Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์ บทความ เทคโนโลยี

การ์ทเนอร์คาดการณ์ยอดจัดส่งรถยนต์ไฟฟ้าปี 66 สูงแตะ 15 ล้านคัน

กรุงเทพฯ ประเทศไทย 11 กันยายน 2566 — การ์ทเนอร์คาดการณ์ยอดการจัดส่งรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก (แบบใช้พลังงานจากแบตเตอรี่และแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด) ในปี 2566 มีปริมาณเกือบ 15 ล้านคัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 19% ในปี 2567 คิดเป็นยอดรวม 17.9 ล้านคัน

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ในปี 2567 ปริมาณการจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งหมด ตั้งแต่ รถยนต์ (Cars) รถโดยสาร (Buses) รถตู้ (Vans) และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Heavy Trucks) จะมียอดรวมที่ 18.5 ล้านคัน  โดยในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าจะคิดเป็น 97% ของยอดการจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในปีหน้า (ดูตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: ปริมาณการจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ปี 2565-2567 (หน่วยตามจริง)

  ยอดจัดส่ง ปี 2565 ยอดจัดส่ง ปี 2566 ยอดจัดส่ง ปี 2567
รถยนต์ 11,128,805 14,975,296 17,855,428
รถโดยสาร 198,731 202,733 207,845
รถตู้ 137,668 218,337 349,950
รถบรรทุกขนาดใหญ่  22,595 30,162 39,349
Total 11,487,798 15,426,529 18,452,573

ที่มา: การ์ทเนอร์ (กันยายน 2566)

การ์ทเนอร์คาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ทั่วโลกจะเติบโตจาก 9 ล้านคันในปี 2565 เพิ่มเป็น 11 ล้านคัน ภายในสิ้นปี 2566 โดยคาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) จะเติบโตช้าลงเล็กน้อยจาก 3 ล้านคัน ในปี 2565 เพิ่มเป็น 4 ล้านคันในปี 2566

โจนาธาน ดาเวนพอร์ท ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “สัดส่วนของรถ PHEV คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ของรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศต่าง ๆ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น โดยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้นชื่นชอบรถ PHEV มากกว่ารถ BEV โดยผู้บริโภคในสหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) มาเลือกใช้รถ PHEV มากกว่า BEV เนื่องจาก PHEV มีความสามารถที่ผสมผสานระหว่างการขับขี่ในเมืองที่ไร้มลพิษด้วยพลังงานไฟฟ้าจากมอเตอร์ และยังมอบความสะดวกสบายในการขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเพื่อการเดินทางที่ยาวนานและไกลขึ้น ซึ่งในตลาดยุโรปตะวันตก จีน และอินเดียแตกต่างออกไป โดยรถ PHEV ได้รับความสนใจน้อยกว่า BEV เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดเหล่านี้ให้ความสำคัญกับต้นทุนการใช้งานโดยรวมที่ต่ำกว่า รวมถึงประสบการณ์การขับที่เงียบกว่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ในปี 2573 จำนวนรถยนต์ทุกรุ่นที่ผลิตออกมาทั้งหมด จะเป็น EV มากกว่า 50%

การตัดสินใจของภาครัฐบาลที่มุ่งมั่นลดการปล่อยฝุ่นละอองจากยานพาหนะและการริเริ่มโครงการสนับสนุนในบางประเทศ อาทิ การออกกฎหมายเพื่ออนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และการออกข้อบังคับให้ต้องใช้รถ PHEV เป็นอย่างน้อย อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ โดยผู้ผลิตรถยนต์บางรายกำลังมองหาวิธีกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากท่อไอเสียของรถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ ๆ ภายในปี 2578 และบางรายตั้งเป้าที่จะบรรลุยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดสหรัฐฯ ให้ได้ 40% ถึง 50% ต่อปี ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้าได้นำไปสู่การเปิดตลาดใหม่ ๆ ของแพลตฟอร์มการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV Platform)

“กฎระเบียบด้านมลพิษที่เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนโมเดลรถยนต์ที่ทำการตลาดอยู่มากกว่าครึ่งหนึ่งให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573” ดาเวนพอร์ต กล่าวเพิ่ม 

