Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CIBA DPU ผนึก มอ.เปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตร์นานาชาติ รุ่นแรกเปิดสอนปี 2564 ชูจุดเด่นหลักสูตร สร้างพยาบาลมี DNA ผู้ประกอบการ พร้อมสมรรถนะหลากหลายในการประกอบอาชีพ

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า CIBA DPU ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในการผลิตพยาบาลศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ โดยเบื้องต้นจะเปิดรับนักศึกษาจีน จำนวน 30 คน ทั้งนี้ ในส่วนของ CIBA DPU จะปลูกฝัง DNA ความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 โดยผ่านการเรียนวิชาด้านผู้ประกอบการ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรมธุรกิจ เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าถึงความรู้สึกของลูกค้า การคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เป็นต้น โดยมีการดำเนินการสอนจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเชิญวิทยากรแต่ละแขนงเข้ามาปลุกไอเดียธุรกิจให้นักศึกษา และจำลองการสร้างธุรกิจด้วยตนเองด้วย

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงนาม MOU ครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือของสองมหาวิทยาลัยที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการข้ามศาสตร์ โดยมอ.จะมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น ด้านการแพทย์ การพยาบาล เป็นต้น สำหรับ CIBA DPU นั้น มีความโดดเด่นด้านการสร้างธุรกิจสร้างมืออาชีพ โดยจะปลูกฝังทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา เมื่อผนึกทั้งสองศาสตร์รวมกัน นักศึกษาจะมีสมรรถนะและทักษะที่หลากหลายมากขึ้น

“สายวิชาชีพพยาบาลศาสตร์ยังคงเป็นที่ต้องการสูงของตลาดแรงงานไทยและต่างประเทศ เมื่อผนวกศาสตร์ความเป็นผู้ประกอบการเข้าไป จะทำให้หลักสูตรพยาบาลศาสตร์มีความพิเศษมากขึ้น สำหรับข้อดีของการเรียนในหลักสูตรนี้ คือ นอกเหนือจากความรู้ความสามารถทางด้านวิชาชีพพยาบาล บัณฑิตยังจะมีสมรรถนะที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้หลังจากบัณฑิตจบการศึกษาแล้วสามารถเลือกประกอบอาชีพได้หลากหลายขึ้น รวมทั้งการสร้างธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาชีพพยาบาล อาทิ เปิด Healthcare ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย หรือเปิดสถานความงาม เป็นต้น” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดย รศ.ดร. นงนุช บุญยัง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงความร่วมมือว่า คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดการศึกษาพยาบาลศาสตร์ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในส่วนของปริญญาโทและปริญญาเอกมีการจัดการเรียนการสอนสำหรับทั้งนักศึกษาไทยและนานาชาติ ครั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่ง ในการรับนักศึกษาจากประเทศจีน จำนวน 30 คน มาเรียนในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน โดยจะสะท้อนให้เห็นถึงการศึกษาที่ไร้พรมแดน นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติการโดยตรงกับครูอาจารย์ ฝึกปฏิบัติทั้งในเครื่องจำลอง และในสถานการณ์จริง


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณบดี CITE DPU เตือนภัยคุกคาม Ransomware ตัวใหม่ยังถอดรหัสไม่ได้ แนะผู้ใช้งาน IT ตั้งรับด้วยความตระหนักรู้

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการโจมตีทางไซเบอร์จำนวนมากทั่วทั้งโลกและในประเทศไทย ซึ่งไม่นานมานี้ได้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ที่สำคัญขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลประจำจังหวัดแห่งหนึ่ง โดยแฮกเกอร์โจมตีด้วย Ransomware จนระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลไม่สามารถทำงานได้ทำให้การให้บริการกับผู้ป่วยได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมทั้งมีการเรียกค่าไถ่ด้วยมูลค่าที่สูงมาก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกคนต้องหันมาสนใจเรื่องภัยคุกคามจากไซเบอร์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบเจาะระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เป็น Security Engineer ให้กับผลิตภัณฑ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของโลกในประเทศไทย ได้วิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าวโดยระบุว่า Ransomware ของโรงพยาบาลที่ถูกโจมตีมีชื่อว่า “VoidCrypt” ที่ปรับปรุงใหม่ โดยปัจจุบันยังไม่สามารถทำการถอดรหัสเพื่อแก้ไขไฟล์ที่ติด Ransomware ตัวนี้ได้ และหากดูจากลักษณะการโจมตี รูปแบบและผลกระทบที่เกิดขึ้นคาดว่าไม่น่าจะเป็นฝีมือของคนไทยแต่มีความเป็นไปได้ที่เกิดจากการโจมตีจากชาวต่างชาติแถบทวีปยุโรปตะวันออกหรือตะวันออกกลางมากกว่า

