Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

“นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล” หลักสูตรแรก!! ปวส. เรียนต่อปริญญาตรี จบได้ภายใน 1 ปี

CIBA DPU จับมือกับภาคธุรกิจ ปรับหลักสูตร นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล เรียนจบได้ภายใน 1 ปี เปิดโอกาสนักเรียนระดับ ปวส. ทุกคณะเทียบโอน ฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการวัดผลเป็นเกรดเฉลี่ย เน้นยืดหยุ่น เรียนจบเร็วพร้อมทำงานทันที

ดร.รชฏ ขำบุญ คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่มีรูปแบบใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่ง CIBA DPU ได้มีการปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์และเอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน มีความยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงองค์ความรู้ เพิ่มเติมทักษะ และสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย

สำหรับ หลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล เป็นหลักสูตรที่ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการ ผ่านการ MOU ร่วมกัน โดยนักศึกษาจะทำงานไปด้วยระหว่างการเรียน ซึ่งสถานประกอบการจะมอบหมายภาระงานที่สอดคล้องกับรายวิชาที่นักศึกษาลงทะเบียน จากนั้นอาจารย์และพี่เลี้ยงจะร่วมกันสอนงานทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เมื่อนักศึกษาปฏิบัติงานตามระยะเวลาที่กำหนด จะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานจากสถานประกอบการและอาจารย์ร่วมกัน ในรูปแบบเกรดและหน่วยกิตเช่นเดียวกับการเรียนที่มหาวิทยาลัย

ข้อดีของการเรียนในรูปแบบนี้คือ นักศึกษาสามารถทำงานไปด้วยและเรียนเพื่อได้ดีกรีไปพร้อมกัน นอกจากนั้นทางหลักสูตรได้อำนวยความสะดวกด้วยระบบการเรียนแบบออนไลน์ให้กับนักศึกษาอีกด้วย ซึ่งนักศึกษาสามารถเรียนผ่านระบบออนไซต์และออนไลน์ ที่มีความยืดหยุ่นเรื่องวันเรียนที่ไม่ชนกับวันทำงานได้ อีกทั้ง อาจารย์ยังจะไปเยี่ยมติดตามและให้ความรู้กับนักศึกษาถึงสถานประกอบการด้วย ดังนั้น หลักสูตรนี้จะเน้นการฝึกการทำงานอย่างเข้มข้น พร้อมกับได้วุฒิตามที่นักศึกษาต้องการ ปกติหลักสูตรนี้รับนักศึกษา จบ ปวส. มาเรียนต่อ ปริญญาตรี โดยใช้เวลาเรียน 2 ปี แต่ด้วยการเรียนในรูปแบบนี้ นักศึกษาจะสามารถเรียนจบได้ภายใน 1 ปี โดยยังคงคุณภาพการศึกษาไว้เช่นเดิม

“ก่อนหน้านี้ หลักสูตรดังกล่าวเป็นการเรียนระดับปริญญาตรีใช้เวลาเรียน 2 ปี จากระดับ ปวส. และทางหลักสูตรได้จัดการเรียนการสอนจนสามารถเรียนจบเร็วขึ้นภายในปีครึ่ง แต่ปีนี้จะเป็นปีแรกที่หลักสูตรจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เน้นการบูรณาการการเรียนและการทำงาน ผ่านการ MOU ร่วมกับสถานประกอบการ จนสามารถนำผลการปฏิบัติการมาเป็นเกรด ทั้งนี้ นักเรียนนักศึกษาในระดับปวส. จะคุ้นเคยกับทำงานในระบบทวิภาคีอยู่แล้ว หรือปฏิบัติงานในสถานประกอบการประมาณ 8 ชั่วโมง เหมือนกับพนักงานจริง ๆ ดังนั้น ทางหลักสูตรจึงได้ใช้แนวทางดังกล่าว ผ่านความร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อทำให้ชั่วโมงการทำงานสามารถเทียบและประเมินได้เป็นหน่วยกิตการศึกษา เอื้อต่อการเรียนรู้ การเพิ่มทักษะ ให้แก่นักเรียนได้ อีกทั้งการเรียนดังกล่าวจะมีการเรียนออนไลน์มาสนับสนุนการเรียนรู้ นักศึกษาสามารถจัดสรรเวลาที่เหมาะสมกับตัวเอง เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย และจบได้เร็วขึ้น” ดร.รชฏ กล่าว

ทั้งนี้ “หลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล” เป็นการเรียนเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ทั้งเรื่องธุรกิจ นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และดิจิทัล การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยหลักสูตรนี้ได้ถูกแบ่งรายวิชาออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. กลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวกับนวัตกรรม เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และเพื่อสร้างมูลค่าให้กับองค์กร 2. กลุ่มรายวิชาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางด้านธุรกิจ และความเป็นผู้ประกอบการ เช่น การตลาด การบัญชี การเงิน และโลจิสติกส์ 3. กลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในการพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ การพัฒนาแอพพลิเคชั่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลลูกค้า เป็นต้น นอกเหนือจากนั้น ทางหลักสูตรยังได้นำเครื่องมือและแนวการสอนสมัยใหม่ เพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้เช่น การใช้ Chat GPT, การเล่นเกมจำลองธุรกิจ และการใช้ระบบหลังบ้าน ERP (Enterprise Resource Planning) เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้มากขึ้น เป็นต้น

คณบดี CIBA DPU กล่าวต่อว่า หัวใจหลักของหลักสูตรนวัตกรรมธุรกิจดิจิทัลนี้ คือ การบูรณาการหลักสูตรกับสถานประกอบการมากขึ้น ทำให้หลักสูตรต่างๆ ตอบโจทย์ทั้งผู้เรียน และความต้องการของสถานประกอบการ อีกทั้งรูปแบบการเรียน นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนแบบ ออนไซต์ หรือ ออนไลน์ (e-learning) และเรียนแบบ ธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) หรือ การสะสมหน่วยการเรียนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำประสบการณ์การทำงานจากสถานประกอบการชั้นนำที่ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย วัดผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) ผ่านชุดรายวิชา (Module) โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีโอกาสเชื่อมโยงการเรียนรู้กับประสบการณ์การทำงานสามารถพัฒนาตนเองให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

สำหรับการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ เช่น นักศึกษาทำงานอยู่แผนกจัดซื้อ อาจารย์จะทำการสอนออนไลน์หรือออนไซต์ในด้านทฤษฎีของการจัดซื้อ โดยอาจใช้เวลาในช่วงเย็นเรียนออนไลน์ หรือ วันหยุดมาเรียนที่มหาวิทยาลัย จากนั้น เมื่อปฏิบัติงาน หัวหน้าหรือผู้ดูแลนักศึกษาฝึกงานจะสอนงานเพิ่มในเชิงการปฏิบัติงาน ในการประเมินองค์ความรู้ ทั้งอาจารย์และผู้ประกอบการจะร่วมประเมินจากความรู้และการปฏิบัติงาน และให้เกรดตามระดับผลงานที่เกิดขึ้นจริงในชุดรายวิชาของการจัดซื้อ เป็นต้น ส่วนรายวิชาอื่นนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มเพื่อเก็บหน่วยกิตได้ตลอดเวลาตามที่นักศึกษาสะดวกตามกรอบเวลา

