Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

depa MOU MI มุ่งส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ครอบคลุม 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

29 ธันวาคม 2564กรุงเทพมหานคร – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จับมือ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (MI) ลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล มุ่งยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สู่ความแข็งแกร่งใน 6 ประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) พร้อมด้วย นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute : MI) ร่วมลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัล มุ่งยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region, GMS) โดยมี นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ depa และ นางสาวพรวิไล ภูมิรา Partnership and Resource Mobilization Manager, MI ร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย ไทย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมหาแนวทางในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลที่ประสบความสำเร็จ ขยายผลสู่การพัฒนาขีดความสามารถในระดับอนุภูมิภาค รวมถึงต่อยอดองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมดิจิทัลผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนาอย่างกว้างขวางสู่การปฏิบัติที่มุ่งเน้นให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ช่วยขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการทำงานแบบบูรณาการ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อแสดงถึงเจตจำนงที่เห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของระบบนิเวศอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในการก้าวเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัลสมัยใหม่ สู่ความแข็งแกร่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ด้าน นายสุริยัน กล่าวว่า สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ดำเนินงานภายใต้กรอบ 3 ด้าน คือ 1. การพัฒนาทางการเกษตรและการพาณิชย์ (Agricultural Development and Commercialization) 2. การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Facilitation) และ 3. พลังงานและนวัตกรรม สิ่งแวดล้อม (Sustainable Energy and Environment) โดยมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างศักยภาพในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ให้แก่กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจการค้าชายแดน

ทั้งนี้ ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ ระบุ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2564 มีการส่งออกแล้ว 778,367 ล้านบาท ขยายตัว 38.06% ส่วนมูลค่าการค้ารวมทั้งส่งออกและนำเข้า 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 1,275,542 ล้านบาท โดยกระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าปี 2564 การค้าชายแดนและผ่านแดน ขยายตัว 3%  คิดเป็นมูลค่า 789,198 ล้านบาท


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

“ดีป้า” โชว์ 1 ปี ศูนย์ 5G EIC เสริมแกร่งภาครัฐ-เอกชนราว 2,000 ราย หนุนปรับตัวเผชิญวิกฤตโควิด-19

9 พฤศจิกายน 2564กรุงเทพมหานคร – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เผยผลการดำเนินงาน ศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) ในรอบ 1 ปี มีผู้เข้าชมศูนย์แห่งนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ราว 2,000 ราย ตลอดจนเปิดอบรมไปแล้ว 6 หลักสูตร สามารถยกระดับทักษะดิจิทัลให้บุคลากรด้านเทคโนโลยี 5G มากกว่า 1,000 ราย สนับสนุนภาคธุรกิจและระบบการศึกษา สามารถปรับตัวและก้าวข้ามผ่านสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีศักยภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้เติบโตอย่างมั่นคง

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ประเทศไทยเผชิญมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาปรับตัวประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G กันมากขึ้น ซึ่งช่วงเดือนกันยายน 2563 ดีป้า ได้จัดตั้ง ศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) โดยความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญอย่าง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้ศูนย์แห่งนี้กลายเป็น Sandbox แหล่งเรียนรู้ชั้นเยี่ยม มอบองค์ความรู้ให้กับทุกคน ทุกภาคส่วน ช่วยพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลสำหรับแอปพลิเคชัน 5G และบริการของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่ให้แก่ภาคธุรกิจ ทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และดิจิทัลสตาร์ทอัพ ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน ฝ่าวิกฤตโควิด-19 พลิกฟื้นเศรษฐกิจยุคดิจิทัลให้เติบโตอย่างมั่นคง

“ตั้งแต่เปิด ศูนย์ 5GEIC แห่งนี้จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้เข้าชมพื้นที่ทดสอบ ทดลอง และปฏิบัติการภายในศูนย์ ราว 2,000 ราย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งเปิดอบรมให้กับผู้สนใจไปแล้ว 6 หลักสูตร สามารถยกระดับทักษะดิจิทัลให้บุคลากรด้านเทคโนโลยี มากกว่า 1,000 ราย” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

สอดคล้องกับมุมมองของ คุณศรุตา ตั้งใจ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท พีบีเอ โรบอทิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ศูนย์ 5G EIC มีประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผู้ให้บริการด้าน AI ROBOTICS and Automation Solution เพราะฉะนั้นหัวใจหลักสำคัญในการให้ประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าคือ เรื่องของ Data and Platform ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ของบริษัท ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสร้างเสถียรภาพโซลูชันของบริษัทฯ ได้มากขึ้น ที่สำคัญศูนย์แห่งนี้ ยังเข้ามาช่วยเสริมทักษะให้ความรู้ในการปรับใช้เทคโนโลยีกับ Use Case ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นภาพ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น สามารถขยายฐานลูกค้ากระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น จากเดิม 30-50% ของกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากกว่า 80ของกลุ่มเป้าหมาย ประกอบกับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกคนต้องปรับตัว และหันมาพึ่งพิงเทคโนโลยีจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ธุรกิจของบริษัทเติบโตสวนทางกับภาพรวมของเศรษฐกิจ ดังนั้นการมีเทคโนโลยี 5G จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการนำมาใช้ได้จริง ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมตลาดระดับโลกได้แน่นอน