ในปี 2570 รถ BEV จะมีราคาเท่ากับรถ ICE ที่มีขนาดและรูปแบบคล้ายกัน

นักวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ยังคาดว่า ภายในปี 2570 ราคาเฉลี่ยของรถ BEV จะเท่ากับรถยนต์ ICE ที่มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเร่งให้เกิดการใช้ EV ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2573 การผลิตไฟฟ้าและประสิทธิภาพเครือข่ายจะเป็นปัจจัยกำหนดการใช้งาน EV ให้แพร่หลายเหนือกว่าปัจจัยด้านราคา

“เว้นแต่ในประเทศต่าง ๆ จะจูงใจผู้ขับขี่รถ EV ให้ชาร์จแบตเตอรี่นอกช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด นอกจากนี้การเปลี่ยนไปใช้รถ EV อาจสร้างความต้องการที่มากขึ้นเพิ่มเติมทั้งในด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานในการจ่ายไฟ” ดาเวนพอร์ต กล่าวเพิ่ม

“การใช้อัตราค่าไฟฟ้าแบบกลางวันและกลางคืน (Dual Day and Night) หรือแม้แต่การใช้อัตราค่าไฟฟ้ารายครึ่งชั่วโมง (Half-Hourly Electricity Tariffs) สามารถจูงใจผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าให้หันมาชาร์จไฟนอกช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก (Peak Times) ซึ่งจะต้องมีการนำมาตรวัดพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะมาใช้เป็นวงกว้าง นอกจากนั้น ความสามารถของสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในการควบคุมเครื่องชาร์จ EV โดยตรงผ่านการเชื่อมต่อจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง หรือ Application Programming Interfaces (API) จะทำให้การชาร์จ EV ถูกลดทอนลงชั่วขณะระหว่างช่วงเวลาที่มีการบริโภคสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่าความต้องการการใช้ไฟฟ้าจะไม่มากเกินไป” ดาเวนพอร์ต กล่าวสรุป

ติดตามข่าวสารและข้อมูลอัปเดตจาก Gartner for IT Executives ได้ทาง X และ LinkedIn โดยติดแฮชแท็ค #GartnerIT หรือเยี่ยมชม IT Newsroom สำหรับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม

เกี่ยวกับการ์ทเนอร์ 

บริษัท การ์ทเนอร์ (Gartner, Inc.) (NYSE: IT) คือบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก มอบข้อมูลเชิงลึก คำแนะนำ และเครื่องมือต่าง ๆ แก่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เพื่อรองรับการดำเนินภารกิจสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบันและสร้างองค์กรให้ประสบความสำเร็จในอนาคต ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางของการ์ทเนอร์ในการช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจอย่างถูกต้องเพื่อขับเคลื่อนอนาคตของธุรกิจได้ที่ gartner.com


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์ บทความ บทความพิเศษ เทคโนโลยี

การ์ทเนอร์คาดการณ์ยอดจัดส่งรถยนต์ไฟฟ้าปี 65 พุ่งแตะ 6 ล้านคัน

การ์ทเนอร์คาดการณ์ยอดจัดส่งรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (แบบใช้พลังงานจากแบตเตอรี่และแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด) ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคัน จาก 4 ล้านคันในปี 2564

โจนาธาน ดาเวนพอร์ท ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “จากที่ประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สมาพันธ์ Zero Emission Vehicle Transition Council มีข้อตกลงเห็นพ้องตรงกันว่า ภายในปี 2583 ผู้ผลิตรถยนต์จะเดินหน้าผลิตและจำหน่ายยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ จากที่ก่อนหน้านี้ได้กดดันให้ผู้ผลิตในตลาดรถยนต์ชั้นนำเตรียมพร้อมรับมือกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ กับภาคการขนส่ง ทั้งนี้ยานยนต์ไฟฟ้า (หรือ EVs) นั้นเป็นเทคโนโลยีระบบส่งกำลังที่มีความสำคัญต่อการช่วยลดการปล่อย CO2 ในภาคการขนส่ง ภาวะขาดแคลนชิปยังส่งผลกระทบต่อเนื่องกับยอดการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปีนี้ แม้สัดส่วนการจัดส่งรถยนต์พลังไฟฟ้าประเภทรถตู้ (Vans) และรถบรรทุก (Trucks) ยังมีขนาดเล็กในปัจจุบัน แต่การจัดส่งยานยนต์ในกลุ่มนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเจ้าของกิจการเล็งเห็นถึงประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและด้านการเงิน เมื่อเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า”

