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อทำความเข้าใจเจตนา อารมณ์ และโทนเสียงที่ใช้ในข้อความที่เขียน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสุข กลัว เศร้า โกรธ หรือแม้แต่ความมั่นใจและความลังเล

แอพที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มมือถือนี้ จะช่วยให้องค์กรได้รับข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ทุกวัน แทนที่จะต้องรอผลรายปีจากแบบสำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยข้อความที่นำมาวิเคราะห์มาจากคำตอบของพนักงานถึงภาวะอารมณ์ไนที่ทำงานของตน Happily.ai ยังใช้สไตล์ความเป็นเกมและรูปแบบการสะสมแต้มเพื่อช่วยดึงดูดให้พนักงานเข้ามาให้ข้อมูลผ่านแอพทุกวัน โดยฟีดแบ็คที่ได้รับในเวลาที่เหมาะสม บนพื้นฐานของข้อมูล จะช่วยให้หัวหน้างานสามารถรับรู้ความรู้สึก เข้าใจถึงความท้าทายที่ทีมเผชิญอยู่ และสามารถสร้างแรงจูงใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อปลูกฝังคุณลักษณะที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์กรได้ แรงจูงใจในที่นี้อาจรวมถึงการโค้ชชิงแบบเวอร์ชวล การแนะนำหนังสือน่าอ่าน และการแสดงความชื่นชมเพื่อสร้างลักษณะนิสัยและวัฒนธรรมเชิงบวก

Happily.ai ได้รับการพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของพฤติกรรมศาสตร์จากงานวิจัยจิตวิทยาองค์กร โดยพบว่าทีมที่เข้ามาใช้งาน Happily.ai มากที่สุด มีประสิทธิภาพการขายและได้รับคะแนน NPS จากลูกค้าเพิ่มขึ้น องค์กรที่นำ Happily.ai ไปใช้ยังพบว่ามีอัตราการเข้าใช้งานของผู้ใช้มากกว่า 97%

การศึกษากลุ่มซีอีโอปี 2564 โดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Institute for Business Value) ที่เผยแพร่ช่วงก่อนหน้านี้ ชึ้ให้เห็นว่า 77% ของซีอีโอของบริษัทที่มีผลการดำเนินงานดี วางแผนที่จะให้ความสำคัญสูงสุดกับสุขภาวะของพนักงาน แม้ว่าจะต้องแลกกับความสามารถในการทำกำไรในระยะสั้น ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษา Accelerating the journey to HR 3.0ที่พบว่ากลุ่มผู้บริหารสูงสุดด้านทรัพยากรมนุษย์ (CHRO) ในองค์กรที่มีผลการดำเนินงานดี มองว่าองค์กรของตนเน้นการสนับสนุนสุขภาวะของพนักงาน ทั้งทางกาย ทางอารมณ์ และทางการเงิน ในฐานะส่วนหนึ่งของ “ค่านิยมหลักขององค์กร” โดยเป็นการให้ความสำคัญในอัตราที่สูงกว่าบริษัทที่มีผลการดำเนินงานต่ำถึงเกือบสามเท่า


ทรีฟ แจเฟอรี่ ซีอีโอของ Happily.ai

“การวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่าพนักงานจะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อ mood และ tone ของที่ทำงานหรือสภาพแวดล้อมเป็นไปในเชิงบวก” ทรีฟ แจเฟอรี่ ซีอีโอของ Happily.ai กล่าว “ความสามารถในการประมวลผลภาษาธรรมชาติของ IBM Watson บน IBM Cloud ช่วยให้สามารถอธิบายเทรนด์และพฤติกรรมต่างๆ ได้ และทำให้ผู้บริหารเห็นถึงแนวทางการดำเนินการที่ควรใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ผ่านรูปแบบที่ช่วยการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกิจกรรมในรูปแบบเกม ลูกค้ารายหนึ่งของเราประสบปัญหาอัตราการลาออกของพนักงานสูงมาเป็นเวลาหลายปี และเราสามารถช่วยลูกค้าพลิกสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมเพิ่มความสามารถในการรักษาพนักงานไว้ ผ่านการปลูกฝังพฤติกรรมที่นำไปสู่วัฒนธรรมเชิงบวก”


ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

“IBM Watson บน IBM Cloud ใช้อัลกอริธึมแมชชีนเลิร์นนิงที่ทรงพลัง ที่ได้รับการฝึกฝนให้สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงโทนเสียงได้ และสามารถให้คำแนะนำถึงแนวทางที่อ่อนโยนขึ้น เพื่อให้การปฏิสัมพันธ์โต้ตอบต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น” ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทยกล่าว “แอพพลิเคชันนี้ช่วยเพิ่มความผูกพันที่มีต่อองค์กรของพนักงาน และมีส่วนช่วยในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและมีความสุข”

ปัจจุบัน แอพ Happily.ai เปิดให้บริการทั่วโลก โดยมีฐานลูกค้าอยู่ในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเดนมาร์ค ครอบคลุมลูกค้าจากองค์กรชั้นนำในกลุ่มธนาคารและกลุ่มอื่นๆ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ไอบีเอ็มประกาศความก้าวหน้าศักยภาพไฮบริดคลาวด์และเอไอ ช่วยองค์กรเร่งเครื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ในงานใหญ่ประจำปี Think 2021

