Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

ลิขสิทธิ์

นับจากช่วง 1 – 2 ปีหลังมานี้ ผู้คนให้ความสนใจเรื่องของลิขสิทธิ์กันมาก หากนับจากเมื่อ 7 ปีที่แล้วในการรับบทบรรณาธิการนิตยสาร INVENTION ของผม ซึ่งต้องยอมรับว่าการออกนิตยสารเกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้น โดยเฉพาะการนำเสนอความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในยุคนั้น
มันชั่งไม่มีใครสนใจเสียจริงๆ บางคนบอกว่าผมออกนิตยสารเร็วเกินไป อาจเป็นได้ว่ามันยังไม่ถึงเวลาของคนไทยเพราะวันนั้นการแข่งขันยังไม่สูง อีกทั้งกระแสของ Creative Economic ก็ยังไม่เห็นมีใครพูดถึง TCDC ก็พึ่งเริ่มสร้าง จึงทำให้ความตื่นตัวของผู้คนนั้นมีน้อยมาก

แต่วันนี้ผมคิดว่ามันเป็นยุคของนักประดิษฐ์ที่ไม่ใช่เอาแต่ประดิษฐ์แล้วคิดแต่เรื่องฟังก์ชั่นของชิ้นงาน แต่นักประดิษฐ์จำเป็นต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปให้มากกว่าแต่ก่อน
เพราะวันนี้ลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าแค่ประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียว แต่เขามองที่รูปลักษณ์ของสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ เอาล่ะครับเรามารู้จักกับคำว่า “ลิขสิทธิ์” กันดีกว่าว่าเราจะป้องกันความคิดสร้างสรรค์ของเราไม่ให้คนอื่นมาลอกเลียนไปโดยง่ายได้อย่างไร

ความหมายของลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น โดยการแสดงออกตามประเภทงานลิขสิทธิ์ต่างๆ
ลิขสิทธิ์ เป็นผลงานที่เกิดจาการใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา”ประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเจ้าของผลงานทางลิขสิทธิ์จึงควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ลิขสิทธ์ เป็นทรัพย์สินประเภทที่สามารถ ซื้อ ขาย หรือโอนสิทธิกันได้ ทั้งทางมรดก หรือโดยวิธีอื่น ๆ การโอนลิขสิทธิ์ควรที่จะทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทำเป็นสัญญาให้ชัดเจน จะโอนสิทธิทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้ 

ลิขสิทธิ์มีได้ในงาน 9 ประเภทดังนี้ 

1. งานวรรณกรรม ได้แก่ หนังสือ จุลสาร สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา โปรแกรมคอมพิวเตอร์

2. งานนาฏกรรม ได้แก่ งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว การแสดงโดยวิธีใบ้ 

3. งานศิลปกรรม ได้แก่ งานจิตกรรม งานปฏิมากรรม งานภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม งานภาพถ่าย ภาพประกอบ แผนที่โครงสร้าง งานศิลปประยุกต์ และรวมทั้งภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าว 

4. งานดนตรีกรรม หมายถึง งานที่เกี่ยวกับเพลง ทำนองและเนื้อร้อง หรือทำนองอย่างเดียว และรวมถึงโน้ตเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว 

5. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วิดีโอเทป แผ่นเลเซอร์ดิสก์

6. งานภาพยนตร์

7. งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น เทปเพลง แผ่นคอมแพ็คดิสก์

8. งานแพร่เสียงและภาพ เช่น งานที่นำออกเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์

9. งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

ผลงานที่ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์

1. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

2. รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ หรือของท้องถิ่น

4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ

5. คำแปลและการรวบรวม ตามข้อ 1 – 4 ซึ่งทางราชการจัดทำขึ้น 

การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์

สิทธิ์ ในลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันที นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ค์ได้สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียน ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ของตนเอง โดยการเก็บรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้ทำการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สิทธิ์ หรือความเป็นเจ้าของในโอกาสต่อไป

ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์นอกจากจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานแล้ว บุคคลอื่นอาจมีสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์นั้นก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงต่างๆ ในการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ เช่นการสร้างสรรค์งานร่วมกัน การว่าจ้างให้สร้างสรรค์งาน การโอนสิทธิ์ในลิขสิทธิ์ เป็นต้น ดังนั้นผู้มีลิขสิทธิ์จะเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ต่อไปนี้

1. ผู้สร้างสรรค์งานขึ้นใหม่ ทั้งที่สร้างสรรค์งานด้วยตนเองเพียงผู้เดียว หรือผู้สร้างสรรค์งานร่วมกัน

2. ผู้สร้างสรรค์ในฐานะพนักงาน หรือลูกจ้าง

3. ผู้ว่าจ้าง

4. ผู้รวบรวมหรือประกอบกันเข้า

5. กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่น

6. ผู้รับโอนลิขสิทธิ์

7. ผู้สร้างสรรค์ซึ่งเป็นคนชาติภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญากรุงเบอร์น และประเทสในภาคีสมาชิกโองการค้าโลก

8. ผู้พิมพ์โฆษณางานที่ใช้นามแฝงหรือนามปากกกาที่ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ 

การคุ้มครองลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ ต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของตน ดังนี้

1. ทำซ้ำ หรือดัดแปลง

2. การเผยแพร่ต่อสาธารณชน

3. ให้เช่าต้นฉบับ หรือสำเนางาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

5. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ในการเช่าซื้อ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และให้เช่าต้นฉบับ

6. อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์

ผลของการคุ้มครองลิขสิทธิ์

โดยทั่วไป การคุ้มครองลิขสิทธิ์ จะมีผลเกิดขึ้นโดยทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยความคุ้มครองนี้จะมีผลตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต้องไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต หากแต่มีงานบางประเภทจะมีการคุ้มครองที่แตกต่างกันไป โดยสรุปดังนี้

1. ในงานทั่วไป ลิขสิทธิ์ จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย กรณีเป็นผู้สร้างสรรค์ร่วม ก็ให้นับจากผู้สร้างสรรค์คนสุดท้ายถึงแก่ความตาย กรณีเป็นนิติบุคคล ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ที่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น กรณีผู้สร้างสรรค์ค์ใช้นามแฝง หรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ค์ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับตั้งแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น

2. งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น

3. งานที่สร้างสรรค์ โดยการว่าจ้าง หรือตามคำสั่งให้มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น

4. งานศิลปประยุกต์ ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 25 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานขึ้น กรณีที่ได้มีการโฆษณางานเหล่านั้น ในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุต่อไปอีก 50 ปี นับตั้งแต่โฆษณาครั้งแรก ยกเว้นในกรณีงานศิลปประยุกต์ให้ลิขสิทธิ์มีอายุต่อไปอีก 25 ปี นับแต่โฆษณาครั้งแรก

ประโยชน์ของลิขสิทธิ์

1. ประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ เจ้าของลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองตามกฏหมาย ลิขสิทธิ์ และมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้น หรือผลงานตามข้อใดข้อหนึ่งดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิ์ทำซ้ำ หรือดัดแปลง จำหน่าย ให้เช่า คัดลอก เลียนแบบ ทำสำเนา การทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ของตนทั้งหมด หรือแต่บางส่วนก็ได้ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

2. ประโยชน์ของประชาชนหรือผู้บริโภค การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ์ในผลงานลิขสิทธิ์มีผลให้เกิดแรงจูงใจแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าทางวรรณกรรมและศิลปกรรมออกสู่ตลาดให้มากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความรู้ ความบันเทิง และได้ผลงานที่มีคุณภาพ

ข้อมูล : จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

หลังจากรู้จักกับประเภทของงานสร้างสรรค์ที่ได้รับความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ และประโยชน์ที่ตกสู่รุ่นลูกกันเลยทีเดียว แล้วใครล่ะจะไม่อยากให้ผลงานของตัวเองได้รับความคุ้มครองจริงมั้ยครับ