การ์ทเนอร์คาดว่ารถยนต์ (Cars) จะมีสัดส่วนจัดส่งสูงถึง 95% ของตลาดยานยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2565 ส่วนที่เหลือจะแบ่งเป็น รถโดยสาร (Buses) รถตู้ (Vans) และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Heavy Trucks) (ดูตามตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: ปริมาณการจัดส่งยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ปี 2564-2565 (หน่วยตามจริง)

  ยอดจัดส่ง ปี 2564 ยอดเติบโต ปี 2564 (%) ยอดจัดส่ง ปี 2565 ยอดเติบโต ปี 2565 (%)
รถยนต์ 4,473,907 38.3 6,022,147 34.6
รถโดยสาร 165,551 18.1 198,353 19.8
รถตู้ 86,274 56.1 126,607 46.8
รถบรรทุกขนาดใหญ่ 15,171 41.5 22,663 49.4
รวม 4,740,903 37.7 6,369,769 34.4

เนื่องจากการปัดเศษ ทำให้ตัวเลขบางตัวรวมกันแล้วไม่ตรงกับจำนวนรวมทั้งหมด

ที่มา: การ์ทเนอร์ (มกราคม 2565)

ประเทศจีนและยุโรปตะวันตกมียอดจัดส่งยานยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้

ด้วยนโยบายของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีคำสั่งให้ภายในปี 2573 ผู้ผลิตรถยนต์ต้องผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสัดส่วน 40% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด รวมถึงการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นใหม่ การ์ทเนอร์คาดว่าประเทศจีนจะกลายเป็นผู้นำอันดับ 1 ที่ครองยอดการจัดส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนราว 46% ของการจัดส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลกในปีนี้ โดยมียอดจัดส่งสูงถึง 2.9 ล้านคัน ขณะที่ฝั่งยุโรปตะวันตกจะอยู่ในอันดับที่ 2 ด้วยยอดการจัดส่งที่ 1.9 ล้านคัน และตามมาด้วยอันดับสามคือผู้ผลิตจากอเมริกาเหนือ ที่คาดว่าจะมียอดจัดส่งอยู่ราว 855,300 คัน

“แผนของสหภาพยุโรป (EU) ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้รถยนต์ให้ได้ที่ 55% และรถตู้ที่ 50% ภายในปี 2573 เป็นการกระตุ้นตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สำคัญในยุโรป” ดาเวนพอร์ท กล่าวเพิ่มเติมว่า

จากการที่รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ ออกกฎระเบียบและใช้มาตรการกระตุ้นต่าง ๆ เพื่อผลักดันยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น นั่นทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มการลงทุนในบริษัทที่เป็นผู้วางโครงสร้างพื้นฐานจุดชาร์จไฟและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในรถยนต์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การ์ทเนอร์คาดว่า ในปีนี้จะมีจำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านจุด จากเดิม 1.6 ล้านจุด เมื่อปี 2564

ปัจจัยท้าทายการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังมีอยู่อีกมาก 

เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผู้ผลิตจะต้องจัดการกับปัจจัยหลายประการ อาทิ การลดราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ การนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นต่าง ๆ ที่หลากหลายกว่าเดิม พร้อมยืดระยะการขับให้ได้ระยะไกลขึ้น รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องจุดชาร์จไฟฟ้า

ดาเวนพอร์ท กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข นั่นคือ จำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าแบบเร็วที่บ้านและตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ที่ยังขาดแคลน โดยผู้ให้บริการสาธารณูปโภคจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าสมาร์ทกริดเพื่อรับมือกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และตอบสนองต่อเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้าจะต้องออกแบบระบบการผลิตไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”

เกี่ยวกับการ์ทเนอร์ 

บริษัท การ์ทเนอร์ (Gartner, Inc.) (NYSE: IT) คือบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก มอบข้อมูลเชิงลึก คำแนะนำ และเครื่องมือต่าง ๆ แก่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ เพื่อรองรับการดำเนินภารกิจสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบันและสร้างองค์กรให้ประสบความสำเร็จในอนาคต ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางของการ์ทเนอร์ในการช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจอย่างถูกต้องเพื่อขับเคลื่อนอนาคตของธุรกิจได้ที่ gartner.com

#ev

#รถไฟฟ้า


Exit mobile version