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศความก้าวล้ำด้านปัญญาประดิษฐ์​(เอไอ) ไฮบริดคลาวด์ และควอนตัม คอมพิวติ้ง ในงาน Think ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของบริษัทฯ นวัตกรรมเหล่านี้ตอกย้ำถึงบทบาทของไอบีเอ็มในการเข้าช่วยลูกค้าและพาร์ทเนอร์เร่งเครื่องสู่ก้าวย่างดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน และสร้างอิโคซิสเต็มเชิงกลยุทธ์ที่จะช่วยขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้กับธุรกิจ

“เราจะมองย้อนกลับมายังปีนี้และปีที่แล้ว ว่าเป็นช่วงเวลาที่โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งดิจิทัลอย่างเต็มตัว ” นายอาร์วินด์ กฤษณะ ประธานและซีอีโอของไอบีเอ็มกล่าว “ในศตวรรษที่ 21 นี้ เราจะใช้ไฮบริดคลาวด์และผสานเอไอเข้ากับซอฟต์แวร์และระบบต่างๆ ในแบบเดียวกับที่เราต่อไฟฟ้าเข้าไปยังโรงงานและเครื่องจักรในศตวรรษที่ผ่านมา และสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ อนาคตข้างหน้าจะต้องถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของความร่วมมือเชิงลึกในมุมอุตสาหกรรม ซึ่งไม่มีใครที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีกว่าไอบีเอ็ม และนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ไอบีเอ็มเร่งการลงทุนในอิโคซิสเต็มพาร์ทเนอร์เต็มที่ นอกจากนี้ ในงาน Think 2021 ไอบีเอ็มยังได้เปิดเผยถึงนวัตกรรมไฮบริดคลาวด์และเอไอล่าสุด ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่เป็นพื้นฐานของสถาปัตยกรรมทางไอทีรูปแบบใหม่ของธุรกิจต่อไป”

ไอบีเอ็มทุ่มเทกับไฮบริดคลาวด์และเอไอเต็มที่เพราะทราบดีว่าธุรกิจต่างๆ ต้องการแนวทางที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ในก้าวย่างของการปรับระบบ mission-critical ต่างๆ ให้มีความทันสมัย ผลการศึกษาล่าสุดของไอบีเอ็มเกี่ยวกับการนำเอไอเข้ามาใช้ในธุรกิชี้ให้เห็นว่าความจำเป็นในการผสานเอไอเข้าสู่กระบวนการทางธุรกิจต่างๆ ถูกเร่งให้กลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในช่วงของการแพร่ระบาด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่สำรวจ 43% ระบุว่าองค์กรของตนได้เร่งการนำเอไอมาใช้ ขณะที่เกือบครึ่งระบุว่าเหตุผลหลักในการตัดสินใจเลือกผู้ให้บริการด้านเอไอ คือการเลือกจากความสามารถในการทำออโตเมชันกระบวนการต่างๆ และนี่คือสาเหตุที่ไอบีเอ็มลงทุนเต็มที่ในการสร้างความสามารถที่ครอบคลุมและทรงพลังให้กับเอไอสำหรับธุรกิจ

วันนี้ไอบีเอ็มช่วยลูกค้าหลายพันรายในทุกอุตสาหกรรมในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยพลังของแพลตฟอร์มไฮบริดคลาวด์และเอไอ ด้วยนวัตกรรมที่ได้รับการออกแบบสำหรับธุรกิจเพื่อรองรับก้าวต่อไปของเส้นทางดิจิทัล

ความสามารถใหม่ที่ผสานศักยภาพของข้อมูลและเอไอเข้าด้วยกัน
เอไอจะเข้ามาช่วยให้การเข้าถึง รวมกลุ่ม และบริหารจัดการข้อมูล ทำจากที่ไหนก็ได้โดยอัตโนมัติ ผ่าน Cloud Pak for Data: ความสามารถใหม่ของ Cloud Pak for Data ที่ใช้เอไอเข้ามาช่วยให้ลูกค้าได้รับคำตอบจากคำถามกว่าเดิมถึงแปดเท่า ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับโซลูชัน data warehouse ที่นำมาเปรียบเทียบ โดย AutoSQL(Structured Query Language) นี้ จะช่วยออโตเมทการเข้าถึง ผนวกรวม และบริหารจัดการข้อมูลของลูกค้า โดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายข้อมูล ไม่ว่าข้อมูลจะถูกจัดเก็บอยู่ที่ใด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาสำคัญที่ลูกค้ากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เมื่อต้องเลือกข้อมูลสำหรับเอไอ ขณะที่ต้องลดค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายข้อมูลที่ค่อนข้างสูงไปพร้อมๆ กัน ช่วยให้ลูกค้าได้รับข้อมูลเชิงลึกที่มีความถูกต้องยิ่งขึ้นจากการคาดการณ์ด้วยเอไอ โดย AutoSQLที่เปิดตัวในครั้งนี้ จะมาพร้อมกับ IBM Cloud Pak for Data ที่มีระบบ data warehouse ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในตลาด (ผลจากการศึกษาเปรียบเทียบโดยไอบีเอ็ม)ที่สามารถทำงานได้อย่างไร้รอยต่อบนทุกสภาพแวดล้อม hybrid multi-cloud ไม่ว่าจะเป็น private cloud ระบบ on-premise ที่อยู่ภายในองค์กร หรือบน public cloud ทั่วไป AutoSQL จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ที่ผสานเข้ากับฟีเจอร์ดาต้าแฟบริคอัจฉริยะใหม่บน Cloud Pak for Data ที่จะช่วยออโตเมทการบริหารจัดการข้อมูลที่ซับซ้อน ด้วยการใช้เอไอเข้ามาช่วยในการค้นหา ทำความเข้าใจ เข้าถึง และปกป้องข้อมูลแบบกระจายที่อยู่บนสภาพแวดล้อมต่างๆ พร้อมทั้งรวมแหล่งข้อมูลต่างๆ ไว้บนพื้นฐานข้อมูลเดียวกัน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 5 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ Cloud Pak for Data และ Data Fabric ใหม่

