Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ยเตรียมสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ 5G ในยุโรป

กรุงเทพฯ/ 13 มกราคม 2563 – หัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ ผู้ผลิตอุปกรณ์ 5G อันดับหนึ่งของโลก มีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิตอุปกรณ์ 5G ขนาดใหญ่ในยุโรป เพื่อสานสัมพันธ์ความร่วมมือกับประเทศในยุโรปให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย บอกกับ The Globe and Mail เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การสร้างโรงงานในอนาคตในยุโรปเป็นการตอบโจทย์แผนการขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศของบริษัท เนื่องจากธุรกิจอุปกรณ์ 5G ของหัวเว่ยตอนนี้มุ่งเน้นการทำสัญญากับโอเปอเรเตอร์ในภูมิภาคดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี มร. เหลียง หัว ประธานคณะกรรมการของหัวเว่ย กล่าวยืนยันคำกล่าวของมร. เหริน ว่าบริษัทกำลังวางแผนที่จะผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ของตัวเองที่โรงงานแห่งใหม่ในยุโรปในอนาคตจริง “เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดโรงงานในยุโรปเพื่อผลิต 5G” มร. เหลียง ประกาศ “ส่วนประเทศที่เราจะตั้งโรงงานนั้นจะขึ้นอยู่กับผลการศึกษาดังกล่าว” เขากล่าวเสริม แม้ว่าจะยังไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน แต่ มร. เหลียง ก็บอกใบ้ให้ว่าการตัดสินใจอาจเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

แม้ว่าต้นทุนค่าแรงและดำเนินการของโรงงานในยุโรปจะสูงกว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเม็กซิโก มร. เหริน ก็ยืนยันว่า เพื่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับนานาประเทศในทวีปยุโรป ต้นทุนไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล “ต้นทุนไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องนำมาคิด เราต้องคิดเรื่องยุทธศาสตร์ต่างหาก” มร. เหริน อธิบาย พร้อมเสริมว่าโรงงานในอนาคตของหัวเว่ย จะมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าแรง มร. เหริน เชื่อว่าโรงงาน 5G ขนาดใหญ่จะเพิ่มความเชื่อมั่น ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ รวมถึงช่วยกระชับความร่วมมือกับประเทศในยุโรปให้แนบแน่นยิ่งขึ้น

หัวเว่ยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เข้มแข็งและมั่นคงกับผู้ให้บริการเครือข่ายในยุโรป เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดเผยว่าสัญญา 5G เชิงพาณิชย์เกือบ 60% ของบริษัทมาจากยุโรป ในปี 2561 หัวเว่ยสร้างรายได้ถึง 204,500 ล้านหยวน (889,000 ล้านบาท) จากธุรกิจในยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดนอกประเทศจีนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท โดยคิดเป็น 28% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทในปีดังกล่าว

เมื่อเดือนพฤศจิกายน มร. เหริน ได้กล่าวกับ CNN Business ว่า แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากสหรัฐฯ เขามั่นใจว่าประเทศต่าง ๆ ในยุโรปจะตัดสินใจเองว่าจะเลือกใช้อุปกรณ์ 5G ของบริษัทใด “ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมหลายรายในยุโรปใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยมานานกว่า 10 ปี พวกเขาจึงเข้าใจเราเป็นอย่างดี” มร. เหริน กล่าว “ลูกค้าของเราจะโน้มน้าวรัฐบาลในประเทศของตนให้เลือกหัวเว่ย และอนุญาตให้เราเข้าไปทำธุรกิจที่ประเทศนั้น ๆ ได้” เขากล่าวทิ้งท้าย


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

เดลล์โอโร กรุ๊ป เผย Wi-Fi 6 ของหัวเว่ยมีส่วนแบ่งการตลาด เป็นอันดับหนึ่งทั่วโลก

เซิ่นเจิ้น ประเทศจีน/ 10 มกราคม 2563 – หัวเว่ยครองส่วนแบ่งตลาด Wi-Fi 6 เป็นอันดับหนึ่งของโลก (ไม่รวมตลาดอเมริกาเหนือ) จากรายงานข้อมูลส่วนแบ่งตลาดอุปกรณ์กระจายสัญญาณ Access Point แบบใช้งานภายในอาคารรุ่น Wi-Fi 6 ทั่วโลก ที่จัดทำโดยเดลล์โอโร กรุ๊ป (Dell’Oro Group) ผู้นำด้านการวิเคราะห์และวิจัยตลาดระดับโลก ช่วงระหว่างไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2562

เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2561กลุ่ม Wi-Fi Alliance ได้ประกาศระบบการตั้งชื่อรุ่น Wi-Fi แบบใหม่ โดยมาตรฐาน IEEE 802.11ax ได้มีชื่อเรียกที่ง่ายขึ้นเป็น Wi-Fi 6 ซึ่งเป็นรุ่นพัฒนามาจาก Wi-Fi 5 ที่มีแบนด์วิดท์ต่อผู้ใช้สูงสุดและการรองรับจำนวนผู้ใช้พร้อมกันเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า รวมถึงมีค่าความหน่วง (Latency) ลดลงมากกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับ Wi-Fi 5 ด้วยประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมากมายหลายเท่าทำให้องค์กร โรงเรียน โรงพยาบาล และผู้นำในแวดวงต่าง ๆ จำนวนมาก เลือกใช้ Wi-Fi 6 เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดบนเครือข่ายขององค์กร และรองรับการใช้งานที่ล้ำสมัย เช่น การประชุมผ่านวิดีโอความคมชัดสูงระดับ 4K/8K การเรียนการสอนแบบอินเทอร์แอ็กทีฟด้วยเทคโนโลยี VR และ AR การแพทย์ทางไกล และหุ่นยนต์อัจฉริยะ

รายงานล่าสุดของเดลล์โอโร กรุ๊ป เป็นเครื่องยืนยันความเป็นที่นิยมของ Wi-Fi 6 ที่เพิ่มขึ้นในองค์กรระดับโลก รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผลประกอบการโดยรวมของตลาด Wi-Fi 6 ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมากในสามไตรมาสแรกของปี 2562 คิดเป็น 30 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 โดยในช่วงระยะเวลาเดียวกัน รายได้ของตลาด Wi-Fi 4 และ Wi-Fi 5 ปรับลดลงเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงของตลาดนี้ชี้ให้เห็นว่าปี 2562 เป็นปีแรกที่มีการนำ Wi-Fi 6 มาใช้ในเชิงพาณิชย์

หัวเว่ยเป็นผู้นำในตลาด Wi-Fi 6 ด้วยผลิตภัณฑ์ AirEngine Wi-Fi 6 หัวเว่ยเป็นผู้บุกเบิกในการนำเครือข่าย Wi-Fi 6 มาติดตั้งใช้งานในระดับองค์กรเป็นรายแรกของอุตสาหกรรมในนครเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ต้นปี 2561 และตั้งแต่นั้นมา ผลิตภัณฑ์ AirEngine Wi-Fi 6 ของหัวเว่ย ซึ่งขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย ก็ได้กลายเป็นตัวเลือกอันดับ 1 ของลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ในการสร้างเครือข่าย Wi-Fi 6 ที่ครอบคลุมแบบไร้ช่องโหว่ รวดเร็ว ไม่มีสะดุดและปราศจากการเชื่อมต่อที่ล้มเหลวระหว่างการโรมมิ่ง ตัวอย่างลูกค้า Wi-Fi 6 ของหัวเว่ย ได้แก่ เซิ่นเจิ้น เมโทร ประเทศจีน, สนามกีฬาบาเซิล เซนต์ จาคอบ พาร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, ธนาคารอากอส ประเทศอิตาลี, มหาวิทยาลัยมอนดรากอน ประเทศสเปน และมหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้

มร. สตีเว่น จ้าว ประธานบริหาร ฝ่าย Campus Network Domain กลุ่มผลิตภัณฑ์การสื่อสารข้อมูลของหัวเว่ย กล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่า AirEngine Wi-Fi 6 ของหัวเว่ยเป็นที่นิยมและมีการใช้งานกันอย่างกว้างขวางในหลายภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา ภาครัฐ องค์กรขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์ AirEngine Wi-Fi 6 ของหัวเว่ยมีส่วนช่วยองค์กรทั้งขนาดเล็กและใหญ่ สร้างเครือข่ายที่มุ่งเน้นประสบการณ์ของผู้ใช้เป็นหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรและการผลิต อันจะนำไปสู่การเปิดตัวบริการด้านดิจิทัลในสเกลใหญ่ และเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

