Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ม.ธุรกิจฯ ตั้งศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วยโควิด-19

มหาวิทยาลัยธุกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับสำนักงานเขตหลักสี่ กทม. จัดตั้งศูนย์พักคอย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว  โดยมี ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คุณศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คุณสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ และ นพ.วิชัย ทวีปวรเดช รองผู้อำนวยการ รพ.ปิยะเวท ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของสถานที่ใช้ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาคารศูนย์กีฬา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CITE DPU เผย 9 สาเหตุหลักก่อให้เกิดความสูญเปล่าต่ออุตสาหกรรมการผลิต แนะฝ่าวิกฤตด้วยการผลิตแบบลีน 4.0

CITE DPU เผย 9 สาเหตุหลักก่อให้เกิดความสูญเปล่าต่ออุตสาหกรรมการผลิต แนะฝ่าวิกฤตด้วยการผลิตแบบลีน 4.0 (Lean Manufacturing 4.0) พร้อมชี้หัวใจหลักต้องสร้างพนักงานให้มีแนวคิดแบบลีน4.0
นายสุรธันย์ ปาละพรพิสุทธิ์ ผู้ช่วยรองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตแบบลีน 4.0 และผู้แต่งหนังสือการผลิตแบบลีน 4.0 กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามกระแสโลกาภิวัตน์ และตลาดในวันนี้เป็นของลูกค้า คือ อำนาจในการตัดสินใจซื้อเป็นของลูกค้า เนื่องจากอุปทาน(จำนวนสินค้าที่นำออกเสนอขาย) มากกว่าอุปสงค์ (จำนวนซื้อ) ทำให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การผลิตแบบลีน 4.0 (Lean Manufacturing 4.0) เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในระดับเฉพาะบุคคลได้ (Mass Customization) โดยคำนึงถึง 4 ปัจจัยหลักพื้นฐาน ได้แก่ คุณภาพ ราคา การส่งมอบสินค้า ในปริมาณ และเวลาที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงการบริการก่อนการขาย ระหว่างการขาย และหลังการขาย

ผู้ช่วยรองคณบดี CITE อธิบายว่า การผลิตแบบลีน 4.0 คือ การผลิตที่เกิดความสูญเปล่า (Waste) ในกระบวนการน้อยที่สุด เกิดการไหลของวัตถุดิบ ชิ้นงานระหว่างกระบวนการ และสินค้าสำเร็จรูป รวมถึงข้อมูลอย่างต่อเนื่องภายในและภายนอกองค์กร ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการจะทำการผลิตแบบลีน 4.0 ต้องเริ่มจากพนักงานในองค์กรต้องมีแนวคิดแบบลีน 4.0 (Lean 4.0 Thinking) เสียก่อน เพราะแนวคิดแบบลีน 4.0 ถือเป็นหัวใจและพื้นฐานที่สำคัญสู่การผลิตแบบลีน 4.0 ต่อไป

สำหรับแนวคิดการผลิตแบบลีน 4.0 ในเรื่องการระบุประเภทของกิจกรรม โดยองค์กรสามารถแบ่งประเภทของกิจกรรมได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.) กิจกรรมที่สร้างคุณค่า (Value-Added Activities : VA) คือ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของวัตถุดิบ หรือกิจกรรมที่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น การตัดโลหะ การปั้มขึ้นรูปโลหะ การประกอบรถยนต์ เป็นต้น

2.) กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่า (Non-Value Added Activities : NVA) คือ กิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าในมุมมองของลูกค้า ไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก เช่น การรอคอยชิ้นงานระหว่างกระบวนการ การผลิตของเสีย การแก้ไขงาน เป็นต้น

“ในส่วนของกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่ายังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าแต่จำเป็นต้องทำ กิจกรรมประเภทนี้ไม่สามารถขจัดทิ้งได้ทั้งหมดแต่องค์กรควรลดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เช่น การตรวจสอบ การเคลื่อนย้ายชิ้นงานในกระบวนการผลิต และ ชนิดที่สองเป็น กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าและไม่มีความจำเป็นต้องทำ เป็นกิจกรรมที่องค์กรควรพิจารณาขจัดทิ้ง เช่น การผลิตที่มากเกินความจำเป็น การผลิตชิ้นงานเสีย การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น”

ผู้ช่วยรองคณบดี CITE กล่าวเพิ่มเติม ว่า กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมที่เกิดความสูญเปล่าทั้ง 9 ประการ ประกอบด้วย การผลิตที่มากเกินความจำเป็น (Over Production) ของเสียและงานแก้ไข (Defects and Reworks) สินค้าคงคลัง (Inventory) กระบวนการผลิตที่ไม่จำเป็น (Excess Processing) การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น (Motion) การขนย้าย (Transportation) การรอคอย (Waiting) ความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานไม่ถูกนำออกมาใช้ (Non-Utilized Employee) และความสูญเปล่าตัวใหม่ในอุตสาหกรรม 4.0 คือ การลองผิดลองถูก (Trial and Error) ทั้งนี้ องค์กรต้องระบุประเภทของกิจกรรมให้ได้และแก้ไขให้ตรงจุด พัฒนาสู่องค์กรการผลิตแบบลีน 4.0 จะสามารถฝ่าวิกฤตได้แน่นอน

