Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. จัดงาน “62 ปี วิถีใหม่ นวัตกรรมนำไทย ประดิษฐกรรมล้ำสมัย รวมน้ำใจ มจพ.”

ผศ.ดร. กฤษชัย ศรีบุญมา รองธิการบดีฝ่ายพัฒนากิจการมหาวิทยาลัยเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และประธานดำเนินงาน เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกำหนดจัด งานวันรวมน้ำใจชาว มจพ. ประจำปี 2564 ภายใต้ชื่องาน “62 ปี วิถีใหม่ นวัตกรรมนำไทย ประดิษฐกรรมล้ำสมัย รวมน้ำใจ มจพ.” (“62nd KMUTNB Anniversary: the phase embracing the new normal, innovation-driven national policies, advanced inventions and the community unity”) เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ครบ 62 ปี ในวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 07.15 – 10.30 น. ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งมหาวิทยาลัยและเพื่อส่งเสริมความสามัคคีระหว่างคณาจารย์ ศิษย์เก่าและบุคลากร ตลอดจนเผยแพร่ชื่อเสียง และเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย พร้อมกับประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่น ผู้ปฏิบัติงานดีเด่นของมหาวิทยาลัย รวมทั้งผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (COVID-19) ในประเทศไทย ขณะนี้ก็ยังมีตัวเลขของโรคติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่ ทำให้รูปแบบการจัดงานในปีนี้ต้องจองปรับตัวให้เข้ากับสังคมปัจจุบันและเข้มงวดในมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคที่คำนึงถึงความปลอดภัยและเพิ่มความมั่นใจให้ผู้เข้าร่วมงาน โดยจัดงานรูปแบบ New normal เพื่อสอดคล้องกับมาตรการการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขด้วยการรักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าทุกท่าน ฉะนั้น ผู้เข้าร่วมงานต้องลงทะเบียน Check-in และ Check-out ซึ่งถือเป็นเข้าร่วมงานแบบ New Normal ที่มีมาตรการตามรัฐกำหนด เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานโดยการลงทะเบียน QR Code ของแอปพลิเคชัน ไทยชนะ/หมอชนะ โดยนำ QR Code มาติดตั้งไว้ที่บริเวณด้านหน้าทางเข้างาน มีจุดคัดกรองระบบสแกน ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน และตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ไว้ในบริเวณงาน ทั้งก่อนเข้างาน หรือเลิกงาน เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ มจพ. มีมาตรการของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานในปีนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการมาร่วมงานดังกล่าว

สำหรับกิจกรรมงาน “62 ปี วิถีใหม่ นวัตกรรมนำไทย ประดิษฐกรรมล้ำสมัย รวมน้ำใจ มจพ. ” ได้กำหนดจัดงานและลักษณะของกิจกรรมต่าง ๆ รายละเอียดดังนี้
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00-10.45 น. พิธีมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2563 ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี จำนวน 13 ราย
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 07.15 – 10.30 น. ถวายภัตตาหารเช้า พิธีทำบุญเจริญพระพุทธมนต์ จำนวน 9 รูป / พิธีรำลึกถึงทวาปูชนียาจารย์ : ศาสตราจารย์ ดร. บุญญศักดิ์ ใจจงกิจ และ Dipl. Ing Karl Stützle ณ ลานทวาปูชนียาจารย์ หน้าอาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน ซึ่งแต่ละกิจกรรมและลักษณะงานจะเป็นรูปแบบ New Normal สอดรับกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (COVID-19) ได้เป็นอย่างดียิ่ง

อีกหนึ่งกิจกรรมในปีนี้ที่ทาง มจพ. ขอเชิญชวนรวมน้ำใจพี่น้องชาว มจพ. ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธา และประชาชนทั่วไปร่วมทำบุญง่าย ๆ ลดหย่อนภาษีได้ ด้วยมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นว่า การช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (COVID-19) มีความสำคัญต่อชุมชน ต่อประเทศชาติ ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจึงจะสามารถช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 และร่วมแบ่งปันน้ำใจ จึงได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือขึ้น เป็นกองทุนช่วยเหลือที่ทุก ๆ คน สามารถร่วมบริจาคทรัพย์ตามกำลังศรัทธาที่ “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” การจัดตั้งกองทุนมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดให้นักวิจัย สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ไปสู่สังคมเพื่อช่วยเหลือสังคมได้ อาทิ ตู้อบฆ่าเชื้อด้วย UV มจพ. มอบให้โรงเรียนช่างฝีมือทหาร โรงพยาบาลวชิร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลทหารผ่านศึก เตาเผาหน้ากากอนามัยใช้แล้วขนาดเล็กขยะติดเชื้อขนาดเล็ก ที่ใช้สำหรับเผาทำลายหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้ออื่น ๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตู้ตรวจโรคโควิด -19 ความดันบวก มอบให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร และนวัตกรรม “หน้ากากอนามัย เสริมแผ่นเส้นใยนาโน” จากคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เป็นต้น ผศ.ดร. กฤษชัย กล่าวท้ายที่สุด

มหาวิทยาลัยขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือการแพทย์ในสถานการณ์โรคโควิด-19 การระบาดรอบใหม่ สามารถโอนเงินบริจาคได้ที่ ชื่อบัญชี “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” ธนาคารกรุงเทพ สาขา มจพ. เลขที่บัญชี 907-3-50043-2 ใบเสร็จรับเงินในการบริจาคสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ 200 % สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 02-555-2000 ต่อ 1604 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 02-555-2000 ต่อ 1121, 1166, 1175 หรือเว็บไซต์ มจพ. www.kmutnb.ac.th


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี เพิ่มทักษะการผลิตให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ด้วยเทคโนโลยีการแปรรูป

ผศ.ดร.ปิยะรัชช์ กุลเมธี คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี กล่าวต้อนรับนางณิชารีย์ จตุรพิธพร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชน จังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานเปิดงานการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “การใช้เครื่องมือเครื่องจักรเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” พร้อมด้วยคณะผู้เข้ารับและเจ้าหน้าที่ กช.ศภ.9 กสอ. และเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรม สอจ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่17 ธันวาคม 2563 การฝึกอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในด้านเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ผ่านกลไกการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ITC และหน่วยงานเครือข่าย เช่น เครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย Spray Dryer เครื่องทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง Freeze Dryerเครื่องทอดสุญญากาศ Vacuum Fryer เป็นต้น

ส่วนกิจกรรมการเพิ่มทักษะบุคลากรผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Reskill) นั้น เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนสู่ความยั่งยืน (ITC ชุมชน) ประจำปีงบประมาณ 2564 ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2563 ณ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายการให้บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ทั้งนี้ มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว จังหวัดละ 2 กลุ่ม รวมจำนวน 40 คน เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง Mini ITC จังหวัด กับ ITC ภูมิภาค และสถาบันการศึกษา ร่วมดำเนินกิจกรรมโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรต่าง ๆ ให้กับบุคลากรของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้มีทักษะในการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้ ขอบคุณข้อมูลจากนางสาวณัฏฐาพร เทียนดำ ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร

ขวัญฤทัย ข่าว/ณัฏฐาพร ภาพถ่าย


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

บัณฑิตวิทยาลัย มจพ. รับมอบ “โดรน” เพื่อใช้งาน ณ อุทยานเทคโนโลยี

ศาสตราจารย์ ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ผศ.ปรีชา อ่องอารี ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ พงศ์ธนาพาณิช รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิชาการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมพิธีรับมอบโดรน DJI รุ่น M600 พร้อมแบตเตอรี่ จำนวน 2 ชุด อุปกรณ์ควบคุมระยะไกล และกล่องโลหะสำหรับการขนถ่ายโดรน มูลค่า 300,000.00 บาท จากคุณอัศวรรณ์ เรืองชู กรรมการผู้จัดการ บริษัท SYSTRONICS จำกัด เพื่อใช้งาน ณ อุทยานเทคโนโลยี (Technology Park) ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ณ ห้องประชุมปรมะ บัณฑิตวิทยาลัย ชั้น 12 อาคารนวมินทรราชินี มจพ.

ศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ พงศ์ธนาพาณิช รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยฝ่ายบริหารและวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัย เปิดเผยว่า “โดรน” ที่ได้รับมอบเป็นโดรนที่มีขนาดใหญ่ สามารถบรรทุกภาระได้ประมาณ 6 กก และเป็นโดรนแบบ open platform ดังนั้น จึงเหมาะกับการนำมาต่อยอดงานวิจัยด้านการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับ ส่วนในด้านความมั่นคงของประเทศและการบรรเทาสาธารณภัยนั้น จะมีการผสมผสานเทคโนโลยีด้านเซนเซอร์และ AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโดรนให้สามารถทำงานที่มีความเสี่ยงแทนมนุษย์ในอนาคต

