Categories
Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

รางปลูกต้นไม้แนวตั้ง

เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คอนโดและบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่มีพื้นที่จำกัด ด้วยสวนแนวตั้ง จากวัสดุที่คุณคุ้นเคย

นับวันราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ยิ่งมีราคาสูงขึ้นทุกปี ยิ่งมีข่าวโครงการรถไฟฟ้าจะสร้างผ่านด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ มนุษย์เงินเดือนทั่วไปก็คงได้อาศัยทาวน์เฮ้าส์ที่ราคายังพอกัดฟันซื้อได้ แต่ขึ้นชื่อว่าทาวน์เฮ้าส์ คงจะนึกออกใช่มั้ยล่ะครับ ว่าพื้นที่มันจำกัดแค่ไหน จะลงดินปลูกต้นไม้ก็ได้แค่กระหย่อมหลุมเดียว และนอกจากพื้นที่จำกัดแล้วโผล่มาหน้าบ้านยังต้องถูกบังคับให้ส่งยิ้มกับเพื่อนบ้านทุกคราไป ก็เพราะรั้วแต่ละหลังใช้ร่วมกัน แถมยังเป็นแค่ลูกกรงเหล็ก ดูแล้วมันชั่งไม่เป็นส่วนตัวเสียจริงๆ ว่าแล้วเราจะรอช้าอยู่ทำไมมาทำบ้านหลังน้อยของเราให้เขียวขจีแบบไม่สิ้นเปลืองพื้นที่อันน้อยนิดและยังช่วยบดบังสายตายามต้องการความเป็นส่วนตัวอีกด้วย

ขยายความสักนิดถึงอุปกรณ์ที่ว่าคุณคุ้นเคย ก็ลองแหงนมองขึ้นไปนอกตัวบ้านหรือระเบียงคอนโดของคุณตรงคอนเดนซิ่งยูนิต (คอยล์ร้อน) ดูสิครับ คุณก็จะพบอุปกรณ์ที่คุ้นเคย (แต่ไม่เคยได้ใช้เอง) ใช่แล้วครับมันคือรางครอบท่อแอร์นั่นเอง สาเหตุที่เลือกใช้รางครอบท่อแอร์ ก็เพราะว่ามันตัด เจาะง่าย และที่สำคัญราคาถูกคือ 1 เส้นยาว 2 เมตร ในราคาไม่ถึงร้อยบาท จะตัดผิด เจาะพลาดก็ยังไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก เมื่อรู้แล้วว่าเจ้าอุปกรณ์หลักที่ว่ามันคืออะไร ดียังไง ก็มาจัดเตรียมหาซื้ออุปกรณ์กันก่อนครับ

เตรียมอุปกรณ์
• รางครอบท่อแอร์ 1 เส้น
• แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม.
• เชือกไนล่อน
• ดินถุง
• กากมะพร้าวสับ
• ต้นไม้ที่ต้องการปลูก (แนะนำพวกไม้ตระกูลเฟิร์นหรือพืชผักสวนครัว)
• เลื่อยมือ

ขั้นตอนการประดิษฐ์
(1) นำรางครอบท่อแอร์มาตัดด้วยเลื่อยมือให้ได้ความยาวตามต้องการ โดยในตัวต้นแบบนี้ ตัดที่ 50 ซม. จำนวน 3 ท่อน เพื่อทำเป็นรางปลูก 3 ชั้นดังรูปที่ 1


(2) เจาะรูสำหรับระบายน้ำด้านล่าง ด้วยดอกสว่านขนาด 3 มม. ดังรูปที่ 2

(3) เจาะรูสำหรับนำต้นไม้ลงปลูก รางละ 3 รู ต้นไม้จะได้ไม่เบียดกันจนเกินไปดังรูปที่ 3

(4) ทำแผ่นปิดราง 2 ด้าน โดยนำรางมาวางทาบกับแผ่นพลาสวูดแล้ววาดด้วยดินสอดังรูปที่ 4.1 จากนั้นใช้คัตเตอร์หรือสว่านมือขนาดเล็ก(แนะนำสว่านมือ Dremel รุ่น 3000 N-10 สั่งซื้อได้ที่ www.inex.co.th)ตัดตามรอยดินสอและขัดด้วยกระดาษทรายละเอียด จะได้แผ่นปิดรางครอบท่อ โดยทำ 2 แผ่นต่อ 1 ราง ดังนั้นผมต้องตัดแผ่นพลาสวูดทั้งหมด 6 แผ่น