อย่างไรก็ตาม หลักสูตร “นวัตกรรมธุรกิจดิจิทัล” เป็นความร่วมมือระหว่าง CIBA DPU กับสถานประกอบการ เพื่อยกระดับทักษะแรงงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้านธุรกิจและการสร้างสรรค์นวัตกรรม อันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่อุตสาหกรรมและประเทศ รวมถึงเป็นการผลิตบุคลากร แรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ลดการขาดแคลนแรงงาน และเพิ่มทักษะด้านนวัตกรรมดิจิทัลให้แก่ทรัพยากรบุคคลของประเทศ ผู้สนใจหลักสูตรดังกล่าว สามารถสมัครเรียน ในระดับปริญญาตรี เทียบโอน ปวส. ภาคพิเศษ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ https://ciba.dpu.ac.th/ หรือ โทร. 02-954-7300


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

วิทยาลัยนานาชาติ DPU เดินหน้าเปิดสอนหลักสูตรวิชาภาษาตะวันออก หลังจีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น แห่ลงทุนไทย คาดอนาคตไทยจะเป็น HUB ที่ชัดเจนมากขึ้น

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)  เปิดเผยว่า  เมื่อเร็วๆนี้  รัฐบาลได้แถลงถึงความคืบหน้าการลงทุนในประเทศไทย ช่วง 7 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ จำนวน 377 ราย เม็ดเงินลงทุนกว่า 58,950 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ญี่ปุ่น 2. สหรัฐอเมริกา 3. สิงคโปร์  4. จีน  และ 5. เยอรมนี ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC มูลค่าการลงทุน 12,348 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังไฟเขียวเดินหน้าโครงการ “แลนด์บริดจ์” หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่เชื่อมต่อเส้นทางเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงเป็นศูนย์กลางจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าของสายการเดินเรือทั่วโลก โดยเส้นทางเดินเรือใหม่จะช่วยย่นระยะเวลาเดินทาง ลดเวลาการขนส่งสินค้า ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง สำหรับมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ในอีก 7 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2573) หากโครงการฯนี้เปิดให้บริการ ประเทศไทยจะกลายเป็น Hub หรือจุดศูนย์กลางในด้านต่างๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะด้าน  Education Hub, Tourism Hub  , Medical Hub, Logistic Hub รวมถึง Hub ด้านอื่น ๆ อีกด้วย

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นหลังจากที่ไทยเป็น Hub ของการขนส่งสินค้า หรือ Hub ในด้านต่าง ๆ ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวตะวันออกจะเข้ามาลงทุนในไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน และคาดว่าหลายองค์กรต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสารได้หลากหลายภาษา ดังนั้นเพื่อเป็นการติดอาวุธด้านภาษาให้นักศึกษา รวมถึงเป็นการเตรียมผลิตบุคลากรให้ตรงความต้องการของสถานประกอบการ วิทยาลัยนานาชาติ DPU จึงได้เปิดสอนในหลักสูตรวิชาภาษาตะวันออก ประกอบด้วย จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งใน ทักษะด้านภาษาที่  เนื่องจากภาษาดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผู้มีความสามารถด้านนี้ อีกทั้งยังเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดแรงงานด้วย 

ต้องยอมรับว่า Soft Power ของจีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น ยังมีความนิยมอย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้นการเจริญเติบโตของภาษาทางตะวันออกมีความเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ดังนั้น ทางวิทยาลัยฯ จึงเปิดหลักสูตรภาษาตะวันออกขึ้นมา เพราะมองว่าในอนาคตทุกสถานประกอบการมีความต้องการคนที่มี Skill ด้านนี้สูงมาก สุดท้ายนี้การพัฒนาบุคลากรในด้านภาษาจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากใครที่มี Skill ดังกล่าวจะมีโอกาสในการทำงานมากกว่าคนอื่น หรืออาจเรียกได้ว่าเรียนภาษาเพื่อให้มีภาษีหรือมูลค่าในตัวเองมากกว่าคนอื่น” คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ DPU กล่าวในตอนท้าย

วิทยาลัยนานาชาติ DPU เปิดสอนหลักสูตรพิเศษ 2 โครงการเป็นครั้งแรก ได้แก่ 1.) หลักสูตรวิชาภาษาตะวันออก ประกอบด้วย เกาหลี ญี่ปุ่น (หลักสูตรปริญญาตรี) และควบคู่กับการเปิดหลักสูตรระยะสั้น 15 ชั่วโมงและ 30 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้บุคคลทั่วไป หรือผู้ที่ทำงานอยู่แล้วได้มีการพัฒนาทักษะทางภาษาเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มเปิดสอนปลายเดือนตุลาคมนี้ 2.) หลักสูตรภาษาจีน (หลักสูตรปริญญาตรี) สำหรับผู้ที่จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย (เรียนเสาร์-อาทิตย์) สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี และ ปวส.(เรียนวันอาทิตย์) เริ่มเปิดสอนเดือนมกราคม  ปี 2567 รายละเอียดเพิ่มเติมที่  https://www.dpu.ac.th/   


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CADT DPU เปิดศูนย์ฝึกบินด้วยเครื่องช่วยฝึกบินจําลอง “Flight Simulator BANGKOK”

CADT DPU เปิดศูนย์ฝึกบินด้วยเครื่องช่วยฝึกบินจําลอง “Flight Simulator BANGKOK” ตอบโจทย์ผลิตบุคลากรด้านการบินครบวงจร พร้อมฝึกอบรม ขยายโอกาสนักศึกษา บุคคลทั่วไปเรียนรู้การบิน  รองรับอุตสาหกรรมการบินที่กลับมาฟื้นตัวและมีอัตราการเติบโตสูง ครบรอบ 6 ปี ย้ำนโยบายชัด ก้าวสู่เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินที่ครบวงจร แหล่งเรียนรู้การบินไม่จำกัดวัย

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เป็นประธานในพิธี “เปิดศูนย์ฝึกบินด้วยเครื่องช่วยฝึกบินจําลอง Flight Simulator BANGKOK” จัดโดย วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน(CADT)  และสถาบันการบิน มธบ. เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนาวาอากาศตรี ดร. วัฒนา  มานนท์ คณบดี CADT และผู้อำนวยการสถาบันการบิน มธบ. พร้อมด้วยตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับการบิน ไม่ว่าจะเป็น ตัวแทนจากสายการบิน หน่วยงานการบิน โรงเรียนการบิน และมหาวิทยาลัยที่สอนด้านการบิน เข้าร่วมงานจำนวนมาก

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า DPU มีความตั้งใจอย่างมากในการก่อตั้งวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบินและสถาบันการบิน ซึ่งปีนี้เข้าสู่ปีที่ 6 ที่มีการดำเนินการจัดการเรียนการสอนและเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจรที่สำคัญของประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน  โดยการเปิดศูนย์ฝึกบินด้วยเครื่องช่วยฝึกบินจําลอง Flight Simulator BANGKOK และการเปิดวิทยาลัยเกี่ยวกับการบินนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้ความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเป็นการลงทุนที่สูงมากจึงต้องมีเครือข่ายเพื่อให้สถาบันการบิน DPU มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป 