ดร.ชัยพร กล่าวว่า Ransomware ดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายเพื่อการเรียกค่าไถ่ หากยอมจ่ายค่าไถ่ดังกล่าวแล้วก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าแฮกเกอร์จะยอมถอดรหัสไฟล์ทั้งหลายที่ติด Ransomware ดังกล่าวหรือไม่ แต่ผลกระทบเกิดขึ้นกับข้อมูลที่ได้เก็บบันทึกไว้และไม่สามารถนำมาใช้งานได้เกิดขึ้นแล้ว การกู้คืนระบบทำได้ยากหากไม่มีการบริหารจัดการสำรองข้อมูลที่ดี หรือมีการใช้งานเครื่องมือป้องกันจำพวก Endpoint Security รองรับหรือไม่ รวมถึงระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ล้าสมัยหรือไม่มีการอัพเดต การกำหนดสิทธิในการทำงานหรือการใช้งานของ User รัดกุมเพียงพอมากน้อยเพียงใด รวมทั้งความตระหนักของหน่วยงานและผู้ใช้งาน โดยในระยะสั้นอาจต้องแก้ปัญหาด้วยการทำงานด้วยกระดาษเป็นหลักก่อน ส่วนในระยะกลางถึงยาวอาจต้องแก้ปัญหาด้วยการคีย์ข้อมูลที่ต้องใช้งานเข้าไปใหม่ พร้อมทั้งการเพิ่มเติมและอัพเดตระบบคอมพิวเตอร์และระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งต้องเสียทั้งเวลา งบประมาณ การให้บริการ และชื่อเสียง

คณบดีวิทยาลัย CITE DPU กล่าวว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์มีอยู่รอบตัวเรา และยังมีรูปแบบอื่น ๆ อีกยกตัวอย่างเช่น มีข้อมูลส่วนตัวของบุคคลที่สำคัญไปโผล่ที่ตลาดมืด เป็นไปได้ว่าแฮกเกอร์เป็นผู้นำไปขาย โดยเจาะระบบผ่านอีเมลล์ฟิชชิ่งทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานในองค์กรติด Malware ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ หรือกรณีการติด Malware จนทำให้เกิดการแก้ไขข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศของบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง จนทำให้เกิดการโอนเงินไปยังบัญชีปลายทางที่เป็นของแฮกเกอร์ในต่างประเทศ เป็นต้น ปัญหาทั้งหลายดังกล่าวมักเกิดจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือมีแต่ขาดการอัพเดต ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ทุกคนต้องมีสติระมัดระวังในการใช้งาน มีการตระหนักรู้ (Awareness) ของการใช้งานที่ดี ไม่เข้าใช้โปรแกรมที่ไม่มีแหล่งที่มา ไม่เปิดอีเมลที่ไม่มีแหล่งที่มาหรือน่าสงสัย รู้จักใช้ระบบป้องกัน เก็บบันทึกข้อมูลการใช้งานให้ครบถ้วน มีการสำรองข้อมูล อัพเดตซอฟต์แวร์และเครื่องมือต่างๆ สม่ำเสมอ นอกจากนี้การป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์จำเป็นต้องได้รับการทบทวนและตรวจสอบเป็นประจำ ห้ามการ์ดตก เปรียบเหมือนเกมแมวไล่จับหนู เพราะแฮกเกอร์มักจะปรับเปลี่ยนวิธีการโจมตีใหม่ไปเรื่อย ๆ ทำให้เราต้องปรับวิธีตั้งรับและป้องกันตลอดเวลาเช่นเดียวกั

ดร.ชัยพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ภัยคุกคามไซเบอร์ไม่มีทางหมดไปจากโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต และการโจมตีมาจากส่วนไหนของโลกก็ได้ เพราะภัยคุกคามต่าง ๆ มาจากการใช้งานอินเตอร์เน็ต แม้ภาครัฐได้ออกกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่กฎหมายดังกล่าวบังคับและครอบคลุมหน่วยงานหรือบริษัทที่สำคัญเท่านั้นให้มีกระบวนการและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ดีพอ ยังไม่ครอบคลุม Home User หรือหน่วยงานหรือบริษัททั่วไป ดังนั้นผู้ใช้งานควรจะตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ใช้งานอินเตอร์เน็ตด้วยความระมัดระวัง รู้จักใช้เครื่องมือที่ช่วยป้องกันภัยคุกคามต่างๆ มีการสำรองข้อมูลสำคัญ เสริมสร้างความรู้ด้านไซเบอร์ เป็นต้น


