Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. TOP 10 ม.ไทย จากการจัดอันดับ THE Ranking 2022

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ติดอันดับ TOP 10 มหาวิทยาลัยไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก Times Higher Education World University Rankings 2022 กลับมาติดอับดับอย่างสมศักดิ์ศรีอีกครั้ง สืบเนื่องจากปี 2563 มจพ. ถูกจัดอันดับที่ 13 โดยคิดคะแนนจากผลคะแนนดิบ ซึ่งปีนี้มีมหาวิทยาลัยไทยติดอับดับรวม 17 มหาวิทยาลัย Times Higher Education หรือ THE สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ชื่อดังจากประเทศอังกฤษ  ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับ Times Higher Education World University Rankings 2022 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นอันดับที่ 6 ร่วมของไทย

(คิดเป็นอันดับที่ 10 ของไทยจากผลคะแนนดิบ) จากทั้งหมด 17 มหาวิทยาลัย และจัดอยู่ในอันดับที่ 1201+ ของโลก จากมหาวิทยาลัยทั่วโลก 2,100 กว่าแห่ง

ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณาจากตัวชี้วัด  Times Higher Education University Rankings 2022 ในการจัดอันดับพิจารณาจากตัวชี้วัด 5 ด้าน ประกอบด้วย การเรียนการสอน (Teaching) ร้อยละ 30, การวิจัย (Research) ร้อยละ 30, การอ้างอิงงานวิจัย (Citations) ร้อยละ 30, รายได้ทางอุตสาหกรรม (Industry Income) ร้อยละ 2.5 และความเป็นนานาชาติ (International Outlook) ร้อยละ 7.5 โดยเมื่อนำผลคะแนนมาดูรายละเอียดตามรายตัวชี้วัด จะพบว่า มจพ. ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นจากปีก่อน คือ อันดับที่ 10 ของประเทศ โดยตัวชี้วัดที่ทำได้ดีและเด่นชัดที่สุดคือ ด้านการอ้างอิงงานวิจัย (Citations) ซึ่งจัดเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อนที่เป็นอันดับที่ 9 บ่งบอกถึงการที่มหาวิทยาลัยมีการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ขอขอบคุณบุคลากร นักวิจัย และนักศึกษาทุกท่านที่ร่วมมือกันพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ในเวทีโลก  ดังวิสัยทัศน์ของการเป็น ‘มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ’

ข้อมูลเว็บที่จัดอันดับ https://bit.ly/3BKvUaa

ขวัญฤทัย ข่าว


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

อาจารย์ มจพ. คว้ารางวัล BEST PRESENTATION จากงานประชุม ICRES 2021 ตอบโจทย์ การอนุรักษ์พลังงาน

ผลงานวิจัย เรื่อง “Valorisation Wastes from Sugar Mill Plant and Water Supply Treatment Process as Alternative Materials for Ecological Ceramic Floor Tiles” รศ.ดร.อุบลรัตน์ หวังรักษ์ดีสกุล ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้รับรางวัลการนำเสนอยอดเยี่ยม BEST PRESENTATION ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 2021 3rd International Conference on Resources and Environment Sciences (ICRES 2021) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้มาทำความรู้จักกับ รศ.ดร.อุบลรัตน์ หวังรักษ์ดีสกุล เล่าถึง ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล Best Presentation Award จากงานประชุมวิชาการนานาชาติ ICRES 2021 เป็นการประชุมแบบออนไลน์ ที่เน้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นงานวิจัยประเภท Waste Utilization ซึ่งเน้นการใช้อรรถประโยชน์กากของเสียจากภาคอุตสาหกรรม ในการผลิตกระเบื้องเซรามิค ดังนั้น กากของเสียที่นำมาใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ จำต้องมีส่วนประกอบ Silica และ Alumina เป็นหลัก รวมทั้งสารประกอบโลหะออกไซด์ ที่ช่วยลดอุณหภูมิในการเผาเพื่อประหยัดพลังงานสำหรับการผลิตกระเบื้องเซรามิค โดยมีนายธนพงษ์ พุ่มม่วง นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผู้ร่วมวิจัยและสร้างชิ้นงานประดิษฐ์