“การเปิดศูนย์ฝึกบินด้วย เครื่องช่วยฝึกบินจำลอง Flight Simulator BANGKOK ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษา DPU บุคลากรในหน่วยงานการบินต่างๆ รวมถึงบุคคลทั่วไป ได้สัมผัสประสบการณ์การขับเครื่องบินจริงจากในห้องนักบิน เรียนรู้และพัฒนาทักษะการฝึกบินกับเครื่องช่วยฝึกบินจำลองเสมือนจริง และยกระดับการศึกษา ด้านการบินให้เท่าทันกับเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบัน รวมทั้งสามารถนาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและหน่วยงานต่อไปอีกด้วย” ดร.ดาริกา กล่าว

ทั้งนี้  มธบ. มีเจตจำนงในการดำเนินการในด้านการศึกษาเรื่องการบิน โดยจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาด้านการบินทั้งในระดับปริญญาโท-เอกอีกด้วย รวมถึงการฝึกอบรมหลักสูตรในระดับสากล และสหกิจศึกษาร่วมกับพันธมิตรด้านการบินอื่นๆ

นาวาอากาศตรี ดร. วัฒนา  มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) และผู้อำนวยการสถาบันการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์วิกฤติโควิด – 19 เป็นผลให้การดำเนินชีวิตของทุกคนต่างได้รับผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่จะมาทำงานในอุตสาหกรรมการบินซึ่งกำลังฟื้นตัวกลับคืนมา

โอกาสนี้ วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน  มธบ.ร่วมกับบริษัท โดดาม ซิสเต็มส์ ไทยแลนด์ จำกัด จัดสร้างเครื่องช่วยฝึกบินจำลองขึ้นมาจำนวน 3 เครื่อง โดยเป็นเครื่องแบบ Boeing 737-800NG จำนวน 1 เครื่อง และ แบบ Cessna 172-G1000 จำนวน 2 เครื่อง โดยการจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์จริงด้านการบินให้กับนักศึกษา คณาจารย์และบุคลากร ของมธบ. รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั่วไปทำการบินกับเครื่องฝึกบินจำลอง เพื่อสร้างประสบการณ์จริงด้านการบินและใช้วางแผนในการประกอบอาชีพด้านการบินในอนาคต

นอกจากนั้น ในวันที่ 28 ก.ย.ถือเป็นวันครบรอบก่อตั้งวิทยาลัย CADT โดยปีนี้เข้าสู่ปีที่ 6  ทางวิทยาลัยจึงได้จัดกิจกรรมแข่งขัน Landing Challenge ให้นักเรียน นิสิตนักศึกษา และบุคคลทั่วไปได้เข้าร่วม ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเข้ามาจำนวนมาก ทั้งจากในกรุงเทพฯและต่างจังหวั

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงเรียนการบินที่มีศูนย์ช่วยฝึกบินจำลอง จะมีจำนวนจำกัดและอาจจะมีเครื่องบินแตกต่างกัน  ฉะนั้นศูนย์ฝึกบินด้วย เครื่องช่วยฝึกบินจำลองจะทำให้นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่มาเข้าร่วมอบรม ได้เรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติจริง สอดคล้องกับแนวทางและ รวมทั้งนโยบาย (ปี2565-2569) ของวิทยาลัย CADT   ในการก้าวสู่เป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินที่ครบวงจร เป็นแหล่งเรียนรู้ ฝึกอบรมการบินที่ไม่ได้จำกัดวัย ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติจริงได้

“หลังจากเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้อุตสาหกรรมการบินกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งสำนักงานการบินพลเรือน ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 นี้ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น จะทำให้มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น ยิ่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ได้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรการคุมโควิด-19 และหลายๆ ประเทศอย่าง ญี่ปุ่น ก็เปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ในปี 2566 อุตสาหกรรมการบินจะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ต้องรอถึงปี 2567-2568 ที่มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงแรก เมื่ออุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัวกลับมา และไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ความต้องการของบุคลากรด้านการบิน อย่าง นักบิน พนักงานต้อนรับ พนักงานภาคพื้น พนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ ล้วนเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น” นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าว

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา กล่าวอีกว่า หน้าที่ของสถาบันการศึกษา นอกจากผลิตบุคลากรด้านการบินอย่างครบวงจร และเป็นศูนย์ฝึกอบรมแล้ว ยัง Upskill Reskill บุคลากรด้านนี้ร่วมด้วย เพราะการเตรียมพร้อม โดยการ Upskill Reskill บุคลากรด้านนี้ให้สามารถปรับตัว เรียนรู้  แก้ปัญหา และมีทักษะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ย่อมจำเป็น ดังนั้น วิทยาลัย CADT จึงมุ่งพัฒนานักศึกษา บุคลากรด้านการบิน และบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านการบิน เพื่อให้เขาสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงต่างที่จะเกิดขึ้นได้ 

ทั้งนี้  ก่อนเกิดโควิด-19 บุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมการบินจะมีประมาณ 2-3 แสนคน และเมื่อเกิดโควิด-19  บุคลากรกลุ่มนี้หายไป  1ใน3 ดังนั้น หลังจากนี้ เมื่ออุตสาหกรรมการบินหลายๆ แห่งกลับมาฟื้นตัวและต้องการบุคลากรมากขึ้น วิทยาลัย CADT จึงได้จัดทำหลักสูตรเพื่อ Upskill Reskill แก่บุคลากรด้านการบิน ซึ่งที่ผ่านมามีบุคลากรด้านการบินเข้ามาทำเวิร์กชอป และอบรมจำนวนมาก รวมถึงมีการเตรียมพร้อมสำหรับบุคลากรด้านการบินรุ่นใหม่ ให้มีทักษะ Soft skill และHard skill ควบคู่กันไป

ด้านนายธนิษฐ์ มีหาดทราย  อายุ 19 ปี นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมการแข่งขัน Landing Challe กล่าวว่าได้ทราบข่าวการแข่งขัน Landing Challenge จากเพจ Flight Simulator BANGKOK ซึ่งโดยส่วนตัวเป็นคนที่สนใจเรื่องของการบินอยู่แล้ว เพราะเรามีความฝันอยากทำงานที่สูง อยากเป็นนักบิน จึงได้ศึกษาเรื่องการบินมาโดยตลอด รวมถึงได้ซื้ออุปกรณ์การบินที่ไว้สำหรับเล่นเกม มาเล่นที่บ้าน เป็นการจำลองการบินเสมือน