• Watson Orchestrate ช่วยออโตเมทงานต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน: Watson Orchestrate เป็นหนึ่งในความสามารถใหม่ด้านเอไอที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับทีมต่างๆ ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นทีมขาย ทีมทรัพยากรบุคคล ทีมปฏิบัติการ ฯลฯ โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านไอที ทีมต่างๆ ในองค์กรสามารถใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ผ่านอีเมลหรือแชทแอพอย่าง Slack โดยระบบยังสามารถเชื่อมต่อกับแอพธุรกิจอย่าง Salesforce, SAP และ Workday®ได้ Watson Orchestrate ใช้เอนจิ้นเอไอที่ทรงพลังในการเลือกและจัดลำดับชุดทักษะที่ต้องใช้ในงานแต่ละชนิดโดยอัตโนมัติ พร้อมเชื่อมต่อกับแอพ เครื่องมือ ข้อมูล หรือข้อมูลย้อนหลังต่างๆ ไปด้วยในขณะเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถทำงานที่เป็นกิจวัตรซ้ำๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการนัดประชุม การอนุมัติ หรือแม้แต่งานที่สำคัญอย่างการเตรียมโครงการนำเสนอหรือแผนธุรกิจต่างๆ เป็นการช่วยประหยัดเวลาในการทำงานต่างๆ Watson Orchestrate ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม และเปิดให้ใช้บริการได้แล้วผ่าน IBM Automation Cloud Pak ก่อนที่จะเปิดให้ใช้ในวงกว้างต่อไปภายในปีนี้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 5 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับ Watson Orchestrate

Maximo Mobile พลิกรูปแบบการทำงานของช่างเทคนิคที่ต้องลงพื้นที่จริง: ไอบีเอ็มเปิดตัว Maximo Mobile แพลตฟอร์มโมบายล์ที่เปิดใช้งานได้ง่ายๆ โดยมีโซลูชันบริหารจัดการทรัพย์สินชั้นนำอย่าง Maximo ของไอบีเอ็มเป็นหัวใจหลัก Maximo Mobile ได้รับการออกแบบมาสำหรับช่างเทคนิคที่ต้องทำงานในพื้นที่จริงอย่างถนน สะพาน ไลน์การผลิต โรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน เพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์หรือทรัพย์สินต่างๆ โดยใช้ Watson AI ร่วมกับข้อมูลองค์กรเชิงลึก ในการดึงข้อมูลการปฏิบัติการของแต่ละอุปกรณ์ให้แก่ช่างทันทีที่ช่างต้องการ เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน แม้เมื่ออยู่ในพื้นที่ห่างไกล การผนวกความสามารถอันทรงพลังของเอไอ เวิร์คโฟลวอัจฉริยะ ระบบช่วยเหลือระยะไกล และดิจิทัลทวินเข้าด้วยกัน ช่วยให้ช่างสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่สั่งสมมานานนับทศวรรษได้ง่ายๆ ทันที นำสู่การปฏิบัติงานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่วิดีโอ Empowering the Technician of the Future with Maximo Mobile

ศักยภาพใหม่ของเอไอกับการยกระดับการพัฒนาและใช้งานระบบไอทีและแอพใหม่ๆ
โครงการชุดข้อมูล CodeNet ยกระดับความสามารถของเอไอในการเข้าใจและแปลโค้ด: ศูนย์วิจัยไอบีเอ็มได้เปิดตัวโครงการ CodeNet ซึ่งเป็นชุดข้อมูลโอเพนซอร์สขนาดใหญ่ที่มีตัวอย่างโค้ดถึง 14 ล้านชุด รวมแล้ว 500 ล้านบรรทัด ในภาษาโปรแกรมที่แตกต่างกันไปกว่า 55 ภาษา ซึ่งนับเป็นชุดข้อมูลที่ใหญ่และมีความหลากหลายมากที่สุด โดยมุ่งแก้สามปัญหาหลักของการเขียนโค้ดในปัจจุบัน ประกอบด้วย การค้นหาโค้ด (สามารถแปลงโค้ดจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งให้อัตโนมัติ แม้แต่ภาษาเลกาซีอย่าง COBOL) การเปรียบเทียบความเหมือน/แตกต่างของโค้ด (สามารถระบุความคล้ายคลึงหรือแตกต่างของโค้ดในภาษาต่างๆ ได้) และข้อจำกัดด้านโค้ด (สามารถปรับ constraint ต่างๆ ได้โดยอิงจากความต้องการและพารามิเตอร์ของนักพัฒนา) ไอบีเอ็มเชื่อมันว่า CodeNet จะเป็นเกณฑ์มาตรฐานของชุดข้อมูลสำหรับการแปลงภาษาและการเปลี่ยนผ่านจากโค้ดแบบเลกาซีสู่ภาษาโค้ดที่มีความเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเร่งการพัฒนาแอพด้านเอไอได้ต่อไป ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บล็อก Kickstarting AI for Code: Introducing Project CodeNet