วัตถุประสงค์ของงานวิจัย เพื่อศึกษาผลของการใช้ เถ้าชานอ้อย แคลเซียมคาร์บอนเนต ดินตะกอนน้ำประปา และเศษแก้วสีชา สำหรับกระเบื้องปูพื้น และเพื่อพัฒนากระเบื้องดินเผาจากวัสดุของเสียจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 2508-2555 ส่วนวัสดุของเสียที่นำมาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยนี้ มาจากโรงงานผลิตน้ำตาล คือ แคลเซียมคาร์บอเนต และ เถ้าชานอ้อย จากโรงผลิตน้ำประปา คือ ดินตะกอนน้ำประปา และเศษแก้วจากโรงผลิตขวดแก้ว ผลที่ได้ถือว่าเป็นการใช้กากของเสียในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาระต่อผู้ประกอบการในการกำจัดทิ้งวัสดุจากกระบวนการผลิต งานวิจัยนี้ได้รับทุนขับเคลื่อนงานวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ปี 2563 ระยะเวลา 1 ปี

ลักษณะเด่นของงานวิจัย วัสดุที่ใช้ในการผลิตเป็น กากของเสียจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ในกระบวนการวิจัย และยังใช้อุณหภูมิในการเผาสำหรับกระเบื้องปูพื้นในงานวิจัยนี้ต่ำกว่าที่มีการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป สำหรับการประยุกต์ใช้ แคลเซียมคาร์บอเนต ของเสียจากโรงงานน้ำตาล นอกจากนี้ ยังได้ประยุกต์ใช้เศษแก้วที่มี เป็นส่วนประกอบของออกไซด์ที่ช่วยลดจุดหลอมตัวในการเผา เป็นการช่วยอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย

หากจะมองถึงประโยชน์การใช้งานวิจัย รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวว่าสามารถเป็นนำไปต่อยอดและพัฒนาไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมชุมชน ที่มีความสนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้สีสันที่แปลกตาจากที่โรงงานเคยผลิต รวมถึงการเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ของเสีย มูลค่าของเสียเพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้า สนับสนุนให้เกิดธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 084-676-3237

ขวัญฤทัย ข่าว – ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

กองกลาง มจพ. จัดโครงการโลว์คาร์บอน (Low Carbon) ด้วย “ต้นไม้ฟอกอากาศ” รูปแบบออนไลน์

อาจารย์ ดร.สราวุฒิ สืบแย้ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลังและกิจการทั่วไป มจพ. กล่าวเปิดงาน โครงการโลว์คาร์บอน (Low Carbon) ด้วย “ต้นไม้ฟอกอากาศ” และการมอบนโยบายการพัฒนาสำนักงานสีเขียวตามประกาศกองกลาง เรื่อง การส่งเสริมการจัดการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2564 โดยนางจารุวรรณ ศรีพงษ์พันธุ์กุล ผู้อำนวยการกองกลาง จากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง โลว์คาร์บอน (LOW CARBON) โดยผศ.ดร. ณัฐพงศ์ มกระธัช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมและกายภาพ ปิดท้ายด้วยพิธีมอบ “ต้นไม้ฟอกอากาศ” อาทิ ต้นรวย ไม่เลิก เศรษฐีพันล้าน ช้อนเงิน ช้อนทอง หัวใจทศกัณฑ์ เป็นต้น โครงการโลว์คาร์บอน (Low Carbon) เป็นบูรณาการเข้ากับโครงการของมหาวิทยาลัยตามคำรับรองการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และโครงการของสำนักงานอธิการบดี ดำเนินการโดยคณะกรรมการพัฒนาสำนักงานอธิการบดีสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวซึ่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการจัดการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม กองกลาง เข้ามาทำหน้าที่และเป็นตัวแทนของกองกลางในการส่งเสริมให้กองกลางมีการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพภายใต้กรอบนโยบาย และแนวคิดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการบูรณาการด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการทำงาน รวมไปถึงแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเสริมสร้างแรงจูงใจร่วมกัน ตลอดจนการส่งเสริมให้ทุกกลุ่มงาน ในสังกัดกองกลาง นำกิจกรรมการส่งเสริมการจัดการด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติภารกิจได้ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมตามแผนการพัฒนาสำนักงานสีเขียวตามประกาศกองกลางในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ ห้องประชุม 215 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. จัดงานประกวดเฟ้นหาสุดยอดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมระดับประเทศ KMUTNB Innovation Awards 2021 ประกาศรับรางวัล Grand Prize พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ประจำปี 2564 KMUTNB Innovation Awards 2021 ชิงถ้วยพระราชทานรางวัล Grand Prize สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รูปแบบออนไลน์ครั้งแรก ปรับเวทีสอดรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผู้สนใจจากสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา บริษัทเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวม 200 กว่าผลงาน

