Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันไวรัส RSV ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการอนุมัติใช้ในประเทศไทย สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยงสูง

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันไวรัส RSV ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนตำรับยาในประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อนำมาใช้สำหรับป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (LRTI) ระดับรุนแรงจากเชื้อไวรัส RSV ในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ทารกคลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์ ≤ 35 สัปดาห์) และมีอายุน้อยกว่า 6 เดือนในช่วงฤดูกาลการแพร่ระบาดของ RSV, เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ที่มีโรคปอดเรื้อรัง (Bronchopulmonary Dysplasia: BPD) ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease: CHD) ที่ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของโลหิต

ปัจจุบัน ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันไวรัส RSV ของแอสตร้าเซนเนก้า ผ่านการรับรองให้เป็นตัวเลือกในการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างระดับรุนแรงจาก Respiratory Syncytial Virus หรือไวรัส RSV1 ในประเทศไทย เพื่อลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของเด็กที่มีความเสี่ยงสูง โดยแนะนำให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปแก่เด็กกลุ่มเสี่ยงสูงเดือนละ 1 ครั้ง ตลอดฤดูกาลการแพร่ระบาดของ RSV โดยส่วนใหญ่ของการศึกษาทางคลินิกนั้นใช้ยาต่อเนื่องกันนาน 5 เดือน สำหรับในประเทศไทย การระบาดของเชื้อไวรัส RSV มักอยู่ระหว่างช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาวของทุกปี1,2

นายโรมัน รามอส ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันไวรัส RSV สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของแอสตร้าเซนเนก้าในการดูแลและปกป้องทารกกลุ่มเสี่ยงสูงให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อการเกิดโรครุนแรงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไวรัส RSV ได้สูงกว่าเด็กทั่วไป3,4,5,6 อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV การหาวิธีและกำหนดแนวทางในการป้องกันจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างมาก การประกาศขึ้นทะเบียนตำรับยาแก่ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันไวรัส RSV ของแอสตร้าเซนเนก้า จึงนับเป็นก้าวสำคัญและมีความหมายสำหรับทารกกลุ่มเสี่ยงสูงในประเทศไทย สร้างการเข้าถึงแนวทางในการป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่รุนแรงหรืออาจร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้”

เชื้อไวรัส RSV เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างในเด็กทั่วโลก จากสถิติพบว่ากว่า 90% ของเด็กช่วงวัยสองปีแรกมีประวัติติดเชื้อ RSV มาแล้ว7,8  โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ไวรัสชนิดนี้มีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันมากกว่า 60% ในเด็ก9 แม้อาการส่วนใหญ่ของ RSV จะไม่รุนแรง คล้ายไข้หวัดทั่วไป แต่สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะเกี่ยวกับความผิดปกติของปอดหรือหัวใจ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค RSV ที่รุนแรงกว่าเด็กกลุ่มอื่น7 ซึ่งส่งผลให้เด็กต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออาจร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

จากผลการศึกษาทางคลินิก IMpact-RSV ที่ดำเนินการศึกษาในกลุ่มทารกคลอดก่อนกำหนดหรือโรคปอดเรื้อรังในศูนย์วิจัยทั้งสิ้น 139 แห่ง ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา10 และผลการศึกษาทางคลินิก CHD 1 ซึ่งเป็นการศึกษาระยะที่ 3 ในกลุ่มทารกที่มีภาวะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด11 พบว่า ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันไวรัส RSV ของแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิผลในการลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงระยะเวลาที่เข้ารับการรักษา และจำนวนวันที่ต้องได้รับออกซิเจนในการรักษา ซึ่งให้ผลลัพธ์สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันทั้งในกลุ่มทารกคลอดก่อนกำหนด (เกิดก่อนอายุครรภ์ครบ 35 สัปดาห์) หรือมีโรคปอดเรื้อรัง และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หลังได้รับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปดังกล่าวจำนวน 5 โดส (15 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม) โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 30 วัน12

โดยการศึกษา Impact-RSV ดำเนินการในกลุ่มทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือโรคปอดเรื้อรังจำนวน 1,502 คน ระหว่างฤดูกาลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส RSV ในช่วงปี 1996 ถึง 199710 ได้ผลลัพธ์ว่า กลุ่มทารกที่คลอดก่อนกำหนดแต่ไม่ได้มีโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด มีอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากไวรัส RSV ลดลงกว่า 78% (8.1% เทียบกับ 1.8%) ในขณะที่กลุ่มที่มีภาวะโรคปอดเรื้อรังในทารกแรกเกิด มีอัตราลดลง 39% (12.8% เทียบกับ 7.9%)10

นอกจากนี้ ผลการศึกษา CHD 1 แสดงให้เห็นว่า การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันไวรัส RSV ของแอสตร้าเซนเนก้า แก่ทารกและเด็กเล็กที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่ส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของโลหิตเป็นประจำทุกเดือน ช่วยลดอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV ในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูงได้ถึง 45%11

