Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มข. เปิดตัวโครงการวิจัย Ugly Veggies Plus เพิ่มมูลค่าผักที่เคยถูกทิ้งเป็นขยะ แปรรูปและขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผัก ผลไม้ Organic ในเครือข่าย พัฒนาโครงการ Ugly Veggies Platform เพื่อเพิ่มมูลค่าผักรูปทรงไม่สวยที่เคยถูกทิ้งเป็นขยะ โดยแปรรูปและขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยโครงการประสบความสำเร็จ สามารถลดขยะผัก 30-50% แต่ยังมีเศษผัก 5% ที่เหลือทิ้งอยู่ ทีมวิจัยจึงพัฒนาต่อยอดโครงการ Ugly Veggies Plus โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อติดตามที่มาของผักสังเคราะห์ถุงพลาสติกชีวภาพจากเศษผักและผลิตดินปลูกจากผักอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดการคัดทิ้งของผักอันก่อให้เกิดขยะได้ 100% รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและผลักดัน BCG Economy Model ซึ่งยังเป็นการช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ โดยเป็นหนึ่งในปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณินี นฤธาราดลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน สังกัดวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและยังเป็นผู้อำนวยการโครงการวิจัยนี้ กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์และเปิดตัวโครงการ Ugly Veggies Plus – การต่อยอดแบบจำลองธุรกิจบนพื้นฐานของเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับและเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำเพื่อการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการส่งออกของสินค้าอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจาก แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)”

ภายในงาน มีพิธีเปิดงานแถลงข่าว กล่าวต้อนรับโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริมนพร ทิพสิงห์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงการกล่าวต้อนรับจาก ศาสตราจารย์ ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณินี นฤธาราดลย์ ผู้อำนวยโครงการวิจัย Ugly Veggies Plus ฯ กล่าวรายงานสรุป โดยมี
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี กิจกรรมในงานมีการเปิดตัวโครงการวิจัย โดยการสัมภาษณ์นักวิจัย นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก คุณอภิชัย เรืองศิริปิยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทออสคอร์เปอเรชั่น หรือในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีสร้างภาพเสมือนจริงแบบสามมิติ (Augmented Reality : AR) ผู้บุกเบิกให้ความสำคัญและอยู่เบื้องหลังผลงาน AR ที่สร้างชื่อเสียงระดับประเทศ ร่วมด้วยคณะผู้บริหารโรงแรมในเครือ Marriott และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวิศ เกตุแก้ว รองคณบดีฝ่ายกลยุทธ วิจัยและการต่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้วางแผนโครงการ ยังรวมถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อังคณา บุญยืดคณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมงานแถลงข่าวด้วย

สำหรับผลของโครงการที่คาดว่าจะได้รับ มีทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ได้แก่ Ugly Veggies Platform
มีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปสู่การเป็น Social Enterprise เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง เกษตรกรในเครือข่ายมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Organic ผลกระทบด้านสังคม ได้แก่ เกิดการจ้างงาน หรือสร้างอาชีพ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เกิดการตระหนักรู้ถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการสร้างสังคมสีเขียว ส่งเสริมแนวคิด BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม คือ ลดจำนวนขยะจากกระบวนการผลิตผักอินทรีย์จนเหลือ 0% และลดการปล่อย carbon emissions จากการทำลายขยะทางการเกษตรโดยการผลิตเทคโนโลยีและ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากเศษเหลือทิ้งจากผักอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วย 1. นวัตกรรมเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับ 2. นวัตกรรมอาหารโปรตีนสูง 3. นวัตกรรมดินพร้อมปลูก และ 4. นวัตกรรมพลาสติกชีวภาพ

เป้าหมายต่อไปของวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยขอนแก่นในด้านงานวิจัยคือการเสริมสร้างพลังแก่ประชากรโลกและสร้างเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนผ่านการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมและการพัฒนาชุมชนที่มีคุณภาพในแง่ของงานวิจัยวิทยาลัยนานาชาติดำเนินงานในบริบทนี้ผ่านศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยังยืนไม่เพียงแต่การดำเนินงานวิจัยซึ่งมีโจทย์มาจากปัญหาในชุมชนและสังคมแล้วยังรวมถึงการสร้างนวัตกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยลงสู่ชุมชนอีกด้วยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อความยั่งยืนในอนาคตทั้งในระดับประเทศและแสวงหาความร่วมมือในระกับนานาชาติต่อไป


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

‘มข.’ ส่งนวัตกรรมเพื่อสังคม ‘เตียงอัจฉริยะ’ ยกระดับคุณภาพชีวิตสูงวัยป่วย สร้างรอยยิ้ม สร้างรายได้ชุมชน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม ส่งเตียงอัจฉริยะ ช่วยพลิกตัวลดแผลกดทับ ‘สูงวัยป่วยติดเตียง’  2 ชุมชนนำร่อง ตำบลบ้านโต้น และตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เตรียมอัพเกรดเวอร์ชั่นใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น รับเทรนด์สังคมสูงวัยในไทยพุ่ง 13 ล้านคน คาดผู้ป่วยติดเตียงมี 1.3% หรือ 1.7 แสนคน เตรียมจัดตั้งสู่วิสาหกิจชุมชน ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผู้ดูแล และ สร้างงาน สร้างรายได้เข้าชุมชน

ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ โดยเฉพาะใน จังหวัดขอนแก่น ผู้สูงอายุที่ติดเตียงถึง 20,000 คน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนา โครงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน” ที่ร่วมกันระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการ CIGUS (C – community, I – industry, G – government, U – university, S – society) ที่มีความตั้งใจให้ผู้ป่วยในพื้นที่นำร่องใน 2 ชุมชน ได้แก่ ตำบลบ้านโต้นและตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ได้มีเตียงที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานสามารถพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยและลดการเกิดแผลกดทับ อีกทั้งยังช่วยลดภาระผู้ดูแลผู้ป่วย และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับช่างในชุมชน

ทั้งนี้การพัฒนาเตียงอัจฉริยะได้เข้าสู่เวอร์ชัน 3  โดยเตียงจะใช้วัสดุทำจากไม้และโลหะบางส่วน ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลทำการกดสวิตช์ควบคุมเพื่อให้เตียงทำการพลิกตัว ส่วนงบประมาณในการจัดทำนั้นจะอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อเตียง ซึ่งเป็นราคาที่ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถเข้าถึงได้

ด้านนายชัยชาญ เพชรสีเขียว  ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเตียงในชุมชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีโอกาสแนะนำผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในชุมชน อายุ 91 ปี และผู้ดูแลถึงการใช้งานของเตียงที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีปุ่มกดให้สามารถลุกนั่ง เอนซ้าย เอียงขวา เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดการเคลื่อนไหวร่างกายและช่วยให้อากาศถ่ายเทได้ โดยที่ไม่เกิดแผลกดทับ

ในส่วนของการต่อยอดเตียงอัจฉริยะไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนนั้น ขณะนี้ทางชุมชนได้รับมอบแบบและวิธีการต่อเตียงมาเป็นที่เรียบร้อยและอยู่ระหว่างการพูดคุยกับช่างไม้ภายในชุมชนที่น่าจะมีจำนวนที่มากพอในการทำงานนี้    อย่างไรก็ดี คงต้องรอความคืบหน้าเพราะยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และยังไม่ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน หากทุกอย่างเริ่มลงตัว ทั้งแบบที่กำลังปรับให้สอดรับกับการใช้งานมากขึ้น และวัสดุที่นำมาใช้สร้างเตียง ซึ่งยังมีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งไม้เต็ง ไม้เนื้อแข็ง ไม้สนนอก ที่มีน้ำหนักเบาและหาได้ง่าย รวมถึงนำเหล็กมาต่อเป็นเตียงเพื่อให้ถอดประกอบได้ ในส่วนของขนาดเตียงก็ปรับให้สามารถขนย้ายเข้าบ้านของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น

ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนาเตียงเพื่อผู้สูงวัยที่ป่วยติดเตียง เป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ได้หลายทาง ทั้งในมิติในสังคม และเศรษฐกิจ ในอนาคตหากสามารถต่อยอดไปสู่วิสาหกิจชุมชนได้จะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เพราะวิธีการผลิตที่ง่าย ทักษะช่างไม้ที่มีอยู่ในชุมชนสามารถดำเนินการได้เลยตามแบบและคู่มือการประกอบที่เตรียมจัดทำขึ้น ขณะที่อุปกรณ์มอเตอร์ไฟฟ้าก็หาได้ง่ายจากร้านค้าชุมชน ถ้าเป็นการผลิตในปริมาณที่มากขึ้นในอนาคตจะยิ่งเป็นการลดต้นทุนลงมาอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาทต่อเตียง ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเตียงในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย

นอกจากในมิติของการสร้างงานและสร้างรายได้เข้าชุมชนแล้ว ส่วนของคุณภาพชีวิตและการดูแลผู้ป่วยก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

รศ.ดร.อัมพรพรรณ ธีรานุตร คณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทักษะของคนดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เช่นการทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่าย การรับประทานอาหารที่มีทั้งผู้ป่วยพอทานเองได้ และการให้อาหารทางสายยาง รวมถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถนั่งได้ ทำให้ต้องนอนเพียงอย่างเดียว ดังนั้นการพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมงจึงมีความสำคัญมาก เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนของข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า มีความสำคัญ หากการพัฒนาเตียงที่มีฟังก์ชันเปลี่ยนท่าทาง เคลื่อนไหวผู้ป่วยได้จะช่วยให้ข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายไม่ติดล็อคและทำให้เกิดการผิดรูปขึ้นได้ นอกจากดูแลด้านร่างกายแล้ว ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตอาการที่ผิดปกติของผู้ป่วย และดูแลจิตใจด้วยการให้กำลังใจและให้ความหวังในการใช้ชีวิต  โดยคณะฯ มีหลักสูตรอบรม 70 ชั่วโมง แบ่งเป็นทฤษฎี 40 ชั่วโมง และลงมือปฏิบัติอีก30 ชั่วโมง รับรองโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน ทำโดย Caregiver และ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และญาติผู้ป่วย

