Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ผู้เชี่ยวชาญชี้อาเซียนเปิดรับ 5G ของหัวเว่ย

กรุงเทพฯ ประเทศไทย/ 19 สิงหาคม 2562 – สำนักข่าว ไชน่า เดลี่ รายงานผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มองว่าการเชื่อมต่อ 5G จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตรวดเร็วขึ้นนั้น ล้วนเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมจากประเทศจีนอย่างหัวเว่ย และบริษัทอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในประเทศของตน

มิสอมาลินา อาเนอร์ นักวิเคราะห์จากศูนย์การศึกษาพหุภาคี (Centre for Multilateralism Studies) แห่งสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ เอส ราชารัตนัม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า แผนงานด้านเศรษฐกิจและองค์ประกอบด้านนโยบายต่างประเทศเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ประเทศในอาเซียนเปิดรับการทำธุรกิจกับหัวเว่ย

“เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยขึ้นชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและมีราคาจับต้องได้เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการในระดับเดียวกัน” มิสอาเนอร์กล่าว พร้อมทั้งกล่าวเสริมอีกว่า “การเลือกใช้บริการจากเวนเดอร์หลายรายและการเลี่ยงการกีดกันหัวเว่ยไม่ให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศถือเป็นตัวเลือกทางนโยบายที่มีความสมดุลกว่า เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายใด”

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด เป็นผู้ให้บริการอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลกและผู้จัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนอันดับสองของโลก สหรัฐอเมริกาได้กล่าวหาหัวเว่ยในข้อหาจารกรรมข้อมูล แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใด ๆ มารองรับ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งหัวเว่ยก็ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

มร. เจค ซอนเดอส์ รองประธานด้านบริการให้คำปรึกษาในเอเชีย-แปซิฟิก ของเอบีไอ รีเสิร์ช บริษัทข่าวกรองด้านการตลาด กล่าวว่า “จริง ๆ แล้ว ผมไม่เห็นว่าจะมีหลักฐานใด (ในข้อกล่าวหาการสอดแนมข้อมูล) ในเรื่องของความปลอดภัย ถ้าอยากให้การสื่อสารปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ละบริษัทก็ติดตั้งระบบการเข้ารหัสลับของตนเองได้ เพื่อให้การรับส่งข้อมูลมีความปลอดภัย”

เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยความเร็วระดับกิกะบิต โดยล็อบบี้ยิสต์ด้านโทรคมนาคมอย่าง GSMA คาดการณ์ว่า การเชื่อมต่อแบบไร้สายทั้งโลกจะเปลี่ยนเป็น 5G ถึงร้อยละ 15 ภายในปี 2568 โดยเอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่ใช้ 5G ที่ใหญ่ที่สุด

มิสฟาร์ลินา ซาอิด นักวิเคราะห์จากหลักสูตรการศึกษานโยบายและความปลอดภัยต่างประเทศ สถาบันการศึกษาด้านกลยุทธ์และการต่างประเทศ ในมาเลเซีย กล่าวว่า “การทดลองหาโอกาสในการใช้งาน 5G สำหรับอนาคต ได้กลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว” โดย 5G จะเป็นดั่งตัวเร่งให้อาเซียนสร้างเครือข่ายสมาร์ทซิตี้ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อการจัดการภัยพิบัติ การเข้าถึงการศึกษา และความยั่งยืนของสังคม

กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก เป็นตลาดสำคัญสำหรับธุรกิจระดับโลกมาโดยตลอด และหัวเว่ยได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้มานานกว่า 20 ปี ในงานประชุมเมื่อต้นปี มร. เจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ย ได้คาดการณ์ว่า 5G จะสร้างโอกาสทางอุตสาหกรรมแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีจำนวนผู้ใช้ 5G ถึง 80 ล้าน

สำหรับประเทศไทยได้มีการทดสอบเครือข่าย 5G ของหัวเว่ยในจังหวัดชลบุรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ลงนามข้อตกลงการพัฒนา 5G ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัท สมาร์ท เอเซียตา ของกัมพูชา ได้ประกาศความร่วมมือกับหัวเว่ยในการพัฒนาเครือข่าย 5G ในประเทศ

และเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ประกาศว่า บริษัทมีสัญญา 5G เชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 50 ฉบับ และได้จัดส่งสถานีฐาน 5G ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกไปแล้วกว่า 150,000 สถานี

มร. ซอนเดอส์ จากบริษัท เอบีไอ รีเสิร์ช กล่าวว่า “เทคโนโลยีของหัวเว่ยนั้นถือว่าล้ำสมัยสุดๆ แล้ว พวกเขาคอยคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และแข่งขันด้วยราคา สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลว่าทำไมหัวเว่ยจึงเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นมากๆ” พร้อมกล่าวอีกว่า “หลักๆ แล้ว ประเทศอาเซียนต้องการตัวเลือก นี่เป็นที่สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขามากๆ”

มิสอาเนอร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง เสริมว่า “การเข้าถึง 5G อย่างเต็มรูปแบบต้องอาศัยนโยบายที่ให้ความสำคัญกับทั้งความต้องการด้านความปลอดภัยและการพัฒนา”

และเธอยังกล่าวอีกว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเลือกผู้ให้บริการโซลูชั่น 5G ที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด และอาเซียนก็ไม่มุ่งหวังที่จะฝักใฝ่ฝ่ายใด”


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ยตั้งเป้าประสบความสำเร็จด้านเทคโนโลยี AI

กรุงเทพฯ ประเทศไทย/ 16 สิงหาคม 2562 – มร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน กล่าวว่า หัวเว่ยหวังที่จะพัฒนาไปไกลกว่า 5G และเล็งที่อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI)

มร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย กล่าวในระหว่างการประชุมภายในว่า “5G เป็นแค่เครื่องเคียง ส่วน AI เป็นอาหารจานหลัก และ AI จะอยู่ในแผนการพัฒนาเชิงกลยุทธ์หลักของหัวเว่ย”

 

ในเดือนสิงหาคมนี้ หัวเว่ยได้เปิดศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จังหวัดซูโจว มณฑลเจียงซูในภาคตะวันออกของจีน ศูนย์วิจัยแห่งใหม่นี้จะมุ่งเน้นการทดสอบการนำ AI ไปใช้เพื่อสร้างสมาร์ทชิตี้และพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

เครือข่าย 5G เป็นเครือข่ายที่มีแบนด์วิดท์สูง ค่าความหน่วงเวลาต่ำ (Low latency) และพร้อมรองรับงานวิจัยและพัฒนา AI มร. เหริน กล่าวโดยเปรียบเทียบว่า 5G เป็นดั่งไขควงและ AI ก็เป็นรถยนต์ แล้วกล่าวว่า “ไขควงนั้นมีไว้ใช้ประกอบรถยนต์ แต่มันก็ไม่ใช่รถยนต์”

ตอนนี้เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนาเทคโนโลยี AI แล้ว ในอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า AI จะมีความฉลาดในระดับเท่า ๆ กับความฉลาดของมนุษย์ โดยเฉลี่ย และในอีก 2-3 ปี การใช้ AI จะมีความแพร่หลายมากขึ้น

มร. เหริน กล่าวว่า “การพัฒนา AI ต้องได้รับการสนับสนุนจากซุปเปอร์คอมพิวติ้ง ที่จัดเก็บข้อมูลความจุสูงพิเศษ และการเชื่อมต่อที่มีความเร็วระดับซุปเปอร์สปีด สหรัฐอเมริกาเองมีซุปเปอร์คอมพิวเตอร์และที่จัดเก็บข้อมูลความจุสูงแล้ว แต่ไม่มีการเชื่อมต่อระดับซุปเปอร์สปีด เพราะมีเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกไม่เพียงพอ นี่เป็นสาเหตุให้สหรัฐฯ ยังล้าหลังในวงการอุตสาหกรรม AI”