“การได้มาสัมผัสเครื่องบินจำลอง Simulator เครื่องบินจริง ๆ นี่ถือเป็นครั้งแรกของผม ซึ่งเป็นรูปแบบจำลองเหมือนของจริงมาก ทั้งการบังคับ การมอง การตัดสินใจ และการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงบรรยากาศ ทำให้เรารู้เลยว่า การตัดสินใจ การเพ่งสมาธิ โฟกัสเฉพาะจุดสำคัญอย่างมาก ถ้าในชีวิตจริงเราตัดสินใจผิดพลาด ไม่มีสมาธิ ไม่รอบคอบ ไม่คิดวิเคราะห์ให้แม่นยำ อาจจะเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลต่อชีวิตเราได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการเป็นอาชีพนักบินเท่านั้น การใช้ชีวิตก็เช่นกัน ดังนั้น การมาร่วมกิจกรรมของวิทยาลัย CADT มธบ.ดีมาก หากมีกิจกรรมอื่นๆ จะเข้าร่วมต่อเนื่อง” นายธนิษฐ์ กล่าว

นายธนิษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนแรกที่พ่อแม่ทราบว่าตนอยากเป็นนักบิน เขาก็คัดค้านและมองว่าอาชีพนี้ไม่มั่นคงเพราะต่อให้มีเงินเดือนสูง แต่กว่าจะเรียนจบต้องใช้เงินเกือบ 3 ล้าน และต้องสอบเข้าทำงานอีก หากสอบไม่ผ่านก็ไม่สามารถเป็นนักบินได้เท่ากับเงินที่ลงทุนไปกับการเรียนอาจสูญเปล่า ดังนั้น พ่อแม่จึงไม่ได้เห็นด้วย แต่ผมไม่ย่อท้อ พยายามทำความเข้าใจกับเขาว่าเราไม่ได้จะเป็นนักบิน จะเรียนสายอื่นก่อน และอาจจะหางานทำและค่อยมาเรียนหรือสอบนักบินและอยากให้เขาเปิดโอกาสให้ตนได้ลอง  เพราะการลงทุนไม่ว่าจะอาชีพไหนย่อมมีความเสี่ยงหมด ไม่มีอาชีพไหนสบาย ขอให้พ่อแม่ช่วยสนับสนุนเขา เมื่อมีโอกาสเขาอยากคว้าเอาไว้ อยากเรียนเพราะอยากเป็นนักบิน


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

DPU มหาวิทยาลัยแรกของไทยมอบปริญญาบัตร NFT เดินหน้า Web3 ก้าวแรก พร้อมพานักศึกษาสู่โลกเมต้าเวิร์ส

ครั้งแรกในไทยกับการมอบ “ปริญญาบัตร NFT” จาก DPU มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อีกก้าวใหม่ของโลกการศึกษาและเทคโนโลยีที่จับมือเดินไปข้างหน้าสู่โลก Web3 และ Metaverse ในอนาคต

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ทุกองค์กรต้องเร่งสปีดตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ และการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยท่ามกลางความท้าทายในโลกการเรียนรู้และเทคโนโลยี

“จากบทบาทของสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวตามเทรนด์ของโลกให้ทันซึ่ง DPU เดินหน้าทำงานอย่างมุ่งมั่นในกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านจาก Web2 ไป Web3 ที่การทำงานจะขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI หรือ Artificial Intelligence รวมถึง Blockchain  ซึ่งทาง DPU กำลังเดินหน้าเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ให้กับนักศึกษาและมหาวิทยาลัยผ่านหลักสูตร ทักษะที่จำเป็น ตลอดจนความพร้อมของ Ecosystem ที่จะรองรับการเรียนการสอนในอนาคต”

ในส่วนของการมอบปริญญาบัตรในรูปแบบของ NFT (NonFungible Tokenนับเป็นก้าวแรกของ DPU ในการเดินหน้าไปสู่โลกของ Metaverse อย่างแท้จริง โดยเปิดให้นักศึกษาที่มีวอลเล็ตดาวน์โหลดและยื่นเอกสารได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีนาคม 2565 และผู้ที่จบการศึกษาไปแล้วก็สามารถมาลงทะเบียนรับปริญญาในรูปแบบของ NFT ได้เช่นกัน โดยมีการร่วมมือด้านระบบการออกปริญญาบัตรแบบ NFT กับ SmartContract Blockchain Studio และ บริษัท ไอเพ็น สตูดิโอ จำกัด

ดร.ดาริกา กล่าวว่า  ความน่าสนใจของ “ปริญญา NFT อยู่ที่การเป็น Original มีความเป็นยูนีค และ ลอกเลียนแบบไม่ได้ รวมถึงสามารถเก็บไว้ได้ตลอดไป ไม่มีวันสูญหาย หรือโดนทำลาย นอกจากนี้ ปริญญา NFT ยังเป็นอีกก้าวที่สำคัญของนักศึกษาในการเปิดโอกาสให้กับตัวเองในการไปสร้างตัวตนบนโลกใบใหม่  ทั้งโอกาสในการงาน กิจกรรมการเรียนรู้ และอื่น ๆ อีกมากที่จะเกิดขึ้นโลกของ Metaverse นับจากนี้

“สำหรับในปีแรกนี้ ถือเป็นการนำร่องโดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาสมัครใจที่จะเข้าร่วมขอรับปริญญา NFT หรือไม่รับก็ได้ ในขณะเดียวกันได้มีการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่ ๆ ว่านอกจากใบปริญญาบัตรในห้องพิธีแล้ว บัณฑิตคนไหนอยากได้ปริญญาบัตรแบบ NFT เตรียมพร้อมก้าวสู่โลก Metaverse และ Web3 ในอนาคต สามารถสมัครได้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ซึ่งก้าวต่อไปของ DPU ไม่ใช่แค่ปริญญา NFT แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้”

โดยแนวทางการพัฒนาของ DPU กับการก้าวเข้าสู่ Web3 มีการเตรียมความพร้อม และก้าวไปทีละขั้น ตั้งแต่การเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยที่ก่อนหน้านี้มีการปรับหลักสูตรที่เรียกว่า DPU Core ประกอบด้วย  ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต ได้แก่  ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ทักษะการคิดสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานเป็นทีม และ ทักษะความรอบรู้เรื่องเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้และนำไปสู่การปฏิบัติจริง พร้อมกันนี้ก็ได้ปรับการเรียนแบบโมดูล (Module) มีการจัดกลุ่มวิชาที่รวมเอาองค์ความรู้จากหลายคณะมาร่วมกันสอนแบบบูรณาการ ซึ่งความรู้ที่นักศึกษาได้เรียนรู้ไปในแต่ละโมดูลถูกจัดเก็บในรูปแบบของ NFT และในปีนี้มหาวิทยาลัยจะมีการเตรียมความพร้อมที่จะปรับรูปแบบการเรียนการสอนหรือกิจกรรมบางส่วน ขึ้นไปอยู่บน Metaverse Platform เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ซึ่งกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนหลาย ๆ อย่างบนโลกใบนี้

นอกจากนี้ DPU ได้จับมือร่วมกับหลากหลายพันธมิตรจากหลายธุรกิจ ในการสร้าง D.OASIS Metaverse Platform เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและการต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสร้าง Ecosystem สู่ Web3 และ Metaverse ประกอบด้วย J Ventures, Index Creative Village, Eventpass, Warrix, Prakit Holdings, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และอีกหลากหลายองค์กร

