Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยปริมาณการใช้ดาต้ามือถือพุ่งเกือบ 300 เท่า ในรอบ 10 ปี

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, 2 ธันวาคม 2564 รายงานเชิงลึกระดับโลกของอีริคสัน (NASDAQ: ERIC) เปิดเผยว่าตั้งแต่อีริคสันจัดทำและเผยแพร่รายงาน Ericsson Mobility Report เป็นครั้งแรกในปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือเพิ่มขึ้นเกือบ 300 เท่า โดยในรายงานฉบับครบรอบสิบปีนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลและสถิติต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเครือข่ายมือถือทั้งในอดีตและปัจจุบัน ให้เราได้ย้อนกลับไปดูเทรนด์ต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงการคาดการณ์ไปจนถึงปี 2570

จากการคาดการณ์ที่ระบุว่ายอดผู้ใช้บริการ 5G จะสูงแตะ 660 ล้านบัญชีภายในสิ้นปีนี้เป็นการตอกย้ำสมมติฐานที่ว่า 5G เป็นเจนเนอเรชั่นเครือข่ายไร้สายที่มีการนำมาใช้งานรวดเร็วที่สุด โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีนและอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาอุปกรณ์ 5G ที่ลดลง อีริคสันยังพบว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมานี้ทั่วโลกมียอดผู้ใช้ 5G มีจำนวนเพิ่มขึ้นสุทธิที่ 98 ล้านบัญชี เทียบกับผู้สมัครใช้ 4G รายใหม่ที่ 48 ล้านบัญชี และคาดว่าเครือข่าย 5G จะครอบคลุมผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคนภายในสิ้นปี 2564

สอดคล้องกับการคาดการณ์ล่าสุดที่ระบุว่าภายในปี 2570 เครือข่าย 5G จะกลายเป็นเครือข่ายหลักของโลกเพื่อใช้เข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ  ซึ่ง ณ เวลานี้ผู้ใช้ 5G มีสัดส่วนประมาณ 50% ของจำนวนผู้ใช้มือถือทั้งหมดทั่วโลก โดยครอบคลุมประชากรโลกถึง 75% และคิดเป็น 62% ของปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนทั่วโลก

มร. อิกอร์ มอเรล  ประธานบริษัทอีริคสัน ประเทศไทยกล่าวว่า “การสื่อสารบนมือถือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเหลือเชื่อต่อสังคมและธุรกิจตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเรามองไปข้างหน้าในปี 2570 เครือข่ายมือถือจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นทั้งในแง่ของการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน รวมถึงการใช้ชีวิตและการทำงาน ในรายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุดของเรา ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเร่งความเร็วขึ้นอีกระดับ และเทคโนโลยีมีบทบาทอย่างยิ่งยวด”

คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ยอดผู้ใช้มือถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเพิ่มเป็น 1.1 พันล้านราย โดยมียอดผู้สมัครใช้บริการ 5G สูงแตะ 15 ล้านราย และจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงสองสามปีนี้ โดยคาดว่าในปี 2570 จะมียอดผู้ใช้ 5G ถึง 560 ล้านราย นอกจากนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะมีปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตต่อสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในโลก แตะ 46 กิกกะไบท์ (GB) ต่อเดือน ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย 34% ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือทั้งหมดที่เติบโตต่อปีที่ 39% ส่งผลให้มียอดการใช้เน็ตต่อเดือนสูงถึง 46 เอกซะไบท์ (EB) เป็นผลมาจากจำนวนผู้สมัครใช้บริการ 4G และ 5G ที่เพิ่มขึ้นในตลาดที่เปิดให้บริการ 5G

มร. อิกอร์ กล่าวเสริมว่า “ประเทศไทย คือ หนึ่งในประเทศที่มีประชากรใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก เมื่อกล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ประเทศไทยคือหนึ่งในศูนย์กลางสำคัญของภาคอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค โดยมีธุรกิจที่มีศักยภาพจำนวนมากที่นำเทคโนโลยี 5G มาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีความทันสมัย ผมมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างเครือข่าย 5G ที่สามารถตั้งโปรแกรม มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ”

ตั้งแต่ปี 2554 การนำเครือข่าย 4G LTE มาใช้งานได้ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่เพิ่มยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกพุ่งเป็น 5.5 พันล้านคน และเกิดอุปกรณ์ที่รองรับการเชื่อมต่อ 4G ขึ้นในตลาดมากกว่า 20,000 รุ่น ในรายงานยังชี้ให้เห็นว่าวงจรเทคโนโลยีของอุปกรณ์ 5G นั้นเปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็วกว่า ในปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือ 5G คิดเป็นสัดส่วน 23% ของมือถือทั้งหมดทั่วโลก เทียบกับโทรศัพท์มือถือ 4G ที่มีเพียง 8% ณ จุดเดียวกัน

สิ่งนี้กระตุ้นให้การใช้ปริมาณอินเตอร์เน็ตบนมือถือเติบโตอย่างก้าวกระโดด หากพิจารณาการเติบโตแบบปีต่อปี จะพบว่าปริมาณการใช้เน็ตมือถือ ณ ไตรมาส 3 ปี 64 เติบโตที่ 42% หรือประมาณ 78 เอกซะไบต์ (EB) ซึ่งนับรวมปริมาณอินเตอร์เน็ตจากบริการบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ตไร้สาย (Fixed Wireless Network) นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดการใช้เน็ตมือถือในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีปริมาณเทียบเท่าปริมาณเน็ตที่เคยมีมาทั้งหมดจนถึงปี 2559 ซึ่งจากการคาดการณ์ล่าสุดยังเผยว่าในปี 2570 จะมีการใช้เน็ตมือถือเพิ่มขึ้นสูงถึง 370 เอกซะไบต์ (EB)

นอกจากนี้ ในรายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับครบรอบ 10 ปี ยังมีบทความประกอบอีก 4 หัวข้อ ดังนี้

  • การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคตดิจิทัล โดยร่วมกับ Far EasTone
  • การสร้างเครือข่ายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล โดยร่วมกับ stc
  • Time-to-content: กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับประสิทธิภาพเครือข่าย
  • การสร้างเครือข่ายต่าง ๆ ที่ยั่งยืน

Explore the Ericsson Mobility Report November 2021 edition and the Ericsson Mobility Report Journey.