ความจริงที่หลายคนรู้ก็คือ ผลงานที่เข้าข่ายการได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้น จะเป็นไปโดยอัตโนมัตินับแต่วันที่เจ้าของผลงานเริ่มเผยแพร่ต่อบุคคลที่สาม แต่เพื่อป้องการปัญหามรกรณีเกิดข้อพิพาท ฟ้องร้องกันขึ้นมา ว่าใครทำก่อนใครกันแน่ ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงได้เปิดรับการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ซึ่งหลายคนชอบบอกว่าจดลิขสิทธิ์ ก็เข้าใจเสียใหม่นะครับ ว่าไม่ใช่การจดทะเบียน แต่เป็นเพียงการแจ้งข้อมูล เพื่อให้ง่ายต่อการอ้างอิงในกรณีเกิดเรื่องฟ้องร้องกันขึ้น ต่อไปมาดูขั้นตอนการเตรียมเอกสารและการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของเรากันเลยครับ

วิธีดำเนินการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์

1. การกรอกข้อมูลและระบุรายละเอียดต่างๆ

(1)  ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์  ให้ระบุชื่อสัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล (แล้วแต่กรณี)  และที่อยู่ของเจ้าของลิขสิทธิ์

(2)  ชื่อตัวแทน  กรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการมอบอำนาจให้กับผู้รับมอบอำนาจมาดำเนินการใด ๆ  เกี่ยวกับการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์และระบุถึงขอบเขตอำนาจของผู้รับมอบอำนาจ โดยให้ระบุ ชื่อ สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล (แล้วแต่กรณี)  และที่อยู่ของผู้รับมอบอำนาจ

(3) สถานที่ติดต่อในประเทศไทย  ให้ระบุสถานที่และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อเจ้าของสิทธิหรือตัวแทน  เพื่อสะดวกในการติดตามเอกสารและผลงาน  กรณีเอกสารและผลงานมีความไม่ครบถ้วน

(4) ชื่อผู้สร้างสรรค์หรือนามแฝง  ให้ระบุชื่อ สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือนิติบุคคล  ที่อยู่ผู้สร้างสรรค์ นามแฝง กรณีผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่จดทะเบียนนิติบุคคล และกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตแล้วให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต

(5) ชื่อผู้สร้างสรรค์ร่วมหรือนามแฝง  ให้ระบุชื่อ  สัญชาติ  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือนิติบุคคล  ที่อยู่ของผู้สร้างสรรค์หรือนามแฝง  กรณีมีผู้สร้างสรรค์ร่วมมากกว่า 1 คน  ให้ระบุในช่องนี้  กรณีผู้สร้างสรรค์ร่วมเป็นนิติบุคคล  ให้ระบุ  วัน  เดือน  ปี  ที่จดทะเบียนนิติบุคคล  และกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ร่วมเสียชีวิตแล้ว  ให้ระบุ  วัน  เดือน  ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต

(6) ชื่อผลงาน  ให้ระบุชื่อผลงานที่สะกดถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการระบุในหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูล

(7) ประเภทของงาน  ให้ระบุประเภทของงานและลักษณะงานที่ประสงค์จะยื่นแจ้งข้อมูลพร้อมระบุผลงานที่ยื่นประกอบคำขอ  เช่น หนังสือ 1 เล่ม หรือแผ่นซีดี 1 แผ่น  ฯลฯ  เป็นต้น

(8) ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์  ให้ระบุว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โดยวิธีใด เช่น เป็นผู้สร้างสรรค์ ผู้ว่าจ้าง  ผู้รับจ้าง  นายจ้าง  หรือผู้รับโอนลิขสิทธิ์ ฯลฯ  เป็นต้น

(9) ลักษณะการสร้างสรรค์  ให้ระบุว่า  เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นเองทั้งหมด สร้างสรรค์บางส่วน โดยระบุว่ามีส่วนใดบ้างหรือเป็นกรณีอื่นๆ เช่น เป็นผู้รวบรวมผลงานหรือผู้ดัดแปลงผลงาน  ฯลฯ