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CIBA DPU จับมือม.ดังอังกฤษเปิด Double Degree เรียนรู้ธุรกิจทั่วโลก

CIBA DPU จับมือ The University of Northampton ประเทศอังกฤษ เปิดหลักสูตร Double Degree สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ และ MBA หวังเพิ่มโอกาสแก่นักศึกษาไทย เรียนรู้ธุรกิจฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพิ่มช่องทาง เครือข่ายในการทำธุรกิจ พร้อมลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี(CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องมีการปรับตัวทั้งในเรื่องของการเรียนการสอน หลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าถึงองค์ความรู้ และโอกาสทางการศึกษาให้มากที่สุด วิทยาลัยCIBA ซึ่งมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ จึงได้ร่วมมือกับ The University of Northampton ประเทศอังกฤษ ในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตร 2 ปริญญา หรือDouble Degree ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรนี้ นักศึกษาสามารถไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ หรือจะเรียนในประเทศไทยซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญา 2 ใบจาก DPU และ The University of Northampton ประเทศอังกฤษ

“ความร่วมมือดังกล่าว เป็นการขยายโอกาสใหันักศึกษาไทยที่ไม่สะดวกจะเดินทางไปต่างประเทศ สามารถเรียนในเมืองไทยได้ ซึ่งทาง The University of Northampton เป็นมหาวิทยาลัยดังในประเทศอังกฤษ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผู้ประกอบการ หรือธุรกิจ CIBA DPU ก็มีนโยบายที่สอดคล้องกันในเรื่องการสนับสนุนความสามารถของนักศึกษาในการสร้างธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ทางมหาวิทยาลัยมีที่ปรึกษาเฉพาะทางที่พร้อมช่วยผลักดันให้ธุรกิจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากความลงตัวดังกล่าวทำให้นักศึกษาที่จะเรียนในหลักสูตรได้เห็นมุมมองทางด้านธุรกิจในประเทศตะวันตก และตะวันออก ขณะเดียวกันจะเป็นการเปิดเครือข่ายในการทำธุรกิจ เพราะรูปแบบการเรียนการสอนจะเน้นจากสถานการณ์จริง กรณีศึกษาจริงที่เกิดขึ้นจากในประเทศฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก นักศึกษาจะมีโอกาสในการทำธุรกิจและเรียนรู้ธุรกิจในโลกสมัยใหม่ได้มากขึ้น” คณบดีวิทยาลัย CIBA กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน วิทยาลัย CIBA มีการเปิดรับนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียนกว่า 20 ประเทศ ดังนั้น ในหลักสูตร 2 ปริญญาดังกล่าว จะมีนักศึกษาที่เข้าเรียนจากหลากหลายประเทศ ซึ่งจะได้แนวทางด้านธุรกิจที่มาจากบุคลากร คณาจารย์ วิทยาลัย CIBA และ The University of Northampton รวมถึงผู้เชี่ยวชาญมากมาย โดยทั้ง 2 หลักสูตรจะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2564 ซึ่งจะรับคลาสละ 30 คน สำหรับผู้สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/ หรือเพจ CIBAวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CITE DPU ร่วมเอกชน พัฒนาระบบติดตามสถานะผู้ป่วยบนรถพยาบาลแบบเรียลไทม์

CITE DPU ร่วมเอกชน พัฒนาระบบติดตามสถานะผู้ป่วยบนรถพยาบาลแบบเรียลไทม์ ช่วยทีมแพทย์ประเมินคนไข้ก่อนถึง รพ. พร้อมรักษาได้ทันท่วงที อนาคตมีแนวคิดพัฒนาระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์การแพทย์ภายในรถหลากหลายขึ้น หวังช่วยแพทย์รักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การนำผู้ป่วยหรือคนไข้ฉุกเฉิน โดยรถพยาบาล (Ambulance)  ไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่อาจทราบถึงรายละเอียดสภาพปัญหา รวมไปถึงสัญญาณชีพของผู้ป่วยและระยะเวลาในการเดินทางมาถึงโรงพยาบาลได้ ในบางครั้งจึงไม่สามารถเตรียมการช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดการเกิดปัญหาดังกล่าว จึงเกิดโครงการระบบติดตามสถานะของผู้ป่วยและตำแหน่งของรถพยาบาล โดยความร่วมมือของ  วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กับ บริษัท Tely 360 จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบทางการแพทย์แบบครบวงจร