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศ ผ่านเวทีถ่ายทอดสด ที่ https://kmutnb-inno.top/ โดยในปีนี้แบ่งผลงานที่เข้าร่วมประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) Innovative Ideas ค้นหาสุดยอดแนวคิดนวัตกรรมต่อยอดสู่ผลงานที่ใช้ได้จริง 2) Innovative Products ค้นหาสุดยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษา ตลอดจนนักเรียนและประชาชนทั่วไป มีเวทีได้แสดงออกถึงความรู้ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานประโยชน์ระหว่างผู้ประดิษฐ์และผู้ที่สนใจ ในการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีความก้าวหน้า และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้

จากนั้นผู้เข้าประกวดที่ผ่านเข้าสู่รอบ 12 ทีมสุดท้าย จากผลงานงานทั้งสิ้น 204 ทีม ได้เริ่มนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ และช่วงบ่ายของวันงานคณะกรรมการตัดสินได้พิจารณาผลงานและประกาศผลการตัดสิน ผลงานที่ได้รับรางวัล Grand Prize พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งคัดเลือกจากผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท ผลปรากฎว่า ผลงานเรื่อง เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพา ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรด ของ นายคานาเมะ มิอูระ นายกรธัช องค์ตระกูลกิจ นายณัฐนัย วรวิจิตราพันธ์
รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และ ศ.ดร.ชิเกโอะ ทานากะ ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยคานาซาวา ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภท Innovative Products ได้รับรางวัลดังกล่าวไปครอง และทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภท Innovative Ideas ได้แก่ ผลงานเรื่อง คิด-ดี ทีมจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย นายอัฟวัน นิเด็ง นายฟะห์มี เปาะสา นางสาวฮุสนา มะดอรอแม และรศ.ดร.มณฑล เลิศคณาวนิชกุล

นอกจากรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศแล้ว ยังมีการมอบรางวัลให้แก่รองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และชมเชยอีก 3 รางวัลในแต่ละประเภท รวมเป็นเงินรางวัลทั้งสิ้น 210,000 บาท ซึ่งผู้จัดงานจะจัดพิธีมอบรางวัลอย่างสมเกียรติทันที เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ดีขึ้นแล้ว ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ทั้งผู้ชนะและผู้เข้าประกวดทุกทีมต่างก็ได้รับจากการเข้าร่วมงานนี้ก็คือการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมให้มีความก้าวหน้า สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้