ขณะที่ นายอานนท์ ดิษฐเนตร เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญการงาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโต้น จังหวัดขอนแก่น (รพ.สต.บ้านโต้น) กล่าวว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ซึ่งคนดูแลหลักจะเป็นญาติ เนื่องจากคนในชุมชนไม่มีกำลังมากพอสำหรับการจัดหาว่าจ้างผู้ดูแลภายนอก โดยแต่ละวันญาติจะช่วยผู้ป่วยอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย และทำความสะอาดแผลก่อนที่ก่อนเจ้าหน้าที่จะเข้าไปติดตามอาการ ตรวจร่างกาย และติดตามความคืบหน้าของอาการว่าเป็นอย่างไร รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนหรือไม่

ที่ผ่านมา ทางชุมชนได้รับมอบเตียงอัจฉริยะจากทาง ม.ขอนแก่น ให้ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงทดลองใช้งาน ซึ่งก็พบว่า เตียงที่สามารถพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ช่วยลดการเกิดแผลกดทับได้ ทำให้คนดูแลมีเวลาไปทำอย่างอื่นได้ อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เห็นว่าควรการปรับในบางส่วน เช่น ขนาดเตียง ความสูงของเตียง ถ้าสูงเกินไปจะไม่สะดวกนักสำหรับผู้ดูแล รวมถึงความแข็งแรงของเตียง และการเคลื่อนย้ายเตียงด้วยการติดล้อ เป็นต้น     

ทั้งนี้ ข้อมูลจากหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับ มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ย 48,000-55,000 บาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,000-5,000 บาทต่อคนต่อเดือน การพัฒนาเตียงอัจฉริยะ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเตียงให้ชุมชนสามารถผลิตใช้งานเองและนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน และอนาคตหากสามารถส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลให้ดีขึ้นด้วย


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

นักวิจัย มข.คิดค้นแถบตรวจวัดโปรตีน NGAL คัดกรองความผิดปกติของไตได้ภายใน 15 นาที ไตวายป้องกันได้! ด้วยตนเอง

นักวิจัย มข.คิดค้นแถบตรวจวัดโปรตีน NGAL คัดกรองความผิดปกติของไตได้ภายใน 15 นาที ไตวายป้องกันได้! ด้วยตนเอง

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.ทนพญ.จุรีรัตน์  ดาดวง  ได้พัฒนา “แถบตรวจวัดโปรตีน NGAL (Neutrophil Gelatinase-associated Lipocalin) ในปัสสาวะ” เพื่อช่วยการตรวจคัดกรอง ความผิดปกติของท่อไตได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ใช้ระยะเวลาทดสอบไม่เกิน 15 นาที ก็ทราบผลด้วยตาเปล่า สามารถตรวจวัดปริมาณโปรตีน NGAL ในปัสสาวะได้ในระดับนาโนกรัม และมีความแม่นยำในการตรวจวัดประมาณ 90% นับว่าเป็นแถบตรวจที่มีขนาดเล็ก ใช้ง่ายประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตนเอง โดยใช้ตัวอย่างปัสสาวะประมาณ 20 ไมโครลิตร หากผลตรวจขึ้น 2 ขีด จะเป็นข้อบ่งชี้ว่าผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเกี่ยวกับไตและรักษาทางการแพทย์ต่อไป

ล่าสุด นวัตกรรม “แถบตรวจวัดโปรตีน NGAL” ได้รับรางวัลในระดับ “ดี” ในการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2566 ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงอุมดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดขึ้น  โดยได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินสด เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

ขณะนี้นวัตกรรม “แถบตรวจวัดโปรตีน NGAL” อยู่ในระหว่างการทดสอบตัวอย่างทางคลินิกเพิ่มเติม ในอนาคตหากสามารถยกระดับการผลิตแถบตรวจวัดโปรตีน NGAL ในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะทำให้ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตได้ง่ายขึ้นในราคาที่เหมาะสม อันจะส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายของรัฐในการนำเข้าชุดตรวจ และลดภาระในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตระยะเรื้อรังลงได้

ทั้งนี้ โรคไตสามารถป้องกันได้ด้วยการควบคุมระดับความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงปกติ  ลดการรับประทานอาหารที่มีรสจัดรสเค็ม และดื่มน้ำให้เพียงพอรวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการรับประทานยาชุด ยาสมุนไพรบางชนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ครบจบในที่เดียว! นศ.ปี 1 มข.สุดเจ๋ง พัฒนาเว็บไซต์ “XZAM” รวมลิงก์ข้อสอบพร้อมเฉลย คลังโจทย์เพื่อนักเรียน ม.ปลาย

ข่าวดี !! สำหรับนักเรียนที่กำลังหาข้อสอบเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบเก็บคะแนนในห้องเรียน หรือ กำลังมองหาข้อสอบในการเตรียมตัวสอบเข้าครั้งสำคัญ วันนี้นักศึกษา ปี 1 ในวิชา Advanced Computer Programming คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดทำเว็บไซต์ “XZAM” ให้บริการรวบรวมข้อสอบและเฉลยในเนื้อหาระดับมัธยมศึกษา พร้อมเปิดให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมในการนำเสนอแหล่งข้อสอบอื่นที่น่าสนใจ เพื่อเป็นประโยชน์และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป

รศ.ดร.กานดา สายแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หนึ่งในอาจารย์ที่ปรึกษากล่าวว่า ในทางเทคนิคนักศึกษาทั้ง 3 คน ได้แก่ นายธัญลักษณ์ ศศิวรินทร์กุล, นายธีร์ธวัช บุตรไทย และ นายพุฒิพงศ์ กิติศรีวรพันธุ์ ได้พัฒนาเว็บไซต์ XZAM โดยใช้ React ที่เป็น JavaScript library และ Bootstrap CSS framework เพื่อแสดงส่วนหน้าตาของเว็บไซต์ให้สวยงามและเหมาะสมกับหน้าจอขนาดต่างๆ และใช้ Google Firebase Authentication API เพื่อจัดการการเข้าระบบของผู้ใช้ และ Firebase Cloud Firestore เพื่อเก็บข้อมูลภายในเว็ปไซต์

“เป็นเรื่องยากที่จะมีข้อสอบครบทุกวิชาอยู่ในที่เดียว เพราะข้อสอบมีการทำใหม่เรื่อย ๆ เว็บไซต์เราจึงสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยเปิดให้ผู้ใช้งานได้เข้ามาเสนอแหล่งข้อสอบอื่นๆ ที่น่าสนใจผ่านการล็อกอินเพื่อยืนยันตัวตนป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งบนแพลตฟอร์ม โดยไม่ต้องอัปโหลดไฟล์บนเว็บไซต์แต่ใช้วิธีแนบลิงก์ต้นทางข้อสอบและเฉลย ซึ่งสถาบันติวต่างๆ ก็สามารถแนบลิงก์ข้อสอบพร้อมเฉลยเพื่อโฆษณาสถาบันของตนเองได้”

ขณะที่ นายธีร์ธวัช บุตรไทย กล่าวว่า ในช่วงที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนหลายคนต้องค้นหาข้อสอบเพื่อนำมาฝึกทำโจทย์ต่าง ๆ แต่ละวิชาก็จะต้องไปค้นหาจากหลายแหล่ง นี่คือ Pain point ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเว็บไซต์เพื่อรวบรวมข้อสอบรายวิชาต่าง ๆ ไว้ในแหล่งเดียว

สอดคล้องกับ นายพุฒิพงศ์ กิติศรีวรพันธุ์ ที่ระบุว่า ให้นิยามเว็บไซต์นี้ว่าเป็นแหล่งที่รวบรวมข้อสอบและเฉลยที่กระจัดกระจายมาเก็บเป็นคลังข้อสอบไว้ในที่เดียว เพื่อเป็นการประหยัดเวลานักเรียนที่ต้องการฝึกทำข้อสอบ อีกทั้งเว็บไซต์นี้ยังสามารถทำบุ๊กมาร์กข้อสอบที่ต้องการกลับมาอ่านซ้ำได้อีกด้วย

“เนื่องจากเหตุผลด้านลิขสิทธิ์จึงไม่สามารถนำตัวข้อสอบมาเผยแพร่บนแพลตฟอร์มนี้ได้ ข้อสอบบนเว็บไซต์จึงได้มาจากการค้นหาโดยใช้คีย์เวิร์ดและแนบลิงก์ไว้ ซึ่งวิธีการนี้เจ้าของลิขสิทธิ์จะไม่เสียผลประโยชน์”

ส่วนนายธัญลักษณ์ ศศิวรินทร์กุล กล่าวเสริมว่า เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้นักเรียนที่ไม่ได้มีฐานะหรือผู้ที่ศึกษาด้วยตนเองเกิดความลำบากในการหาข้อสอบเพื่อฝึกทำ เว็บไซต์นี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อช่วยนักเรียนเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงข้อสอบพร้อมเฉลยได้อย่างง่ายดาย สะดวก และรวดเร็ว ทั้งยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

ทั้งนี้ ล่าสุด เว็บไซต์สำหรับรวบรวมข้อสอบและเฉลย (XZAM) ได้รับจดแจ้งลิขสิทธิ์แล้ว โดยมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวบรวมลิงก์ข้อสอบไว้ 4 หมวด ได้แก่ ชีววิทยา, คณิตศาสตร์, เคมี และฟิสิกส์ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปใช้งานได้ที่ https://xzam-26219.web.app

//////////////////////

ข่าว : วัชรา น้อยชมภู


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มข. หารือความร่วมมือกับ K-MEDI Hub พร้อมเดินหน้า นวัตกรรมทางการแพทย์

รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ และผู้บริหารและคณาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสต์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และสถานบริหารจัดการงานวิจัยคลินิก หรือ Academic Clinical Research Office (ACRO) ร่วมต้อนรับ Dr.Chung Myung Hoon, Vice-Chairman, Strategy & Planning Bureau และคณะผู้บริหารจาก K-MEDI Hub ประเทศเกาหลีใต้ เนื่องในโอกาสเยี่ยมเยือนคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นและหารือความร่วมมือด้านการวิจัย การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ รวมไปถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิจัยและนวัตกรรม ณ  ห้องประชุมอธิการบดี ชั้น 6 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ Medical hub และมีนวัตกรรมทางการแพทย์ชั้นเลิศ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความยินดีอย่างยิ่งในการพัฒนาความร่วมมือร่วมกับ K-MEDI Hub ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในช่วงวันที่ 30 มิถุนายน-2 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ K-MEDI Hub ณ เมืองเดกู ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีวัตุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนนวัตกรรมทางการแพทย์และวิจัย โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์และนักวิจัย และการหารือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาความร่วมมือดังกล่าในอนาคต