ความไว้วางใจที่ลูกค้ามอบให้แก่ Wi-Fi 6 ของหัวเว่ย เป็นแรงขับเคลื่อนให้หัวเว่ยมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนา Wi-Fi 6 อย่างต่อเนื่อง โดยการดำเนินงานของหัวเว่ยเพื่อพัฒนา Wi-Fi 6 มีดังต่อไปนี้

โอซามา อาโบล มาจด์ ผู้เชี่ยวชาญจากหัวเว่ย ได้รับเลือกเป็นประธานของกลุ่มการทำงาน IEEE 802.11ax เมื่อปี 2557 และได้ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อกำหนดมาตรฐานการพัฒนาอุตสาหกรรม Wi-Fi 6 อย่างต่อเนื่อง
หัวเว่ยเป็นเวนเดอร์ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอการกำหนดมาตรฐานของ Wi-Fi 6 มากที่สุดจากบรรดาผู้ให้บริการอุปกรณ์เครือข่ายทั้งหมด
เดือนตุลาคมปี 2560 หัวเว่ยเปิดตัว Access Point Wi-Fi 6 เชิงพาณิชย์เป็นเจ้าแรก ตั้งแต่นั้นมา หัวเว่ยก็ขยายพอร์ตโฟลิโอ Wi-Fi 6 ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และโซลูชันล้ำสมัยที่ปรับให้เหมาะกับการใช้งานในสถานการณ์ที่หลากหลายมาโดยตลอด
หัวเว่ยและ Wireless Broadband Alliance หรือ WBA ได้ร่วมกันออกแบบระบบการเรียนการสอนและกรณีศึกษาที่ใช้ Wi-Fi 6 ที่มหาวิทยาลัยมอนดรากอน ประเทศสเปน

ในอนาคต หัวเว่ยจะมุ่งมั่นทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มุ่งเน้นรูปแบบการใช้งานของแต่ละอุตสาหกรรม และส่งมอบโซลูชันเครือข่าย Wi-Fi 6 ที่สมบูรณ์แบบสำหรับการใช้งานดิจิทัลรูปแบบใหม่ หัวเว่ยจะยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชัน AirEngine Wi-Fi รุ่นใหม่ ๆ ที่ขับเคลื่อนโดย 5G ต่อไป เพื่อช่วยองค์กรสร้างสรรค์เครือข่ายอนาคตที่เชื่อมต่อกันโดยสมบูรณ์


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ประธานคณะกรรมการของหัวเว่ยคาดรายได้ปี 2019 โตขึ้น 18% แม้ต้องเผชิญกับการแบนของสหรัฐฯ

“แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เราเป็นรอง แต่สุดท้ายเราก็ยังหาทางรอดออกมาได้” มร. อีริค สวี กล่าว

กรุงเทพฯ/ 3 มกราคม 2563 — มร. อีริค สวี ประธานคณะกรรมการ หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ได้เผยแพร่ข้อความอวยพรปีใหม่แก่พนักงานของบริษัท พร้อมขอบคุณสำหรับการทำงานหนักอย่างทุ่มเทในช่วงปีแห่งความท้าทาย อีกทั้งยังย้ำให้พนักงานเตรียมพร้อมหากต้องเผชิญความยากลำบากในปีที่จะมาถึง “รัฐบาลสหรัฐฯ จะพยายามยับยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของเรา แต่หัวเว่ยจะมุ่งมั่นทำงานเพื่อความอยู่รอดและความสำเร็จ” เขากล่าวย้ำ หัวเว่ยยังคาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทในปี 2562 จะอยู่ที่ 850 พันล้านหยวน (3.6 ล้านล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นราว 18% จากปีก่อนหน้า

มร. สวี ได้กล่าวว่า ธุรกิจหลักของบริษัททุกกลุ่มมีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สำหรับกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม หัวเว่ยเป็นผู้นำในการติดตั้งใช้งานเทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ระดับโลก ด้วยการคว้าสัญญาเชิงพาณิชย์เพื่อติดตั้งเครือข่าย 5G ไปแล้วกว่า 50 ฉบับทั่วโลก ธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ยังคงช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้แก่หลากหลายอุตสาหกรรม กว่า 700 เมืองและบริษัทชั้นนำในลิสต์ Fortune Global 500 ถึง 228 แห่ง ได้เลือกหัวเว่ยเป็นพันธมิตรในการทรานสฟอร์มด้านดิจิทัล และจากการส่งมอบสมาร์ทโฟนตลอดทั้งปีกว่า 240 ล้านเครื่อง มร. อีริค สวี กล่าวว่าธุรกิจคอนซูมเมอร์ของหัวเว่ยก็ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกเหนือจากสถิติยอดขายสมาร์ทโฟนที่น่าประทับใจแล้ว ยอดขายอุปกรณ์ Wearables ในปี 2019 ของบริษัทยังเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 243% ด้วยยอดการจัดส่ง 5.9 ล้านชิ้น และครองส่วนแบ่งทางการตลาด 13% ทั่วโลก

ในข้อความอวยพร มร. สวี ยังได้กล่าวว่าตนรู้สึกซาบซึ้งที่พนักงานทุกคนตั้งใจทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน และยังได้กล่าวชื่นชมทีมงานที่ต้องทำงานตลอดทั้งวันทั้งคืนเพื่อ “อุดรูรั่วบนเครื่องบินที่ผ่านศึกสงครามมาอย่างโชกโชนลำนี้” เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โฆษกของหัวเว่ยได้ประกาศว่าบริษัทจะให้โบนัสมูลค่ารวม 2 พันล้านหยวน (8.6 พันล้านบาท) แก่พนักงาน แทนคำขอบคุณที่ได้ช่วยให้บริษัทผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบาก หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประกาศแบนหัวเว่ย

ในช่วงท้ายของข้อความอวยพร มร. สวี ได้กล่าวย้ำว่า ปี 2563 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะเขาคาดว่า ชื่อของหัวเว่ยจะยังอยู่ในบัญชีดำของสหรัฐฯ ต่อไป “ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการโจมตีหัวเว่ยถือเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว” เขากล่าว พร้อมย้ำว่า หัวเว่ยมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เสมอ “ปีนี้ถือเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ของเราในการพัฒนาตนเองและเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเคย” เขากล่าวให้กำลังใจพนักงาน

ในอีก 5 ปีข้างหน้า หัวเว่ยจะมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและได้เตรียมงบประมาณไว้ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (60,000 ล้านบาท) เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันคุณภาพที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

“เซีอีโอหัวเว่ยกล่าว “ถ้ากูเกิลไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานกับหัวเว่ยเราก็มีแผนสำรองรอไว้อยู่แล้ว

มร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการบริหารของหัวเว่ย กล่าวกับ CNN เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า หากกูเกิลไม่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ให้กลับมาทำธุรกิจกับหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ซึ่งจะเป็นการกีดกันไม่ให้ดีไวซ์รุ่นใหม่ ๆ ของหัวเว่ยใช้ Google Mobile Services (GMS) บริษัทก็จำเป็นต้องเอาอีโคซิสเต็มของตัวเองมาใช้แทน “ผมเชื่อว่าในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า เราจะสร้างอีโคซิสเต็มที่จะใช้ร่วมกันทั่วโลกเองได้สำเร็จ” มร. เหริน กล่าว

มร. เหรินในวัย 75 ปีแสดงความคิดเห็นว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆ ไม่ใช่แค่สำหรับหัวเว่ย แต่สำหรับพวกเราทุกคนด้วย เขาหวังว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะ “พักเรื่องการเมืองไว้ก่อน” และคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทอเมริกันเป็นหลัก หัวเว่ยเชื่อมั่นในระบบโกลบอลซัพพลายเชนที่ทุกประเทศเกื้อหนุนกันเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย มร. เหริน กล่าวว่าเขานับถือสหรัฐอเมริกาในฐานะชาติที่ยิ่งใหญ่และทุกคนที่หัวเว่ยได้เรียนรู้อะไรมากมายจากความสำเร็จของสหรัฐฯ ความนับถือนั้นจะยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เพื่อความอยู่รอด บริษัทจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมในกรณีที่บริษัทอเมริกันไม่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งชิ้นส่วนให้หัวเว่ย “หากบริษัทอเมริกันไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจกับเรา เราก็ยังมีออปชั่นอื่น” มร. เหริน กล่าวยืนยันและเสริมว่า “และเมื่อเราพบว่าทางเลือกใหม่แข็งแกร่งพอและไว้วางใจได้ ผมคิดว่าเราอาจจะไม่กลับไปหาบริษัทอเมริกันแล้วก็ได้”