ผศ.ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบติดตามตำแหน่งรถพยาบาลพร้อมสัญญาณชีพของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ได้ทราบรายละเอียดโดยรวมของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์และเตรียมการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ โดยปัจจุบันระบบนี้ได้ติดตั้งบนรถพยาบาลไปแล้วกว่า 200 คัน ทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดขอนแก่น อยุธยา เชียงราย ภูเก็ต ยะลา กรุงเทพฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกจะเป็นอุปกรณ์ติดกับตัวรถ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้แพทย์ได้มองเห็นสภาพโดยรอบภายในรถรวมถึงสภาพของผู้ป่วยผ่านกล้อง ทราบถึงอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตของผู้ป่วย ฯลฯ   ส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนคลาวด์เซิฟต์เวอร์สำหรับเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วย และส่วนที่ 3  เป็นแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ซึ่งจะปรากฏข้อมูลของคนไข้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์ของคนไข้จากข้อมูลที่ปรากฏนี้ได้

“ระบบนี้เป็นแบบเรียลไทม์ จะทำให้ทราบระยะเวลาว่าอีกกี่นาทีที่รถจะถึงโรงพยาบาล มองเห็นสภาพโดยรวมของคนไข้ ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ อาการหนักมากน้อยแค่ไหน  แพทย์จะได้ประเมินและเตรียมการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที” ผศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว

ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาระบบขั้นต่อไปในอนาคตมีแนวคิดจะพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือเฉพาะทางการแพทย์ภายในรถพยาบาลให้ได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ เครื่องปั๊มหัวใจ เครื่องวัดปริมาณเลือด/น้ำเกลือ ฯลฯ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทีมแพทย์พยาบาลในการเตรียมการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

DPU ติดอาวุธทักษะเทคโนโลยี ‘นิวเจน’ เพิ่มโอกาสรบชนะตลาดงานในอนาคต

ธุรกิจบัณฑิตย์ ตอบโจทย์ สร้างและพัฒนาทุนมนุษย์คนรุ่นใหม่สู่ สมาร์ท ซิติเซ่น เร่งปรับเปลี่ยนทักษะเพื่อให้เท่าทันเทคโนโลยี และก้าวเป็นกำลังสำคัญให้กับตลาดแรงงานในอนาคต

เด็กรุ่นใหม่ต้องเตรียมตัวอย่างในในสภาวะที่การแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสถิติคนว่างงานเป็นกว่าแสนคนต่อปี ผู้ประกอบการมีโอกาสเลือกเยอะ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

คนที่กำลังก้าวสู่แรงงานต้องแข่งกับคนด้วยกันเอง ทั้งยังต้องแข่งกับเทคโนโลยี ทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองก้าวข้ามสถานการณ์นี้ได้ แล้วการแข่งขันในตลาดแรงงาน ระหว่าง “คน” กับ “เทคโนโลยี” จะเป็นอย่างไรได้บ้างในอนาคต ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดี สายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมในการสร้าง “คนเก่ง” ให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งปัจจุบันและในอนาคตเป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ

เมื่อเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินงานอย่างมากในหลายธุรกิจ สำหรับภาคการศึกษาถึงแม้จะรับผลกระทบไม่มากเท่ากับธุรกิจแต่การเตรียมพร้อมรับมือก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงเริ่มเห็นแล้วในองค์กรธุรกิจโดยได้เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานในองค์กรเพียงบางส่วน ไปจนถึงการทดแทนการทำงานของคนอย่างสมบูรณ์แบบ

“จำนวนเด็กตกงาน เป็นเรื่องที่พอจะคาดเดากันได้ว่าในยุคของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี แต่ในมุมมองคิดว่าสถานการณ์คงไม่เร็วไปกว่านี้ ถ้าไม่มีประเด็นอื่นๆ มาส่งผล ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และปัจจัยอื่นๆ เพราะมองแล้วในอนาคต “งาน” บางอย่างจะถูกแทนที่ด้วย AI (Artificial Intelligence)”

