Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

5 เทรนด์คลาวด์ที่ต้องจับตาปี 2566

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรจำนวนมากเริ่มหันมาใช้คลาวด์เพื่อสนับสนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและเพิ่มความรวดเร็วในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ดี บริบทในเรื่องความปลอดภัยและความจำเป็นที่จะต้องสามารถอินทิเกรทข้อมูลจากทุกสภาพแวดล้อมได้ ไม่ว่าข้อมูลจะอยู่ในองค์กร บนพับลิคคลาวด์ หรือไฮบริดคลาวด์ ทำให้วันนี้โฟกัสขององค์กรต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไป

ในวันนี้ที่องค์กรต่างๆ กำลังเตรียมพร้อมสำหรับปี 2566 ไอบีเอ็มได้เปิดเผยถึง 5 เทรนด์สำคัญของอนาคตคลาวด์ที่ต้องจับตาในปีหน้านี้ ประกอบด้วย

เทรนด์ 1: ปิดช่องว่างด้านความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ภายใต้มุมมองแบบองค์รวม

แม้ว่าองค์กรมากกว่า 77% ได้เริ่มนำแนวทางแบบไฮบริดคลาวด์มาใช้ แต่มีองค์กรน้อยกว่าหนึ่งในสี่ที่บริหารจัดการสภาพแวดล้อมคลาวด์ของตนแบบองค์รวม ซึ่งหมายความว่าองค์กรส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหา Frankencloud หรือระบบคลาวด์ที่ขาดการเชื่อมต่อกัน ทำให้แทบไม่สามารถควบคุมความปลอดภัยของระบบได้ และที่แย่ไปกว่านั้นคือองค์กรเหล่ายังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าประสบปัญหาเหล่านี้อยู่ 

ในปี 2566 องค์กรจะต้องการกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยแบบองค์รวมที่ให้มุมมองข้อมูลที่ครอบคลุมทั่วทั้งสภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ ไม่ว่าข้อมูลจะอยู่ในองค์กร บนพับลิคคลาวด์ หรือไฮบริดคลาวด์ ในขณะเดียวกัน องค์กรต่างๆ ต้องเริ่มเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะในวันที่ควอนตัมคอมพิวติ้งมีความก้าวล้ำขึ้น และอาจสามารถทำลายอัลกอริธึมการเข้ารหัสได้ จะทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อนได้อย่างรวดเร็ว โดยการเข้ารหัสแบบ quantum safe จะเป็นอีกเรื่องที่องค์กรต้องเริ่มให้ความสนใจ

เทรนด์ 2: องค์กรจะผนึกพลังเมนเฟรมและคลาวด์ในก้าวย่างโมเดิร์นไนเซชัน

ในวันนี้ที่มีการเดินหน้าสู่เส้นทางไฮบริดและมัลติคลาวด์มากขึ้น โฟกัสขององค์กรต่างๆ ได้เปลี่ยนไปสู่การพิจารณาว่าเวิร์คโหลดใดควรได้รับการจัดเก็บอยู่ที่ใด เวิร์คโหลดและแอพพลิเคชันใดเหมาะสมที่สุดสำหรับคลาวด์และส่วนไหนควรได้รับการจัดเก็บบนระบบ on-premise ในองค์กร ในปี 2566 องค์กรจำนวนมากจะตระหนักว่า สิ่งที่ต้องเลือกไม่ใช่การเลือกระหว่างเมนเฟรม หรือ คลาวด์แต่เป็นเมนเฟรม และ คลาวด์ การผสานคลาวด์และเมนเฟรมอย่างมีกลยุทธ์ จะช่วยให้องค์กรสามารถยกระดับนวัตกรรม ความเร็ว และความปลอดภัย เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จในยุคดิจิทัล

 

เทรนด์ 3: ความยั่งยืนในสภาพแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์ 

ในปี 2566 เราจะเห็นองค์กรจำนวนมากขึ้นที่เริ่มศึกษาถึงบทบาทสำคัญของไฮบริดคลาวด์ในการช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืน ผู้นำองค์กรจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั่วทั้งระบบไอที โดยที่ความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพการทำงานไม่ถูกลดทอนลง องค์กรจะพิจารณาแนวทางของไฮบริดคลาวด์ที่ใช้ประโยชน์จากระบบบนคลาวด์ ร่วมกับพลังของระบบ on-premise ในองค์กร ที่จะทำให้การรันแอพพลิเคชันต่างๆ เกิดคาร์บอนฟุตปรินท์ลดลง สอดคล้องกับเป้าหมายในการลดปริมาณการใช้พลังงานทั่วทั้งองค์กร

เทรนด์ 4: การเพิ่มขึ้นของคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง 

ในแลนด์สเคปทางธุรกิจปัจจุบัน ความสามารถในการดำเนินการวิเคราะห์และตัดสินใจอย่างรวดเร็วนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและลดความเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดอย่างอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน 

ในปีหน้า เราจะเห็นองค์กรในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินจำนวนมาก หันมาพิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับจากคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เพื่อช่วยให้สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ตัดสินใจได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็มั่นใจได้ว่าจะเป็นไปตามข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆ ที่กำกับดูแลอยู่

เทรนด์ 5: การปกป้องข้อมูลในยุคที่ภัยคุกคามแรนซัมแวร์ทั่วโลกเติบโต

ในขณะที่องค์กรต่างๆ พยายามที่ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของลูกค้าในยุคดิจิทัล พวกเขาก็จำเป็นต้องก้าวนำหน้าภัยคุกคามแรนซัมแวร์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย แม้ว่าสิ่งสำคัญคือต้องแน่ใจว่าแพลตฟอร์มและบริการต่างๆ นั้นใช้งานง่ายสำหรับลูกค้า แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือต้องแน่ใจว่าแพลตฟอร์มและบริการเหล่านั้นต้องสามารถปกป้องผู้ไม่ประสงค์ดีที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลทางการเงินที่ละเอียดอ่อนหรือต้องการเรียกค่าไถ่ข้อมูลได้ 

ในปี 2566 การหาสมดุลระหว่างการโมเดิร์นไนซ์ระบบและการปกป้องผู้บริโภคหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียจากความเสี่ยงต่างๆ จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นองค์กรจำนวนมากขึ้นที่เลือกดำเนินกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องเวิร์คโหลด mission-critical 

#IBM


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

IBM ปั้นคน ‘เอไอ-ดาต้าไซน์ส-ไฮบริดคลาวด์’ พร้อมใช้ แก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศร่วมแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอทีที่พร้อมทำงานของไทย โดยเฉพาะด้านเอไอ ดาต้าไซน์ส และไฮบริดคลาวด์ ที่มีความสำคัญต่อการรับมือดิสรัปชันทั้งในวันนี้และอนาคต ชี้การสร้างคนพร้อมใช้ที่ตอบโจทย์ตลาดคือทางออกที่ธุรกิจไทยต้องการที่สุดในเวลานี้ จับมือมหาวิทยาลัยและพันธมิตรทางธุรกิจเดินหน้าเปิดรายวิชา ยกระดับดึงการสนับสนุนจากสำนักงานใหญ่ไอบีเอ็ม เอเชียแปซิฟิค พร้อมประสานจุดแข็งของแต่ละฝ่าย นำผู้เชี่ยวชาญไอที-ธุรกิจร่วมถ่ายทอดความรู้

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว จึงเกิดเป็นโมเดล ‘สามประสาน’ ที่ดึงจุดแข็งของไอบีเอ็ม มหาวิทยาลัยต่างๆ และพันธมิตรธุรกิจ เพื่อร่วมสร้างคนไอทีพร้อมใช้ที่จะเป็นที่ต้องการของโลกธุรกิจอย่างแท้จริง โดยไอบีเอ็มจะมอบหลักสูตรเต็มภาคเรียนด้านเอไอ ดาต้าไซน์ส ไฮบริดคลาวด์ นวัตกรรมบนระบบเมนเฟรม และการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่พัฒนาขึ้นจากความเชี่ยวชาญและความเข้าใจเชิงลึกด้านเทคโนโลยีและธุรกิจของไอบีเอ็ม ร่วมด้วยการถ่ายทอดความรู้ในมุมอุตสาหกรรมและบริบทจริงของธุรกิจจากอีโคซิสเต็มของคู่ค้า แก่สถาบันการศึกษาที่เน้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงาน เบื้องต้นประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และจะมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่มเติมภายในปีนี้ โดยมีบริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นพันธมิตรที่ร่วมนำร่อง ก่อนจะขยายความร่วมมือสู่พันธมิตรทางธุรกิจรายอื่นๆ ต่อไป