หลังจากสหรัฐฯ ประกาศแบนหัวเว่ยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หัวเว่ยมุ่งมั่นพัฒนาและดำเนินธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันที่จะเป็นอิสระจากเทคโนโลยีของอเมริกาแบบ 100% เมื่อเดือนกรกฏาคม มร. จาง หมิงกัง รองประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ย ประเทศฝรั่งเศส ได้คาดการณ์ว่า วันประกาศอิสรภาพจะมาถึงในปี 2564 แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าหัวเว่ยจะบรรลุเป้าหมายนั้นเร็วกว่าที่คาดไว้มาก รายงานของ UBS และ Fomalhaut Techno Solutions พบว่า Huawei Mate 30 สมาร์ทโฟนแฟลกชิปรุ่นล่าสุดของหัวเว่ย ไม่ใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์จากอเมริกาเลย เช่นเดียวกับสถานีฐาน 5G อันล้ำสมัยของหัวเว่ย มร. เหริน กล่าวย้ำเมื่อเดือนกันยายนว่า ขณะนี้หัวเว่ยผลิตสถานีฐาน 5G ที่ปราศจากชิ้นส่วนของอเมริกาได้เดือนละ 5,000 ชุด เป็นการตอกย้ำว่าบริษัทอยู่ได้สบาย ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

เมื่อผู้สื่อข่าว CNN ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากกูเกิลไม่ได้ใบอนุญาตให้ทำธุรกิจกับหัวเว่ย ซีอีโอของหัวเว่ย กล่าวว่า “เรามีแผนสำรองรอไว้อยู่แล้ว” พร้อมเสริมว่าหัวเว่ยมีความตั้งใจและมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนอันดับ 1 ของโลก แต่ขั้นตอนดังกล่าวอาจ “ต้องใช้เวลาสักพัก” เขาได้เปิดเผยข้อมูลว่าบริษัทจะเร่งเครื่องวางกลยุทธ์เพื่อกลับเข้าสู่ตลาดต่างประเทศในปี 2563 โดย CNN ยังได้ขอความเห็นของ มร. เหริน เรื่องที่สหรัฐฯ พยายามล็อบบี้ไม่ให้ประเทศพันธมิตรในยุโรปใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยในเครือข่าย 5G มร. เหริน ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าตนมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า “ทุกประเทศจะเห็นและตัดสินใจเลือกได้เอง”


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

วิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งหัวเว่ย: การพรั่งพรูของนวัตกรรมในโลกยุคใหม่

เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการบริหารของหัวเว่ยกล่าวไว้ว่า

“โลกยุคใหม่ต้องอาศัยความร่วมมือที่เปิดกว้างจากทั่วโลก”

วิสัยทัศน์ปี 2563

หัวเว่ยมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่ามนุษยชาติจะก้าวเข้าสู่โลกที่ชาญฉลาดในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ปัจจุบันสังคมของเราเต็มไปด้วยการคิดค้นทฤษฎีและการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างมากมายมหาศาล แน่นอนว่าโอกาสในการเติบโตมักตามมาด้วยความไม่แน่นอน โลกยังมีอีกหลายคำถามที่ยังรอคนมาตอบ ความร่วมมือที่เปิดกว้างจึงจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาที่เรายังคิดไม่ตก

ในวงการอิเล็กทรอนิกส์ ชิปจะมีขนาดลดลงเรื่อย ๆ จนอาจจะเหลือเพียงสามหรือแค่หนึ่งนาโนเมตรเท่านั้น วิวัฒนาการนี้จะยังคงเป็นไปในทิศทางที่เรายังไม่อาจคาดเดาได้ แม้กระทั่งกฎของมัวร์ก็กลับกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว แต่ก่อนเราเคยเชื่อว่ากราฟีน (Graphene) จะเป็นตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการในยุคปัจจุบัน แต่ในวันนี้ เราไม่แน่ใจแล้วว่าความคิดนี้จะยังเป็นจริงอยู่ไหม

ในอีกสองถึงสามทศวรรษข้างหน้า เราจะได้ประจักษ์การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีทางพันธุกรรม ซึ่งจะเร่งให้เกิดความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดในแวดวงวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ และเวชศาสตร์นาโน แต่เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าการพัฒนาที่สำคัญเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงานของเราไปในรูปแบบใด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับโมเลกุลสามารถนำไปใช้สังเคราะห์และสร้างสรรค์เป็นวัสดุที่ยังไม่มีมาก่อนในโลก ไม่มีทางที่จะบอกได้ว่าจะมีวัสดุและเทคโนโลยีใหม่ ๆ แบบใดเกิดขึ้นมา แต่สิ่งที่เรารู้อย่างแน่ชัด คือจะมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปใช้อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังคาดเดาไม่ได้ว่า AI จะผลักดันสังคมให้ก้าวไปในทิศทางใดและสร้างความมั่งคั่งให้มากกว่านี้ด้วยวิธีใดบ้าง

การคิดค้นและการใช้งานอย่างแพร่หลายของระบบควอนตัมคอมพิวเตอร์จะกระตุ้นให้เกิดการล้นทะลักของการรับส่งข้อมูล ถึงแม้จะรู้ว่าโลกจะได้รับผลกระทบจากดาต้าจำนวนมหาศาล แต่สิ่งต่างๆ ก็อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็เป็นได้ นอกจากนี้แล้ว จะมีการนำเทคโนโลยีออปติกไปใช้อย่างแพร่หลายในโดเมนต่าง ๆ ด้วย

ความก้าวหน้าในการสร้างกฎข้อบังคับของเทคโนโลยีแต่ละแขนงกำลังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในอัตราที่น่าประหลาดใจ แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากความก้าวหน้าทางด้านสหวิทยาการนั้นกลับน่าประหลาดใจยิ่งกว่า นวัตกรรมแห่งอนาคตทั้งหลายเหล่านี้จะมาพร้อมกับการเติบโตอย่างมหาศาลของทราฟิกข้อมูล เรายังคาดการณ์ไม่ได้ว่าเราจะต้องใช้ที่จัดเก็บข้อมูลขนาดเท่าใด หรือระบบส่งถ่ายข้อมูล และการประมวลผลข้อมูลปริมาณขนาดใหญ่มหาศาลมากเพียงใด สิ่งที่เรารู้แน่ ๆ ก็คือว่า ข้อมูลจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จะถูกจัดเก็บและประมวลผลบนคลาวด์ แต่เราจะมีช่องทางจัดการกับข้อมูลจำนวนมากนี้ได้อย่างไร

สรุปสั้น ๆ คือ เรายังไม่รู้ว่าโครงสร้างของสังคมของเราจะเป็นอย่างไร เราจะปรับตัวรับมือกับมันอย่างไร หรือแม้แต่จะควบคุมมันอย่างไร แนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งหมดกำลังค่อยๆ เผยโฉมให้เราเห็น คลื่นลูกใหม่ทางนวัตกรรมเทคโนโลยีจะมีลักษณะเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่ขยายการพัฒนาออกไปสู่ศาสตร์อื่นๆ ที่หลากหลาย เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในหลากหลายแนวทางปฏิบัติ แถมยังกลายเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาในทุกอุตสาหกรรมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ เราต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารให้แข็งแกร่งมากขึ้น โดยโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นนั้นแบ่งออกเป็นด้านแข็ง (เทคโนโลยีที่จับต้องได้) และ ด้านอ่อน (กฎและทักษะที่เรานำไปใช้)