โดยทาง D.OASIS จะเน้นทำงานใน ด้านหลัก ได้แก่ D.OASIS Lab ซึ่งเน้นกิจกรรมเรื่องการสร้างคนและสร้างองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับ Metaverse, D.OASIS City ซึ่งเน้นการสร้าง Metaverse Platform และ D.OASIS Studios ที่เป็นผู้พัฒนา NFT ในรูปแบบต่าง ๆ โดย DPU เป็นพาร์ทเนอร์หลักด้านการพัฒนาหลักสูตรของ D.OASIS Lab ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นสู่การเป็น meta citizen ให้กับสังคมโดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Web3 และ Metaverse ของเอเชีย ประเดิมด้วยการเผยแพร่ความรู้ในหัวข้อ What is metaverse? และ Crypto Tax Clinic ในเดือนมีนาคมนี้ และหลักสูตรระยะสั้น Metaverse Developer ที่จะเปิดสอนเดือน เม.ย. นี้

ดร.ดาริกา กล่าวในตอนท้ายว่า ในปี 2565 DPU ยังคงก้าวไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยี และการแข่งขัน โดย “ปริญญา NFT เป็นหนึ่งจากหลายโครงการสำหรับการเคลื่อนตัวไปสู่โลก Web3 และ Metaverse ในอนาคต


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CADT DPU ประกาศพร้อมเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน ทั้ง Reskill, Upskill และ Recurrent มุ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ล่าสุดเปิดหลักสูตร AVSEC สร้างความตระหนักในความปลอดภัยด้านการบินพร้อมประกาศนียบัตรจาก IATA

น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPเปิดเผยว่า นอกจากการเป็นสถาบันการศึกษาที่พัฒนาความรู้ความสามารถในวิชาชีพด้านการบินให้กับนักศึกษาแล้ว วิทยาลัยฯได้เล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆทั้งเพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มทำงานในสายอาชีพด้านการบิน การเพิ่มพูนทักษะ รวมถึงเพื่อการพัฒนาทักษะในการทำงานของตนเองในอนาคต  ปัจจุบัน CADT และ สถาบันการบิน มธบ. (DPU Aviation Academy : DAA) ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่ได้การรับรองจากสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Transport Association  : IATA) ได้เปิดอบรมหลากหลายหลักสูตรการบิน เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการบินทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ในการ Reskill, Upskill และ Recurrent โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning)

ทั้งนี้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นักศึกษาปีที่ 4 หรือ ศิษย์เก่าทุกคณะที่สำเร็จการศึกษาแล้วไม่เกิน 1ปี ที่มีความสนใจสานฝันในสายอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสามารถสมัครเข้ารับการทดสอบ  เพื่อรับประกาศนียบัตรวิชาชีพการบิน สาขาต้อนรับบนเครื่องบิน อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน(ชั้น4) โดยได้จัดทำความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์กรมหาชน) หรือ TPQI เพื่อเป็นศูนย์ทดสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ที่เน้นในด้านทักษะการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสาร การบริการผู้โดยสาร รวมถึงการป้องกันและแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉินผ่านการใช้อุปกรณ์จริงบนเครื่องบินจริงที่ปลดประจำการแล้ว

น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบุคลากรด้านการบินที่สนใจพัฒนาความรู้ความสามารถด้านการบิน สถาบันการบิน มธบ. (DAA) ได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านการบิน ทั้งการเรียนแบบ Classroom และ Online ตามมาตรฐานสากลที่เน้นพัฒนาความรู้ทักษะและตอบโจทย์ในการปฏิบัติงานในโลกยุคปัจจุบัน พร้อมรับประกาศนียบัตรจากIATAเมื่อสอบผ่าน ซึ่งในส่วนนี้จะสามารถรองรับบริษัทในอุตสาหกรรมการบินทั้งภาครัฐและเอกชนที่ไม่สามารถเดินทางไปฝึกอบรมในต่างประเทศได้ โดยผู้เข้าอบรมจะได้ใบรับรองหรือประกาศนียบัตรที่เทียบเท่ากับการฝึกอบรมต่างประเทศในระดับสากล

ปัจจุบัน DAA มีหลากหลายหลักสูตรที่เป็นของ IATA เองและหลักสูตรที่วิทยาลัยฯ พัฒนาขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมการบิน โดยหน่วยงานที่เข้ารับบริการอบรมจาก DAA จะมีทั้งในส่วนของสายการบิน เช่น สายการบินนกแอร์, สายการบิน Thai Lion Air, สายการบิน MJETS, สายการบิน Air Asia หรือในส่วนของภาครัฐ เช่น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กรมท่าอากาศยาน หรือไปรษณีย์ไทย รวมถึงในส่วนของภาคเอกชน เช่น บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท Airbus จำกัด บริษัทที่เกี่ยวข้องกับ Cargo และ Logistics ต่างๆ หรือแม้แต่บริษัทที่ดูแลด้านการรักษาความปลอดภัย ด้านการบินในสนามบิน  รวมไปถึง มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่เปิดหลักสูตรด้านการบิน เป็นต้น  โดยประกาศนียบัตรของเราสามารถเพิ่มคะแนน SAR (Self Assessment Report )   ของอาจารย์ได้ด้วย

น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวด้วยว่า  CADT DPU  มีพันธมิตรในอุตสาหกรรมการบินอีกมากมาย จึงนับเป็น Instructor Pool ด้านการบิน และหลักสูตรของ DAA จะได้รับการอบรมโดยวิทยากรที่ได้รับการรับรองในระดับสากล สำหรับหลักสูตรของ IATA ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ Aviation Security Awareness (AVSEC) หลักสูตรที่สร้างความตระหนักด้านการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการบิน  เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญและผลกระทบของการรักษาความปลอดภัยต่อการปฏิบัติงาน ในปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00-16.00 น. ณ สถาบันการบิน มธบ. โดยผู้ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรจาก IATA

สำหรับท่านที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันการบิน มธบ. (DAA) โทร. 061-863-7991 หรือ Line: @daa_dpu เว็บไซต์ www.daatrainin.com


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

รัฐยก DPU เป็นต้นแบบนำร่อง Smart Campus 5G พร้อมโชว์ศักยภาพนำเทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อนภาคการศึกษา

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เผยถึงการได้รับเลือกให้เป็นมหาวิทยาลัยนำร่อง ภายใต้โครงการ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G  ว่า โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ตามมติของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จะเป็นต้นแบบนำร่องในการนำเทคโนโลยี 5G มายกระดับคุณภาพด้านการศึกษาทั้งของมหาวิทยาลัยและของประเทศไทยให้เท่าทันยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน Teach and Learn from Anywhere และ Intelligent Hybrid Classroom พร้อมระบบวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement โดย DPU พร้อมจะเป็นต้นแบบแหล่งศึกษาเรียนรู้ทั้งแบบ On-Site และ Online ให้กับสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งสามารถนําไปทำซ้ำ ทำเสริม พัฒนา ต่อยอด รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา จากต้นแบบของ Smart Campus ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ควบคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ (Process) และการพัฒนาบุคลากร (People) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน ตลอดจนเสริมสร้างให้ผู้สอนมีแรงจูงใจในการปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

