Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

เครื่องเพาะถั่วงอก ระบบน้ำหยด

ลงมือสร้างเครื่องเพาะถั่วงอกประจำครัวเรือนที่หน่วงเวลาการรดน้ำได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า

การเพาะถั่วงอกนั้นจริงแล้วเป็นเรื่องไม่ยากหากมีเวลาดูแล หมั่นรดน้ำทุก 3 หรือ 4 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยก็ต้องรดเช้าและเย็นอย่าให้ขาด แต่ภารกิจของคนเมืองที่ต้องเร่งรีบออกจากบ้านก่อนไก่ตื่นเพื่อหลีกเลี่ยงความคับคั่งของการจราจร ผลสุดท้ายลืมสิคร๊าบ แต่จะดีแค่ไหน หากหน้าที่นี้ปล่อยให้ระบบน้ำหยดเป็นผู้ดูแลการรดน้ำแทนเรา

อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไป ถั่วงอกจะสมบูรณ์ ขาวอวบ น่ารับประทานได้นั้น การรดน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ แต่ถ้าจะเอาให้ง่ายก็ใช้เครื่องตั้งเวลามาควบคุมวาล์วไฟฟ้าหรือปั้มน้ำให้รดน้ำตามเวลาที่เราต้องการ แต่แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องตามมานอกจากค่าไฟแล้วยังมีค่าเครื่องตั้งเวลากับวาล์วไฟฟ้า(โซลินอยด์วาล์ว) ดังนั้นการทำระบบน้ำหยดพักน้ำไว้ในถัง แล้วใช้ระบบกาลักน้ำ (Siphon) ดึงน้ำจากถังพักไหลลงไปยังตะกร้าเพาะถั่วจึงเป็นทางเลือกที่น่าจะตอบโจทย์นี้

หากยังนึกภาพไม่ออกลองดูหลักการทำงานของเครื่องเพาะถั่วงอกในหน้าถัดไปครับ

เตรียมอุปกรณ์ (ไม่รวมเครื่องมือช่าง)
1. ภาชนะทึบแสง 2 ใบ ทรงกลมก็ดี ทรงเหลี่ยมก็ได้
2. ตะกร้ารูปทรงและขนาดที่สามารถใส่ลงในภาชนะตามข้อ 1 ได้ 1 ใบ
3. ท่อ PVC ขนาด 4 หุนพร้อมหัวอุด
4. ก้านลูกโป่ง หรือหลอดกาแฟ
5. หัวน้ำหยด
6. ข้อต่อ 4 หุน สำหรับต่อจากวาล์วน้ำให้ขนาดเข้ากับสายยางได้
7. สายยางเล็ก (ท่อ PE)
8. วาล์วน้ำ (สต๊อปวาล์ว)
9. กาวซิลิโคน
10. พลาสวูดหรือแผ่นพลาสติกอะคริลิก



รูปที่ 1 อุปกรณ์หลักๆ สำหรับทำเครื่องเพาะถั่วงอกระบบน้ำหยด

หลักการทำงานของเครื่องเพาะถั่วงอกระบบน้ำหยด
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการสร้าง เรามาดูหลักการทำงานกันก่อนจะได้เห็นภาพรวมของการทำงาน เพื่อการจัดเตรียมอุปกรณ์อย่างไม่ขาดตกบกพร่องกันนะครับ
1. เริ่มจากเปิดน้ำเข้าถังบน หัวน้ำหยดจะปล่อยให้น้ำหยดลงถังน้ำอย่างช้าๆ (มากน้อยขึ้นอยู่กับการปรับวาล์วน้ำและหัวน้ำหยดด้วย)
2. เมื่อระดับน้ำสูงจนถึงปลายท่อระดับ (ในที่นี้คือก้านลูกโป่ง) น้ำจะค่อยๆ ไหลลงท่อ แต่จะไหลลงอย่างช้าๆ
3. เมื่อน้ำภายในท่อไหลเข้าไปแทนที่อากาศทั้งหมดระบบกาลักน้ำ (Siphon) ก็เริ่มสูบน้ำลงด้านล่าง ตอนนี้น้ำจะไหลผ่านแผ่นกระจายน้ำที่เป็นแผ่นพลาสติกเจาะรูไว้ทั่วทั้งแผ่นลงไปยังตะกร้าที่บรรจุเมล็ดถั่วไว้
4. น้ำที่ผ่านตะกร้าจะไหลออกทางท่อน้ำทิ้งด้านล่าง

โดยระบบจะทำงานซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าถั่วของเราจะได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลา 3 วันแน่นอน

รูปที่ 2 แสดงโครงสร้างของเครื่องเพาะถั่วงอก

ขั้นตอนการสร้าง
สำหรับขั้นตอนการสร้าง ผู้เขียนจะอ้างอิงจากภาพประกอบที่ 2 ซึ่งเป็นภาพวาดโครงสร้างและส่วนประกอบของเครื่อง
(1) นำตะกร้ามาตัดขอบออกดังรูปที่ 3 จะได้ตะกร้าที่ใส่ลงในถังน้ำได้พอดี แต่หากท่านที่มีตะกร้าขนาดพอดีกับถังน้ำอยู่แล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปเลย


รูปที่ 3 การตัดขอบปากตะกร้าให้ใส่ลงในถังน้ำได้พอดี

(2) ตัดท่อ PVC ขนาด 3 หรือ 4 หุน ก็ได้ เป็นชิ้นเล็กๆ นำมาผูกติดก้นตะกร้าด้วยสายรัด (การหนุนให้ก้นตะกร้าสูงจากพื้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดถั่วถูกน้ำขังจนทำให้เน่าได้) ดังรูปที่ 4