ในโครงสร้างพื้นฐานด้านแข็ง เรามีเครือข่ายออปติกและที่ขาดไม่ได้ก็คือ เทคโนโลยี 5G รวมไปถึง 6G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดย AI จะต้องพึ่งเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารหลายรูปแบบ และจะพัฒนาต่อไม่ได้เลยหากไม่มีการขยายขีดความสามารถของเทคโนโลยีด้านข้อมูลไปเรื่อย ๆ หากจะเปรียบเทียบก็คือ AI เป็นดั่งรถแรง ๆ ที่วิ่งด้วยความเร็วสูงคันหนึ่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศก็ต้องเป็นไฮเวย์ที่มาคอยรองรับความแรงของรถคันนี้

สำหรับโครงสร้างด้านอ่อน เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติต่างๆ หัวใจสำคัญอยู่ที่บุคลากรที่มีความสามารถครบครัน เราจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ได้ต่อเมื่อทุกประเทศร่วมกันส่งเสริมและผลักดันการศึกษาอย่างเต็มที่ พร้อมกับการพัฒนาผู้มีความสามารถรอบด้านด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดอิสระด้านการศึกษาและส่งเสริมอิสรภาพทางความคิด

ให้ดาต้านำทางเราไป

โลกปัจจุบันกำลังยืนอยู่หน้าประตูสู่โลกยุคใหม่อันชาญฉลาด หัวเว่ยต้องเลือกบทบาทหน้าที่ในโครงสร้างของสังคมใหม่ในอีก 20 ถึง 30 ปีข้างหน้านี้ เรารู้ว่าปริมาณทราฟิกของข้อมูลจะมีปริมาณมากมายเหลือล้นในอนาคต ดังนั้นแนวทางด้านกลยุทธ์ของเราจะเน้นในด้านของการจัดช่องทาง การกระจาย การจัดเก็บ และการประมวลผลข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาลนี้ นี่จะเป็นสิ่งที่เราจะให้ความสำคัญในระยะยาว เราต้องมุ่งมั่นอยู่บนเส้นทางที่เลือก พร้อมๆ ไปกับการปรับตัวและพร้อมตั้งรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นบนทางสายดังกล่าวด้วย

ฤดูใบไม้ผลิอันสดใสงดงามไม่ได้เกิดขึ้นจากการเบ่งบานของดอกไม้เพียงดอกเดียว ในสังคมของข้อมูลข่าวสารที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลานี้ เราไม่ควรไปห้ามไม่ให้ดอกไม้ช่อใดหยุดแสดงความงดงามของตน ที่หัวเว่ย เรายังคงทำงานร่วมกับบริษัทมากมายทั่วโลกเพื่อสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน เรายึดมั่นและสนับสนุนโลกาภิวัฒน์มาโดยตลอดและจะยังคงเปิดกว้างและร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อแบ่งปันความสำเร็จกับทุก ๆ คนในโลกใบนี้


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ยกร้าวไม่ง้อ ให้อเมริกาใส่ชื่อในบัญชีดำตลอดไปก็ได้

ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย:

“เราไม่สนเรื่องสหรัฐฯ แบนเราอีกแล้ว”
“ให้อเมริกาใส่ชื่อหัวเว่ยในบัญชีดำตลอดไปก็ได้ เพราะเราอยู่ได้สบาย ๆ อยู่แล้ว”

มร. เหริน เจิ้งเฟย กล่าว

กรุงเทพฯ/ 29 พฤศจิกายน 2562 – หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุด และผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับสองของโลก ประกาศกร้าวว่าบริษัทเลิกสนใจการโจมตีอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทรัมป์ไปนานแล้ว “เราไม่คาดหวังว่าสหรัฐอเมริกาจะถอนชื่อหัวเว่ยออกจากบัญชีดำ” มร. เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย ประกาศระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ กับหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล “ให้อเมริกาใส่ชื่อหัวเว่ยในบัญชีดำตลอดไปก็ได้ เพราะเราอยู่ได้สบาย ๆ อยู่แล้ว” มร. เหริน กล่าวเสริม

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หัวเว่ยถูกรวมเข้าไปอยู่ในบัญชี Entity List ของสหรัฐอเมริกา มีผลบังคับไม่ให้หัวเว่ยทำธุรกิจใด ๆ กับบริษัทสัญชาติอเมริกัน นับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หัวเว่ยมองว่ามีผลกระทบเพียงเล็กน้อยกับธุรกิจของบริษัท ภายหลังจากการขึ้นบัญชีดำ มร. เหริน เองได้คาดการณ์ไว้ว่า หัวเว่ยอาจต้องสูญเสียรายได้ราว 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การประเมินของเขากลับไม่ถูกต้อง เพราะบริษัทประกาศว่ารายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีเติบโตสูงขึ้นถึง 24% ในเดือนกันยายน มร. แอนดี้ เพอร์ดี้ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยของหัวเว่ย เทคโนโลยี่ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า บริษัทซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทอเมริกาไปเป็นมูลค่ากว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 ซึ่งหากขาดรายได้จากการสั่งซื้อของหัวเว่ย บริษัทสหรัฐฯ จะต้องขาดทุนมหาศาล

แม้ว่าจะโดนแบน มร. เหริน กล่าวย้ำว่า เขาไม่เคยเกลียดสหรัฐฯ และหัวเว่ยก็จะไม่ปิดประตูใส่ประเทศใด ๆ เพื่อประโยชน์ด้านความก้าวหน้าและการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างรวดเร็วของโลก ซีอีโอของหัวเว่ยกล่าวย้ำมาโดยตลอดว่าตนยึดถือหลัก “ความร่วมมือที่เปิดกว้างเพื่อความสำเร็จร่วมกัน” และต้องการที่จะทำงานกับทุกประเทศทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโลกยุคดิจิทัล เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มร. เหริน ได้ประกาศขายเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย รวมถึงองค์ความรู้และลิขสิทธ์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้แก่บริษัทสหรัฐฯ

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เขาย้ำว่าข้อเสนอของเขานั้นเป็นเรื่องจริง และยังเปิดรับอยู่ แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่มีบริษัทใดติดต่อเข้ามา

เมื่อนักข่าวถามเรื่องข้อกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐานของสหรัฐฯ ที่ว่า หัวเว่ยอาจต้องปฏิบัติตามกฎหมายในการส่งข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าให้แก่รัฐบาลจีน หากมีการร้องขอ มร. เหริน กำชับว่า เขาและพนักงานเกือบ 200,000 คนทั่วโลกจะปฏิเสธคำร้องขอนั้น พร้อมยืนยันว่า บริษัทมีมาตรการที่เข้มงวดต่อการทำผิดกฎระเบียบของพนักงาน และบุคคลใดก็ตามที่ทำความผิด จะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง

มร. เหริน รวมถึงผู้บริหารระดับสูงทุกคน ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาลสหรัฐฯ เรื่องการสอดแนมมาหลายต่อหลายครั้งว่า มันไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงการโจมตีโดยมีเหตุจูงใจทางการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งหวังทำลายการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัทก็ยังนำโด่งในฐานะผู้ให้บริการโซลูชั่น 5G ที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุด และได้คว้าสัญญา 5G เชิงพาณิชย์ไปแล้วกว่า 50 ฉบับทั่วโลก หัวเว่ยจะไม่มีวันหยุดพัฒนานวัตกรรมด้าน 5G, AI และโมบายเทคโนโลยี โดยถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่ลงทุนด้าน R&D มากที่สุดในโลก ในอีก 5 ปีข้างหน้า หัวเว่ยมีแผนที่จะทุ่มงบถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมและ R&D ทั่วโลก


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

จส. 100 นอสตร้า และหัวเว่ยร่วมลงนาม MoU ผลักดันแพลตฟอร์ม IoT “ตามรอย (Tamroi)” เพื่อต่อยอดธุรกิจไทยและให้บริการสังคม

[กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 9 ตุลาคม 2562] สถานีวิทยุ จส. 100 นอสตร้า และหัวเว่ยร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในการพัฒนาแอปพลิเคชัน NB-IoT และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย

ในการนี้ คุณหญิงสุวิมล ผึ่งประเสริฐ กรรมการบริหาร บริษัท แปซิฟิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผู้อำนวยการ สถานีวิทยุ จส.100 พร้อมด้วยนายวิชัย แสงหิรัญวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลบเทค จำกัด และแบรนด์นอสตร้า และ นายโรเบิร์ต ฉี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท หัวเว่ย จำกัดร่วมลงนาม MoU โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือในการแบ่งปันโนว์ฮาวและการพัฒนาร่วมกัน รวมถึงการสาธิตและการทดสอบแอปพลิเคชัน บนเทคโนโลยี NB-IoT เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแผนกลยุทธ์ NB-IoT สำหรับประเทศไทย