นายอัศวรรณ์ เรืองชู กรรมการผู้จัดการ บริษัท SYSTRONICS จำกัด กล่าว่ว่า สำหรับเรื่องการบริจาคโดรนนี้ เริ่มจากได้พบกับอาจารย์สุทธิศักดิ์ มีแนวคิดนำโดรนไปพัฒนาด้านต่าง ๆ แต่หลัก ๆ คือ “การป้องกันประเทศ” เนื่องจากผมและอาจารย์เป็นกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ ได้เจอกันที่นั่น มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นแล้ว “รู้สึกว่าอาจารย์มีวิสัยทัศน์โดรน ที่สามารถนำไปใช้ในงานวิจัยได้หลากหลายซึ่งนำไปต่อยอดได้ ก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษและอยากเห็นงานวิจัยด้านโดรนของมหาวิทยาลัยและประเทศไทยมีความก้าวหน้า” เพราะที่ผ่านมาหลาย ๆ หน่วยงานทำแต่ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากเอกชน ซึ่งผมและภาคเอกชน อยากผลักดันให้ประเทศเป็นคู่แข่งหนึ่งที่สำคัญในอนาคต ของการใช้โดรนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้ แต่ไม่ได้ใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเดียว แอปพลิเคชันของโดรนใช้ได้หลากหลาย เช่น ตอนนี้มี PM 2.5 เราสามารถนำโดรนเข้าไปติดเซ็นเซอร์ที่เกี่ยวกับ PM 2.5 ก็ได้ เพื่อทำการวัด ทำโมเดล ทำแผนผังของฝุ่นที่เกิดขึ้นได้ด้วย เป็นต้น

จริง ๆ แล้วบริษัทมีความเชี่ยวชาญในด้านไอทีและด้านเทคโนโลยีมา 18 ปี ภารกิจหลักของบริษัทเรา คือ Digital Transformation (กระบวนการที่นำ Digital Technology มาปรับใช้กับทุกส่วนของธุรกิจ) บริษัททำให้กับหน่วยงานภาครัฐบาลมาค่อนข้างมาก ซึ่งก็คือระบบเดิมที่เป็นระบบ Manual มาก่อน ทั้งด้านการพัฒนาซอฟแวร์ ระบบจัดเก็บต่าง ๆ จากที่เป็นระบบ Manual เป็นกระดาษ เรา Transform สู่ Digital ทั้งหมด จากที่เราใช้พื้นที่ในการเก็บเอกสารนั้น ปัจจุบันเราย่อเหลือแค่แทมเพสตัวเดียว ผู้บริหารใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตตัวเดียวทำงานที่ไหน ก็ทำงานได้ดีเช่นเดิมแต่มีความสะดวกสบายมากขึ้น กอปรกับบริษัทได้รับการจาก BOI ด้าน Enterprise Software และด้าน Digital Transformation ผลงานชิ้นสำคัญที่ได้ดำเนินไปแล้ว ก็จะมี การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ใช้โดรนเพื่อ Inspection สายส่ง รวมถึง โซล่าฟาร์ม (Solar Farm) โซลาร์พาแนล (Solar Panel) ซึ่งหน่วยงานทั้งสามใช้โดรนบริษัททั้งหมด

ปัจจุบันนี้ “โดรน” ยังเข้ามามีบทบาทเพื่อใช้การรังวัด แต่เดิมใช้โดรนขนาดเล็ก การรังวัดก็จะได้ปริมาณน้อยประมาณ 100 -200 ไร่ และใช้เวลานาน ซึ่งขณะนี้การใช้เทคโนโลยีภาคพื้นกับระบบโดรนที่มีความสมัยใหม่มากขึ้น ทำให้การรังวัดในยุคนี้ จะสามารถทำการรังวัดได้ถึง 10,000 ไร่ จากที่ใช้เวลาในประเมินเป็นเดือน ก็ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ช่วยประหยัดเวลาได้มาก บริษัทจะเน้น “โดรน” ในงานวิศวกรรมเป็นหลัก ไม่ใช้ในการถ่ายรูปทั่วไป และผลงานล่าสุดของบริษัทที่ให้บริการทางสังคม อาทิ เป็นทีมจิตอาสา 904 ภัยพิบัติ นำอากาศยานไร้คนขับ บินสำรวจไฟป่าในเขตจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัท หรือสอบถามโดรน ได้ที่ 0-2879-1127-9

ขวัญฤทัย ข่าว/วุฒิศักดิ์ ถ่ายภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

สำนักประสานงานชุดโครงการอุตสาหกรรมความมั่นคง และเทคโนโลยีอวกาศ จัดสัมมนาเรื่องศักยภาพและความท้าทายด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทย

สำนักประสานงานชุดโครงการอุตสาหกรรมความมั่นคง และเทคโนโลยีอวกาศ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้จัดสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “ศักยภาพและความท้าทายด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทย” วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 9.00 – 12.00 น. ถ่ายทอดสดผ่านทาง Zoom โดยมีเป้าหมายเพื่อตีแผ่ศักยภาพในด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ แก่ผู้ให้ความสนใจ

โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่าน

(1) Mr. Ono Atsushi Director of JAXA Bangkok office บรรยายเรื่อง “Rocket launch site”

(2) ดร.พงศธร สายสุจริต ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บรรยายเรื่อง “เทคโนโลยีดาวเทียมไทยกับความเป็นไปได้ในอนาคต” และ

(3) พลอากาศตรี เจษฎา คีรีรัฐนิคม สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ บรรยายเรื่อง “เทคโนโลยีจรวดและโอกาสของประเทศไทย”

