Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

สัมภาษณ์พิเศษ มจพ. สร้างนวัตกรรมหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส (โควิด-19)

รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี และ ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดตัว “หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส” มีคุณสมบัติในการสร้างไอพ่นละอองฝอยละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน เรียกว่าเป็นระบบการสร้างละอองฝอยแบบ ยูแอลวี (ULV cold fog generator) ด้วยปั๊มแรงดันสูง 12 บาร์ มีอัตรkการไหล 1 ลิตรต่อนาที ใช้หัวฉีดพ่นจำนวน 16 หัวฉีด (หัวฉีดละเอียดชนิดพิเศษ) แบ่งเป็นระบบหัวพ่นเป็นวง 8 หัว และระบบหัวพ่นแบบทำงานร่วมกับพัดลมแรงดันสูง 8 หัว เนื่องจากขนาดละอองฝอยเฉลี่ย 50 ไมครอน จะสามารถพยุงตัวในอากาศได้นาน แล้วใช้ลำอากาศความดันและอัตราการไหลสูง นำพาละอองฝอยน้ำยาให้เคลื่อนที่ไปไกล 5-7 เมตร ส่งผลให้ละอองฝอยน้ำยาครอบคลุมไปทุกพื้นที่ การใช้ปริมาณน้ำยาต่อพื้นที่สม่ำเสมอ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถฉีดพ่นได้ต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง (ใช้น้ำยาผสม 25 ลิตร) จากการทดสอบการทำงานสามารถฉีดพ่นครอบคลุม พื้นที่ 37,680 ตารางเมตรต่อ 50 นาที หุ่นยนต์จะช่วยให้ประหยัดเวลาในการทำงาน และลดความเมื่อยล้าของผู้ฉีดพ่น

หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ถูกออกแบบให้ระบบควบคุมการเคลื่อนที่หุ่นยนต์เป็นแบบ “ไร้สาย” เพิ่มความสะดวกสบาย และสามารถเว้นระยะห่างจากรัศมีของการฉีดพ่นได้ ลดความเสี่ยงให้กับผู้ทำการฉีดพ่น จากการบังคับขับหุ่นยนต์ผ่านกล้อง ผ่านระบบสัญญาวิทยุ และมีจอแสดงผลกล้องจากหุ่นยนต์ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าของหุ่นยนต์ เพื่อช่วยให้ผู้บังคับสามารถควบคุมได้ง่ายมากขึ้น และสามารถปรับมุมได้ตามความเหมาะสมของสถานที่ และหมุนรอบแกน 120 องศา ทั้งนี้หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) มีขนาด กว้าง 60 x ยาว 80 x สูง 150 เซนติเมตร มีโครงสร้างที่ทนต่อความชื้นสูง โดยเลือกใช้สแตนเลส งบประมาณที่ใช้ประมาณ 70,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย และต้านภัยโควิด มจพ.”

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า รู้สึกห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดระลอก 3 พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยใกล้เคียงกับ 2 รอบที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนวัตกรรมหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่สามารถใช้.oพื้นที่เสี่ยงภัยจากการสัมผัส เช่น โรงพยาบาลสนาม อาคารสำนักงาน พื้นที่ชุมชน เป็นต้น เนื่องจากการใช้หุ่นยนต์เข้าไปทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรค จะมีความปลอดภัยสูง ลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็น เพราะการควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ สามารถเว้นระยะห่างของการฉีดพ่นได้เป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือรวมแบ่งปันน้ำใจและดูแลให้ประเทศไทยพ้นภัยครั้งนี้ ด้วยการสร้าง “หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส” นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 เพื่อตอบโจทย์การยกระดับความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้บุคลากร มจพ. ผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ
รศ.ดร. ศุภชัย เล่าให้ฟังว่า วัตถุประสงค์ของการสร้างหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นการออกแบบสร้างหุ่นยนต์บังคับไร้สายเอนกประสงค์ในการบรรทุกอุปกรณ์ไปยังจุดเสี่ยงโรค เพื่อสร้างระบบฉีดพ่น ด้วยหลักการปั๊มแรงดันสูง เพื่อให้น้ำเกิดการแตกตัว และการนำส่งได้ระยะไกล อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ความรู้ และการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสุขาภิบาล ส่วนกลุ่มเป้าหมาย เน้นให้ความสำคัญกับการบริการทางสังคม รวมถึงขนส่งมวลชน ศาสนสถาน ศูนย์เด็กเล็ก/โรงเรียน มหาวิทยาลัย และแหล่งชุมชน ตลอดจนตลาด ห้างสรรพสินค้า และโรงมหรสพ เป็นต้น

หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส สามารถตอบโจทย์พื้นที่เสี่ยงภัยจากการสัมผัส และการพุ่งกระจายในอากาศ ดังเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งการนำหุ่นยนต์เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่สามารถเว้นระยะห่างจากรัศมีของการฉีดพ่นได้เป็นอย่างดี ใช้แบตเตอร์รี่ 55 แอมแปร์ 2 ลูก และมีวงจรชาร์จแบตเตอร์รี่ในระบบ 12 โวลต์และ 24 โวลต์ จ่ายไฟทำงานต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 150 นาที พร้อมพัดลมความเร็วรอบสูง มีกล้องช่วยในการมองขณะขับเคลื่อน สำหรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1. ระบบไอพ่น : เริ่มจากการใช้น้ำยาที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ และมีผลการวิจัยสนับสนุน การยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อ ใช้ระบบสร้างความดันน้ำยาถึง 12 บาร์ แล้วผ่านรูเล็ก จากความดันสูงสู่ความดันบรรยากาศจึงทำให้เกิดการแตกตัวเป็นฝอยละออง จากนั้นนำส่งน้ำยาด้วยลำอากาศความเร็วลมสูงทำให้น้ำยาพ่นไปไกล 5-7 เมตร

2. ระบบหุ่นยนต์ : การออกแบบโครงสร้าง การวางตำแหน่งล้อ การสมดุลน้ำหนัก เพื่อให้การเคลื่อนตัวหุ่นยนต์เป็นไปอย่างราบเรียบ ด้วยการกำหนดความเร็ว สามารถเคลื่อนที่ไปในทุกพื้นที่ ใช้ล้อยางเต็มลม 2 ล้อ และเสริมด้วยล้ออิสระ 2 ล้อ

3. ระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร : เป็นสัญญาณวิทยุ ระยะของการบังคับ 50 เมตร กรณีที่โล่ง มีระบบ เปิด-ปิด การจ่ายน้ำยา และควบคุมหัวไอพ่นไปในทิศทางที่ต้องการได้ การบังคับการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ผ่านกล้องที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าของตัวหุ่นยนต์ เพื่อช่วยให้ผู้บังคับสามารถควบคุมได้ง่ายมากขึ้น

ผศ.ดร. สถาพร อธิบายว่า นอกจากนี้หุ่นยนต์ใช้วงจรควบคุมความปลอดภัยในการจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าของหุ่นยนต์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) ตัวส่งจะมีลักษณะเป็น Joy Controller ที่รับคำสั่งจากผู้ใช้งาน ประกอบไปด้วยสวิตช์ควบคุม ตัวส่งสัญญาณวิทยุและจอแสดงผลกล้องจากหุ่นยนต์ ตัวส่งจะรับค่าปุ่มกดจากผู้ใช้และส่งค่าไปหาตัวหุ่นยนต์ผ่านคลื่นวิทยุ เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ และ 2) ตัวรับจะประกอบไปด้วยตัวรับวิทยุทำหน้าที่รับข้อมูลจากตัวส่งวิทยุ ส่งไปยังไมโครคอนโทรลเลอร์ จากนั้นไมโครคอนโทรลเลอร์จะทำการตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับ จากนั้นจะส่งสัญญาณไปยังบอร์ดควบคุมมอเตอร์ ซึ่งมอเตอร์จะแบ่งออก 3 ส่วนคือ (1) มอเตอร์ขับเคลื่อนล้อ (2) มอเตอร์หมุนหัวพ่น ใช้สำหรับหมุนชุดพ่น และ (3) มอเตอร์ไอพ่นจะติดตั้งอยู่ในกระบอกพ่น สามารถปรับความเร็ว ปรับความแรงของลมให้มากน้อยตามความเหมาะสมของสถานที่
อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ได้ถูกทดสอบและนำไปทำงานภาคสนามโดยฉีดพ่นเพื่อป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้กับพื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยแล้ว โดยได้ฉีดพ่นในห้องประชุม สถานที่ประชุม สนามกีฬาในร่ม สถานที่ทำงาน สำนักงาน สนามกีฬา และโรงอาหาร นับเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยม ตอบโจทย์กับความต้องการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ผลงานจากรั้ว มจพ. ที่สร้างสรรค์เพื่อคนไทย ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอเชิญชวนร่วมบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ที่ “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” เพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดให้นักวิจัย สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ไปสู่สังคมเพื่อช่วยเหลือสังคมได้อย่างยั่งยืน
สนใจและสอบถามข้อมูลหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรคและไวรัส ได้ที่ รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทรศัพท์ 081-645-5411 หรือที่ LINE : supachai_line


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. รับมอบนวัตกรรมหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส (โควิด-19)

ศ.ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมคณะผู้บริหาร รับมอบหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส ผลงานของ รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี และ ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย ภาควิชาวิศวกรรมขนถ่ายวัสดุและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ณ ห้องประชุม 215 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)“หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส” สามารถไอพ่นละอองฝอยละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน มีอัตราการไหลสูง นำพาละอองฝอยน้ำยาให้เคลื่อนที่ไปไกล 5-7 เมตร

ส่งผลให้ละอองฝอยน้ำยาครอบคลุมไปทุกพื้นที่ การใช้ปริมาณน้ำยาต่อพื้นที่สม่ำเสมอ เป็นไปอย่างมีประสิทธิ์ภาพ สามารถฉีดพ่นได้ต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง (ใช้น้ำยาผสม 25 ลิตร) ระบบควบคุมการเคลื่อนที่หุ่นยนต์เป็นแบบ “ไร้สาย” ทั้งนี้หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) มีขนาด กว้าง 60 x ยาว 80 x สูง 150 ซม. มีโครงสร้างที่ทนต่อความชื้นสูง โดยเลือกใช้สแตนเลส งบประมาณที่ใช้ประมาณ 70,000 บาท โดยได้รับการสนับสนุนจาก “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัย และต้านภัยโควิด มจพ.”