Dr.Chung Myung Hoon, Vice-Chairman, Strategy & Planning Bureau กล่าวว่า กระผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น การหารือในวันนี้นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสานต่อความร่วมมือด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ K-MEDI Hub มีนโยบายทางการแพทย์ที่คล้ายคลึงกัน โดยมุ่งเน่นการพัฒนาด้านวิจัยเพื่อตอบโจทย์ Global Health Care และในนาม K-MEDI- Hub กระผมขอขอบคุณผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

นอกจากนี้ คณะผู้บริหาร K-MEDI Hub ได้เยี่ยมชมคณะส่วนงานและหารือร่วมกับผู้บริหารจาก 1. คณะเทคนิคการแพทย์ 2. คณะเภสัชศาสตร์ 3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ 4. สถานบริหารจัดการงานวิจัยคลินิก หรือ Academic Clinical Research Office (ACRO) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์และหารือถึงแนวทางการพัฒนายกระดับนวัตกรรมสู่ชุมชน

ในระหว่างการประชุม คณะผู้บริหาร มข. และ ผู้บริหาร K-MEDI Hub ได้ร่วมหารือประเด็นด้านการแพทย์ที่สำคัญ อาทิ ด้านสายทันแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และสาธารสุขศาสตร์ โดยมีการระดม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอโครงการอันเป็นประโยชน์ และมีแนวโน้มในการต่อยอดสู่การวิจัยและสร้างและนวัตกรรมร่วมกัน ตลอดจนสามารถพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต

ข่าว/ภาพ: กองการต่างประเทศ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มข. หนุนความรู้ชุมชน ผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำ เพื่อผู้ป่วยติดเตียง

คณะเทคนิคการแพทย์ ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคเอกชน จัดโครงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน ภายใต้โครงการ CIGUS

ปัจจุบัน สังคมประสบปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ โรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ เป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม ซึ่งอัตราโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีการวิเคราะห์และพัฒนาร่วมกันระหว่าง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ ผู้คิดค้นผลงานนวัตกรรม : “เตียงอัจฉริยะ ช่วยพลิกตะแคง” และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน เกิดเป็นโครงการ “พัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน” ภายใต้โครงการ CIGUS (C – community, I – industry, G – government, U – university, S – society) เป็นการนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชน โดยโครงการดังกล่าวจัดขึ้นจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันที่ 21-22 กันยายน 2566 และ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ณ ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น

โดยครั้งแรกคณะทำงาน ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้และการสร้างเตียงฯ ให้แก่ประชาชน ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ส่วนครั้งที่ 2 คณะเทคนิคการแพทย์ นำโดย ผศ.ดร.อมรรัตน์ จำเนียรทรง รองคณบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ พร้อมด้วย ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ ได้ร่วมมอบเตียงพลิกตัวฯ ให้กับเทศบาลตำบลบ้านโต้น จำนวน 3 เตียง และเทศบาลตำบลหนองแวง จำนวน 2 เตียง รวม 5 เตียง พร้อมบรรยายให้ความรู้แก่ประชาชนในหัวข้อ  การให้ความรู้และวิธีการใช้เตียงพลิกตัวฯ โดย ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์    เรื่อง วิธีการสร้างเตียงพลิกตัวฯ โดย ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน และการให้ความรู้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงพลิกตัวฯ โดย อ.ดร.วรวุฒิ ชมภูพาน


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

สุดปัง! วิจัย มข.”แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากแกลบ-ขยะโซลาร์เซลล์” คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐจากผลงงานแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พร้อมจัดพิธีมอบรางวัล ในวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ณ รอยัลพารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน กรุงเทพฯ  มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม และวิสาหกิจ พร้อมด้วย รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์แบตเตอรี่และพลังงานใหม่ เข้ารับรางวัลชนะเลิศ  โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้ 

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง ประธานหลักสูตร กล่าวถึงผลงานว่า “แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์” เป็นการนำแกลบและขยะโซลาร์เซลล์มาผลิตเป็นวัสดุที่ชื่อว่า วัสดุนาโนซิลิกอน ซึ่งวัสดุนาโนซิลิกอนดังกล่าวนี้สามารถใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนได้ รวมถึงแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ โดยเซลล์แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนที่ผลิตได้มีความจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15% ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีระยะการขับเคลื่อนได้ไกลขึ้น มีความปลอดภัยสูงขึ้น และรองรับการชาร์จเร็วกว่าเดิม 4 เท่า ส่งผลให้เกิดการนำเอาสิ่งของที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สมัยใหม่ได้อย่างครบวงจร ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นของที่มีมูลค่าต่ำให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยที่มูลค่าเหล่านั้นจะต้องสามารถสร้างประโยชน์และสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวนา จากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ รวมถึงสามารถลดการทำเหมืองในรูปแบบเดิม ลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และหยุดการฝังกลบแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะนำไปสู่การรีไซเคิลขยะโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสม และสามารถใช้พลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืนรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ

สำหรับพิธีมอบรางวัล ในงาน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566” จัดขึ้นเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติแก่คนไทยที่ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นนวัตกรรมที่โดดเด่น และเกิดคุณค่าที่ชัดเจนต่อประเทศชาติในหลากหลายด้าน หรือหน่วยงานองค์กรที่มีการบริหารจัดการโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าทั้งในเชิงพาณิชย์และเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กรตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ หรือกระบวนการ ไปจนถึงระดับโครงสร้าง ส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมไทย สร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย และสร้างให้เกิดภาพลักษณ์สู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