ในพิธีลงนาม ทั้งสามองค์กรได้ประกาศเปิดตัว “ตามรอย (Tamroi)” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริการ IoT ที่สามารถช่วยดูแลผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วย และนักท่องเที่ยว พร้อมกับการบริหารจัดการของมีค่าสำหรับทั้งองค์กรและบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้บริการที่ดียิ่งขึ้นสำหรับสังคมไทย

ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีของระบบ NB-IoT ตามรอย (Tamroi) จะช่วยระบุตำแหน่งคนที่คุณรักด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ และแอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และยังสามารถขอความช่วยเหลือจากทีมคอลเซ็นเตอร์ของ จส. 100 ตลอด 24 ชั่วโมงได้อีกด้วย โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งของอุปกรณ์ และสิทธิ์ในการเข้าถึงจะปิดลงเมื่อเสร็จสิ้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวแต่อย่างใด

นอสตร้า ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เทคโนโลยีและให้บริการด้านข้อมูลแผนที่ดิจิทัล และ Location Contents ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) จะร่วมช่วยพัฒนาแพลตฟอร์ม โดยครอบคลุมถึงแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์เคลื่อนที่และระบบเฝ้าติดตามทางเว็บด้วยแผนที่ฐานที่มีความละเอียด ถูกต้อง แม่นยำสูง

สถานีวิทยุ จส. 100 บริษัทสื่อออกอากาศที่นำเสนอข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับการจราจรเพื่อประโยชน์ของชุมชนในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา จะทำหน้าที่เป็นคอลเซ็นเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมงและช่วยประสานงานปัญหาทั้งหมดเกี่ยวกับบริการช่วยเหลือ ด้วยสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพันธมิตรด้านการช่วยเหลือฉุกเฉินต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้แก่ สถานีตำรวจ โรงพยาบาล มูลนิธิ หน่วยงานราชการ และอาสาสมัครต่าง ๆ จส. 100 สามารถเป็นฮับในการรับส่งข้อมูลเพื่อช่วยเหลือทุกคนในชีวิตประจำวัน

หัวเว่ย ผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จะร่วมให้การสนับสนุนการบูรณาการระบบ IoT กับผู้บูรณาการระบบในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการพัฒนากรณีการใช้งาน IoT ต่าง ๆ ในประเทศไทย

นายวิชัย แสงหิรัญวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลบเทค จำกัด และแบรนด์นอสตร้า กล่าวว่า “เทคโนโลยี IoT ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยที่กำลังอยู่ในกระแสดิสรัปชั่น โดยการทำงานร่วมกันระหว่างนอสตร้า จส. 100 และหัวเว่ย ตอกย้ำความมั่นใจของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการพัฒนาธุรกิจและสังคมที่แท้จริง ‘แพลตฟอร์มบริการตามรอย (Tamroi)’ จะมอบคุณค่าที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้งาน และเปิดช่องทางการตลาดยังไม่มีใครสามารถทำได้”

“เราหวังว่า แพลตฟอร์มบริการตามรอย (Tamroi) จะสามารถให้บริการด้านการดูแลแก่สาธารณะ และลดจำนวนสถิติการเกิดอุบัติการณ์ 6 อันดับแรกในประเทศไทย อันได้แก่ อุบัติเหตุ/อุบัติเหตุทางรถยนต์ การเจ็บป่วย คนหาย สัตว์เลี้ยงหาย ของมีค่าหาย และนักท่องเที่ยวหรือแรงงานต่างชาติหาย” คุณหญิงสุวิมล ผึ่งประเสริฐ กล่าว

“โครงการตามรอย (Tamroi) นี้เป็นผลงานสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของเรากับ จส.100 และนอสตร้า เพื่อนำบริการ IoT มาสู่ประเทศไทย และสามารถเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีในการสร้างระบบนิเวศของ IoT” นายโรเบิร์ต ฉี กล่าว “เราเชื่อว่าเทคโนโลยี IoT จะมีส่วนสนับสนุนให้แก่สังคมไทยมากยิ่งขึ้น และบริการตามรอย (Tamroi) จะช่วยให้การดูแลเป็นพิเศษแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ อาทิเช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ป่วย และนักท่องเที่ยวได้”

นอกจากนี้ภายในงานยังมีแขกรับเชิญพิเศษ 2 ท่าน ได้แก่ นายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และรศ.นพ. รัฐพลี ภาคอรรถ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในประเด็นที่เกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมด้านความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวว่า “ในฐานะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยว ในเรื่องความปลอดภัย และสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยว โดย ททท. พยายามอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูลการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นใจและความอุ่นใจให้นักท่องเที่ยวเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในทุกเรื่อง เช่น การพลัดหลง ของหาย เป็นต้น รู้สึกยินดีที่มีการพัฒนาระบบการบริการที่จะมาช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวในครั้งนี้”


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มร. เคน หู การผลักดันให้ทุกคนได้เข้าถึงโลกดิจิทัล — อย่าให้ใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

หัวเว่ยมุ่งมั่นขับเคลื่อนโครงการ TECH4ALL เพื่อช่วยให้ผู้คนอีก 500 ล้านคน ให้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในอีก 5 ปีข้างหน้า

นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน/ 19 กันยายน 2562 — “การผลักดันให้ทุกคนได้เข้าถึงโลกดิจิทัลหมายถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบบเปิดกว้างและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ครอบครัว หรือองค์กรทุกหนแห่ง” มร. เคน หู รองประธานบริหารของหัวเว่ย กล่าวปาฐกถาบนเวที TECH4ALL Summit ในงาน Huawei Connect 2019 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ธีม “นวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อทุกคนจะขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า” โดยมร. หู ได้กล่าวถึงโครงการริเริ่มของหัวเว่ยอย่าง TECH4ALL พร้อมแชร์ความคืบหน้าของโครงการ และยังได้เชิญชวนบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ให้มาร่วมแก้ปัญหากับหัวเว่ย ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ การศึกษา การพัฒนา และสิ่งแวดล้อม เป้าหมายของโครงการ TECH4ALL คือ การช่วยให้ผู้คนอีก 500 ล้านคนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในอีก 5 ปีข้างหน้า

ทำเทคโนโลยีให้มีความอบอุ่นมากขึ้นด้วยการแบ่งปันความรักและเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นตัวเร่งให้โลกของเรามีความอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น ระหว่างที่เราเพลิดเพลินกับความสะดวกสบายที่ได้รับจากวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี เราต้องหันกลับมามองอีกด้านหนึ่งด้วย ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลยังคงอยู่ หลายเมืองในประเทศจีน ผู้สูงอายุมากมายไม่สามารถเรียกแท็กซี่จากริมถนนได้เพราะแท็กซี่มากมายถูกจองผ่านโทรศัพท์มือถือไปแล้ว ในบังกลาเทศ ผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้รับโอกาสให้เรียนคอมพิวเตอร์ ในประเทศคอโมโรส ประชากรถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และประเทศเพิ่งจะมีเครือข่ายโทรคมนาคมเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้เอง

ในฐานะโครงสร้างพื้นฐานของโลกอัจฉริยะ อุตสาหกรรมไอซีทีมีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติและเป็นตัวช่วยผลักดันสวัสดิการและความสุขของคนในสังคม วงการไอทีซียังจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ อันจะทำให้มนุษยชาติสามารถแก้ปัญหาสำคัญอย่าง ความยากจน ความไม่เท่าเทียม ภาวะโลกร้อน การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ และการดูแลสุขภาพ เป้าหมายสูงสุดของเราคือการไม่ทอดทิ้งใครเอาไว้ข้างหลังในโลกยุดดิจิทัล

การผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงโลกดิจิทัล: ทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านเทคโนโลยี หัวเว่ยไม่เคยละทิ้งความพยายามที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น วันนี้เรามุ่งมั่นทำงานต่อไปด้วยโครงการในระยะยาวภายใต้ชื่อ TECH4ALL เพื่อส่งเสริมการผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงดิจิทัล ซึ่งหมายความว่าบุคคลทุกคนและองค์กรทุกแห่งมีสิทธิ์เข้าถึงและใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีการสื่อสารได้