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในเอเชียแปซิฟิค ที่เราได้เห็นการเดินหน้าผลักดันโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างต่อเนื่อง และมีการนำเทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างเอไอ ดาต้าไซน์ส และไฮบริดคลาวด์เข้ามาใช้ในโลกธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผู้บริโภคไทยในวงกว้างก็เปิดรับและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ดังเห็นได้จากปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 230% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา1” นางสาวแอ็กเนส เฮฟท์เบอร์เกอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอบีเอ็ม อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลี (ASEANZK) กล่าว “วันนี้การขาดคนที่มีทักษะพร้อมสำหรับการทำงานกำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยและทั่วโลก ไอบีเอ็มตระหนักถึงปัญหานี้และพร้อมที่จะดึงทรัพยากร ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงอีโคซิสเต็มของคู่ค้าธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่มีประสบการณ์ เข้าร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วนนี้ เพื่อช่วยประเทศไทยในการสร้างคนทำงานที่มีทักษะและความพร้อมอย่างแท้จริง”

“การรับมือกับปัญหาทักษะและความพร้อมของคนทำงานในแนวทางที่ยั่งยืน ย่อมไม่สามารถทำได้สำเร็จหากขาดความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในเชิงลึกทั้งจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการร่วมผลักดันจากภาคการศึกษา ดังการสนับสนุนที่ได้รับจากกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เริ่มนำร่องแล้วในวันนี้” นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติง กล่าว “ความเร่งด่วนในวันนี้ ไม่ใช่แค่การพยายามสร้างคนจำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมั่นใจด้วยว่าคนที่จบออกมาจะมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและพร้อมทำงานจริงๆ ไอบีเอ็มรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจากทุกมหาวิทยาลัยในวันนี้ รวมถึงเอ็นทีที เดต้า ที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมนำร่อง โดยเราพร้อมขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย พันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงบริษัทไอทีอื่นๆ ในการร่วมผลักดันแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในวงกว้างต่อไป”

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคในแง่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยเฉพาะในธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทค โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถสร้างเงินทุนหมุนเวียนให้ประเทศไทยได้กว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่ World Economic Forum (WEF) คาดการณ์ว่าการปิดช่องว่างด้านทักษะทั่วโลก จะสามารถเพิ่ม GDP โลกได้ 11.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในด้านการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อให้ก้าวทันความต้องการของตลาด ความเปลี่ยนแปลงทางประชากร และความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่เดินหน้าไม่หยุดยั้ง

นอกจากการมอบหลักสูตรการเรียนการสอนตลอดภาคเรียน ที่ผ่านการคัดกรองให้ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรธุรกิจไทยแล้ว ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ไอบีเอ็มและพันธมิตรยังจะจัดอบรมให้ความรู้พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองกับคณาจารย์ รวมถึงมอบเครดิตการใช้คลาวด์ฟรีเพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าไปทดลองและฝึกใช้งานเทคโนโลยีเอไอ ดาต้าไซน์ส ไฮบริดคลาวด์ หรือแม้แต่ระบบเมนเฟรม ในแบบเดียวกับที่ใช้จริงในโลกธุรกิจ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

รายงาน IBM ชี้ เอเชียโดนโจมตีไซเบอร์สูงสุด ภาคการผลิตตกเป็นเป้าสำคัญ หลังวิกฤตซัพพลายเชนเพิ่มขึ้น