(5) ยึดแผ่นปิดรางโดยการตัดพลาสวูดเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาด 1×2.5 ซม.ดังรูปที่ 5.1 แล้วยึดด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 5.3 ทำให้ครบทั้ง 3 รางจะได้รางปลูกที่ยึดฝาปิดด้านข้างแล้วจำนวน 3 รางดังรูปที่ 5.5

(6) เจาะรูสำหรับร้อยเชือก โดยให้เจาะในตำแหน่งทะแยงระหว่างส่วนรางด้านล่างและส่วนฝาครอบ เพื่อให้เวลาแขวนต้นไม้จะได้เอียงเข้ามาให้เราได้เชยชมและสัมผัสความเขียวขจีของต้นไม้ได้อย่างเต็มอิ่ม

(7) ร้อยเชือกไนล่อนเข้าในรูที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่แล้ว โดยให้ร้อยจากรางปลูกแถวบนก่อน เมื่อร้อยจากฝาลงมาส่วนล่างแล้วให้มัดเป็นปมกันเอาไว้ดังรูปที่ 7.3 จากนั้นก็ร้อยรางชั้นล่างถัดไปแล้วก็มัดปมเช่นกัน ทำจนครบทั้ง 3 ชั้น แล้วนำไปแขวนตามตำแหน่งที่ต้องการได้เลย

(8) โรยกากมะพร้าวสับบางๆ ลงในรางปลูก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดิน แล้วใส่ดินลงไปให้เต็ม เมื่อทำครบทุกรางแล้วก็นำต้นไม้ลงปลูกได้เลย

เมื่อลงต้นไม้เสร็จก็รดน้ำให้ชุ่ม เป็นอันเสร็จสิ้นการทำสวนแนวตั้งแบบรางปลูก 3 ชั้น แล้วล่ะครับ ส่วนการให้ปุ๋ยไม่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีโดยตรง เพราะจะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดมากเกินไป แนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอก(มูลสัตว์) ผสมกับดินก้ามปูก็ได้ แล้วโรยไม่ต้องมาก โดยให้สัปดาห์ละครั้งก็พอ แต่น้ำสำคัญมากเพราะรางปลูกมีขนาดเล็ก ควรให้เช้าเย็นอย่างสม่ำเสมอ

ทำกันง่ายๆ ไม่ต้องใช้ฝีมือการประดิษฐ์มากมาย ก็ได้สวนแนวตั้งในราคาหลักร้อยแล้ว ลองทำกันดูนะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Electronics Arts Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

กระถางต้นไม้สื่ออารมณ์

มาฝึกให้เด็กๆ สนุกกับการดูแลต้นไม้ในบ้าน ไม่ให้เหี่ยวเฉาด้วยโครงงานนี้ Emotional POT ที่เหมือนมีต้นไม้เป็นเพื่อน โดยมันจะแสดงหน้าเศร้าบอกเรายามที่ดินเริ่มแห้ง และยิ้มยามดินชุ่มชื้น

โครงงานนี้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความชื่นชอบส่วนตัวจริงๆ ครับ เพราะการปลูกต้นไม้ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลายยามละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี และก็เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงรู้สึกเช่นเดียวกันที่สำคัญหากทำไว้ให้เด็กๆ ได้เล่นก็น่าจะเป็นของเล่นที่สอนให้พวกเขาได้รู้จักฝึกดูแลต้นไม้ได้อีกด้วย

เจ้า Emotional POT นี้ใช้หลักคิดง่ายๆ คือ เราจะตรวจสอบสภาพของดิน เมื่อดินชื้นจะให้มันแสดงหน้ายิ้ม และเมื่อดินแห้งจะต้องแสดงหน้าเศร้าหรือบึ้งนั่นเอง โดยใช้อุปกรณ์มาต่อกันเป็นวงจรง่ายๆ ที่นักอิเล็กทรอนิกส์มือใหม่และเก่าทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพื่อทำหน้าที่ตรวจจับความต้านทานของดิน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาออกแบบหน้าตากันเสียก่อนว่าจะให้ยิ้มยังไง และบึ้งแบบไหนจะได้รู้ว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