Mono2Micro ช่วยลดภาระปวดหัวในการทำ Cloud Migration: ไอบีเอ็มได้เพิ่มความสามารถใหม่ให้กับ WebSphere Hybrid Editionที่ช่วยให้องค์กรสามารถ optimize และ modernize แอพต่างๆ เพื่อรองรับไฮบริดคลาวด์ Mono2Micro ใช้เอไอที่ก้าวล้ำที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม ในการวิเคราะห์แอพขององค์กรที่มีจำนวนมาก พร้อมให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับการย้ายแอพเหล่านั้นไปยังคลาวด์ ซึ่งช่วงทำให้กระบวนการที่เกิดการผิดพลาดได้ง่ายเป็นไปอย่างง่ายดายและรวดเร็วขึ้น ช่วยลดต้นทุนและเพิ่ม ROI ให้กับองค์กร Mono2Micro เป็นหนึ่งในชุดผลิตภัณฑ์และบริการบนพื้นฐานของเอไอของไอบีเอ็มที่จะช่วยติดสปีดให้กับการไมเกรทสู่คลาวด์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บล็อก IBM Mono2Micro: สามสิ่งที่ต้องรู้

แบรนด์ชั้นนำเลือกใช้โซลูชันไฮบริดคลาวด์และเอไอของไอบีเอ็
IBM Watson Assistant เบื้องหลังสนับสนุนการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิดของ CVS Health: ปัจจุบันไอบีเอ็มกำลังร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านสุขภาพชั้นนำอย่าง CVS Health ในการช่วยบริษัทเฮลธ์แคร์ต่างๆ รับมือกับปริมาณสายเรียกเข้าที่พุ่งสูงขึ้นถึงสิบเท่า หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้เปิดตัวโปรแกรมวัคซีนโควิด-19 โดยไอบีเอ็ม โกลบอล เซอร์วิสเซส หรือ GBS และ CVS Health ได้ร่วมกันพัฒนาโซลูชันสำหรับงานดูแลลูกค้าด้วย IBM Watson Assistantบน IBM Public Cloud ภายในระยะเวลาเพียงสี่สัปดาห์ การผสานเอไอและการประมวลผลภาษาธรรมชาติเข้ากับเวิร์คโฟลวของระบบโทรศัพท์ของทีมงานดูแลลูกค้า ทำให้ CVS สามารถตอบคำถามตั้งแต่เรื่องการเทสต์โควิด-19 ไปจนถึงการฉีดวัคซีน หลักฐานการฉีดวัคซีน ค่าใช้จ่าย ฯลฯ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถหันไปรับมือกับคำถามที่มีความซับซ้อนมากกว่าแทน นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มความสามารถให้เจ้าหน้าที่เวอร์ชวลสามารถดึงข้อมูลและให้คำตอบโดยอิงจากสถานะของการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกันออกไปใน 50 รัฐทั่วประเทศ นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อต้นเดือนมกราคม เจ้าหน้าที่เวอร์ชวลได้รับมือสายที่โทรเข้ามาแล้วกว่าล้านสาย โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่บุคคลเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการพูดคุยกับแต่ละสายลงได้อย่างเห็นได้ชัด

อีวายและไอบีเอ็มจับมือสร้าง Financial Services Center of Excellence สำหรับไฮบริดคลาวด์: อีวายและไอบีเอ็มร่วมกันจัดตั้ง Center of Excellence ที่ให้บริการโซลูชันไฮบริดคลาวด์แบบโอเพน ที่พัฒนาขึ้นบน Red Hat OpenShift สำหรับ IBM Cloud for Financial Services โดยโซลูชันต่างๆ จะเน้นที่การปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับกฎข้อบังคับที่กำกับดูแลอยู่ ความน่าเชื่อถือของดิจิทัลและซิเคียวริตี้ ถือเป็นการผนึกเทคโนโลยีของไอบีเอ็มเข้ากับประสบการณ์ของอีวายในการช่วยสถาบันการเงินต่างๆ เร่งเครื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและเพิ่มการใช้คลาวด์ โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวได้รับการออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของสถาบันการเงินที่เฉพาะเจาะจงและปรับเปลี่ยนเป็นระยะในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่คลาวด์และการทรานส์ฟอร์มกระบวนการทางธุรกิจต่างๆ ดูข้อมูลเพิ่มเติมและอ่านประกาศจากอีวายได้ที่อีวายและไอบีเอ็มประกาศสร้าง Center of Excellence เร่งเครื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันสถาบันบริการทางการเงิน

การลงทุนในพาร์ทเนอร์อิโคซิสเต็มอย่างต่อนื่อง
สิทธิประโยชน์ใหม่ๆ เพื่อช่วยสร้างความสำเร็จให้กับพาร์ทเนอร์: ภายใต้การลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสนับสนุนพาร์ทเนอร์อิโคซิสเต็ม ไอบีเอ็มได้เปิดตัวชุดองค์ความรู้ การพัฒนาทักษะ และสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้พาร์ทเนอร์ประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง เช่น ไอบีเอ็มได้สร้าง competency framework ใหม่เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญ ทักษะเชิงเทคนิค และแนวทางการขายให้ประสบความสำเร็จให้แก่พาร์ทเนอร์ โดยเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮบริดคลาวด์ ออโตเมชัน และซิเคียวริตี้ ปัจจุบัน ทาทา คอนซัลแทนซี เซอร์วิสเซส (TCS) ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของไอบีเอ็ม ได้ประสบความสำเร็จในการนำองค์ความรู้เหล่านี้มาพัฒนาเป็นโซลูชันเอไอสำหรับอุตสาหกรรมและการผลิตสำหรับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและนักพัฒนาด้านเอไอ นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังได้ขยาย Cloud Engagement Fund (CEF) ให้ครอบคลุมพาร์ทเนอร์ทุกประเภท เพื่อเพิ่มทรัพยากรด้านเทคนิคและคลาวด์เครดิตให้กับพาร์ทเนอร์ที่ต้องเข้าไปช่วยลูกค้าไมเกรทเวิร์คโหลดสู่สภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ ความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็มกับ Siemens Digital Industries Softwareคือหนึ่งในตัวอย่างที่ CEF เข้าไปมีส่วนช่วยให้พาร์ทเนอร์สามารถสเกลได้ โดยภายใต้โครงการดังกล่าว ซีเมนส์จะใช้แนวทางไฮบริดคลาวด์แบบโอเพนของไอบีเอ็ม ที่สร้างขึ้นบน Red Hat OpenShift ในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการใช้งาน MindSphere ซึ่งเป็นโซลูชัน IoT-as-a-service สำหรับอุตสาหกรรมของซีเมนส์ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บล็อก IBM Announces New Benefits to Drive Partner Success as Ecosystem Momentum Accelerates

ไอบีเอ็มผลักดันควอนตัมคอมพิวติ้งให้เข้าใกล้การใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ซอฟต์แวร์ Qiskit Runtime ช่วยเร่งความเร็วการประมวลผล Quantum Circuit ถึง 120 เท่า: ไอบีเอ็มได้ทำให้การใช้ซอฟต์แวร์ควอนตัมเป็นเรื่องง่ายขึ้นสำหรับนักพัฒนา ด้วย Qiskit Runtime ที่เป็นรูปแบบคอนเทนเนอร์และโฮสต์อยู่บนไฮบริดคลาวด์ แทนที่จะต้องรันโค้ดบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ การเพิ่มศักยภาพทั้งด้านซอฟต์แวร์และพลังการประมวลผลทำให้ Qiskit Runtime สามารถเร่งความเร็วของ quantum circuits ที่ถือเป็นอุปสรรคของอัลกอริธึมควอนตัมในปัจจุบัน ได้ถึง 120 เท่า Qiskit เป็นเฟรมเวิร์คโอเพนซอร์สสำหรับควอนตัมคอมพิวติ้งที่ไอบีเอ็มได้พัฒนาขึ้นสำหรับชุมชนนักพัฒนาทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงควอนตัมคอมพิวติ้งได้ Qiskit Runtime จะช่วยให้ระบบควอนตัมสามารถรันการคำนวณที่ซับซ้อนอย่างโมเดลทางเคมีหรือการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงินได้ในไม่กี่ชั่วโมง แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ที่ผ่านมาไอบีเอ็มได้โชว์ศักยภาพของ Qiskit Runtime ผ่านการโมเดล lithium hydride molecule (LiH) ซึ่งสามารถทำบนอุปกรณ์ควอนตัมได้ภายในเก้าชั่วโมง จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 45 วัน ก้าวย่างการพัฒนาเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสเกลการประมวลผลควอนตัมไปสู่รูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บล็อก IBM Quantum Delivers 120x speedup of quantum workloads with Qiskit Runtime