RELATED LINKS:

Ericsson Mobility Report

Behind the scenes of the Ericsson Mobility Report: 10 years of industry leading insights

Ericsson’s publicly announced 5G contracts
Ericsson 5G
Find out more about Ericsson’s 4G and 5G Fixed Wireless Access


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ZTE เผยประสบการณ์ และแพลตฟอร์ม 5G+ สำหรับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาสู่ “โรงงานอัจฉริยะ”

ZTE Corporation ผู้ให้บริการโซลูชั่นระดับโลกในด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่สำหรับลูกค้าองค์กรและผู้บริโภค จับมือ AIS ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และเทคโนโลยีดิจิทัลรายใหญ่ของไทย ในโอกาสทำงานร่วมงานกันมานานกว่า 15 ปี โดยจัดเสวนาแบ่งปันประสบการณ์ เทคโนโลยี 5G และ แพลตฟอร์มบริการจัดการโรงงานอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

นายจาง เจียนเผิง รองประธานอาวุโส ฝ่ายการตลาดระดับโลก บริษัท แซดทีอี คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า “จากรายงานของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) ระบุว่า ภายในปี 2025 เทคโนโลยี 5G จะมีส่วนสัดสูงถึง 14% ของตลาดการสื่อสารเชื่อมต่อทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ข้อมูลยังบ่งชี้ว่าส่วนแบ่งการเชื่อมต่อในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นจนสูงได้ถึง 23% โดยสูงกว่าส่วนแบ่งเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศระยะ 20 ปีของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ZTE มองว่าการปรับปรุงเครือข่าย 5G และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จะบรรลุเป้าหมายในการเติบโตตามแผนได้อย่างแน่นอน

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี 5 G ในประเทศจีน จะเห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิต กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ZTE ได้ดำเนินการพัฒนาแนะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ใน 15 อุตสาหกรรมในประเทศจีน อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมโลหการทำเหมือง, อุตสาหกรรมโครงข่ายระบบไฟฟ้า, อุตสาหกรรมการขนส่ง, อุตสาหกรรมการท่าเรือ รวมไปถึงอุตสาหกรรมสื่อยุคใหม่ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี 5 G เพื่อให้ตอบสนองการทำงานของอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมต่าง ๆ มักประสบกับปัญหาในการดำเนินการ คือ ดีมานด์ ในการใช้งานเทคโนโลยี 5G ของแต่ละอุตสาหกรรม มีความต้องการที่แตกต่างกันอย่างมาก ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ในช่วงต้นต่ำ และพบว่า บางกรณี มีต้นทุนที่สูง แต่ให้ผลลัพธ์ในด้านผลผลิตที่ไม่ชัดเจน การประสานความร่วมมือระหว่างแต่ละอุตสาหกรรมมีความยากลำบาก โดยการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (digital transformation) ขององค์กรต้นน้ำและปลายน้ำ มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน

จากปัญหาที่พบเหล่านี้ ZTE ให้ความตระหนักและได้คิดค้นวิธีการที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยการรวมโครงสร้างพื้นฐานของ 5G เข้าด้วยกัน และจัดหาโมดูลส่วนประกอบที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมุ่งเน้นไปที่สภาพการณ์ของแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อที่จะพัฒนาให้เกิดการทำงานได้อย่างมีคุณภาพสูงสุด โดยมีตัวอย่างการประยุกต์ใช้ 5G ในโรงงานที่พบได้บ่อย คือการใช้ Multi-Access Edge Computing (MEC) ร่วมกับวิสัยทัศน์ของเครื่องจักร หรือแมชชีนวิชั่น (machine vision) ในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตและสถานะการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ทดแทนการปฏิบัติงานด้วยมนุษย์ ซึ่งต้องจ่ายค่าแรงและมีความผิดพลาดสูงกว่า การใช้งานแมชชีนวิชั่นทำให้อัตราปล่อยผ่านของเสีย (defect leakage) ลดลง 80% เมื่อเทียบกับการตรวจสอบโดยมนุษย์ ความแม่นยำของระบบแยกแยะและติดฉลากอัตโนมัติเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 97% ซึ่งทำให้สามารถประหยัดค่าจ้างบุคลากร QC ได้ 50% และเพิ่มอัตราการได้ผลผลิต (production yield rate) ในขณะที่การใช้งานวิสัยทัศน์เครื่องจักรที่โรงงานของกลุ่ม Xinfengming ทำให้อัตราของเสีย (defect rate) ลดลง 60%

การใช้ระบบรถเคลื่อนย้ายอัตโนมัติ (AGV) สำหรับงานอุตสาหกรรมของ ZTE ร่วมกับ 5G ทำให้อุปสรรคเดิม ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ wifi หมดไป โดยรถ AGV ชนิดนี้สามารถนำไปใช้งานในสภาพแวดล้อมอุตสาหกรรมที่ต่างกันไป เช่นในสภาพแสงซับซ้อน และทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการนำ AGV ออกใช้งานไปได้ 80% (deployment cost) เมื่อเทียบกับการใช้ระบบนำทางแบบดั้งเดิมเช่น QR code หรือแถบแม่เหล็ก และการบริหารกำหนดการ (scheduling) ของ AGV ผ่านแพลตฟอร์มแบบ cloud ช่วยให้ประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 20% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อ AGV หนึ่งคันลดลง 10%