IBM (NYSE: IBM) Security เปิดเผยรายงาน X-Force Threat Intelligence Index ประจำปี ชี้การเติบโตของแรนซัมแวร์และการหาประโยชน์จากช่องโหว่ในปี 2564 ได้ “จองจำ” และเพิ่มภาระให้กับซัพพลายเชนทั่วโลก โดยภาคการผลิตกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ตกเป็นเป้าหมายมากที่สุด ขณะที่การโจมตีช่องโหว่และฟิชชิ่ง เป็นสาเหตุการโจมตีทางไซเบอร์ที่พบบ่อยที่สุดในเอเชีย ในปีที่ผ่านมา X-Force สังเกตเห็นถึงการโจมตีช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับการแพตช์เพิ่มขึ้น 33% ซึ่งเป็นช่องที่อาชญากรแรนซัมแวร์อาศัยใช้ในการโจมตีมากกว่าวิธีการอื่นๆ และเป็นสาเหตุ 44% ของการโจมตีแรนซัมแวร์
รายงานของปี 2565 ยังแสดงรายละเอียดของวิธีการที่เหล่าอาชญากรแรนซัมแวร์พยายามใช้เพื่อ “สร้างรอยร้าว” ให้กับโครงสร้างหลักของซัพพลายเชนทั่วโลกผ่านการโจมตีภาคการผลิต โดยภาคการผลิตกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับการโจมตีสูงสุด (29%) ในเอเชียในปี 2564 รองจากบริการทางการเงินและประกันภัยซึ่งเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน การที่ภาคการผลิตประสบกับเหตุโจมตีด้วยแรนซัมแวร์มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่าอาชญากรหวังพึ่งผลกระทบที่จะถูกกระเพื่อมออกไปเป็นระลอกคลื่น เพราะเมื่อบริษัทหนึ่งในภาคการผลิตหยุดชะงัก ย่อมกระทบบริษัทอื่นๆ ในซัพพลายเชนและส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นหันมากดดันให้องค์กรที่โดนโจมตีต้องจ่ายยอมค่าไถ่ โดย 47% ของการโจมตีในภาคการผลิตมีสาเหตุมาจากช่องโหว่ที่องค์กรเหยื่อยังไม่ได้แก้ไขด้วยแพตช์หรือไม่สามารถแก้ไขได้ สิ่งนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการจัดการแก้ไขแพตช์ช่องโหว่
รายงาน IBM Security X-Force Threat Intelligence Index ปี 2565 เปิดเผยถึงเทรนด์และแพทเทิร์นการโจมตีที่ IBM Security ได้สังเกตและวิเคราะห์จากข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ ข้อมูลจากดาต้าพอยท์หลายพันล้านจุดจากทั่วโลกและประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายหรืออุปกรณ์เอ็นด์พอยท์ ข้อมูลการตอบสนองต่อเหตุโจมตี การแทร็คการฟิชชิ่ง ฯลฯ รวมถึงข้อมูลที่ได้จาก Intezer
ข้อมูลไฮไลต์อื่นๆ จากรายงานประจำปีนี้ อาทิ
  • แกงค์แรนซัมแวร์เกิดใหม่แม้ล่มสลาย แรนซัมแวร์ยังคงเป็นวิธีการโจมตีอันดับต้นๆ ที่พบในปี 2564 และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าจะมีความพยายามในการกำจัดแกงค์แรนซัมแวร์เพิ่มขึ้นก็ตาม จากรายงานในปี 2565 อายุเฉลี่ยของกลุ่มแรนซัมแวร์ก่อนปิดตัวลงหรือรีแบรนด์ใหม่คือ 17 เดือน
  • ช่องโหว่ ภัยน่ากลัวที่สุดของธุรกิจ X-Force เปิดเผยว่าสำหรับในเอเชีย ช่องโหว่ที่ไม่ได้รับการแก้ไขเป็นสาเหตุนำสู่ 46% ของการโจมตีในปี 2564 ตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหายากลำบากใหญ่หลวงของธุรกิจ ซึ่งก็คือการอุดแพตช์ช่องโหว่ต่างๆ
  • สัญญาณเตือนวิกฤตไซเบอร์ในระบบคลาวด์ อาชญากรไซเบอร์กำลังวางรากฐานเพื่อมุ่งเป้าสภาพแวดล้อมคลาวด์ โดยรายงานล่าสุดชี้ให้เห็นการเพิ่มขึ้นของโค้ดแรนซัมแวร์ลินุกซ์ถึง 146% และการหันไปมุ่งเป้า Docker ซึ่งน่าจะเป็นช่องที่ทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมระบบคลาวด์ได้ง่ายขึ้น
“โดยปกติแล้วอาชญากรไซเบอร์จะไล่ตามเงิน แต่วันนี้สิ่งที่พวกเขากำลังทำคือการใช้แรนซัมแวร์เพื่อเพิ่มผลตอบแทนสูงสุด” นายชาร์ลส์ เฮ็นเดอร์สัน Head of IBM X-Force กล่าว“องค์กรควรตระหนักว่าช่องโหว่ต่างๆ สามารถทำให้พวกเขาตกอยู่ในภาวะหยุดชะงัก และอาชญากรแรนซัมแวร์ก็กำลังใช้ช่องโหว่เหล่านี้เพื่อสร้างประโยชน์ให้ตน นี่เป็นความท้าทายที่ไม่ได้มีผลแค่สองทาง เพราะพื้นที่การโจมตีจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแทนที่จะดำเนินการภายใต้สมมติฐานที่ว่าทุกช่องโหว่ในสภาพแวดล้อมของตนได้รับการแก้ไขแล้ว ธุรกิจควรดำเนินการภายใต้สมมติฐานที่ว่าองค์กรตนถูกเจาะเรียบร้อยแล้ว และหันมายกระดับการจัดการช่องโหว่ด้วยกลยุทธ์ Zero Trust แทน”
กลุ่มแรนซัมแวร์ “เก้าชีวิต” 
เพื่อตอบสนองต่อการเดินหน้าเร่งกำจัดกลุ่มแรนซัมแวร์ของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย กลุ่มแรนซัมแวร์อาจเริ่มใช้แผน disaster recovery การวิเคราะห์ของ X-Force ชี้ให้เห็นว่าอายุเฉลี่ยของกลุ่มแรนซัมแวร์คือ 17 เดือน ก่อนที่จะปิดตัวลงหรือรีแบรนด์ใหม่ ยกตัวอย่างเช่น REvil ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อเหตุโจมตีถึง 37% ของเหตุแรนซัมแวร์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปี 2564 สามารถอยู่มาได้ยาวนานถึงสี่ปีโดยอาศัยการรีแบรนด์ตัวเอง สะท้อนความเป็นไปได้ที่ว่ากลุ่มเหล่านี้จะกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าจะถูกกำจัดลงโดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ แล้วก็ตามในช่วงกลางปี 2564
แม้ว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะสามารถชะลอการโจมตีของแรนซัมแวร์ลงได้ และยังส่งผลให้กลุ่มแรนซัมแวร์ต้องจัดหาเงินทุนสำหรับการรีแบรนด์หรือสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งสำคัญคือองค์กรต้องปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานของตนให้ทันสมัย เพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลในสภาพแวดล้อมที่ให้การปกป้องข้อมูล ไม่ว่าจะบนระบบในองค์กรหรือบนคลาวด์ การทำเช่นนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดการ ควบคุม และปกป้องเวิร์คโหลดของตน และขจัดผู้คุกคามที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่รั่ว โดยทำให้การเข้าถึงข้อมูลในสภาพแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์เป็นไปได้ยากขึ้น
ช่องโหว่กลายเป็นวิกฤตสำหรับบางองค์กร
รายงานของ X-Force เน้นถึงจำนวนช่องโหว่ที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2564 โดยช่องโหว่ในระบบควบคุมอุตสาหกรรม (Industrial Control Systems: ICS) เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมีการเปิดเผยช่องโหว่มากกว่า 146,000 รายการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ องค์กรต่างๆ ได้เร่งสปีดเส้นทางดิจิทัลของตน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นผลมาจากแรงหนุนจากการระบาดใหญ่ จึงคาดการณ์ได้ว่าความท้าทายในการจัดการช่องโหว่ในปัจจุบันยังไม่ถึงจุดสูงสุด
ในขณะเดียวกัน การแสวงหาประโยชน์ด้วยการโจมตีช่องโหว่ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดย X-Force พบการโจมตีในลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า พบช่องโหว่ที่ถูกโจมตีมากที่สุดในปี 2564 จำนวนสองจุด บนแอพพลิเคชันองค์กรที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย (Microsoft Exchange, Apache Log4J Library) เมื่อโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลขยายตัว องค์กรจะเผชิญความท้าทายในการจัดการช่องโหว่มากขึ้น การตรวจสอบและการดูแลให้ธุรกิจปฏิบัติอย่างสอดคล้องต่อกฎข้อบังคับต่างๆ จะกลายเป็นงานล้นมือขององค์กร สิ่งนี้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามสมมติฐานที่ว่าองค์กรของตนได้ตกอยู่ในความเสี่ยงแล้ว และต้องนำกลยุทธ์แบบ Zero Trust เข้ามาช่วยปกป้องสถาปัตยกรรมของตนเอง
ผู้โจมตีมุ่งเป้าไปที่จุดร่วมระหว่างคลาวด์
การสังเกตโดย X-Force ในปี 2564 พบว่าผู้โจมตีเปลี่ยนเป้าหมายไปที่ container อย่าง Docker ซึ่งเป็นคอนเทนเนอร์รันไทม์เอนจินที่โดดเด่นที่สุดตามข้อมูลจาก RedHat ผู้โจมตีตระหนักดีว่าคอนเทนเนอร์เป็นพื้นที่ร่วมในหลายองค์กร ดังนั้นจึงเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อเพิ่ม ROI ของตน ด้วยมัลแวร์ที่สามารถทำงานข้ามแพลตฟอร์มและสามารถใช้เป็นจุดต่อไปยังคอมโพเนนท์อื่นๆ บนระบบโครงสร้างพื้นฐานของเหยื่
รายงานดังกล่าว ยังเตือนว่าเหล่าอาชญากรได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องในมัลแวร์ Linux ซึ่งเรื่องนี้ไม่ปรากฎในการสังเกตการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ โดยข้อมูลจาก Intezer ชี้ให้เห็นการเพิ่มขึ้นของแรนซัมแวร์ Linux ที่มีโค้ดใหม่ถึง 146% วันนี้อาชญากรยังคงมุ่งมั่นแสวงหาวิธีในการสเกลการโจมตีบนสภาพแวดล้อมคลาวด์ ธุรกิจต่างๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่ม visibility ในโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮบริดของตน สภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ที่สร้างขึ้นบนมาตรฐานที่เอื้อต่อการทำงานข้ามระบบและมาตรฐานแบบเปิด จะช่วยให้องค์กรสามารถตรวจจับจุดบอด เร่งสปีด และตอบสนองเหตุซิเคียวริตี้ได้โดยอัตโนมัติ
ข้อค้นพบเพิ่มเติมจากรายงานปี 2565 ยังคลอบคลุมถึง
  • เอเชียเป้าโจมตีสูงสุด จากการสังเกตของไอบีเอ็ม เอเชียประสบกับการโจมตีมากกว่า 1ใน 4 ของเหตุที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2564 ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่น โดยธุรกิจบริการทางการเงินและการผลิต ประสบกับเหตุโจมตีนับเป็นเกือบ 60% ของเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดในเอเชีย
  • การใช้โทรศัพท์ร่วมกับฟิชชิ่ง ฟิชชิ่งเป็นสาเหตุการโจมตีทางไซเบอร์ที่พบบ่อยที่สุดในปี2564 ในการทดสอบการเจาะระบบของ X-Force Red อัตราการคลิกในแคมเปญฟิชชิ่งเพิ่มขึ้นสามเท่าเมื่อทำร่วมกับการโทรศัพท์
รายงานฉบับนี้ นำเสนอข้อมูลที่ไอบีเอ็มรวบรวมจากทั่วโลกในปี 2564 เพื่อมอบเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแลนด์สเคปของภัยคุกคามทั่วโลก และเป็นมุมมองให้ผู้เชี่ยวชาญด้านซิเคียวริตี้ได้ทราบถึงภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตนมากที่สุด โดยสามารถดาวน์โหลด IBM Security X-Force Threat Intelligence Index ปี 2565 ฉบับเต็มได้ที่ https://www.ibm.com/security/data-breach/threat-intelligence/
Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ไอบีเอ็มเปิดคอร์สฟรี ไอที-ทักษะแห่งอนาคต จัดเต็มเอไอ วิทยาศาสตร์ข้อมูล คลาวด์ ซิเคียวริตี้ ควอนตัมคอมพิวติ้ง ฯลฯ

ความยากลำบากในการหาคนที่มีทักษะเหมาะสมกับงานคือปัญหาที่นายจ้างทั่วโลกกำลังเผชิญ และเรื่องนี้กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ จากข้อมูลของ World Economic Forum (WEF) การปิดช่องว่างด้านทักษะทั่วโลก จะสามารถเพิ่ม GDP โลกได้ 11.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2571 และคาดว่าภายในปีนี้ ทักษะทางเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตำแหน่งงานเกือบครึ่งหนึ่ง

เพื่อให้ก้าวทันความต้องการของตลาด ความเปลี่ยนแปลงทางประชากร และความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่เดินหน้าไม่หยุดยั้ง ไอบีเอ็มจึงได้เปิดคอร์สเรียนออนไลน์กว่า 1,800 คอร์ส ให้ผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะหรือเพิ่มพูนความรู้ในแขนงอื่นๆ สามารถเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีและทักษะการทำงานที่จำเป็นได้ด้วยตัวเอง พร้อมแบดจ์หรือประกาศนียบัตรออนไลน์เมื่อเรียนจบ

ตัวอย่างของคอร์สเรียนใน IBM SkillsBuild ที่จะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านไอทีและทักษะการทำงานแห่งอนาคต อาทิ

  • Emerging tech ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบของงานในอนาคต
  • AI Foundations – หลักการเอไอและแมชชีนเลิร์นนิงเบื้องต้น 
  • Data science – เรียนรู้แนวทางสำหรับองค์กรในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ
  • Cloud & quantum computing – ก้าวย่างต่อไปของ Data science สู่การแก้ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น ได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  • Cybersecurity fundamentals – แนวทางในการต่อกรกับแฮคเกอร์เพื่อปกป้องข้อมูลองค์กร
  • Professional workplace skills – ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในองค์กร เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น 
  • Explorations into mindfulness – ไขปัญหาเหตุใดเรื่องของจิตใจและสติจึงสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพในที่ทำงาน 
  • Preparing for your first job – ทักษะเพื่อการปรับตัวเข้ากับการทำงาน เช่น การบริหารจัดการเวลา เป็นต้น