ตัวเลขคนตกงานไม่ใช่ผลจากเทคโนโลยี หรือสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่เป็นเพียงปัจจัยเร่งให้ปฏิกิริยาให้เร็วขึ้นเห็นได้จากผลกระทบเรื่องการลงทุน จากการสู้กันเรื่องนี้ ก็ต้องดูว่าเป็นโปรดักท์อะไร เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พอเกิดสงครามการค้า การค้าการลงทุนทั่วโลกกระทบ ตลาดหุ้น ค่าเงิน มองสถานการณ์แล้วผลกระทบน่ามีขึ้น 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย”

อย่างไรก็ดี ภาวะการตกงานที่เกิดขึ้นในไทย อาจเกิดได้ในสองปัจจัย อย่างแรกตามที่ได้กล่าวไว้คือผลกระทบจากสงครามการค้า อีกประเด็นน่าจะส่งผลในระยะยาวมาจาก “การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี”

แนวทางที่ DPU ให้ความสำคัญ เริ่มที่การปรับมุมมองให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจ และตระหนักถึงบทบาทของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการทำงานและใช้ชีวิต ทั้งปัจจุบันและอนาคต

ในอีกด้าน บทบาทของมหาวิทยาลัยก็ปรับการสอนและมองหาเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาทำให้การเรียนรู้และพัฒนาทักษะ “คนรุ่นใหม่” เหล่านี้ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

“ทักษะไหน ฝึกเด็กออกไปแล้วจะไม่ตกงาน สิ่งที่บอกได้เลยก็คือในช่วง 5-10 ปีนี้ คือ ทักษะ โรบอท เอไอ บิ๊กดาต้า เป็นเทคโนโลยีที่เด็กรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงการนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้งานให้เป็น ถ้าทำไม่ได้ คนที่ทำได้ดีกว่าจะทำงานได้ปริมาณมากกว่า และแข่งขันได้

ตอนนี้คนจะอยู่รอดได้ต้องรู้ว่า เทคโนโลยีอะไรจะเข้ามามีบทบาทและปรับใช้เทคโนโลยีนั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียน ทำงาน และสร้างอาชีพได้อย่างไร จากเคยใช้เวลา 10 ชั่วโมง อาจเหลือแค่ชั่วโมงเดียว ทำงานให้เร็ว และง่ายขึ้น ถ้าทำไม่ได้ ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะต่อสู้กับคนที่สร้าง Productivity ได้มากกว่า”

ในแนวทางของ DPU นอกจากปรับวิธีคิดและมุมมองให้กับคนรุ่นใหม่แล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างกระบวนคิดและการเรียนรู้ใหม่ๆ ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอน ยกตัวอย่างให้เห็น จากเดิมที่สอนเป็นรายวิชาแบ่งเป็นหมวดหัวข้อ วันนี้การสอนตามสถานการณ์ และสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการทำงานของเทคโนโลยีเข้าไป เน้นกระตุ้นให้เกิดการสร้าง Innovation และ Technology เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ได้มองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจได้ตั้งแต่ยังเรียน

“ทุกอย่างฝึกให้คิดและลงมือทำจริง เช่นใน Capstone Class จะมีหัวข้อให้นักศึกษาได้เลือกทำ และผลักดันเป็นโครงงานของตัวเองแล้วต่อยอดให้ประสบความสำเร็จเป็นรูปร่างขึ้นมา

คนเหล่านี้ที่ถูกฝึกการใช้เทคโนโลยี utilize technology ได้ง่ายกว่า คนต้องฝึกให้เรียนรู้กับเทคโนโลยี เทคโนโลยีมีอะไรบ้าง ความคล่อง ความชาญฉลาด ต้องกำหนดว่า skill set ที่ต้องการคืออะไร Critical thinking เป็นเป้าหมายที่เราต้องการ ความสามารถในการสร้างคอนเนคชั่น การทำงานเป็นทีม ทักษะพวกนี้ สร้างยากเพราะไม่เกิดจากการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวได้”

ดร.พัทธนันท์ กล่าวว่า ในกระบวนคิดของมหาวิทยาลัยที่ว่า ถ้าผลิตคนออกมาในชุดความรู้แบบเดิม จบออกไปก็ไม่ใช่ทักษะแรงงานที่จะเป็นกำลังหลักของแรงงานในอนาคตได้ นอกจากที่กล่าวมา ทักษะสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ ความชาญฉลาดในการเลือกใช้เทคโนโลยี เพื่อทำให้งานเกิด Productivity ได้มากที่สุด ใช้เวลาเท่าเดิม แต่ได้งานมากขึ้น ซึ่งคนที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีมาเป็นอาวุธให้เพื่อให้เราทำงานได้เร็วขึ้น ชาญฉลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การเป็นมหาวิทยาลัยยืนหนึ่งเรื่องธุรกิจของ DPU กับ การสร้างแนวคิด ทักษะที่จำเป็น การรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ที่เปรียบเป็นอาวุธสำคัญสำหรับการทำงานยุคใหม่ในแบบที่รบชนะได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

