Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณบดี CIBA DPU ชี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้การศึกษาไทยถอยหลัง

คณบดี CIBA DPU ชี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้การศึกษาไทยถอยหลัง จับมือ ม. นอร์ธแธมตัน ม.ดังอังกฤษ เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจ 2 ปริญญา เรียนเมืองไทย-จบดีกรีนอก ดีเดย์ปี 64 ทั้ง ป.ตรี และ ป.โท

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า CIBA DPU จับมือ The University of Northampton หรือ มหาวิทยาลัยนอร์ธแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ จัดโปรแกรมเรียนบริหารธุรกิจ 2 ปริญญา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักศึกษาที่สนใจเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ธแธมป์ตัน แต่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่ต่างประเทศได้ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น CIBA มธบ.จึงจัดหลักสูตรพิเศษให้ตอบโจทย์การศึกษาในยุคนี้ โดยทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอร์ธแธมตัน ประเทศอังกฤษ ในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยนักศึกษาสามารถมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แต่มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าจบจาก ม.นอร์ธแธมป์ตัน จากประเทศอังกฤษ

“สำหรับหลักสูตรที่เปิดสอนหรือปริญญาที่ได้รับจาก มธบ. คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ส่วนปริญญาที่ได้รับจาก ม.นอร์ธแธมป์ตัน คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจและการจัดการ ( B.B.A Business and Management) อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนจะเปิดสอนที่ มธบ. จำนวน 90 หน่วยกิต โดยการเรียนการสอนภายใต้การกำกับดูแลของ ม.นอร์ธแธมตัน” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้การศึกษาของไทยถอยหลัง โดยหลักสูตรดังกล่าวเหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนี้ เนื่องจากช่วยลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ลดการแพร่เชื้อ และลดความเสี่ยงทั้งหมด แม้ผู้เรียนจะเรียนในไทยแต่คุณภาพการศึกษาเทียบเท่าอังกฤษ เพราะผู้กำหนดการสอนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ นอกจากนี้นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนจะได้รับ Student ID ของทั้งสองมหาวิทยาลัย และสามารถเข้าถึงข้อมูลของ ม.นอร์ธแธมป์ตันได้เช่นกัน เนื่องจากถือเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าว และหากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง นักศึกษายังสามารถไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ม.นอร์ธแธมป์ตัน เป็นสมาชิกของ AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) หรือ สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการรับรอง และประกันคุณภาพให้กับสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจ ดังนั้นการเรียนในหลักสูตรจากความร่วมมือนี้จึงนับเป็นการการันตีคุณภาพมาตรฐานระดับโลกเช่นกัน

คณบดี CIBA DPU กล่าวในตอนท้ายว่า หลักสูตรดังกล่าวสามารถตอบโจทย์การศึกษาในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด ดังนั้น มธบ.จึงกำหนดเปิดการเรียนการสอนในปี 2564 ทั้งหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/ หรือ โทร.02-954-7300


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CITE DPU ร่วมเอกชน พัฒนาระบบติดตามสถานะผู้ป่วยบนรถพยาบาลแบบเรียลไทม์

CITE DPU ร่วมเอกชน พัฒนาระบบติดตามสถานะผู้ป่วยบนรถพยาบาลแบบเรียลไทม์ ช่วยทีมแพทย์ประเมินคนไข้ก่อนถึง รพ. พร้อมรักษาได้ทันท่วงที อนาคตมีแนวคิดพัฒนาระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์การแพทย์ภายในรถหลากหลายขึ้น หวังช่วยแพทย์รักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การนำผู้ป่วยหรือคนไข้ฉุกเฉิน โดยรถพยาบาล (Ambulance)  ไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่อาจทราบถึงรายละเอียดสภาพปัญหา รวมไปถึงสัญญาณชีพของผู้ป่วยและระยะเวลาในการเดินทางมาถึงโรงพยาบาลได้ ในบางครั้งจึงไม่สามารถเตรียมการช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดการเกิดปัญหาดังกล่าว จึงเกิดโครงการระบบติดตามสถานะของผู้ป่วยและตำแหน่งของรถพยาบาล โดยความร่วมมือของ  วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กับ บริษัท Tely 360 จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบทางการแพทย์แบบครบวงจร

