Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. จับมือ พพ. บูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐาน Building Energy Code (BEC)

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมและกายภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)  ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการส่งเสริมการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายกับนายเรืองเดช ปั่นด้วง รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พร้อมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ 7 แห่ง เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐาน Building Energy Code (BEC) สู่การพัฒนาเป็นองค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564  ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน  กรุงเทพฯ การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้  เดินหน้านำพลังงานทดแทนมาใช้และลดใช้พลังงาน 30% ในปี 2580 จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี 2573 ตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในหรือก่อนหน้า ปี 2065  รวมถึงการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบในระบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ใช้ในปัจจุบัน

สำหรับแนวทางปฏิบัติในการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามกฎกระทรวงฯ BEC  ปี 2563     นั้นทางกระทรวงพลังงาน  โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ออกกฎกระทรวงฯฉบับใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่  12  พฤศจิกายน 2563  ประเภทอาคารที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม

กฏกระทรวงฯ คือ อาคารก่อสร้างใหม่หรือดัดแปลง ที่มีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตาราเมตรขึ้นไป ใน 9 ประเภทอาคาร  ตามกฎกระทรวงฯ ข้อที่ 14 ได้ระบุว่าการตรวจประเมินในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีคุณสมบัติ ดังนี้  (1) วิศวกรที่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือ สถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม (2) ผู้ที่ได้รับการรับรองจาก พพ. ว่าเป็นผู้สำเร็จการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด และกฎกระทรวงฯ ข้อ 15 ระบุให้เจ้าของอาคาร มีหน้าที่จัดทำรายงานฯ เพื่อประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตหรือแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร คือ (1) ตรวจประเมินแบบอาคาร BEC ก่อนยื่นขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร (2) ตรวจประเมินแบบอาคาร BEC ก่อนยื่นขอใบรับรองการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร 

แนวทางการบังคับใช้จะเริ่มจากอาคารขนาดใหญ่ พื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไปในปีแรก และตั้งแต่  5,000 ตารางเมตรขึ้นไปในปีที่สอง และตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ใช้โปรแกรมตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน เป็นโปรแกรมช่วยในการประเมินอาคารที่ออกแบบ  ว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎกระทรวงฯ หรือไม่ โดยปัจจุบันอยู่ในรูปแบบออนไลน์ (BEC Web-based) โปรแกรม BEC Web-based ใช้งานผ่าน http://bec.energy.in.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรศัพท์/โทรสาร : 0-2225-2412 www.2e-building.com E-mail : 2e.center@gm  Facebook BEC Center ศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 

อย่างไรก็ตาม พพ. ได้เตรียมให้สถาบันการศึกษาชั้นนำ 7 แห่ง อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ร่วมวางเป้าหมายสร้างความร่วมมือให้ครอบคลุมมหาวิทยาลัยทั้งหมดที่มีความพร้อม เพื่อให้บุคคลากรของสถาบันการศึกษา และนิสิตนักศึกษาที่มีคุณสมบัติได้มีความพร้อมรองรับการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดในการบังคับใช้มาตรฐาน BEC ตลอดจนการบูรณาการเชื่อมโยงมาตรฐาน Building Energy Code (BEC) สู่การพัฒนาเป็นองค์ความรู้สู่สถาบันการศึกษาอย่างแท้จริง

ขวัญฤทัย ข่าว/สมเกษ ถ่ายภาพ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. MOU พร้อมเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ “นักบินพาณิชย์ตรี”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และโรงเรียนการบินศรีราชา เอวิเอชั่น พร้อมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (หลักสูตรนานาชาติ) ในวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุม 328 อาคาร 81 คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ร่วมกัน โดยนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ สามารถเลือกเรียนในหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ของโรงเรียนการบินศรีราชา เอวิเอชั่น ควบคู่ไปกับการเรียนในหลักสูตรปกติ มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

กิจกรรมความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ และโรงเรียนการบินศรีราชา เอวิเอชั่น เช่น ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันดำเนินโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี โดยให้นักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ สามารถเลือกเข้าร่วมเรียนในหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ของโรงเรียนการบินศรีราชา เอวิเอชั่น ควบคู่กันไป ต้องมีนักศึกษาในแต่ละรุ่น จำนวนไม่น้อยกว่า 6 คน การรับสมัครและการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ให้เป็นไปตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย รวมถึงสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากร อาจารย์และนักศึกษา เพื่อการเรียนการสอน และการวิจัยร่วมกัน ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมและโครงการอื่น ๆ ในการสร้างองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมการบินและพัฒนาบุคลากรด้านการบินร่วมกัน

สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 0-2555-2000 ต่อ 8315, 8308

ขวัญฤทัย ข่าว/ดร.ปิยลักษณ์ ภาพถ่าย


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. กวาด 4 รางวัลชนะเลิศการแข่งขัน TEACHING ACADEMY AWARD 2019

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นเจ้าภาพจัดโครงการแข่งขัน TEACHING ACADEMY AWARD 2019 (8th) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปรากฏว่าคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) คว้า 4 รางวัลชนะเลิศ จากประเภท

1. สื่อประกอบการเรียนการสอนนวัตกรรมฮาร์ดแวร์

2. การสอนวิชาทฤษฎี (กลุ่มสาขาวิชาอุตสาหการ/การผลิต/การเชื่อม)

3. การสอนวิชาทฤษฎี ( กลุ่มสาขาวิชาคอมพิวเตอร์) และ

4. การแข่งขันประเภทรีวิวประกอบเพลง

โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานโครงการแข่งขัน TEACHING ACADEMY AWARD 2019 (8th) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต โดยเครือข่ายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานตามภารกิจต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านประกันคุณภาพทางการศึกษา การถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการของผู้มีผลงานดีเด่น ด้านกิจกรรมนักศึกษา ด้านการจัดการเรียนการสอนการวิจัยและพัฒนาการบริการทางวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

การแข่งขันดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การแข่งขันประเภทการสอนของกลุ่มสาขาวิชาต่าง ๆ ประเภทสื่อประกอบการเรียนการสอนนวัตกรรมฮาร์ดแวร์ การแข่งขันประเภทการสร้างสื่อประกอบการเรียนการสอนนวัตกรรมซอฟต์แวร์ และการแข่งขันประกวดร้องเพลงลูกทุ่งและรีวิวประกอบเพลง ทั้งนี้มีผู้เข้างาน 400 คน จาก 10 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

(1) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

(2) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

(3) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

(4) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

(5) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

(6) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

(7) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

(8) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

(9) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ

(10) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอแสดงความยินดีกับทุกๆ สถาบันการศึกษาในครั้งนี้ด้วย แต่ละทีมฝีมือคุณภาพสมศักดิ์ศรีทุกทีม


 

Exit mobile version