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันไวรัส RSV ของแอสตร้าเซนเนก้า ได้พัฒนาและมีการใช้งานมาแล้วกว่า 25 ปี และได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาในกว่า 80 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เพื่อใช้สำหรับการป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างระดับรุนแรงจากเชื้อไวรัส RSV ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้รับสิทธิ์นำภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเข้ามาอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2566

###

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกัน RSV ของแอสตร้าเซนเนก้า

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกัน RSV ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่มีประสิทธิผลยับยั้งฟิวชันโปรตีน (F) ของไวรัส RSV สำหรับป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างระดับรุนแรงจากเชื้อไวรัส RSV ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์ครบ 35 สัปดาห์) ที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือนเมื่อถึงฤดูกาลการแพร่ระบาดของ RSV และในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ที่มีภาวะโรคปอดเรื้อรัง (Bronchopulmonary dysplasia: BPD) ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease: CHD) ซึ่งส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของโลหิต


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

แอสตร้าเซนเนก้า เผยผลสำรวจประชากรกลุ่มเสี่ยงในประเทศไทยกว่า 60% ยังคงได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตจากโควิด-19

แอสตร้าเซนเนก้า บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ตระหนักถึงผลกระทบและความเสี่ยงจากโควิด-19 ที่ยังคงส่งผลต่อการใช้ชีวิตของประชากรอีกนับล้านคนทั่วโลก จากผลสำรวจที่สะท้อนเสียงของกลุ่มประชากรที่ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจเกี่ยวภาวะทางสุขภาพและเตรียมความพร้อมให้กับประชากรกลุ่มนี้ถึงแนวทางในการป้องกันตนเอง แม้ว่าผู้คนส่วนใหญ่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้วก็ตาม

สำหรับประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้าเผยถึงผลสำรวจในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง (607) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรราว 500,000 คนในประเทศ[1] ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อและอาจเกิดอาการรุนแรงจากโควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไป เพื่อทำความเข้าใจและแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิด-19 ในด้านต่างๆ โดย ราว 60% ของกลุ่มตัวอย่างได้เผยว่า โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งในด้านสังคมและการทำงาน

นายโรมัน รามอส ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “แม้ว่าวัคซีนและมาตรการป้องกันโควิด-19 อื่นๆ ในปัจจุบันจะสามารถป้องกันผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 ได้ แต่สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มาตรการดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ แอสตร้าเซนเนก้า จึงมุ่งเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยยกระดับการดูแลสุขภาวะให้กับประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งรวมถึงทางเลือกอื่นๆ ในการป้องกันและการรักษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของการเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตจากโควิด-19”

จากผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า 40-44% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโควิด-19 และมีประวัติเคยได้รับวัคซีนมาก่อน คือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง[2] ซึ่งถึงแม้ว่าจะเคยได้รับวัคซีนมาแล้วก็ตาม ประชากรที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องมีแนวโน้มสูงที่จะเสียชีวิตระหว่างเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล[3] หรือมีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในแผนกผู้ป่วยวิกฤต (ICU)2 รวมถึงมีแนวโน้มที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจขณะรักษาตัว[4]

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในประเทศไทย ยังคงเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากโควิด-19 เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ[5] อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องในประเทศไทยกลับพบว่า กว่า 87% เชื่อว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประสิทธิภาพเพียงพอแล้วต่อการป้องกันโควิด-19 ในขณะเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างถึง 92% มีความสนใจและอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางอื่นๆ ในการป้องกันโควิด-19

ผลการสำรวจดังกล่าวได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวภาวะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในกลุ่มประชากรดังกล่าว ตามเป้าหมายของแคมเปญ “เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ” จาก               แอสตร้าเซนเนก้า การส่งเสริมความตระหนักรู้ในวงกว้างจะช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมโดยการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพเกี่ยวกับแนวทางอื่นๆ ในการป้องกันโควิด-19

นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และรองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า “สถานการณ์โรคระบาดได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงหรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้มากกว่าคนทั่วไปหากได้รับเชื้อ ดังนั้น หากเรามุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต เราต้องให้ความสำคัญในการดูแลประชากรกลุ่มนี้ ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ”

ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจาก     โควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่

  • กลุ่มเสี่ยงสูง (607) ได้แก่ ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค
  • ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตทั้งการฟอกเลือดและการล้างไตทางหน้าท้อง
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
  • ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดหรือมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีซีดีสี่น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.
  • ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าควรได้รับยา

แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ได้สานต่อ แคมเปญ “เตรียมภูมิคุ้มกันให้ทุกความพิเศษ” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการปกป้องผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและประชากรที่ยังคงมีความเสี่ยงสูงจากโควิด-19 เพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของตนเอง และขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตนรวมถึงทางเลือกอื่นๆ ในการป้องกันโควิด-19

เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า

แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จาก แอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.com และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca


Exit mobile version