การประกาศต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงาน Think มีขึ้นหลังจากการเผยโฉมชิป 2 นาโนเมตรตัวแรกของโลก ที่จะช่วยให้การประมวลผลตั้งแต่ที่ดาต้าเซ็นเตอร์ไปจนถึงเอ็ดจ์เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น, การเปิดตัว Cloud Engineซึ่งเป็นแพลตฟอร์มฟรอนท์เอนด์ที่จจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถ deploy แอพ cloud-native ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีทักษะเหล่านั้น และไม่ต้องปวดหัวกับการกำหนดค่าโค้ดที่มีความซับซ้อน, การเปิดตัว Spectrum Fusionซึ่งเป็นเวอร์ชัน container แบบเต็มตัวของซอฟต์แวร์ด้านสตอเรจและการปกป้องข้อมูลของไอบีเอ็ม ที่ได้รับการออกแบบมาให้ช่วย streamline การจัดการข้อมูลทั่วทั้งองค์กร, รวมถึงการจับมือระหว่างไอบีเอ็มกับ Zscaler ในด้าน Zero Trustที่จะช่วยผนวกรวมเทคโนโลยีซิเคียวริตี้ของ Zscaler เข้ากับความเชี่ยวชาญในการให้บริการด้านซิเคียวริตี้ของไอบีเอ็ม เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้แนวทาง secure access service edge (SASE) ได้แบบ end-to-end นำสู่ระบบซิเคียวริตี้และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่เหนือชั้นยิ่งขึ้น


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ไอบีเอ็มเผยโฉมชิป 2 นาโนเมตรตัวแรกของโลก ก้าวสำคัญวงการไอที-เซมิคอนดักเตอร์

วันนี้ ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศถึงความก้าวหน้าล่าสุดด้านเซมิคอนดักเตอร์ กับความสำเร็จในการพัฒนาชิปขนาด 2 นาโนเมตร (nm) ตัวแรกของโลก เซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทสำคัญในเกือบทุกเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงระบบขนส่ง และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ

ที่ผ่านมา ความต้องการชิปที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ยังคงทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคของไฮบริดคลาวด์ เอไอ และอินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ในปัจจุบัน ชิปขนาด 2 นาโนเมตรของไอบีเอ็มนี้ถือเป็นความก้าวล้ำสำคัญของวงการเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการชิปที่เพิ่มสูงขึ้น ภายใต้ประสิทธิภาพที่คาดว่าจะสูงขึ้น 45% และใช้พลังงานน้อยลง 75% เมื่อเทียบกับชิปขนาด 7 นาโนเมตรในปัจจุบัน [1]

ชิป 2 นาโนเมตรจะนำสู่คุณประโยชน์หลักๆ อาทิ

• ช่วยเพิ่มอายุแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือสี่เท่าทำให้ผู้ใช้สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือทุกๆ สี่วัน [3] แทนที่จะต้องชาร์จทุกวัน
ลดปริมาณคาร์บอนฟุตปรินท์ลงอย่างก้าวกระโดดทุกวันนี้ดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆ ใช้พลังงานคิดเป็น 1% ของการใช้พลังงานทั่วโลก [2] ดังนั้นการเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดให้เป็นระบบประมวลผล 2 นาโนเมตร จะช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้อย่างมหาศาล
เร่งสปีดฟังก์ชันต่างๆ บนแล็ปท็อป นับตั้งแต่ระบบประมวลผลที่เร็วขึ้น ระบบช่วยแปลภาษาที่เร็วขึ้น รวมถึงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้น
เพิ่มความสามารถในการตรวจจับวัตถุให้รวดเร็วขึ้น เพิ่มความเร็วในการตอบสนองของยานพาหนะไร้คนขับอย่างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

“นวัตกรรมของไอบีเอ็มที่อยู่ในชิป 2 นาโนเมตรตัวใหม่นี้ มีความสำคัญยิ่งยวดต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และไอที” นายแดริโอ จิล รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม กล่าว “ชิปนี้เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นของไอบีเอ็มในการต่อกรกับความท้าทายด้านเทคโนโลยี รวมถึงการจับมือร่วมกันลงทุนและสร้างสรรค์นวัตกรรมก้าวล้ำอย่างยั่งยืนที่กลุ่มอีโคซิสเต็มด้านการวิจัยและพัฒนาได้แสดงให้เราเห็นเป็นตัวอย่าง”

ศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม แถวหน้าแห่งนวัตกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ความก้าวล้ำล่าสุดนี้ถือเป็นผลผลิตจากการเป็นผู้นำนวัตกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไอบีเอ็มมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ โดยมีห้องปฏิบัติการวิจัยอัลบานี นิวยอร์ค เป็นกำลังหลักในการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นที่ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อทะลายขีดจำกัดของนวัตกรรม logic scaling และเซมิคอนดักเตอร์

การจับมือร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบดังกล่าว ทำให้ห้องปฏิบัติการวิจัยอัลบานีของไอบีเอ็มกลายเป็นอิโคซิสเต็มชั้นนำของโลกสำหรับการวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ และไปป์ไลน์สำคัญของเส้นทางการสร้างนวัตกรรม ที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการด้านการผลิตและเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมชิปทั่วโลก