DPU X มธบ. ปลื้ม หลักสูตรบล็อกเชนประสบความสำเร็จ ทั้งสาย Technical และ Non-Technical หวังขยายคอมมูนิตี้ด้านบล็อกเชนดันไอเดียธุรกิจใช้งานจริง

สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต (DPU X) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)ร่วมกับ Smart Contract Thailand จัดอบรมหลักสูตร “Blockchain Appreciation for NON-Technical” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม และนายสถาพน พัฒนะคูหา CEO และผู้ก่อตั้ง Smart Contract Thailand ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีบล็อกเชนระดับแนวหน้าของประเทศไทย เป็นวิทยากร

ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธบ.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ DPU X ได้เปิดอบรมหลักสูตรบล็อกเชนภายใต้ชื่อ Geeks on the Block (Chain) Batch#1 ให้กับ Technical เพื่อสร้างความเข้าใจในพื้นฐานและแนวคิดของระบบบล็อกเชน โดยภายหลังการอบรมผู้เข้าอบรมสามารถเขียนโค้ดและนำไปปรับใช้ในองค์กรได้ นอกจากนี้ในหลักสูตรผู้เข้าอบรมยังได้ทำเวิร์คช็อปร่วมกัน เพื่อค้นหาไอเดียธุรกิจที่ใช้บล็อกเชนเป็นองค์ประกอบโดยมีหลายโปรเจคที่น่าสนใจ อาทิ TRAFFIX การจัดการปัญหาจราจรโดยดึงการใช้รถจากถนนเส้นหลักที่หนาแน่นไปสู่ถนนสายรองที่คล่องตัวมากกว่า หรือ Gross Domestic Happiness แนวคิดของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ให้คะแนนความสุขของคนในประเทศ เป็นต้น ทุกคนมีไอเดียแต่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการบริหารธุรกิจ DPU X จึงเกิดแนวคิดในการจัดหลักสูตรอบรมบล็อกเชนขึ้นอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ “Blockchain Appreciation for NON-Technical” เพื่อให้ตัวแทนองค์กร หรือเจ้าของธุรกิจ ซึ่งเขียนโค้ดไม่เป็น ได้เข้าใจวิธีการทำงานของบล็อกเชนรวมถึงกลยุทธ์และเทคนิคในการเลือกใช้บล็อกเชนให้เหมาะสมกับธุรกิจ รวมถึงนำไปปรับใช้และต่อยอดธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.พัทธนันท์ กล่าวด้วยว่า คาดว่าหลังจากเปิดคอร์สอบรมบล็อกเชนให้กับ Technical และ Non-Technical ไปแล้ว จะเกิดการสร้างและขยายคอมมูนิตี้ทางด้านบล็อกเชน เพื่อให้กลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน พบปะแลกเปลี่ยนไอเดียนำบล็อกเชนขยายต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมในด้านอื่นๆ และยังเป็นการส่งเสริมการเกิดธุรกิจแนวใหม่ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย ทั้งนี้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีมานาน ปัจจุบันทุกภาคส่วนเริ่มนำไปปรับใช้ในธุรกิจหลายประเภท อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมการขนส่ง อุตสาหกรรมทางด้านการเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ข้อดีของเทคโนโลยีดังกล่าวจะโดดเด่นในเรื่องข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถบอกแหล่งที่มาของข้อมูลได้ แม้แต่หน่วยงานรัฐบาลยังนำบล็อกเชนมาบริหารการจัดส่งสินค้าทางการเกษตร เพื่อคำนวณผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดส่งผลให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสถาพน พัฒนะคูหา CEO และผู้ก่อตั้ง Smart Contract Blockchain Studio ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีบล็อกเชนระดับแนวหน้าของประเทศไทย กล่าวว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาก ซึ่งหากมีการดีไซน์อย่างถูกต้องแล้ว บล็อกเชนจะเป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูง มีความน่าเชื่อถือ สามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หรือนำไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ให้กับประเทศได้ ปัจจุบันบล็อกเชนถูกนำไปใช้หลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน สุขภาพ โลจิสติกส์ หรือแม้แต่วงการเกษตรกรรมยังสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาช่วยปรับโฉมธุรกิจ เพราะคนเริ่มกลัวสารเคมีจึงให้มูลค่าเพิ่มกับผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษ การนำเทคโนลีบล็อกเชนมาใช้จะทำให้ผู้บริโภคสามารถรู้ถึงแหล่งที่มาของการผลิตที่ชัดเจนทำให้เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ เหตุนี้ เจ้าของธุรกิจด้านการเกษตรจึงนำบล็อกเชนมาใช้กับระบบซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ลูกค้าเห็นแหล่งที่มาของสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือผ่านเทคโนโลยี  หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐ ก็สามารถนำบล็อกเชนมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อลดขั้นตอนการยื่นเอกสาร หรือใช้เป็นตัวเชื่อมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเจ้าของข้อมูลและผู้ขอใช้ข้อมูล  โดยเจ้าของข้อมูลสามารถอนุญาตหรือปฏิเสธการให้ข้อมูลได้และยังทราบด้วยว่า ผู้ขอใช้ข้อมูลเป็นใครนำไปใช้ทำอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม บล็อกเชนกำลังมาเปิดโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆให้กับธุรกิจต่างๆ กล่าวได้ว่าตอนนี้ บล็อกเชนได้รับการยอมรับ และมีการนำไปใช้จริงในวงกว้างมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญ คือ หน่วยงานหรือเจ้าของธุรกิจควรจะมีความเข้าใจถึงปัญหาที่ต้องการจะแก้และเข้าใจเทคโนโลยีนี้ก่อนนำไปใช้ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การวิเคราะห์ได้ว่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างไร
“การจัดอบรมหลักสูตรบล็อกเชนในครั้งนี้เป็นความพยายามที่ SmartContract Blockchain Studio ได้ร่วมกับ DPU X  เพื่อสร้างความเข้าใจในหลักการและปรัชญาพื้นฐานของบล็อกเชน และเฟรมเวิร์คในการนำบล็อกเชนไปใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท  ในบางกรณีการนำบล็อกเชนมาใช้แบบทื่อๆอาจไม่เหมาะกับการใช้งาน เราถึงต้องมีการดีไซน์ และศึกษาให้เข้าใจพื้นฐานเพื่อให้รู้ว่าจะหยิบข้อดีมาใช้อย่างไร หรือหลีกเลี่ยงข้อเสีย เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเราและองค์กร” นายสถาพน กล่าว