รูปที่ 4 ใช้ท่อ PVC หนุนตะกร้าป้องกันน้ำขัง

(3) เจาะรูที่ก้นถังน้ำให้พอดีกับท่อน้ำทิ้งขนาด 4 หุน ที่เตรียมไว้ จากนั้นใช้กาวซิลิโคนอุดภายในถังน้ำเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมจากรอยเจาะ


รูปที่ 5 การติดตั้งท่อน้ำทิ้ง

(4) ทำแผ่นกระจายน้ำโดยตัดแผ่นพลาสวูดหนา 3 หรือ 5 มม. ให้ขนาดสามารถปิดลงไปกึ่งกลางของถังน้ำได้ดังรูป 6.3 (ถังน้ำส่วนใหญ่มีรูปทรงก้นเล็กปากบาน) แล้วตัดพลาสวูดชิ้นเล็กๆ ไว้เป็นที่จับติดด้วยกาวร้อนตรงกลางแผ่นจากนั้นเจาะรูด้วยดอกสว่าน 3 มม. ให้ทั่วทั้งแผ่นให้น้ำกระจายได้ทั่วตะกร้าดังรูปที่ 6.4


รูปที่ 6 ตัดแผ่นกระจายน้ำ

(5) นำสายยางขนาดเล็กมาหุ้มแผ่นกระจายน้ำเพื่อให้แผ่นกระจายน้ำแนบสนิทกับถังน้ำโดยไม่หลุดล่วงได้ง่าย โดยใช้กรรไกรผ่ากลางสายยางดังรูปที่ 7.2 แล้วนำไปหุ้มที่ขอบของแผ่นให้รอบดังรูปที่ 7.3


รูปที่ 7 การหุ้มขอบแผ่นกระจายน้ำ

(6) ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. สำหรับทำฝาปิดถังล่างขนาดเท่ากับปากถังแล้วเจาะรูกลางแผ่นสำหรับสอดท่อน้ำจากถังบน


รูปที่ 8 ทำฝาปิดถังล่าง

(7) นำถังอีกใบมาเจาะรูกลางถังขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ถึง 3 ซม. จากนั้นตัดแผ่นพลาสวูดเป็นทรงกลมมาแปะทับรูที่เจาะไว้ที่ก้นถัง เจาะรูให้มีขนาดเท่ากับก้านลูกโป่ง (ให้คับก้านลูกโป่ง) ดังรูปที่ 9.1 จากนั้นนำก้านลูกโป่งสอดเข้าไปในรู โดยให้ความสูงพอประมาณหรือเท่ากับระดับน้ำที่เราต้องการ


รูปที่ 9 ทำท่อระดับจากก้านลูกโป่ง

(8) นำท่อ 4 หุน มาบากให้มีรูปทรงดังรูปที่ 10.1 โดยความสูงของท่อขึ้นกับความสูงของท่อระดับ (ก้านลูกโป่ง) แต่ต้องสูงกว่าท่อระดับ 1 ถึง 2 มม. จากนั้นครอบหัวอุดแล้วนำไปวางสวมท่อระดับดังรูปที่ 10.4


รูปที่ 10 ทำท่อระบบไซฟอน

(9) ติดตั้งหัวน้ำหยดเข้ากับส่วนบนของถังน้ำดังรูปที่ 11.1 ส่วนปลายสายอีกด้านก็ต่อเข้ากับหัวต่อท่อ 4 หุนดังรูปที่ 11.2 สุดท้ายสวมท่ออ่อนเข้ากับน้ำทิ้งของถังน้ำล่าง ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการสร้างแล้วครับ


รูปที่ 11 ติดตั้งหัวน้ำหยดและท่อน้ำทิ้ง

ขั้นตอนการใช้งาน
(1) นำเมล็ดถั่วเขียวแช่น้ำอุ่นไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง
(2) เทเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำอุ่นแล้วลงตะกร้า
(3) ปิดแผ่นกระจายน้ำให้ได้ระดับดับไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
(4) ปิดฝาของถังน้ำใบล่าง
(5) นำถังบนมาวางซ้อนให้ก้านลูกโป่งสอดลงในรูของฝาปิด
(6) เปิดวาล์วน้ำน้อยๆ แล้วปรับหัวน้ำหยดให้ได้ปริมาณน้ำประมาณ 1 ชั่วโมงต่อ 500 มิลลิลิตร (ใช้น้ำ 3 ชั่วโมงต่อ 1.5 ลิตร)
(7) ทิ้งไว้ 2 ถึง 3 วัน แล้วลองเปิดดูผลผลิต



รูปที่ 12 ขั้นตอนการใช้งาน

หลังจากผ่านไป 2 วัน ลองเปิดดูผลผลิตกันสักหน่อยครับ ผลที่ออกมาก็เป็นดังรูปที่ 13.1 และวันที่ 3 เป็นดังรูปที่ 13.2 นำไปล้างและรับประทานได้เลย


รูปที่ 13 ผลผลิตในวันที่ 2 และ 3

เพียงเท่านี้เราก็จะได้เครื่องเพาะถั่วงอกที่รดน้ำให้เราทุก 3 ชั่วโมง(อยู่ที่การปรับหัวน้ำหยด) แล้วล่ะครับ แนะนำให้รับประทานแบบปรุงสุกจะดีที่สุด สำหรับคนที่ชื่นชอบการรับประทานแบบดิบๆ ก็ต้องดูแลเรื่องปริมาณให้เหมาะสมด้วยนะ เพราะหากมากเกินไปย่อมมีโทษเสมอ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Exit mobile version