ในวันนี้ เด็ก ๆ ในทวีปแอฟริกาได้รับรู้ว่าโลกภายนอกมีหน้าตาเป็นอย่างไร เด็ก ๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้สัมผัสความสุขจากการอ่านได้อย่างไม่รู้จบ เราเข้าใจคลื่นเสียงที่วาฬส่งหาครอบครัวของมัน ตัวอย่างของการพัฒนานั้นยังมีอีกมากมาย แต่โดยทั่วไปแล้ว เรากลับมองว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนห่างไกลจากธรรมชาติ แต่ในทางกลับกัน บ่อยครั้งเราก็ได้ยินเรื่องจริงที่น่าประทับใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ในโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วใบนี้

เทคโนโลยี การใช้งาน และทักษะ: พื้นฐานของการผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงดิจิทัล
หัวเว่ยมีวิสัยทัศน์และภารกิจในการนำดิจิทัลไปสู่คนทุกคน ทุกบ้านและทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างเต็มรูปแบบ “การผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงดิจิทัล” เป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงค่านิยมของหัวเว่ยได้เป็นอย่างดี โครงการ TECH4ALL นี้เกิดขึ้นมาจากวิสัยทัศน์ด้านความเท่าเทียมของหัวเว่ย

“เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังพลิกโฉมโลกใบนี้ เราอยากให้ทุกคนได้รับประโยชน์และเข้าถึงโลกดิจิทัลได้ สำหรับโครงการ TECH4ALL เทคโนโลยีจะเป็นดั่งรากฐาน การใช้งานจะเป็นตัวปลดล็อก และทักษะจะเป็นตัวสร้างความเชื่อมั่น” มร. หู กล่าว “ โดยโครงการ TECH4ALL จะมุ่งเน้นสามส่วนด้วยกัน ได้แก่ เทคโนโลยี การใช้งาน และทักษะ”

• เทคโนโลยี: หัวเว่ยจะลดค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อและอุปสรรคในการขยายความครอบคลุมของเครือข่าย ด้วยการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้าน AI คลาวด์ และอุปกรณ์เคลื่อนที่
• การใช้งาน: หัวเว่ยจะผลักดันระบบอีโคซิสเต็ม และช่วยนักพัฒนาซอฟต์แวร์สร้างการใช้งานเพิ่มเติมสำหรับชุมชนและอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น
• ทักษะ: หัวเว่ยจะทำงานร่วมกับรัฐบาล ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มพูนทักษะดิจิทัลของทุกคนในสังคม

“เราจะต้องมีทิศทางที่แน่ชัดหากต้องการสานต่อที่สิ่งเรามีอยู่เพื่อสรรค์สร้างคุณค่า” มร. หู กล่าว ระหว่างการกำหนดแนวทางสำหรับโครงการ TECH4ALL หัวเว่ยได้คำนึงถึงความสามารถของตนและเส้นทางที่เป็นไปได้ โดยอิงจากประโยชน์ที่จะเกิดแก่วงการไอทีซีและหมายความของการผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงดิจิทัล เรายังได้กำหนด 4 ช่องทางที่จะช่วยส่งเสริมการผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงดิจิทัล

• การดูแลสุขภาพ: การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
• การศึกษา: การใช้เทคโนโลยีเพื่อมอบการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมให้แก่ผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้หญิงและเด็กวัยรุ่น พร้อมปรับปรุงทรัพยากรทางการศึกษา
• การพัฒนา: ขจัดช่องว่างในการพัฒนาในหลากหลายอุตสาหกรรม ธุรกิจ ภูมิภาค และกลุ่มคน เพื่อดูแลให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม
• สิ่งแวดล้อม: การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อช่วยเหลือองค์กรการกุศลปกป้องและรักษาระบบนิเวศ

ในวันนี้ หัวเว่ยได้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมที่รื่นไหลแก่ผู้คนกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก และสนับสนุนการดำเนินงานที่เสถียรให้แก่เครือข่ายมากกว่า 1,500 เครือข่ายในกว่า 170 ประเทศ เขายังกล่าวว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะช่วยให้ผู้คนอีก 500 ล้านคนได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิเช่น AI, คลาวด์ และสมาร์ทดีไวซ์ รวมถึงการใช้งานและทักษะที่เกี่ยวข้องด้วย

ก้าวเล็ก ๆ ในวันนี้: เรายินดีให้คุณมาร่วมกับเรา
ในแวดวงกุมารเวชศาสตร์ ปัญหาที่พบอยู่บ่อยครั้งก็คือ เด็กไม่สามารถบอกอาการป่วยของตนเองได้ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่มีความท้าทายมาก โรคทางสายตาในเด็กเล็กและทารกจึงเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากมากในแผนกกุมารเวชศาสตร์ ในกรณีส่วนใหญ่ เด็ก ๆ ก็ร้องไห้เวลาที่รู้สึกไม่สบายตา และผู้ปกครองก็มักจะคิดว่าลูกงอแงโดยไม่มีสาเหตุ เมื่อขาดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ เด็กมากมายที่มีโรคทางสายตาจึงไม่ได้รับการรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และพลาดโอกาสในการรับการรักษาที่ดีที่สุดไป ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว

ในประเทศสเปน หัวเว่ยร่วมมือกับ IIS Aragon แล็บวิจัยทางการแพทย์ในสเปน และ DIVE (ศูนย์วิจัยในประเทศ) เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งตรวจหาความบกพร่องทางสายตาในเด็กเล็กได้ เมื่อใช้อุปกรณ์ดังกล่าว วิธีตรวจหาอาการคือให้เด็กมองภาพบนหน้าจอ Matebook E ของหัวเว่ย ซึ่งจะจำลองดวงตา ระบบ DIVE จะรวบรวมข้อมูลการจ้องหน้าจอและส่งไปยังโทรศัพท์ P30 จากนั้นแพทย์จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจหาสัญญาณบอกโรคได้ โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวมีชื่อว่า Track AI ในโทรศัพท์ P30 และเมื่อมีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย ผู้ปกครองที่ได้รับข้อมูลเรื่องนี้จะตรวจหาความบกพร่องทางการมองเห็นของบุตรหลานได้โดยไม่ต้องไปหาแพทย์เฉพาะทาง วิธีนี้เป็นวิธีที่รวดเร็ว ง่ายดาย และมีประสิทธิภาพมากกว่า และจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กที่มีความบกพร่องทางสายตากว่า 19 ล้านคนทั่วโลก
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของโครงการริเริ่ม TECH4ALL ขณะนี้หัวเว่ยกำลังทำงานร่วมกับองค์กรการกุศลระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ การศึกษา การพัฒนา และสิ่งแวดล้อม ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น

ในประเทศเคนยา หัวเว่ยกำลังทำงานร่วมกับองค์กรอย่าง ยูเนสโก และ โคลสเดอะแก็บ (Close the Gap) องค์กรการกุศลในเบลเยียม เพื่อปรับปรุงตู้คอนเทนเนอร์ให้กลายเป็นห้องเรียนดิจิทัลเคลื่อนที่ เพื่อเดินทางไปสอนทักษะดิจิทัลให้แก่ครู ผู้หญิง และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลในแอฟริกา การสอนทักษะจะช่วยให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการศึกษาดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม ความพยายามเหล่านี้จะพัฒนาความเป็นอยู่ของคนหนุ่มสาวได้มากมาย

ในพื้นที่ป่าดิบชื้น หัวเว่ยกำลังร่วมมือกับ Rainforest Connection (RFCx) เพื่อแปลงโทรศัพท์มือถือหัวเว่ยที่ใช้แล้วจำนวนมหาศาลให้กลายเป็นอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ที่จะช่วยสอดส่องดูแลผืนป่าฝน โทรศัพท์มือถือจึงกลายมาเป็นหูเป็นตาให้แก่ผืนป่า ทีมงานใช้ AI เพื่อทำให้อุปกรณ์คอยฟังและระบุเสียงรถบรรทุกและเลื่อยไฟฟ้าที่เข้ามาลักลอบตัดต้นไม้ เพื่อเป็นการช่วยองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติรักษาผืนป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปีหน้า จะมีป่าฝนอีกกว่า 6,000 ตารางกิโลเมตรที่จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้