ข่าว  ผานิต  ฆาตนาค
ข้อมูลภาพ  ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

เรียนฟรี !non degree 4 หลักสูตร คณะเกษตรฯ มข. ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ

คณะเกษตรฯ มข. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ KKU Lifelong Education ตอบสนองความต้องการของสังคม ดันหลักสูตรต้นแบบ 4 หลักสูตร ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ สอดคล้องกับทิศทางในการขับเคลื่อน Education Transformation ในประเด็นที่ 2 การศึกษาตลอดชีวิตประเภท non degree เรียนฟรี ! มีผู้สนใจสมัครเรียนเกินเป้าหมาย

 รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว) โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม New Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักสูตรภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ จำนวน 20 หลักสูตร เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรต้นแบบ ของโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Re-Skill/Up-Skill/New-Skill)

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลักสูตรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหลักสูตรต้นแบบดังกล่าว จำนวน 4 หลักสูตร คือ 1. หลักสูตรการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) 2. หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร(Agriculture Biotechnology) 3.หลักสูตรการจัดการเกษตรปลอดภัยและการเกษตรอินทรีย์
และ 4. หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society)

ทุกหลักสูตรเรียนฟรี โดยหลักสูตรแรกที่เริ่มจัดการเรียนการสอนคือ หลักสูตรการจัดการธุรกิจเกษตรในยุคดิจิทัล (Agricultural Business for Digital Society) มีผู้สนใจจากกลุ่มเป้าหมายจาก เกษตรกรพันธุ์ใหม่ (Smart Farmer) และกลุ่ม Young Smart Farmer ผู้เริ่มประกอบการธุรกิจเกษตร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ค้าและผู้ส่งออก กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้สนใจประกอบธุรกิจเกษตรสมัครเข้าร่วมโครงการร่วม 200 คน ผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนจำนวน 58 คน มีระยะเวลาการเรียนหลักสูตร 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม – 21 กันยายน 2566

หลักสูตรแบ่งเป็น 5 Module ดังนี้ การพัฒนาแนวคิดผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร  การออกแบบโมเดลธุรกิจเกษตรและการจัดการธุกิจเกษตรสมัยใหม่ การใช้แนวคิดเชิงออกแบบเพื่อการตลาดและการตลาดดิจิทัล การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและการสร้างแบรนด์ และ การตลาดบริการทางธุรกิจเกษตรด้วยจิตวิญญาณ เรียนทั้งแบบ Onsite และ Online โดยการเรียนภาคปฏิบัติจะได้ศึกษา ดูงานในสถานประกอบการ เมื่อเรียนจบหลักสูตรผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการผ่านหลักสูตรและสามารถเก็บหน่วยกิต ตลอดหลักสูตรจำนวน 9 หน่วยกิต (จากการเรียน 3 Module) เพื่อนำไปใช้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต

รศ.ดร.ดรุณี กล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรต้นแบบ non degree 4 หลักสูตรต้นแบบของ มข. ภายใต้โครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ฯ ว่า ในวันที่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีกระทบอย่างมากต่อบทบาทของมหาวิทยาลัยในแทบทุกพันธกิจ โดยด้านการศึกษา เราจะเห็นว่า ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนศึกษาตามระบบเท่านั้น ซึ่งนับวันจะน้อยลงเพราะเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่มหาวิทยาลัยจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ในการที่จะเข้ามาเรียน โดยเฉพาะ การ reskill /upskill

ทั้งนี้  KKU lifelong learning ก็เกิดขึ้นภายใต้นโยบาย Education Transformation ของท่านอธิการบดี รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ดังนั้นจะเห็นว่ามีหลักสูตรใหม่ๆ เกิดขึ้น รวมทั้งหลักสูตรประเภท non degree  เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงนี้ และเป็นที่แน่นอนว่า ภาคการเกษตรฯ มีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนากำลังคนด้านนี้ในภาคส่วนต่างๆ จึงมีความสำคัญ การจัดหลักสูตร non degree ต้นแบบ 4 หลักสูตร ที่กระทรวง อว. เลือกให้ มข. ทำ ก็เป็นความร่วมมือของคณะ/ส่วนงาน เกือบ 10 ส่วนงาน ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร และจัดการเรียนการสอน ร่วมกับสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งก็เป็นการตอบสนองนโยบายด้าน spiritual ด้วยเช่นกัน

สำหรับหลักสูตรที่จะเปิดจัดการเรียนการสอนต่อไป คือ หลักสูตรการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม – 17 กันยายน 2566 สำหรับนิสิต/นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. ผู้ที่ทำงานแล้วและต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะ ผู้ที่ทำงานแล้วแต่ต้องการเพิ่มพูนสมรรถนะที่แตกต่างไปจากเดิม กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และผู้สนใจประกอบธุรกิจการเกษตร ซึ่งอีก 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร (Agriculture Biotechnology) ระยะเวลาการเรียนหลักสูตร 5 สิงหาคม – 19 พฤศจิกายน 2566 และหลักสูตรการจัดการเกษตรปลอดภัยและการเกษตรอินทรีย์ ระยะเวลาการเรียนหลักสูตร สิงหาคม – มกราคม 2567 ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างมาก