การใช้ 5G พร้อมกับ HD video และ Augmented Reality (AR) ช่วยให้บุคลากรด่านหน้าสามารถปฏิบัติหน้าที่ โดยได้รับการสนับสนุนทันทีจากทีมต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่หน้าไซต์งาน และยังเป็นการเปิดประตูสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ในด้านการออกแบบ การผลิต การฝึกอบรม การซ่อมบำรุง และการตรวจสอบ โดยพบว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระยะไกล (remote technology) ทำให้ลดความต้องการทรัพยากรด้านผู้เชี่ยวชาญไปได้เกิน 30% ทั้งยังเป็นการลดความยากในการประสานการทำงานระหว่างสถานที่ต่าง ๆ และยังพบว่าการใช้หุ่นลาดตระเวนแบบ 5G (5G unmanned patrol robot) หนึ่งตัว สามารถทดแทนทรัพยากรมนุษย์ด้านการรักษาความปลอดภัยได้ 3-4 คน โดยหุ่นยนต์สามารถส่งภาพ 360 องศารอบทิศทาง ในระดับความชัด 4K และหลบหลีกสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ได้เอง

ZTE ได้มีการทดสอบใช้ PLC แบบ cloud (Cloud Programmable Logic Control) สำหรับระบบควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมโดยพบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของ PLC และลดความหน่วงของการควบคุม (control latency) ได้ต่ำถึง 10 ms โดยระบบควบคุมโรงงานที่กล่าวนี้ได้ถูกใช้งานที่โรงงานอัจฉริยะของ ZTE เอง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหนานจิง มลฑลเจียงซู การใช้งานนวัตกรรมอัจฉริยะต่าง ๆ ในโรงงาน Binjiang Smart Factory ทำให้ความต้องการแรงงานด้านการผลิตต่ำกว่าโรงงานอื่นๆ 25%

นอกจากนี้ โรงงาน Yunnan Shenhuo 5G Smart Factory ในมลฑลยูนนาน ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ZTE และบริษัทผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ Yunnan Shenhuo มีการใช้งานระบบ 5G Campus Private Network และ MEC ในการควบคุมการดำเนินการด้านต่างๆ โดยมีการใช้แมชชีนวิชั่นทดแทนการใช้เซนเซอร์อุณหภูมิดั้งเดิม เพื่อการตรวจสภาพเหล็กที่อุณหภูมิ 1400 องศาเซลเซียส ซึ่งอุปกรณ์เซนเซอร์ที่ใช้อยู่เดิมสามารถทนอุณหภูมิที่สูงโต่งได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะหมดอายุใช้งาน และจำเป็นต้องใช้มนุษย์ช่วยแยกแยะสีบนพื้นผิวเพื่อบ่งชี้อุณหภูมิ ซึ่งความผิดพลาดในการแยกแยะสามารถเกิดขึ้นได้ในประการหลังนี้ และยังมีการใช้แมชชีนวิชั่นในการเฝ้าระวังสายพานการผลิตถึง 11 จุดด้วยกัน ZTE ได้ร่วมมือกับAIS ในการวางระบบโซลูชั่น NodeEngine ที่โรงงานยาวาต้า จังหวัดนครราชสีมา ในการใช้งาน offloading และการคำนวณแบบ edge computing ในโรงงาน ผลที่ได้พบว่า ระบบดังกล่าวนั้นเหมาะสมกับโรงงานยาวาต้าเป็นอย่างมาก โดยความหน่วงวัดได้เพียง 10 ms เท่านั้นซึ่งตอบรับโจทย์เรื่องข้อกำหนดในการประมวลผลข้อมูลในพื้นที่ได้อย่างดี


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

“ดีป้า” โชว์ 1 ปี ศูนย์ 5G EIC เสริมแกร่งภาครัฐ-เอกชนราว 2,000 ราย หนุนปรับตัวเผชิญวิกฤตโควิด-19

9 พฤศจิกายน 2564กรุงเทพมหานคร – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เผยผลการดำเนินงาน ศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) ในรอบ 1 ปี มีผู้เข้าชมศูนย์แห่งนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ราว 2,000 ราย ตลอดจนเปิดอบรมไปแล้ว 6 หลักสูตร สามารถยกระดับทักษะดิจิทัลให้บุคลากรด้านเทคโนโลยี 5G มากกว่า 1,000 ราย สนับสนุนภาคธุรกิจและระบบการศึกษา สามารถปรับตัวและก้าวข้ามผ่านสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีศักยภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้เติบโตอย่างมั่นคง

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ประเทศไทยเผชิญมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาปรับตัวประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G กันมากขึ้น ซึ่งช่วงเดือนกันยายน 2563 ดีป้า ได้จัดตั้ง ศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) โดยความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญอย่าง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้ศูนย์แห่งนี้กลายเป็น Sandbox แหล่งเรียนรู้ชั้นเยี่ยม มอบองค์ความรู้ให้กับทุกคน ทุกภาคส่วน ช่วยพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลสำหรับแอปพลิเคชัน 5G และบริการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่ให้แก่ภาคธุรกิจ ทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และดิจิทัลสตาร์ทอัพ ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 พลิกฟื้นเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้เติบโตอย่างมั่นคง