โดยผลรางวัลในแต่ละประเภทมีดังนี้
ประเภท : Innovative Ideas

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง คิด-ดี (KID-D) (ID17) ทีมจาก มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย นายอัฟวัน นิเด็ง นายฟะห์มี เปาะสา นางสาวฮุสนา มะดอรอแม และรศ.ดร.มณฑล เลิศคณาวนิชกุล ได้รับเงินรางวัล 40,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง ระบบ โฟลว์แบตเตอรี่-
โซล่าเซลล์ ไฮบริไดเซซัน จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย นายศักดิ์สิทธิ์ จิตรวุฒิโชติ
นางสาวบุษบา การุณสิต นางสาวกรรณิการ์ อ้นอยู่ นายสุวัจน์ สิกบุตร และ ผศ.ดร.รังสิมา หญีตสอน ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง ชุดถังขยะประกอบได้ พร้อมถุง จากบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) โดย นางสาวพิมพ์ชนก อ่อนมา นางสาวนงลักษณ์ กรุทฤทธิ์ และ นางสาวศิริกาญจน์ สายสมร ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้รับเงินรางวัลผลงานละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่
ผลงานเรื่อง ชุดควบคุมระยะไกล สู้ภัยโควิด 19 ทีมจาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย นายดิษยบดินทร์ ขันผนึก นายสุรดิษ พวงสมบัติ นายโชคอนันต์ รันนะโคตร และ รศ.ดร.เกียรติสิน กาญจนวนิชกุล
ผลงานเรื่อง จานใบไม้เคลือบผิวด้วยสารไคตินเพื่อป้องกันเชื้อราและเสริมความแข็งแรง ทีมจาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โดย นายราธา โรจน์รุจิพงศ์ นายผ่านฟ้า เลาหสินนุรักษ์ นายศรัณย์ นวลจีน และ ดร.จันทร์จิรา มณีสาร
ผลงานเรื่อง ชุดตรวจวัดคอปเปอร์ II ไอออน โดยใช้เซลลูโลสอะซิเตดเป็นวัสดุรองรับ ทีมจาก วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี โดย นางสาวทักษพร เข็มรัมย์ นางสาวจิรัฏฐ์ญาดา บุญกระโทก นางสาวจุฬารัตน์ นนท์นอก นายอภินันท์ วิศุภกาญจน์ นางสาวศิรภัสสร ขบวนงาม นางสาวมุทิตา จวบกระโทก นางสาววนัชพร อ่วมจิ๋ว และ นางสาวเนตรนภา ทอจะโป๊ะ

ประเภท : Innovative Products

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานเรื่อง เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพา ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรด ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยคานาซาวา โดย นายคานาเมะ มิอูระ นายกรธัช องค์ตระกูลกิจ นายณัฐนัย วรวิจิตราพันธ์ รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และ ศ.ดร.ชิเกโอะ ทานากะ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่ และเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ผลงานเรื่อง เครื่องผลิต กรดไฮโปคลอรัส และโซเดียมไฮโปคลอไรท์ ทีมจาก บริษัท โปรลอก ไทเทเนียม คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดย นางสาวอรวรรณ ศรีตองอ่อน และ นายธนพล หวานสนิท ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่อง ขดลวดค้ำยันชนิดดึงกลับจากวัสดุฉลาดผลิตด้วยวิธีการสานสำหรับรักษาโรคหลอดเลือด สมองตีบตันระยะเฉียบพลัน ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย นายสรธรณ์ คูชัยยานนท์ นายกณวรรธน์ รัตนพงษ์เพียร นายสุรเชษฐ แก้วอยู่ และ รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และเกียรติบัตร

รางวัลชมเชย 3 รางวัล ได้รับเงินรางวัลผลงานละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่
ผลงานเรื่อง ซินไบโอ โทโทล ไรซ์ ทีมจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย นายฐาปกรณ์ ชุมพล และ ผศ.ดร.ศรัณย์ พรหมสาย
ผลงานเรื่อง ระบบวิเคราะห์ดินสำหรับการปลูกผลไม้เศรษฐกิจ ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย นายนรเศรษฐ์ ไผ่ผาด และ ดร.วัชรีวรรณ จิตต์สกุล
ผลงานเรื่อง เยลลี่พร้อมดื่มจากน้ำหยวกกล้วยน้ำว้าเสริมเส้นใยสับปะรด ทีมจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดย นางสาวนิราภรณ์ โลนุช นางสาวสุธิดา บัวคีรี และผศ.ดร.ศรีเวียง ฤทธิศักดิ์