ดูข้อมูลคอร์สฟรีเพิ่มเติมที่ https://skillsbuild.org


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ไอบีเอ็มมุ่งเป้าแรนซัมแวร์และภัยไซเบอร์ ส่ง Flash Storage รุ่นใหม่ช่วยองค์กรรับมือ-เร่งกู้ข้อมูล

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) เปิดตัว IBM FlashSystem Cyber Vault เพื่อช่วยองค์กรตรวจจับแรนซัมแวร์และการโจมตีทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ พร้อมกู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วหลังการถูกโจมตี พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัวสตอเรจ FlashSystem โมเดลใหม่ บนพื้นฐานของ IBM Spectrum Virtualize ที่สร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการดำเนินงานแบบหนึ่งเดียวและมีการทำงานอย่างคงที่สม่ำเสมอ ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นฟื้นตัวเร็วและประสิทธิภาพการทำงานของแอพพลิเคชันภายใต้สภาพแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์
จากผลการศึกษา IBM Cyber Resilient Organization 46% ของกลุ่มที่สำรวจระบุว่าเคยถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา1 โดยการโจมตีทางไซเบอร์ที่เติบโตต่อเนื่อง และระยะเวลาเฉลี่ยในการกู้คืนระบบที่นานหลายวันหรือบางครั้งหลายสัปดาห์2 ทำให้คาดเดาไม่ได้ว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจและชื่อเสียงองค์กรนั้นจะมากแค่ไหน แม้ว่าองค์กรจะมีกลยุทธ์ในการป้องกันและตรวจจับอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องพร้อมที่จะกู้คืนระบบปฏิบัติการในเวลาอันสั้นเพื่อลดการสูญเสียของธุรกิจและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ตอบโจทย์ความจำเป็นด้าน Cyber Resiliency
IBM FlashSystem Cyber Vault ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการกู้คืนระบบหลังจากที่ถูกโจมตี และลดเวลาโดยรวมในการกู้คืนระบบลง3 โดยระบบจะมอนิเตอร์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อเร่งการฟื้นระบบในจุดที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเรียกคืนข้อมูลได้ ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถกู้คืนสำเนาข้อมูลทั้งหมดได้เร็วขึ้
“วันนี้องค์กรอยู่ท่ามกลางภัยคุกคามไซเบอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการคาดการณ์และเตรียมพร้อมต่อการโจมตีทางไซเบอร์ นอกเหนือจากการพยายามเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจในการดำเนินงานในแต่ละวัน” นายเดนิส เคนเนลลี กรรมการผู้จัดการของ IBM Storage กล่าวว่า “IBM FlashSystem Cyber Vault และสตอเรจ FlashSystem ที่ก้าวล้ำที่สุดของเราได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะให้ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับที่จำเป็นสำหรับองค์กรที่ใช้ไฮบริดคลาวด์”
ในสถานการณ์ท้าทายด้านความปลอดภัยในปัจจุบัน องค์กรต่างมองหาแนวทางที่ครอบคลุมเพื่อสร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวในการต่อกรกับภัยไซเบอร์ ด้วยโซลูชันที่ทั้งสามารถป้องกันการโจมตี รวมถึงช่วยกู้ข้อมูลหลังถูกโจมตีได้ด้วย โซลูชัน IBM FlashSystem Cyber Vault จึงเป็นส่วนเสริมให้กับ IBM Safeguarded Copy ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ IBM FlashSystem โดย FlashSystem Cyber Vault จะสามารถสแกนสำเนาข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นโดย Safeguarded Copy ได้โดยอัตโนมัติ เพื่อค้นหาสัญญาณความเสียหายของข้อมูลที่เกิดจากมัลแวร์หรือแรนซัมแวร์ การสแกนนี้มีวัตถุประสงค์สองประการ หนึ่งคือสามารถช่วยระบุการโจมตีโดยแรนซัมแวร์แบบคลาสสิกได้อย่างรวดเร็วเมื่อเริ่มมีการโจมตีเกิดขึ้น และสองคือได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยระบุว่าสำเนาข้อมูลชุดใดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการโจมตี เหล่านี้จะช่วยให้องค์กรรสามารถตรวจพบได้อย่างรวดเร็วว่ามีการโจมตีเกิดขึ้น และกู้คืนสำเนาข้อมูลที่สมบูรณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
“เห็นได้ชัดว่า Cyber Resilience เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับลูกค้าของเรา” นายเดวิด แชนเซลเลอร์ ผู้อำนวยการ Enterprise Systems ของ Gulf Business Machinesซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของไอบีเอ็ม กล่าว “ลูกค้าของเรากำลังมองหาวิธีในการเตรียมตัวที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้พร้อมสำหรับการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น และ IBM Cyber Vault ก็เป็นตัวเลือกในอุดมคติ เพราะผลิตภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่ได้รับการออกแบบมาให้เสริมศักยภาพของFlashSystem ได้อย่างอย่างง่ายดาย แต่ยังสามารถช่วยลดเวลาการฟื้นระบบ และนี่คือสิ่งที่ทีมงานด้าน Cyber Resilience ต่างต้องการเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้”
IBM FlashSystem สมรรถนะสูงที่รองรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ Multi-Engine ขนาดใหญ่ และติดสปีดให้กับโครงการไฮบริดคลาวด์
IBM FlashSystem มอบประสิทธิภาพและความจุที่สเกลเพิ่มได้ (1PBe ต่อแร็ค) จึงตอบสนองความต้องการด้านสมรรถนะสำหรับเวิร์คโหลดการปฏิบัติงานที่สำคัญโดยไม่กระทบต่อเป้าหมายด้านประสิทธิภาพ IBM FlashSystem ได้รับการออกแบบบนสถาปัตยกรรมหนึ่งเดียวที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกัน จึงเป็นแพลตฟอร์มสตอเรจแบบไฮบริดคลาวด์ในแบบ edge-to-core-to-cloud ให้กับลูกค้าได้
ตอบโจทย์ความต้องการด้านประสิทธิภาพของเวิร์คโหลดที่มีกรอบด้านเวลา
การใช้ตัวควบคุมมัลติคอร์และสถาปัตยกรรมสตอเรจเชิงคำนวณของพอร์ตโฟลิโอ IBM FlashSystem เป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของปริมาณงานที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ในช่วงเวลาหนึ่ง (throughput) และเวลาแฝง พร้อมกับมอบความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวระดับองค์กรสำหรับเวิร์คโหลดการปฏิบัติงานที่สำคัญ
  • ลดข้อจำกัดด้านทรัพยากรของดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยการผนวกรวมเวิร์คโหลด: Flash System 9500 สร้างขึ้นมาสำหรับองค์กรที่กำลังเติบโตซึ่งต้องการความสามารถและความยืดหยุ่นสูงสุด พร้อมนำเสนอประสิทธิภาพสูงสุดสองเท่า4 รวมถึงการเชื่อมต่อ แฟลชไดรฟ์ NVMe และแคชของFlashSystem 9200 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุด 50% (3TB) โดยรองรับความจุที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 4.5PB ต่อตู้ควบคุมหนึ่งตู้5,6 
  • ย้ายไปยังไฮบริดคลาวด์อย่างมีวัตถุประสงค์: เมื่อใช้ IBM’s Spectrum Virtualize และ Spectrum Virtualize for Public Cloud ลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากสภาพแวดล้อมการดำเนินงานของสตอเรจของไอบีเอ็ม ที่มีชุดบริการข้อมูลและความสามารถในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกันด้วยโมเดลการใช้งานที่เหมือนคลาวด์ ที่เอ็ดจ์ของดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งในระบบขององค์กรเอง และบนแพลตฟอร์มคลาวด์สาธารณะ นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถนำสตอเรจแบบเลกาซีดั้งเดิมจากเวนเดอร์รายอื่นมาใช้ใหม่ โดยเวอร์ชวลไลซ์หลัง SAN Volume Controller ของไอบีเอ็ม เพื่อขยายบริการข้อมูลและการดำเนินงานเดียวกันไปยังระบบไอทีที่ได้ลงทุนไว้แล้ว
  • รักษาประสิทธิภาพของดาต้าเซ็นเตอร์: ธุรกิจในวันนี้กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่บีบให้ต้องออโตเมทส่วนงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยสภาพแวดล้อมการทำงานหนึ่งเดียวของ IBM Spectrum Virtualize ที่สตอเรจ IBM Flash System ใช้เป็นรากฐานนั้น สามารถช่วยทำให้การดำเนินงานง่ายขึ้น และทำให้การจัดการข้อมูลเป็นไปแบบอัตโนมัติ
การสนับสนุนทางเทคนิคที่ง่ายและเป็นมาตรฐาน
IBM Storage Expert Care นำเสนอบริการที่ยืดหยุ่นและปรับเป็นพิเศษสำหรับการบำรุงรักษาIBM Flash System โดยลูกค้าสามารถเลือกระดับ Basic, Advanced หรือ Premium ณ​ ตอนที่ซื้อ IBM Flash System 7300 หรือ 9500 ซึ่งจะช่วยลดปัญหาจากช่วงเวลาที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าและขณะเดียวกันก็ปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้เหมาะสม ช่วยให้เจ้าหน้าที่ไอทีหันไปมุ่งเน้นที่ภารกิจสำคัญอื่นๆ ได้แทน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://www.ibm.com/storage
Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