เส้นทางความก้าวล้ำในการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ที่ผ่านมาของไอบีเอ็ม ยังรวมถึงการนำเทคโนโลยีประมวลผล 7 นาโนเมตรและ 5 นาโนเมตรมาใช้เป็นครั้งแรก, การพัฒนาเทคโนโลยี DRAM แบบเซลล์เดี่ยว, กฎ Dennard Scaling Laws, สารไวแสงที่ได้รับการขยายทางเคมีให้ทนทานต่อการกัดกร่อน, การเดินสายเชื่อมต่อระหว่างทองแดง, ซิลิคอนบนเทคโนโลยีฉนวน, ไมโครโปรเซสเซอร์แบบมัลติคอร์, ประตู High-k ไดอิเล็กทริก, DRAM แบบฝังในตัว และการซ้อนชิป 3D เป็นต้น โดยเทคโนโลยีที่ไอบีเอ็มได้มีการเปิดให้ใช้เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก อาทิ ชิป 7 นาโนเมตร ที่จะเริ่มนำมาใช้ในปีนี้บนระบบ IBM Power บนพื้นฐานของ IBM POWER10

ห้าหมื่นล้านทรานซิสเตอร์บนชิปขนาดเท่าเล็บมือ  
การเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์ต่อชิปจะทำให้ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็กลง แต่เร็วขึ้น เสถียรขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น การออกแบบชิป 2 นาโนเมตรแสดงให้เห็นความก้าวล้ำด้านการพัฒนาประสิทธิภาพของเซมิคอนดักเตอร์โดยใช้เทคโนโลยีนาโนชีทของศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม ซึ่งช่วยให้สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ห้าหมื่นล้านตัวลงบนชิปที่มีขนาดเล็กเพียงเท่าเล็บมือ ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรก และในเวลาเพียงไม่ถึงสี่ปีนับจากที่ไอบีเอ็มได้มีการประกาศไมล์สโตนในการพัฒนาชิป 5 นาโนเมตรออกมา

การมีจำนวนทรานซิสเตอร์บนชิปมากขึ้น ยังหมายถึงการที่นักออกแบบระบบประมวลผลจะมีตัวเลือกในการผนวกความสามารถของนวัตกรรมระดับ core-level ต่างๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับเวิร์คโหลดอย่างเอไอ คลาวด์คอมพิวติ้ง รวมถึงเทคโนโลยีซิเคียวริตี้และการเข้ารหัสที่บังคับใช้บนฮาร์ดแวร์ โดยไอบีเอ็มได้เริ่มผสานความสามารถใหม่นี้เข้ากับระบบอย่าง IBM POWER10 และ IBM z15 แล้ว


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ไอบีเอ็มรั้งผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐฯ ต่อเนื่อง 28 ปี โดดเด่นนวัตกรรมเอไอ ไฮบริดคลาวด์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และไซเบอร์ซิเคียวริตี้

ไอบีเอ็มเปิดเผยว่า ในปี 2563 นักวิจัยของบริษัทฯ ได้รับสิทธิบัตรสหรัฐฯ ถึง 9,130 ฉบับ ซึ่งถือว่ามากที่สุด และส่งผลให้บริษัทครองตำแหน่งผู้นำสิทธิบัตรต่อเนื่องเป็นปีที่ 28 ตอกย้ำความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมด้วยสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) คลาวด์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และซิเคียวริตี้

“เวลานี้ถือเป็นช่วงที่โลกกำลังต้องการนวัตกรรมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากกว่าครั้งไหน ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของไอบีเอ็มในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งในช่วงที่สถานการณ์เป็นปกติและในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนั้น ได้ปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้านไอทีที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าและสังคมของเราเป็นอย่างมาก” นายแดริโอ จิล รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไอบีเอ็มกล่าว

ทั้งนี้ ไอบีเอ็มเป็นผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาในหลากหลายสาขาเทคโนโลยีที่สำคัญ อาทิ

การทำให้เอไอใช้งานง่ายขึ้น ไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรเกี่ยวกับเอไอมากกว่า 2,300 ฉบับ ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่เวอร์ชวลสามารถเข้าใจและตอบสนองต่ออารมณ์ของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงเอไอที่สามารถสรุปประเด็นที่มีสำคัญต่อการตัดสินใจได้ จากหลายแหล่งข้อมูล ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและคำพูด และให้คำแนะนำผ่านภาพที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้คนสามารถทำการตัดสินใจที่ยากลำบากได้ ไอบีเอ็มเน้นการพัฒนานวัตกรรมด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ระบบออโตเมชัน อีกทั้งยังผนวกความสามารถใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยไอบีเอ็มเข้ากับไอบีเอ็ม วัตสัน อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2020 ไอบีเอ็มประกาศให้บริการ Project Debaterเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเอไอที่สามารถย่อยข้อมูลมหาศาล ก่อนที่จะประกอบถ้อยคำออกมาเป็นบทอภิปรายในหัวข้อที่กำหนด และถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจนและมีวัตถุประสงค์

การติดตั้งระบบไฮบริดคลาวด์ที่เอ็ดจ์
ไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคลาวด์และไฮบริดคลาวด์มากกว่า 3,000 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นตอบโจทย์การตัดสินใจที่ยากลำบากข้อหนึ่งที่ซีไอโอต้องเผชิญในปัจจุบัน คือการตัดสินใจว่าข้อมูลใดควรได้รับการประมวลผลผ่านระบบที่ติดตั้งอยู่ในองค์กร และข้อมูลใดควรได้รับการประมวลผลบนระบบคลาวด์ นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกระจายคอมโพเนนท์การประมวลผลข้อมูลต่างๆ ระหว่างระบบคลาวด์ เอ็ดจ์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้สามารถใช้ระบบไฮบริดคลาวด์สำหรับเวิร์คโหลดด้านไอโอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นคำแนะนำในการขับขี่ที่สร้างขึ้นโดยระบบ GPS ซึ่งมีความไวต่อเวลาแฝง เป็นต้น