เยี่ยมชมบูธผลงาน เครื่องคัดกรองประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนแบบพกพา ด้วยการวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยแสงความยาวคลื่นช่วงใกล้อินฟราเรด
https://kmutnb-inno.top/invention/4/atifact/167?back=%2Finvention%2F4
เยี่ยมชมบูธผลงาน คิด-ดี
https://kmutnb-inno.top/invention/4/atifact/110?back=%2Finnovative-ideas%2F4
ชมบันทึกการถ่ายทอดสดได้ที่
 https://youtu.be/K_-dTqWnECU
 https://www.facebook.com/KMUTNBINNO


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ . มอบหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC แก่สถาบันบำราศนราดูร สู้ภัยโควิค

ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี พร้อมด้วยคุณภรณี ลีนุตพงษ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ผศ.สมชาย เวชกรรม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ อาจารย์ ดร.สราวุฒิ สืบแย้ม ผู้ช่วยอธิการบดีการคลังและกิจการทั่วไป ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมและกายภาพ และทีมผู้วิจัย รศ.ดร.ศุภชัย ตระกูลทรัพย์ทวี และผศ.ดร.สถาพร วังฉาย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมมอบหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC รับมอบโดย นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ที่สถาบันบำราศนราดูร ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2564

นวัตกรรมหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ให้กับสถานพยาบาล และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นการออกแบบสร้างหุ่นฉายรังสี UVC ระบบควบคุมไร้สายด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส และเพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีและการนำเทคโนโลยีใช้ให้เกิดประโยชน์สู่สังคม ขนาดหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC 68x78x180 ซม.และใช้หลอดรังสียูวีที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ได้แก่ หลอดไอปรอทแรงดันต่ำ เปล่งรังสี 254 nm/หลอดอะมัลกัม เปล่งรังสี 254 nm/ หลอด UV LED ที่แปล่งรังสีในช่วง 242-313 nm หรือ 260-265 nm

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอเชิญชวนผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
สามารถบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” ธนาคารกรุงเทพ สาขา มจพ. เลขที่บัญชี 907-3-50043-2 ใบเสร็จรับเงินการบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.02-555-2000 ต่อ 1604


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. ปราจีนบุรี การประชุมวิชาการ “COCEAM 2021” รูปแบบออนไลน์

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี กำหนดจัดการประชุมวิชาการ The 5th Consortium of Cooperative Education in Agro-Industry and Management 2021 (COCEAM 2021) ระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานสหกิจศึกษาด้านอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาศาสตร์การอาหาร วิศวกรรมอาหาร การจัดการธุรกิจเกษตร กำหนดการส่งผลงานบทคัดย่อและบทความฉบับเต็ม (Proceeding) ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ค่าลงทะเบียน ประเภท อาจารย์/บุคลากร และผู้นำเสนอผลงาน วันที่ 1 มีนาคม – 15 มิถุนายน 2564 จำนวน 500 บาท และ วันที่ 16 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2564 จำนวน 800 บาท ส่วนนักศึกษาที่เข้าร่วมงาน ไม่มีค่าใช้จ่าย ภายในงานยังมีรางวัลในการประชุมวิชาการระดับชาติ 2 ประเภท ได้แก่ รางวัลการแข่งขันการนำเสนอผลงาน (แบบปากเปล่า) และรางวัลการแข่งขันการนำเสนอผลงาน (แบบโปสเตอร์)