5 เทรนด์ AI ที่ต้องจับตาปี 2565

1. AI จะต่อยอดศักยภาพ 5G  
5G มีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ตั้งแต่การสตรีมมิ่ง การสื่อสาร ไปจนถึงเรื่องของหุ่นยนต์ก้าวล้ำและงานสายการผลิต
5G เป็นจุดที่พลังสองอย่างมาบรรจบกัน คือการสื่อสารภายใต้แบนด์วิดธ์สูงที่มีความเสถียร และการกระจายพลังคอมพิวติ้งอย่างรวดเร็วทั่วทั้งเครือข่าย
ความสลับซับซ้อนของระบบเครือข่ายโทรคมนาคมในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดการและควบคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เห็นได้ชัดว่าเครื่องมือ ระบบ และวิธีการจัดการเครือข่ายในปัจจุบันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ระบบเครือข่ายในอนาคต
เพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อระบบ 5G ทั่วโลก ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร (CSP) จะหันมาใช้ระบบออโตเมชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI และ network orchestration เพื่อช่วยเสริมการควบคุมและบริหารจัดการเครือข่าย อันจะนำสู่การมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นวัตกรรมอย่างการแบ่งส่วนเครือข่าย จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดระดับการให้บริการสำหรับอุปกรณ์แต่ละอย่างได้เหมาะสมกับการใช้งานในเครือข่ายของตน ตัวอย่างเช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสามารถใช้เครือข่ายที่มีเวลาแฝงต่ำมากได้ ในขณะที่กล้องวิดีโอHD ต้องการแบนด์วิดธ์ที่สูง
2. AI จะสร้างอนาคตที่เชื่อถือได้และยั่งยืน
ในทางหนึ่ง ผู้บริโภค หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล และผู้ถือหุ้น ต่างกำลังกดดันให้บริษัทต่างๆ ทำผลกำไรภายใต้ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และในอีกทาง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศอันเลวร้ายก็กำลังสร้างแรงกดดันให้กับระบบซัพพลายเชนและการดำเนินธุรกิจ ความตึงเครียดเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และ AI จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจผ่านเกณฑ์ชี้วัดด้านความยั่งยืน ทั้งในแง่การวัดผล การรวบรวมข้อมูล และการทำบัญชีคาร์บอน รวมถึงการทำให้การคาดการณ์และความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวของระบบซัพพลายเชนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
42% ของ CIO ที่สำรวจในการศึกษา CIO Study ล่าสุด มองว่า AI และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ จะส่งผลต่อความยั่งยืนมากที่สุดในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยกระทบอื่นๆ ที่สำรวจ ทั้งระบบบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ที่ช่วยลดความจำเป็นในการเปลี่ยนชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ระบบ AI ที่วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของพายุและไฟป่า และอื่นๆ อีกมากมาย จะเข้ามีบทบาทสำคัญในการช่วยองค์กรรับมือกับเหตุสภาพอากาศเลวร้ายที่จะเพิ่มขึ้น
บริษัทต่างๆ จะหันมาให้ความสนใจกับการลดปัญหาการหยุดชะงักของซัพพลายเชนมากขึ้น โดยจะลงทุนในระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อทำให้ระบบพื้นฐานที่รองรับระบบคอมเมิร์ซต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลจาเซ็นเซอร์,แท็ก RFID, มิเตอร์, แอคทูเอเตอร์, GPS ฯลฯ จะช่วยให้ระบบ inventory สามารถตรวจสอบสินค้าคงคลังได้เอง ขณะที่ตู้คอนเทนเนอร์จะสามารถตรวจดูของที่อยู่ด้านในได้ และพาเลทต่างๆ ก็จะรายงานแจ้งได้เองหากว่าถูกวางผิดที่
3. ธุรกิจจะลดต้นทุน โดยใช้ AI ช่วยคาดการณ์ปัญหาระบบไอทีก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นจะเกิด
ในปี 2564 ผู้บริหารด้านไอที ในฐานะผู้ดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขององค์กร มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการการทำงานระยะไกลของพนักงานและรับมือกับปัญหาด้านซิเคียวริตี้รูปแบบใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากแอพพลิเคชันยุคใหม่ รวมถึงการมอนิเตอร์โซลูชันและการใช้ช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นของพนักงานและผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้ทำให้องค์กรเริ่มมองถึงการนำออโตเมชันมาใช้มากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสนใจในการนำ AI เข้ามาช่วยคาดการณ์ปัญหาของระบบไอทีมากขึ้น อันนำสู่เทคโนโลยีที่เรียกว่า AIOps
AIOps ช่วยให้ฝ่ายไอทีขององค์กรสามารถบริหารจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความซับซ้อนได้ในเชิงรุก และอาจช่วยให้องค์กรรักษาเงินหลักล้านที่ต้องสูญเสียหากเกิดปัญหาขึ้น ในปี 2565 AIOps จะช่วยให้ทีมไอทีสามารถวินิจฉัยปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมั่นใจ มากกว่าการทำแบบแมนวลแบบเดิมที่ทีมต้องเสียเวลามากมาย ซึ่งจะทำให้ทีมไอทีสามารถหันมามุ่งเน้นที่งานที่สร้างคุณค่ามากขึ้นได้ นอกจากนี้ AIOps ยังจะช่วยให้ทีมไอทีสามารถระบุแพทเทิร์นของข้อมูลเพื่อบ่งชี้และคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้สามารถทราบปัญหาระบบไอทีล่วงหน้าก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นจะเกิดขึ้น
4. งาน Customer Care จะใช้ AI เพื่อให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคลยิ่งขึ้น
ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปีที่ผ่านมา ผู้ช่วยเวอร์ชวลได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กรขนาดใหญ่และหน่วยงานภาครัฐ ไม่เพียงเฉพาะในแง่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่เรายังเริ่มเห็นการผสานรวมออโตเมชันเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้ผู้ช่วยเวอร์ชวลเหล่านี้สามารถจัดการเวิร์คโฟลว์และงานต่างๆ ได้จนเสร็จสมบูรณ์ ดังตัวอย่างของการจองนัดหมายเพื่อรับวัคซีน เป็นต้น ในปี 2565 ผู้บริโภคจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับร้านค้าและผู้ให้บริการที่พวกเขาชื่นชอบมากขึ้น ในลักษณะที่มีความเฉพาะบุคคลมากขึ้น
อีกสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ AI เข้ามามีบทบาทในงานดูแลลูกค้ามากขึ้น คือการที่ AI สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความครอบคลุมได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากบริษัทและหน่วยงานภาครัฐเริ่มหันมาใช้สถาปัตยกรรม data fabric เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีมากขึ้น
5. การโฟกัสเรื่องซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง 
ก่อนที่จะสามารถนำ AI เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้ บริษัทและองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความไว้วางใจของผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในหลายมิติ ตั้งแต่ความสามารถในการอธิบายที่มาของการตัดสินใจของ AI ได้ ไปจนถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาจะได้รับการปกป้องจากภัยไซเบอร์ต่างๆ ในขณะที่บริษัทและหน่วยงานภาครัฐยังคงเดินหน้าลงทุนในด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง AI เองก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และตอบสนองต่อภัยคุกคาม ภายใต้ก้าวย่างสู่แนวทาง “zero trust” ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น

# # #

*ข้อมูล 5 เทรนด์ AI ที่ต้องจับตาในปี 2565 โดยสุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ผลสำรวจไอบีเอ็มชี้ การใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและอีเวนท์มีศักยภาพฟื้นตัว จุดจบของฤดูกาลการจับจ่ายใช้สอยแบบเดิม

การกลับมาใช้ชีวิตในสังคมตามปกติของผู้บริโภคที่สำรวจจำนวนมาก ล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากความล่าช้าของการฉีดวัคซีนและมาตรการด้านความปลอดภัย

กรุงเทพฯ​ ประเทศไทย – 2 พ.ย. 2564: ผลการศึกษาผู้บริโภคทั่วโลกล่าสุด ที่เผยแพร่โดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม หรือ IBV พบกลุ่มที่สำรวจรู้สึกรื่นเริงใจกับเทศกาลวันหยุดปี 2564 มากกว่าปีที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อย และกำลังจัดสรรงบประมาณที่สูงขึ้นสำหรับการเดินทางและการทำกิจกรรมในประเทศ อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 กำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางการกลับมาจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลวันหยุด

กลุ่มที่สำรวจเกือบสามในสี่รายกล่าวว่า พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โดยสามในห้ารายรู้สึกกังวลที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัว ขณะที่กลุ่มที่สำรวจมากกว่าครึ่งรู้สึกเป็นกังวลที่จะใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยงบจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดยังคงต่ำกว่าปี 2562 ถึงร้อยละ 13 อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคที่สำรวจร้อยละ 87 ยังระบุว่าพวกเขาอาจจับจ่ายซื้อของในช่วงวันหยุดปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นหกจุดเมื่อเทียบกับปี 2563