ขวัญฤทัย ข่าว/สมเกษ ถ่ายภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

PouchNATION เปิดตัวสายรัดข้อมือตรวจวัดอุณหภูมิสำหรับภาคธุรกิจและครัวเรือนเพื่อช่วยบรรเทาการระบาดของ COVID-19

ประเทศสิงคโปร์ (24 มิถุนายน 2563) – ในฐานะผู้นำเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการมวลชน ระบบชำระเงินแบบไร้การสัมผัส และการวิเคราะห์พฤติกรรม PouchNATION ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้น ซึ่งเกิดจากการต่อยอดเพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์สำหรับสวมใส่ดั้งเดิมของบริษัท PouchPASS เป็นนวัตกรรมใหม่ของสายสายรัดข้อมือในการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้เทคโนโลยีบลูทูธ (Bluetooth) เพื่อบันทึกและซิงค์ข้อมูลอุณหภูมิของร่างกายผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือหรือผ่านแดชบอร์ดเมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมาก ฟีเจอร์สำคัญของ PouchPASS คือสามารถใช้เครื่องมือในการติดตามตัว (Contact tracing) และคัดกรองระยะเริ่มต้นของผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองได้ เพื่อช่วยบรรเทาและลดการแพร่กระจายของ COVID-19

สายรัดข้อมือ PouchPASS และแอปพลิเคชัน
อิลยา คราฟซอพ ซีอีโอ PouchNATION กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเราสร้างธุรกิจเพื่อเป็นผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยีสายรัดข้อมือในการบริหารจัดการมวลชนสำหรับงานอีเวนต์และสถานที่จัดงานและให้บริการด้านต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในทุกๆ ปีเราดำเนินงานอีเวนต์หลายร้อยงาน โดยใช้เทคโนโลยีของเราในการบริหารจัดการผู้เข้าร่วมงานหลายล้านคนทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งให้ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึก ระบบจำหน่ายตั๋วและการบริหารจัดการมวลชน การระบาดของไวรัส COVID-19 นับเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตการทำงานของเรา เมื่อเราเข้าใจถึงความรุนแรงของสถานการณ์ เราจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนความรู้และทรัพยากรของเราไปทิศทางที่จะเป็นการปกป้องชีวิตและสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้นสำหรับอนาคต

คูณ แวน กีน ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการผลิตภัณฑ์ใหม่ กล่าวว่า PouchNATION เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคมาโดยตลอด และการใช้ RFID เป็นการเปิดใช้งานระบบชำระเงินแบบไร้เงินสด การระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (Geolocation) การจำหน่ายตั๋ว การพัฒนาระบบ POS ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมของเราซึ่งสามารถรายงานข้อมูลการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างละเอียด สำหรับคนที่รู้จักเราบวกกับสปิริต “เราทำได้” ก็คงไม่แปลกใจที่เราสามารถนำความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ การปฏิบัติได้งานจริงและข้อมูลเชิงลึก พร้อมด้วยประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการมวลชน งานอีเวนต์ สถานที่และการทำงานร่วมกับผู้จัดงานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มาพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของเรา

กรณีศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในประเทศจีนและยุโรประบุว่าอาการบ่งชี้หลักของผู้ป่วย COVID-19 คือ มีอาการไข้ถึง 89.1% ดังนั้นการเพิ่มเครื่องมือในการวัดอุณหภูมิร่างกายเข้าไปในสายรัดข้อมือของเราจึงเป็นการเพิ่มความมั่นใจในอีกระดับให้กับผู้ร่วมงานและผู้จัดงานเมื่อกิจกรรมและธุรกิจกลับมาเปิดตัวอีกครั้ง เทคโนโลยีนี้สามารถใช้งานได้อย่างไม่จำกัด อาทิ ในการกีฬา ภายในอาคารสถานที่ กิจกรรม โรงงาน โรงเรียน โรงพยาบาล เรือนจำ ระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้เราต้องการให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ ดังนั้นการกำหนดราคาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเราในการเปิดตัว PouchPASS

ฟีเจอร์บน PocuhPASS แอปพลิเคชั่น
สร้างด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงแต่ง่ายในการใช้งาน