ผศ.ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบติดตามตำแหน่งรถพยาบาลพร้อมสัญญาณชีพของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ได้ทราบรายละเอียดโดยรวมของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์และเตรียมการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ โดยปัจจุบันระบบนี้ได้ติดตั้งบนรถพยาบาลไปแล้วกว่า 200 คัน ทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดขอนแก่น อยุธยา เชียงราย ภูเก็ต ยะลา กรุงเทพฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกจะเป็นอุปกรณ์ติดกับตัวรถ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้แพทย์ได้มองเห็นสภาพโดยรอบภายในรถรวมถึงสภาพของผู้ป่วยผ่านกล้อง ทราบถึงอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตของผู้ป่วย ฯลฯ   ส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนคลาวด์เซิฟต์เวอร์สำหรับเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วย และส่วนที่ 3  เป็นแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ซึ่งจะปรากฏข้อมูลของคนไข้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์ของคนไข้จากข้อมูลที่ปรากฏนี้ได้

“ระบบนี้เป็นแบบเรียลไทม์ จะทำให้ทราบระยะเวลาว่าอีกกี่นาทีที่รถจะถึงโรงพยาบาล มองเห็นสภาพโดยรวมของคนไข้ ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ อาการหนักมากน้อยแค่ไหน  แพทย์จะได้ประเมินและเตรียมการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที” ผศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว

ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาระบบขั้นต่อไปในอนาคตมีแนวคิดจะพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือเฉพาะทางการแพทย์ภายในรถพยาบาลให้ได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ เครื่องปั๊มหัวใจ เครื่องวัดปริมาณเลือด/น้ำเกลือ ฯลฯ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทีมแพทย์พยาบาลในการเตรียมการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CITE มธบ. Up-Skill เทคโนโลยีมุ่งตอบโจทย์ตลาดแรงงาน รองรับโลกดิสรัปชั่น

โลกยุคดิสรัปชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การทำธุรกิจ การใช้ชีวิตของผู้คนก้าวกระโดดสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ทุกองค์กรยุคใหม่จึงต้องใส่ใจความอยู่รอด ในการ Up-skill Re-skill บุคลากร พนักงานของตนเอง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม และเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะเกิดขึ้น

ยิ่งในภาวะปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจทั้งโลกแทบหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ฯลฯ ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับ New normal ที่เกิดจากผลกระทบจากโควิด-19 และมองหาโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้

ผศ.ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (College of Innovative Technology and Engineering : CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า นอกจากการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจต่างๆจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ มีการชะลอตัว ดังนั้น ความต้องการของกำลังคนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการพลิก สร้างอุตสาหกรรมที่ย่ำแย่ให้กลับมาเติบโตขึ้นได้

“เมื่อประเทศเข้าสู่ยุคดิสรัปชั่น ดิจิทัล ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ เทคโนโลยี หลักสูตรด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก หลักสูตรที่ทางวิทยาลัยCITE เปิดสอนระดับปริญญาตรี โท เอก มากว่า 20 ปี จึงมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยต้องมีทั้งทักษะวิชาชีพ ความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจธุรกิจ มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเป็นแกนกลาง ที่สำคัญต้องเป็นการ Up-Skill เพิ่มทักษะให้แก่บุคลากร ต้องพร้อมทำงานได้จริงๆ”ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าว

ทุกหลักสูตรทุกระดับการศึกษาล้วนมีความแตกต่างกัน ซึ่งในส่วนของหลักสูตรมหาบัณฑิต หรือปริญญาโท ขณะนี้เปิดการเรียนการสอนใน 4 สาขา คือ สาขาการจัดการทางด้านวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม วิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีสารสนเทศ แต่ละหลักสูตรมีความแตกต่าง และมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน

ผศ.ดร.ณรงค์เดช อธิบายต่อว่า 4 สาขาในระดับปริญญาโทจะเป็นการ Re-Skill และUp-Skill ให้แก่ผู้ที่อยู่ในสายอาชีพดังกล่าวหรือผู้ที่สนใจเรียนรู้ในสายอาชีพเหล่านี้ โดยหลักสูตรวิศวกรรมมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทางวิศวกรรม จะมีจุดเด่น คือ เป็นกระบวนการเรียนรู้ในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ การผลิต การจัดการโรงงาน โลจิสติกส์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่างงานด้านวิศวกรรมและด้านธุรกิจผ่านการเรียนรู้โดยปฏิบัติงานจริง ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้