“ผู้นำอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุด อาจเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา และในแบบที่ลูกค้าต้องการ” นายโจนาธาน ไรท์ หุ้นส่วนผู้จัดการและรองประธานระดับโลกด้านการให้คำปรึกษาด้านซัพพลายเชนของ IBM Consulting กล่าว “จากผลการศึกษา กลุ่มที่สำรวจยังคงเรียกร้องให้มีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยต่อไปสำหรับกิจกรรมที่ต้องสัมผัสกัน รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดรูปแบบใหม่ๆ เช่น การรับสินค้าแบบไม่มีการสัมผัส การจัดส่งสินค้าภายในวันเดียวกัน การจัดส่งจากร้านค้า การซื้อของออนไลน์ การรับของที่ร้าน เป็นต้น การนำปัญญาประดิษฐ์ ระบบออโตเมชันอัจฉริยะ และอนาไลติกส์เข้ามาใช้ทั่วทั้งองค์กร จะทำให้ธุรกิจปรับตัวได้มากขึ้น สามารถตอบสนอง ปรับเปลี่ยน และสเกลได้อย่างรวดเร็ว เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญเมื่อถึงเวลาของการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลวันหยุดยาว”

ส่วนหนึ่งของผลการสำรวจที่น่าสนใจ ยังมีดังนี้

คนเริ่มจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลวันหยุดเร็วขึ้น

บรรดานักช็อปช่วงเทศกาลวันหยุดกังวลเกี่ยวกับปัญหาสินค้าขาดสต็อก โดยกลุ่มที่สำรวจมากกว่าหนึ่งในสี่รายได้เริ่มช็อปตั้งแต่เดือนกันยายนหรือก่อนหน้านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถซื้อทุกอย่างที่ต้องการได้ครบ กลุ่มที่สำรวจยังวางแผนที่จะเริ่มซื้อของกันในเดือนตุลาคม ซึ่งมีจำนวนมากกว่าถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเพียงไม่ถึงครึ่งของผู้บริโภคที่สำรวจ วางแผนที่จะเริ่มต้นการซื้อของช่วงก่อนเริ่มต้นเทศกาล “Black Friday” ในสหรัฐอเมริกา

การช็อปปิ้งออนไลน์ยังครองแชมป์

การช็อปปิ้งออนไลน์ยังมีแนวโน้มที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำในช่วงเทศกาลวันหยุดนี้ สถิติดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตเมื่อเทียบกับข้อมูลจาก IBV ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่พบว่าร้อยละ 73 ของนักช็อปที่สำรวจมีความต้องการและคาดว่าจะกลับมาใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน แต่ในท้ายที่สุด มีผู้บริโภคที่สำรวจเพียงร้อยละ 36 ที่กล่าวว่าพวกเขาวางแผนซื้อสินค้าในร้านค้าจริง โดยร้อยละ 43 วางแผนที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องด้วยความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่และสายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19

การเดินทางในช่วงวันหยุด รวมถึงประสบการณ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาจฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 2564

กลุ่มผู้บริโภคที่สำรวจคาดการณ์ว่าการเดินทางจะเป็นกิจกรรมที่ใช้สัดส่วนงบประมาณสำหรับเทศกาลวันหยุดในภาพรวมมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.2 จากร้อยละ 5.7 ในปี 2563 แม้ว่าจะยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าปี 2562 แต่กลุ่มที่สำรวจเกือบร้อยละ 40 บอกว่าพวกเขามีแผนที่จะเดินทางไปพบครอบครัวและบรรดาเพื่อนๆ ในช่วงวันหยุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28 ในปีที่แล้ว งบสำหรับการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มปรับขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีการใช้งบประมาณด้านที่พักและการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศสูงกว่างบประมาณการเดินทางทางอากาศและที่พักอาศัยภายในประเทศ การออกไปเที่ยวและกิจกรรมในท้องถิ่น การออกนอกบ้านและกิจกรรมในท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหารนอกบ้าน อาจเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 โดยผู้บริโภคที่สำรวจวางแผนที่จะใช้จ่ายในเรื่องนี้มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 30

ผู้บริโภคยังคงห่วงเรื่องความยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลวันหยุดนี้ โดยผู้บริโภคสี่ในห้ารายที่สำรวจกล่าวว่าพวกเขาอาจพิจารณาถึงความยั่งยืนในระดับหนึ่ง เวลาที่เลือกซื้อของในช่วงวันหยุดปีนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของปีที่แล้ว ที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้วางแผนที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนด้วยการหลีกเลี่ยงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหันมาซื้อของในท้องถิ่น หรือซื้อผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น หรือที่ผลิตในท้องถิ่นให้มากขึ้น 

ดูผลการศึกษาฉบับเต็มได้ที่ https://www.ibm.com/thought-leadership/institute-business-value/report/2021-holiday-shopping-travel-outlook 

เกี่ยวกับสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม
สถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ให้ข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจที่เชื่อถือได้ภายใต้จุดยืนในการผสานรวมเทคโนโลยีและธุรกิจเข้าด้วยกัน โดยรวบรวมความเชี่ยวชาญจากบรรดานักคิดในอุตสาหกรรมต่างๆ นักวิชาการแถวหน้า และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ พร้อมด้วยข้อมูลจากการวิจัยและผลการปฏิบัติงานทั่วโลก thought leadership ของ IBV ครอบคลุมถึงข้อมูลเจาะลึกจากการวิจัย การเปรียบเทียบมาตรฐานและผลการปฏิบัติงาน รวมถึงการสร้างแผนภาพข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาคต่างๆ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ติดตาม @IBMIBV บน Twitter และรับข้อมูลเชิงลึกล่าสุดได้ทางอีเมล โดยไปที่ www.ibm.com/ibv


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

‘ไอบีเอ็ม’ จับมือ ‘แอคคลิวิส’ ขยาย IBM Cloud Satellite ทั่วทั้งเอเชีย เร่งเครื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล

นนี้ แอคคลิวิส เทคโนโลยี แอนด์โซลูชันส์ หรือแอคคลิวิส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซิติก เทเลคอม อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (1883: HK) ที่จดทะเบียนในฮ่องกง และไอบีเอ็ม (NYSE: IBM)  ได้ประกาศความร่วมมือในการนำ IBM Cloud Satellite มาใช้ทั่วทั้งเอเชีย โดยแอคคลิวิสและไอบีเอ็มจะร่วมมือกันนำศักยภาพของไฮบริดคลาวด์ เข้าช่วยให้องค์กรโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ให้สามารถเร่งสร้างนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมช่วยลูกค้าให้ดำเนินงานภายใต้อธิปไตยทางข้อมูลและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่กำกับดูแลอยู่
ในขณะที่สถาบันการเงินต่างเดินหน้าขยายบริการเพื่อสนับสนุนลูกค้าและก้าวข้ามดิสรัปชันอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง การตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างเข้มงวดก็ได้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อปกป้องข้อมูลผู้บริโภคและกำกับให้เป็นไปตามกฎระเบียบด้านอธิปไตยข้อมูล ความจำเป็นในการประมวลผลข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ณ จุดที่ข้อมูลเกิดขึ้น โดยไม่ต้องย้ายข้อมูลข้ามพรมแดน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นตอนที่ใช้ทั่วโลก เหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ต่อจากนี้ไป แอคคลิวิสจะสามารถใช้ IBM Cloud Satelliteเพื่อขยายการให้บริการต่างๆ อาทิ IBM Watson ไปสู่กลุ่มลูกค้าดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อนำเครื่องมือการวิเคราะห์ขั้นสูงเข้าไปยังจุดที่ข้อมูลเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจค้าปลีกจะสามารถใช้บริการ IBM Watson ผ่าน IBM Cloud Satellite ที่จุดประมวลผลเอ็ดจ์ในร้านค้าต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากหน้าร้าน และนำมาใช้ในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง รวมถึงการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ได้อย่างทันทีในเวลาที่ลูกค้าต้องการ
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ไอบีเอ็มจะใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลระดับภูมิภาคของแอคคลิวิสในฮ่องกง สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อโฮสต์และจัดการข้อมูลให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับด้านข้อมูลที่กำกับดูแลอยู่
ปัจจุบันธุรกิจฟินเทคแห่งหนึ่งของอินโดนีเซียได้เริ่มนำ IBM Cloud Satellite เข้าไปช่วยในการผนวกรวมเครื่องมือพอร์ทัลการบริหารจัดการและกระบวนการต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยระบบดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแซนด์บ็อกซ์ให้กับอุตสาหกรรมฟินเทคในระดับภูมิภาค ช่วยให้สามารถย้ายเวิร์คโหลดที่เอ็ดจ์และส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถให้บริการที่คุ้มค่าแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัญหาจากการไม่ปฏิบัติมาตรฐานตามกฎข้อบังคับต่างๆ ที่มักทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
ความร่วมมือครั้งนี้จะรวมจุดแข็งของไอบีเอ็มในการให้บริการไฮบริดคลาวด์แบบเปิดที่ปลอดภัยสำหรับองค์กร เข้ากับเครือข่ายดาต้าเซ็นเตอร์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วทั้งภูมิภาคของแอคคลิวิส นำสู่บริการคลาวด์แบบเปิดที่มีความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าในภูมิภาค ภายใต้การผนึกศักยภาพของ IBM Cloud Satellite เข้ากับเครือข่ายดาต้าเซ็นเตอร์จำนวนมากของแอคคลิวิส
IBM Cloud Satellite ช่วยให้องค์กรสามารถใช้บริการ IBM Cloud ได้อย่างปลอดภัยไม่ว่าข้อมูลจะอยู่บนสภาพแวดล้อมแบบใด ทั้งที่เอ็ดจ์ ภายในองค์กร หรือกระจายอยู่บนคลาวด์สาธารณะหลายแห่ง โดยระบบได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการคลาวด์ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยในทุกสภาพแวดล้อม
แอคคลิวิสเป็นหนึ่งในพันธมิตรในอีโคซิสเต็มของไอบีเอ็ม ที่ช่วยลูกค้าบริหารจัดการและปรับปรุงเวิร์คโหลดให้ทันสมัยบนสภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ ตั้งแต่ระบบเมนเฟรมไปจนถึงเอดจ์ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Red Hat OpenShift ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคูเบอร์นิทีสระดับองค์กรที่เป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรม IBM Cloud Satellite ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าสามารถรันแอพพลิเคชันได้อย่างยืดหยุ่นในทุกสภาพแวดล้อมที่มีข้อมูลอยู่ พร้อมสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ บน IBM Cloud ได้ด้วย
นายมาร์คัส เฉิง ซีอีโอของแอคคลิวิส กล่าวว่า “การร่วมงานกับไอบีเอ็มมาอย่างยาวนาน และในฐานะที่เป็นบริษัทในระดับภูมิภาคที่มีฐานลูกค้าในวงกว้างทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถนำ IBM Cloud Satellite เข้าช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ทโฟลิโอบริการคลาวด์ในเซ็กเมนต์ดาต้าเซ็นเตอร์โฮสติ้งของเราได้ เมื่อผนวกรวมกับศักยภาพการเชื่อมต่อที่ราบรื่นไม่มีสะดุดที่ให้บริการโดยแปซิฟิค อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเรา และแพลตฟอร์ม Managed Services ระบบออโตเมชันที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถปรับเวิรค์โฟลว์ให้เป็นดิจิทัลและมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น เหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้าองค์กรที่สร้างและบริหารจัดการระบบคลาวด์กับเราจะได้รับประโยชน์จากเวลาแฝงที่ลดลง และประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น”
“วันนี้ไอบีเอ็มจับมือกับอีโคซิสเต็มพันธมิตรที่มีมากกว่า 65 ราย เพื่อเดินหน้าสร้างบริการระบบคลาวด์ที่ปลอดภัย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถรันเวิร์คโหลดได้ในทุกสภาพแวดล้อมผ่านIBM Cloud Satellite ขณะที่แอคคลิวิส ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีขององค์กรและหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานจำนวนมากที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ก็มีดาต้าเซ็นเตอร์กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค เหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเร่งขยายการใช้งานของลูกค้า สัมพันธภาพกับแอคคลิวิสในครั้งนี้จะนำสู่ความรวดเร็ว ความปลอดภัย และประสิทธิภาพที่ลูกค้ามองหา” นายเรย์มอนด์ วอง IBM Cloud Platform Leader ของภูมิภาคอาเซียน กล่าว
ด้วยเป้าหมายร่วมกันในการสนับสนุนความต้องการของลูกค้า ไอบีเอ็มและแอคคลิวิสจะเดินหน้าต่อเนื่องในการส่งมอบโซลูชั่นระบบคลาวด์แบบบูรณาการ และเร่งสร้างนวัตกรรมดิจิทัลทั่วเอเชียแปซิฟิค
Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ไอบีเอ็มประกาศเดินหน้าพัฒนาทักษะ 30 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573 – จับมือภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาไทย ปั้นบุคลากรทักษะไอที

วันนี้ ไอบีเอ็ม (NYSE: IBMประกาศความมุ่งมั่นและแผนสำคัญระดับโลกในการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับงานในอนาคตให้คน 30 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573 พร้อมประกาศโร้ดแมพที่ชัดเจนในการร่วมมือกับพันธมิตรภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมรายใหม่กว่า170 รายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยไอบีเอ็มจะใช้ประโยชน์จากโครงการและแพลตฟอร์มด้านการพัฒนาคนสู่สายอาชีพที่มีอยู่ ในการขยายโอกาสการเข้าถึงการเรียนการสอนและตำแหน่งงานด้านเทคนิคที่กำลังเป็นที่ต้องการในตอนนี้
“ทาเลนท์มีอยู่ทุกที่ แต่ว่าโอกาสทางการศึกษาไม่ได้มีอยู่ในทุกที่” อาร์วินด์ กฤษณะ ซีอีโอ ของไอบีเอ็มกล่าว “และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องเดินหน้าอย่างจริงจังและในสเกลที่ใหญ่ ในการขยายโอกาสการเข้าถึงทักษะดิจิทัลและการจ้างงาน เพื่อให้กลุ่มคนในวงกว้างสามารถได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครและมีพื้นเพอย่างไร วันนี้ไอบีเอ็มมุ่งมั่นที่จะมอบทักษะใหม่ๆ ให้คน 30 ล้านคนภายในปี 2573 เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคน ลดช่องว่างด้านทักษะที่กำลังเพิ่มขึ้น และมอบเครื่องมือที่จำเป็นให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของพวกเขาและของสังคมเรา”
ความยากลำบากในการหาคนที่มีทักษะเหมาะสมกับงานคือปัญหาที่นายจ้างทั่วโลกกำลังเผชิญ และสิ่งนี้กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ จากข้อมูลของ World Economic Forum (WEF) การปิดช่องว่างด้านทักษะทั่วโลก จะสามารถเพิ่ม GDP โลกได้ 11.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2571 โดย WEF ระบุว่าภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในด้านการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อให้ก้าวทันความต้องการของตลาด ความเปลี่ยนแปลงทางประชากร และความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่เดินหน้าไม่หยุดยั้ง
โครงการสำหรับทุกคน
โครงการด้านการศึกษาของไอบีเอ็มมีความเฉพาะตัวและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีรูปแบบที่หลากหลายและปรับได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นการสะท้อนความเข้าใจของไอบีเอ็มที่มองว่าแนวทางแบบ one size fits all หรือการใช้แนวทางเดียวกับทุกคน ไม่ใช่แนวทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ โครงการของไอบีเอ็มครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาด้านเทคนิคสำหรับเยาวชนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการฝึกงานและการฝึกทักษะในสถานที่ทำงาน ควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็ม รวมถึงการเปิดหลักสูตรออนไลน์ที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ และเข้าเรียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ไอบีเอ็มวางแผนที่จะมอบการศึกษาแก่คน 30 ล้านคนผ่านโครงการต่างๆ ที่มีความครอบคลุม รวมถึงผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานหลักของภาครัฐ (และหน่วยงานด้านการจ้างงาน) นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือไปยังองค์กรเอกชน โดยเฉพาะองค์กรที่มุ่งเน้นคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ด้อยโอกาส กลุ่มสตรี และกลุ่มทหารผ่านศึก โดยไอบีเอ็มได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องให้ภาคเอกชนทั่วโลกเปิดกว้างและขยายโอกาสให้กับคนกลุ่มน้อยและกลุ่มคนที่ขาดโอกาส
ในประเทศไทย ไอบีเอ็มจะเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนพันธกิจของประเทศในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเชิงบูรณาการ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ โดยผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในโครงการ P-TECH ที่ใช้เวลาเรียนห้าปี ปัจจุบันได้มีความร่วมมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาแล้วสี่แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย และวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนในหลากหลายมิติจากพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมการให้คำปรึกษาแนะนำ การดูงาน และการฝึกงานเชิงทักษะแบบได้รับค่าตอบแทน รวมถึงวิชาเรียนต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการเติบโตของผู้เรียน ทั้งในมุมวิชาการและมุมวิชาชีพ
“ไอบีเอ็ม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมของเรา อันประกอบด้วยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำงานร่วมกันภายใต้ความพยายามในการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ของประเทศ พร้อมยกระดับความเป็นเลิศทางวิชาการ และเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนด้วยชุดทักษะที่จะเป็นที่ต้องการอนาคต” ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าว “เรามุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา เพื่อช่วยสร้างคนทำงานที่มีทักษะและพร้อมสนับสนุนก้าวย่างเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ”
Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

‘ไอบีเอ็ม’ เปิดตัวเครื่องมือ AI ให้ข้อมูลอัจฉริยะเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยองค์กรตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนและปัญหาสภาพภูมิอากาศ