ผู้ช่วยรองคณบดี CITE กล่าวในตอนท้ายว่า นี่เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาการผลิตแบบลีน 4.0 ซึ่งมีอยู่ในการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ และหลักสูตรปริญญาโท-ปริญญาเอก การจัดการทางวิศวกรรม วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปัจจุบันความต้องการแรงงานด้านการผลิตและโลจิสติกส์มีอัตราสูง โดยข้อมูลจากผลสำรวจจากกลุ่มลูกค้าของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เผย 10 อันดับสายงานที่ตลาดงานต้องการ อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 23.10% อันดับ 2 สายงานบัญชีและการเงิน 9.58% อันดับ 3 สายงานขนส่งและงานโลจิสติกส์ 9.50% อันดับ 4 สายงานวิศวกร 8.52% อันดับ 5 สายงานไอที 7.78% อันดับ 6 งานระยะสั้นต่างๆ 6.96% อันดับ 7 สายงานธุรการ 6.80% อันดับ 8 สายงานบริการลูกค้า 5.32% อันดับ 9 สายงานการผลิต 5.24% และอันดับ 10 สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 3.28%

สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของหลักสูตรเพิ่มเติมได้ ที่ https://cite.dpu.ac.th หรือ เบอร์โทรศัพท์ 02-954-7300 ต่อ 594, 498 หรือ 080-440-3821


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

DPU จับมือ IBERD จัดเสวนาหัวข้อ “ธุรกิจในยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลก”

DPU จับมือ IBERD จัดเสวนาหัวข้อ “ธุรกิจในยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลก” เปิดเวทีสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ สู่ตลาดโลก

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) จัดงานสัมมนาธุรกิจและเศรษฐกิจออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “Gateway of Digital Disruption on Economic and Business InnovationTransformation in CLMVT + China +India” โดยดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 11 ปีแห่งการก่อตั้ง มูลนิธิฯ IBERD และเพื่อเปิดเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนแนวความคิดจากแขกรับเชิญกิตติมศักดิ์ อันจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักธุรกิจรุ่นใหม่ รวมถึงสร้างเครือข่ายในภาคธุรกิจและสังคม ในประเทศ CLMVT จีนและอินเดีย

ทั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภาและประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Thailand’s Digital Disruption on Economic and Business Innovation Transformation in Next Decade” โดยมีวิทยากรร่วมในงานเสวนา ประกอบด้วย ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ รองประธานIBERD นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองประธานIBERD ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสารกรรมการบริหารIBERD และ ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ DPUและมี วีณารัตน์ เลาหภคกุล เป็นพิธีกรดำเนินรายการพร้อมด้วยนางนที ชวนสนิท ผู้อำนวยการบริหาร IBERD กล่าวในพิธีปิด ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ อาคาร 7 ชั้น 6 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวถึงแนวคิดสำคัญของการก่อตั้ง IBERDว่า เป็นการนำหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ ไปสู่ผลปฏิบัติในทางพาณิชย์ สำหรับการทำความร่วมมือด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำที่เน้นในเรื่องของธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการประเภทเริ่มต้น หรือ Start Up และการทำธุรกิจกับต่างประเทศนั้น จะเป็นการสร้างความผสมผสานและบูรณาการระหว่างเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังร่วมมือกันขยายขอบข่ายทางการศึกษาไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนเหนือ คือ ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือ กลุ่ม CLMVด้วย

พร้อมกันนี้ ดร. สถิตย์ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ digital เปลี่ยนแปลงโลก ในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand’s Digital Disruption on Economic and Business Innovation Transformation in Next Decadeไว้ว่า เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ Digitalจะเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า เศรษฐกิจสังคม digital การส่งเสริมความสำคัญของ Digital ได้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ เช่น โครงการ One Country One Platform ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมต่อข้อมูล Big Data ซึ่งกันและกันในหนึ่ง Plat form เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงความพยายามให้สถาบันการศึกษามีการเรียนการสอนที่เน้น Digital และสร้างบัณฑิตในอนาคตให้มีทักษะที่จำเป็น 3 ทักษะ คือ ทักษะด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีน ทักษะการเงิน การบัญชีและการลงทุนขั้นพื้นฐาน และทักษะ Digitalซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้การศึกษายุคนี้ยังต้องตอบสนองโลกของDigital เช่น การเปิดหลักสูตรเรียนฟรี ผ่านระบบออนไลน์ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหนและเวลาใดก็ได้ ดังนั้นหากใครยังไม่ปรับตัวไปตามDigital ที่กำลังจะเปลี่ยนโลก Digital ซึ่งกำลังเป็นศูนย์กลางทางความคิด ความรู้ เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ก็จะไม่สามารถดำรงคงอยู่ในโลกอนาคตนี้ได้

ด้าน ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แสดงความเห็นในเรื่อง Prospects for Education in Digital Transformation and Economy ไว้ว่าทุกประเทศมีการระบุนโยบายการพัฒนาการศึกษาในแผนการพัฒนาประเทศ ในประเทศไทย นโยบายด้านการพัฒนาการศึกษาล่าสุดมาพร้อมกับนโยบายด้าน Industry 4.0 และ Digital Transformation ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีการพัฒนาในด้านการสร้าง Innovation ที่ใช้ประโยชน์จาก Digital Technology สถาบันการศึกษาต้องพัฒนานักศึกษาให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพและสามารถสร้าง Productivity นอกจากนี้นักศึกษาควรมี Digital Literacy Skills ที่สามารถใช้ประโยชน์จาก Digital Technology ได้ตรงจุด รวมทั้งมีความสามารถคิดวิเคราะห์ ปรับตัวและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ขณะนี้การเรียนการสอน ระดับมัธยมและระดับอุดมศึกษา ในประเทศไทย ได้บรรจุหลักสูตรที่เรียกว่า STEM Education โดยหลายแห่งมีการเพิ่มในส่วนของ Entrepreneurship หรือทักษะการเป็นผู้ประกอบการเข้าไปด้วย เพื่อสร้างคนให้มีทักษะในการคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และปรับตัวได้ไว

นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศจะเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะถือเป็นเครื่องมือทางกลยุทธ์ที่สำคัญ ดังนั้น อยากให้มองว่าเรามีจุดแข็ง หรือ เก่งด้านใดที่สามารถช่วยให้เราคว้าโอกาสที่มีอยู่ในสังคมและเศรษฐกิจโลก เราจะต้องนำจุดแข็งนั้น มาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และนำนโยบายดังกล่าว มากำหนดแผนหลักในการพัฒนาคนเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะพัฒนาการศึกษาได้ ต้องเชื่อมโยงกระบวนการพัฒนาความรู้ และ Innovation กับ ประเทศที่โดดเด่นด้านนี้ โดยสามารถสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยนานาชาติ เช่น ประเทศจีนและอินเดีย ที่มีความโดดเด่นในด้าน Technology และ Engineering เช่น เรื่องของ Blockchain และ AI โดยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร การทำวิจัยและการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน

ดร.พัทธนันท์ กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนา IT Infrastructure ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากทุกพื้นที่เข้าถึงอินเทอร์เนตสาธารณะได้ จะช่วยเปิดโอกาสให้คนไทยมีโอกาสค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะความรู้นอกห้องเรียน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในปัจจุบันมี Content ออนไลน์มากมายที่เข้าถึงได้ฟรี แต่ Content ส่วนใหญ่ มีเนื้อหาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นเพื่อให้สามารถเข้าใจ Content เหล่านั้นได้ การพัฒนาความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรเร่งผลักดันเช่นกัน


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณบดี CIBA DPU ชี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้การศึกษาไทยถอยหลัง

คณบดี CIBA DPU ชี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้การศึกษาไทยถอยหลัง จับมือ ม. นอร์ธแธมตัน ม.ดังอังกฤษ เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจ 2 ปริญญา เรียนเมืองไทย-จบดีกรีนอก ดีเดย์ปี 64 ทั้ง ป.ตรี และ ป.โท

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า CIBA DPU จับมือ The University of Northampton หรือ มหาวิทยาลัยนอร์ธแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ จัดโปรแกรมเรียนบริหารธุรกิจ 2 ปริญญา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักศึกษาที่สนใจเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ธแธมป์ตัน แต่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่ต่างประเทศได้ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น CIBA มธบ.จึงจัดหลักสูตรพิเศษให้ตอบโจทย์การศึกษาในยุคนี้ โดยทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอร์ธแธมตัน ประเทศอังกฤษ ในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยนักศึกษาสามารถมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แต่มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าจบจาก ม.นอร์ธแธมป์ตัน จากประเทศอังกฤษ

“สำหรับหลักสูตรที่เปิดสอนหรือปริญญาที่ได้รับจาก มธบ. คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ส่วนปริญญาที่ได้รับจาก ม.นอร์ธแธมป์ตัน คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจและการจัดการ ( B.B.A Business and Management) อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนจะเปิดสอนที่ มธบ. จำนวน 90 หน่วยกิต โดยการเรียนการสอนภายใต้การกำกับดูแลของ ม.นอร์ธแธมตัน” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้การศึกษาของไทยถอยหลัง โดยหลักสูตรดังกล่าวเหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนี้ เนื่องจากช่วยลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ลดการแพร่เชื้อ และลดความเสี่ยงทั้งหมด แม้ผู้เรียนจะเรียนในไทยแต่คุณภาพการศึกษาเทียบเท่าอังกฤษ เพราะผู้กำหนดการสอนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ นอกจากนี้นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนจะได้รับ Student ID ของทั้งสองมหาวิทยาลัย และสามารถเข้าถึงข้อมูลของ ม.นอร์ธแธมป์ตันได้เช่นกัน เนื่องจากถือเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าว และหากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง นักศึกษายังสามารถไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ม.นอร์ธแธมป์ตัน เป็นสมาชิกของ AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) หรือ สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการรับรอง และประกันคุณภาพให้กับสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจ ดังนั้นการเรียนในหลักสูตรจากความร่วมมือนี้จึงนับเป็นการการันตีคุณภาพมาตรฐานระดับโลกเช่นกัน

คณบดี CIBA DPU กล่าวในตอนท้ายว่า หลักสูตรดังกล่าวสามารถตอบโจทย์การศึกษาในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด ดังนั้น มธบ.จึงกำหนดเปิดการเรียนการสอนในปี 2564 ทั้งหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/ หรือ โทร.02-954-7300


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณบดี CITE DPU เตือนภัยเว็บดังติดมัลแวร์ขุดเงินคริปโต

คณบดี CITE DPU เตือนภัยเว็บดังติดมัลแวร์ขุดเงินคริปโต หลังแฮกเกอร์หัวใสฝังคริปโตแจ๊คกิ้งให้ผู้ใช้งานขุดเงินให้แทน