(10) สถานที่สร้างสรรค์ให้ระบุว่า การสร้างสรรค์ผลงานกระทำในประเทศใด

(11) ปีที่สร้างสรรค์ให้ระบุปีที่ทำการสร้างสรรค์ผลงาน

(12)  การโฆษณางาน  ให้ระบุ  วัน  เดือน  ปี  และประเทศที่มีการโฆษณาครั้งแรก  โดยการทำสำเนางานออกจำหน่ายโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์และสำเนางานมีจำนวนมากพอสมควร  กรณียังไม่มีการโฆษณางานให้ระบุโดยทำเครื่องหมายในช่องยังไม่ได้โฆษณาในต่างประเทศหรือไม่  โดยให้ทำเครื่องหมายลงในช่องการแจ้งหรือจดทะเบียน  (แล้วแต่กรณี)

(13)  การแจ้ง/จดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ  ให้ระบุว่าเคยแจ้ง/จดทะเบียนลิขสิทธิ์

(14) การอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์  ให้ระบุเครื่องหมายลงในช่องว่าเคยอนุญาต/โอนลิขสิทธิ์หรือไม่  เช่น  หากไม่เคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์  ให้ทำเครื่องหมายในช่องไม่เคยอนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์หรือโอนลิขสิทธิ์ในงานของตน  หากเคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์ ให้ระบุว่าอนุญาตให้ใช้หรือโอนลิขสิทธิ์แก่ใคร เมื่อใด เป็นการอนุญาตโอนลิขสิทธิ์โดยให้สิทธิทั้งหมดหรือบางส่วน และมีระยะเวลาในการอนุญาต/โอนลิขสิทธิ์เท่าใด

(15) การเผยแพร่ข้อมูลลิขสิทธิ์  ให้ระบุว่าอนุญาตให้คนอื่นตรวจดูเอกสารในแฟ้มคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์และผลงานหรือไม่

(16) การลงนามในคำขอให้เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนเป็นผู้ลงนาม

2. ใบต่อท้ายคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ 

ในกรณีที่ข้อมูลที่กรอกในคำขอ (ลข.01) มีจำนวนมาก และผู้ขอไม่อาจกรอกข้อมูลได้ครบถ้วนในแต่ละข้อ เช่น ในกรณีที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์  ตัวแทน ผู้สร้างสรรค์ร่วมมากกว่า 1 คน ผู้ขอสามารถระบุข้อมูลเพิ่มเติมได้ในใบต่อท้ายฯ

3. แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ

ให้ระบุวิธีการและขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อหรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ผู้ลงนามในแบบแสดงรายละเอียดการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ คือ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทน

 

4. หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ 

ให้ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่อยู่ ทะเบียนนิติบุคคล

5. ผลงานลิขสิทธิ์ที่ใช้ยื่นประกอบคำขอ
– วรรณกรรม เช่น หนังสือ ชุดเอกสาร แผ่นซีดี ฯลฯ
– โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น  สำเนา Source Code จำนวน 10 หน้าแรกและ 10 หน้า สุดท้าย หรือส่งซีดีหรือแผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และในกรณีที่มี Source Code น้อยกว่า 50 หน้า ให้ส่งแผ่นซีดีหรือแผ่นดิสก์บรรจุโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์อาจผนึกและลงลายมือชื่อกำกับด้วยก็ได้
– นาฏกรรม  เช่น  แผ่นซีดี ภาพการแสดงพร้อมบรรยายประกอบท่าทางทุกขั้นตอน ฯลฯ
– ศิลปกรรม  เช่น  ภาพถ่ายผลงาน  ภาพร่างผลงาน  ภาพพิมพ์เขียว
– สิ่งบันทึกเสียง เช่น แผ่นซีดี เทปเพลง ฯลฯ
– โสตทัศนวัสดุ เช่น แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี ฯลฯ
– ภาพยนตร์ เช่น แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี ฯลฯ
– ดนตรีกรรม เช่น เนื้อเพลง แผ่นซีดี เทปเพลง โน้ตเพลง ฯลฯ
– แพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น แผ่นวีซีดี แผ่นซีดี ฯลฯ
– งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ เช่น ภาพถ่ายของผลงาน ฯลฯ

