Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ไอบีเอ็มมุ่งเป้าแรนซัมแวร์และภัยไซเบอร์ ส่ง Flash Storage รุ่นใหม่ช่วยองค์กรรับมือ-เร่งกู้ข้อมูล

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) เปิดตัว IBM FlashSystem Cyber Vault เพื่อช่วยองค์กรตรวจจับแรนซัมแวร์และการโจมตีทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ พร้อมกู้ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วหลังการถูกโจมตี พร้อมกันนี้ยังได้เปิดตัวสตอเรจ FlashSystem โมเดลใหม่ บนพื้นฐานของ IBM Spectrum Virtualize ที่สร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการดำเนินงานแบบหนึ่งเดียวและมีการทำงานอย่างคงที่สม่ำเสมอ ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นฟื้นตัวเร็วและประสิทธิภาพการทำงานของแอพพลิเคชันภายใต้สภาพแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์
จากผลการศึกษา IBM Cyber Resilient Organization 46% ของกลุ่มที่สำรวจระบุว่าเคยถูกโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ในช่วงสองปีที่ผ่านมา1 โดยการโจมตีทางไซเบอร์ที่เติบโตต่อเนื่อง และระยะเวลาเฉลี่ยในการกู้คืนระบบที่นานหลายวันหรือบางครั้งหลายสัปดาห์2 ทำให้คาดเดาไม่ได้ว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับธุรกิจและชื่อเสียงองค์กรนั้นจะมากแค่ไหน แม้ว่าองค์กรจะมีกลยุทธ์ในการป้องกันและตรวจจับอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องพร้อมที่จะกู้คืนระบบปฏิบัติการในเวลาอันสั้นเพื่อลดการสูญเสียของธุรกิจและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ตอบโจทย์ความจำเป็นด้าน Cyber Resiliency
IBM FlashSystem Cyber Vault ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการกู้คืนระบบหลังจากที่ถูกโจมตี และลดเวลาโดยรวมในการกู้คืนระบบลง3 โดยระบบจะมอนิเตอร์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อเร่งการฟื้นระบบในจุดที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเรียกคืนข้อมูลได้ ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถกู้คืนสำเนาข้อมูลทั้งหมดได้เร็วขึ้
“วันนี้องค์กรอยู่ท่ามกลางภัยคุกคามไซเบอร์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการคาดการณ์และเตรียมพร้อมต่อการโจมตีทางไซเบอร์ นอกเหนือจากการพยายามเพิ่มความคล่องตัวทางธุรกิจในการดำเนินงานในแต่ละวัน” นายเดนิส เคนเนลลี กรรมการผู้จัดการของ IBM Storage กล่าวว่า “IBM FlashSystem Cyber Vault และสตอเรจ FlashSystem ที่ก้าวล้ำที่สุดของเราได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะให้ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับที่จำเป็นสำหรับองค์กรที่ใช้ไฮบริดคลาวด์”
ในสถานการณ์ท้าทายด้านความปลอดภัยในปัจจุบัน องค์กรต่างมองหาแนวทางที่ครอบคลุมเพื่อสร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวในการต่อกรกับภัยไซเบอร์ ด้วยโซลูชันที่ทั้งสามารถป้องกันการโจมตี รวมถึงช่วยกู้ข้อมูลหลังถูกโจมตีได้ด้วย โซลูชัน IBM FlashSystem Cyber Vault จึงเป็นส่วนเสริมให้กับ IBM Safeguarded Copy ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ IBM FlashSystem โดย FlashSystem Cyber Vault จะสามารถสแกนสำเนาข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นโดย Safeguarded Copy ได้โดยอัตโนมัติ เพื่อค้นหาสัญญาณความเสียหายของข้อมูลที่เกิดจากมัลแวร์หรือแรนซัมแวร์ การสแกนนี้มีวัตถุประสงค์สองประการ หนึ่งคือสามารถช่วยระบุการโจมตีโดยแรนซัมแวร์แบบคลาสสิกได้อย่างรวดเร็วเมื่อเริ่มมีการโจมตีเกิดขึ้น และสองคือได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยระบุว่าสำเนาข้อมูลชุดใดที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการโจมตี เหล่านี้จะช่วยให้องค์กรรสามารถตรวจพบได้อย่างรวดเร็วว่ามีการโจมตีเกิดขึ้น และกู้คืนสำเนาข้อมูลที่สมบูรณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
“เห็นได้ชัดว่า Cyber Resilience เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับลูกค้าของเรา” นายเดวิด แชนเซลเลอร์ ผู้อำนวยการ Enterprise Systems ของ Gulf Business Machinesซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของไอบีเอ็ม กล่าว “ลูกค้าของเรากำลังมองหาวิธีในการเตรียมตัวที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้พร้อมสำหรับการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น และ IBM Cyber Vault ก็เป็นตัวเลือกในอุดมคติ เพราะผลิตภัณฑ์นี้ไม่เพียงแต่ได้รับการออกแบบมาให้เสริมศักยภาพของFlashSystem ได้อย่างอย่างง่ายดาย แต่ยังสามารถช่วยลดเวลาการฟื้นระบบ และนี่คือสิ่งที่ทีมงานด้าน Cyber Resilience ต่างต้องการเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้”
IBM FlashSystem สมรรถนะสูงที่รองรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ Multi-Engine ขนาดใหญ่ และติดสปีดให้กับโครงการไฮบริดคลาวด์
IBM FlashSystem มอบประสิทธิภาพและความจุที่สเกลเพิ่มได้ (1PBe ต่อแร็ค) จึงตอบสนองความต้องการด้านสมรรถนะสำหรับเวิร์คโหลดการปฏิบัติงานที่สำคัญโดยไม่กระทบต่อเป้าหมายด้านประสิทธิภาพ IBM FlashSystem ได้รับการออกแบบบนสถาปัตยกรรมหนึ่งเดียวที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกัน จึงเป็นแพลตฟอร์มสตอเรจแบบไฮบริดคลาวด์ในแบบ edge-to-core-to-cloud ให้กับลูกค้าได้
ตอบโจทย์ความต้องการด้านประสิทธิภาพของเวิร์คโหลดที่มีกรอบด้านเวลา
การใช้ตัวควบคุมมัลติคอร์และสถาปัตยกรรมสตอเรจเชิงคำนวณของพอร์ตโฟลิโอ IBM FlashSystem เป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของปริมาณงานที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้ในช่วงเวลาหนึ่ง (throughput) และเวลาแฝง พร้อมกับมอบความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวระดับองค์กรสำหรับเวิร์คโหลดการปฏิบัติงานที่สำคัญ
  • ลดข้อจำกัดด้านทรัพยากรของดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยการผนวกรวมเวิร์คโหลด: Flash System 9500 สร้างขึ้นมาสำหรับองค์กรที่กำลังเติบโตซึ่งต้องการความสามารถและความยืดหยุ่นสูงสุด พร้อมนำเสนอประสิทธิภาพสูงสุดสองเท่า4 รวมถึงการเชื่อมต่อ แฟลชไดรฟ์ NVMe และแคชของFlashSystem 9200 ที่เพิ่มขึ้นสูงสุด 50% (3TB) โดยรองรับความจุที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 4.5PB ต่อตู้ควบคุมหนึ่งตู้5,6 
  • ย้ายไปยังไฮบริดคลาวด์อย่างมีวัตถุประสงค์: เมื่อใช้ IBM’s Spectrum Virtualize และ Spectrum Virtualize for Public Cloud ลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากสภาพแวดล้อมการดำเนินงานของสตอเรจของไอบีเอ็ม ที่มีชุดบริการข้อมูลและความสามารถในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกันด้วยโมเดลการใช้งานที่เหมือนคลาวด์ ที่เอ็ดจ์ของดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งในระบบขององค์กรเอง และบนแพลตฟอร์มคลาวด์สาธารณะ นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถนำสตอเรจแบบเลกาซีดั้งเดิมจากเวนเดอร์รายอื่นมาใช้ใหม่ โดยเวอร์ชวลไลซ์หลัง SAN Volume Controller ของไอบีเอ็ม เพื่อขยายบริการข้อมูลและการดำเนินงานเดียวกันไปยังระบบไอทีที่ได้ลงทุนไว้แล้ว
  • รักษาประสิทธิภาพของดาต้าเซ็นเตอร์: ธุรกิจในวันนี้กำลังเผชิญกับแรงกดดันที่บีบให้ต้องออโตเมทส่วนงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยสภาพแวดล้อมการทำงานหนึ่งเดียวของ IBM Spectrum Virtualize ที่สตอเรจ IBM Flash System ใช้เป็นรากฐานนั้น สามารถช่วยทำให้การดำเนินงานง่ายขึ้น และทำให้การจัดการข้อมูลเป็นไปแบบอัตโนมัติ
การสนับสนุนทางเทคนิคที่ง่ายและเป็นมาตรฐาน
IBM Storage Expert Care นำเสนอบริการที่ยืดหยุ่นและปรับเป็นพิเศษสำหรับการบำรุงรักษาIBM Flash System โดยลูกค้าสามารถเลือกระดับ Basic, Advanced หรือ Premium ณ​ ตอนที่ซื้อ IBM Flash System 7300 หรือ 9500 ซึ่งจะช่วยลดปัญหาจากช่วงเวลาที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าและขณะเดียวกันก็ปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้เหมาะสม ช่วยให้เจ้าหน้าที่ไอทีหันไปมุ่งเน้นที่ภารกิจสำคัญอื่นๆ ได้แทน
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://www.ibm.com/storage
Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

