Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ม.มหิดล เปิดเวที “Mahidol Deep Tech DEMO DAY” โชว์ผลงาน 14 สตาร์ทอัพ กลุ่มธุรกิจนวัตกรรม

สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล เปิดเวที “Mahidol Deep Tech DEMO DAY” โชว์ผลงาน 14 สตาร์ทอัพ กลุ่มธุรกิจนวัตกรรม โดยการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมกับ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “Mahidol Deep Tech DEMO DAY” แสดงผลงานกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม Deep Tech Startup ที่ได้รับการบ่มเพาะภายใต้โครงการแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์สำหรับนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี (Smart Living) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้เกียรติขึ้นกล่าวเปิดงาน พร้อมกล่าวถึงที่มาในการให้ทุนสนับสนุนและความสำคัญของ Deep Tech Technology

ซึ่งมี 14 สตาร์ทอัพ ในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม Deep Tech Startup เข้าร่วมจัดแสดงผลงาน ได้แก่

1.ทีม Healthy Materials and Innovation Laboratory ผลงานแผ่นกั้นเสียงสำหรับงานจราจรและบ้านเรือน
2. ทีม Excellent Center for Drug Discovery (ECDD) ผลงานยาสมุนไพรจากสารสกัดกระชาย
3.ทีม The PowerGen นวัตกรรมการกำเนิดไฟฟ้าเพื่อการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานทดแทน
4. ทีม BioNEDD Lab ผลงานแผ่นรองนอนต้านแบคทีเรียสำหรับผู้ป่วยติดเตียงและป้องกันแผลกดทับ
5. ทีม Melioidosis Innovation ผลงานเมลิออยโดสิส เทส คิท เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคเมลิออยโดสิสอย่างรวดเร็วในพื้นที่ระบาด
6. ทีม Mental Health Tech Discovery ผลงาน Mind Friend in Metaverse
7. ทีม Brain X Solution ระบบฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วย Brain-Computer interface
8. ทีม Artimed ผลงานแขนเทียมจากยางพาราดัดแปลงและซิลิโคนเพื่อใช้เป็นหุ่นจําลองสําหรับการฝึกหัตถการเจาะเลือด
9. ทีม IQMED Innovation ผลงาน Heart in a box อุปกรณ์ขนส่งหัวใจแบบหัวใจบีบตัวสำหรับบริการขนส่งหัวใจ
10. ทีม Green Life Harmony ผลงาน Oral Care Jelly เจลลี่เพิ่มความชุ่มชื้นในปาก
11. ทีม GPJ Biotechnology ผลงานกระดูกปลาทูน่าสกัดพร้อมดื่ม
12. ทีม Nutricious ผลงานเครื่องดื่มโปรตีนสูงจากไข่ขาว
13. ทีม Mahagarun ผลงานเครื่องดื่มสมูทตี้โปรตีนสูงจากถั่วเหลือง
14. ทีม FOODIYPHAGE ผลงานผงปรับเนื้อสัมผัสอาหารพร้อมใช้


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล เปิดคลินิกเฉพาะทางกายภาพบำบัดกับการกระตุ้นผ่านกระโหลกศรีษะด้วย TMS

10 กันยายน 2563 คณะกายภาพบำบัด เปิดคลินิกเฉพาะทางกายภาพบำบัด กับการกระตุ้นผ่านกะโหลกศีรษะด้วย TMS เป็นครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ ภายในงานได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในงานแถลงข่าว และรศ.ดร.กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แถลงการเปิดคลินิกเฉพาะทางในครั้งนี้ พร้อมกับบรรดาคณาจารย์ นักกายภาพบำบัด ของศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งนำไปสู่ความพิการในระยะยาวตามมาซึ่งการสูญเสียอย่างมหาศาลทางด้านเศรษฐกิจทั้งของโลกรวมทั้งประเทศไทย การคิดค้นวิธีการรักษาใหม่ๆ จะช่วยลดภาระของญาติหรือผู้ดูแล การได้มาซึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักฐานเชิงประจักษ์ในงานวิจัยต่างๆ นั้นยังสามารถนำไปบูรณาการกับการเรียนการสอน ในหลักสูตรหลังปริญญา กับเพิ่มอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยให้มีอาการดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้