TECH4ALL Summit เป็นการรวมตัวของผู้แทนจากองค์กรมากมาย อาทิเช่น UNESCO, WWF และ WEF องค์กรการกุศลอย่าง RFCx และ DIVE Medical ตลอดจนรัฐบาล ธุรกิจ และอุตสาหกรรมมากมาย โดยทุกองค์กรล้วนเข้ามาร่วมแบ่งปันความคิดให้แก่โครงการ TECH4ALL

แอน เธอรีส หัวหน้า UN UNESCO ประจำแอฟริกาตะวันออก กล่าวว่าวงการไอซีทีและเอไอ จะช่วยให้องค์กรของเธอบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และประกาศว่าจะร่วมมือกับหัวเว่ย ในโครงการ DigiTruck เพื่อสอนทักษะดิจิทัลให้แก่ครูและผู้หญิงในเขตทุรกันดาร นอกจากนี้ World Wildlife Fund (WWF) ยังได้ประกาศโครงการ “การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพผ่านเทคโนโลยี” ซึ่งจะเป็นการนำ AI มาผสานรวมกับการตรวจสอบ การวิจัย และการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โครงการนี้จะช่วยผลักดันการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและช่วยให้เรารักษาระบบนิเวศในธรรมชาติได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวแทนจาก RFCx และ DIVE Medical ได้กล่าวถึงแผนการที่จะส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาผืนป่าฝน พร้อมผลักดันการตรวจหาความบกพร่องด้านการมองเห็นในเด็ก โดยอาศัยความช่วยเหลือจาก AI โครงการเหล่านี้จะทำให้ผู้คนในประเทศต่าง ๆ ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

“TECH4ALL มีเป้าหมายที่จะทำให้คนทุกคน บ้านทุกหลัง และองค์กรทุกแห่ง ได้เพลิดเพลินกับความสวยงามของโลกดิจิทัล เราต้องการดูแลผู้ที่ยังไม่ได้รับโอกาส พร้อมเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ เพราะนี่เป็นคุณค่าสำคัญของเทคโนโลยี” มร. หู กล่าว พร้อมกับเชิญชวนผู้เข้าร่วมงานให้มาร่วมมือกับหัวเว่ย “การผลักดันให้ทุกคนเข้าถึงดิจิทัลเป็นวาระที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ และสังคมในวงกว้าง ณ ตอนนี้ เราเพิ่งเริ่มก้าวเล็ก ๆ เราจะยินดีเป็นอย่างยิ่งหากบุคคลหรือองค์กรใดจะมาร่วมมือกับเรา”

HUAWEI CONNECT 2019 เป็นงานแฟล็กชิปประจำปีซึ่งหัวเว่ยจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไอซีทีระดับโลก โดยงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Advance Intelligence” ที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน 2562 หัวเว่ยมุ่งหวังที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างและทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ สำหรับลูกค้าและพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ให้โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ยประกาศกลยุทธ์การประมวลผล พร้อมเปิดตัว Atlas 900 คลัสเตอร์การเทรน AI ที่รวดเร็วที่สุดของโลก

นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน/ 18 กันยายน 2562 – หัวเว่ยประกาศกลยุทธ์รองรับตลาดคอมพิวติ้ง พร้อมเปิดตัว Atlas 900 คลัสเตอร์การเทรน AI ที่รวดเร็วที่สุดของโลก ในงาน Huawei Connect 2019 Atlas 900 ขุมพลังของการประมวลผล AI จะช่วยทำให้ AI มีความพร้อมยิ่งขึ้นสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ในหลากหลายสาขา


มร. เคน หู กล่าวถึงกลยุทธ์การรองรับตลาดคอมพิวติ้งของหัวเว่ย ระหว่างกล่าวปาฐกถา ในงาน Huawei Connect 2019

“ตลาดการประมวลผลในอนาคตจะเป็นตลาดที่ใหญ่มาก โดยจะมีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” มร. เคน หู รองประธานกรรมการของหัวเว่ย กล่าว “เราจะลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์ที่เน้นใน 4 ด้านหลัก เราจะขยายขอบเขตของสถาปัตยกรรมออกไปให้กว้างมากขึ้น ลงทุนในด้านโปรเซสเซอร์สำหรับการใช้งานในทุกรูปแบบ มุ่งมั่นกำหนดขอบเขตธุรกิจให้ชัดเจน และสร้างระบบอีโคซิสเต็มแบบเปิดกว้าง”

กลยุทธ์การประมวลผลของหัวเว่ย
แนวคิดในอุตสาหกรรมทางด้านคอมพิวติ้งนั้นกำลังพัฒนาจากโมเดลแบบมีกฎที่ตายตัว (Rule-based) มาเป็นแบบเชิงสถิติ ซึ่งเป็นรากฐานของแมชชีนเลิร์นนิ่ง หัวเว่ยคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า การประมวลผลเชิงสถิติจะกลายมาเป็นกระแสหลัก และการประมวลผลของ AI จะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของรูปแบบการประมวลผลที่ใช้กันทั่วโลก

เพื่อความสำเร็จในตลาดนี้ กลยุทธ์ของหัวเว่ยจะมุ่งเน้น 4 ด้านดังต่อไปนี้

นวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรม

ในปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เปิดตัวสถาปัตยกรรม Da Vinci ซึ่งเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมโปรเซสเซอร์ใหม่ ที่ออกแบบมาให้เป็นทรัพยากรในการประมวลผลที่มั่นคงและกว้างขวาง แต่ให้บริการในราคาที่สมเหตุสมผล หัวเว่ยจะยังคงลงทุนด้านการวิจัยพื้นฐานนี้ต่อไป

การลงทุนในโปรเซสเซอร์ที่รองรับการใช้งานทุกรูปแบบ

หัวเว่ยมีโปรเซสเซอร์หลากหลายรูปแบบ เช่น Kunpeng (คุนเผิง) โปรเซสเซอร์สำหรับการประมวลผลอเนกประสงค์, Ascend (แอสเซนด์) โปรเซสเซอร์สำหรับ AI, Kirin (คิริน)โปรเซสเซอร์สำหรับสมาร์ทดีไวซ์ และ Honghu (หงหู) โปรเซสเซอร์สำหรับสมาร์ทสกรีน

ขอบเขตด้านธุรกิจที่ชัดเจน

หัวเว่ยจะไม่ขายโปรเซสเซอร์โดยตรง แต่จะส่งมอบให้แก่ลูกค้าในรูปแบบของบริการคลาวด์ และส่งให้บริษัทคู่ค้าในรูปแบบของชิ้นส่วนประกอบ เพราะเราให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโซลูชั่นแบบผสานรวม

สร้างระบบอีโคซิสเต็มที่เปิดกว้าง

ในอีก 5 ปีข้างหน้า หัวเว่ยจะลงทุนงบประมาณอีก 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการสร้างนักพัฒนา เพื่อขยายโครงการให้รองรับนักพัฒนาอีก 5 ล้านคน และทำให้บริษัทคู่ค้าของหัวเว่ยทั่วโลกสามารถพัฒนาแอปพลิเคชั่นและโซลูชั่นรุ่นใหม่ๆ สำหรับอนาคตข้างหน้า

Atlas 900 คลัสเตอร์การเทรน AI ที่รวดเร็วที่สุดของโลก

Atlas 900 พัฒนาขึ้นจากเทคนิคขั้นสูงซึ่งหัวเว่ยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมประสานพลังของโปรเซสเซอร์ Ascend หลายพันตัว โดย Atlas 900 จะใช้เวลาเพียง 59.8 วินาทีในการเทรน ResNet-50 ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักในการวัดประสิทธิภาพการเทรน AI โดยสถิติใหม่นี้เร็วกว่าสถิติโลกเดิม 10 วินาที

Atlas 900 คือขุมพลังของการประมวลผล AI และจะนำโอกาสใหม่ๆ มาสู่การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนาธุรกิจใหม่ต่าง ๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ด้านดาราศาสตร์ การพยากรณ์อากาศ และการขับขี่อัตโนมัติ ไปจนถึงการสำรวจหาน้ำมัน หัวเว่ยยังได้ติดตั้ง Atlas 900 ไว้ในหัวเว่ย คลาวด์ อีกด้วย โดยเป็นบริการแบบคลัสเตอร์ ที่ทำให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเข้าถึงพลังในการประมวลผลแบบพิเศษนี้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น หัวเว่ยได้เสนอบริการต่าง ๆ เหล่านี้ในราคาพิเศษแก่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทั่วโลก