5 เทรนด์ AI ที่ต้องจับตาปี 2565

1. AI จะต่อยอดศักยภาพ 5G  
5G มีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ตั้งแต่การสตรีมมิ่ง การสื่อสาร ไปจนถึงเรื่องของหุ่นยนต์ก้าวล้ำและงานสายการผลิต
5G เป็นจุดที่พลังสองอย่างมาบรรจบกัน คือการสื่อสารภายใต้แบนด์วิดธ์สูงที่มีความเสถียร และการกระจายพลังคอมพิวติ้งอย่างรวดเร็วทั่วทั้งเครือข่าย
ความสลับซับซ้อนของระบบเครือข่ายโทรคมนาคมในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดการและควบคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เห็นได้ชัดว่าเครื่องมือ ระบบ และวิธีการจัดการเครือข่ายในปัจจุบันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ระบบเครือข่ายในอนาคต
เพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อระบบ 5G ทั่วโลก ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร (CSP) จะหันมาใช้ระบบออโตเมชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI และ network orchestration เพื่อช่วยเสริมการควบคุมและบริหารจัดการเครือข่าย อันจะนำสู่การมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นวัตกรรมอย่างการแบ่งส่วนเครือข่าย จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดระดับการให้บริการสำหรับอุปกรณ์แต่ละอย่างได้เหมาะสมกับการใช้งานในเครือข่ายของตน ตัวอย่างเช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสามารถใช้เครือข่ายที่มีเวลาแฝงต่ำมากได้ ในขณะที่กล้องวิดีโอHD ต้องการแบนด์วิดธ์ที่สูง
2. AI จะสร้างอนาคตที่เชื่อถือได้และยั่งยืน
ในทางหนึ่ง ผู้บริโภค หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล และผู้ถือหุ้น ต่างกำลังกดดันให้บริษัทต่างๆ ทำผลกำไรภายใต้ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และในอีกทาง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศอันเลวร้ายก็กำลังสร้างแรงกดดันให้กับระบบซัพพลายเชนและการดำเนินธุรกิจ ความตึงเครียดเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และ AI จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจผ่านเกณฑ์ชี้วัดด้านความยั่งยืน ทั้งในแง่การวัดผล การรวบรวมข้อมูล และการทำบัญชีคาร์บอน รวมถึงการทำให้การคาดการณ์และความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวของระบบซัพพลายเชนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
42% ของ CIO ที่สำรวจในการศึกษา CIO Study ล่าสุด มองว่า AI และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ จะส่งผลต่อความยั่งยืนมากที่สุดในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยกระทบอื่นๆ ที่สำรวจ ทั้งระบบบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ที่ช่วยลดความจำเป็นในการเปลี่ยนชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ระบบ AI ที่วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของพายุและไฟป่า และอื่นๆ อีกมากมาย จะเข้ามีบทบาทสำคัญในการช่วยองค์กรรับมือกับเหตุสภาพอากาศเลวร้ายที่จะเพิ่มขึ้น
บริษัทต่างๆ จะหันมาให้ความสนใจกับการลดปัญหาการหยุดชะงักของซัพพลายเชนมากขึ้น โดยจะลงทุนในระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อทำให้ระบบพื้นฐานที่รองรับระบบคอมเมิร์ซต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลจาเซ็นเซอร์,แท็ก RFID, มิเตอร์, แอคทูเอเตอร์, GPS ฯลฯ จะช่วยให้ระบบ inventory สามารถตรวจสอบสินค้าคงคลังได้เอง ขณะที่ตู้คอนเทนเนอร์จะสามารถตรวจดูของที่อยู่ด้านในได้ และพาเลทต่างๆ ก็จะรายงานแจ้งได้เองหากว่าถูกวางผิดที่
3. ธุรกิจจะลดต้นทุน โดยใช้ AI ช่วยคาดการณ์ปัญหาระบบไอทีก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นจะเกิด
ในปี 2564 ผู้บริหารด้านไอที ในฐานะผู้ดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขององค์กร มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการการทำงานระยะไกลของพนักงานและรับมือกับปัญหาด้านซิเคียวริตี้รูปแบบใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากแอพพลิเคชันยุคใหม่ รวมถึงการมอนิเตอร์โซลูชันและการใช้ช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นของพนักงานและผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้ทำให้องค์กรเริ่มมองถึงการนำออโตเมชันมาใช้มากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสนใจในการนำ AI เข้ามาช่วยคาดการณ์ปัญหาของระบบไอทีมากขึ้น อันนำสู่เทคโนโลยีที่เรียกว่า AIOps
AIOps ช่วยให้ฝ่ายไอทีขององค์กรสามารถบริหารจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความซับซ้อนได้ในเชิงรุก และอาจช่วยให้องค์กรรักษาเงินหลักล้านที่ต้องสูญเสียหากเกิดปัญหาขึ้น ในปี 2565 AIOps จะช่วยให้ทีมไอทีสามารถวินิจฉัยปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมั่นใจ มากกว่าการทำแบบแมนวลแบบเดิมที่ทีมต้องเสียเวลามากมาย ซึ่งจะทำให้ทีมไอทีสามารถหันมามุ่งเน้นที่งานที่สร้างคุณค่ามากขึ้นได้ นอกจากนี้ AIOps ยังจะช่วยให้ทีมไอทีสามารถระบุแพทเทิร์นของข้อมูลเพื่อบ่งชี้และคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้สามารถทราบปัญหาระบบไอทีล่วงหน้าก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นจะเกิดขึ้น
4. งาน Customer Care จะใช้ AI เพื่อให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคลยิ่งขึ้น
ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปีที่ผ่านมา ผู้ช่วยเวอร์ชวลได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กรขนาดใหญ่และหน่วยงานภาครัฐ ไม่เพียงเฉพาะในแง่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่เรายังเริ่มเห็นการผสานรวมออโตเมชันเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้ผู้ช่วยเวอร์ชวลเหล่านี้สามารถจัดการเวิร์คโฟลว์และงานต่างๆ ได้จนเสร็จสมบูรณ์ ดังตัวอย่างของการจองนัดหมายเพื่อรับวัคซีน เป็นต้น ในปี 2565 ผู้บริโภคจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับร้านค้าและผู้ให้บริการที่พวกเขาชื่นชอบมากขึ้น ในลักษณะที่มีความเฉพาะบุคคลมากขึ้น
อีกสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ AI เข้ามามีบทบาทในงานดูแลลูกค้ามากขึ้น คือการที่ AI สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความครอบคลุมได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากบริษัทและหน่วยงานภาครัฐเริ่มหันมาใช้สถาปัตยกรรม data fabric เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีมากขึ้น
5. การโฟกัสเรื่องซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง 
ก่อนที่จะสามารถนำ AI เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้ บริษัทและองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความไว้วางใจของผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในหลายมิติ ตั้งแต่ความสามารถในการอธิบายที่มาของการตัดสินใจของ AI ได้ ไปจนถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาจะได้รับการปกป้องจากภัยไซเบอร์ต่างๆ ในขณะที่บริษัทและหน่วยงานภาครัฐยังคงเดินหน้าลงทุนในด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง AI เองก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และตอบสนองต่อภัยคุกคาม ภายใต้ก้าวย่างสู่แนวทาง “zero trust” ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น

# # #

*ข้อมูล 5 เทรนด์ AI ที่ต้องจับตาในปี 2565 โดยสุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ผลสำรวจไอบีเอ็มชี้ การใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและอีเวนท์มีศักยภาพฟื้นตัว จุดจบของฤดูกาลการจับจ่ายใช้สอยแบบเดิม

การกลับมาใช้ชีวิตในสังคมตามปกติของผู้บริโภคที่สำรวจจำนวนมาก ล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากความล่าช้าของการฉีดวัคซีนและมาตรการด้านความปลอดภัย

กรุงเทพฯ​ ประเทศไทย – 2 พ.ย. 2564: ผลการศึกษาผู้บริโภคทั่วโลกล่าสุด ที่เผยแพร่โดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม หรือ IBV พบกลุ่มที่สำรวจรู้สึกรื่นเริงใจกับเทศกาลวันหยุดปี 2564 มากกว่าปีที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อย และกำลังจัดสรรงบประมาณที่สูงขึ้นสำหรับการเดินทางและการทำกิจกรรมในประเทศ อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 กำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางการกลับมาจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลวันหยุด

กลุ่มที่สำรวจเกือบสามในสี่รายกล่าวว่า พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โดยสามในห้ารายรู้สึกกังวลที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัว ขณะที่กลุ่มที่สำรวจมากกว่าครึ่งรู้สึกเป็นกังวลที่จะใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยงบจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดยังคงต่ำกว่าปี 2562 ถึงร้อยละ 13 อย่างไรก็ตาม มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคที่สำรวจร้อยละ 87 ยังระบุว่าพวกเขาอาจจับจ่ายซื้อของในช่วงวันหยุดปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นหกจุดเมื่อเทียบกับปี 2563