รู้หรือไม่ว่า ในบรรดาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้น มีผู้ป่วยเพียง 5% เท่านั้นที่สามารถใช้แขนและมือในการเอื้อมหยิบจับของได้ใกล้เคียงปกติ สถิตินี้ชี้ให้เห็นถึงความจําเป็นในการคิดค้นกลยุทธ์เพื่อฝึกแขนและมือในผู้ป่วยกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้ป่วยยังต้องการความช่วยเหลือจากผู้ดูแลในการดำรงชีวิตประจำวัน

คณะกายภาพบำบัดเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ประกอบกับ คณะฯ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดที่เฉพาะเจาะจงที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์และประสบการณ์เกี่ยวกับเครื่องมือ TMS หรือ Transcranial Magnetic Stimulation มากว่า 12 ปี จึงเห็นควรว่า การเปิดคลินิกกายภาพบำบัดเฉพาะทางร่วมกับการกระตุ้นสมอง TMS นั้นจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้การรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีอาการที่ดีขึ้น และสามารถบูรณาการไปยังการเรียนการสอน และพัฒนางานวิจัยต่อไปในอนาคตในกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ เช่น พาร์กินสัน และออทิสซึม

TMS หรือ Transcranial Magnetic Stimulation เป็นเทคนิคการรักษาที่ใช้การส่งคลื่นแม่เหล็กไปยังสมอง โดยไม่มีการสอดใส่วัตถุใด ๆ เข้าไปในร่างกาย เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อปรับสมดุลการทำงานของสมองทั้ง 2 ซีก ให้คืนสู่สภาพเดิม หลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การปรับสมดุลนี้ส่งผลให้แขนและมือข้างที่อ่อนแรงกลับมาการใช้งานได้ดีขึ้น

องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับชนิด ความหนักของการฝึก และตัวแปรต่างๆ ในการกระตุ้นสมอง ถูกถ่ายทอดจากห้องปฏิบัติการสู่รายวิชาต่างๆ ในหลักสูตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต การบูรณาการวิจัยและการศึกษาแบบนี้เป็นวิธีส่งเสริมการศึกษาให้มีมาตรฐานระดับสากล โดยองค์ความรู้นั้นเป็นองค์ความรู้แบบมีหลักฐานเชิงประจักษ์

ในการรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือ TMS นั้น จะทำร่วมไปกับการรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Task specific training (TST) เทคนิคนี้เป็นเทคนิคการฝึกกิจกรรมที่จำเพาะกับอาการและปัญหาของผู้ป่วย โดย TST จะเป็นกิจกรรมการหยิบจับสิ่งของตามโจทย์ที่ได้รับ ซึ่งการรักษาในรูปแบบนี้จะช่วยลดความบกพร่องต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเคลื่อนไหว ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ร่วมทั้งเพิ่มแรงจูงใจในการฝึก โดยให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา TMS เหมาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ที่ไม่มีประวัติอาการชัก ไม่เคยถูกฝังโลหะในบริเวณที่กระตุ้น และไม่ได้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) การกระตุ้นด้วย

TMS ไม่มีอันตรายต่อระบบประสาทและร่างกาย อาจพบผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น รู้สึกไม่สบายบริเวณหนังศีรษะที่ได้รับการกระตุ้น เป็นต้น

ผู้สนใจเข้าใช้บริการการรักษาผ่านเครื่อง TMS สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ผ่านทางเว็ปไซต์: www.pt.mahidol.ac.th Facebook: ศูนย์กายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งนัดหมายทำการรักษาได้ที่ 063-520-5151 กด 2 ฝ่ายประชาสัมพันธ์


 

Exit mobile version