ดำเนินการช่วงเสวนากับวิทยากร โดย ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู


วิศวกรชำนาญการ ด้านบริหารการทดลองและการสำรวจอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนผ่าน QR Code หรือผ่าน URL:https://forms.gle/rn4YSohs47XU5Gi7A ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 10 พฤศจิกายน 2563

ขวัญฤทัย ข่าว –ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ผศ.ประหัสชัย ชี้บทบาทศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี ตอบโจทย์สถานประกอบการ

คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพราะคณะเองก็มีภาควิชาบริหารธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม มีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และความพร้อมในเรื่องสถานที่อยู่แล้ว จึงได้เล็งเห็นความสำคัญและความพร้อมในการพัฒนาแรงงานภายในจังหวัดปราจีนบุรี และเขตภูมิภาค ให้มีมาตรฐานฝีมือแรงงานในการประกอบอาชีพ การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ถือได้ว่าเป็นการทดสอบความรู้ ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ผู้ทดสอบผ่านจะได้รับหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติระบุ ชื่อ นามสกุล สาขาและระดับที่ผ่านการทดสอบเป็นหลักฐานยืนยันในทักษะ ฝีมือของตน เพราะในปัจจุบันศักยภาพในการแข่งขันสูงในเวทีโลก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในอาชีพ มีทักษะ ประสบการณ์ และมีใจรักในการให้บริการ (Service Mind)

ผศ.ประหัสชัย ระมาศ รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพการศึกษา เปิดเผยถึงศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี ว่า ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาตินั้น สืบเนื่องจากสำนักมาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีนโยบายส่งเสริมให้สถานประกอบการที่มีแรงงานในสายการผลิตและการบริการ พัฒนากําลังคนให้มีมาตรฐานฝีมือแรงงานในการประกอบอาชีพ โดยมีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นการทดสอบความรู้ ทักษะ ความสามารถ และทัศนคติในการทํางานของผู้ประกอบอาชีพตามเกณฑ์กําหนดของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ผู้ผ่านการทดสอบจะได้รับหนังสือรับรองว่าเป็นผู้ที่มีฝีมืออยู่ในระดับประกันคุณภาพ และส่งเสริมให้สถานประกอบการใช้ผู้ผ่านการทดสอบ ประกอบกับ คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี มีการจัดการเรียนการสอน บริการวิชาการ และการวิจัย อย่างต่อเนื่องตามภารกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยทางคณะฯ มีภาควิชาบริหารธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และความพร้อมในเรื่องสถานที่ คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ จึงเล็งเห็นความสำคัญและความพร้อมในการพัฒนาแรงงานภายในจังหวัดปราจีนบุรี และเขตภูมิภาค “จึงยื่นขออนุญาตเป็นผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกลุ่มสาขาอาชีพบริการ สาขาพนักงานต้อนรับส่วนหน้า ระดับ 1” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 โดยสถานที่ทดสอบ ณ อาคารปฏิบัติการท่องเที่ยวและโรงแรม (Villa Vichalai Hotel) และผ่านการประเมินแล้วจากสำนักงานมาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สามารถจัดทดสอบได้ ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาอาชีพพนักงานต้อนรับส่วนหน้า ระดับ 1 (Front Desk Clerk/Receptionist)

อย่างไรก็ตามกลุ่มเป้าหมายศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จะเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท สถานที่พักรับรอง และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง ภายในจังหวัดปราจีนบุรี และเขตภูมิภาค ที่ต้องการพัฒนาบุคลากรและการวางแผนการฝึกอบรม เพื่อลดอัตราความเสียหายอันเนื่องจากการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้สินค้าและบริการที่ได้มีคุณภาพดีขึ้น รวมถึงเป็นแนวทางในการคัดเลือกบุคลากรเข้าปฏิบัติงาน โดยทางศูนย์มีข้อกำหนดทางวิชาการสาขาพนักงานต้อนรับส่วนหน้า ที่ใช้เป็นเกณฑ์วัด ความรู้ ความสามารถและทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น หน้าที่ความรับผิดชอบ กระบวนการลงทะเบียนเข้าพัก (Check in) คืนห้องพัก (Check Out) การให้บริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างเข้าพัก การสื่อสารของพนักงาน การใช้ภาษาอังกฤษในอาชีพ ความปลอดภัย รวมถึงบุคลิกภาพ มรรยาท และจริยธรรมของพนักงานต้อนรับส่วนหน้า