“ผู้นำอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุด อาจเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา และในแบบที่ลูกค้าต้องการ” นายโจนาธาน ไรท์ หุ้นส่วนผู้จัดการและรองประธานระดับโลกด้านการให้คำปรึกษาด้านซัพพลายเชนของ IBM Consulting กล่าว “จากผลการศึกษา กลุ่มที่สำรวจยังคงเรียกร้องให้มีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยต่อไปสำหรับกิจกรรมที่ต้องสัมผัสกัน รวมถึงการปฏิบัติตามข้อกำหนดรูปแบบใหม่ๆ เช่น การรับสินค้าแบบไม่มีการสัมผัส การจัดส่งสินค้าภายในวันเดียวกัน การจัดส่งจากร้านค้า การซื้อของออนไลน์ การรับของที่ร้าน เป็นต้น การนำปัญญาประดิษฐ์ ระบบออโตเมชันอัจฉริยะ และอนาไลติกส์เข้ามาใช้ทั่วทั้งองค์กร จะทำให้ธุรกิจปรับตัวได้มากขึ้น สามารถตอบสนอง ปรับเปลี่ยน และสเกลได้อย่างรวดเร็ว เหล่านี้อาจเป็นปัจจัยสำคัญเมื่อถึงเวลาของการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลวันหยุดยาว”

ส่วนหนึ่งของผลการสำรวจที่น่าสนใจ ยังมีดังนี้

คนเริ่มจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลวันหยุดเร็วขึ้น

บรรดานักช็อปช่วงเทศกาลวันหยุดกังวลเกี่ยวกับปัญหาสินค้าขาดสต็อก โดยกลุ่มที่สำรวจมากกว่าหนึ่งในสี่รายได้เริ่มช็อปตั้งแต่เดือนกันยายนหรือก่อนหน้านั้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถซื้อทุกอย่างที่ต้องการได้ครบ กลุ่มที่สำรวจยังวางแผนที่จะเริ่มซื้อของกันในเดือนตุลาคม ซึ่งมีจำนวนมากกว่าถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเพียงไม่ถึงครึ่งของผู้บริโภคที่สำรวจ วางแผนที่จะเริ่มต้นการซื้อของช่วงก่อนเริ่มต้นเทศกาล “Black Friday” ในสหรัฐอเมริกา

การช็อปปิ้งออนไลน์ยังครองแชมป์

การช็อปปิ้งออนไลน์ยังมีแนวโน้มที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำในช่วงเทศกาลวันหยุดนี้ สถิติดังกล่าวเป็นที่น่าสังเกตเมื่อเทียบกับข้อมูลจาก IBV ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่พบว่าร้อยละ 73 ของนักช็อปที่สำรวจมีความต้องการและคาดว่าจะกลับมาใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน แต่ในท้ายที่สุด มีผู้บริโภคที่สำรวจเพียงร้อยละ 36 ที่กล่าวว่าพวกเขาวางแผนซื้อสินค้าในร้านค้าจริง โดยร้อยละ 43 วางแผนที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องด้วยความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่และสายพันธุ์ใหม่ของโควิด-19

การเดินทางในช่วงวันหยุด รวมถึงประสบการณ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาจฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 2564

กลุ่มผู้บริโภคที่สำรวจคาดการณ์ว่าการเดินทางจะเป็นกิจกรรมที่ใช้สัดส่วนงบประมาณสำหรับเทศกาลวันหยุดในภาพรวมมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.2 จากร้อยละ 5.7 ในปี 2563 แม้ว่าจะยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าปี 2562 แต่กลุ่มที่สำรวจเกือบร้อยละ 40 บอกว่าพวกเขามีแผนที่จะเดินทางไปพบครอบครัวและบรรดาเพื่อนๆ ในช่วงวันหยุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28 ในปีที่แล้ว งบสำหรับการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มปรับขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีการใช้งบประมาณด้านที่พักและการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศสูงกว่างบประมาณการเดินทางทางอากาศและที่พักอาศัยภายในประเทศ การออกไปเที่ยวและกิจกรรมในท้องถิ่น การออกนอกบ้านและกิจกรรมในท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหารนอกบ้าน อาจเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 โดยผู้บริโภคที่สำรวจวางแผนที่จะใช้จ่ายในเรื่องนี้มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 30

ผู้บริโภคยังคงห่วงเรื่องความยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลวันหยุดนี้ โดยผู้บริโภคสี่ในห้ารายที่สำรวจกล่าวว่าพวกเขาอาจพิจารณาถึงความยั่งยืนในระดับหนึ่ง เวลาที่เลือกซื้อของในช่วงวันหยุดปีนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของปีที่แล้ว ที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้วางแผนที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนด้วยการหลีกเลี่ยงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหันมาซื้อของในท้องถิ่น หรือซื้อผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น หรือที่ผลิตในท้องถิ่นให้มากขึ้น 

ดูผลการศึกษาฉบับเต็มได้ที่ https://www.ibm.com/thought-leadership/institute-business-value/report/2021-holiday-shopping-travel-outlook 

เกี่ยวกับสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม
สถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ให้ข้อมูลเชิงลึกทางธุรกิจที่เชื่อถือได้ภายใต้จุดยืนในการผสานรวมเทคโนโลยีและธุรกิจเข้าด้วยกัน โดยรวบรวมความเชี่ยวชาญจากบรรดานักคิดในอุตสาหกรรมต่างๆ นักวิชาการแถวหน้า และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ พร้อมด้วยข้อมูลจากการวิจัยและผลการปฏิบัติงานทั่วโลก thought leadership ของ IBV ครอบคลุมถึงข้อมูลเจาะลึกจากการวิจัย การเปรียบเทียบมาตรฐานและผลการปฏิบัติงาน รวมถึงการสร้างแผนภาพข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจทางธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาคต่างๆ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ติดตาม @IBMIBV บน Twitter และรับข้อมูลเชิงลึกล่าสุดได้ทางอีเมล โดยไปที่ www.ibm.com/ibv


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

‘ไอบีเอ็ม’ จับมือ ‘แอคคลิวิส’ ขยาย IBM Cloud Satellite ทั่วทั้งเอเชีย เร่งเครื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล

นนี้ แอคคลิวิส เทคโนโลยี แอนด์โซลูชันส์ หรือแอคคลิวิส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซิติก เทเลคอม อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (1883: HK) ที่จดทะเบียนในฮ่องกง และไอบีเอ็ม (NYSE: IBM)  ได้ประกาศความร่วมมือในการนำ IBM Cloud Satellite มาใช้ทั่วทั้งเอเชีย โดยแอคคลิวิสและไอบีเอ็มจะร่วมมือกันนำศักยภาพของไฮบริดคลาวด์ เข้าช่วยให้องค์กรโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ให้สามารถเร่งสร้างนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมช่วยลูกค้าให้ดำเนินงานภายใต้อธิปไตยทางข้อมูลและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่กำกับดูแลอยู่
ในขณะที่สถาบันการเงินต่างเดินหน้าขยายบริการเพื่อสนับสนุนลูกค้าและก้าวข้ามดิสรัปชันอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง การตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างเข้มงวดก็ได้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อปกป้องข้อมูลผู้บริโภคและกำกับให้เป็นไปตามกฎระเบียบด้านอธิปไตยข้อมูล ความจำเป็นในการประมวลผลข้อมูลที่ละเอียดอ่อน ณ จุดที่ข้อมูลเกิดขึ้น โดยไม่ต้องย้ายข้อมูลข้ามพรมแดน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นตอนที่ใช้ทั่วโลก เหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ต่อจากนี้ไป แอคคลิวิสจะสามารถใช้ IBM Cloud Satelliteเพื่อขยายการให้บริการต่างๆ อาทิ IBM Watson ไปสู่กลุ่มลูกค้าดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อนำเครื่องมือการวิเคราะห์ขั้นสูงเข้าไปยังจุดที่ข้อมูลเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจค้าปลีกจะสามารถใช้บริการ IBM Watson ผ่าน IBM Cloud Satellite ที่จุดประมวลผลเอ็ดจ์ในร้านค้าต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากหน้าร้าน และนำมาใช้ในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง รวมถึงการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ได้อย่างทันทีในเวลาที่ลูกค้าต้องการ
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ไอบีเอ็มจะใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูลระดับภูมิภาคของแอคคลิวิสในฮ่องกง สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อโฮสต์และจัดการข้อมูลให้เป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับด้านข้อมูลที่กำกับดูแลอยู่
ปัจจุบันธุรกิจฟินเทคแห่งหนึ่งของอินโดนีเซียได้เริ่มนำ IBM Cloud Satellite เข้าไปช่วยในการผนวกรวมเครื่องมือพอร์ทัลการบริหารจัดการและกระบวนการต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยระบบดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแซนด์บ็อกซ์ให้กับอุตสาหกรรมฟินเทคในระดับภูมิภาค ช่วยให้สามารถย้ายเวิร์คโหลดที่เอ็ดจ์และส่งมอบประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นยิ่งขึ้นให้กับลูกค้า ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถให้บริการที่คุ้มค่าแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงปัญหาจากการไม่ปฏิบัติมาตรฐานตามกฎข้อบังคับต่างๆ ที่มักทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
ความร่วมมือครั้งนี้จะรวมจุดแข็งของไอบีเอ็มในการให้บริการไฮบริดคลาวด์แบบเปิดที่ปลอดภัยสำหรับองค์กร เข้ากับเครือข่ายดาต้าเซ็นเตอร์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วทั้งภูมิภาคของแอคคลิวิส นำสู่บริการคลาวด์แบบเปิดที่มีความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าในภูมิภาค ภายใต้การผนึกศักยภาพของ IBM Cloud Satellite เข้ากับเครือข่ายดาต้าเซ็นเตอร์จำนวนมากของแอคคลิวิส
IBM Cloud Satellite ช่วยให้องค์กรสามารถใช้บริการ IBM Cloud ได้อย่างปลอดภัยไม่ว่าข้อมูลจะอยู่บนสภาพแวดล้อมแบบใด ทั้งที่เอ็ดจ์ ภายในองค์กร หรือกระจายอยู่บนคลาวด์สาธารณะหลายแห่ง โดยระบบได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการคลาวด์ได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยในทุกสภาพแวดล้อม
แอคคลิวิสเป็นหนึ่งในพันธมิตรในอีโคซิสเต็มของไอบีเอ็ม ที่ช่วยลูกค้าบริหารจัดการและปรับปรุงเวิร์คโหลดให้ทันสมัยบนสภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ ตั้งแต่ระบบเมนเฟรมไปจนถึงเอดจ์ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Red Hat OpenShift ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคูเบอร์นิทีสระดับองค์กรที่เป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรม IBM Cloud Satellite ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าสามารถรันแอพพลิเคชันได้อย่างยืดหยุ่นในทุกสภาพแวดล้อมที่มีข้อมูลอยู่ พร้อมสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ บน IBM Cloud ได้ด้วย
นายมาร์คัส เฉิง ซีอีโอของแอคคลิวิส กล่าวว่า “การร่วมงานกับไอบีเอ็มมาอย่างยาวนาน และในฐานะที่เป็นบริษัทในระดับภูมิภาคที่มีฐานลูกค้าในวงกว้างทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถนำ IBM Cloud Satellite เข้าช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับพอร์ทโฟลิโอบริการคลาวด์ในเซ็กเมนต์ดาต้าเซ็นเตอร์โฮสติ้งของเราได้ เมื่อผนวกรวมกับศักยภาพการเชื่อมต่อที่ราบรื่นไม่มีสะดุดที่ให้บริการโดยแปซิฟิค อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเรา และแพลตฟอร์ม Managed Services ระบบออโตเมชันที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถปรับเวิรค์โฟลว์ให้เป็นดิจิทัลและมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น เหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้าองค์กรที่สร้างและบริหารจัดการระบบคลาวด์กับเราจะได้รับประโยชน์จากเวลาแฝงที่ลดลง และประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้น”
“วันนี้ไอบีเอ็มจับมือกับอีโคซิสเต็มพันธมิตรที่มีมากกว่า 65 ราย เพื่อเดินหน้าสร้างบริการระบบคลาวด์ที่ปลอดภัย ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถรันเวิร์คโหลดได้ในทุกสภาพแวดล้อมผ่านIBM Cloud Satellite ขณะที่แอคคลิวิส ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีขององค์กรและหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานจำนวนมากที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ก็มีดาต้าเซ็นเตอร์กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค เหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเร่งขยายการใช้งานของลูกค้า สัมพันธภาพกับแอคคลิวิสในครั้งนี้จะนำสู่ความรวดเร็ว ความปลอดภัย และประสิทธิภาพที่ลูกค้ามองหา” นายเรย์มอนด์ วอง IBM Cloud Platform Leader ของภูมิภาคอาเซียน กล่าว
ด้วยเป้าหมายร่วมกันในการสนับสนุนความต้องการของลูกค้า ไอบีเอ็มและแอคคลิวิสจะเดินหน้าต่อเนื่องในการส่งมอบโซลูชั่นระบบคลาวด์แบบบูรณาการ และเร่งสร้างนวัตกรรมดิจิทัลทั่วเอเชียแปซิฟิค
Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