มร. เหรินประกาศกับพนักงานหัวเว่ยว่า บริษัทมีความมั่นใจว่าจะฝ่าฟันและรอดพ้นการโจมตีจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ “เราเจ็บปวดจากบาดแผล แต่เราต้องเข้าเส้นชัย” และกล่าวอีกว่า “เหล็กกล้าถูกหลอมขึ้นมาด้วยความร้อน และพนักงานของเราจะเป็นดั่งเหล็กกล้า เราต้องอดทนต่อแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา เราจะไม่เพียงอยู่รอด แต่เราต้องชนะ”

มร. เหริน ให้สัญญาว่า ในอีกห้าปีข้างหน้า หัวเว่ยจะสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถมาเข้าร่วมทีมวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น โดยทีมดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเคย

ยกตัวอย่างเช่น หัวเว่ยให้เงินรางวัลมูลค่า 229,800 ดอลลาร์สหรัฐ แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี 3 คน ที่ชนะการแข่งขัน ASC Student Supercomputer Challenge ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และยังให้ค่าจ้างรายปีมูลค่าถึง 2 ล้านหยวน หรือประมาณ 290,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกและพนักงานผู้เชี่ยวชาญรวม 8 คน ทั้งจากประเทศจีนและต่างประเทศ

นอกจากการหาคนเก่งๆ มาร่วมทีมแล้ว หัวเว่ยยังจะเพิ่มเงินเดือนให้แก่ทีมนักวิทยาศาสตร์จำนวน ปัจจุบัน หัวเว่ยมีพนักงานเป็นนักคณิตศาสตร์มากกว่า 700 คน นักฟิสิกส์ 800 คน และนักเคมี 120 คน นอกจากนี้ยังมีทีมนักวิจัยมากประสบการณ์อีก 15,000 คนอีกด้วย

มร. เหริน ให้สัมภาษณ์ว่า “AI จะพัฒนาในวงกว้างมากขึ้น และเราต้องหานักคณิตศาสตร์ชั้นนำจำนวนมากขึ้นมาร่วมงานกับเรา”

เกี่ยวกับหัวเว่ย
หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยโซลูชั่นที่ผสมผสานในสี่กลุ่มหลัก คือ เครือข่ายโทรคมนาคม, ไอที, สมาร์ทดีไวซ์ และบริการคลาวด์ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การใช้งานทุกระดับเพื่อทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ โซลูชั่นและบริการที่ครบวงจรของหัวเว่ยเปี่ยมด้วยศักยภาพด้านการแข่งขันและเชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในระบบนิเวศแบบเปิด หัวเว่ยสามารถสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับลูกค้า เสริมสมรรถนะของผู้คน ช่วยให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีความสะดวกสบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรทุกรูปแบบและทุกขนาด นวัตกรรมของหัวเว่ยเน้นตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า เราทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในด้านการวิจัย เน้นค้นหานวัตกรรมด้านเทคนิคใหม่ ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนโลกของเราให้ก้าวไปข้างหน้า เรามีพนักงานกว่า 180,000 คน ดำเนินธุรกิจในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 2530 และเป็นบริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหัวเว่ย ได้ที่ www.huawei.com


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยเผย Hongmeng OS ตัวใหม่ เหมาะกับอุปกรณ์ IoT

รุงเทพฯ ประเทศไทย/18 กรกฎาคม 2562 – มร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารหัวเว่ย เผย Hongmeng (หงเหมิง) ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ของบริษัท เหมาะสำหรับอุปกรณ์อัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี IoT เพราะมีความหน่วงเวลา (Latency) ต่ำ

“เป้าหมายของ OS นี้คือ สร้างโลกที่ทุกสิ่งอย่างมีความอัจฉริยะและเชื่อมต่อกันได้ให้เป็นจริง”
มร. เหรินกล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Le Point ของฝรั่งเศส และเสริมด้วยว่า “ระบบปฏิบัติการหงเหมิงมีความล่าช้าต่ำในระดับคงที่ โดยในแต่ละจุดจะมีความหน่วงไม่เกิน 5 มิลลิวินาทีหรือต่ำกว่านั้น และอาจต่ำกว่า 1 มิลลิวินาทีด้วย”

มร. เหริน กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “ยกตัวอย่างเช่นรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ การเปลี่ยนเกียร์ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 มิลลิวินาที ถ้าความหน่วงเวลาไม่คงที่ การเข้าเกียร์อาจผิดพลาดและอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานร่วมกันได้”