ส่วนการสร้างจุดเด่น-จุดขาย ของศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จะพิจารณาจากสถานประกอบการธุรกิจที่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องมีการดำเนินมาตรฐานที่สอดคล้องกับภาครัฐ และต้องมีแรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานแรงงานแห่งชาติ อยู่ในสายการผลิตและการบริการตามจํานวนที่กําหนดจะได้รับจึงจะได้รับ “เครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงาน” สำหรับสถานประกอบการ ที่แสดงว่าบุคลากรของสถานประกอบการมีการให้บริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและมีความปลอดภัย รวมถึงจะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่างๆ จากภาครัฐ อีกด้วย ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จะคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติงาน ความปลอดภัยในการทำงาน และขั้นตอนวิธีการทำงานที่เหมาะสม เป็นต้น

ผศ.ประหัสชัย ระมาศ เสริมว่าหลักสูตรและทิศทางในการบริหารจัดการศูนย์ฯ จัดการเรียนการสอนในหลักสูตร บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและโรงแรม โดยเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ มีคุณธรรมและจริยธรรมทางวิชาชีพ ที่มีความสามารถในการปฏิบัติงานได้จริง เพื่อนำไปพัฒนาองค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ โดยมีอาคารปฏิบัติการท่องเที่ยวและโรงแรม (Villa Vichalai Hotel) เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานจริง มีห้องพักรับรอง ห้องประชุมสัมมนา ห้องจัดเลี้ยง ซึ่งเปิดให้บริการสำหรับผู้เข้าพักที่สนใจมาใช้บริการ ภายใน มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี ไปพร้อมกับการฝึกปฏิบัติในหลักสูตร การให้บริการวิชาการควบคู่กัน เพื่อใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และที่สำคัญมีบุคลากรที่ความเชี่ยวชาญด้านนี้สำหรับดำเนินงานศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ส่วนทิศทางในการบริหารจัดการศูนย์ฯ “เราบริหารจัดการภายใต้นโยบายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการประสานงานผ่านสำนักงานฝีมือแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี” ทางเราให้การสนับสนุนด้านสถานที่ อุปกรณ์ และบุคลากรของหน่วยงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ในอนาคตทางคณะมีแผนขอยื่นรับรองเป็นผู้ทดสอบในกลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ สาขาอาชีพอื่นที่มีศักยภาพในการทดสอบต่อไป

ศูนย์ฯ ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการ เป็นการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักในเขตพื้นที่ และพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ผู้สอนที่เป็นผู้ทดสอบให้ทราบปัญหาและแนวทางการแก้ไขรวมกันกับสถานประกอบการที่ส่งบุคคลากรมาฝึกอบรม ทำให้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงในปัจจุบัน รวมถึงในอนาคตนักศึกษาของภาควิชาบริหารธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม และนักศึกษาที่สนใจ สามารถเข้ารับฝึกอบรมและการทดสอบ เพื่อรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพพนักงานต้อนรับส่วนหน้า ระดับ 1 ส่วนบทบาทพัฒนากําลังคนต่อศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี มีบทบาทต่อการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานของสถานประกอบการ และสนับสุนนจัดการเรียนการสอน สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยวและโรงแรมที่ตอบโจทย์อย่างยิ่ง ทั้งในด้าน ความรู้ (Knowledge) ซึ่งจำเป็นที่จะใช้ทำงานนั้นๆ ได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทักษะ (Skilled) เป็นการสะสมประสบการณ์จนเกิดเป็นความชำนาญ สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ตลอดจนทีทัศนคติ (Attitude) มีจิตสำนึกในการทำงานที่ดี

หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายโควิด-19 อาจารย์เล่าให้ฟังอีกว่า ทางศูนย์ฯ มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี พึ่งได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นปีแรก ประกอบกับเป็นช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 พอดี ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมทั่วประเทศโดยตรง ทำให้ทางเรา “ต้องมีการปรับตัวในการให้บริการของอาคารปฏิบัติการท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน ฝึกปฏิบัติ รองรับผู้ใช้บริการ และเป็นสถานที่ตั้งศูนย์ฯ จะต้องปรับให้สอดรับกับ New normal” โดยเฉพาะให้สอดคล้องกับผู้มาใช้บริการที่สนใจในการดูแลสุขภาพ และความปลอดภัย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่องสู่การเป็นต้นแบบเมืองสมุนไพรสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการอบรมและทดสอบของศูนย์ฯ ในอนาคต หากสนใจอยากจะไปเรียนที่ศูนย์ฯ นี้สามารถเข้าดูรายละเอียดสาขาอาชีพ กำหนดการอบรม และเวลาการรับสมัคร โดยสมัครได้ที่สำนักงานฝีมือแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี (www.dsd.go.th/prachinburi) หรือคณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี

ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี จะช่วยยกระดับฝีมือแรงงาน รับรองความรู้ความสามารถ (License) เพื่อพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปต่อยอด หรือสร้างองค์ความรู้สู่สถานประกอบการ การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้อย่างสมประโยชน์ ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จากแรงงานผู้มีทักษะฝีมือ มีคุณภาพดีต่อผลผลิตของสินค้า การบริการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะครุศาสตร์ฯ มจพ. ต้อนรับคณะอนุกรรมการประเมิน เพื่อการรับรองปริญญาตรีทางการศึกษา (หลักสูตร 5 ปี)