การออกแบบหน้าตา
สำหรับตัวต้นแบบผมใช้ LED แบบความสว่างสูงสีฟ้านำมาจัดเรียงกันบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบจุดไข่ปลาขนาดเล็กดังรูปที่ 1 จากนั้นบัดกรีขา K (แคโทด) ของ LED ทุกดวงเข้าด้วยกัน ส่วนขา A (แอโนด) บัดกรีแยกเป็นชุด จะได้ LED ทั้งหมด 5 ชุด ดังรูปที่ 2 เมื่อทำหน้าตาเสร็จแล้วก็มาดูวงจรที่จะใช้งานกันสักนิดนะครับ ดังรูปที่ 3

การทำงานของวงจร

วงจรนี้จะอาศัยทรานซิสเตอร์ Q1 และ Q2 เป็นตัวควบคุมการทำงานโดยที่จุด P ทั้งสองจุดจะถูกปักลงดิน โดยหากดินแห้งก็จะมีความต้านทานมาก กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านดินที่จุด P ได้ ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้ขา B ของ Q2 แทน ทำให้ Q2 ทำงานขับ Ry1 ให้ทำงาน รีเลย์ทำการต่อหน้าสัมผัส NO จ่ายไฟให้กับ LED 4 ดวงของชุดที่แสดงหน้าบึ้ง
ในทางกลับกันหากดินมีความชื้นค่าความต้านทานในดินต่ำ จึงมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจุด P ไปเข้าขา B ของ Q1 ทำให้ Q1 ทำงานและ Q2 จึงหยุดทำงาน หน้าสัมผัสของรีเลย์จึงกลับมาอยู่ที่ NC ซึ่งมีแรงดันจ่ายไปยัง LED 4 ดวงที่แสดงเป็นหน้ายิ้ม สำหรับความไวในการตรวจจับความชื้นปรับได้จาก VR1 ส่วน LED อีก 3 ชุดที่เหลือไม่มีผลใดๆ ต่อการทำงานของวงจรครับ เพราะมันจะติดตลอดเวลาที่เราจ่ายไฟเข้าวงจร

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์

เนื่องจากโครงงานนี้มีอุปกรณ์ไม่มาก จึงไม่ต้องเสียเวลาทำแผ่นวงจรพิมพ์ โดยวงจรตรวจจับความชื้นตัวต้นแบบนี้ผมใช้แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบไอซีบอร์ดมีลักษณะเป็นลายทองแดงแบ่งเป็นแถวยาวหลายแถว โดยมีจุดที่ต้องทำให้ลายทองแดงขาดจากกัน 3 จุด อยู่ใต้ตัวถังของรีเลย์ และจุดเชื่อมต่อที่เป็นเส้นสีดำตามรูปที่ 4 ใช้เศษขาอุปกรณ์ก็ได้ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับให้ดูการวางอุปกรณ์ตามรูปที่ 4 ได้เลย เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วให้ตรวจดูความเรียบร้อย

โดยเฉพาะช่องระหว่างลายทองแดงที่มักจะมีเศษตะกั่วจากการบัดกรีไปติดอยู่ อาจใช้แปรงขัดออกก็ได้ ต่อไปทำการเชื่อมแผงวงจรส่วนหน้าเข้ากับส่วนควบคุมด้วยสายแพ 6 เส้น โดยเผื่อความยาวของสายแพให้เท่ากับความสูงของกระถางก็เป็นอันเรียบร้อย พร้อมรับการทดสอบ

ทดสอบการทำงานของวงจร

เริ่มทดสอบโดยการนำอะแดปเตอร์ไฟตรง 6 ถึง 9V มาต่อเพื่อจ่ายไฟ LED จำนวน 4 ชุดคือ คิ้วซ้าย,คิ้วขวา,ตา+กึ่งกลางปาก และ หน้าบึ้ง จะต้องติด และเมื่อนำปลายสายของจุด P มาสัมผัสกัน LED ชุดปากยิ้มจะติดแทน แสดงว่า วงจรพร้อมทำงานแล้วครับ ต่อไปก็เป็นการสร้างกระถางน่ารักๆ ให้วงจรพักพิง