ในวันที่ 7 สิงหาคม หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสมาร์ทดีไวซ์ จะจัดงาน IoT Industry Summit ขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดแสดงและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT และแอปพลิเคชันการใช้งานอันล้ำสมัย

ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ในฐานะตัวขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่สำคัญ เทคโนโลยี IoT มีศักยภาพในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ และการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด

“เราต้องการสร้างความพึงพอใจให้ผู้คนในสังคม เป้าหมายสูงสุดของเราคือการให้บริการผู้บริโภค ซึ่งก็คือ คนกว่า 6,500 ล้านคน และอาจจะมากกว่านั้นในอนาคตเมื่อ IoT เชื่อมต่อกับทุกสรรพสิ่งได้มากขึ้น ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับผู้บริโภคและตอบสนองความต้องการของทุกผู้คน” มร. เหริน เจิ้งเฟย กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์

IoT เป็นรากฐานของปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า และเป็นส่วนสำคัญของ 5G หัวเว่ยซึ่งเป็นผู้นำด้าน 5G ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชัน 5G เชิงพาณิชย์แบบครบวงจรที่ตรงตามมาตรฐานของ 3GPP อีกทั้งยังได้ก่อตั้งศูนย์โอเพ่น แล็บ (Open Lab) ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันของนักพัฒนาแอพในประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ยได้ยืนยันว่าแม้จะมีความท้าทายเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดส่งอุปกรณ์ 5G

“จะไม่มีปัญหาด้านการจัดส่งอุปกรณ์อย่างแน่นอน ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว อุปกรณ์ 5G ของเราถือว่าดีที่สุดในโลกและจะยังไม่มีบริษัทไหนตามเราทันได้ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จึงไม่มีปัญหาด้านการจัดส่งแน่นอน ฝ่ายผลิตของเรายังทุ่มเททำงานกันอย่างเต็มที่”

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับความท้าทายล่าสุดที่หัวเว่ยกำลังเผชิญจากสหรัฐอเมริกา มร. เหริน ตอบว่า “กงล้อแห่งกาลเวลาย่อมเดินไปข้างหน้าเสมอ ไม่มีใครหยุดมันได้หรอก”

“เราแค่ขายอุปกรณ์เปล่าๆ อย่างท่อน้ำหรือก๊อกน้ำ ผลิตภัณฑ์ดีไวซ์ก็เหมือนกับก๊อก ส่วนอุปกรณ์เชื่อมต่อก็เปรียบเหมือนกับท่อน้ำ สิ่งที่ไหลผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือน้ำมัน ย่อมมีระบบข้อมูลเป็นตัวกำหนด และระบบเหล่านี้ก็ควบคุมโดยผู้ให้บริการระบบโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่เรา เราเองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงข้อมูลและขอยืนยันด้วยว่าเราไม่เคยติดตั้งประตูหลังเพื่อสอดแนมข้อมูลของผู้ใช้” มร. เหริน เจิ้งเฟยกล่าว

“กุญแจสู่ความสำเร็จของหัวเว่ยคือ ความทุ่มเทในการสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่ลูกค้า ถึงแม้ว่าจะมีการโจมตีหัวเว่ยอย่างหนัก แต่ผู้บริโภคก็ยังคงซื้อสินค้าจากเรา เพราะความไว้วางใจที่เกิดจากการทุ่มเททำงานเพื่อลูกค้าและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อพวกเขาตลอดหลายปีที่ผ่านมา”

ในฐานะผู้นำตลาดในจีนและอีกหลายประเทศทั้งในทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ปัจจุบันผลิตภัณฑ์และโซลูชันของหัวเว่ยให้บริการแก่ผู้คนกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก

“ทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จร่วมกัน” มร. เหริน เจิ้งเฟย กล่าวเมื่อ Le Point ถามถึงคติประจำตัวของเขา


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ยเผยแพร่รายงานปกขาวด้านทรัพย์สินทางปัญญา