ส่วนสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม อีกหนึ่งสาขายอดฮิตที่ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของประเทศอย่างมาก โดยหลักสูตรได้รับการออกแบบให้ผู้เรียนมีองค์ความรู้ที่ทันสมัย มีการฝึกปฏิบัติและสามารถทำงานได้จริง ส่วนสาขาวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ต้องยอมรับว่าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใดที่สามารถนำข้อมูล Big data มาใช้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรและอุตสาหกรรมนั้นได้อย่างมหาศาล

ขณะที่ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ นับว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ มีผลอย่างมากในการใช้ชีวิตของผู้คน กระบวนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมีนวัตกรรมเกิดขึ้นใหม่ เข้ามาช่วยในการทำงานทั้งเชิงอุตสาหกรรมและธุรกิจ บรรจุครบไว้ในหลักสูตรนี้ จึงตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรด้านนี้ที่ต้องการเพิ่มเติมความรู้และเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ

“ทุกหลักสูตรจะช่วยยกระดับความสามารถพนักงานตอบโจทย์ใหญ่ในธุรกิจ อุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารต้องการกำลังคนที่มีองค์ความรู้ มีทักษะพื้นฐานด้านดิจิตอล เทคโนโลยี สร้างสรรค์นวัตกรรม มีตรรกะความรู้ในเชิงวิศวกรรมศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของผู้บริหารอุตสาหกรรมยุคใหม่ต้องลงทุนพัฒนาบุคลากรของตนเอง ซึ่งการผลิตแบบเดิมกับตอนนี้แตกต่างกันมาก เทคโนโลยีใหม่ ระบบอัตโนมัติ การเรียนรู้เทคโนโลยี วิศวกรรมในแต่ละสาขาได้อย่างครอบคลุมศาสตร์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต ระบบการสร้าง ส่งต่อ การใช้ข้อมูล และการบริหารจัดการระบบทั้งหมด เพราะการเรียนรู้ของวิทยาลัย CITE มธบ. จะเป็นการเรียนรู้อย่างรอบด้าน เชี่ยวชาญเทคโนโลยี และต้องทำงานได้จริง” ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าว

คณบดีวิทยาลัย CITE กล่าวต่อไปว่า เนื้อหาทั้งจากภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจะทำให้บุคลากรมีความพร้อมที่จะประยุกต์ใช้กับองค์กรได้จริง ทั้งเรื่องโลจิสติกส์และซัพพลายเชน การจัดการด้านวิศวกรรม และการจัดการทางด้านพลังงานเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือจะเป็นด้านเทคโนโลยีเช่น การวิเคราะห์งานระบบวางแผนบริหารทรัพยากรองค์การ การพัฒนาโครงข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ความมั่นคงของระบบสารสนเทศ ระบบ IoTs การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งหลายเหล่านี้ต้องอาศัยบุคลากรด้านนี้ เพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรและธุรกิจบนโลกดิจิทัล โดยผู้สนใจศึกษาต่อไม่จำเป็นต้องจบวิศวกรรมศาสตร์หรือเทคโนโลยีก็สามารถเรียนได้ โดยทางวิทยาลัยมีการสอนปรับพื้นฐานเพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมในการเรียนรู้ในทุกหลักสูตร


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

นศ. CIBA_มธบ. นำองค์ความรู้พลิกฟื้นชุมชนคลองศาลากุลเกาะเกร็ด สร้างเงิน สร้างรายได้ ชุมชนยั่งยืน

นศ. CIBA_มธบ. นำองค์ความรู้พลิกฟื้นชุมชนคลองศาลากุลเกาะเกร็ด สร้างเงิน สร้างรายได้ ชุมชนยั่งยืน

ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นองค์ความรู้และเทคนิคที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ สืบทอดและเชื่อมโยงจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน การสั่งสมความรู้ ประสบการณ์มาเป็นระยะเวลายาวนาน จะช่วยให้คนในรุ่นถัดไปปรับตัวและอยู่รอดได้ เฉกเช่นชุมชนคลองศาลากุล ต.เกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พื้นที่ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งกับชุมชนปากเกร็ด ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำสวน เป็นหลัก บางครัวเรือนผลิตสินค้าพื้นถิ่น รวมถึงทำขนมไทยขายเป็นอาชีพเสริม บ้างก็นำสมุนไพรพื้นบ้านมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากชุมชนอีกฟากของเกาะที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการทำเครื่องปั้นดินเผา เดิมสินค้าที่ผลิตขึ้นในชุมชนคลองศาลากุลจะขายให้นักท่องเที่ยวเป็นหลัก ในพื้นที่วัดปรมัยยิกาวาส แต่ปัจจุบันไม่สามารถไปวางสินค้าขายได้ดังเดิม เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ

เมื่อช่องทางขายสินค้าในเกาะถูกตัดขาด ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้น เพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มถูกคิดค้นมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน อาทิ ชาสมุนไพรหน่อกะลา ชาสมุนไพรรางแดง เป็นต้น นอกจากนี้ชาวบ้านยังช่วยกันหาช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า โดยส่วนใหญ่จะเป็นการออกร้านตามห้างสรรพสินค้า หรือตามมหกรรมแสดงสินค้าต่างๆ แต่ด้วยอุปสรรคที่สำคัญคือ การเดินทางลำบากเพราะต้องนั่งเรือข้ามฟาก ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ขายประจำส่งผลให้การค้าขายไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ชาวบ้านยังขาดองค์ความรู้และการจัดการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้

จากปัญหาข้างต้นทำให้ธนาคารออมสินเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ผ่านโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ส่งเสริมให้นักศึกษานำองค์ความรู้ที่ได้เรียนจากภาคทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนารายได้และความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพ ผลิตภัณฑ์และบริการของวิสาหกิจชุมชนคลองศาลากุล ประกอบด้วย ชุมชนกระเป๋าผ้า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรและเบเกอรี่ 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนางรำ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดอกไม้ผ้าใยบัว และกลุ่มเกษตรกรทำสวนเกาะเกร็ด จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจและรับทราบปัญหา พบว่าชุมชนต้องการให้พัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีความทันสมัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ยกระดับสินค้าชุมชนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าประเภทบริการ และการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกัน เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับชุมชนด้วย

นางสาวธันย์ชนก ทองนิ่ม (พัฟ) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy :CIBA) ตัวแทนกลุ่มสมุนไพรชารางแดง เล่าว่า จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาพบว่า ชารางแดง เป็นสินค้าที่มีคุณภาพราคาไม่แพง แต่ขายไม่ค่อยได้จึงต้องการให้ช่วยหาช่องทางจัดจำหน่าย ทางทีมจึงนำข้อมูลต่างๆกลับมาวิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไข พบว่าชารางแดงมีกลิ่นที่ฉุนเกินไป จึงได้คิดค้นในการปรับปรุงกระบวนการผลิต ด้วยการลดไฟในการคั่ว วัดอุณหภูมิและเพิ่มการนวดใบชา จนได้สูตรที่ลงตัว ได้กลิ่นชาที่หอมละมุน หลังจากปรับสูตรและออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น จึงรู้สึกดีใจที่ได้นำความรู้ที่เรียนมา มาช่วยชาวบ้านได้จริง ทั้งนี้สิ่งที่ได้รับคือประสบการณ์หลายด้าน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การหาช่องทางการตลาด รวมถึงการทำงานเป็นทีม ซึ่งประสบการณ์และความรู้จากการลงพื้นที่จริงจะช่วยต่อยอดการทำงานหลังจบการศึกษาได้

นายธนกร พ่วงกลิ่น(ออม) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลาบ้านนางรำ กล่าวว่า โจทย์คือช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น 50% ทางทีมได้รับมอบหมายให้ดูแลการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา เนื่องจากแพ็กเกจเดิมใช้ต้นทุนสูง เราจึงช่วยกันออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่โดยใช้โทนสีที่เรียบง่ายใช้วัสดุที่เป็นกระดาษและนำรูปเจดีย์เอียงที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดมาเป็นจุดขาย หลังจากนั้นยังช่วยทำเพจและบูทเพจให้คนเห็นมากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด ผลที่ได้รับหลังจากแก้ไขบรรจุภัณฑ์และบูทเพจกว่า 1 เดือนพบว่า มีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และหน้าร้านเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งเป็นผลที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก จากการสะท้อนปัญหาของชาวบ้านที่ไม่มีหน้าร้านประจำ ทำให้พวกเราช่วยหาช่องทางขายใหม่ขึ้นจนประสบความสำเร็จและตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ได้ไปคลุกคลีกับชาวบ้านทำให้นักศึกษาที่ร่วมโครงการได้ประสบการณ์ที่ดี จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป

“ต้องขอบคุณโครงการนี้ ที่เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปสัมผัสงานจริง เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาและพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน จากผลงานที่ช่วยกันสร้างขึ้น ทำให้ทางทีมงานได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย เพื่อไปร่วมโชว์ผลงาน ในพิธีส่งมอบโครงการออมสินยุวพัฒนรักษ์ถิ่นด้วย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง”นายธนกรกล่าว

นางสาวธนภรณ์ เลิศศรีเทียนทอง (นุ่น) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาหน่อกะลา บ้านนางรำ กล่าวเสริมว่า บรรจุภัณฑ์ใหม่ที่ออกแบบใหม่นั้นวัตถุดิบที่นำมาผลิตสามารถลดต้นทุนได้ประมาณ 7-8 บาทต่อห่อ ส่งผลให้มีกำไรต่อชิ้นเพิ่มขึ้น สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นโครงการที่น่าสนใจมาก ทำให้มีโอกาสได้นำความรู้ที่เรียนมาช่วยเหลือชุมชนได้จริง และชาวบ้านในชุมชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป

นางสาวกนิษฐา เรืองฉาง(มุก) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการ วิทยาลัย CIBA ตัวแทนกลุ่มออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกจักสาน กล่าวว่า การลงพื้นที่สำรวจผู้ประกอบการทำให้ทราบถึงปัญหาที่เขาต้องการให้ช่วย ส่วนปัญหาที่พบ ได้แก่ 1.ไม่มีสถานที่ขายสินค้า 2.รูปแบบของสินค้ายังไม่ตอบโจทย์ และ3.การจัดการขายยังไม่เป็นระบบ ทางทีมจึงนำความรู้ในสาขาการจัดการมาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการออกแบบคู่สีให้อยู่ในโทนเดียวกัน พร้อมแนะนำระบบการขายผ่านระบบออนไลน์ และจัดจำหน่ายสินค้าหน้าร้าน โดยช่วยปรับภูมิทัศน์ให้กับศูนย์จักสานบนเกาะเกร็ด เพิ่มพื้นที่โชว์สินค้า ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาดูวิธีการจักสานและซื้อสินค้าเป็นของที่ระลึก ถือเป็นการสร้างจุดขายสินค้าในระยะยาวได้ หลังจากแนะนำวิธีแก้ปัญหาด้วยการบูรณาการวิทยาการสมัยใหม่ร่วมกับภูมิปัญญาดั้งเดิม เกิดจุดเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งดูได้จากยอดขายและการสั่งสินค้าเข้ามาเป็นระยะ รวมถึงการสั่งสินค้าเป็นของชำร่วยในงานมงคลด้วย


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CIBA_มธบ. ขนนวัตกรรมปลุกไอเดีย StartUp ในงาน Open House 2019