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ผศ.ดร.เกตินันท์ กิตติพงศ์พิทยา โทร. 093-3151919 อ.ดร.เปรมศักดิ์ พวงพลอย โทร. 063-0541379) อ.ดร.โกศล น่วมบาง โทร. 080-9956441 และ อ.ดารัตน์ เดชอำไพ โทร.088-3209010 ติดตามและสมัครเข้าร่วมงาน COCEAM ได้ที่ Website: www.agro.kmutnb.ac.th/coceam
E-mail: coceam.a@agro.kmutnb.ac.th และที่ Facebook page: Coceam

ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะครุฯ มจพ. ขยายเวลาส่งบทความวิจัยการประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 13 และการจัดประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรม ระดับนานาชาติ ครั้งที่ 8

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กำหนดจัดประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 13 The 13th National Conference on Technical Education (NCTechEd13) และการประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 8 The 8th International Conference on Technical Education (ICTechEd8) หัวข้อเรื่อง “Transitioning to the New Normal in Engineering and Education” ระหว่างวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2564 นั้น ในรูปแบบ onsite (หรือ online เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รอบใหม่ในประเทศไทย) โดยจัดการประชุมสัมมนาภาพรวมและการประชุมกลุ่มย่อยในด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรม วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีทางการศึกษา วิจัยและพัฒนาหลักสูตร และการบริหารธุรกิจ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาต่าง ๆ การระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายความรู้ด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมให้กับคณาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและผู้สนใจทั่วไปจากทั่วประเทศ

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจพ. ได้ขยายเวลาการส่งผลงานวิจัยฉบับเต็มจากเดิมกำหนดส่งวันสุดท้ายวันที่ 29 มีนาคม 2564 เป็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2564
การจัดประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 13 ดำเนินการตามหลักการรักษาระยะห่างทางกายภาพ ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข ทางคณะผู้จัดงานประชุมวิชาการฯ ขอสงวนสิทธิ์ปรับเปลี่ยนการนำเสนอผลงานเป็นรูปแบบออนไลน์ หรือให้เป็นไปตามประกาศของศูนย์บริหาร

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือประกาศมหาวิทยาลัยต่อไป รายละเอียดดดังนี้
1) วันสุดท้ายของการรับผลงานวิจัยฉบับเต็ม (Submission of Full paper) วันที่ 10 พฤษภาคม 2564
2) แจ้งผลการพิจารณาผลงานวิจัยฉบับเต็ม (Notification of Acceptance) วันที่ 31 พฤษภาคม 2564
3) ส่งผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Submission of Final Manuscript) วันที่ 14 มิถุนายน 2564 พร้อมชำระเงินค่าลงทะเบียน

ขอเชิญคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมประชุมวิชาการ และส่งบทความวิจัยในกลุ่มสาขาวิชาดังกล่าวข้างต้น โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึง Download แบบฟอร์มทางเว็บไซต์ http://ncteched.fte.kmutnb.ac.th หรือ E-mail : ncteched@fte.kmutnb.ac.th และการประชุมวิชาการ
ครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 8 ทางเว็บไซต์ http://icteched.fte.kmutnb.ac.th หรือ
E-mail : icteched@fte.kmutnb.ac.th

โดยผลงานวิจัยที่ได้รับการตอบรับจะได้รับการพิจารณาลงตีพิมพ์
ในวารสารวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรม พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งวารสารวิชาการอยู่ในฐานข้อมูล TCI (กลุ่มที่ 2) และผลงานวิจัยที่ได้รับการตอบรับและนำเสนอในที่ประชุม ICTechEd8 (Track 1) จะได้รับคัดเลือกเข้าฐานข้อมูล Scopus สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คุณวลัยพร ยอดคำมี หรือคุณศิริพร ยางสวย สำนักงานคณบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0-2555-2000 ต่อ 3221 และ 3201

ขวัญฤทัย ข่าว –ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี ร่วมหารือ ศภ.9 กสอ. เสริมแกร่ง ITC 4.0

คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
โดย ผศ.ดร.ปิยะรัชช์ กุลเมธี คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ดร.พนิดา เรณูมาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ อาจารย์นาฏกาญจน์ จักรานุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนางานบริการวิชาการ ได้ร่วมหารือถึงแนวทางที่จะร่วมมือเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่าง มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี

โดยนางสาวหนึ่งหทัย ธรรมพิทักษ์ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชน และกลุ่มบริการธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ (ศภ.9 กสอ.) เข้าพบเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนี้แล้วยังได้หารือแนวทางเชื่อมโยงการทำงาน แนะนำการดำเนินงานของคณะ รวมถึงบทบาทภารกิจในงานบริการวิชาการ การฝึกอบรม ให้ความรู้ ให้คำแนะนำด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และการผลิตโดยใช้เครื่องจักรต่าง ๆ ตลอดจนเป็นศูนย์เชื่อมโยงเครือข่าย มจพ.ปราจีนบุรีเสริมแกร่ง ITC 4.0

คณะอุตสาหกรรมเกษตร และ ศภ.9 กสอ. มีแนวทางร่วมกันถึงความร่วมมือเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกันกับศูนย์ ITC 4.0 ของ ศภ.9 กสอ. เพื่อใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนด้าน Matching และเสริมแกร่งเดินหน้าส่งเสริมยกระดับมาตรฐานงานวิจัยให้ผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์วิจัยการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี มจพ. จับมือ สสว. เผยหลักสูตรสมรรถนะผู้ประกอบการเรียนรู้ SME Academy 365 ไลฟ์สไตล์ของ “คนยุคใหม่”

รศ.ดร. ปณิตา วรรณพิรุณ หัวหน้าศูนย์วิจัยการจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาระบบการให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร (SME Academy 365) : งานสร้างและพัฒนาระบบการให้ความรู้

ประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่แล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้รับเกียรติ รศ. ดร. วีระพงศ์ มาลัย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยทีมผู้บริหาร ณ One Shot Studio กรุงเทพฯ

หลักสูตรสมรรถนะผู้ประกอบการเรียนรู้นี้เป็น “ตัวช่วยสำคัญ” สำหรับผู้ประกอบการไทย ที่ชื่อว่า SME Academy 365 ลักษณะโดดเด่นและสอดรับ “วิถีใหม่” (New Normal) คือ เครื่องมือ คืออาวุธ คือผู้ช่วยคนสำคัญ ที่จะช่วยหา “ทางรอด” ให้ธุรกิจ ให้ก้าวต่อไปได้ โดยได้รวบรวมความรู้รอบด้าน ทั้งด้านการจัดการ บริหาร การแก้ไขปัญหา พัฒนาต่อยอดธุรกิจ ที่มาในรูปแบบเนื้อหาที่น่าสนใจ และเข้าใจง่าย อาจกล่าวได้ว่า SME Academy 365 คือ Platform E-learning ที่เป็น “แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่เปิด 24 ชั่วโมง ตลอด 365 วันต่อปี” ไม่ว่าใครก็เข้ามาหาความรู้ได้ ด้วยระบบออนไลน์แบบเปิด ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบใด เป็น Platform E-learning ที่พัฒนาองค์ความรู้สำหรับ SME มีสาระน่ารู้ใหม่ ๆ ที่อินเทรนด์ เพิ่มอัพเดทอยู่เสมอ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ การเป็น SME อย่าหยุดการเรียนรู้ เพราะ SME Academy 365 เป็น Platform E-learning เรียนรู้และฝึกอบรมออนไลน์ ที่รวมองค์ความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำ SME ไทย ไปสู่การเป็น Smart SME เพราะโลกธุรกิจไม่เคยหยุดสอนเรา SME Academy 365 ศูนย์รวมการเรียนรู้และประสบการณ์ที่จะเปลี่ยนเราให้เป็น Smart SME ที่มิใช่เพียงประกอบธุรกิจได้ แต่คุณจะได้รับชัยชนะในธุรกิจเพียงปลายนิ้วสัมผัสที่จะทำให้แม้เจอวิกฤติโควิด แต่ธุรกิจไทยจะอยู่รอดและไปต่อได้ ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เป็นแนวทางจะต้องปรับเปลี่ยนไป SME Academy 365 จึงรวบรวมทุกอย่างที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือผู้ที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจ จำเป็นต้องรู้