เซิ่นเจิ้น, จีน/ 28 มิถุนายน 2562 – วันนี้ หัวเว่ยได้เผยแพร่รายงานสมุดปกขาวว่าด้วยนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา และเตือนไม่ให้นำเรื่องดังกล่าวไปโยงเป็นประเด็นทางการเมือง มร. ซ่ง หลิ่วผิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของหัวเว่ย กล่าวในงานแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทว่า ทรัพย์สินทางปัญญาคือรากฐานสำคัญของนวัตกรรม และการนำเรื่องดังกล่าวไปเป็นประเด็นทางการเมืองจะขัดขวางพัฒนาการความก้าวหน้าของทั่วโลกได้

“หากนักการเมืองใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือทางการเมือง พวกเขาจะทำลายความเชื่อมั่นในระบบการคุ้มครองสิทธิบัตร หากรัฐบาลบางประเทศเลือกที่จะตัดบริษัทต่างๆ ออกจากลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขา ก็ถือเป็นการทำลายรากฐานของนวัตกรรมระดับโลก” มร. ซ่ง กล่าว

รายงานสมุดปกขาวเรื่อง“ การเคารพและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา: รากฐานของนวัตกรรม” ได้อธิบายเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติและการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของหัวเว่ย

รายงานได้ตั้งข้อสรุปว่า การคุ้มครองนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของหัวเว่ยมานานกว่า 30 ปี หัวเว่ยได้รับอนุมัติสิทธิบัตร 87,805 ฉบับ ณ สิ้นปี พ.ศ. 2561 โดยเป็นสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกา 11,152 รายการ และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 หัวเว่ยมีรายได้จากการให้ลิขสิทธิ์กว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกเหนือจากการเก็บสะสมสิทธิบัตรของตัวเองแล้ว หัวเว่ยยังได้จ่ายเงินมากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าลิขสิทธิ์สำหรับการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอื่นอย่างถูกกฎหมาย โดยเกือบร้อยละ 80 ของเงินค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมดได้จ่ายให้กับบริษัทอเมริกัน ดังที่ปรากฎตามรายงานดังกล่าว

มร. ซ่ง กล่าวว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และข้อพิพาทต่าง ๆ ควรได้รับการแก้ไขผ่านกระบวนการทางกฎหมาย พร้อมเสริมว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีศาลใดตัดสินว่าหัวเว่ยมีส่วนในการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาอันร้ายแรง และหัวเว่ยก็ไม่เคยถูกศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายในเรื่องนี้ด้วย

แนวคิดเรื่องความร่วมมือและการเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของหัวเว่ย สะท้อนผ่านข้อเท็จจริงง่าย ๆ ที่ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของบริษัทหลายอย่างได้ถูกผสานรวมอยู่ในมาตรฐานอันเปิดกว้างต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับเทคโนโลยี 3G, 4G และ 5G และแม้ว่าบางประเทศจะไม่ได้ซื้อผลิตภัณฑ์โดยตรงจากหัวเว่ย พวกเขาก็ยังใช้สิทธิบัตรที่สำคัญ ๆ ของหัวเว่ย และร่วมแบ่งปันประโยชน์ของเทคโนโลยีที่หัวเว่ยสร้างขึ้นมา มร. ซ่ง กล่าว

มร. ซ่ง ยังได้กล่าวถึงจุดยืนของหัวเว่ยเกี่ยวกับการใช้สิทธิบัตรว่า บริษัทจะไม่ใช้สิทธิบัตรของตัวเองเป็นอาวุธทำร้ายคนอื่น แต่หัวเว่ยจะใช้ทัศนคติที่เปิดกว้างและเน้นการทำงานร่วมกัน และปฏิบัติตามหลักการที่ “ยุติธรรม สมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ” เมื่อต้องมีส่วนร่วมในเรื่องการออกใบอนุญาตสิทธิบัตรกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม

“และดังเช่นเคย หัวเว่ยพร้อมและเต็มใจที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีของเราให้กับผู้คนทั่วโลก ซึ่งรวมถึง 5G รวมถึงบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา เมื่อเราร่วมมือกัน ก็จะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของเราให้เติบโตไปข้างหน้าและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมนุษย์เราทุกคนได้” มร. ซ่งกล่าว