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) และผอ.หลักสูตรปริญญาโทวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.)หรือ DPU เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 4 ถึง 5 เดือนที่ผ่านมามูลค่าของสกุลเงินคริปโตต่าง ๆ มีมูลค่าสูงมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้มัลแวร์ขุดเงินคริปโตกลับมาระบาดอีกครั้ง โดยปกติวิธีการหากำไรจากสกุลเงินคริปโตหลักๆ ทำได้ 2 วิธี คือ การเทรดและการขุด ซึ่งการขุดนั้นจำเป็นต้องมีการลงทุนอุปกรณ์และมีภาระค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าว จึงมีแฮกเกอร์ที่ต้องการขุดเหรียญคริปโต โดยวิธีการแอบฝังมัลแวร์ไว้ที่คอมพิวเตอร์ที่เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่เปิดหน้าเว็บไซต์ของเว็บเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ทำหน้าที่ขุดเงินคริปโตแทนโดยที่ไม่ได้ยินยอมหรือไม่รู้ตัว ซึ่งวิธีการลักษณะนี้จะเรียกว่าเป็นการทำคริปโตแจ๊คกิ้ง (Cryptojacking)

ดร.ชัยพร กล่าวว่า ในอดีตเคยมีบริการขุดเงินคริปโตสกุล Monero ผ่านเว็บไซต์ Coinhive โดยให้เว็บไซต์ทั้งหลายฝังโค้ดโปรแกรมที่เว็บของตนเองแลกกับเงินคริปโต แต่ Coinhive ได้ปิดตัวไปในปี 2018 เนื่องจากการตกต่ำของเงินคริปโต แต่การขุดเงินคริปโตผ่านเว็บก็ไม่ได้หมดไป เนื่องจากเคยพบว่ามีการทำคริปโตแจ็คกิ้งครั้งแรกประมาณปี 2018 จากนั้นช่วงปลายปี 2020 พบเว็บไซต์ติดมัลแวร์ประเภทคริปโตแจ็คกิ้งนี้มากขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยเว็บไซต์ที่เป็นเป้าหมายหลักของเหล่าแฮกเกอร์ ได้แก่ เว็บไซต์ที่มีผู้เข้าใช้งานสม่ำเสมอหรือมีผู้เปิดอ่านจำนวนมาก รวมถึงเว็บไซต์ที่มีการเปิดหน้าเว็บทิ้งไว้หรือเปิดใช้งานนาน อาทิ เว็บ portal เว็บดูหนังหรือฟังเพลง รวมทั้งเว็บขององค์กรหรือหน่วยงานขนาดใหญ่ เป็นต้น ทั้งนี้จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าเว็บหลายแห่งของไทยที่เป็นที่นิยม มีการติดมัลแวร์ประเภทนี้หลายแห่ง ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ที่เว็บเซิร์ฟเวอร์อาจถูกแฮคหรือโปรแกรมเมอร์ประมาทเองหรือจงใจฝังโค๊ดโปรแกรมไว้ในเว็บไซต์ของตนเอง เพื่อให้คอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานทำงานขุดเงินคริปโต โดยให้ผู้ใช้งานที่เข้าเปิดเว็บดังกล่าวเสียค่าบริการด้วยการช่วยขุดเงินคริปโตแทน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลงานวิจัยระบุว่าหากมีผู้ใช้งานเปิดหน้าเว็บที่ติดมัลแวร์ดังกล่าวพร้อมกัน 1,000 หน้าจะเทียบเท่ากับเครื่องขุดเงินที่ใช้การ์ดจอแรง ๆ จำนวน 1 เครื่องเลยทีเดียว

“สำหรับวิธีการทำคริปโตแจ็คกิ้ง คือ การฝังโค๊ดโปรแกรมจำพวกไคลเอนต์สคริปต์เช่น Javascript ไว้ในโค้ดของโปรแกรมของเว็บไซต์ ซึ่งวิธีการฝังมีตั้งแต่การเจาะผ่านระบบเข้าไปที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์แล้วนำโค้ดโปรแกรมขุดเงินคริปโตไปใส่ไว้ในโค้ดโปรแกรมของเว็บนั้นโดยตรง หรือการนำโค้ดโปรแกรมที่ใช้เรียกโปรแกรมขุดเงินคริปโต ลงไว้ในไลบรารีที่เปิดให้ใช้งานฟรี ส่วนใหญ่เผยแพร่ไว้บนอินเทอร์เน็ตหรือโลกออนไลน์ เช่น Git เป็นต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากเว็บเซิร์ฟเวอร์หลายแห่งมักจะมีระบบป้องกันที่ดีทำให้แฮกเกอร์เจาะผ่านระบบเข้าไปได้ยาก ดังนั้นจึงพบว่าลักษณะของมัลแวร์ที่เว็บไซต์หลายแห่งติดมาจากผู้พัฒนาเว็บหรือโปรแกรมเมอร์ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ และเขียนโค้ดโปรแกรมเว็บโดยมีโค้ดโปรแกรมบางส่วนที่นำโค้ดที่ถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตมาใช้งานโดยมักไม่มีการตรวจสอบเพียงพอ”ดร.ชัยพร กล่าว