รศ.ดร.เสาวณิต สุขภารังษี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และ รศ.ดร.สันชัย อินทพิชัย รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนากิจการมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมด้วย รศ.ดร.ไพโรจน์ สถิรยากร คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและผู้บริหารคณะ ให้การต้อนรับคณะอนุกรรมการประเมินเพื่อการรับรองปริญญาตรีทางการศึกษา (หลักสูตร 5 ปี) เข้าประเมินมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานบัณฑิตตามสภาพจริงของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. จำนวน 2 หลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและการศึกษา (หลักสูตร 5 ปี) (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2561) และหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธาและการศึกษา (หลักสูตร 5 ปี) (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2563) ณ ห้องประชุม 208 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา อนุกรรมการในการตรวจประเมิน ดังนี้รายชื่อ 1. รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ ประธานอนุกรรมการ 2. รศ.กณิดา มาประเสริฐ อนุกรรมการ 3. รศ.ดร.สิทธิชัย แก้วเกื้อกูล อนุกรรมการ 4. รศ.ดร.ไพโรจน์ กลิ่นกุหลาบ อนุกรรมการ 5. นางสาวอรนุช หงวนไธสง ผู้อำนวยการกลุ่มรับรองปริญญาและประกาศนียบัตร และ 6. นายปิยะ ประเสริฐสังข์
นักวิชาการ

ในการประเมินมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานบัณฑิตตามสภาพจริงในครั้งนี้ นอกจากการพิจารณามาตรฐานหลักสูตรบัณฑิต มาตรฐานการผลิต มาตรฐานบัณฑิตจากข้อมูลของสถาบันตามแบบประเมินมาตรฐานการผลิตฯ การซักถามข้อมูลเพิ่มเติมประกอบพิจารณาพร้อมข้อเสนอแนะแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ได้ขอสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง โดยแบ่งกลุ่มสัมภาษณ์ แบ่ง 3 กลุ่ม เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้ 1. ผู้แทนนักศึกษา คละชั้นปี รวมจำนวน 20 คน 2. ครูพี่เลี้ยง และผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นเครือข่ายปฏิบัติการสอน รวมจำนวน 6-10 คน และ 3. อาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์ผู้สอนรายวิชาชีพครูและอาจารย์นิเทศก์ รวมจำนวน 10 คน

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. ขอขอบพระคุณคณะอนุกรรมการประเมินเพื่อการรับรองปริญญาตรีทางการศึกษา (หลักสูตร 5 ปี) จากคุรุสภา ที่ให้คำแนะนำที่มีประโยชน์อย่างยิ่งแก่คณะและมหาวิทยาลัย

ประจักษ์เวช ข่าว-ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

วิทยาลัยนานาชาติ มจพ. จัดสัมมนาทางวิชาการและศึกษาดูงานนักศึกษา ป.ตรี ณ ต่างประเทศ ปี’63

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้จัดการศึกษาในหลักสูตรบริหารธุรกิจสาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์ (หลักสูตรนานาชาติ) ด้วยปรัชญาการศึกษาของวิทยาลัยคือ “ปัญญาสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด วิสัยทัศน์สู่สากล” ในการผลิตบุคลากรคุณภาพที่จะเป็นกำลังสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติและนานาชาติ

รศ.ดร.พิเชษฐ์ ศรียรรยงค์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มจพ. เปิดเผยว่า วิทยาลัยนานาชาติเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดโลกทัศน์ ของนักศึกษาในสาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์ให้กว้างไกล รวมถึงได้สัมผัสสถานการณ์และวัฒนธรรมแปลกใหม่และมีประสบการณ์การเรียนรู้ในต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานักศึกษาสู่การเป็นมืออาชีพในด้านธุรกิจระหว่างประเทศ และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยในทุกๆ ปีการศึกษา ภาคการศึกษาที่ 2 ของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 เป็นภาคการศึกษามีการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งมิอาจจำกัดเพียงการเรียนรู้ในห้องเรียนและในประเทศ ได้แก่ รายวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ต่างวัฒนธรรม (Managing People Across Cultures) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ข้ามวัฒนธรรม และการบริหารจัดการองค์กรในระดับนานาชาติ ประกอบด้วยบุคลากรจากหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ทั้งหลักการทำความเข้าใจ ปรับตัว ทัศนคติ และเจตคติอันเหมาะสม พร้อมต่อการทำงานในระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพ รายวิชาการตลาดระดับโลก (Global Marketing) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมการตลาดระหว่างประเทศและระดับโลก ตลอดจนรายวิชาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและธุรกิจรับจัดการขนส่งระหว่างประเทศ (Multimodal Transportation and Freight Forward Business) ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการขนส่งต่อเนื่อง บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของธุรกิจ รับจัดการขนส่งที่มีต่อการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ ขั้นตอนการดำเนินงานเกี่ยวกับสินค้า การจัดการรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เงื่อนไขทางการค้าและเอกสารที่เกี่ยวกับการขนส่ง