นางสาวรับขวัญ ชลดำรงค์กุล ตัวแทนจาก บริษัท ลอร์เอ็กซ์เทค จำกัด ธุรกิจที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย กล่าวว่า การเข้าอบรมในครั้งนี้ เพราะต้องการทราบว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมีประโยชน์อย่างไร มีองค์ประกอบอะไรบ้างและสามารถนำไปใช้ในธุรกิจได้จริงหรือไม่ สำหรับคอร์สที่ DPU X เปิดอบรมเป็นคอร์สสำหรับคนที่เขียนโค้ดไม่เป็น ซึ่งตรงกับสิ่งที่ตนอยากเรียนรู้พอดี ส่วนบรรยากาศในการอบรมดีมาก วิทยากรสามารถอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ผู้เข้าอบรมได้แลกเปลี่ยนไอเดียทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง หลังจบคอร์สคาดว่าจะนำบล็อกเชนไปใช้ในธุรกิจของตนเอง เพื่อให้งานที่ออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทุกวันนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ถ้าไม่รีบปรับตัวในการทำธุรกิจจะไปได้ยาก บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทในหลายธุรกิจ หากศึกษาและทำความเข้าใจก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CIBA_มธบ. ขนนวัตกรรมปลุกไอเดีย StartUp ในงาน Open House 2019