แอปพลิเคชัน PouchPASS ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตรวจสอบอุณหภูมิของร่างกายได้อย่างต่อเนื่องในระยะไกลโดยไม่ต้องมีการสัมผัสระหว่างบุคคล ข้อมูลอุณหภูมิร่างกายที่วัดได้จากเซ็นเซอร์บนสายรัดข้อมือจะถูกซิงค์โดยอัตโนมัติแบบเรียลไทม์ผ่านเทคโนโลยีบลูทูธที่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือและเครือข่ายบลูทูธในพื้นที่ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกจัดเก็บบนคลาวด์ซึ่งสามารถเรียกดูข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน PouchPASS บนมือถือและแดชบอร์ดได้ เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่หลากหลายตั้งแต่การใช้งานส่วนบุคคล ไปจนถึงพื้นที่ขนาดใหญ่ อาทิ โรงเรียน โรงงาน ห้างสรรพสินค้า สนามบิน สถาบันและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการตรวจสอบความปลอดภัยด้านสุขภาพของพนักงานและเพื่อให้การเปิดธุรกิจเปิดดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และการใช้ PouchPASS จะช่วยให้องค์กรลดชั่วโมงการทำงานในการวัดและบันทึกอุณหภูมิในหลายๆครั้งต่อวันซึ่งเป็นมาตรฐานที่รัฐบาลหลายแห่งตั้งข้อกำหนดไว้

ฟีเจอร์บน PocuhPASS แดชบอร์ด

เต็มเปี่ยมด้วยข้อมูลแต่มีความเป็นส่วนตัว 100%

ผู้ใช้งานสามรถเปิดใช้งานบริการพิกัดข้อมูลสถานที่ (Location service) บนโทรศัพท์มือถือเพื่อแชร์ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (Geolocation) ให้กับสมาชิกครอบครัวและเพื่อนร่วมงานได้ และเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างสายรัดข้อมือ แอปพลิเคชันและเครือข่ายบลูทูธในพื้นที่ ข้อมูลอุณหภูมิจะถูกจัดเก็บผ่านการเชื่อมต่อทั้งหมดและสามารถดูข้อมูลผ่านออนไลน์แดชบอร์ด นอกจากนี้ผู้ใช้งานจะเป็นผู้กำหนดเองว่าข้อมูลไหนที่ต้องการจะแชร์ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่านี้ได้ตลอดเวลา

คูณ แวน กีน กล่าวเพิ่มเติมว่า มีข้อกังวลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้งานระบบต่างๆ จำนวนมากในตลาด เช่น ระบบจดจำใบหน้า การเช็คอินตำแหน่งด้วย QR แอปพลิเคชันใช้ติดตามตัว ฯลฯ PouchPASS จึงให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของคุณ และคุณเท่านั้นที่จะเป็นคนควบคุมและกำหนดว่าข้อมูลส่วนบุคคลส่วนใดที่คุณอยากจะแชร์

คงทนและทนทานด้วยราคาที่คุ้มค่า
ด้วยอัลกอริทึมที่มีความอัจฉริยะในการเปรียบเทียบค่าที่ได้จากเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิกับค่ามาตรฐาน จึงทำให้ผลการวัดอุณหภูมิมีความแม่นยำสูง ซึ่งการให้ข้อมูลการวัดอุณหภูมิที่มีความน่าเชื่อถือนั้นคือหัวใจสำคัญในระบบของแอปพลิเคชัน PouchPASS
ปลอกของสายรัดข้อมือผลิตจากซิลิโคนและโพลีคาร์บอเนต (PC) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง และยังมีผิวสัมผัสที่นุ่มลื่น มีความยืนหยุ่นจึงทำให้รู้สึกสบายเมื่อสวมใส่ และส่วนประกอบอีกหนึ่งชิ้นที่สามารถถอดออกจากสายได้คือ บลูทูธบีคอน (BLE 5.0) ที่มาพร้อมกับเซ็นซอร์วัดอุณหภูมิแบบดิจิทัลซึ่งมีการรับรองตามมาตรฐานอุปกรณ์การแพทย์และมาตรฐาน CE

สายรัดข้อมือ PouchBAND และสายรัดข้อมือ PouchBAND พลัส
สายรัดข้อมือ PouchBAND ทั้ง 2 รุ่นมีทั้งหมด 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก (11-16 ซม.) ขนาดกลาง (15-20 ซม.) และขนาดใหญ่ (18-23 ซม.) ลูกค้าสามารถเลือกสีที่หลากหลายจากสต็อกของเราได้เมื่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จำนวนต่ำกว่า 1,000 ชิ้น แต่หากสั่งผลิตจำนวนมากกว่า 1,000 ชิ้นลูกค้าจะสามารถกำหนดสีและออกแบบการพิมพ์โลโก้ได้ตามความต้องการ นอกจากนี้สายรัดข้อมือ PouchBAND มีคุณสมบัติในการป้องกันฝุ่น 100% และป้องกันการซึมเข้าของน้ำได้ จึงทำให้สามารถสวมใส่ขณะล้างจานหรือแม้กระทั้งขณะอาบน้ำ อีกทั้งยังลดความยุ่งยากในการชาร์จไฟด้วยเพราะสายรัดข้อมือ PouchBAND ใช้พลังงานจากถ่านกระดุมลิเธียมรุ่น CR2032 ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนเองได้และสามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องนานหลายเดือน