“ตั้งแต่เปิด ศูนย์ 5GEIC แห่งนี้จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้เข้าชมพื้นที่ทดสอบ ทดลอง และปฏิบัติการภายในศูนย์ ราว 2,000 ราย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งเปิดอบรมให้กับผู้สนใจไปแล้ว 6 หลักสูตร สามารถยกระดับทักษะดิจิทัลให้บุคลากรด้านเทคโนโลยี มากกว่า 1,000 ราย” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

สอดคล้องกับมุมมองของ คุณศรุตา ตั้งใจ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท พีบีเอ โรบอทิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ศูนย์ 5G EIC มีประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผู้ให้บริการด้าน AI ROBOTICS and Automation Solution เพราะฉะนั้นหัวใจหลักสำคัญในการให้ประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าคือ เรื่องของ Data and Platform ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ของบริษัท ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสร้างเสถียรภาพโซลูชันของบริษัทฯ ได้มากขึ้น ที่สำคัญศูนย์แห่งนี้ ยังเข้ามาช่วยเสริมทักษะให้ความรู้ในการปรับใช้เทคโนโลยีกับ Use Case ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นภาพ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น สามารถขยายฐานลูกค้ากระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น จากเดิม 30-50% ของกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า 80ของกลุ่มเป้าหมาย ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกคนต้องปรับตัว และหันมาพึ่งพิงเทคโนโลยีจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตสวนทางกับภาพรวมของเศรษฐกิจ ดังนั้นการมีเทคโนโลยี 5G จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการนำมาใช้ได้จริง ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมตลาดระดับโลกได้แน่นอน

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าธนบุรี
 กล่าวว่า ความสำคัญของศูนย์แห่งนี้คือ การเป็นแหล่งพัฒนากำลังคน เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยี สอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยฯ ที่มุ่งเน้นการทำวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้จะทำให้เกิด Use Case มีชีวิต นำไปต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ ที่สามารถใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยเปลี่ยนโครงสร้างทั้งมหาวิทยาลัยฯ ให้กลายเป็นห้องเรียนคือ สามารถเรียนได้จากของจริง เห็นองค์ประกอบเสมือนจริง เปิดโลกวิธีการเรียนรู้ใหม่ ผ่านเทคโนโลยี VR AR ซึ่งจะกระจายนักศึกษาไปทั้งมหาวิทยาลัยฯ ไม่เกิดการกระจุกตัวอยู่แต่ในห้องเรียน ป้องกันความเสี่ยงโควิด-19 ภายใต้คอนเซปต์ Living Lab ดังนั้นเทคโนโลยี 5G จึงเป็นส่วนสำคัญในการแปลงโฉมมหาวิทยาลัยฯ เพราะต้องอาศัยระบบที่มีความเสถียรทั้งภายในและภายนอกอาคาร

สำหรับ ศูนย์ 5G EIC แห่งนี้ตั้งอยู่ ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นพื้นที่ทดลองการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในภาคธุรกิจและบริการต่าง ๆ เช่น บริการทางการแพทย์ด้วย 5G
(5G Medical Care), การเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G (5G Smart Agriculture) ระบบท่าเรืออัจฉริยะผ่านระบบ 5G (5G Port) การศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยี 5G (5G Remote Education) ระบบการรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G (5G Smart Security) เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจเข้าชมศูนย์ 5G EIC สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ www.5geicthailand.com


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

อีริคสันลุยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย 5G ดีแทค

กรุงเทพฯ, ประเทศไทย, 4 มกราคม 2564 – ประมาณครึ่งหนึ่งของประชากร 70 ล้านคนในประเทศไทย อยู่ในพื้นที่รองรับบริการที่สามารถใช้งานจากโครงข่ายสถานีฐานไร้สายใหม่ หรือ Ericsson (NASDAQ: ERIC) 5G radio access network (RAN) ซึ่งให้บริการโดยดีแทค

ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของ Ericsson 5G RAN จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ Ericsson Radio System ซึ่งรวมถึง Ericsson Spectrum Sharing ที่จะสนับสนุนการให้บริการของดีแทคทั้ง 4G และ 5G ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทย

Ericsson Spectrum Sharing จะช่วยให้ดีแทคสามารถแชร์การรับส่งข้อมูล 4G และ 5G แบบไดนามิกเพื่อรองรับการเปลี่ยนไปสู่การใช้งานบน 5G ได้อย่างราบรื่น รวดเร็วและคุ้มค่า กลุ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นวิทยุของอีริคสันจะมอบประโยชน์ด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้กับดีแทค

ผู้ใช้บริการมือถือทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ใช้งานรับชมผ่านสตรีมมิ่ง เกม การพัฒนาสู่นวัตกรรมที่อยู่อาศัย รวมทั้งกลุ่มลูกค้าองค์กร ภาคอุตสาหกรรม ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และประสิทธิภาพการรับส่งข้อมูลจำนวนมากของ 5G

ดีแทคได้ติดตั้งโครงข่ายคลื่น 700 MHz เพื่อขยายประสิทธิภาพการใช้งานให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใต้กลยุทธ์ในการนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาสู่ลูกค้าทุกคน และพัฒนาสัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศ

การบรรลุข้อตกลง 5G นี้เป็นความสำเร็จของความเป็นพันธมิตรระหว่างอีริคสันและดีแทคที่มีมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งความร่วมมือเป็นพันธมิตรดังกล่าวยังครอบคลุมบริการ 3G, 4G และการจัดการบริการต่าง ๆ ด้วย Ericsson Operations Engine อีกด้วย