ดร.ชัยพร กล่าวด้วยว่า ในอดีตมัลแวร์ประเภทนี้จะทำงานโดยจะขุดเงินคริปโตให้กับแฮกเกอร์โดยพยายามใช้ทรัพยากรเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานเกือบทั้งหมด มัลแวร์ที่ทำงานเช่นนี้จะทำให้เครื่องผู้ใช้งานหยุดทำงานลงในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นแฮคเกอร์จึงพัฒนาวิธีการใหม่โดยกำหนดให้มัลแวร์ทำงานโดยใช้ซีพียูน้อยลงและควบคุมจำนวนเทรด ทำให้ผู้ใช้งานไม่ค่อยรู้ตัว สำหรับผลกระทบของผู้ใช้งานที่เปิดเว็บไซต์ที่ติดมัลแวร์ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานจะทำงานช้าลง จนบางครั้งถึงกับทำให้เครื่องเกิดอาการค้าง สังเกตได้จากหลังการเข้าหน้าเว็บไซต์แล้วเครื่องเริ่มมีอาการหน่วง พัดลมซีพียูเริ่มทำงาน หรือแบตเตอรี่หมดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ใช้งานที่ไม่ทันระวังตัวอาจต้องคอยสังเกตการทำงานของคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเมื่อเข้าไปเปิดเว็บไซต์ต่าง ๆ หากเครื่องเริ่มมีอาการดังกล่าวต้องรีบตรวจสอบทันที


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

DPU จับมือ Easy PDPA เปิดคอร์สอบรม PDPA For DPO ป้องกันทำผิดกฎหมายไม่รู้ตัว

DPU จับมือ Easy PDPA เปิดคอร์สอบรม PDPA For DPO ติดอาวุธให้คีย์แมนผู้ถือคัมภีร์คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในองค์กรเพื่อบริหารความเสี่ยงในการละเมิดสิทธิผู้อื่น แนะองค์กรเตรียมความพร้อมบุคลากรก่อนพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลประกาศใช้ปี 64 ป้องกันการทำผิดกฎหมายไม่รู้ตัว

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) บริษัทหรือองค์กรที่ต้องใช้ข้อมูลของลูกค้าตามหน้าที่ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความเข้าใจ เพื่อตั้งรับกฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี พ.ศ.2564 ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการกระทำผิดกฎหมาย การแต่งตั้ง DPO (Data Protection Officer) หรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองส่วนบุคคล จึงมีความสำคัญมาก เพราะเป็นการบริหารความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่นี้สามารถกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานขององค์กรได้ นอกจากนี้การมี DPO ประจำองค์กรจะเพิ่มความน่าเชื่อถือและเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้ามากขึ้น ปัจจุบันมีการให้ข้อมูลส่วนบุคคลออกไปมากมายหลายช่องทาง ทำให้เจ้าของข้อมูลเกิดความกังวลและรู้สึกไม่ปลอดภัย PDPA จึงออกมาเพื่อสร้างเกราะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงกำหนดการวางแผนและขั้นตอนการใช้ข้อมูล เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิผู้ให้ข้อมูล ขณะเดียวกันทุกธุรกิจที่อยู่ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัลมีความจำเป็นต้องขอข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ดังนั้นทุกองค์กรจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิหรือทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวคุ้มครองเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนบุคคลธรรมดา แบ่งเป็นข้อมูล 2 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคลทางตรง เช่น ชื่อ-นามสกุล, LINE ID, Facebook Account,เบอร์โทรศัพท์ และข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว เป็นข้อมูลค่อนข้างละเอียด เช่น เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลทางการแพทย์ เป็นต้น โดยข้อมูลในส่วนที่สองมีการควบคุมเข้มข้นขึ้น ต้องได้รับความยินยอมในการใช้ข้อมูล ซึ่งในใจความของ พ.ร.บ.ยังให้สิทธิเจ้าของข้อมูล มีอำนาจ คัดค้าน แก้ไข ลบข้อมูล รวมถึงจำกัดสิทธิในการเข้าถึงได้ สำหรับโทษของการทำผิดกฎหมาย PDPA ได้แก่ โทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 1 ปี และ/หรือปรับสูงสุด 1 ล้านบาท โทษทางแพ่ง ต้องจ่ายสินไหมไม่เกิน 2 เท่าของสินไหมที่แท้จริง ส่วนโทษทางปกครองปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท

“DPO เป็นตำแหน่งใหม่ที่เกิดภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทหรือองค์กรที่ประกอบธุรกิจโดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหวเป็นหลัก อาทิ โรงพยาบาล บริษัทประกันภัย Health Tech เป็นต้น ตามหน้าที่ภายใต้พ.ร.บ.ดังกล่าวจำเป็นต้องมี DPO หากไม่มีเจ้าหน้าที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวประจำบริษัทหรือองค์กร ถือว่าทำผิดกฎหมายจะต้องโทษปกครองมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนข้อดีของการมี DPO คือ มีผู้คอยดูแลติดตามงานเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลอย่างครบวงจร สำหรับบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนี้ เป็นบุคคลภายในหรือภายนอกองค์กรก็ได้ แต่ต้องมีคุณสมบัติหลัก คือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA อย่างลึกซึ้ง” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

