Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

เทคนิคการแพทย์ มข.อัปเกรด “เตียงอัจฉริยะ” ราคาเข้าถึงได้ เพื่อผู้สูงอายุติดเตียง

เทคนิคการแพทย์ มข.อัปเกรด “เตียงอัจฉริยะ ช่วยพลิกตะแคง” ราคาเข้าถึงได้ ทางเลือกป้องกันแผลกดทับ เพื่อผู้สูงอายุติดเตียง พร้อมลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชุมชนผลิตใช้งานเอง และต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน

13 เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ หวนกลับมาอีกปี เพื่อย้ำเตือนให้ผู้คนให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ แต่เรื่องราวผู้ดูแลหรือญาติทำร้ายผู้สูงอายุติดเตียงยังคงถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงความกดดันและภาระของผู้ดูแล และอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ

ล่าสุด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนา “เตียงพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ลดแผลกดทับ” เวอร์ชัน 3 สำหรับผู้สูงอายุติดเตียงในชุมชนโดยเฉพาะขึ้น โดย ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบแล้ว หลังมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด เฉพาะใน จ.ขอนแก่น มีผู้สูงอายุถึง 260,000 คน และมีผู้สูงอายุที่ติดเตียงถึง 20,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 5% นับเป็นกลุ่มที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เตียงพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ลดแผลกดทับ เวอร์ชัน 3 นี้ มีลักษณะพิเศษ คือ มีความสูง 60-70 เซนติเมตร มีผิวเบาะนุ่มและแน่น กระจายแรงกดได้ดี ลดอาการแผลกดทับที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้ โดยใช้วัสดุทำจากไม้และโลหะบางส่วน ซึ่งทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าจะช่วยพลิกตัวให้ผู้ป่วยผ่านสวิตช์ควบคุมที่ผู้สูงอายุสามารถกดใช้งานเองได้ หรือมีผู้ดูแลเพียงคนเดียวก็สามารถดูแลผู้สูงอายุติดเตียงได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณเพียง 10,000 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถเข้าถึงได้

“เรารู้ว่าที่ผ่านมาชุมชนเข้าไม่ถึงเตียงที่มีคุณภาพ อย่างชุมชนบ้านโต้น อ.พระยืน จ.ขอนแก่น มีผู้สูงอายุติดเตียงอยู่ถึง 12 คน แต่มีเตียงไม่เพียงพอ เมื่อมีผู้เสียชีวิตก็จะนำเตียงนั้นไปเวียนกันใช้ หากมีเตียงที่ชุมชนเข้าถึงได้ ปัญหานี้ก็จะหมดไป”

ด้าน ดร.วรวุฒิ ชมภูพาน อาจารย์วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ขอนแก่น คณะสาธารณสุขศาสตร์และสหเวชศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ระบุว่า ผู้สูงอายุบางส่วนเป็นผู้ป่วยติดเตียงและต้องการได้รับการดูแล แต่ปัจจุบันบุตรหลานบางส่วนก็มีเวลาดูแลน้อยลง วิทยาลัยสาธารณสุขสิริธร จึงได้ร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อคัดเลือกและส่งเตียงสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งมีคนไข้ได้รับเตียงไปใช้แล้ว 3-4 คน ผลตอบรับดีมาก พบว่าคนไข้ไม่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับ

สอดคล้องกับ น.ส.หอมไกล ไชยพิมูล อายุ 57 ปี ชาวบ้าน อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น ระบุว่า ที่ผ่านมาคุณแม่วัย 96 ปี ซึ่งป่วยติดเตียงหลังหกล้มสะโพกหัก นอนอยู่บนพื้น ทุกครั้งจะตะแคงก็ปวดสะโพก จะลุกขึ้นนั่งก็ลำบาก เมื่อมีเตียงช่วยพลิกตะแคงมา ก็ทำให้การดูแลทำได้ง่ายขึ้น และช่วยไม่ให้เป็นแผลกดทับ