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ในการนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาสู่ลูกค้าทุกคน เราไม่หยุดพัฒนาและเร่งขยายโครงข่ายทั่วประเทศเพื่อรองรับบริการ 4G และ 5G ด้วยการจัดสรรร่วมกันทั้งคลื่นความถี่ต่ำ-กลาง-สูง โดยคลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำ จะเพิ่มประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและพื้นที่ใช้งานหนาแน่นในเมืองโดยเฉพาะพื้นที่อาคารสูง ลูกค้าดีแทคจะได้รับประสบการณ์ในการใช้บริการที่ดีขึ้นจากในการไม่หยุดพัฒนาโครงข่ายของเรา นอกจากนี้ดีแทคยังเร่งขยายเทคโนโลยี Massive MIMO เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าในการส่งและรับข้อมูลที่ดีกว่าเดิม 3 เท่า ดีแทคจะเชื่อมต่อทุกคนกับทุกสิ่งที่สำคัญที่สุด”

นางนาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “5G จะมีส่วนสำคัญในการเร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและกระตุ้นนวัตกรรมยุคหน้าสำหรับผู้บริโภคและองค์กรในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ความร่วมมือกับ dtac ในการขยายเครือข่าย 5G ในประเทศไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G RAN ของเราจะช่วยเสริมความมุ่งมั่นของดีแทคในการส่งมอบประโยชน์ของ 5G ให้กับผู้บริโภคและองค์กรในประเทศไทย เราอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการสนับสนุนประเทศไทยไปสู่เส้นทาง 5G ด้วยความเป็นผู้นำเทคโนโลยีและประสบการณ์การพัฒนาเครือข่าย 5G ทั่วโลก”

อีริคสันเป็นพันธมิตรกับดีแทคในด้านบริการที่มีการจัดการ (Managed Services) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ผ่านการพัฒนาเครือข่าย Ericsson Operation Engine เพื่อให้ดีแทคนำเสนอบริการผ่านเครือข่ายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล AI และที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

ปัจจุบันอีริคสันมีข้อตกลงสัญญา 5G เชิงพาณิชย์และสัญญากับผู้ให้บริการการสื่อสารที่โดดเด่นทั่วโลก 122 ฉบับ รวมถึงเครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์ที่เปิดให้บริการแล้วถึง 77 เครือข่าย


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ยเผยแพร่รายงานเชิงลึกเรื่องการใช้งาน 5G ในงาน ITU Telecom World 2019

บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี/ 11 กันยายน 2562 – ในงาน ITU Telecom World 2019 หัวเว่ยได้เปิดตัวรายงานเชิงลึก “การใช้งาน 5G” ในระหว่างงานฟอรั่ม “5G+Gigabit: Connecting an Intelligent Future” โดยมี มร. จ้าว โห้วหลิน เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และ มร. ลาสซโล พัลโควิคส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของฮังการี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน

รายงานเชิงลึกฉบับดังกล่าวคาดการณ์ถึงลักษณะการใช้งาน 5G ในด้านการขยายศักยภาพของบรอดแบนด์ มีเดีย เอ็นเตอร์เทนเมนต์ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการขนส่งอัจฉริยะ ทั้งยังเรียกร้องให้องค์กรอุตสาหกรรมและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกช่วยกันส่งเสริมให้เกิดการร่วมสร้างมาตรฐานและกำหนดคลื่นความถี่ ทรัพยากรที่เพียงพอ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจที่ดีอย่างจริงจัง ให้พร้อมสำหรับการติดตั้งและการใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่าง ๆ


มร. หยาง เชาปิน ประธานบริหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G ของหัวเว่ย เปิดตัวรายงานเชิงลึกเรื่อง “การใช้งาน 5G”

ที่งานฟอรั่ม ซึ่งหัวเว่ย เทคโนโลยี่ จัดขึ้นในระหว่างงานประชุม ITU Telecom ประจำปี ภายใต้ธีม “5G+Gigabit: Connecting an Intelligent Future” มร. จ้าว โห้วหลิน เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และ มร. ลาสซโล พัลโควิคส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของฮังการี ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของเน็ตเวิร์ก 5G

โลกกำลังเร่งนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ การเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ โอเปอเรเตอร์ 35 รายใน 20 ประเทศทั่วโลกได้เปิดให้บริการ 5G แล้ว และอีก 33 ประเทศได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ 5G เรากำลังเข้าสู่ยุคของ 5G อย่างแท้จริง

ในอนาคต 5G จะเปิดพื้นที่ตลาดและโอกาสการลงทุนมากมายเป็นล้านล้านรายการ ในปี 2578 เทคโนโลยี 5G จะสร้างผลิตผลทางเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นมูลค่าถึง 12.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งร้อยละ 80 จะเกี่ยวเนื่องกับ 5G โดยเฉพาะ รายงานเชิงลึกฉบับนี้ได้พูด 5G ใน 4 แง่มุมด้วยกัน คือ การใช้งานใหม่ๆ มาตรฐาน คลื่นความถี่ และระบบนิเวศในอุตสาหกรรม

ด้วยความก้าวหน้าของการเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ การใช้งาน 5G ในรูปแบบใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นมากมาย รวมถึง Enhanced Mobile Broadband, เอ็นเตอร์เทนเมนต์บนสื่อ, การผลิตภาคอุตสาหกรรม, การขนส่งอัจฉริยะ เป็นต้น เครือข่าย 5G สามารถให้บริการเน็ตเวิร์กระดับกิกะบิตประสิทธิภาพสูงและประสบการณ์การใช้งานที่เยี่ยมยอดให้แก่ผู้ใช้ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและความเป็นอัจฉริยะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงยุค 5G ทั้งสองสิ่งเป็นตัวอย่างของประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ซึ่งก็คือ การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมหลายพันรูปแบบ และการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น