The Weather Company ของไอบีเอ็ม รั้งแชมป์ผู้ให้บริการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำที่สุดในโลกต่อเนื่อง

ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) และ The Weather Company บริษัทในเครือ ซึ่งรวมถึง The Weather Channel ได้รับเลือกเป็น “ผู้ให้บริการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำที่สุดในโลก” โดย ForecastWatch หน่วยงานชั้นนำที่ทำหน้าที่ประเมินความแม่นยำของการพยากรณ์อากาศ

ในการศึกษาล่าสุด Global and Regional Weather Forecast Accuracy Overview, 2017-2020เกี่ยวกับความแม่นยำด้านการพยากรณ์อากาศiiที่สนับสนุนโดยไอบีเอ็ม ForecastWatch ได้ยกให้ The Weather Company ของไอบีเอ็ม เป็นผู้ให้บริการพยากรณ์อากาศที่มีผลการพยากรณ์โดยรวมแม่นยำที่สุดทั่วโลก เมื่อสรุปรวมจากการเปรียบเทียบภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ทั้งหมดในช่วงเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่าระยะห่างเรื่องความแม่นยำระหว่าง The Weather Company (ซึ่งในรายงานระบุว่าเป็น The Weather Channel) และผู้ให้บริการที่ได้รับการจัดอันดับรองลงไป เพิ่มขึ้นในทุกปีที่ศึกษา

“ข้อมูลพยากรณ์จะเป็นประโยชน์ที่สุดก็ต่อเมื่อมาจากแหล่งที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือได้ และความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลก็เป็นรากฐานที่เรามุ่งมั่นพัฒนาเพื่อช่วยให้ลูกค้า ผู้บริโภค และนักการตลาด สามารถทำการตัดสินใจที่สำคัญๆ ในแต่ละวันได้” เชรี่่ บัคสไตน์ ซีอีโอ The Weather Company และกรรมการผู้จัดการ IBM Watson Advertisingกล่าว “การศึกษาตอกย้ำให้เห็นความมุ่งมั่นของไอบีเอ็มในการช่วยพัฒนาวิทยาศาสตร์การพยากรณ์สภาพอากาศให้รุดหน้า โดยอาศัยนวัตกรรมเอไอ ข้อมูล คลาวด์คอมพิวติ้ง ที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

เกี่ยวกับรายงาน Global and Regional Weather Forecast Accuracy Overview, 2017-2020
รายงานนี้เป็นการศึกษาความแม่นยำของการพยากรณ์อากาศที่ครอบคลุมระยะเวลา 4 ปี จากโลเคชัน 1,424 จุด ใน 8 ภูมิภาคทั่วโลก ด้วยเมทริกซ์ความแม่นยำ 84 แบบ อาทิ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ การปกคลุมของเมฆ และตัวแปรการพยากรณ์ลม เป็นต้น โดย ForecastWatch ได้วิเคราะห์ข้อมูลพยากรณ์ประมาณ 140 ล้านรายการ จากผู้ให้บริการพยากรณ์สภาพอากาศต่างๆ 17 ราย โดยผู้ให้บริการแต่ละรายจะได้รับการบันทึกคะแนนเมื่อเสร็จสิ้นแต่ละเมทริกซ์ รายงานระบุว่า “The Weather Channel สร้างสถิติจบด้วยอันดับที่หนึ่งมากที่สุดทั่วโลกในทุกปีและทุกช่วงเวลา” เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการอื่นๆ

การพยากรณ์ของ The Weather Company ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยไอบีเอ็ม และเผยแพร่ผ่าน IBM Cloud ผ่านแอพ The Weather Channel และ weather.com, แอพ Weather Underground และ wunderground.com รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสภาพอากาศสำหรับลูกค้าองค์กรของไอบีเอ็ม

ไฮไลต์สำคัญและข้อค้นพบของรายงานที่เปรียบเทียบผู้ให้บริการพยากรณ์อากาศยังระบุว่
• The Weather Company เป็นผู้ให้บริการพยากรณ์อากาศโดยรวมที่แม่นยำที่สุดทั่วโลก
• The Weather Company มีแนวโน้มที่จะมีความแม่นยำมากกว่าผู้ให้บริการรายอื่นที่ศึกษาถึง 3.5 เท่าi
• ระยะห่างเรื่องความแม่นยำระหว่าง The Weather Company และผู้ให้บริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นในทุกปีที่ศึกษาiii
• The Weather Company เป็นผู้ให้บริการที่แม่นยำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบในแต่ละภูมิภาค ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียแปซิฟิกiii

ที่สุดแห่งความแม่นยำที่พัฒนาขึ้นจากวิทยาศาสตร์ เอไอและเทคโนโลยี
ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือที่สำคัญสูงสุด ที่ช่วยให้นักอุตุนิยมวิทยาทำความเข้าใจดาต้าพอยท์ของข้อมูลสภาพอากาศที่ไร้โครงสร้างนับพันล้านพอยท์จากดาวเทียม เซ็นเซอร์ภาคพื้นดิน เรดาร์ และอื่นๆ โดยอัลกอริธึมแมชชีนเลิร์นนิงขั้นสูงและพลังประมวลผลจากไอบีเอ็มช่วยให้นักอุตุนิยมวิทยาของ The Weather Company สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อจำลองสภาพบรรยากาศและคาดการณ์พยากรณ์อากาศได้ดีขึ้น

การลงทุนและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องของไอบีเอ็มได้ช่วยให้ทีมนักอุตุนิยมวิทยาและผู้เชี่ยวชาญสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้ The Weather Company เป็นผู้นำในด้านความแม่นยำโดยรวมได้ เช่น
• เอ็นจินการพยากรณ์ที่ใช้เอไอเพื่อรวมข้อมูลจากแบบจำลองการพยากรณ์เกือบ 100 โมเดลทั่วโลก โดยอาศัยปัจจัยที่มีน้ำหนักจากแต่ละแบบจำลองตามภูมิศาสตร์ เวลา ประเภทของสภาพอากาศ และความแม่นยำของการพยากรณ์ล่าสุด จากนั้นระบบจะผนวกความมีน้ำหนักจากปัจจัยเหล่านั้นเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ผลสังเคราะห์การพยากรณ์หนึ่งเดียวซึ่งให้ความแม่นยำมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับสถานที่นั้นๆ โดยทำการพยากรณ์ได้แบบ on-demand
• ความก้าวหน้าของการพยากรณ์อากาศทั่วโลกครั้งสำคัญที่มาพร้อมกับการเปิดตัว IBM GRAF (Global High-Resolution Atmospheric Forecasting) เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นโมเดลจำลองสภาพอากาศทั่วโลกที่มีการอัพเดตรายชั่วโมงเป็นครั้งแรก สามารถทำนายสิ่งที่มีขนาดเล็กอย่างพายุฝนฟ้าคะนองได้
• ความเป็นผู้นำด้านเรดาร์ระดับโลกอันเป็นผลมาจากการผสานข้อมูลและเทคโนโลยีเรดาร์ตรวจสภาพอากาศเอไอระดับใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• การประเมินสภาพอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้แบบ on-demand ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ The Weather Company
• ความก้าวล้ำในการผสานเนื้อหาด้านสภาพอากาศเข้ากับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเอไอและนักพยากรณ์มนุษย์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีกรรมสิทธิ์ ที่ถูกเรียกว่าการพยากรณ์แบบ “human over the loop”

ความแม่นยำในการพยากรณ์ เป็นข้อมูลเชิงลึกให้ธุรกิจ ประชาชน และนักการตลาด
The Weather Company เป็นผู้ให้บริการด้านสภาพอากาศชั้นนำของโลกivที่ส่งมอบข้อมูลพยากรณ์มากกว่า 25,000 ล้านรายการไปยังอุปกรณ์มากกว่าสองพันล้านชิ้นในแต่ละวัน โดย The Weather Channel ได้รับการจัดอันดับให้เป็นแบรนด์ผู้บริโภคที่น่าเชื่อถือที่สุดห้าอันดับแรกในสหรัฐอเมริกาvขณะที่แอพ The Weather Channel ก็ได้รับรางวัลแอพสภาพอากาศนานาชาติประจำปี 2563 ขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกในด้านความมีประโยชน์ ความน่าเชื่อถือ และคุณภาพของข้อมูลvi

ความถูกต้องของการพยากรณ์ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านสภาพอากาศของไอบีเอ็มมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยไม่เพียงช่วยให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลที่แม่นยำ แต่ยังเป็นเครื่องมือเอไอให้กับนักการตลาดผ่านช่องทาง IBM Watson Advertising และเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ลูกค้าในทุกอุตสาหกรรมสามารถเตรียมพร้อมและรับมือสภาพอากาศต่างๆ ได้

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ The Weather Company ซึ่งเป็นธุรกิจของไอบีเอ็ม สามารถดูได้ที่ https://newsroom.ibm.com/the-weather-companyสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอบีเอ็ม สามารถดูได้ที่ IBM.com


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

Amadeus ผนึก IBM Digital Health Pass เข้ากับเทคโนโลยีตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลสุขภาพดิจิทัล

กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 23 กรกฎาคม 2564: ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) และอะมาดิอุส (MCE: AMS) ประกาศถึงความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายที่บริษัทด้านการเดินทางท่องเที่ยวต้องเผชิญในปัจจุบัน ซึ่งก็คือการตรวจสอบและเช็คความถูกต้องของเอกสารด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับโควิด-19 ของนักเดินทาง ณ จุดตรวจต่างๆ 

ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว จะมีการผนวกรวม IBM Digital Health Pass เข้ากับ Traveler ID for Safe Travel ซึ่งเป็นโซลูชันตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องด้านสุขภาพดิจิทัลของอะมาดิอุส ทำให้สายการบินต่างๆ สามารถรวมเอกสารรับรองสุขภาพดิจิทัลต่างๆ เข้ากับระบบสำรองที่นั่งและจองที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้ และเปิดให้ผู้โดยสารของสายการบินมีทางเลือกในการสแกนหรืออัพโหลดเอกสารรับรองสุขภาพของตนได้ 

เมื่อผู้โดยสารผ่านกระบวนการออนไลน์เช็คอิน ระบบ Traveler ID for Safe Travel จะตรวจสอบคุณสมบัติที่ต้องมีตามกฎระเบียบของประเทศปลายทาง เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ระบบจะเปิดให้ผู้โดยสารเลือกได้ว่าจะสร้างใบรับรองโควิด-19 แบบดิจิทัลที่มีความปลอดภัย โดยการสแกนจากเอกสารที่เป็นกระดาษ หรือจะเลือกอัพโหลดเอกสารดิจิทัลจากโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ 

จากนั้น ใบรับรองโควิด-19 แบบดิจิทัลเหล่านี้จะได้รับการตรวจสอบความถูกต้องโดย IBM Digital Health Pass ที่ใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสและบล็อกเชนในการรับรองความถูกต้องของใบรับรองโควิด-19 แบบดิจิทัล กับอีโคซิสเต็มของห้องแล็บ ศูนย์ฉีดวัคซีน และผู้ให้บริการด้านเฮลธ์แคร์ทั่วโลก เมื่อเรียบร้อยแล้ว สายการบินจะได้รับการแจ้งสถานะเพื่อยืนยันว่าผู้โดยสารดังกล่าวพร้อมขึ้นครื่องบินได้ โดยวิธีการที่มีความปลอดภัยนี้จะช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้โดยสาร เพราะเป็นการตรวจสอบว่าเงื่อนไขตามข้อกำหนดการเข้าประเทศนั้นๆ โดยที่สายการบิน ไอบีเอ็ม และอะมาดิอุส ไม่ได้จัดเก็บข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลใดๆ  

“ในวันที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ข้อกำหนดการเข้าประเทศก็ยังคงแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ ยังไม่นับความจำเป็นในการตรวจสอบเอกสารด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับโควิด-19 ที่ทำให้เกิดความล่าช้าระหว่างการเดินทาง ทั้งต่อสายการบินและผู้ให้บริการอื่นๆ” นายเกร็ก แลนด์  Travel and Transportation Industry Lead ของไอบีเอ็ม กล่าว “การผนวกรวมระบบ IBM Digital Health Pass เข้ากับระบบ Traveler ID for Safe Travel ของอะมาดิอุส ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สายการบินสามารถเพิ่มเทคโนโลยีแบบเปิดเหล่านี้เข้ากับโซลูชันดิจิทัลที่มีอยู่แล้วได้ ซึ่งจะช่วยให้ระบบความปลอดภัยของสายการบินเป็นไปตามข้อกำหนดการเข้าประเทศต่างๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่นไม่มีสะดุดด้วย”


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ผลสำรวจไอบีเอ็มชี้ การพึ่งช่องทางดิจิทัลมากขึ้นในช่วงโควิดระบาด กระทบไซเบอร์ซิเคียวริตี้ยาวนานต่อเนื่องเกินคาด

กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 15 มิถุนายน 2564: วันนี้ IBM Security ประกาศผลสำรวจทั่วโลกเกี่ยวกับพฤติกรรมทางดิจิทัลของผู้บริโภคในช่วงการแพร่ระบาด รวมถึงผลกระทบระยะยาวด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ พบสังคมคุ้นชินกับการปฏิสัมพันธ์ผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยผู้ที่สำรวจเลือกความสะดวกมากกว่าที่จะใส่ใจเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว นำสู่การกำหนดพาสเวิร์ดและพฤติกรรมด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ที่หละหลวม

ความหละหลวมด้านการรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภค ผนวกกับการการเร่งเดินหน้าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างรวดเร็วของธุรกิจในช่วงโควิด อาจกลายเป็นการเพิ่มโอกาสในการโจมตีอุตสาหกรรมต่างๆ ให้กับอาชญากรไซเบอร์ ตั้งแต่การโจมตีแบบแรนซัมแวร์ไปจนถึงการขโมยข้อมูล ข้อมูลจาก IBM Security X-Force ระบุว่าพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ไม่เหมาะสมในด้านการรักษาความปลอดภัย ยังอาจถูกนำไปใช้ในที่ทำงานและอาจนำไปสู่เหตุด้านซิเคียวริตี้ที่ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก โดยการตั้งค่าประจำตัวผู้ใช้ที่ไม่เป็นไปตามคำแนะนำด้านความปลอดภัย กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการโจมตีไซเบอร์ในปี 2563 [1]

การสำรวจผู้บริโภค 22,000 คนใน 22 ประเทศทั่วโลก [2] ที่ดำเนินการโดยมอร์นิงคอนซัลท์ ในนามของ IBM Security ได้ระบุถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดที่มีต่อพฤติกรรมด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคไว้ดังนี้