นับได้ว่าการจัดทำหลักสูตรต้นแบบ non degree 4 หลักสูตร ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงสำหรับการทำงานในอุตสาหกรรมใหม่สู่ New S-Curve และเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ เพื่อสร้างฐาน (Platform) การพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งอนาคต โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตบัณฑิตและสร้างต้นแบบของหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระ โครงสร้างหลักสูตร และกระบวนการจัดการเรียนการสอน สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติในสภาพจริงเป็นสำคัญ พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและศักยภาพสูง รวมทั้งการร่วมมือกับสถานประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบัณฑิตและกำลังคน รวมทั้ง ยังสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการขับเคลื่อน KKU Lifelong Education อีกด้วย

ท่านสามารถสมัครเรียนได้ที่

 https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSeoep68QrqhExGlspDVmjchIlj7Hkra2eY68POMDvOHfP_8Mg/closedform

ข่าว  : เบญจมาภรณ์  มามุข


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มข.ผนึกกำลัง บลจ.บัวหลวง สร้างนักการเงินและการลงทุนเลือดใหม่ยกระดับเศรษฐกิจครอบครัวอีสาน

ปัจจุบันสาขาการลงทุนและการบริหารจัดการลงทุนได้ก้าวขึ้นมามีความสำคัญในสาขาด้านการเงินที่เปิดกว้างในหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ท่ามกลางแนวคิด “ให้เงินช่วยทำงาน” เพื่อสร้างความมั่นคงและอิสรภาพทางการเงินก่อนวัยเกษียณ ประชาชนบางส่วนจึงเกิดความกระตือรือร้นที่จะ “หาทางเลือกการลงทุน” ที่ใช่เพื่อตอบโจทย์ชีวิตของตัวเอง

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความเข้าใจในการเงินและการลงทุนที่ถูกต้องและยั่งยืน จึงได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (BBLAM) หรือ บลจ.บัวหลวง ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจด้านการลงทุน ครอบคลุมมิติของการบริหารจัดการความมั่งคั่ง การให้ข้อมูลด้านวิชาชีพในอุตสาหกรรมการจัดการลงทุน และการให้ความร่วมมือในเชิงการวิจัยเชิงลึกด้านวิชาการ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ เกรียงไกร  กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.กัลปพฤกษ์  ผิวทองงาม  คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผู้บริหารจากบมจ.กรุงเทพฯและ BBLAM เข้าร่วมในพิธี

ศาสตราจารย์ ดร.กัลปพฤกษ์  ผิวทองงาม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า คณะเศรษฐศาสตร์มีการเรียนการสอนใน Modul Financial Economics ซึ่งเป็นกลุ่มรายวิชาที่นักศึกษาต้องใช้ความรู้ด้านการลงทุนอยู่แล้ว และ บลจ.บัวหลวง เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการจัดการลงทุน กองทุนส่วนบุคคล การจัดการกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการจัดการทรัพย์สินของผู้อื่น  “การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นการยกระดับความรู้ของนักศึกษา ที่จะออกไปประกอบอาชีพทางด้านการเงิน และยังนำความรู้นั้นไปสร้างความเข้าใจในด้านการเงินและการลงทุนให้ประชาชน ซึ่งหากเราทำสำเร็จในครั้งนี้จะถือเป็นการยกระดับครอบครัวไทยด้านการเงินและการลงทุนด้วย”

ทั้งนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มข. และ บลจ.บัวหลวงได้มีความประสงค์ร่วมกันที่จะให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนทางวิชาการและการวิจัยเชิงลึกรวมไปถึงการร่วมดำเนินกิจกรรมภายในข้อตกลงความร่วมมือ ดังนี้  1) โครงการให้ความรู้ด้านการลงทุนและแนะแนววิชาชีพด้านการลงทุน (Wealth Management &  Asset Management) 2) โครงการสหกิจศึกษา3) โครงการให้ความรู้ด้านการออมและการลงทุนเบื้องต้น 4) โครงการความร่วมมือด้านวิชาการระหว่าง บลจ. บัวหลวง และ มหาวิทยาลัย 5) โครงการแข่งขัน Idea Pitch Competition 6) โครงการศึกษาพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า การลงนาม MOA ระหว่างบลจ.บัวหลวงและมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งนี้ เป็น MOA ฉบับแรกที่บลจ.บัวหลวงได้ร่วมลงนามกับสถาบันการศึกษา เนื่องด้วยเล็งเห็นถึงการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของภูมิภาคอีสานโดยที่มีขอนแก่นเป็นศูนย์กลาง การวางรากฐานทางการลงทุนในภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพการเติบโตของภูมิภาค ผนวกกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสถาบันที่เปี่ยมไปด้วยทรัพยากรบุคคลคุณภาพ องค์ความรู้ที่ทันสมัย และเครือข่ายที่จะสามารถเชื่อมโยงกับชุมชน    “ บลจ.บัวหลวงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้จะนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ตามเป้าประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ร่วมกัน รวมถึงบรรลุพันธกิจหลักของ บลจ. บัวหลวงที่จะทำให้ครอบครัวไทย มีความมั่นคงทางการเงิน ”

ภาพ/ข่าว : รวิพร  สายแสนทอง


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

แพทย์ มข.เตือนเฝ้าระวังโควิด XBB.1.16 แนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน Bivalent