           นอกจากนี้ DPU ยังอาศัยกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ดังกล่าว มาเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้นักศึกษามีแรงบันดาลใจในการเป็นนวัตกร (Innovator/Maker) ในอนาคต ด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้กับศาสตร์ด้านต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ เพื่อพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์จริง โดยใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยฯ เป็น Living Lab ก่อนจะขยายผลไปสู่การสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้  และภายใต้โครงการนำร่องนี้ ยังเป็นการขยายโอกาสทางด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการและชุมชน โดยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการเข้าถึงบริการทางวิชาการด้านต่างๆ ของ DPU หรือ เนื้อหาหลักสูตรด้าน Reskill & Upskill ที่ต้องการปฏิสัมพันธ์แบบ Real-Time และมีการถ่ายทอดเนื้อหาในรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

            ดร.ดาริกา กล่าวด้วยว่า DPU มีความพร้อมสำหรับการเป็นต้นแบบ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องในการผลิตกำลังคนให้มี Skill Set และ Mindset ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกยุคดิจิทัล ทั้งยังปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome-Based Education) เพื่อบ่มเพาะให้นักศึกษามีศักยภาพที่เป็นอัตลักษณ์พร้อมด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเรียกว่า มี DPU DNA 6 ประการ ประกอบด้วย 1) ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม 2) ทักษะด้านการค้นหาและแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ 3) มีความชาญฉลาดในทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นคว้าและแก้ปัญหา 4) ทักษะการสื่อสารและเจรจาอย่างมืออาชีพ 5) ทักษะการประสานงานเป็นทีม และ 6) ทักษะด้านความรอบรู้และวิเคราะห์แบบผู้ประกอบการ พร้อมนี้ DPU ยังได้ปรับปรุงรูปแบบการจัดการการเรียนรู้ให้เป็นแบบ Active Learning โดยเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ทั้ง Offline และ Online และ Experiential Learning

            “ในส่วนการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้นั้น ทางด้านกายภาพได้ปรับปรุงห้องเรียนและห้องปฏิบัติการต่างๆ และสร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าเรียน มีความเป็นธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน โดยธุรกิจบัณฑิตย์ได้รับการจัดอันดับจาก UI GreenMetric World University Ranking เป็นอันดับ 82 ของโลกและเป็นอันดับ 1 ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชน ส่วนด้านสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทางดิจิทัล มีการจัดเตรียมทั้ง Learning Management System platform และปรับปรุง Digital Infrastructure เพื่อสนับสนุนให้การจัดการเรียนรู้แบบ Tech and Learn From Anywhere รวมทั้งระบบ Data Intelligence เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้และบริหารจัดการ” ดร.ดาริกา กล่าว

            จากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ส่งผลให้ DPU ต้องเร่งขบวนการปรับตัวดังกล่าวข้างต้นให้รวดเร็วยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น โดยจัดให้มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถจัดการเรียนการสอนทาง Online แบบ Live และตอบโต้ได้สองทาง  และจัดให้มี Hybrid Classroom เพื่อให้สอดรับกับมาตรการ Social Distancing โดยผู้เรียนส่วนหนึ่งสามารถเรียนรู้จากที่ใดก็ได้ แต่สามารถเรียนรู้และโต้ตอบกับผู้สอนได้แบบ Real-Time เสมือนอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน ขณะเดียวกัน อาจารย์ผู้สอนยังมีส่วนร่วมและเร่งเพิ่มผลิต Online Content ควบคู่ไปกับการเพิ่มความเข้มข้นของการสร้างผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ (Learning Engagement) และทบทวนรูปแบบการประเมินผลการเรียนรู้ (Assessment)

            ปัจจุบัน DPU มีนักศึกษาจำนวนกว่า 12,000 คนที่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้จากที่ใดก็ได้และในจำนวนนี้มีนักศึกษาต่างชาติจำนวนกว่า 3,000 คน ที่จะต้องเรียนผ่านออนไลน์แบบข้ามประเทศ ความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ ทั้งแบบ Online และ Hybrid คือ การสร้างให้ผู้เรียนคงความสนใจและมีส่วนร่วมระหว่างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับ AI Video Analytics ในห้อง Intelligent Hybrid Classroom ต้นแบบ จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement แบบ Real-Time ทั้งการเรียน On-Site และการเรียน Online ซึ่งจะทำให้สามารถปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที

            ดร.ดาริกา กล่าวในตอนท้ายว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ สามารถใช้ DPU เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการศึกษาในยุคดิจิทัล ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาติดตั้งใช้งานเท่านั้น หากแต่จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Technology) แบบบูรณาการ ควบคู่กันกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการศึกษา (Process) และบุคลากร (People) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ม.ธุรกิจฯ ตั้งศูนย์พักคอยรองรับผู้ป่วยโควิด-19

มหาวิทยาลัยธุกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับสำนักงานเขตหลักสี่ กทม. จัดตั้งศูนย์พักคอย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หรือ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว  โดยมี ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คุณศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คุณสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ และ นพ.วิชัย ทวีปวรเดช รองผู้อำนวยการ รพ.ปิยะเวท ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของสถานที่ใช้ในการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาคารศูนย์กีฬา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

CITE DPU เผย 9 สาเหตุหลักก่อให้เกิดความสูญเปล่าต่ออุตสาหกรรมการผลิต แนะฝ่าวิกฤตด้วยการผลิตแบบลีน 4.0

CITE DPU เผย 9 สาเหตุหลักก่อให้เกิดความสูญเปล่าต่ออุตสาหกรรมการผลิต แนะฝ่าวิกฤตด้วยการผลิตแบบลีน 4.0 (Lean Manufacturing 4.0) พร้อมชี้หัวใจหลักต้องสร้างพนักงานให้มีแนวคิดแบบลีน4.0
นายสุรธันย์ ปาละพรพิสุทธิ์ ผู้ช่วยรองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตแบบลีน 4.0 และผู้แต่งหนังสือการผลิตแบบลีน 4.0 กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามกระแสโลกาภิวัตน์ และตลาดในวันนี้เป็นของลูกค้า คือ อำนาจในการตัดสินใจซื้อเป็นของลูกค้า เนื่องจากอุปทาน(จำนวนสินค้าที่นำออกเสนอขาย) มากกว่าอุปสงค์ (จำนวนซื้อ) ทำให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การผลิตแบบลีน 4.0 (Lean Manufacturing 4.0) เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในระดับเฉพาะบุคคลได้ (Mass Customization) โดยคำนึงถึง 4 ปัจจัยหลักพื้นฐาน ได้แก่ คุณภาพ ราคา การส่งมอบสินค้า ในปริมาณ และเวลาที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงการบริการก่อนการขาย ระหว่างการขาย และหลังการขาย