เอ็ดจ์และไฮบริดคลาวด์เป็นมิติสำคัญในโร้ดแมปผลิตภัณฑ์ของไอบีเอ็ม ในปี 2563 ไอบีเอ็มได้เปิดตัวไอบีเอ็ม Edge Application Manager ซึ่งเป็นโซลูชันการจัดการอัตโนมัติเพื่อให้สามารถติดตั้งและบริหารจัดการเวิร์คโหลดเอไอ อนาไลติกส์ และไอโอที ได้จากระยะไกล เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลและมุมมองเชิงลึกแบบเรียลไทม์ในสเกลใหญ่ นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ไอบีเอ็มยังได้เปิดตัว IBM Cloud for Telecommunicationsเพื่อช่วยให้องค์กรใช้ประโยชน์จากเอ็ดจ์และ 5G โดยบริการไฮบริดแบบองค์รวมนี้ ได้ใช้ความสามารถในการเข้ารหัสที่ก้าวล้ำของไอบีเอ็ม ที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถจัดการเวิร์คโหลด mission-critical ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ตั้งแต่แกนหลักของเครือข่ายไปจนถึงเอ็ดจ์ เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้รับคุณค่าจากข้อมูลมากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการสร้างนวัตกรรมให้กับลูกค้ามากขึ้น

การวางรากฐานสำหรับการใช้งานควอนตัมอันทรงพลัง
ควอนตัมคอมพิวติ้งเป็นโฟกัสสำคัญของไอบีเอ็ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการเป็นผู้นำสิทธิบัตรควอนตัมคอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม ตัวอย่างเช่น สิทธิบัตรที่ลดความยุ่งยากในการทำแผนที่จำลองโมเลกุลควอนตัมบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาการจำลองปฏิกิริยาทางเคมีบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม เพื่อให้เห็นภาพว่ากระบวนการค้นพบวัสดุและเภสัชภัณฑ์ใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใดและอย่างไร นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังได้รับสิทธิบัตรที่ถือเป็นการวางรากฐานในการวิเคราะห์และคำนวณความเสี่ยงบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแนวคิดเหล่านี้กำลังได้รับการต่อยอดผ่านงานวิจัยที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำต่างๆ

การเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับข้อมูลที่ละเอียดอ่อนที่สุดในโลก
นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยมากกว่า 1,400 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือการเข้ารหัสแบบ fully homomorphic encryption หรือ FHE ซึ่งเป็นวิธีที่ไอบีเอ็มบุกเบิก เพื่อประมวลผลข้อมูลที่ยังคงเข้ารหัสอยู่ในระหว่างการประมวลผล ซึ่งเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับข้อมูล โดยก่อนหน้านี้ หากต้องการประมวลผลข้อมูลที่เข้ารหัส ผู้ใช้จะต้องทำการถอดรหัสข้อมูลก่อนที่จะประมวลผลและเข้ารหัสผลลัพธ์อีกครั้ง ทำให้ข้อมูลตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นในขณะที่ไม่ได้เข้ารหัส นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้จดสิทธิบัตรสำหรับเทคนิคที่ช่วยให้สามารถจัดระเบียบข้อมูลที่เข้ารหัส เพื่อช่วยให้สามารถทำการเปรียบเทียบเว็คเตอร์ FHE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลในระดับสูงสุด ไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้ ได้เปิดตัวบริการที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถทดลองใช้การเข้ารหัสแบบ fully homomorphic encryption ในเดือนธันวาคมปี 2563

ในปีที่ผ่านมา นักประดิษฐ์ไอบีเอ็มกว่า 9,000 คน จาก 54 ประเทศ ได้รับสิทธิบัตรสหรัฐ โดยตั้งแต่ปี 2463 เป็นต้นมาไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรสหรัฐมากกว่า 150,000 ฉบับ และได้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมสำคัญของโลก ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลแบบดิสก์แม่เหล็ก ไปจนถึงการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมที่มีส่วนสำคัญต่อการสรรค์สร้างนวัตกรรมของบริษัทฯ มาอย่างยาวนาน และมีความสำคัญต่อทั้งลูกค้าของไอบีเอ็มและต่อโลกใบนี้ ในเดือนเมษายน 2563 ไอบีเอ็มยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรก่อตั้งโครงการ Open COVID Pledge ซึ่งให้สิทธิ์การเข้าถึงสิทธิบัตรกว่า 80,000 ฉบับทั่วโลกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แก่ผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย ป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโคโรนาไวรัส

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นผู้นำด้านสิทธิบัตรของไอบีเอ็มได้ที่นี่

หมายเหตุข้อมูลสิทธิบัตรปี 2020 มาจาก IFI Claims Patent Service: http://www.ificlaims.com


 

Exit mobile version