เอาใจคนรักสัตว์เลี้ยงกันอีกเช่นเคย กับเครื่องให้อาหารแมวด้วยงบประมาณสุดประหยัด และที่สำคัญสร้างง่ายไม่ต้องทำแผ่นวงจรพิมพ์ เพราะใช้อุปกรณ์หลักเพียงรีเลย์และไมโครสวิตช์
เครื่องให้อาหารแมวรุ่นนี้ จะทำหน้าที่เปิดปิดฝากล่องที่ใส่ชามอาหารไม่ให้กลิ่นหอมและความกรอบอร่อยของอาหารเจ้าเหมียวหมดลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจะคอยตรวจจับการกดสวิตช์เท้า เมื่อแมวเดินมาเหยียบแป้นสวิตช์ กล่องก็จะเปิดให้มันสามารถอร่อยกับอาหารที่มันชื่นชอบได้ทันที และเมื่อมันเดินจากไปฝากล่องก็จะปิดไว้ดังเดิม ทำให้โครงงานนี้กินไฟเพียงช่วงเวลาที่มอเตอร์หมุนดันฝากล่องให้เปิดและปิดเท่านั้น เป็นยังไงล่ะครับ ง่ายถูกใจแบบนี้ก็มาลงมือสร้างกันเลย
จัดเตรียมอุปกรณ์
1. แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 จำนวน 5 แผ่น
2. ชุดเฟืองขับมอเตอร์ไฟตรงรุ่น BO2 อัตราทด 120:1
3. รีเลย์ 5V จำนวน 2 ตัว
4. ไมโครสวิตช์แบบมีขั้ว COM , NC และ NO จำนวน 3 ตัว
5. สายไฟเส้นเล็ก
6. กาวร้อน
7. สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็ก
8. บานพับขนาดจิ๋ว 2 ตัว
9. สปริงปากกาตัดครึ่งให้ได้สปริง 2 ชิ้น
10. สกรูขนาด 3×10 พร้อมนอต 2 ชุด
11. ปืนยิงพร้อมกาวแท่ง (hot melt)
12. กะบะถ่าน AA 4 ก้อน
* อุปกรณ์รายการที่ 1,2 และ 12 สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.inex.co.th
วงจรนี้เป็นวงจรง่ายๆ ที่สามารถนำไปดัดแปลงได้หลากหลายโดยหน้าที่หลักของวงจรนี้มีไว้เพื่อสลับทิศทางการหมุนของมอเตอร์ไฟตรง แต่มีการเพิ่ม SW2 และ SW3 ในลักษณะการต่อเป็นแบบกดดับปล่อยติด เพื่อทำหน้าที่คอยตัดกระแสไฟฟ้าที่มาจ่ายให้กับขดลวดของ Relay1 และ Relay2 โดยการทำงานจะเป็นดังนี้
เมื่อ SW1 ถูกกด มีกระแสไฟไหลผ่านขั้ว NO ไปยัง SW3 ที่ต่ออยู่ด้านหลังกล่องแต่เนื่องจากกล่องปิดอยู่ SW3 จึงไม่ถูกกดสามารถนำกระแสผ่านไปจ่ายให้กับ Relay1 ทำการต่อหน้าสัมผัส มอเตอร์จึงหมุนเปิดฝากล่อง จนกระทั่ง SW3 ถูกกดมอเตอร์จึงหยุดทำงาน
เมื่อ SW1 ถูกปล่อยก็จะทำงานสลับกันกับตอนกดคือ มีกระแสไฟไหลผ่านขั้ว NC ไปยัง SW2 ที่ติดตั้งอยู่ด้านในกล่องซึ่งฝาถูกเปิดอยู่ SW2 จึงสามารถนำกระแสไฟฟ้าจ่ายให้กับ Relay2 ต่อหน้าสัมผัส ทำให้เกิดการสลับขั้วไฟฟ้าที่จ่ายให้กับมอเตอร์ จึงหมุนกลับทางจนกระทั่งก้านดันฝามาสัมผัสกับ SW2 เพื่อตัดกระแสไฟฟ้ามอเตอร์จึงหยุดทำงาน
ทดสอบและปรับแต่ง
เมื่อรู้หลักการทำงานของวงจรที่สุดแสนจะง่ายดายกันไปแล้ว ก็มาทดสอบความสมบูรณ์ในการทำงานกัน
(1) เมื่อกดสวิตช์เท้าฝากล่องจะต้องเปิดจนเกือบสุดแล้วหยุดการทำงาน หากฝาไม่ยอมเปิดให้สลับสายไฟที่ขั้วมอเตอร์
(2) หากฝาเปิดมากเกินไป มีวิธีปรับแต่ง 2 วิธีคือ
(2.1) เลื่อนก้านไมโครสวิตช์เข้ามาอีกหนึ่งล็อก
(2.2) ใช้กาวสองหน้าอย่างหนาหนุนก้านกดไมโครสวิตช์ของฝากล่องให้สูงขึ้น
(3) เมื่อปล่อยมือจากสวิตช์เท้ามอเตอร์จะต้องหมุนกลับทางซึ่งทำให้ฝาปิดกล่องตามลงมาด้วยและมอเตอร์จะหยุดทำงานเมื่อก้านดันฝาหมุนมากดสวิตช์ด้านในกล่อง
เอาล่ะครับการทดสอบก็มีเพียงเท่านี้ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และพร้อมนำไปใช้งานแล้ว
การนำไปใช้งาน
นำถ้วยอาหารของเจ้าเหมียวใส่ลงไปในกล่องแล้วรอให้เจ้าเหมียวหิวมากๆ ก่อน จึงมาสอนให้รู้จักการเปิดกล่องอาหาร โดยการจับเท้าของมันทั้งสองข้างวางบนสวิตช์เท้าให้เห็นว่าอาหารอยู่ในนี้ ในช่วงแรกๆ อาจมีท่าทีกล้าๆ กลัวๆ แล้วเดินหนีบ้างเป็นธรรมดา ปล่อยให้เดินหนีไปก่อน เดี๋ยวก็ร้องขอกินอีก คราวนี้เราก็ทำเหมือนเดิมเดี๋ยวก็คุ้นไปเอง
บางบ้านมีมดเยอะอาจต้องหล่อน้ำไว้ภายในกล่อง ทำได้โดยนำกาวซิลิโคนมาอุดตามขอบไม่ให้น้ำรั่วซึมได้ แล้วเทน้ำใส่ลงไปได้เลย
เพียงแค่นี้คุณก็สามารถเทอาหารไว้ให้เจ้าเหมียวกินได้ตลอดวันโดยกลิ่นหอมของอาหารยังคงอยู่ และคุณก็สามารถออกไปทำภารกิจได้อย่างสบายใจแล้วครับ