รายงานดังกล่าวยังอธิบายถึงเรื่องความยั่งยืนของนวัตกรรมที่ช่วยให้หัวเว่ยประสบความสำเร็จ ตลอดจนการที่นวัตกรรมของหัวเว่ยนำมาซึ่งคุณค่าทางสังคมขนานใหญ่ และจุดยืนของหัวเว่ยเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลที่สามและของตัวเอง

สามารถดาวน์โหลดรายงานสมุดปกขาวนี้ได้ที่ 
https://www-file.huawei.com/-/media/CORPORATE/PDF/white%20paper/2019/Huawei_White_Paper_on_Innovation_and_Intellectual_Property.pdf


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ยคว้ารางวัล “เทคโนโลยีเครือข่ายหลัก 5G ที่ดีที่สุด” จากงาน 5G World Summit

ลอนดอน สหราชอาณาจักร/ 20 มิถุนายน 2562 – โซลูชันเครือข่ายหลัก 5G ของหัวเว่ยคว้ารางวัล “Best 5G Core Network Technology” จากงาน 5G World Summit 2019 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ลอนดอน

เทคโนโลยี 5G จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในอุตสาหกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เครือข่ายหลัก 5G ทำหน้าที่เป็นฮับสำหรับสร้างการเชื่อมโยงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และกำหนดรีซอร์สของเครือข่าย โดยมีความหน่วงเวลาเป็นหัวใจสำคัญ เครือข่ายหลักจะมีประสิทธิภาพบริการเครือข่ายที่แตกต่างและเห็นผลชัดเจน ตั้งแต่เชื่อมโยงคนไปจนถึงสิ่งของต่างๆ ทำให้ 5G สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรมและปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น

เครือข่าย 5G อัจฉริยะของหัวเว่ยสร้างขึ้นบนเทคโนโลยี Cloud Native, Connectivity+ และ Edge Computing ที่ล้ำสมัย รองรับ 3-layer Decoupling, Stateless Design, Cross-DC Deployment, Microservices, A/B Test และเทคโนโลยีคลาวด์อื่นๆ ถือเป็นเครือข่ายแรกของอุตสาหกรรมที่รองรับการผสานรวมเทคโนโลยี 2G/3G/4G/5G NSA/5G SA มีทั้งโซลูชันเสียง Single Voice Core และใช้สถาปัตยกรรมแบบกระจาย CUPS ทำให้เครือข่ายสามารถรองรับ User Plane Plug and Play ได้แบบครบวงจร กำหนดรีซอร์สการประมวลผล Heterogeneous Edge แบบ on-demand, ผนวกรวมแอพพลิเคชั่นจากแหล่งอื่นได้อย่างรวดเร็ว และการสร้างระบบนิเวศ Edge แบบเปิดกว้าง ทำให้เกิดบริการที่แตกต่างและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย

มร. หม่า เลี่ยง ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์เครือข่ายหลัก ของหัวเว่ยคลาวด์ ตั้งข้อสังเกตว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่จะได้รับรางวัลนี้ หลายปีมานี้หัวเว่ยได้สั่งสมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 5G มาอย่างมากมายจากการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันเรายังได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและพันธมิตรในอุตสาหกรรมมากมายในการพัฒนาการใช้งาน 5G อย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมแนวตั้ง ทำให้ระบบนิเวศอุตสาหกรรมเกิดการเติบโต และเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่”

ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 หัวเว่ยมีสัญญา 5G เชิงพาณิชย์รวม 46 ฉบับ และได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือแบบข้ามอุตสาหกรรมอีกจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Network Slicing และ Mobile Edge Computing (MEC) ในด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ, เทคโนโลยี VR/AR, เทคโนโลยี Internet of Vehicle (IoV), การผ่าตัดทางไกล, การผลิตเชิงอัจฉริยะ และอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้ระบบนิเวศ 5G มีการเติบโตสมบูรณ์ หัวเว่ยจะมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้ดีขึ้นด้วยโซลูชันที่ดีกว่า


 

Exit mobile version