“คนดูแลก็อายุมากแล้ว ก้มก็ปวด  คุกเข่าไปช่วยตะแคงก็เจ็บ มีเตียงมาก็ช่วยได้เยอะ ช่วงที่มีธุระด่วนต้องออกไปข้างนอก คุณแม่ก็กดสวิตช์พลิกตัวเองได้ บ้านอื่นที่ไม่มีเตียง เห็นเขาเป็นแผลกดทับกันหลายคน ก็อยากให้เขาได้ใช้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ จากหลากหลายคณะ ลงพื้นที่ชุมชนผ่านโครงการ U2T มหาวิทยาลัยสู่ตำบลมาโดยตลอด เพื่อพัฒนาทักษะให้คนในชุมชนทุก ๆ ด้าน รวมถึงด้านผู้สูงอายุด้วย การเปิดอบรม อสม. และ Caregiver หรือ อาสาสมัครท้องถิ่น รวมถึงการเปิดคลินิกกายภาพบำบัด คลินิกห้องปฏิบัติการ และคลินิกแพทย์แผนจีนที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้ด้วย


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มข.จัดงาน DIGITAL TRANSFORMATION 2022 ชูวิสัยทัศน์การจัดการองค์กรดิจิตัล

มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดงาน DIGITAL TRANSFORMATION 2022 โดยมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมด้วยคณาจารย์ นักศึกษา ผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน  ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคาร 50 ปี วิศวะรวมใจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเร็วๆนี้

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรยายในหัวข้อ Global Challenges and Digital Transformation : The immediate challenges to tackle โดยได้กล่าวสรุปในช่วงท้ายการบรรยายว่า “ความสัมพันธ์ของประเทศมหาอำนาจในโลก เปลี่ยนรูปแบบของปัญหาพื้นฐาน และเปลี่ยนเร็วกว่าเดิมเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้าดูแล้ว เราคงต้องใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีมาช่วยเราบริหาร แปลว่าต้องทำให้เร็วขึ้น ดีขึ้น ผมเลยขอหยิบยกข้อความของ Mark Carney ในหนังสือ Value ที่เป็นหนังสือ Best Seller ที่ออกเมื่อปีที่แล้ว โดยเขากล่าวว่า Digitalization  by Design not by Default หรือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ต้องดำเนินไปอย่างมีทิศทาง มีการวางแผน และออกแบบ ไม่ใช่ให้เป็นไปอย่างไร้การควบคุม หรือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งความหมายของเขา คือ เราต้องรู้ว่าเราจะทำเทคโนโลยีเพื่อใคร และเพื่ออะไร  ฉะนั้นสิ่งนี้จึงเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเราชาว มข. คงจะตั้งความหวังและให้กำลังใจผู้ที่ทำงานด้าน Digital transformation technology และ ร่วมมือกันมาจัดการจัดระบบ ที่จะมาช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆในการทำงาน รวมไปถึงบรรเทาปัญหาต่างๆที่โลกกำลังเผชิญอยู่ให้เบาบางลง

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรยายในหัวข้อ ERP Big jump in university operation ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า จากการที่สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กำหนดวิสัยทัศน์ และ ความต้องการให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น Smart campus และ Smart University สิ่งที่จะตอบโจทย์ คือ ดิจิตอลเทคโนโลยี และ ผมคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ Paperless หรือ Digital Organization ในส่วนของระบบ Back Office ต้องใช้ระบบ ERP เข้ามาจัดการ ฉะนั้นจึงเป็นที่มาของการกำหนดอยู่ในยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใน ยุทธศาสตร์ที่ 5 Management Transformation ยุทธศาสตร์ที่ 8 Digital transformation

“มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีแผนในการนำระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการทั่วทั้งองค์กร Enterprise Resource Planning หรือ ERP มาใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนทรัพยากรขององค์กร เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างสูงสุด โดยระบบสารสนเทศภายในองค์กร ที่สามารถบูรณาการงานหลักต่าง ๆ ให้เชื่อมโยงกันได้ทั่วทั้งองค์กร มีเป้าหมายในการพัฒนาดังนี้ คือ 1 กระบวนการหลักของทุกระบบ ต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างกันในขั้นตอนการทำงานที่ต่อเนื่อง 2. ลดความซ้ำซ้อนของการทำงานด้วยกระบวนการที่เป็นอัตโนมัติมากขึ้น 3. เป็นระบบฐานข้อมูลที่มีการทำงานแบบเรียลไทม์ 4. รองรับการทำงานผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์หลายประเภท”