6. เอกสารที่ใช้ประกอบการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์
1. สำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา)
2. สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของเจ้าของลิขสิทธิ์
(กรณีเป็นนิติบุคคล)
3. หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ  พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีมีการมอบอำนาจ)
4. หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาลใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรฯ รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำขอ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
5. มูลนิธิใช้สำเนาหนังสือการจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง

ข้อมูลจาก : กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

Categories
ทรัพย์สินทางปัญญา

สิทธิบัตรอาวุธสำคัญของนักประดิษฐ์

การได้รับฟังสื่อต่างๆ ที่ประโคมกันอยู่ทุกวัน เกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ดี สิทธิบัตรก็ดี ท่ามกลางความสนใจของประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยการจับจ่ายของใช้ละเมิดลิขสิทธิเหล่านี้ เนื่องจากราคาถูกกว่าของที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฏหมาย

อันนี้คงต้องเป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความจำเป็น ดังกล่าวมากขึ้น ก็ควรจะมากกว่าข่าวการจับแล้วทำลาย (อันนี้ถือเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ) บางคนอาจมองว่าการจดสิทธิบัตรทำให้ตนเองเสียเวลา เสียเงิน เสียประโยชน์จากการประกาศโฆษณา

:: ทำไมต้องจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร ::

ตามความเข้าใจโดยทั่วไป การจดสิทธิบัตรก็เพื่อเป็นการป้องกัน มิให้ผู้อื่นสามารถนำแนวความคิดของเราที่สู้อุตส่าห์พัฒนาขึ้นมา ไปกระทำการใดๆ ในเชิงพาณิขย์ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่ายังมีความสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก อันได้แก่
1. คุ้มครองเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ และกิจการ เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ และป้องกันการถูกกล่าวหาในกรณี ขัดแย้งทางสิทธิบัตร
2. เครื่องมือในการสร้างพันธมิตร
3. เผยแพร่เทคโนโลยี เพื่อเป็นความรู้อันเนื่องจาก สิทธิบัตรนั้นมีอายุจำกัดอย่างเช่น จอแสดงผลชนิดบางที่ใช้สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ แบบพกพา หรือ โน๊ตบุ๊ค ปัจจุบันหมดอายุสิทธิบัตรแล้ว ใครก็สามารถนำเทคโนโลยีเดิมนี้ไปพัฒนาต่อได้ ผลที่ได้รับก็คือ ราคาคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค ราคาถูกลง
4. ส่งเสริมการลงทุน ให้มีการตั้งฐานการผลิตในประเทศ และให้มีการส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัย
5. ปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้มีการมุ่งมั่นที่จะพัฒนา อย่างไม่หยุดนิ่ง ยังส่งผลต่อให้ราคาถูกลง การส่งออกมากขึ้นตามลำดับ

ทั้ง 5 ข้อนั้นก็เป็นอีกสาระหนึ่งที่นอกเหนือจากความเข้าใจเดิมในเรื่องของผล ประโยชน์ หากจะว่าไปแล้ว แค่ข้อ 1. ก็น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่เราจะได้ประโยชน์จาการจดสิทธิบัตร

:: ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร :: 
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำ ๆ นี้ก่อน สำหรับคำว่า ” ทรัพย์สินทางปัญญา ” นั้นแท้จริงแล้วก็คือสิ่งประดิษฐ์ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่คนเราสร้างขึ้นมา ก็มีทั้งสังหาริมทรัพย์หรือสิ่งที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องคิดเลข หม้อหุงข้าว ฯลฯ และอสังหาริมทรัพย์ หรือสิ่งของที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เช่น ตึกอาคาร บ้านเรือน หรือที่ดิน เป็นต้น เหล่านี้ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น แต่ก็แยกประเภทออกไปตามลักษณะของผลงาน ซึ่งโดยส่วนมากแล้วคนไทยมักจะคุ้นเคยกับคำว่า ” ลิขสิทธิ์ ” มาใช้เรียกทรัพย์สินปัญญาทุกๆ ประเภท แต่ที่ถูกต้องแล้วทรัพย์สินทางปัญญาจะมีการแบ่งแยกประเภทออกไปอีก สำหรับความเข้าใจผิดเรื่อง ” ลิขสิทธิ์ ” ก็มาทำความเข้าใจกันใหม่ในบทความนี้

ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม อันถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ด้านอุตสาหกรรม ก็คือการประดิษฐ์คิดค้น การออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบเครื่องหมายการค้า ตราสัญลักษณ์ ชื่อและที่อยู่ทางการค้า และการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

สิทธิบัตร (Patent)
เครื่องหมายการค้า (Trademark)
แบบผังภูมิของวงจรรวม (Latout – Designs of Integrated Circle)
ความลับทางการค้า (Trade Secrets)
ชื่อทางการค้า (Trad Name)
สิ่งที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)

:: ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา :: 
ได้กล่าวไปแล้วเมื่อตอนต้น เรื่องความเข้าใจผิด หรือการเหมารวมของคนไทยเรื่องลิขสิทธิ์ ในหัวข้อนี้เรามาดูรายละเอียดกัน
ลิขสิทธิ์ (Copy right) หมาย ถึง งานหรือความคิดสร้างสรรค์ ในสาขา วรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม งานภาพยนตร์ หรืองานอื่นใดใน แผนกวิทยาศาสตร์ เช่นค่ายเทปเพลงต่างๆ ที่ออกเทปมาจำหน่ายตามแผงนั้นก็จะได้รับความคุ้มครองทางด้านลิขสิทธิ์โดย อัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่เผยแพร่โดนไม่ต้องไปยื่นจดทะเบียนแต่อย่างใด ซึ่งผู้อื่นที่ไม่ใช้เจ้าของผลงานจะมาทำซ้ำในรูปแบบเดียวกันไม่ได้ แต่สามารถนำเอาเนื้อหาไปใช้ได้ และลิขสิทธิ์ยังรวมทั้งลิขสิทธิ์ข้างเคียง (Neigh bouning Right ) คือการนำเอางานด้านลิขสิทธิ์ออกแสดง เช่น นักแสดง ผู้บันทึกหรือถ่ายทอดเสียงหรือภาพ ที่สำคัญยังรวมไปถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่อผู้ประกอบการร้านอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในขณะนี้ ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ อย่างไมโครซอฟต์ และอีกหลายราย ออกมาเอาจริงเอาจังกับผู้ที่นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง

สิทธิบัตร (Patent) 
หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้ เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับลักษณะองค์ประกอบโครงสร้างหรือกลไก รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต การปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม และยังรวมไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design ) หรือผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ต่างๆ (Utility Model) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า (Petty Patent) จะมีลักษณะคล้ายกับการประดิษฐ์ แต่จะมีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่สูงมากนัก

สำหรับสิทธิบัตรนั้น จัดว่าเป็นอาวุธที่สำคัญของนักประดิษฐ์ในการปราบปรามพวกสิงปืนไวชอบลอกเลียน แบบทั้งหลาย มีกรณีศึกษาอยู่หลายกรณี สำหรับนักประดิษฐ์ที่ไม่เห็นความสำคัญของการจดสิทธิบัตร ผลสุดท้ายคนที่ไม่ได้ประดิษฐ์ แต่นำผลงานไปจดสิทธิบัตรก็กลับกลายเป็นผู้มีอำนาจถือครองอย่างถูกต้องตาม กฏหมาย และยังสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ประดิษฐ์ตัวจริงได้อีกด้วย มีเพียงไม่กี่รายที่สามารถฟ้องร้องเรียกสิทธิของตัวเองกลับคืนมาได้

ดังนั้น นักประดิษฐ์ทุกท่านจึงไม่ควรจะนิ่งเฉย แต่กรณีที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงผลเสียอย่างหนึ่งที่กระทบต่อนักประดิษฐ์ เท่านั้น ยังมีผลกระทบทางอ้อมอีกมากหากเราไม่สนใจจดสิทธิบัตร เช่น เทคโนโลยีในการประดิษฐ์ของประเทศมีการเติบโตช้า หรือไม่มีการพัฒนาผลงานให้สูงขึ้น

แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout – Designs of Integrated Circuit) 
หมายถึง ผังการเชื่อมต่อของวงจรไฟฟ้า หรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การนำตัวนำไฟฟ้า หรือตัวต้านทาน มาต่อกันเป็นวงจรที่สมบูรณ์โดยที่ผู้ออกแบบบได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง และต้องไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ในอุตสาหกรรมวงจรรวม ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ ช่นวงจรไฟกระพริบ 2 ดวง หากนำมาเปลี่ยนแค่ LED แบบ 2 in 1 หรือ สองสีในหนึ่งดวง นั้นไม่สามารถได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากว่ายังไม่จัดเป็นการคิดค้นหรือออกแบบใหม่ ยังเป็นลักษณะวงจร โมโนสเตเบิล ที่เป็นมาตรฐานที่ใช้กันมานาน

เครื่องหมายการค้า (Trademark) 
หมายถึง เครื่อง หมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้า หรือ ทรัพย์สินทางปัญญา อีกประเภทหนึ่ง ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง เช่น โค้ก เป๊บซี่ ฯลฯ ทั้งนี้เครื่องหมายทางการค้า ยังหมายรวมไปถึง เครื่องหมายบริการ (Service Mark ) ที่แสดงถึงประเภทการบริการที่แตกต่าง จากการบริการประเภทอื่นๆ เช่น สายการบิน โรงแรม ฯลฯ เครื่องหมายรับรอง ( Certify caption Mark ) อันนี้ตรงตัว ก็อย่างเช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฯลฯ เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) เป็นเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ ที่ใช้โดยบริษัทหรือ รัฐวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน เช่น ตราช้าง หรือปูนซีเมนต์ไทย เป็นต้น

อย่าง เช่นที่ DTAC เปิดตัวใหม่ๆ ได้มีธุรกิจประเภทซีดีเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ นำเอาเครื่องหมาย DTAC ไปโชว์ไว้ตรงหน้าปกซีดี ก็กลายเป็นเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีกันไปเป็นที่เรียบร้อย แท้จริงแล้ว หากจะกระทำการในลักษณะนี้ ก็ควรจะขออนุญาตเจ้าของเป็นลายลักษณ์อักษร ก็คงไม่มีปัญหาอะไร

ความลับทางการค้า (Trade Secrets) 
หมายถึง ข้อมูลการค้าที่ไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป และมีมูลค่าในเชิงพานิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และมีการดำเนินการกันตามสมควร

ชื่อทางการค้า (Trade Name) 
หมายถึง ชื่อที่ใช้ในการประกอบกิจการ เช่น โกดัก ฟูจิ เป็นต้น

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication) 
หมายถึง ชื่อหรือสัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และสามารถ บ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดขึ้นมาจากแหล่งภูมิศาสาตร์นั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะ ของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เช่น ส้มบางมด ผ้าไหมไทย แชมเปญ เป็นต้น

จากรายละเอียด รวมทั้งข้อคิดต่างๆ ในบทความนี้ คงจะพอชี้ให้เห็นว่าการจดสิทธิบัตรนั้น แท้จริงแล้ว นักประดิษฐ์ทั้งหลายไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด มันกลับจะเพิ่มความมั่นใจในการทำการค้ากับเรามากขึ้นเสียด้วยซ้ำ และยังเกิดข้อดีอีกมากมาย ในการพัฒนาการประดิษฐ์คิดค้น ส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือช่วยเป็นแหล่งการสืบค้นข้อมูล สำหรับนักลงทุนที่กำลังต้องการ ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาจำหน่าย นักประดิษฐ์ก็จะได้รับเงินจากการอนุญาตให้นักลงทุนหรือพ่อค้าที่สนใจ สามารถใช้สิทธิจากสิทธิบัตรของตนไปผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายได้ (ในกรณีนี้สำหรับนักประดิษฐ์ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการหรือไม่มีเงินลงทุน เอง )

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย : กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

Exit mobile version