คณบดี CIBA กล่าวด้วยว่า เพื่อสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับผลกระทบ ความเสี่ยง และหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล รวมถึงการทำหน้าที่เป็น DPO สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต หรือ DPUX และ CIBA มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงร่วมมือกับ Easy PDPA ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษา PDPA อย่างครบวงจร เปิดคอร์สอบรมเตรียมความพร้อมสำหรับบริษัทและเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งในคอร์สนี้ผู้อบรมจะได้รับความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของ PDPA อย่างรอบด้าน พร้อมร่วมทำ Workshop จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน PDPA ได้แก่ คุณรับขวัญ ชลดำรงกุล ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งได้รับประกาศทางด้านการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล CIPM (Certified Information Privacy Manager) ซึ่งถือเป็นใบประกาศที่ได้รับการยอมรับระดับโลกที่ออกให้โดยหน่วยงาน International Association of Privacy Professionals และคุณอมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจและเทคโนโลยี โดยเนื้อหาสำคัญในการอบรม อาทิ พื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA ,ความเสี่ยงของแต่ละองค์กรภายใต้ พ.ร.บ., DPO คือใคร, ทุกบริษัทจำเป็นต้องมี DPO หรือไม่ หน้าที่และ Checklist สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ตาม พ.ร.บ. เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนจะได้รับ Certificate ที่ออกแบบเฉพาะ DPU นอกจากนี้ยังได้รับเครื่องมือที่สามารถนำไปปรับใช้ในบริษัทและองค์กรได้ทันที รายละเอียดเพิ่มเติมโทร.061-490-5858 หรือ e-mail:dpuxreskill@dpu.ac.th


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CIBA DPU ผนึก มอ.เปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตร์นานาชาติ รุ่นแรกเปิดสอนปี 2564 ชูจุดเด่นหลักสูตร สร้างพยาบาลมี DNA ผู้ประกอบการ พร้อมสมรรถนะหลากหลายในการประกอบอาชีพ

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า CIBA DPU ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในการผลิตพยาบาลศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ โดยเบื้องต้นจะเปิดรับนักศึกษาจีน จำนวน 30 คน ทั้งนี้ ในส่วนของ CIBA DPU จะปลูกฝัง DNA ความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 โดยผ่านการเรียนวิชาด้านผู้ประกอบการ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าถึงความรู้สึกของลูกค้า การคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เป็นต้น โดยมีการดำเนินการสอนจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเชิญวิทยากรแต่ละแขนงเข้ามาปลุกไอเดียธุรกิจให้นักศึกษา และจำลองการสร้างธุรกิจด้วยตนเองด้วย

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงนาม MOU ครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือของสองมหาวิทยาลัยที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยมอ.จะมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น ด้านการแพทย์ การพยาบาล เป็นต้น สำหรับ CIBA DPU นั้น มีความโดดเด่นด้านการสร้างธุรกิจสร้างมืออาชีพ โดยจะปลูกฝังทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา เมื่อผนึกทั้งสองศาสตร์รวมกัน นักศึกษาจะมีสมรรถนะและทักษะที่หลากหลายมากขึ้น

“สายวิชาชีพพยาบาลศาสตร์ยังคงเป็นที่ต้องการสูงของตลาดแรงงานไทยและต่างประเทศ เมื่อผนวกศาสตร์ความเป็นผู้ประกอบการเข้าไป จะทำให้หลักสูตรพยาบาลศาสตร์มีความพิเศษมากขึ้น สำหรับข้อดีของการเรียนในหลักสูตรนี้ คือ นอกเหนือจากความรู้ความสามารถทางด้านวิชาชีพพยาบาล บัณฑิตยังจะมีสมรรถนะที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้หลังจากบัณฑิตจบการศึกษาแล้วสามารถเลือกประกอบอาชีพได้หลากหลายขึ้น รวมทั้งการสร้างธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาชีพพยาบาล อาทิ เปิด Healthcare ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย หรือเปิดสถานความงาม เป็นต้น” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดย รศ.ดร. นงนุช บุญยัง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความร่วมมือว่า คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดการศึกษาพยาบาลศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในส่วนของปริญญาโทและปริญญาเอกมีการจัดการเรียนการสอนสำหรับทั้งนักศึกษาไทยและนานาชาติ ครั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง ในการรับนักศึกษาจากประเทศจีน จำนวน 30 คน มาเรียนในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน โดยจะสะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาที่ไร้พรมแดน นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติการโดยตรงกับครูอาจารย์ ฝึกปฏิบัติทั้งในเครื่องจำลอง และในสถานการณ์จริง


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณบดี CITE DPU เตือนภัยคุกคาม Ransomware ตัวใหม่ยังถอดรหัสไม่ได้ แนะผู้ใช้งาน IT ตั้งรับด้วยความตระหนักรู้

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการโจมตีทางไซเบอร์จำนวนมากทั่วทั้งโลกและในประเทศไทย ซึ่งไม่นานมานี้ได้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ที่สำคัญขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง โดยแฮกเกอร์โจมตีด้วย Ransomware จนระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลไม่สามารถทำงานได้ทำให้การให้บริการกับผู้ป่วยได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมทั้งมีการเรียกค่าไถ่ด้วยมูลค่าที่สูงมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกคนต้องหันมาสนใจเรื่องภัยคุกคามจากไซเบอร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบเจาะระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เป็น Security Engineer ให้กับผลิตภัณฑ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของโลกในประเทศไทย ได้วิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าวโดยระบุว่า Ransomware ของโรงพยาบาลที่ถูกโจมตีมีชื่อว่า “VoidCrypt” ที่ปรับปรุงใหม่ โดยปัจจุบันยังไม่สามารถทำการถอดรหัสเพื่อแก้ไขไฟล์ที่ติด Ransomware ตัวนี้ได้ และหากดูจากลักษณะการโจมตี รูปแบบและผลกระทบที่เกิดขึ้นคาดว่าไม่น่าจะเป็นฝีมือของคนไทยแต่มีความเป็นไปได้ที่เกิดจากการโจมตีจากชาวต่างชาติแถบทวีปยุโรปตะวันออกหรือตะวันออกกลางมากกว่า