บรรจุภัณฑ์ของ PouchPASS
สายรัดข้อมือ PouchBAND รุ่นพลัสจะมี RFID ไมโครชิปซึ่งเป็นการรวมคุณลักษณะ NFC ฟีเจอร์ดั้งเดิมของ PouchNATION ใช้งานในส่วนของการควบคุมการเข้าออก การบันทึกเข้างานของผู้ร่วมกิจกรรม ระบบชำระเงินแบบไร้เงินสด การทำงานเชื่อมต่อในการเปิดปิดล๊อคของประตู และเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ โดยแนะนำให้อัพเกรดการใช้งานเป็นรุ่นนี้สำหรับการจัดกิจกรรม งานอีเวนต์ โรงเรียน และองค์กรที่มีการใช้งานร่วมกันระหว่างการเข้าออก การซื้ออาหาร และการจำหน่ายตั๋วของงานอีเวนต์

ราคาแพ๊คเกจสมาชิกใช้งานสายรัดข้อมือ PouchBAND และสายรัดข้อมือ PouchBAND พลัส มีราคาเพียงไม่กี่ดอลลาร์ต่อเดือน หากท่านสนใจที่จะเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการใช้งานโซลูชั่นแนวหน้านี้ โปรดกรอกอีเมล์ของท่านบนเว็บไซต์ www.pouchpass.com เพื่อดูส่วนลดราคาพิเศษซึ่งมีจำนวนจำกัดเฉพาะผู้ซื้อกลุ่มแรกเท่านั้น

###################

PouchNATION เป็นบริษัทชั้นนำผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการมวลชน ระบบชำระเงินแบบไร้การสัมผัส และการวิเคราะห์พฤติกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเครือข่ายสำนักงานอยู่ใน 6 ประเทศทั่วภูมิภาค PouchNATION ประสบความสำเร็จในการใช้งานโซลูชั่นด้านการจำหน่ายตั๋ว การลงทะเบียน การควบคุมการเข้าออก กิจกรรมของแบรนด์ สำหรับงานอีเวนต์และสถานที่ที่มีคนจำนวนมากในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่การกีฬา งานดนตรีไปจนถึงธุรกิจด้านการบริการ การจัดประชุมสัมมนา และการจัดนิทรรศการ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์ สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ในประเทศ

รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ผลงานนักศึกษาคณะครุศาสตร์ฯ มจพ. วิ่งจ่ายยาอัตโนมัติถึงเตียงผู้ป่วย

เรื่องโดย : ขวัญฤทัย

รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสผู้ป่วยให้กับคุณพยาบาล และนี่คือนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ผลงานของ นายเกียรติศักดิ์ เพ็ชรมาก และ นางสาวกนิษฐา โกอินต๊ะ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยมีผศ.ดร.ดวงกมล โพธิ์นาค เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

คุณสมบัติของระบบรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ

ตัวรถเข็นใช้บอร์ด Arduino Mega เป็นหน่วยประมวลผลหลัก และพัฒนาโค้ดด้วยภาษา C++
• มีโมดูล ESP8266 เป็นตัวเชื่อมต่อ WiFi
• รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะมีขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร สูง 65 เซนติเมตร
• โครงรถเข็นใช้เหล็กกล่องขนาด 1×1 นิ้ว
• ใช้แผ่นอะคริลิก สีขาวขุ่น หนา 5 มิลลิเมตร เป็นแผ่นปิดโครงรถเข็น
• ใช้มอเตอร์เกียร์ขนาด 12V ความเร็วรอบ 50rpm จำนวน 2 ตัว ในการขับเคลื่อน
• ลิ้นชักบรรจุยามีขนาด 16 x 10 x 22 ซ.ม. (กว้าง x ยาว x สูง)
• ส่วนระบบฐานข้อมูลใช้โฮสต์ Firebase ในการเก็บข้อมูลตำแหน่งยา และใช้ SQL ในการเก็บประวัติการจ่ายยา
• ใช้ภาษา HTML ภาษา PHP และ JavaScript ในการสร้างส่วนของเว็บแอปพลิเคชั่น
• ใช้แหล่งจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ 12V 20A
• มีวงจรรักษาระดับแรงดันเมื่อแบตเตอรี่มีแรงดันไฟต่ำ
• มีวงจรประจุแบตเตอรี่ในตัว เมื่อต้องการประจุแบตเตอรี่ใหม่สามารถเสียบปลั้กไฟ 220 โวลต์ ได้ทันที ทำให้สะดวกในการประจุแบตเตอรี่ใหม่ และระบบตัดไฟอัตโนมัติเมื่อประจุแบตเตอรี่เต็มแล้ว

สำหรับงบประมาณที่ใช้ประมาณสองหมื่นบาท ใช้ระยะเวลาในการประดิษฐ์ต้นแบบ 4 เดือน นับว่าเป็นนวัตกรรมการจ่ายยาที่ยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย โดยนำเอาเทคโนโลยีด้านเว็บแอปพลิเคชั่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มาช่วยในการการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล

การทำงานของรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ
เมื่อเริ่มใช้งานพยาบาลจะกดสวิตช์เลื่อนลิ้นชักออกมาเพื่อนำยาใส่ลงในลิ้นชักแต่ละช่องของรถเข็น แล้วจึงระบุข้อมูลตำแหน่งของยาและเตียงผู้ป่วยลงในฐานข้อมูลผ่านหน้าเว็บแอปพลิเคชั่น จากนั้นรถเข็นจะทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยโมดูล ESP8266 เพื่อดึงข้อมูลตำแหน่งยาและเตียงผู้ป่วย จะวิ่งไปยังเตียงของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ  จากนั้นรางลิ้นชักที่บรรจุยาอยู่จะเลื่อนออกอัตโนมัติโดยอาศัยมอเตอร์เกียร์ เป็นตัวส่งกำลังให้ลิ้นชักทำการเปิด – ปิด โดยภายในลิ้นชักจะมีตัวตรวจจับ (sensor) มือของผู้ป่วยในการหยิบยา

เมื่อลิ้นชักเปิดแล้วระบบจะหน่วงเวลาเพื่อรอให้ผู้ป่วยหยิบยา 2 นาที หากไม่ได้หยิบยาในระยะเวลาที่กำหนดระบบจะปิดลิ้นชักและวิ่งไปจ่ายยายังเตียงถัดไป แต่หากผู้ป่วยรับยาแล้วลิ้นชักจะทำการปิดและไปจ่ายยายังเตียงถัดไปเช่นกัน ในขณะที่รถเข็นกำลังเคลื่อนที่ไปจ่ายยา หากพบสิ่งกีดขวางในระยะน้อยกว่า 50 เซนติเมตร รถเข็นจะหยุดและส่งสัญญาณเสียงเตือน และเมื่อไม่มีสิ่งกีดขวางจะเคลื่อนที่ต่อโดยอัตโนมัติ

ระบบของรถเข็นยังได้ออกแบบการใช้งานเป็น 2 ระดับ คือระดับผู้ใช้งาน และผู้ดูแลระบบ ในส่วนของผู้ใช้งานก็คือพยาบาลจะสามารถเพิ่มตำแหน่งจ่ายยา และเรียกดูประวัติการจ่ายยาของผู้ป่วยได้ และในส่วนของผู้ดูแลระบบจะสามารถเพิ่มข้อมูลตำแหน่งยา เรียกดูประวัติการจ่ายยา สมัครสมาชิก และระบบการจัดการสมาชิก

และนี่คือนวัตกรรมรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะต้นแบบ ที่สามารถเพิ่มความสะดวกในการจ่ายยาให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างพยาบาล และที่สำคัญลดความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 หรือโรคติดต่ออื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาในเชิงพาณิชย์

สอบถามรายละเอียดได้ที่
ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)
หรือที่ ผศ.ดร.ดวงกมล โพธิ์นาค โทรศัพท์ 064-639-4888 หรือนายเกียรติศักดิ์ เพ็ชรมาก โทรศัพท์ 0907080272 และนางสาวกนิษฐา โกอินต๊ะ โทรศัพท์ 0907796372


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ออฟฟิศเมท มอบหน้ากาก Face Shield #สู้ไปด้วยกัน กับบุคลากรทางการแพทย์

บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ธุรกิจออฟฟิศเมท รวมพลังพนักงานจิตอาสาร่วมแรงร่วมใจผลิตหน้ากากป้องกันละอองฝอย (Face Shield) เพื่อป้องกันสุขอนามัยของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นด่านหน้าในการรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยตั้งใจเดินหน้ามอบ Face Shield ให้โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง


นางสาวพิมพ์ตะวัน ทัลวัลลิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า ออฟฟิศเมท ห่วงใยและใส่ใจสุขอนามัยของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้รวมพลังพนักงานจิตอาสาจากทุกหน่วยงานในองค์กร ทั้งสำนักงานใหญ่, ศูนย์ Contact Center และพนักงานร้านออฟฟิศเมท #เป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยร่วมผลิตหน้ากากป้องกันละอองฝอย (Face Shield) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยหน้ากากทุกชิ้นพนักงานทำด้วยใจ ให้ความสำคัญกับความสะอาดในทุกขั้นตอน ตั้งใจส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมเริ่มต้นที่ 10,000 ชิ้น เพื่อ #ฝ่าโควิด19 ไปด้วยกัน โดยบริจาคที่แรกจังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับเกียรติจาก พลอากาศตรี ทวีพงษ์ ปาจรีย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ พร้อมทีมบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้รับมอบ จำนวน 1,000 ชิ้น


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

วาปีปทุม เจ๋งผุดนวัตกรรม “ตู้ต้านโควิด”

สส.กำชับเครือข่ายตำบลสุขภาวะเข้มมาตรการชุมชนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทต.วาปีปทุม เจ๋งผุดนวัตกรรม “ตู้ต้านโควิด” ฆ่าเชื้อ ลดภาระหมอ-พยาบาล ด้านทต.ไทรย้อย ห่วงใย อสม.จัดซื้อเครื่องวัดอุณภูมิ-เจลแอลกกอฮอล์ อุปกรณ์ป้องกันตัวก่อนปฏิบัติงาน