  • การบูมของดิจิทัลจะส่งผลระยะยาว มากกว่าผลลัพธ์ที่การแพร่ระบาดได้ทิ้งเอาไว้: ผู้บริโภคที่สำรวจระบุว่าได้สร้างบัญชีออนไลน์ใหม่เฉลี่ย 15 บัญชีในช่วงการแพร่ระบาด ซึ่งเท่ากับบัญชีใหม่หลายพันล้านบัญชีได้ถูกสร้างขึ้นทั่วโลก โดย 44% ของกลุ่มที่สำรวจไม่มีแผนที่จะลบหรือปิดบัญชีใหม่เหล่านี้ ซึ่งหมายความว่าดิจิทัลฟุตปรินท์ของผู้บริโภคเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นในอีกหลายปีที่จะถึง และกลายเป็นการเพิ่มโอกาสการโจมตีให้กับอาชญากรไซเบอร์
  • การมีบัญชีมากเกินทำให้เหนื่อยหน่ายกับการตั้งพาสเวิร์ด: การเพิ่มขึ้นของบัญชีดิจิทัลนำสู่พฤติกรรมการตั้งพาสเวิร์ดที่หละหลวมของผู้บริโภคที่สำรวจ โดย 82% ยอมรับว่าใช้ข้อมูลยืนยันตัวตนซ้ำบ้างในบางครั้ง ซึ่งหมายความว่าบัญชีใหม่ส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดนั้น น่าจะใช้ชื่ออีเมลและพาสเวิร์ดซ้ำกับที่เคยใช้ก่อนหน้า และอาจเป็นอันเดียวกับที่เคยหลุดรั่วไปแล้วในเหตุข้อมูลรั่วไหลที่ผ่านมา
  • คนให้ค่ากับความสะดวกสบายมากกว่าเรื่องความปลอดภัยและไพรเวซี: มากกว่าครึ่งหนึ่ง (51%) ของกลุ่มมิลเลนเนียลชอบสั่งซื้อสินค้าผ่านแอพหรือเว็บไซต์ที่มีแนวโน้มไม่ปลอดภัย มากกว่าการโทรสั่งหรือไปซื้อที่ร้านด้วยตัวเอง การเน้นความสะดวกในการสั่งซื้อผ่านช่องทางดิจิทัลโดยมองข้ามความปลอดภัย ทำให้ปัญหาด้านความปลอดภัยต้องกลายเป็นภาระของบริษัทที่ให้บริการเหล่านี้ เพราะต้องป้องกันตัวเองจากการฉ้อโกงที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี การที่ผู้บริโภคเน้นการปฏิสัมพันธ์ผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ก็อาจนำสู่การเพิ่มขึ้นของการใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่รูปแบบต่างๆ ด้วยเช่นกัน ตั้งแต่การดูแลสุขภาพระยะไกลหรือเทเลเฮลท์ ไปจนถึงดิจิทัลไอดี [3]

“การแพร่ระบาดส่งผลให้มีบัญชีออนไลน์เพิ่มขึ้นสูงมาก และการที่สังคมเลือกความสะดวกสบายทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ อาจส่งผลต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล” นายชาร์ลส์ เฮ็นเดอร์สัน Global Managing Partner และหัวหน้าทีม IBM Security X-Force กล่าว “เวลานี้องค์กรต่างๆ จะต้องพิจารณาผลกระทบจากการพึ่งพาช่องทางดิจิทัล ที่มีต่อความเสี่ยงด้านซิเคียวริตี้ เมื่อพาสเวิร์ดมีความน่าเชื่อถือน้อยลงเรื่อยๆ วิธีหนึ่งที่องค์กรสามารถนำมาใช้ได้ นอกเหนือจากการยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย คือการเปลี่ยนไปใช้แนวทาง ‘zero trust’ โดยใช้ระบบ AI และการวิเคราะห์ขั้นสูงตลอดกระบวนการ เพื่อระบุภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น แทนที่จะทึกทักเอาว่าสามารถไว้ใจผู้ใช้ได้หากผ่านกระบวนการการยืนยันตัวตนแล้ว”

ผู้บริโภคคาดหวังความง่ายในการเข้าถึง

การสำรวจชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมหลากหลายของผู้บริโภค ที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในขณะที่ผู้คนใช้ประโยชน์จากการปฏิสัมพันธ์ทางดิจิทัลมากขึ้น แต่ก็มีความคาดหวังสูงในเรื่องความสะดวกในการเข้าถึงและใช้งานด้วยเช่นกัน

  • กฎ 5 นาที: จากการสำรวจพบว่า ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ (59%) ต้องการใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีในการสร้างบัญชีดิจิทัลใหม่
  • ครบสามครั้งเลิกทำ: ผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกจะพยายามเข้าสู่ระบบเพียง 3-4 ครั้ง หากไม่สำเร็จจะเริ่มรีเซ็ตพาสเวิร์ดใหม่ การรีเซ็ตพาสเวิร์ดไม่เพียงแต่ทำให้บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ยังอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความปลอดภัยหากเป็นพาสเวิร์ดที่เคยใช้กับบัญชีอีเมลที่เคยถูกแฮ็คแล้ว
  • พึ่งความจำ: 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้วิธีจำข้อมูลบัญชีร้านค้าออนไลน์ (เป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ใช้) ในขณะที่ 32% จดข้อมูลลงบนกระดาษ
  • การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (multi-factor authentication): เมื่อการใช้พาสเวิร์ดซ้ำคือปัญหาที่กำลังเพิ่มขึ้น การเพิ่มปัจจัยในการตรวจสอบสำหรับธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่บัญชีจะถูกบุกรุกได้ การสำรวจพบว่าประมาณสองในสามของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกหันมาใช้การยืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัยภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ทำแบบสำรวจ

ลงลึกช่องทางดิจิทัลเฮลธ์แคร์

ในช่วงการแพร่ระบาด ช่องทางดิจิทัลได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตอบสนองความต้องการวัคซีน รวมถึงการทดสอบและการรักษาโควิด-19 IBM Security วิเคราะห์ว่าการที่ผู้บริโภคใช้ช่องทางดิจิทัลที่หลากหลายในการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 อาจกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลกับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคในการเริ่มใช้งานของกลุ่มผู้ใช้ใหม่ [4] โดยการสำรวจชี้ว่า

  • 63% ของผู้บริโภคเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 [5] ผ่านช่องทางดิจิทัลรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (เว็บ แอพมือถือ อีเมล และข้อความ SMS)  
  • แม้เว็บไซต์และเว็บแอพเป็นช่องทางการเข้าถึงแบบดิจิทัลที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด แต่ก็มีการใช้งานโมบายล์แอพ (39%) และข้อความ (20%) เป็นจำนวนมาก

เมื่อผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพพยายามผลักดันการแพทย์ทางไกล โปรโตคอลด้านความปลอดภัยที่ได้รับการออกแบบให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ก็จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ตั้งแต่การทำให้ระบบไอทีสำคัญๆ สามารถออนไลน์ได้แบบไม่มีสะดุด การปกป้องข้อมูลผู้ป่วยที่มีความละเอียดอ่อน หรือแม้แต่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ HIPAA งานเหล่านี้ครอบคลุมการแบ่งส่วนข้อมูลและการควบคุมที่เข้มงวด เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้เฉพาะระบบและข้อมูลที่กำหนดไว้เท่านั้น รวมถึงเป็นการจำกัดผลกระทบจากบัญชีหรืออุปกรณ์ที่เคยถูกแฮ็ค ในการเตรียมพร้อมสำหรับเหตุแรนซัมแวร์และการโจมตีแบบขู่กรรโชก ข้อมูลผู้ป่วยจะต้องได้รับการเข้ารหัสอยู่ตลอดเวลา และต้องมีระบบการสำรองข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อให้สามารถกู้คืนระบบและข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ระบบเกิดการหยุดชะงักน้อยที่สุด

การปูทางสู่ข้อมูลประจำตัวดิจิทัล

แนวคิดของดิจิทัลเฮลธ์พาส หรือที่เรียกว่าพาสปอร์ตวัคซีน ถือเป็นการปูทางให้ผู้บริโภคได้รู้จักข้อมูลประจำตัวดิจิทัลในโลกการใช้งานจริง โดยเป็นแนวทางบนพื้นฐานของเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบลักษณะเฉพาะของตัวตนของเรา จากการสำรวจพบว่า 65% ของผู้ใหญ่ทั่วโลก กล่าวว่าพวกเขาคุ้นเคยกับแนวคิดของข้อมูลประจำตัวดิจิทัล และ 76% มีแนวโน้มที่จะเริ่มใช้หากเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

การเปิดประตูสู่แนวคิดการพิสูจน์ตัวตนแบบดิจิทัลในช่วงการแพร่รระบาดนี้ อาจช่วยกระตุ้นการยอมรับระบบดิจิทัลไอดีที่ทันสมัยในวงกว้าง ซึ่งมีศักยภาพพอที่จะเข้ามาแทนที่การใช้บัตรประจำตัวรูปแบบเดิมอย่างหนังสือเดินทางและใบขับขี่  โดยเป็นวิธีที่ผู้บริโภคจะสามารถเลือกให้เฉพาะข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกรรมนั้นๆ เท่านั้น แม้การใช้ข้อมูลประจำตัวแบบดิจิทัลจะสร้างโมเดลที่ยั่งยืนสำหรับอนาคต แต่ก็ยังต้องมีมาตรการการรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวเพื่อป้องกันการปลอมแปลง นำสู่ความจำเป็นในการใช้โซลูชันบล็อกเชนเพื่อตรวจสอบและอัพเดทข้อมูลยืนยันตัวตน โดยเฉพาะกรณีที่ข้อมูลถูกแฮ็ค 

องค์กรจะสามารถปรับตัวตามภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนได้อย่างไร

ธุรกิจที่พึ่งพาการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลกับผู้บริโภคมากขึ้นอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาด ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโพรไฟล์ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของตน ในสถานการณ์ที่พฤติกรรมและความชอบของผู้บริโภคกำลังปรับเปลี่ยนรับความสะดวกทางดิจิทัล IBM Security ได้แสดงข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