ส่วนจุดประสงค์หลักของโครงการนี้คือ

1. พัฒนาระบบการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับบริบทของผู้ประกอบการ
2. พัฒนาหลักสูตรที่จำเป็นในการพัฒนา SME ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมจัดทำชุดองค์ความรู้ที่จำเป็นแก่ SME
3. เผยแพร่ให้ SME ทราบถึงการมีอยู่ของระบบ SME Academy 365 และสามารถเข้ามาใช้งานและพัฒนาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมและได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) รวมถึงผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจ จำนวน 10,000 ราย โดยจะทำการประชาสัมพันธ์ไปในวงกว้าง เพื่อเชิญชวนให้เข้าใช้งาน และเรียนรู้เนื้อหาบนระบบ SME Academy 365 โดยกลุ่มเนื้อหาประกอบไปด้วย

1. หลักสูตรสมรรถนะผู้ประกอบการ การเป็นผู้ประกอบการบนฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal Entrepreneurial) การคิดเชิงออกแบบสำหรับผู้ประกอบการ การจัดการนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับผู้ประกอบการวิถีใหม่ การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสำหรับผู้ประกอบการ วิถีใหม่ และการจัดการเงินและบัญชีสำหรับ MSME (Finance for MSME)

2. หลักสูตรสมรรถนะดิจิทัล ได้แก่ การจัดการพาณิชย์ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการวิถีใหม่ การตลาดดิจิทัล การประชาสัมพันธ์ดิจิทัล การเล่าเรื่องดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ และความฉลาดทางดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการ รศ.ดร. ปณิตา กล่าว

SME Academy 365 เป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย รวมถึงบุคคลทั่วไป เข้าถึงการพัฒนาตนเองจากระบบการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ที่เข้าถึงได้สะดวก เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของ “คนยุคใหม่” ที่ต้องการความรู้ด้านธุรกิจ มีหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้เรียนเลือกเรียนตาม ความถนัด เนื้อหาที่ทันสมัยเข้าใจง่าย ตอบโจทย์ประเภทธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและบุคลากรในองค์กรให้เติบโตและมีแหล่งเรียนรู้แบบต่อเนื่อง SME Academy 365 การเรียนรู้ออนไลน์ที่ดีที่สุด เพื่อการพัฒนาธุรกิจ SME กลุ่มผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าใช้งานได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ http://www.smeacademy365.com/
และติดตามรับชม vdo premiere launch เปิดตัว platform ได้ที่ https://www.facebook.com/OSMEP/

ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

เปิดบ้าน มจพ. เส้นทางสู่อนาคตที่เราเลือกได้ ในงาน “เทคโนฯ นิทรรศไลฟ์” (Open House 2021)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กำหนดจัดงานกิจกรรมเปิดบ้าน มจพ. เส้นทางสู่อนาคตที่เราเลือกได้ในงาน”เทคโนฯ นิทรรศไลฟ์” (Open House 2021) รูปแบบ ONLINE ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2564 กิจกรรม OPEN HOUSE 2021 ประกอบด้วย หลักสูตรการเรียนการสอน หลักสูตรร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ติดอันดับ TOP TEN มหาวิทยาลัยในประเทศไทยและติดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำโลก (THE World University Rankings 2020) และการสร้างผลงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับนานาชาติ มาร่วมค้นหาคณะที่ใช่ สาขาที่ชอบ จากการแนะนำหลักสูตรมากมาย

ขอเชิญชวน นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม “เทคโนฯ นิทรรศไลฟ์” Open House 2021 สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ที่ลิงค์ https://openhouse.kmutnb.ac.th/
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-2555-2000ต่อ 1166, 2091


 

Exit mobile version