CIBA_มธบ. ขนนวัตกรรมปลุกไอเดีย StartUp โชว์ในงาน Open House 2019 เชิญชวนนักเรียน นักศึกษาร่วมเวิร์คช้อป ค้นหาตัวตนตามแนวที่ใช่คณะที่ชอบ พร้อมเรียนรู้ทักษะสำคัญในการอยู่รอดแห่งโลกอนาคตได้ตลอดงาน ระหว่างวันที่ 12-13 ธค.นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ที่ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy: CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)  เปิดเผยว่า   มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดงาน Open House 2019 ภายใต้ธีม “The Future Survivor” โดยนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมงานจะได้เปิดประสบการณ์ค้นหาและเรียนรู้ทักษะสำคัญในการอยู่รอดแห่งโลกอนาคต กับ 6 วิทยาลัย และ 6 คณะ  พร้อมสัมผัสการเรียนการสอนจริงและเวิร์คช้อปจากทุกคณะ  ในส่วนของ CIBA นอกจากด้านวิชาการแล้วยังจะเน้นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้แนวคิดการเป็นสตาร์ทอัพจากเกมต่างๆ อาทิ  เกมไททานิค  ซึ่งจะเป็นการจำลองการโดยสารเรือไททานิค เป็นการท้าทายของผู้เล่นที่จะทราบผลว่าตนเองจะรอดหรือไม่ได้ในตอนท้ายของเกม โดยสามารถดูได้จากการเลือกที่นั่งบนเรือ เกมนี้มีการนำข้อมูลจริงของเหตุการณ์มาวิจัยและประยุกต์มาเป็นเกม ซึ่งสามารถอธิบายและปรับใช้ในเชิงธุรกิจได้ โดยจากข้อมูลสามารถนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบในเชิงธุรกิจได้ว่าลูกค้ารายนี้ควรอนุมัติสินเชื่อหรือไม่อย่างไร หรือในมุมที่ว่าลูกค้ารายใดกำลังจะเปลี่ยนใจจากเราไปใช้บริการบริษัทคู่แข่งอย่างนี้เป็นต้น รูปแบบของเกม มีเหตุผลและรูปแบบวิธีคิดที่เหมือนกันเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจ โดยอาศัยจากข้อมูลของเหตุการณ์เรือไททานิคล่ม ซี่งเป็นทฤษฎีเดียวกันหมด

“เป็นโมเดลง่ายๆ เรียกว่า “ต้นไม้แห่งการตัดสินใจ”  เป็นการนำ Machine learning ส่วนหนึ่งของAI มาใช้   นักเรียน นักศึกษา น่าจะรู้จัก ไททานิค  หลังจากเล่นเกมเสร็จพอรู้ผล ก็จะมีการสรุปให้เค้าเห็นภาพ และก็จะค่อยๆอธิบายให้เข้าใจทฤษฎีว่า มันมีวิธีคิดวิธีเริ่มต้นแบบไหน โดยโยงเข้าสู่ธุรกิจจะทำให้เห็นภาพง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเกมเป่ายิงฉุบ ซึ่งไม่เหมือนเกมธรรมดา เป็นโมเดลเดียวกับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันที่ต้องรู้เขารู้เรา เป็นเรื่องของข้อมูลสถิติ โดยสองคนแข่งกัน แต่จะมีการให้ข้อมูลกับอีกคนด้านสถิติว่าหากเกมแรกแพ้เกมต่อไปต้องทำยังงัยต่อ ประเด็น คือ เราต้องการแสดงให้เห็นว่า ในการทำธุรกิจก็เหมือนกันใครมีข้อมูลมากกว่าคนนั้นได้เปรียบในการนำข้อมูลมาใช้เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่ง เรียกว่าจะเป็นการเป่ายิงฉุบที่มีสีสันมาก” คณบดีCIBA กล่าว

ดร.ศิริเดชกล่าวด้วยว่า ภายในงานจะเน้นให้เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับวิชาที่นักศึกษาจะได้เรียน พยายามให้เขาเข้าใจในรูปแบบของการทำธุรกิจในเกมที่นำมายกตัวอย่างในงานนี้ นอกจากนี้ภายในงานจะมีการฝึกให้นักเรียน นักศึกษา ได้มีโอกาสเขียนโปรแกรมอย่างง่ายในการสั่งงานหุ่นยนต์ทำงานด้านโลจิสติกส์เพื่อให้ทำงานสะดวกมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในงานขนส่งเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้โรบอทด้านการตลาดได้เช่นกัน อาทิ การเขียนโปรแกรมให้โรบอทแสดงท่าทางหรือทำงานด้านต่างๆเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนให้มาสนใจในธุรกิจของเราได้ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น ถุงมืออัจฉริยะ อุปกรณ์ internet of thing (IOT) ที่ต้องสั่งงานด้วยเสียง พร้อมนี้ยังมีทุนการศึกษาและโปรโมชั่นมากมายตลอดงาน

“งาน Open House 2019”  พร้อมเปิดบ้านให้ชมตลอดทั้งวัน ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  นักเรียน นักศึกษาที่สนใจร่วมงานได้ฟรี  ลงทะเบียนออนไลน์ร่วมงานก่อนใครได้ที่ https://openhouse.dpu.ac.th/ สอบถามรายละเอียดโทร. ต่อ 560, 722


Exit mobile version