  • แนวทาง Zero Trust: เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น บริษัทต่างๆ ควรพิจารณาการพัฒนาไปสู่แนวทางการรักษาความปลอดภัยแบบ “zero trust” ซึ่งทำงานภายใต้สมมติฐานที่ว่าผู้ที่ได้รับการยืนยันตัวตนหรือตัวเครือข่ายเองอาจเคยถูกแฮ็คมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบเงื่อนไขการเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้ ข้อมูล และทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดสิทธิ์และความจำเป็นในการเข้าถึง แนวทางนี้กำหนดให้บริษัทต่างๆ รวมศูนย์ข้อมูลและแนวทางการรักษาความปลอดภัยเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายที่จะนำบริบทด้านความปลอดภัยเข้าปกป้องผู้ใช้ทุกคน อุปกรณ์ทุกชิ้น และทุกการปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น
  • การปรับปรุงการบริหารจัดการตัวตนและการเข้าถึง (IAM) ของผู้บริโภคให้ทันสมัย: สำหรับบริษัทที่ต้องการใช้ประโยชน์จากช่องทางดิจิทัลในการสร้างความมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคต่อไป การทำให้กระบวนการยืนยันตัวตนเชื่อมกันแบบไร้รอยต่อเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การลงทุนในกลยุทธ์ Consumer Identity and Access Management (CIAM) ที่ทันสมัย สามารถช่วยให้องค์กรเพิ่มการมีส่วนร่วมทางช่องทางดิจิทัลได้ โดยมอบประสบการณ์การใช้งานอย่างราบรื่นทั่วทั้งแพลตฟอร์มดิจิทัล และใช้การวิเคราะห์เชิงพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงของการใช้บัญชีหลอกลวง 
  • การปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัว: การมีผู้ใช้ผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น หมายความว่าบริษัทก็จะมีข้อมูลผู้บริโภคที่ละเอียดอ่อนที่ต้องปกป้องมากขึ้น ค่าใช้จ่ายจากเหตุข้อมูลรั่วไหลในกลุ่มองค์กรที่ทำการศึกษามีมูลค่าเฉลี่ยกว่า 120 ล้านบาท [6] ดังนั้นองค์กรจึงควรกำหนดการควบคุมความปลอดภัยของข้อมูลอย่างรัดกุมเพื่อป้องกันการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่การมอนิเตอร์ข้อมูลเพื่อตรวจจับกิจกรรมที่น่าสงสัย ไปจนถึงการเข้ารหัสข้อมูลไม่ว่าข้อมูลจะอยู่ที่ไหน องค์กรควรใช้นโยบายความเป็นส่วนตัวที่เหมาะสมทั้งกับระบบภายในองค์กรและบนคลาวด์ เพื่อรักษาความไว้วางใจของผู้บริโภค
  • การทดสอบระบบความปลอดภัย: เมื่อการใช้งานและการพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บริษัทต่างๆ ควรจัดการทดสอบเฉพาะขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ากลยุทธ์และเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่เคยใช้ก่อนหน้ายังคงใช้ได้ในสภาพการณ์ใหม่นี้ การประเมินประสิทธิภาพของการตอบสนองต่อเหตุซ้ำๆ  รวมถึงการทดสอบแอพพลิเคชันเพื่อตรวจสอบช่องโหว่ด้านความปลอดภัย ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของขั้นตอนนี้

เกี่ยวกับ IBM Security
IBM Security นำเสนอหนึ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการด้านความปลอดภัยที่ทันสมัยและครบวงจรที่สุด ผลงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยงานวิจัยของ IBM X-Force® ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก จึงช่วยให้องค์กรสามารถจัดการความเสี่ยงและป้องกันภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไอบีเอ็มบริหารจัดการองค์กรด้านการวิจัย การพัฒนา และการส่งมอบบริการรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยตรวจติดตามเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยกว่า 150,000 ล้านเหตุการณ์ต่อวันในกว่า 130 ประเทศ และได้รับสิทธิบัตรด้านความปลอดภัยมากกว่า 10,000 ฉบับทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดดูที่ www.ibm.com/security ติดตามบน Twitter ได้ที่ @IBMSecurity หรือไปที่ บล็อก IBM Security Intelligence 


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ไอบีเอ็มเผยโฉมชิป 2 นาโนเมตรตัวแรกของโลก ก้าวสำคัญวงการไอที-เซมิคอนดักเตอร์

วันนี้ ไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) ประกาศถึงความก้าวหน้าล่าสุดด้านเซมิคอนดักเตอร์ กับความสำเร็จในการพัฒนาชิปขนาด 2 นาโนเมตร (nm) ตัวแรกของโลก เซมิคอนดักเตอร์มีบทบาทสำคัญในเกือบทุกเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงระบบขนส่ง และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ

ที่ผ่านมา ความต้องการชิปที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ยังคงทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคของไฮบริดคลาวด์ เอไอ และอินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ในปัจจุบัน ชิปขนาด 2 นาโนเมตรของไอบีเอ็มนี้ถือเป็นความก้าวล้ำสำคัญของวงการเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการชิปที่เพิ่มสูงขึ้น ภายใต้ประสิทธิภาพที่คาดว่าจะสูงขึ้น 45% และใช้พลังงานน้อยลง 75% เมื่อเทียบกับชิปขนาด 7 นาโนเมตรในปัจจุบัน [1]

ชิป 2 นาโนเมตรจะนำสู่คุณประโยชน์หลักๆ อาทิ

• ช่วยเพิ่มอายุแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือสี่เท่าทำให้ผู้ใช้สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือทุกๆ สี่วัน [3] แทนที่จะต้องชาร์จทุกวัน
ลดปริมาณคาร์บอนฟุตปรินท์ลงอย่างก้าวกระโดดทุกวันนี้ดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆ ใช้พลังงานคิดเป็น 1% ของการใช้พลังงานทั่วโลก [2] ดังนั้นการเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดให้เป็นระบบประมวลผล 2 นาโนเมตร จะช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานได้อย่างมหาศาล
เร่งสปีดฟังก์ชันต่างๆ บนแล็ปท็อป นับตั้งแต่ระบบประมวลผลที่เร็วขึ้น ระบบช่วยแปลภาษาที่เร็วขึ้น รวมถึงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้น
เพิ่มความสามารถในการตรวจจับวัตถุให้รวดเร็วขึ้น เพิ่มความเร็วในการตอบสนองของยานพาหนะไร้คนขับอย่างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

“นวัตกรรมของไอบีเอ็มที่อยู่ในชิป 2 นาโนเมตรตัวใหม่นี้ มีความสำคัญยิ่งยวดต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และไอที” นายแดริโอ จิล รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม กล่าว “ชิปนี้เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นของไอบีเอ็มในการต่อกรกับความท้าทายด้านเทคโนโลยี รวมถึงการจับมือร่วมกันลงทุนและสร้างสรรค์นวัตกรรมก้าวล้ำอย่างยั่งยืนที่กลุ่มอีโคซิสเต็มด้านการวิจัยและพัฒนาได้แสดงให้เราเห็นเป็นตัวอย่าง”

ศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม แถวหน้าแห่งนวัตกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ความก้าวล้ำล่าสุดนี้ถือเป็นผลผลิตจากการเป็นผู้นำนวัตกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไอบีเอ็มมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ โดยมีห้องปฏิบัติการวิจัยอัลบานี นิวยอร์ค เป็นกำลังหลักในการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นที่ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อทะลายขีดจำกัดของนวัตกรรม logic scaling และเซมิคอนดักเตอร์

การจับมือร่วมกันพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบดังกล่าว ทำให้ห้องปฏิบัติการวิจัยอัลบานีของไอบีเอ็มกลายเป็นอิโคซิสเต็มชั้นนำของโลกสำหรับการวิจัยเซมิคอนดักเตอร์ และไปป์ไลน์สำคัญของเส้นทางการสร้างนวัตกรรม ที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการด้านการผลิตและเร่งการเติบโตของอุตสาหกรรมชิปทั่วโลก

เส้นทางความก้าวล้ำในการพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ที่ผ่านมาของไอบีเอ็ม ยังรวมถึงการนำเทคโนโลยีประมวลผล 7 นาโนเมตรและ 5 นาโนเมตรมาใช้เป็นครั้งแรก, การพัฒนาเทคโนโลยี DRAM แบบเซลล์เดี่ยว, กฎ Dennard Scaling Laws, สารไวแสงที่ได้รับการขยายทางเคมีให้ทนทานต่อการกัดกร่อน, การเดินสายเชื่อมต่อระหว่างทองแดง, ซิลิคอนบนเทคโนโลยีฉนวน, ไมโครโปรเซสเซอร์แบบมัลติคอร์, ประตู High-k ไดอิเล็กทริก, DRAM แบบฝังในตัว และการซ้อนชิป 3D เป็นต้น โดยเทคโนโลยีที่ไอบีเอ็มได้มีการเปิดให้ใช้เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก อาทิ ชิป 7 นาโนเมตร ที่จะเริ่มนำมาใช้ในปีนี้บนระบบ IBM Power บนพื้นฐานของ IBM POWER10

ห้าหมื่นล้านทรานซิสเตอร์บนชิปขนาดเท่าเล็บมือ  
การเพิ่มจำนวนทรานซิสเตอร์ต่อชิปจะทำให้ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็กลง แต่เร็วขึ้น เสถียรขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น การออกแบบชิป 2 นาโนเมตรแสดงให้เห็นความก้าวล้ำด้านการพัฒนาประสิทธิภาพของเซมิคอนดักเตอร์โดยใช้เทคโนโลยีนาโนชีทของศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม ซึ่งช่วยให้สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ห้าหมื่นล้านตัวลงบนชิปที่มีขนาดเล็กเพียงเท่าเล็บมือ ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรก และในเวลาเพียงไม่ถึงสี่ปีนับจากที่ไอบีเอ็มได้มีการประกาศไมล์สโตนในการพัฒนาชิป 5 นาโนเมตรออกมา