CIBA_มธบ. ขนนวัตกรรมปลุกไอเดีย StartUp โชว์ในงาน Open House 2019 เชิญชวนนักเรียน นักศึกษาร่วมเวิร์คช้อป ค้นหาตัวตนตามแนวที่ใช่คณะที่ชอบ พร้อมเรียนรู้ทักษะสำคัญในการอยู่รอดแห่งโลกอนาคตได้ตลอดงาน ระหว่างวันที่ 12-13 ธค.นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ที่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)  เปิดเผยว่า   มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดงาน Open House 2019 ภายใต้ธีม “The Future Survivor” โดยนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมงานจะได้เปิดประสบการณ์ค้นหาและเรียนรู้ทักษะสำคัญในการอยู่รอดแห่งโลกอนาคต กับ 6 วิทยาลัย และ 6 คณะ  พร้อมสัมผัสการเรียนการสอนจริงและเวิร์คช้อปจากทุกคณะ  ในส่วนของ CIBA นอกจากด้านวิชาการแล้วยังจะเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้แนวคิดการเป็นสตาร์ทอัพจากเกมต่างๆ อาทิ  เกมไททานิค  ซึ่งจะเป็นการจำลองการโดยสารเรือไททานิค เป็นการท้าทายของผู้เล่นที่จะทราบผลว่าตนเองจะรอดหรือไม่ได้ในตอนท้ายของเกม โดยสามารถดูได้จากการเลือกที่นั่งบนเรือ เกมนี้มีการนำข้อมูลจริงของเหตุการณ์มาวิจัยและประยุกต์มาเป็นเกม ซึ่งสามารถอธิบายและปรับใช้ในเชิงธุรกิจได้ โดยจากข้อมูลสามารถนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบในเชิงธุรกิจได้ว่าลูกค้ารายนี้ควรอนุมัติสินเชื่อหรือไม่อย่างไร หรือในมุมที่ว่าลูกค้ารายใดกำลังจะเปลี่ยนใจจากเราไปใช้บริการบริษัทคู่แข่งอย่างนี้เป็นต้น รูปแบบของเกม มีเหตุผลและรูปแบบวิธีคิดที่เหมือนกันเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ โดยอาศัยจากข้อมูลของเหตุการณ์เรือไททานิคล่ม ซี่งเป็นทฤษฎีเดียวกันหมด

“เป็นโมเดลง่ายๆ เรียกว่า “ต้นไม้แห่งการตัดสินใจ”  เป็นการนำ Machine learning ส่วนหนึ่งของAI มาใช้   นักเรียน นักศึกษา น่าจะรู้จัก ไททานิค  หลังจากเล่นเกมเสร็จพอรู้ผล ก็จะมีการสรุปให้เค้าเห็นภาพ และก็จะค่อยๆอธิบายให้เข้าใจทฤษฎีว่า มันมีวิธีคิดวิธีเริ่มต้นแบบไหน โดยโยงเข้าสู่ธุรกิจจะทำให้เห็นภาพง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเกมเป่ายิงฉุบ ซึ่งไม่เหมือนเกมธรรมดา เป็นโมเดลเดียวกับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันที่ต้องรู้เขารู้เรา เป็นเรื่องของข้อมูลสถิติ โดยสองคนแข่งกัน แต่จะมีการให้ข้อมูลกับอีกคนด้านสถิติว่าหากเกมแรกแพ้เกมต่อไปต้องทำยังงัยต่อ ประเด็น คือ เราต้องการแสดงให้เห็นว่า ในการทำธุรกิจก็เหมือนกันใครมีข้อมูลมากกว่าคนนั้นได้เปรียบในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่ง เรียกว่าจะเป็นการเป่ายิงฉุบที่มีสีสันมาก” คณบดีCIBA กล่าว

ดร.ศิริเดชกล่าวด้วยว่า ภายในงานจะเน้นให้เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับวิชาที่นักศึกษาจะได้เรียน พยายามให้เขาเข้าใจในรูปแบบของการทำธุรกิจในเกมที่นำมายกตัวอย่างในงานนี้ นอกจากนี้ภายในงานจะมีการฝึกให้นักเรียน นักศึกษา ได้มีโอกาสเขียนโปรแกรมอย่างง่ายในการสั่งงานหุ่นยนต์ทำงานด้านโลจิสติกส์เพื่อให้ทำงานสะดวกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในงานขนส่งเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้โรบอทด้านการตลาดได้เช่นกัน อาทิ การเขียนโปรแกรมให้โรบอทแสดงท่าทางหรือทำงานด้านต่างๆเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนให้มาสนใจในธุรกิจของเราได้ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น ถุงมืออัจฉริยะ อุปกรณ์ internet of thing (IOT) ที่ต้องสั่งงานด้วยเสียง พร้อมนี้ยังมีทุนการศึกษาและโปรโมชั่นมากมายตลอดงาน

“งาน Open House 2019”  พร้อมเปิดบ้านให้ชมตลอดทั้งวัน ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  นักเรียน นักศึกษาที่สนใจร่วมงานได้ฟรี  ลงทะเบียนออนไลน์ร่วมงานก่อนใครได้ที่ https://openhouse.dpu.ac.th/ สอบถามรายละเอียดโทร. ต่อ 560, 722


Exit mobile version