มร. เกา เหวิน สมาชิกสภาวิศกรรรมแห่งชาติจีนและผู้อำนวยการสถาบันเผิงเฉิง ได้กล่าวปาฐกถาในงานนี้ด้วยเช่นกัน มร. เหวิน อธิบายถึงพันธกิจและวิสัยทัศน์ของสถาบันเผิงเฉิงและการทำงานร่วมกับหัวเว่ยเพื่อสร้างระบบที่รวมซุปเปอร์คอมพิวติ้งและปัญญาประดิษฐ์เครื่องแรกของประเทศจีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบประมวลผลระดับ Exascale ทั้งสองบริษัทจะร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มรุ่นใหม่สำหรับงานวิจัยและนวัตกรรม AI พื้นฐาน

มร. เจิ้ง เย่ไหล ประธานบริหาร ของหัวเว่ยคลาวด์ กล่าวถึงการประยุกต์ใช้ AI ในสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อศึกษาจากประสบการณ์ของหัวเว่ยที่ทำโครงการมามากกว่า 500 โครงการ ในอุตสาหกรรมกว่า 10 สาขา มร. เจิ้ง ชี้ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังเปลี่ยนจากการใช้งานเชิงพาณิชย์ในวงแคบสู่การเป็นขับเคลื่อนสำคัญเพื่อการปรับเปลี่ยนบริษัทสู่ยุคดิจิทัล

“นี่เป็นยุคใหม่ของการค้นคว้า” มร. เคน หู กล่าวสรุป “มหาสมุทรแห่งศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัดกำลังรอเราอยู่ แต่เราจะข้ามไปไม่ได้หากเรามีเรือเพีย
ลำเดียว วันนี้เราขอส่งเรือหนึ่งพันลำออกจากฝั่ง ขอให้เราทำงานร่วมกัน คว้าโอกาสครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ และยกระดับความอัจฉริยะขึ้นไปอีกขั้น”

HUAWEI CONNECT 2019

เป็นงานแฟล็กชิปประจำปีซึ่งหัวเว่ยจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไอซีทีระดับโลก โดยงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม “Advance Intelligence” ที่นครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน 2562 หัวเว่ยมุ่งหวังที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างและทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ สำหรับลูกค้าและพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อสำรวจโอกาสใหม่ ๆ ให้โลกอัจฉริยะแห่งอนาคต


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ยเผยแพร่รายงานเชิงลึกเรื่องการใช้งาน 5G ในงาน ITU Telecom World 2019

บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี/ 11 กันยายน 2562 – ในงาน ITU Telecom World 2019 หัวเว่ยได้เปิดตัวรายงานเชิงลึก “การใช้งาน 5G” ในระหว่างงานฟอรั่ม “5G+Gigabit: Connecting an Intelligent Future” โดยมี มร. จ้าว โห้วหลิน เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และ มร. ลาสซโล พัลโควิคส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของฮังการี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

รายงานเชิงลึกฉบับดังกล่าวคาดการณ์ถึงลักษณะการใช้งาน 5G ในด้านการขยายศักยภาพของบรอดแบนด์ มีเดีย เอ็นเตอร์เทนเมนต์ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการขนส่งอัจฉริยะ ทั้งยังเรียกร้องให้องค์กรอุตสาหกรรมและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกช่วยกันส่งเสริมให้เกิดการร่วมสร้างมาตรฐานและกำหนดคลื่นความถี่ ทรัพยากรที่เพียงพอ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจที่ดีอย่างจริงจัง ให้พร้อมสำหรับการติดตั้งและการใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ


มร. หยาง เชาปิน ประธานบริหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G ของหัวเว่ย เปิดตัวรายงานเชิงลึกเรื่อง “การใช้งาน 5G”

ที่งานฟอรั่ม ซึ่งหัวเว่ย เทคโนโลยี่ จัดขึ้นในระหว่างงานประชุม ITU Telecom ประจำปี ภายใต้ธีม “5G+Gigabit: Connecting an Intelligent Future” มร. จ้าว โห้วหลิน เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และ มร. ลาสซโล พัลโควิคส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของฮังการี ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเน็ตเวิร์ก 5G

โลกกำลังเร่งนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ การเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ โอเปอเรเตอร์ 35 รายใน 20 ประเทศทั่วโลกได้เปิดให้บริการ 5G แล้ว และอีก 33 ประเทศได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G เรากำลังเข้าสู่ยุคของ 5G อย่างแท้จริง

ในอนาคต 5G จะเปิดพื้นที่ตลาดและโอกาสการลงทุนมากมายเป็นล้านล้านรายการ ในปี 2578 เทคโนโลยี 5G จะสร้างผลิตผลทางเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นมูลค่าถึง 12.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งร้อยละ 80 จะเกี่ยวเนื่องกับ 5G โดยเฉพาะ รายงานเชิงลึกฉบับนี้ได้พูด 5G ใน 4 แง่มุมด้วยกัน คือ การใช้งานใหม่ๆ มาตรฐาน คลื่นความถี่ และระบบนิเวศในอุตสาหกรรม

ด้วยความก้าวหน้าของการเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ การใช้งาน 5G ในรูปแบบใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นมากมาย รวมถึง Enhanced Mobile Broadband, เอ็นเตอร์เทนเมนต์บนสื่อ, การผลิตภาคอุตสาหกรรม, การขนส่งอัจฉริยะ เป็นต้น เครือข่าย 5G สามารถให้บริการเน็ตเวิร์กระดับกิกะบิตประสิทธิภาพสูงและประสบการณ์การใช้งานที่เยี่ยมยอดให้แก่ผู้ใช้ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและความเป็นอัจฉริยะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงยุค 5G ทั้งสองสิ่งเป็นตัวอย่างของประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ซึ่งก็คือ การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมหลายพันรูปแบบ และการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น

การกำหนดมาตรฐานให้เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลกจะช่วยผลักดันให้การใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยขณะนี้ 3GPP เป็นตัวช่วยกำหนดมาตรฐานหลักของ 5G และหลังจากที่มีการประกาศมาตรฐานฉบับแรก ๆ เราก็ได้เห็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมเปิดให้บริการเครือข่ายเชิงพาณิชย์ และการใช้การบริการ eMBB ที่สมบูรณ์บนเครือข่าย 5G มาตรฐานอันเป็นหนึ่งเดียวทั่วโลกยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานฉบับที่ 16 (ปี 2020) และฉบับที่ 17 (ปี 2021) เทคโนโลยี 5G ยังคงก้าวหน้าต่อไป อันจะนำไปสู่การพัฒนาอีโคซิสเต็มในอุตสาหกรรมและการใช้งาน 5G รูปแบบใหม่ ๆ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น

การจัดสรรคลื่นความถี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับหน่วยงานกำกับดูแล การผสานรวมคลื่นความถี่ทั่วโลกจะช่วยลดความซับซ้อนและต้นทุนในการดำเนินการ 5G สำหรับซัพพลายเออร์ ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม พันธมิตรในอุตสาหกรรม และแม้แต่ผู้ใช้เอง การกระจายคลื่นความถี่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศยังคงเป็นรูปแบบที่หน่วยงานกำกับดูแลของหลายๆ ประเทศพยายามผลักดัน ในขณะเดียวกัน การซิงโครไนซ์เครือข่ายก็ควรจะได้รับการพิจารณาด้วย เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานคลื่นความถี่และลดการแทรกแซงของสัญญาณ

5G ต้องการอีโคซิสเต็มที่มั่นคงและโปร่งใสเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความสำเร็จเชิงพาณิชย์และการเติบโตในด้านความคุ้มค่าในยุค 5G รวมไปถึงความเข้มแข็งของอีโคซิสเต็ม 5G ขึ้นอยู่กับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างโอเปอเรเตอร์ เวนเดอร์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม และหน่วยงานกำกับดูแลที่สนับสนุนด้านนวัตกรรมการใช้งาน


 

Exit mobile version