รศ.ดร.พิเชษฐ์ เสริมว่า การเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ในต่างประเทศนั้น เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียนจากการจัดทัศนศึกษาภายนอกราชอาณาจักร ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นที่มาในการจัดโครงการสัมมนาทางวิชาการและศึกษาดูงานนักศึกษาระดับปริญญาตรี ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ. 2563 ในระหว่างวันที่ 5 – 11 มกราคม พ.ศ. 2563 ซึ่งมีนักศึกษาของวิทยาลัยนานาชาติจำนวน 61 คน เข้าร่วมโครงการและมีคณาจารย์ของวิทยาลัยนานาชาติจำนวน 4 คน ดำเนินการจัดทำโครงการ ประสานงาน ตลอดจนควบคุมดูแลนักศึกษาอย่างใกล้ชิด โดยประกอบด้วย (1) รศ.ดร. พิเชษฐ์ ศรียรรยงค์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ (2) ผศ.ดร อัจฉรียา รอบกิจ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา (3) อาจารย์ณัฐธิดา พลซื่อ อาจารย์ประจำ และ (4) ผศ.ดร. อังกูร ลาภธเนศ อาจารย์พิเศษและผู้เชี่ยวชาญในสาขาโลจิสติกส์ โดยนักศึกษาจะได้ประสบการณ์จากการทัศนศึกษา ศึกษาดูงาน และการเข้าร่วมการสัมมนาพิเศษทางวิชาการ อีกทั้งผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตรในการเข้าร่วมโครงการ (Certificate of Attendance) รายละเอียดดังนี้

1) การสัมมนาพิเศษทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยมาเก๊า (University of Macau) ในหัวข้อ “International Management: Rising to the Challenge” โดย Asst. Prof. Dr. Javier Calero Cuervo, Department of Management and Marketing, Faculty of Business Administration, University of Macau

2) การสัมมนาพิเศษทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ในหัวข้อ “Global Business for Competitive Advantage” โดย Prof. Dr. Shigeru Matsumoto, Cross Border Mergers & Acquisitions Endowed Professor, Graduate School of Management, Kyoto University

3) ศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์โทมาริ (Tomari Nuclear Power Plant) Tomari Nuclear Power Plant, Hokkaido Electric Power Co. Inc., Shiribeshi, Hokkaido, Japan

4) ศึกษาดูงานที่ท่าเรือโทมาโคไม (Port of Tomakomai) Tomakomai Port Authority, Iburi, Hokkaido, Japan
สอบถามรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยนานาชาติ มจพ. (International College) โทร. 094-0567931, 02- 5552000 ต่อ 2811, 2812 หรือ Line ID: ickmutnb และที่ Facebook: International College KMUTNB

ขวัญฤทัย ข่าว –ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

สัมภาษณ์ exclusive อ.ดร.พนิดา เรณูมาลย์ บทบาทและการทำงานศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ.ปราจีนบุรี

ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี บทบาทและการทำงานจะเน้นให้บริการด้านการวิจัย และบริการวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกษตร และการบริการวิชาการเชิงบูรณาการกับการเรียนการสอนด้านอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจของคณะและมหาวิทยาลัย ฉบับนี้พามาเจาะลึกสัมภาษณ์แบบ exclusive กับอาจารย์ ดร.พนิดา เรณูมาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. ปราจีนบุรี เกี่ยวกับทิศทางของศูนย์วิจัยฯ ทั้งเรื่องการจัดหลักสูตรอบรม การให้บริการวิชาการความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตรแก่วิสาหกิจชุมชน รวมถึงงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมให้กับชุมชนในการแก้ปัญหาด้านอุตสาหกรรมเกษตร ว่าในปีนี้จะเป็นอย่างไรเพื่อตอบสนองต่อพันธกิจของคณะและมหาวิทยาลัย

อาจารย์ ดร.พนิดา เล่าถึงการจัดตั้งศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรว่า คณะอุตสาหกรรมเกษตร มียุทธศาสตร์การวิจัยที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เพื่อเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยและบริการวิชาการด้านอุตสาหกรรมเกษตรที่มีคุณภาพให้แก่สังคม โดยหน้าที่ของศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตรด้านงานวิจัยที่มีบทบาทต่อบุคลากรและนักวิจัยภายในคณะเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างผลงานวิชาการทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ส่วนกิจกรรมด้านงานบริการวิชาการมีนโยบายการให้บริการวิชาการความรู้ด้านอุตสาหกรรมเกษตรแก่วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และสังคม อย่างน้อยปีละ 2 เรื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของคณะฯ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะงานด้านบริการวิชาการ “จะมุ่งเน้นการจัดบริการวิชาการที่บูรณาการกับการจัดการเรียนการสอน การวิจัยด้านอุตสาหกรรมเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมเกษตร”