ผู้ช่วยรองคณบดี CITE อธิบายว่า การผลิตแบบลีน 4.0 คือ การผลิตที่เกิดความสูญเปล่า (Waste) ในกระบวนการน้อยที่สุด เกิดการไหลของวัตถุดิบ ชิ้นงานระหว่างกระบวนการ และสินค้าสำเร็จรูป รวมถึงข้อมูลอย่างต่อเนื่องภายในและภายนอกองค์กร ทั้งนี้ สิ่งสำคัญในการจะทำการผลิตแบบลีน 4.0 ต้องเริ่มจากพนักงานในองค์กรต้องมีแนวคิดแบบลีน 4.0 (Lean 4.0 Thinking) เสียก่อน เพราะแนวคิดแบบลีน 4.0 ถือเป็นหัวใจและพื้นฐานที่สำคัญสู่การผลิตแบบลีน 4.0 ต่อไป

สำหรับแนวคิดการผลิตแบบลีน 4.0 ในเรื่องการระบุประเภทของกิจกรรม โดยองค์กรสามารถแบ่งประเภทของกิจกรรมได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.) กิจกรรมที่สร้างคุณค่า (Value-Added Activities : VA) คือ กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของวัตถุดิบ หรือกิจกรรมที่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เช่น การตัดโลหะ การปั้มขึ้นรูปโลหะ การประกอบรถยนต์ เป็นต้น

2.) กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่า (Non-Value Added Activities : NVA) คือ กิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าในมุมมองของลูกค้า ไม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก เช่น การรอคอยชิ้นงานระหว่างกระบวนการ การผลิตของเสีย การแก้ไขงาน เป็นต้น

“ในส่วนของกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่ายังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าแต่จำเป็นต้องทำ กิจกรรมประเภทนี้ไม่สามารถขจัดทิ้งได้ทั้งหมดแต่องค์กรควรลดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เช่น การตรวจสอบ การเคลื่อนย้ายชิ้นงานในกระบวนการผลิต และ ชนิดที่สองเป็น กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าและไม่มีความจำเป็นต้องทำ เป็นกิจกรรมที่องค์กรควรพิจารณาขจัดทิ้ง เช่น การผลิตที่มากเกินความจำเป็น การผลิตชิ้นงานเสีย การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น”

ผู้ช่วยรองคณบดี CITE กล่าวเพิ่มเติม ว่า กิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมที่เกิดความสูญเปล่าทั้ง 9 ประการ ประกอบด้วย การผลิตที่มากเกินความจำเป็น (Over Production) ของเสียและงานแก้ไข (Defects and Reworks) สินค้าคงคลัง (Inventory) กระบวนการผลิตที่ไม่จำเป็น (Excess Processing) การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่จำเป็น (Motion) การขนย้าย (Transportation) การรอคอย (Waiting) ความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานไม่ถูกนำออกมาใช้ (Non-Utilized Employee) และความสูญเปล่าตัวใหม่ในอุตสาหกรรม 4.0 คือ การลองผิดลองถูก (Trial and Error) ทั้งนี้ องค์กรต้องระบุประเภทของกิจกรรมให้ได้และแก้ไขให้ตรงจุด พัฒนาสู่องค์กรการผลิตแบบลีน 4.0 จะสามารถฝ่าวิกฤตได้แน่นอน

ผู้ช่วยรองคณบดี CITE กล่าวในตอนท้ายว่า นี่เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาการผลิตแบบลีน 4.0 ซึ่งมีอยู่ในการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี วิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ และหลักสูตรปริญญาโท-ปริญญาเอก การจัดการทางวิศวกรรม วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปัจจุบันความต้องการแรงงานด้านการผลิตและโลจิสติกส์มีอัตราสูง โดยข้อมูลจากผลสำรวจจากกลุ่มลูกค้าของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เผย 10 อันดับสายงานที่ตลาดงานต้องการ อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 23.10% อันดับ 2 สายงานบัญชีและการเงิน 9.58% อันดับ 3 สายงานขนส่งและงานโลจิสติกส์ 9.50% อันดับ 4 สายงานวิศวกร 8.52% อันดับ 5 สายงานไอที 7.78% อันดับ 6 งานระยะสั้นต่างๆ 6.96% อันดับ 7 สายงานธุรการ 6.80% อันดับ 8 สายงานบริการลูกค้า 5.32% อันดับ 9 สายงานการผลิต 5.24% และอันดับ 10 สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 3.28%

สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของหลักสูตรเพิ่มเติมได้ ที่ https://cite.dpu.ac.th หรือ เบอร์โทรศัพท์ 02-954-7300 ต่อ 594, 498 หรือ 080-440-3821


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

DPU จับมือ IBERD จัดเสวนาหัวข้อ “ธุรกิจในยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลก”

DPU จับมือ IBERD จัดเสวนาหัวข้อ “ธุรกิจในยุคดิจิทัลเปลี่ยนโลก” เปิดเวทีสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมรุ่นใหม่ สู่ตลาดโลก

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) จัดงานสัมมนาธุรกิจและเศรษฐกิจออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “Gateway of Digital Disruption on Economic and Business InnovationTransformation in CLMVT + China +India” โดยดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 11 ปีแห่งการก่อตั้ง มูลนิธิฯ IBERD และเพื่อเปิดเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนแนวความคิดจากแขกรับเชิญกิตติมศักดิ์ อันจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักธุรกิจรุ่นใหม่ รวมถึงสร้างเครือข่ายในภาคธุรกิจและสังคม ในประเทศ CLMVT จีนและอินเดีย

ทั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภาและประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Thailand’s Digital Disruption on Economic and Business Innovation Transformation in Next Decade” โดยมีวิทยากรร่วมในงานเสวนา ประกอบด้วย ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ รองประธานIBERD นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองประธานIBERD ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสารกรรมการบริหารIBERD และ ผศ.ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ DPUและมี วีณารัตน์ เลาหภคกุล เป็นพิธีกรดำเนินรายการพร้อมด้วยนางนที ชวนสนิท ผู้อำนวยการบริหาร IBERD กล่าวในพิธีปิด ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ อาคาร 7 ชั้น 6 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวถึงแนวคิดสำคัญของการก่อตั้ง IBERDว่า เป็นการนำหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ ไปสู่ผลปฏิบัติในทางพาณิชย์ สำหรับการทำความร่วมมือด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำที่เน้นในเรื่องของธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการประเภทเริ่มต้น หรือ Start Up และการทำธุรกิจกับต่างประเทศนั้น จะเป็นการสร้างความผสมผสานและบูรณาการระหว่างเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และธุรกิจ ที่ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังร่วมมือกันขยายขอบข่ายทางการศึกษาไปยังประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนเหนือ คือ ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือ กลุ่ม CLMVด้วย