การมีจำนวนทรานซิสเตอร์บนชิปมากขึ้น ยังหมายถึงการที่นักออกแบบระบบประมวลผลจะมีตัวเลือกในการผนวกความสามารถของนวัตกรรมระดับ core-level ต่างๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับเวิร์คโหลดอย่างเอไอ คลาวด์คอมพิวติ้ง รวมถึงเทคโนโลยีซิเคียวริตี้และการเข้ารหัสที่บังคับใช้บนฮาร์ดแวร์ โดยไอบีเอ็มได้เริ่มผสานความสามารถใหม่นี้เข้ากับระบบอย่าง IBM POWER10 และ IBM z15 แล้ว


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ไอบีเอ็มรั้งผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐฯ ต่อเนื่อง 28 ปี โดดเด่นนวัตกรรมเอไอ ไฮบริดคลาวด์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และไซเบอร์ซิเคียวริตี้

ไอบีเอ็มเปิดเผยว่า ในปี 2563 นักวิจัยของบริษัทฯ ได้รับสิทธิบัตรสหรัฐฯ ถึง 9,130 ฉบับ ซึ่งถือว่ามากที่สุด และส่งผลให้บริษัทครองตำแหน่งผู้นำสิทธิบัตรต่อเนื่องเป็นปีที่ 28 ตอกย้ำความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมด้วยสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) คลาวด์ ควอนตัมคอมพิวติ้ง และซิเคียวริตี้

“เวลานี้ถือเป็นช่วงที่โลกกำลังต้องการนวัตกรรมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากกว่าครั้งไหน ความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของไอบีเอ็มในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งในช่วงที่สถานการณ์เป็นปกติและในช่วงเวลาแห่งความท้าทายนั้น ได้ปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้านไอทีที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับลูกค้าและสังคมของเราเป็นอย่างมาก” นายแดริโอ จิล รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไอบีเอ็มกล่าว

ทั้งนี้ ไอบีเอ็มเป็นผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาในหลากหลายสาขาเทคโนโลยีที่สำคัญ อาทิ

การทำให้เอไอใช้งานง่ายขึ้น ไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรเกี่ยวกับเอไอมากกว่า 2,300 ฉบับ ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่เวอร์ชวลสามารถเข้าใจและตอบสนองต่ออารมณ์ของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงเอไอที่สามารถสรุปประเด็นที่มีสำคัญต่อการตัดสินใจได้ จากหลายแหล่งข้อมูล ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและคำพูด และให้คำแนะนำผ่านภาพที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้คนสามารถทำการตัดสินใจที่ยากลำบากได้ ไอบีเอ็มเน้นการพัฒนานวัตกรรมด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ระบบออโตเมชัน อีกทั้งยังผนวกความสามารถใหม่ๆ ที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยไอบีเอ็มเข้ากับไอบีเอ็ม วัตสัน อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2020 ไอบีเอ็มประกาศให้บริการ Project Debaterเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเอไอที่สามารถย่อยข้อมูลมหาศาล ก่อนที่จะประกอบถ้อยคำออกมาเป็นบทอภิปรายในหัวข้อที่กำหนด และถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจนและมีวัตถุประสงค์

การติดตั้งระบบไฮบริดคลาวด์ที่เอ็ดจ์
ไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคลาวด์และไฮบริดคลาวด์มากกว่า 3,000 ฉบับ โดยหนึ่งในนั้นตอบโจทย์การตัดสินใจที่ยากลำบากข้อหนึ่งที่ซีไอโอต้องเผชิญในปัจจุบัน คือการตัดสินใจว่าข้อมูลใดควรได้รับการประมวลผลผ่านระบบที่ติดตั้งอยู่ในองค์กร และข้อมูลใดควรได้รับการประมวลผลบนระบบคลาวด์ นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกระจายคอมโพเนนท์การประมวลผลข้อมูลต่างๆ ระหว่างระบบคลาวด์ เอ็ดจ์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้อง ช่วยให้สามารถใช้ระบบไฮบริดคลาวด์สำหรับเวิร์คโหลดด้านไอโอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นคำแนะนำในการขับขี่ที่สร้างขึ้นโดยระบบ GPS ซึ่งมีความไวต่อเวลาแฝง เป็นต้น

เอ็ดจ์และไฮบริดคลาวด์เป็นมิติสำคัญในโร้ดแมปผลิตภัณฑ์ของไอบีเอ็ม ในปี 2563 ไอบีเอ็มได้เปิดตัวไอบีเอ็ม Edge Application Manager ซึ่งเป็นโซลูชันการจัดการอัตโนมัติเพื่อให้สามารถติดตั้งและบริหารจัดการเวิร์คโหลดเอไอ อนาไลติกส์ และไอโอที ได้จากระยะไกล เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลและมุมมองเชิงลึกแบบเรียลไทม์ในสเกลใหญ่ นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ไอบีเอ็มยังได้เปิดตัว IBM Cloud for Telecommunicationsเพื่อช่วยให้องค์กรใช้ประโยชน์จากเอ็ดจ์และ 5G โดยบริการไฮบริดแบบองค์รวมนี้ ได้ใช้ความสามารถในการเข้ารหัสที่ก้าวล้ำของไอบีเอ็ม ที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถจัดการเวิร์คโหลด mission-critical ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ตั้งแต่แกนหลักของเครือข่ายไปจนถึงเอ็ดจ์ เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้รับคุณค่าจากข้อมูลมากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการสร้างนวัตกรรมให้กับลูกค้ามากขึ้น

การวางรากฐานสำหรับการใช้งานควอนตัมอันทรงพลัง
ควอนตัมคอมพิวติ้งเป็นโฟกัสสำคัญของไอบีเอ็ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการเป็นผู้นำสิทธิบัตรควอนตัมคอมพิวติ้งของไอบีเอ็ม ตัวอย่างเช่น สิทธิบัตรที่ลดความยุ่งยากในการทำแผนที่จำลองโมเลกุลควอนตัมบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาการจำลองปฏิกิริยาทางเคมีบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม เพื่อให้เห็นภาพว่ากระบวนการค้นพบวัสดุและเภสัชภัณฑ์ใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใดและอย่างไร นอกจากนี้ไอบีเอ็มยังได้รับสิทธิบัตรที่ถือเป็นการวางรากฐานในการวิเคราะห์และคำนวณความเสี่ยงบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแนวคิดเหล่านี้กำลังได้รับการต่อยอดผ่านงานวิจัยที่ดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำต่างๆ

การเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับข้อมูลที่ละเอียดอ่อนที่สุดในโลก
นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยมากกว่า 1,400 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือการเข้ารหัสแบบ fully homomorphic encryption หรือ FHE ซึ่งเป็นวิธีที่ไอบีเอ็มบุกเบิก เพื่อประมวลผลข้อมูลที่ยังคงเข้ารหัสอยู่ในระหว่างการประมวลผล ซึ่งเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับข้อมูล โดยก่อนหน้านี้ หากต้องการประมวลผลข้อมูลที่เข้ารหัส ผู้ใช้จะต้องทำการถอดรหัสข้อมูลก่อนที่จะประมวลผลและเข้ารหัสผลลัพธ์อีกครั้ง ทำให้ข้อมูลตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นในขณะที่ไม่ได้เข้ารหัส นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้จดสิทธิบัตรสำหรับเทคนิคที่ช่วยให้สามารถจัดระเบียบข้อมูลที่เข้ารหัส เพื่อช่วยให้สามารถทำการเปรียบเทียบเว็คเตอร์ FHE ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลในระดับสูงสุด ไอบีเอ็ม ซิเคียวริตี้ ได้เปิดตัวบริการที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถทดลองใช้การเข้ารหัสแบบ fully homomorphic encryption ในเดือนธันวาคมปี 2563

ในปีที่ผ่านมา นักประดิษฐ์ไอบีเอ็มกว่า 9,000 คน จาก 54 ประเทศ ได้รับสิทธิบัตรสหรัฐ โดยตั้งแต่ปี 2463 เป็นต้นมาไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรสหรัฐมากกว่า 150,000 ฉบับ และได้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมสำคัญของโลก ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลแบบดิสก์แม่เหล็ก ไปจนถึงการผ่าตัดตาด้วยเลเซอร์ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมที่มีส่วนสำคัญต่อการสรรค์สร้างนวัตกรรมของบริษัทฯ มาอย่างยาวนาน และมีความสำคัญต่อทั้งลูกค้าของไอบีเอ็มและต่อโลกใบนี้ ในเดือนเมษายน 2563 ไอบีเอ็มยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรก่อตั้งโครงการ Open COVID Pledge ซึ่งให้สิทธิ์การเข้าถึงสิทธิบัตรกว่า 80,000 ฉบับทั่วโลกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แก่ผู้ที่พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย ป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโคโรนาไวรัส

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นผู้นำด้านสิทธิบัตรของไอบีเอ็มได้ที่นี่

หมายเหตุข้อมูลสิทธิบัตรปี 2020 มาจาก IFI Claims Patent Service: http://www.ificlaims.com


 

Exit mobile version