การกำหนดมาตรฐานให้เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลกจะช่วยผลักดันให้การใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยขณะนี้ 3GPP เป็นตัวช่วยกำหนดมาตรฐานหลักของ 5G และหลังจากที่มีการประกาศมาตรฐานฉบับแรก ๆ เราก็ได้เห็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมเปิดให้บริการเครือข่ายเชิงพาณิชย์ และการใช้การบริการ eMBB ที่สมบูรณ์บนเครือข่าย 5G มาตรฐานอันเป็นหนึ่งเดียวทั่วโลกยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานฉบับที่ 16 (ปี 2020) และฉบับที่ 17 (ปี 2021) เทคโนโลยี 5G ยังคงก้าวหน้าต่อไป อันจะนำไปสู่การพัฒนาอีโคซิสเต็มในอุตสาหกรรมและการใช้งาน 5G รูปแบบใหม่ ๆ ที่ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น

การจัดสรรคลื่นความถี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับหน่วยงานกำกับดูแล การผสานรวมคลื่นความถี่ทั่วโลกจะช่วยลดความซับซ้อนและต้นทุนในการดำเนินการ 5G สำหรับซัพพลายเออร์ ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม พันธมิตรในอุตสาหกรรม และแม้แต่ผู้ใช้เอง การกระจายคลื่นความถี่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศยังคงเป็นรูปแบบที่หน่วยงานกำกับดูแลของหลายๆ ประเทศพยายามผลักดัน ในขณะเดียวกัน การซิงโครไนซ์เครือข่ายก็ควรจะได้รับการพิจารณาด้วย เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานคลื่นความถี่และลดการแทรกแซงของสัญญาณ

5G ต้องการอีโคซิสเต็มที่มั่นคงและโปร่งใสเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ความสำเร็จเชิงพาณิชย์และการเติบโตในด้านความคุ้มค่าในยุค 5G รวมไปถึงความเข้มแข็งของอีโคซิสเต็ม 5G ขึ้นอยู่กับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างโอเปอเรเตอร์ เวนเดอร์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม และหน่วยงานกำกับดูแลที่สนับสนุนด้านนวัตกรรมการใช้งาน


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

การใช้งาน 5G ในรูปแบบที่สร้างสรรค์ช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ใน งาน Huawei Asia-Pacific Innovation Day

เฉิงตู ประเทศจีน/ 4 กันยายน 2562 – ในงาน หัวเว่ย เอเชียแปซิฟิก อินโนเวชั่น เดย์ ครั้งที่ 5 ซึ่งเริ่มขึ้นวานนี้ ที่เมืองเฉิงตู หัวเว่ยและพันธมิตรได้จัดแสดงการใช้งานนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์ที่ไร้ขีดจำกัด เช่น 5G+VR (Virtual Reality), 5G + วิดีโอความละเอียด 8K, 5G + โดรน, การแพทย์ทางไกลผ่าน 5G และรถฉุกเฉินที่เชื่อมต่อผ่าน 5G

ยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถเพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นเป้าหมายหลักของการใช้งาน 5G

5G + VR: ที่ศูนย์อนุรักษ์หมีแพนด้าซึ่งอยู่ห่างจากสถานที่จัดงานหลายกิโลเมตร มีการใช้กล้องพาโนรามา VR 360° ถ่ายทอดสดการเคลื่อนไหวของแพนด้าจากภายในคอก ผ่านเครือข่าย 5G ไปยังผู้ชมที่สวมชุดรับชม VR อยู่ และสามารถร่วมสนุกไปกับประสบการณ์สุดสมจริง เสมือนได้เข้าไปอยู่ร่วมกับเหล่าแพนด้าแสนน่ารัก

5G + วิดีโอ 8K: หน้าจอความละเอียด 8K ถ่ายทอดภาพวิดีโอความคมชัดสูงระดับ Ultra HD แบบเรียลไทม์ ผ่านเครือข่าย 5G ทำให้ผู้เข้าร่วมสามารถเพลิดเพลินไปกับการแสดงด้วยภาพที่ละเอียดและคมชัดกว่า

ด้วยเครือข่าย 5G ความเร็วสูงระดับอัลตราไฮสปีด การใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ ได้เรียกกระแสความสนใจจากผู้ชมจากหลากหลายประเทศและภูมิภาคในเอเชียแปซิฟิก ยกตัวอย่างเช่น วิดีโอความคมชัดระดับ 8K ซึ่งมีความละเอียด 7680×4320 สูงกว่าวิดีโอ 4K ถึง 4 เท่า และต้องใช้แบนด์วิธสำหรับอัพสตรีมอย่างน้อย 100 Mbit /s ซึ่งมีเพียงเครือข่าย 5G เท่านั้นที่สามารถทำได้

เนื่องจากเครือข่าย 5G มีการครอบคลุมที่กว้างกว่า ทำให้การถ่ายทอดสด 8K เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและทุกเวลาที่ต้องการ ด้วยประสิทธิภาพที่ดีกว่าและค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ในอนาคต 5G จะมีบูรณาการควบคู่ไปกับ VR, การถ่ายทอดสดวิดีโอ 8K และบริการด้านอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้งานนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น การแพทย์ทางไกล และการถ่ายทอดสด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดได้รวดเร็วขึ้น