วันนี้ ไอบีเอ็ม (NYSE:IBM) ได้ประกาศเปิดตัวชุดเครื่องมือที่ให้ข้อมูลอัจฉริยะเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อม ที่ใช้ความสามารพของ AI ในการช่วยให้องค์กรเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านอากาศและสภาพภูมิอากาศที่อาจดิสรัปท์ธุรกิจ พร้อมสามารถประเมินผลกระทบที่องค์กรสร้างขึ้นต่อโลกได้ง่ายขึ้น และลดความซับซ้อนในการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่กำกับดูแลและการจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้หลายบริษัทกำลังเผชิญกับความเสียหายต่อทรัพย์สินอันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศ การหยุดชะงักของซัพพลายเชนและการปฏิบัติงาน รวมถึงความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นจากทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน ที่กดดันให้องค์กรต้องให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อม รายงาน “Global Risks Report 2021” โดย World Economic Forum ระบุว่าสภาพอากาศอันรุนแรง ความล้มเหลวจากการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ คือความเสี่ยงสูงสุดสามอันดับแรกสำหรับธุรกิจในช่วง10 ปีข้างหน้า วันนี้ธุรกิจต้องการมุมมองเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ แต่วิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีความยุ่งยากและซับซ้อน เนื่องจากเป็นการทำงานแบบแมนวลที่ใช้คนจำนวนมาก ต้องอาศัยคนที่มีทักษะด้านสภาพอากาศและวิทยาศาสตร์ข้อมูล รวมถึงต้องใช้พลังประมวลผลจากคอมพิวเตอร์

เครื่องมือ IBM Environmental Intelligence Suite ที่ประกาศในวันนี้ จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการดำเนินการที่รองรับอยู่ได้โดยอัตโนมัติ อาทิ การทำบัญชีและลดการใช้คาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ชุดเครื่องมือดังกล่าวใช้ประโยชน์จากข้อมูลสภาพอากาศจากไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำที่สุดในภาพรวม ร่วมกับข้อมูลการวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศขั้นสูง และนวัตกรรมใหม่จากศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม โดยนับเป็นครั้งแรกของการผสานศักยภาพของ AI ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเชิงลึก และความสามารถในการจัดทำบัญชีคาร์บอน เข้าด้วยกัน ช่วยให้องค์กรใช้ทรัพยากรในการบริหารจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนเหล่านี้น้อยลง และมีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อปรับปรุงการดำเนินการมากขึ้น

ชุดเครื่องมือ IBM Environmental Intelligence Suite มาพร้อมกับเลเยอร์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่ให้ข้อมูลและภาพอธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น แนวโน้มการเกิดน้ำท่วม เป็นต้น

ชุดเครื่องมือ IBM Environmental Intelligence Suite เป็นโซลูชัน SaaS ที่ได้รับการออกแบบเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถ
• มอนิเตอร์สภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น สภาพอากาศที่รุนแรง ไฟป่า น้ำท่วม และคุณภาพอากาศ พร้อมส่งการแจ้งเตือนเมื่อมีการตรวจพบ
• คาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศ โดยใช้การวิเคราะห์ความเสี่ยงสภาพภูมิอากาศ
• ดึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการหยุดชะงักของการดำเนินงานที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องตอบสนอง
• วัดผลและจัดทำรายงานเกี่ยวกับตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและการทำบัญชีคาร์บอน ซึ่งจะเป็นการลดภาระในการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมของทีมจัดซื้อและทีมปฏิบัติการ

ชุดเครื่องมือดังกล่าวให้ข้อมูลเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมผ่านทาง API แดชบอร์ด แผนที่ และการแจ้งเตือน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถจัดการความท้าทายด้านการดำเนินงานได้ทันท่วงที พร้อมวางแผนและกลยุทธ์ในระยะยาวเพื่อรับมือ ตัวอย่างเช่น ผู้ค้าปลีกสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการขนส่งสินค้าในจุดที่มีสภาพอากาศรุนแรงและประสบปัญหาเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง หรือทราบถึงปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับจุดที่ตั้งคลังสินค้าในอนาคต สำหรับบริษัทด้านพลังงานและสาธารณูปโภค เครื่องมือนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดได้แม่นยำยิ่งขึ้นว่าควรตัดแต่งต้นไม้ที่อยู่บริเวณรอบสายไฟในจุดไหน หรืออุปกรณ์สำคัญชิ้นใดที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากไฟป่าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เครื่องมือดังกล่าวยังสามารถช่วยให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เห็นภาพมากขึ้นว่าระบบทำความเย็นกำลังมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาพรวมอย่างไร ช่วยให้องค์กรสามารถปรับปรุงในเรื่องดังกล่าวได้

ชุดเครื่องมือ IBM Environmental Intelligence Suite ช่วยให้องค์กรสามารถมอนิเตอร์และตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน โดยผู้ใช้สามารถปรับแต่งค่าพารามิเตอร์ เกณฑ์ หรือการแจ้งเตือนพนักงาน ลูกค้า และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุขึ้น พร้อมสามารถสเกลการใช้งานได้

“อนาคตของธุรกิจและสิ่งแวดล้อมมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง เพราะไม่เพียงบริษัทต่างๆ จะต้องรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงที่อาจมีต่อการดำเนินงาน แต่ยังต้องสามารถอธิบายต่อผู้ถือหุ้นและหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ว่าการดำเนินงานของตนส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร” นายคารีม ยูซุฟ กรรมการผู้จัดการ IBM AI Applications กล่าว “ไอบีเอ็มได้ผนึกพลังของ AI และ Hybrid Cloud เข้าด้วยกัน เพื่อให้มุมมองอัจฉริยะเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่ธุรกิจ ที่จะช่วยปรับปรุงการจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการเพื่อลดการใช้ทรัพยากร และการวางแผนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะในยามที่ต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ”

วันนี้หลายบริษัททั่วโลกได้เริ่มใช้งานเทคโนโลยีสภาพอากาศและ AI ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักใน IBM Environmental Intelligence Suite แล้ว อาทิ BP Bunge Bioenergia ซึ่งเป็นบริษัทด้านเอธานอล พลังไฟฟ้าชีวภาพ และน้ำตาล ของบราซิล ที่ได้ใช้ข้อมูลสิ่งแวดล้อมและการวิเคราะห์ภูมิศาสตร์สารสนเทศเชิงลึก เพื่อช่วยให้เข้าใจการผลิตอ้อยและเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ตลาดในแง่ที่เกี่ยวกับการผลิตน้ำตาลทั่วโลก นอกจากนี้ Cajamar ซึ่งเป็นผู้นำด้านธุรกิจการเกษตร ก็ได้นำข้อมูลดังกล่าวเข้าช่วยชาวไร่สเปนในการเพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผ่านเครื่องมือดิจิทัล Plataforma Tierra

เครื่องมือ IBM Environmental Intelligence Suite ยังได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI จากศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศและข้อมูลสามารถวิเคราะห์ชุดข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่มีขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น พร้อมด้วยแบบจำลองความเสี่ยงด้านสภาพอากาศแบบใหม่ที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ คาดการณ์ความเสี่ยงเรื่องไฟป่าและน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ชุดเครื่องมือดังกล่าวยังใช้เทคโนโลยีจากศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม ที่ใช้ความสามารถของการประมวลผลภาษาธรรมชาติและออโตเมชัน เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน พร้อมระบุได้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อลดการปล่อยก๊าซในระหว่างการดำเนินงานและการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ต่างๆ

ชุดเครื่องมือ IBM Environmental Intelligence Suite มาพร้อมกับเลเยอร์ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่ให้ข้อมูลและภาพอธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น แนวโน้มการเกิดไฟป่า เป็นต้น

องค์กรยังสามารถใช้เครื่องมือ Environmental Intelligence Suite ร่วมกับซอฟต์แวร์อื่นๆ ของไอบีเอ็ม เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้งานปฏิบัติการทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น IBM Maximo Application Suite เพื่อช่วยให้องค์กรปกป้องและเพิ่มอายุการใช้งานอุปกรณ์สำคัญๆ หรือ IBM Supply Chain Intelligence Suite เพื่อช่วยสร้างซัพพลายเชนที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นฟื้นตัวได้ไวขึ้น

นอกจากนี้องค์กรยังสามารถได้รับประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในมุมอุตสาหกรรมของ IBM Global Business Services เพื่อออกแบบ ติดตั้ง และเร่งเครื่องสู่การทรานส์ฟอร์มธุรกิจอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในการปรับรูปแบบการดำเนินงาน ซัพพลายเชน การบริหารจัดการการปล่อยมลพิษ หรือ ESG รวมถึงการจัดทำรายงานความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ IBM Environmental Intelligence Suite สามารถดูได้ที่ ibm.biz/environmental-intelligence และสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำนวัตกรรมของไอบีเอ็มเข้าช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นฟื้นตัวไวยิ่งขึ้นให้กับองค์กรต่างๆ สามารถดูได้ที่ ibm.com/sustainability


 

Exit mobile version