นอกจากนี้ยังในงาน DIGITAL TRANSFORMATION 2022 ยังมีการบรรยาย หัวข้อน่าสนใจ อาทิ PDPA : Basic human rights in digital world โดย นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  หัวข้อ PDP in practice of KKU : Action to protect personal rights โดย ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี หัวข้อ Metaverse in Learning : Endless entity of education โดย Dan Lejerskar EON Reality และ การแสดงนิทรรศการด้านไอทีจากบริษัทชั้นนำระดับโลก

/////////////////////

ข่าว : นางสาวรวิพร สายแสนทอง

นักประชาสัมพันธ์  กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มข. จับมือพัฒนานวัตกรรม ชุด KKU-PAPR Suit ป้องกัน COVID-19

ทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มข. จับมือพัฒนานวัตกรรม ชุด KKU-PAPR Suit ป้องกัน COVID-19 เพื่อส่งมอบบุคลากรทางการแพทย์ ตอกย้ำบทบาท หน่วยงานอุทิศตน เพื่อสังคมและประเทศ ด้านการผลิตนวัตกรรมตอบโจทย์สังคม

รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงเรื่องชุด KKU-PAPR Suit ป้องกัน COVID-19  ว่า เมื่อต้นปี 2563 ประเทศไทยและทั่วโลก ได้เผชิญโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับมือในสถานการณ์รักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด มาเป็นปีที่ 3   ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่ เปรียบเสมือนเป็นนักรบด่านหน้า เพื่อปกป้องและดูแลรักษาพี่น้องประชาชนชาวไทยให้ปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19  ด้วยเหตุนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการวิจัยและสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประเทศ ได้ร่วมกันระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในระหว่างการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยทั้งสองหน่วยงาน จึงได้คิดประดิษฐ์นวัตกรรมชื่อ PAPR Suit (Powered Air Purifying Respirator) หรือชุดอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งพัฒนาโดย ดร.นวภัค เอื้ออนันต์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ รศ.ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์  ดร.ธนวุฒิ  ตันติโสภารักษ์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และดร.ทินกร คำแสน สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี   ซึ่งชุดอุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจ  เป็นอุปกรณ์ที่ขาดแคลนและราคาสูง ณ ขณะนั้น โดยทีมนักวิจัยได้เริ่มพัฒนา KKU-PAPR Suit เริ่มจาก Gen.1.0 Gen.1.2

จนมาถึงรุ่นล่าสุด Gen.2.0 ที่มีคุณสมบัติเป็น PAPR99-PAPR100 โดยชุดดังกล่าว  เป็นอุปกรณ์ป้องการทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ใหักับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งรับการสนับสนุนงบบริจาคกว่าแปดแสนบาทในการค้นคว้า ทดลองสร้างชุดต้นแบบและผลิต จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สมาคมปึงเถ่ากงม่า-ขอนแก่น และผู้มีจิตศรัทธาในการร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์  เพื่อให้สามารถผลิตชุด PAPR Suit ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้ส่งมอบไปแล้ว จำนวน  54 ชุด มีต้นทุนต่อชุดราคา 5,000 บาท

สำหรับโรงพยาบาลที่ได้รับชุด PAPR Suit ประกอบ โรงพยาบาลภูเวียง จำนวน  4 ชุด โรงพยาบาลน้ำพอง จำนวน 2 ชุด อบต.ท่าเรือ อยุธยา จำนวน 3 ชุด โรงพยาบาลพล จำนวน  2 ชุด โรงพยาบาลแวงใหญ่ จำนวน 1 ชุด โรงพยาบาลบ้านไผ่ จำนวน 2 ชุด โรงพยาบาลกรุงเทพ-ขอนแก่น จำนวน 5 ชุด สมาคมปึงเถ่ากงม่า-ขอนแก่น จำนวน  5 ชุด  โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จำนวน 7 ชุด โรงพยาบาลหนองบัวแดง จำนวน  2  ชุด โรงพยาบาลหนองสองห้อง จำนวน  2 ชุด โรงพยาบาลกระนวน จำนวน 2 ชุด  โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จำนวน 2 ชุด โรงพยาบาลบ้านฝาง จำนวน  2 ชุด โรงพยาบาลชุมแพ จำนวน  4 ชุด  โรงพยาบาลในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน  9 ชุด