พร้อมกันนี้ ดร. สถิตย์ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ digital เปลี่ยนแปลงโลก ในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand’s Digital Disruption on Economic and Business Innovation Transformation in Next Decadeไว้ว่า เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันกำลังอยู่ในยุคการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่ Digitalจะเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า เศรษฐกิจสังคม digital การส่งเสริมความสำคัญของ Digital ได้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ เช่น โครงการ One Country One Platform ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะเชื่อมต่อข้อมูล Big Data ซึ่งกันและกันในหนึ่ง Plat form เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงความพยายามให้สถาบันการศึกษามีการเรียนการสอนที่เน้น Digital และสร้างบัณฑิตในอนาคตให้มีทักษะที่จำเป็น 3 ทักษะ คือ ทักษะด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีน ทักษะการเงิน การบัญชีและการลงทุนขั้นพื้นฐาน และทักษะ Digitalซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้การศึกษายุคนี้ยังต้องตอบสนองโลกของDigital เช่น การเปิดหลักสูตรเรียนฟรี ผ่านระบบออนไลน์ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหนและเวลาใดก็ได้ ดังนั้นหากใครยังไม่ปรับตัวไปตามDigital ที่กำลังจะเปลี่ยนโลก Digital ซึ่งกำลังเป็นศูนย์กลางทางความคิด ความรู้ เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ก็จะไม่สามารถดำรงคงอยู่ในโลกอนาคตนี้ได้

ด้าน ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แสดงความเห็นในเรื่อง Prospects for Education in Digital Transformation and Economy ไว้ว่าทุกประเทศมีการระบุนโยบายการพัฒนาการศึกษาในแผนการพัฒนาประเทศ ในประเทศไทย นโยบายด้านการพัฒนาการศึกษาล่าสุดมาพร้อมกับนโยบายด้าน Industry 4.0 และ Digital Transformation ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีการพัฒนาในด้านการสร้าง Innovation ที่ใช้ประโยชน์จาก Digital Technology สถาบันการศึกษาต้องพัฒนานักศึกษาให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพและสามารถสร้าง Productivity นอกจากนี้นักศึกษาควรมี Digital Literacy Skills ที่สามารถใช้ประโยชน์จาก Digital Technology ได้ตรงจุด รวมทั้งมีความสามารถคิดวิเคราะห์ ปรับตัวและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ขณะนี้การเรียนการสอน ระดับมัธยมและระดับอุดมศึกษา ในประเทศไทย ได้บรรจุหลักสูตรที่เรียกว่า STEM Education โดยหลายแห่งมีการเพิ่มในส่วนของ Entrepreneurship หรือทักษะการเป็นผู้ประกอบการเข้าไปด้วย เพื่อสร้างคนให้มีทักษะในการคิด วิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และปรับตัวได้ไว

นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศจะเชื่อมโยงกับแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะถือเป็นเครื่องมือทางกลยุทธ์ที่สำคัญ ดังนั้น อยากให้มองว่าเรามีจุดแข็ง หรือ เก่งด้านใดที่สามารถช่วยให้เราคว้าโอกาสที่มีอยู่ในสังคมและเศรษฐกิจโลก เราจะต้องนำจุดแข็งนั้น มาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และนำนโยบายดังกล่าว มากำหนดแผนหลักในการพัฒนาคนเพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะพัฒนาการศึกษาได้ ต้องเชื่อมโยงกระบวนการพัฒนาความรู้ และ Innovation กับ ประเทศที่โดดเด่นด้านนี้ โดยสามารถสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยนานาชาติ เช่น ประเทศจีนและอินเดีย ที่มีความโดดเด่นในด้าน Technology และ Engineering เช่น เรื่องของ Blockchain และ AI โดยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากร การทำวิจัยและการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน

ดร.พัทธนันท์ กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนา IT Infrastructure ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากทุกพื้นที่เข้าถึงอินเทอร์เนตสาธารณะได้ จะช่วยเปิดโอกาสให้คนไทยมีโอกาสค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะความรู้นอกห้องเรียน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในปัจจุบันมี Content ออนไลน์มากมายที่เข้าถึงได้ฟรี แต่ Content ส่วนใหญ่ มีเนื้อหาเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นเพื่อให้สามารถเข้าใจ Content เหล่านั้นได้ การพัฒนาความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรเร่งผลักดันเช่นกัน


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณบดี CIBA DPU ชี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้การศึกษาไทยถอยหลัง

คณบดี CIBA DPU ชี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้การศึกษาไทยถอยหลัง จับมือ ม. นอร์ธแธมตัน ม.ดังอังกฤษ เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจ 2 ปริญญา เรียนเมืองไทย-จบดีกรีนอก ดีเดย์ปี 64 ทั้ง ป.ตรี และ ป.โท

ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า CIBA DPU จับมือ The University of Northampton หรือ มหาวิทยาลัยนอร์ธแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ จัดโปรแกรมเรียนบริหารธุรกิจ 2 ปริญญา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักศึกษาที่สนใจเรียนที่มหาวิทยาลัยนอร์ธแธมป์ตัน แต่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนที่ต่างประเทศได้ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น CIBA มธบ.จึงจัดหลักสูตรพิเศษให้ตอบโจทย์การศึกษาในยุคนี้ โดยทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนอร์ธแธมตัน ประเทศอังกฤษ ในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท โดยนักศึกษาสามารถมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แต่มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าจบจาก ม.นอร์ธแธมป์ตัน จากประเทศอังกฤษ

“สำหรับหลักสูตรที่เปิดสอนหรือปริญญาที่ได้รับจาก มธบ. คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ส่วนปริญญาที่ได้รับจาก ม.นอร์ธแธมป์ตัน คือ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาธุรกิจและการจัดการ ( B.B.A Business and Management) อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนจะเปิดสอนที่ มธบ. จำนวน 90 หน่วยกิต โดยการเรียนการสอนภายใต้การกำกับดูแลของ ม.นอร์ธแธมตัน” ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว

ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็ไม่ได้ทำให้การศึกษาของไทยถอยหลัง โดยหลักสูตรดังกล่าวเหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนี้ เนื่องจากช่วยลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่าย ลดการแพร่เชื้อ และลดความเสี่ยงทั้งหมด แม้ผู้เรียนจะเรียนในไทยแต่คุณภาพการศึกษาเทียบเท่าอังกฤษ เพราะผู้กำหนดการสอนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ นอกจากนี้นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนจะได้รับ Student ID ของทั้งสองมหาวิทยาลัย และสามารถเข้าถึงข้อมูลของ ม.นอร์ธแธมป์ตันได้เช่นกัน เนื่องจากถือเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าว และหากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง นักศึกษายังสามารถไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ม.นอร์ธแธมป์ตัน เป็นสมาชิกของ AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) หรือ สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการรับรอง และประกันคุณภาพให้กับสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจ ดังนั้นการเรียนในหลักสูตรจากความร่วมมือนี้จึงนับเป็นการการันตีคุณภาพมาตรฐานระดับโลกเช่นกัน

คณบดี CIBA DPU กล่าวในตอนท้ายว่า หลักสูตรดังกล่าวสามารถตอบโจทย์การศึกษาในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด ดังนั้น มธบ.จึงกำหนดเปิดการเรียนการสอนในปี 2564 ทั้งหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://ciba.dpu.ac.th/ หรือ โทร.02-954-7300


 

Exit mobile version