กลุ่มเป้าหมายศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร เน้นการให้บริการวิชาการให้แก่ชุมชน วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้สนใจทั่วไป และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง อีกทั้งศูนย์วิจัยฯ ยังเป็นสื่อกลางในการจัดหลักสูตรอบรมระยะสั้นทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.พนิดา ยังให้ความสำคัญใน “การดำเนินงานทั้งเชิงรับและเชิงรุกในการเข้าถึงปัญหาและความต้องการของผู้ขอรับบริการ โดยเน้นงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมให้กับชุมชนในการแก้ปัญหาด้านอุตสาหกรรมเกษตร และการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบภายในท้องถิ่น” อาศัยกระบวนการพัฒนาทักษะด้านงานวิจัยและเพิ่มพูนความรู้ของนักวิจัยได้เต็มศักยภาพ จึงทำให้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาได้ตรงกับความต้องการของผู้ขอรับบริการได้อย่างแท้จริง

ทิศทางในการบริหารจัดการศูนย์ฯ เน้นหนักไปที่กลยุทธ์ที่เป็นเชิงรุกคือ การไปรับโจทย์วิจัยจากหน่วยงานรัฐบาล อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานสหกรณ์จังหวัด เป็นต้น ยิ่งในปัจจุบันการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งที่ใช้เป็นการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร กิจกรรมให้เป็นที่รู้จัก เช่น เว็บไซต์ศูนย์วิจัยฯ Facebook ,YouTube และการจัดทำข้อมูลใน QR code เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่สนใจเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวางและให้เป็นรู้จักได้ ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ.ปราจีนบุรี สามารถตอบโจทย์ให้กับชุมชน ทั้งหลักสูตรการฝึกอบรม ให้บริการวิจัย และบริการวิชาการ ด้านอุตสาหกรรมเกษตรที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดพัฒนาได้ตรงกับความต้องการของผู้ขอรับบริการซึ่งในปีที่แล้วศูนย์วิจัยฯ ถือว่าประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาจารย์ ดร.พนิดา กล่าวท้ายที่สุด บุคคลทั่วไปสนใจในหลักสูตรสามารถสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 037-217300 ต่อ 7938, 7932, 7933, 7934

ขวัญฤทัย ข่าว -ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์สะเต็มศึกษา มจพ. จัดการแข่งขัน “KM STEM Robotics Competition ครั้งที่ 2

ทีมหุ่นยนต์ PKK จากโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน มจพ. คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการแข่งขัน KM STEM Robotics Competition ครั้งที่ 2 มีอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์คฑาวุฒิ อุชชิน สมาชิกทีมหุ่นยนต์ PKK ประกอบด้วย นายภูรี พลับจุ้ย นายพีรณัฐท์ โพธิ์เงิน จัดโดยศูนย์สะเต็มศึกษา มจพ.

มีเป้าหมายเน้นที่นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาได้มีความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์สื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาการ STEM มีความคิดริ่มเริ่มสร้างสรรค์นำไปต่อยอดเป็นนักประดิษฐ์ และสร้างนวัตกรรมต่อไป และขอบคุณทีมงานทุกท่าน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้สนับสนุนเงินรางวัลในการแข่งขัน ได้แก่บริษัท AppliCAD (สุดยอดเทคโนโลยี 3D ต้อง AppliCAD) Prapas Applicad รวมถึงคณะกรรมการสะเต็มศึกษา มจพ. เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 ณ โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน มจพ.

ขวัญฤทัย ข่าว


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ภาพข่าวคณะอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการทางวิทย์

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการ “การฝึกทักษะปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จังหวัดปราจีนบุรี โดยคณะอุตสาหกรรมเกษตรได้จัดกิจกรรมแบ่งเป็น 2 รอบ

รอบที่ 1 นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 44 คน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 เวลา 08.30 – 16.30 น.

รอบที่ 2 นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5 จำนวน 56 คน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2563 เวลา 08.00 – 16.00 น.

 

นอกจากนี้คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลความพร้อมด้านอุปกรณ์ เครื่องมือการแปรรูป เครื่องมือการวิเคราะห์คุณภาพ และศักยภาพของบุคลากรของคณะอุตสาหกรรมเกษตรในการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร โภชนาการ การจัดการ และนวัตกรรมและเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือด้านการพัฒนาทางวิชาการระหว่างคณะอุตสาหกรรมเกษตรและโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุงต่อไป

ขวัญฤทัย ข่าว


 

Exit mobile version