     รศ.ดร.จีรนุช  กล่าวต่อไปว่า กว่า 1 ปีที่ผ่านมาในการส่งมอบชุด KKU-PAPR Suit ไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้งานจริง ทีมนักวิจัยได้รับเสียงสะท้อนที่ดีจากบุคลากรทางการแพทย์ว่า ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำหัตถการต่างๆ  ให้กับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และเป็นสิ่งที่สร้างแรงผลักดันให้คณะวิศวกรรมศาสตร์เดินหน้าต่อไป ในการอุทิศตนเพื่อสังคม เพื่อให้ความสอดคล้องกับปณิธานของมหาวิทยาลัย คือ “การอุทิศตนเพื่อสังคม ผลิตผลงานวิจัยและสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่พี่น้องประชาชนในเขตภาคอีสาน ดั่งพระราชดำรัสความตอนหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพล อดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานไว้เมื่อครั้งที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างเป็นทางการ  เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2510  การตั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งนั้นเป็นคุณอย่างยิ่ง เพราะทำให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งต่อไปจะเป็นผลดีแก่การพัฒนายกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้เป็นอย่างยิ่ง

“คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นและมีความพร้อมด้านคนและองค์ความรู้ในการร่วมขับเคลื่อนในพัฒนางานวิจัย   การคิดค้นและประดิษฐ์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมระดับประเทศและระดับนานาชาติ  ประโยชน์ต่อสังคมและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล”  รศ.ดร.จีรนุช กล่าว

ข่าว : จารุณี นวลบุญมา


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มข. จับมือ สสว.เปิดร้านค้ำคูณ ช่วยผู้ประกอบการ

มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดกิจกรรมทดสอบตลาด ค้ำคูณ Marketplace เพื่อเป็นศูนย์รวมในการทดสอบ จำหน่าย และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SME ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 21 สิงหาคม 2564 ณ ร้านค้ำคูณ Marketplace บริเวณสถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาอู้ฟู่ ถนนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น ได้มีการจัดงานเปิดตัวกิจกรรมทดสอบตลาด “ค้ำคูณ Marketplace” อย่างเป็นทางการ โดยมี ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (SME-Early Stage: All Stars) ปีงบประมาณ 2564  เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และกล่าววัตถุประสงค์ของโครงการ และได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เข้าร่วมแสดงความยินดีในงานวันนี้

รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย กล่าวว่าจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบอย่างหนักในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การค้า และบริการ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ SME ที่มีข้อจำกัดหลายด้าน ซึ่งทาง สสว.  ได้เล็งเห็นถึงปัญหามาโดยตลอดและมีการทำงานเพื่อช่วยเหลือ SME อย่างต่อเนื่อง โดยโครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่นี้ก็เป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน SME ให้รอดพ้นวิกฤต ด้วยการยกระดับความรู้ ความสามารถ และการเพิ่มทักษะในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SME และผู้ว่างงาน ในโครงการนี้มีธุรกิจ SME ที่อยู่ในระยะเริ่มต้นเข้าโครงการรวมมากกว่า 2,800 ธุรกิจทั่วประเทศ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 6 พื้นที่ ซึ่งเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสามารถยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่อีสานได้มากถึง 500 กิจการ และมี 100 กิจการที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์โควิด-19 โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมมากกว่า 100 กิจการ และมีสินค้าเข้าร่วมมากกว่า 200 รายการให้ได้เลือกซื้อกันด้วย

จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบัน และมาตรการเพื่อลดผู้ติดเชื้อ ทำให้มีการปรับแผนของกิจกรรมโครงการให้มีความเหมาะสม ดังนั้นการทดสอบตลาด “ค้ำคูณ Market place” จึงอยู่ในรูปแบบร้านค้าที่มีมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด อาทิ สถานที่ตั้งร้านอยู่นอกพื้นที่ที่มีความแออัด มีการประยุกต์ใช้ Live streaming เพื่อเพิ่มยอดจำหน่าย รวมไปถึงปฏิบัติตามข้อกำหนดในการควบคุมโรคของพื้นที่ หากท่านสนใจสามารถแวะไปซื้อ ไปชม และอุดหนุนสินค้า SME ภาคอีสานกันได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นปี 2564

สอบถามรายละเอียดและติดตามเพจ ค้ำคูณ Marketplace เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร หมายเลขโทรศัพท์ 082 – 585-1854  หรือ    Line : @kumkoonmarketplace , Facebook Page : ค้ำคูณ Marketplace


Exit mobile version