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าธนบุรี
 กล่าวว่า ความสำคัญของศูนย์แห่งนี้คือ การเป็นแหล่งพัฒนากำลังคน เพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยี สอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยฯ ที่มุ่งเน้นการทำวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้จะทำให้เกิด Use Case มีชีวิต นำไปต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ ที่สามารถใช้งานได้จริง เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยเปลี่ยนโครงสร้างทั้งมหาวิทยาลัยฯ ให้กลายเป็นห้องเรียนคือ สามารถเรียนได้จากของจริง เห็นองค์ประกอบเสมือนจริง เปิดโลกวิธีการเรียนรู้ใหม่ ผ่านเทคโนโลยี VR AR ซึ่งจะกระจายนักศึกษาไปทั้งมหาวิทยาลัยฯ ไม่เกิดการกระจุกตัวอยู่แต่ในห้องเรียน ป้องกันความเสี่ยงโควิด-19 ภายใต้คอนเซปต์ Living Lab ดังนั้นเทคโนโลยี 5G จึงเป็นส่วนสำคัญในการแปลงโฉมมหาวิทยาลัยฯ เพราะต้องอาศัยระบบที่มีความเสถียรทั้งภายในและภายนอกอาคาร

สำหรับ ศูนย์ 5G EIC แห่งนี้ตั้งอยู่ ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นพื้นที่ทดลองการนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในภาคธุรกิจและบริการต่าง ๆ เช่น บริการทางการแพทย์ด้วย 5G
(5G Medical Care), การเกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G (5G Smart Agriculture) ระบบท่าเรืออัจฉริยะผ่านระบบ 5G (5G Port) การศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยี 5G (5G Remote Education) ระบบการรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี 5G (5G Smart Security) เป็นต้น ซึ่งผู้สนใจเข้าชมศูนย์ 5G EIC สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ www.5geicthailand.com


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ดีป้า – จังหวัดอุบลราชธานี ปักหมุดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล สร้างระบบนิเวศกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนากำลังคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

20 กันยายน 2564อุบลราชธานี – ดีป้า จับมือ จังหวัดอุบลราชธานี เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ปักหมุดพื้นที่ศาลากลางจังหวัด จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคอีสานตอนล่าง และศูนย์ ASEAN Smart Cities Network Center หวังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัล รวมถึงศูนย์สั่งการและบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ช่วยยกระดับเมืองด้วยฐานของข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนากำลังคนดิจิทัลในพื้นที่ คาดพร้อมให้บริการหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปปลายปี 2565

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมผู้บริหารและพนักงาน ร่วมพิธีเปิดป้ายอาคารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคอีสานตอนล่าง และศูนย์ ASEAN Smart Cities Network Center บนพื้นที่ 3 ไร่ บริเวณศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเกียรติจาก นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน ซึ่งมีคณะผู้บริหาร รวมถึงพนักงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธีกันโดยพร้อมเพรียง โดยทั้งหมดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างเคร่งครัด

โดย นายสฤษดิ์ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับการปักหลักของ ดีป้า และศูนย์ ASEAN Smart Cities Network Center ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ณ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการเชื่อมโยงและส่งเสริมเส้นทางเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของอุบลราชธานี และกลุ่มจังหวัดในพื้นที่ใกล้เคียง และขอแสดงความยินดีกับ ดีป้า ภายใต้การนำของ ดร.ณัฐพล รวมไปถึงคณะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกท่าน อีกทั้งขออำนวยพรให้การดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานสาขาฯ ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และสามารถดำเนินภารกิจอันเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศต่อไป

ด้าน ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดีป้า บูรณาการการทำงานกับจังหวัดอุบลราชธานีอย่างต่อเนื่องในการสำรวจและวางแผนความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนอุบลราชธานีสู่การเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านดิจิทัลในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ก่อนพัฒนาไปสู่การเป็น ASEAN Digital Hub ในอนาคต

“อาคารสำนักงาน ดีป้า สาขาภาคอีสานตอนล่าง และศูนย์ ASEAN Smart Cities Network Center จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการพัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัล (Digital Ecosystem) ที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยตั้งใจให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าใช้งานได้อย่างสะดวก เหมาะกับการคิดค้นสิ่งใหม่ต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มี Co-working Space รองรับการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และการประชุม เป็นศูนย์สั่งการและบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (City Data Platform) ที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาเมืองด้วยฐานของข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สามารถให้บริการภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป รวมถึงชาวต่างชาติ อีกทั้งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังคนดิจิทัลในพื้นที่ โดยคาดว่า การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2565” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

นอกจากนี้ ดีป้า และ จังหวัดอุบลราชธานี เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเมืองเศรษฐกิจอัจฉริยะต้นแบบ (Smart Economy Showcase) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารในจังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ใกล้เคียงที่สนใจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคุณภาพจากเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการจัดกิจกรรม Smart Economy Showcase ได้ทาง Facebook Page: depa Thailand


Exit mobile version