ดร.ชัยพร กล่าวว่า Ransomware ดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายเพื่อการเรียกค่าไถ่ หากยอมจ่ายค่าไถ่ดังกล่าวแล้วก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าแฮกเกอร์จะยอมถอดรหัสไฟล์ทั้งหลายที่ติด Ransomware ดังกล่าวหรือไม่ แต่ผลกระทบเกิดขึ้นกับข้อมูลที่ได้เก็บบันทึกไว้และไม่สามารถนำมาใช้งานได้เกิดขึ้นแล้ว การกู้คืนระบบทำได้ยากหากไม่มีการบริหารจัดการสำรองข้อมูลที่ดี หรือมีการใช้งานเครื่องมือป้องกันจำพวก Endpoint Security รองรับหรือไม่ รวมถึงระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ล้าสมัยหรือไม่มีการอัพเดต การกำหนดสิทธิในการทำงานหรือการใช้งานของ User รัดกุมเพียงพอมากน้อยเพียงใด รวมทั้งความตระหนักของหน่วยงานและผู้ใช้งาน โดยในระยะสั้นอาจต้องแก้ปัญหาด้วยการทำงานด้วยกระดาษเป็นหลักก่อน ส่วนในระยะกลางถึงยาวอาจต้องแก้ปัญหาด้วยการคีย์ข้อมูลที่ต้องใช้งานเข้าไปใหม่ พร้อมทั้งการเพิ่มเติมและอัพเดตระบบคอมพิวเตอร์และระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งต้องเสียทั้งเวลา งบประมาณ การให้บริการ และชื่อเสียง

คณบดีวิทยาลัย CITE DPU กล่าวว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์มีอยู่รอบตัวเรา และยังมีรูปแบบอื่น ๆ อีกยกตัวอย่างเช่น มีข้อมูลส่วนตัวของบุคคลที่สำคัญไปโผล่ที่ตลาดมืด เป็นไปได้ว่าแฮกเกอร์เป็นผู้นำไปขาย โดยเจาะระบบผ่านอีเมลล์ฟิชชิ่งทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานในองค์กรติด Malware ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ หรือกรณีการติด Malware จนทำให้เกิดการแก้ไขข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศของบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง จนทำให้เกิดการโอนเงินไปยังบัญชีปลายทางที่เป็นของแฮกเกอร์ในต่างประเทศ เป็นต้น ปัญหาทั้งหลายดังกล่าวมักเกิดจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือมีแต่ขาดการอัพเดต ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ทุกคนต้องมีสติระมัดระวังในการใช้งาน มีการตระหนักรู้ (Awareness) ของการใช้งานที่ดี ไม่เข้าใช้โปรแกรมที่ไม่มีแหล่งที่มา ไม่เปิดอีเมลที่ไม่มีแหล่งที่มาหรือน่าสงสัย รู้จักใช้ระบบป้องกัน เก็บบันทึกข้อมูลการใช้งานให้ครบถ้วน มีการสำรองข้อมูล อัพเดตซอฟต์แวร์และเครื่องมือต่างๆ สม่ำเสมอ นอกจากนี้การป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์จำเป็นต้องได้รับการทบทวนและตรวจสอบเป็นประจำ ห้ามการ์ดตก เปรียบเหมือนเกมแมวไล่จับหนู เพราะแฮกเกอร์มักจะปรับเปลี่ยนวิธีการโจมตีใหม่ไปเรื่อย ๆ ทำให้เราต้องปรับวิธีตั้งรับและป้องกันตลอดเวลาเช่นเดียวกั

ดร.ชัยพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ภัยคุกคามไซเบอร์ไม่มีทางหมดไปจากโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต และการโจมตีมาจากส่วนไหนของโลกก็ได้ เพราะภัยคุกคามต่าง ๆ มาจากการใช้งานอินเตอร์เน็ต แม้ภาครัฐได้ออกกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่กฎหมายดังกล่าวบังคับและครอบคลุมหน่วยงานหรือบริษัทที่สำคัญเท่านั้นให้มีกระบวนการและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดีพอ ยังไม่ครอบคลุม Home User หรือหน่วยงานหรือบริษัททั่วไป ดังนั้นผู้ใช้งานควรจะตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ใช้งานอินเตอร์เน็ตด้วยความระมัดระวัง รู้จักใช้เครื่องมือที่ช่วยป้องกันภัยคุกคามต่างๆ มีการสำรองข้อมูลสำคัญ เสริมสร้างความรู้ด้านไซเบอร์ เป็นต้น


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CIBA DPU จับมือม.ดังอังกฤษเปิด Double Degree เรียนรู้ธุรกิจทั่วโลก