แพทย์ มข.ชี้โควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เบื้องต้นพบว่า ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม แนะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มเสี่ยงขอให้ประเมินตนเองแล้วฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น Bivalent โดยเร็ว หรือ Walk in มารับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 19-30 เม.ย.นี้

หลังการเฉลิมฉลองและความสนุกสนานช่วงเทศกาลสงกรานต์ ข่าวโรคระบาดอย่างโควิด-19 ก็กลับมาอีกครั้ง หนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จ.ขอนแก่น ระบุว่า หลังเทศกาลสงกรานต์คนสนิทติดเชื้อโควิด-19 จึงได้เฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อวันแรกก็ยังไม่พบ ก่อนที่วันที่ 2 จะเริ่มมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย และวันที่ 3 อาการเริ่มชัดเจน อ่อนเพลียมากขึ้น มีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียส จึงตรวจ ATK อีกครั้งแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19

“หลังจากตรวจพบก็มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และไข้สูงต่อเนื่อง จึงกินยาลดไข้ตามอาการ โดยซื้อยาเอง และโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล”

ผู้ติดเชื้อคนดังกล่าว ระบุอีกว่า แม้จะฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม แอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มแล้ว แต่ครั้งนี้ก็ยังติดเชื้อ โดยเป็นการติดครั้งแรก ซึ่งส่วนตัวก็กังวลกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อคนใกล้ชิดติด แล้วตัวเองติดด้วย ขณะเดียวกันยังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีก และคาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์เชื้ออาจจะแพร่กระจายจนทำให้ผู้ติดเชื้อมีปริมาณเพิ่มขึ้น

ขณะที่ ผศ.นพ.วันทิน ศรีเบญจลักษณ์ อายุรแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โควิด-19 ที่มีกระแสข่าวว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่นั้น ยังเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน โดยสายพันธุ์ที่ถูกพูดถึงมาก คือ สายพันธุ์ XBB.1.16 เป็นการกลายพันธุ์เล็ก ๆ น้อย ๆ บริเวณตำแหน่งที่เรียกว่าโปรตีนหนาม ซึ่งอาจทำให้เชื้อมีคุณสมบัติแพร่กระจายได้เร็วขึ้น แต่เบื้องต้น ยังไม่มีข้อมูลว่าก่อให้เกิดโรครุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่น

อย่างไรก็ตาม หลังสงกรานต์มีรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นถึง 158 เท่าในประเทศไทย แต่ต้องย้ำว่า ก่อนสงกรานต์เป็นช่วงที่โรคเงียบสงบ ดังนั้น 158 เท่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังเป็นจำนวนหลักร้อยคน

“ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ติดเชื้อง่ายขึ้น แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม หากถามว่าต้องกังวลไหม อาจตอบว่า ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ไปก่อน”

ผศ.นพ.วันทิน ระบุอีกว่า อาการของโควิด-19 นั้น อาจจะแยกความแตกต่างกับอาการไข้หวัดใหญ่ได้ยาก เนื่องจากมีอาการใกล้เคียงกัน คือ มีทั้งไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และล่าสุดสำหรับสายพันธุ์ XBB.1.16  มีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อมีอาการตาแดงด้วย แต่อาการนี้อาจไม่เกิดขึ้นกับทุกคน ซึ่งการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก็ยังสามารถยืนยันการติดเชื้อได้ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใด

เช็ก! ใครควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น Bivalent  

สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ภายใน 3 เดือน หรือฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จนทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงมากแล้ว ก็มีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อใหม่ เพราะแม้ว่าเชื้อจะกลายพันธุ์แต่การหลบภูมิคุ้มกันยังไม่โดดเด่น แต่หากติดเชื้อและฉีดวัคซีนนานแล้ว ก็มีโอกาสติดเชื้อซ้ำหรือติดเชื้อใหม่ได้

การป้องกันการติดเชื้อกลายพันธุ์อาจต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นชนิดใหม่ คือ วัคซีน Bivalent  ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดผสมกันระหว่างสายพันธุ์อู่ฮั่นและโอมิครอน โดยมีผลข้างเคียงไม่ได้แตกต่างจากวัคซีนชนิดเดิม ซึ่งจะเป็นตัวช่วยลดการติดเชื้อรุนแรงได้

ผศ.นพ.วันทิน  ย้ำว่า หากใครยังมีภูมิคุ้มกันดีก็ให้พิจารณาแล้วแต่บุคคล แต่กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงบุคลากรการแพทย์หน้าด่านที่ต้องดูแลผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ก็จำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงของตัวเองแล้วฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้  หากมีแนวโน้มการระบาดระลอกใหม่ ประชาชนก็ต้องปรับพฤติกรรมเพื่อป้องกันการติดเชื้อโดยสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงที่ชุมชน หรือแออัด ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเวลานั้น ๆ

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพิจารณาแล้วว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถเดินทางมาฉีดวัคซีนชนิดใหม่ Bivalent ของไฟเซอร์ ที่งานเวชกรรมสังคม ชั้น 2 อาคารเรียนรวม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 19-30 เมษายน 2566 ช่วงบ่ายของทุกวัน ยกเว้น วันหยุดราชการ

ข่าว  : ผานิต ฆาตนาค


Exit mobile version