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนท้องถิ่นดำเนินโครงการเฝ้าระวังโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ โดยจัดสรรงบประมาณให้แก่ตำบลสุขภาวะ 54 แห่ง และเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)/คณะกรรมการพัฒนาตำบลอีก 424 ตำบล รวม 478 ตำบลเพื่อทำแนวทางเฝ้าระวัง ควบคุม และกำหนดมาตรการชุมชนป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด–19 พร้อมกำชับให้ภาคีเครือข่ายตำบลสุขภาวะทั้ง 2,979 ตำบล เข้มงวดมาตรการชุมชนด้วย ซึ่งหลายพื้นที่ตื่นตัวป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเทศบาลตำบล(ทต.) วาปีปทุม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม พัฒนานวัตกรรม “ตู้ต้านโควิด” เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมาช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยใช้น้ำอิเล็กโทรไลซ์ ค่า PH 5.5-6.5 ชนิดกรดอ่อนใกล้เคียงกับสภาวะผิวหนังคน ไม่ทำให้กัดกร่อน ซึ่งเป็นกรดไฮโปคลอรัส ความเข้มข้น 20-30 PPm มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรียและไวรัสได้มากกว่า 99% ทดแทนแอลกอฮอล์ ซึ่งเทศบาลได้ทำประดิษฐ์ตู้ต้านโควิค-19 ครั้งแรกจำนวน 3 ตู้

       “ทต.วาปีปทุม ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติตัวทั้งกลุ่มเสี่ยงและไม่เสี่ยงอย่างเข้มข้น และใช้ประโยชน์จากข้อมูลตำบล (TCNAP) ติดตั้ง “ตู้ต้านโควิด” ไว้ที่สถานนีขนส่ง 1 จุด ตลาดสด 1 จุด เทศบาล 1 จุด เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่มีผู้คนเข้าออก ยากต่อการควบคุมและคัดกรอง สำหรับตู้ต้านโควิด เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ มีการกำหนดจุดให้ผู้เดินทางมีระยะห่างทางสังคม ยืนตามจุดที่กำหนดห่างกัน 1 เมตร ล้างมือที่อ่างล้างมือก่อน เช็ดมือให้แห้ง ก่อนเข้าตู้ต้านโควิด -19 เพื่อฆ่าเชื้อโรค 10 วินาที/คน นอกจากนี้ยังทำอ่างล้างมือเคลื่อนที่ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์จากขยะรีไซเคิลโดยนำมาดัดแปลงเป็นอ่างล้างมือเอนกประสงค์ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงล้างมือทำความสะอาดฆ่าเชื้อคลอบคลุมทุกพื้นที่”น.ส.ดวงพร กล่าว

        นายสมเกียรติ เกรียงไกรอนันต์ นายกเทศมนตรีตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ศูนย์ประสานงานลดโลกร้อน (ศปง.) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. กล่าวว่า ทางเทศบาลฯ ได้ประสานความร่วมมือกันทั้ง 4 องค์กรหลัก ทั้งเทศบาล กำนันผู้ใหญ่บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) และภาคประชาชน อย่างใกล้ชิด มีการประชุมรายงานสถานการณ์เป็นระยะ จนถึงวันนี้สถานการณ์ในพื้นที่ยังปกติ ประชาชนไม่ตื่นตระหนกเพราะทุกคนดูแลตัวเองเป็นอย่างดี มีการใช้เสียงตามสายไปยัง 17 หมู่บ้าน สร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่เข้าสู่พื้นที่ต้องผ่านจุดคัดกรองที่ รพ.สต.ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งกลไกที่ช่วยให้เทศบาลตำบลไทรย้อยทำงานอย่างมั่นใจคือมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ที่เข้มแข็ง คอยออกตรวจ คัดกรองตามชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ และต่างประเทศ

        “ขณะนี้เทศบาลเร่งจัดซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิแบบเลเซอร์ด้วยงบของเทศบาลเองให้ทั้ง 17 หมู่บ้าน พร้อมมอบเจลแอลกอฮอล์ จัดหาอุปกรณ์ทำหน้ากาก เพื่อให้ทีม อสม.ทำงานอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ” นายสมเกียรติกล่าว


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ใส่หน้ากากอย่างไร ให้ถูกหลักอนามัย และปลอดภัยจากโควิด-19

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตจากการติดเชื้อโควิด-19( COVID -19 ) ถือเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งประชาชนทุกคนต่างต้องระมัดระวังตนเองเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันมิให้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ทั้งทางเดินหายใจ หรือ จากการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย การป้องกันตนเองประกอบไปด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ หรือ แอลกอฮอล์เจล และการใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งในเวลานี้ประชาชนต่างดูแลตนเองอย่างระมัดระวัง แต่หากการป้องกันตัวเองแบบผิดวิธี นอกจากจะไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อได้แล้ว ยังส่งผลให้เกิดผลเสียข้างเคียงได้อีก บทความจากสมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทยนี้ จะแนะนำวิธีการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี โดยไม่ให้เกิดผลข้างต่อผิวหนัง

หลักการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีคำนึงดังนี้

1.ความสะอาดของหน้ากากอนามัย  เนื่องจากหน้ากากอนามัยมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อจากผู้ป่วยติดต่อสู่ผู้อื่น และยังป้องกันมิให้มีการรับเชื้อจากผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกายเราเช่นกัน ดังนั้น หน้ากากอนามัยที่ดีจะต้องมีความสะอาด ได้มาตรฐาน สามารถป้องกันเชื้อโรคจากสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยได้ การซื้อหน้ากากอนามัยจะต้องหาซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ถูกหลักการป้องกันโรค  และเมื่อมีการสัมผัสถูกสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยแล้ว ไม่ควรนำกลับมาใช้อีก ควรเปลี่ยนเป็นอันใหม่ที่สะอาดเพื่อความปลอดภัย ทุกครั้งที่ทิ้งหน้ากากอนามัย ควรทิ้งในอุปกรณ์ที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันผู้อื่นมาสัมผัสและได้รับเชื้อนั้นไป  การซักหน้ากากอนามัย ควรทราบว่าหน้ากากชนิดไหน ซักได้ หรือ ซักไม่ได้ เช่น หน้ากากที่ตัดเย็บมาจากผ้าสามารถนำมาซักได้ ควรใส่ วันต่อวัน ซักและตากแดดทุกวัน ต่างจากหน้ากากอนามัยที่เป็นหน้ากากทางการแพทย์ (Surgical mask ) การซักจะทำให้ความสามารถในการป้องกันเชื้อ ลดลงอย่างมาก ส่วนหน้ากากทางการแพทย์ชนิดอื่นเช่น N95 ยังแนะนำให้ใช้ในกรณีป้องกันเชื้อที่ติดต่อทางอากาศเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลขณะนี้โควิด-19 ยังเป็นเชื้อที่ติดต่อกันทางสารคัดหลั่งซึ่งหน้ากากอนามัยสามารถป้องกันได้

2.ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง : การใส่หน้าการจำเป็นต้องใส่ให้ถูกวิธี ถูกด้าน ถูกฝั่ง ดังรูปที่แสดง
หน้ากากอนามัยต้องปิดคลุมทั้งจมูกและปาก ครอบคลุมตั้งแต่สันจมูกคนถึงคาง เพื่อป้องกันสารคัดหลั่งติดสู่ผู้อื่น เวลาสวมหน้ากากสัมผัสแต่หูเกี่ยวเท่านั้น พยายามไม่สัมผัสถูกด้านในที่ติดกับจมูกและปาก นอกจากจะต้องใส่หน้ากากอนามัย ให้ถูกต้องแล้วยังต้องเลือกขนาดหน้ากากให้ถูกกับขนาดของหน้าผู้ใส่  การใส่หน้ากากอนามัยจะต้องไม่แน่นอึดอัดจนเกินไป  จนทำให้หายใจไม่สะดวกหรือเกิดรอยกดทับบนใบหน้า และจะต้องไม่หลวมจนหลุดออกจากจมูกทำให้การป้องกันไม่มีประสิทธิภาพ การใช้มือจับหน้ากากหรือขยับหน้ากากบนหน้าบ่อย ๆ ไม่เป็นการส่งผลดีต่อผู้ใส่ และยังทำให้ง่ายต่อการปนเปื้อนของเชื้อเข้าสู่ผู้ใส่เอง

3.ระยะเวลาของการใส่หน้ากาก ปกติแล้วเราไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง การใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน ๆ อาจก่อให้เกิดอาการผื่นแพ้คัน จากการสัมผัสถูกเหงื่อ คราบสิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ภายใต้หน้ากากอนามัยหรือผิวหนังที่ต้องอยู่ภายใต้ความร้อน ความอับชื้น อาจก่อให้เกิดสิวหรือการติดเชื้อของผิวหนังบริเวณที่ใส่หน้ากาก ดังนั้นหากไม่จำเป็นสมควรใส่หน้ากากอนามัยเฉพาะในช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเท่านั้น เช่น การเข้าใกล้ผู้ที่ติดเชื้อ หรือ เข้าไปในที่ชุมชนแออัด หรือที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก การล้างหน้าหรือเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสหน้ากากเพื่อให้ผิวหนังสะอาดอยู่เสมอ อาจไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพราะการสัมผัสถูกน้ำ หรือ น้ำยาทำความสะอาดบ่อย ๆอาจเกิดผลเสียและระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณนั้นได้

ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย มีความเป็นห่วงประชาชนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยังคงต้องเผชิญกันต่อไปอีก  การรับมือกับภาวะวิกฤตครั้งนี้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนไทยและทั่วโลกทุกคน การป้องกันตัวเองอย่างมีสติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

โดย พญ.สุพิชญา ไทยวัฒน์


 

Exit mobile version