CIBA DPU จับมือ The University of Northampton ประเทศอังกฤษ เปิดหลักสูตร Double Degree สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ และ MBA หวังเพิ่มโอกาสแก่นักศึกษาไทย เรียนรู้ธุรกิจฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพิ่มช่องทาง เครือข่ายในการทำธุรกิจ พร้อมลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี(CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัวทั้งในเรื่องของการเรียนการสอน หลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าถึงองค์ความรู้ และโอกาสทางการศึกษาให้มากที่สุด วิทยาลัยCIBA ซึ่งมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ จึงได้ร่วมมือกับ The University of Northampton ประเทศอังกฤษ ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร 2 ปริญญา หรือDouble Degree ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรนี้ นักศึกษาสามารถไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ หรือจะเรียนในประเทศไทยซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญา 2 ใบจาก DPU และ The University of Northampton ประเทศอังกฤษ

“ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการขยายโอกาสใหันักศึกษาไทยที่ไม่สะดวกจะเดินทางไปต่างประเทศ สามารถเรียนในเมืองไทยได้ ซึ่งทาง The University of Northampton เป็นมหาวิทยาลัยดังในประเทศอังกฤษ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการ หรือธุรกิจ CIBA DPU ก็มีนโยบายที่สอดคล้องกันในเรื่องการสนับสนุนความสามารถของนักศึกษาในการสร้างธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ทางมหาวิทยาลัยมีที่ปรึกษาเฉพาะทางที่พร้อมช่วยผลักดันให้ธุรกิจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากความลงตัวดังกล่าวทำให้นักศึกษาที่จะเรียนในหลักสูตรได้เห็นมุมมองทางด้านธุรกิจในประเทศตะวันตก และตะวันออก ขณะเดียวกันจะเป็นการเปิดเครือข่ายในการทำธุรกิจ เพราะรูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นจากสถานการณ์จริง กรณีศึกษาจริงที่เกิดขึ้นจากในประเทศฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก นักศึกษาจะมีโอกาสในการทำธุรกิจและเรียนรู้ธุรกิจในโลกสมัยใหม่ได้มากขึ้น” คณบดีวิทยาลัย CIBA กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน วิทยาลัย CIBA มีการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียนกว่า 20 ประเทศ ดังนั้น ในหลักสูตร 2 ปริญญาดังกล่าว จะมีนักศึกษาที่เข้าเรียนจากหลากหลายประเทศ ซึ่งจะได้แนวทางด้านธุรกิจที่มาจากบุคลากร คณาจารย์ วิทยาลัย CIBA และ The University of Northampton รวมถึงผู้เชี่ยวชาญมากมาย โดยทั้ง 2 หลักสูตรจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2564 ซึ่งจะรับคลาสละ 30 คน สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/ หรือเพจ CIBAวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CITE DPU ร่วมเอกชน พัฒนาระบบติดตามสถานะผู้ป่วยบนรถพยาบาลแบบเรียลไทม์

CITE DPU ร่วมเอกชน พัฒนาระบบติดตามสถานะผู้ป่วยบนรถพยาบาลแบบเรียลไทม์ ช่วยทีมแพทย์ประเมินคนไข้ก่อนถึง รพ. พร้อมรักษาได้ทันท่วงที อนาคตมีแนวคิดพัฒนาระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์การแพทย์ภายในรถหลากหลายขึ้น หวังช่วยแพทย์รักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การนำผู้ป่วยหรือคนไข้ฉุกเฉิน โดยรถพยาบาล (Ambulance)  ไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่อาจทราบถึงรายละเอียดสภาพปัญหา รวมไปถึงสัญญาณชีพของผู้ป่วยและระยะเวลาในการเดินทางมาถึงโรงพยาบาลได้ ในบางครั้งจึงไม่สามารถเตรียมการช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดการเกิดปัญหาดังกล่าว จึงเกิดโครงการระบบติดตามสถานะของผู้ป่วยและตำแหน่งของรถพยาบาล โดยความร่วมมือของ  วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กับ บริษัท Tely 360 จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบทางการแพทย์แบบครบวงจร

ผศ.ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบติดตามตำแหน่งรถพยาบาลพร้อมสัญญาณชีพของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ได้ทราบรายละเอียดโดยรวมของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์และเตรียมการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ โดยปัจจุบันระบบนี้ได้ติดตั้งบนรถพยาบาลไปแล้วกว่า 200 คัน ทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดขอนแก่น อยุธยา เชียงราย ภูเก็ต ยะลา กรุงเทพฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกจะเป็นอุปกรณ์ติดกับตัวรถ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้แพทย์ได้มองเห็นสภาพโดยรอบภายในรถรวมถึงสภาพของผู้ป่วยผ่านกล้อง ทราบถึงอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตของผู้ป่วย ฯลฯ   ส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนคลาวด์เซิฟต์เวอร์สำหรับเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วย และส่วนที่ 3  เป็นแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ซึ่งจะปรากฏข้อมูลของคนไข้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์ของคนไข้จากข้อมูลที่ปรากฏนี้ได้

“ระบบนี้เป็นแบบเรียลไทม์ จะทำให้ทราบระยะเวลาว่าอีกกี่นาทีที่รถจะถึงโรงพยาบาล มองเห็นสภาพโดยรวมของคนไข้ ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ อาการหนักมากน้อยแค่ไหน  แพทย์จะได้ประเมินและเตรียมการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที” ผศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว

ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาระบบขั้นต่อไปในอนาคตมีแนวคิดจะพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือเฉพาะทางการแพทย์ภายในรถพยาบาลให้ได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ เครื่องปั๊มหัวใจ เครื่องวัดปริมาณเลือด/น้ำเกลือ ฯลฯ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทีมแพทย์พยาบาลในการเตรียมการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


Exit mobile version