5G จะช่วยให้มีการใช้งานมากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยการทำงานแต่ละอย่างก็จะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นและราคาลดลง ดังที่จัดแสดงในงาน เครือข่าย 5G จะเป็นรากฐานของระบบช่วยเหลือการแพทย์ฉุกเฉินที่ครบวงจร ประกอบไปด้วยรถฉุกเฉินที่เชื่อมต่อได้ และแอปพลิเคชันที่ใช้ AI เช่น AR, VR และโดรน เมื่อผู้ป่วยถูกนำขึ้นรถฉุกเฉินที่เชื่อมต่อ 5G แพทย์สามารถที่จะใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในรถ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ เช่น ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการสแกนแบบ B-mode ในขณะเดียวกัน ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาพสแกน สัญญานทางการแพทย์ และประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยจะถูกส่งกลับไปที่โรงพยาบาลแบบเรียลไทม์ ดังนั้นแพทย์จะสามารถเตรียมแผนการรักษาฉุกเฉินและเตรียมการผ่าตัดได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาสำหรับการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเพิ่มอัตราความสำเร็จในการรักษาได้มากขึ้น

นอกจากการใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ที่จัดแสดงในงานแล้ว ผู้เข้าร่วมงานยังสามารถพบกับการใช้งานนวัตกรรมอื่น ๆ ขับเคลื่อนโดยเครือข่าย 5G ด้านนอกของสถานที่จัดงาน การใช้งานเหล่านี้ ได้แก่ รถบรรทุกสาธิตที่ใช้เครือข่าย 5G หลายมิติ ทางใต้ของศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคเฉิงตู รถบัส 5G บนถนนวงแหวนที่สอง เมืองเฉิงตู และการแพทย์ทางไกลโรงพยาบาลประชาชนที่ 3 เมืองเฉิงตู ในรูปแบบการใช้งานเหล่านี้ ผู้ชมจะได้สัมผัสกับประสบการณ์เครือข่าย 5G ความเร็วสูงและการใช้งานรูปแบบต่าง ๆ เช่น VR ที่ขับเคลื่อนโดย 5G และวิดีโอความคมชัดสูงพิเศษ (UHD) ขณะเดินทาง

ตอนนี้ 5G เริ่มให้บริการแล้ว การใช้งานเครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์จะเปิดประสบการณ์ใหม่สู่ผู้บริโภค ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลในอุตสาหกรรม ช่วยให้เกิดนวัตกรรมในการใช้งานด้านอุตสาหกรรม และสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ผู้เชี่ยวชาญชี้อาเซียนเปิดรับ 5G ของหัวเว่ย

กรุงเทพฯ ประเทศไทย/ 19 สิงหาคม 2562 – สำนักข่าว ไชน่า เดลี่ รายงานผู้เชี่ยวชาญต่างมองว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มองว่าการเชื่อมต่อ 5G จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตรวดเร็วขึ้นนั้น ล้วนเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมจากประเทศจีนอย่างหัวเว่ย และบริษัทอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในประเทศของตน

มิสอมาลินา อาเนอร์ นักวิเคราะห์จากศูนย์การศึกษาพหุภาคี (Centre for Multilateralism Studies) แห่งสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ เอส ราชารัตนัม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า แผนงานด้านเศรษฐกิจและองค์ประกอบด้านนโยบายต่างประเทศเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ประเทศในอาเซียนเปิดรับการทำธุรกิจกับหัวเว่ย

“เทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ยขึ้นชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและมีราคาจับต้องได้เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการในระดับเดียวกัน” มิสอาเนอร์กล่าว พร้อมทั้งกล่าวเสริมอีกว่า “การเลือกใช้บริการจากเวนเดอร์หลายรายและการเลี่ยงการกีดกันหัวเว่ยไม่ให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศถือเป็นตัวเลือกทางนโยบายที่มีความสมดุลกว่า เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายใด”

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด เป็นผู้ให้บริการอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในโลกและผู้จัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนอันดับสองของโลก สหรัฐอเมริกาได้กล่าวหาหัวเว่ยในข้อหาจารกรรมข้อมูล แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานใด ๆ มารองรับ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งหัวเว่ยก็ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

มร. เจค ซอนเดอส์ รองประธานด้านบริการให้คำปรึกษาในเอเชีย-แปซิฟิก ของเอบีไอ รีเสิร์ช บริษัทข่าวกรองด้านการตลาด กล่าวว่า “จริง ๆ แล้ว ผมไม่เห็นว่าจะมีหลักฐานใด (ในข้อกล่าวหาการสอดแนมข้อมูล) ในเรื่องของความปลอดภัย ถ้าอยากให้การสื่อสารปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่ละบริษัทก็ติดตั้งระบบการเข้ารหัสลับของตนเองได้ เพื่อให้การรับส่งข้อมูลมีความปลอดภัย”

เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยความเร็วระดับกิกะบิต โดยล็อบบี้ยิสต์ด้านโทรคมนาคมอย่าง GSMA คาดการณ์ว่า การเชื่อมต่อแบบไร้สายทั้งโลกจะเปลี่ยนเป็น 5G ถึงร้อยละ 15 ภายในปี 2568 โดยเอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่ใช้ 5G ที่ใหญ่ที่สุด

มิสฟาร์ลินา ซาอิด นักวิเคราะห์จากหลักสูตรการศึกษานโยบายและความปลอดภัยต่างประเทศ สถาบันการศึกษาด้านกลยุทธ์และการต่างประเทศ ในมาเลเซีย กล่าวว่า “การทดลองหาโอกาสในการใช้งาน 5G สำหรับอนาคต ได้กลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปแล้ว” โดย 5G จะเป็นดั่งตัวเร่งให้อาเซียนสร้างเครือข่ายสมาร์ทซิตี้ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อการจัดการภัยพิบัติ การเข้าถึงการศึกษา และความยั่งยืนของสังคม

กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก เป็นตลาดสำคัญสำหรับธุรกิจระดับโลกมาโดยตลอด และหัวเว่ยได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้มานานกว่า 20 ปี ในงานประชุมเมื่อต้นปี มร. เจมส์ อู๋ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหัวเว่ย ได้คาดการณ์ว่า 5G จะสร้างโอกาสทางอุตสาหกรรมแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีจำนวนผู้ใช้ 5G ถึง 80 ล้าน

สำหรับประเทศไทยได้มีการทดสอบเครือข่าย 5G ของหัวเว่ยในจังหวัดชลบุรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ลงนามข้อตกลงการพัฒนา 5G ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัท สมาร์ท เอเซียตา ของกัมพูชา ได้ประกาศความร่วมมือกับหัวเว่ยในการพัฒนาเครือข่าย 5G ในประเทศ

และเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ประกาศว่า บริษัทมีสัญญา 5G เชิงพาณิชย์แล้วจำนวน 50 ฉบับ และได้จัดส่งสถานีฐาน 5G ให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกไปแล้วกว่า 150,000 สถานี

มร. ซอนเดอส์ จากบริษัท เอบีไอ รีเสิร์ช กล่าวว่า “เทคโนโลยีของหัวเว่ยนั้นถือว่าล้ำสมัยสุดๆ แล้ว พวกเขาคอยคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และแข่งขันด้วยราคา สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลว่าทำไมหัวเว่ยจึงเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นมากๆ” พร้อมกล่าวอีกว่า “หลักๆ แล้ว ประเทศอาเซียนต้องการตัวเลือก นี่เป็นที่สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขามากๆ”

มิสอาเนอร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง เสริมว่า “การเข้าถึง 5G อย่างเต็มรูปแบบต้องอาศัยนโยบายที่ให้ความสำคัญกับทั้งความต้องการด้านความปลอดภัยและการพัฒนา”

และเธอยังกล่าวอีกว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเลือกผู้ให้บริการโซลูชั่น 5G ที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด และอาเซียนก็ไม่มุ่งหวังที่จะฝักใฝ่ฝ่ายใด”


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

หัวเว่ยคว้ารางวัล “เทคโนโลยีเครือข่ายหลัก 5G ที่ดีที่สุด” จากงาน 5G World Summit

ลอนดอน สหราชอาณาจักร/ 20 มิถุนายน 2562 – โซลูชันเครือข่ายหลัก 5G ของหัวเว่ยคว้ารางวัล “Best 5G Core Network Technology” จากงาน 5G World Summit 2019 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ลอนดอน

เทคโนโลยี 5G จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในอุตสาหกรรมและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เครือข่ายหลัก 5G ทำหน้าที่เป็นฮับสำหรับสร้างการเชื่อมโยงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และกำหนดรีซอร์สของเครือข่าย โดยมีความหน่วงเวลาเป็นหัวใจสำคัญ เครือข่ายหลักจะมีประสิทธิภาพบริการเครือข่ายที่แตกต่างและเห็นผลชัดเจน ตั้งแต่เชื่อมโยงคนไปจนถึงสิ่งของต่างๆ ทำให้ 5G สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรมและปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น

เครือข่าย 5G อัจฉริยะของหัวเว่ยสร้างขึ้นบนเทคโนโลยี Cloud Native, Connectivity+ และ Edge Computing ที่ล้ำสมัย รองรับ 3-layer Decoupling, Stateless Design, Cross-DC Deployment, Microservices, A/B Test และเทคโนโลยีคลาวด์อื่นๆ ถือเป็นเครือข่ายแรกของอุตสาหกรรมที่รองรับการผสานรวมเทคโนโลยี 2G/3G/4G/5G NSA/5G SA มีทั้งโซลูชันเสียง Single Voice Core และใช้สถาปัตยกรรมแบบกระจาย CUPS ทำให้เครือข่ายสามารถรองรับ User Plane Plug and Play ได้แบบครบวงจร กำหนดรีซอร์สการประมวลผล Heterogeneous Edge แบบ on-demand, ผนวกรวมแอพพลิเคชั่นจากแหล่งอื่นได้อย่างรวดเร็ว และการสร้างระบบนิเวศ Edge แบบเปิดกว้าง ทำให้เกิดบริการที่แตกต่างและอุตสาหกรรมที่หลากหลาย

มร. หม่า เลี่ยง ผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์เครือข่ายหลัก ของหัวเว่ยคลาวด์ ตั้งข้อสังเกตว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่จะได้รับรางวัลนี้ หลายปีมานี้หัวเว่ยได้สั่งสมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 5G มาอย่างมากมายจากการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันเรายังได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและพันธมิตรในอุตสาหกรรมมากมายในการพัฒนาการใช้งาน 5G อย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมแนวตั้ง ทำให้ระบบนิเวศอุตสาหกรรมเกิดการเติบโต และเตรียมพร้อมสำหรับการใช้งาน 5G เชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่”

ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 หัวเว่ยมีสัญญา 5G เชิงพาณิชย์รวม 46 ฉบับ และได้ริเริ่มโครงการความร่วมมือแบบข้ามอุตสาหกรรมอีกจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Network Slicing และ Mobile Edge Computing (MEC) ในด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ, เทคโนโลยี VR/AR, เทคโนโลยี Internet of Vehicle (IoV), การผ่าตัดทางไกล, การผลิตเชิงอัจฉริยะ และอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้ระบบนิเวศ 5G มีการเติบโตสมบูรณ์ หัวเว่ยจะมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้ดีขึ้นด้วยโซลูชันที่ดีกว่า


 

Exit mobile version