การสร้างกระถางต้นไม้
ในขั้นตอนนี้ผมถือว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความอดทนพอสมควร แต่โชคดีที่ในโลกนี้มีพลาสวูด จึงทำให้งานของผมเสร็จได้อย่างรวดเร็ว มาเริ่มกันเลยครับ
(1) นำพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 ที่ซื้อมาจาก TPE Shop ตัดตามแบบดังรูปที่ 5 นำชิ้นส่วนที่เป็นผนังของกระถางทั้ง 4 ชิ้นมาเฉือนขอบด้านข้างด้วยคัตเตอร์ให้ได้มุมประมาณ 45 องศา จากนั้นเจาะช่องของชิ้น A ที่จะใช้เป็นด้านหน้า แล้วนำพลาสวูดทั้ง 4 ชิ้น (A, B, C และ D) มาประกอบกันโดยใช้กระดาษกาวแปะเพื่อช่วยประคองไว้ดังรูปที่ 6.3 จากนั้นยึดด้วยกาวร้อนหรือกาวตราช้างก็จะได้โครงสร้างกระถางที่แน่นหนา ต่อไปอุดร่องด้านในกระถางเพื่อเสริมความแข็งแรงด้วยกาวซิลิโคนสีขาวแบบแห้งเร็วดังรูปที่ 6.4 เสร็จแล้วรอให้ซิลิโคนแห้งประมาณ 1 ชั่วโมง
(2) นำพลาสวูดส่วนฐาน E มาบากเป็นร่องขนาด 5 x 20 มม. จากนั้นนำแผงวงจรแสดงอารมณ์และสายไฟสำหรับวัดความต้านทานในดินมาพาดไว้ที่ปากกระถางก่อน แล้วจึงวางแผ่นฐานลงไปในกระถางดังรูปที่ 7 โดยแผ่นฐานนี้จะไม่ลงไปสุดก้นกระถาง เพราะเราต้องการเหลือพื้นที่ส่วนล่างไว้ติดตั้งแผงวงจรควบคุมนั่นเอง จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แผ่นฐาน E ก็จะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรงของกระถางได้เป็นอย่างดี
(3) การสร้างห้องให้กับแผงวงจรแสดงอารมณ์ ให้ตัดแผ่น PVC สีขาวชนิดที่แสงผ่านได้ให้มีขนาดกว้างกว่าช่องด้านหน้าของผนังกระถางเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นแผ่นหน้ากากกรองแสง แล้วใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดด้านในกระถางดังรูปที่ 8.1 ต่อไปติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ด้วยการนำแผ่นพลาสวูด F ที่มีรูปทรงเหมือนผนังกระถางแต่สั้นกว่า (ดูจากแบบรูปที่ 5) มายึดเข้ากับแผ่นพลาสวูด G ด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้ดอกสว่านขนาด 3 มม. คว้านรูของแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อให้สามารถสอดสกรูเกลียวปล่อยขนาดจิ๋วเข้าไปได้ จากนั้นก็ขันสกรูยึดแผงวงจรแสดงอารมณ์ดังรูปที่ 8.2 แต่อย่าให้แน่นมากเพราะจะทำให้แผ่นวงจรพิมพ์แตกหักได้ ต่อไปให้วางแผ่นพลาสวูด F ที่ติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ให้ระยะห่างระหว่าง LED กับแผ่นPVC ห่างกันเล็กน้อยประมาณ 2 ถึง 3 มม. จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แล้วนำกาวซิลิโคนมาอุดตามร่องเพื่อความเรียบร้อยและกันน้ำรั่วซึมในกรณีที่นำกระถางไปปลูกพืชน้ำ
(4) การติดตั้งแผงวงจรควบคุมให้คว่ำกระถางลงแล้วใช้ดอกสว่าน 3 มม. คว้านรูแผ่นวงจรพิมพ์ จากนั้นนำสกรูเกลียวปล่อยตัวจิ๋วขันยึดเข้าไปได้เลย ต่อไปเจาะรูเพื่อติดตั้งตัวต้านทานปรับค่าได้และแจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียดังรูปที่ 9.2
(5) ทำฝาปิดด้านบนด้วยแผ่นพลาสวูด H ขนาด 3 x 8.9 ซม. และพลาสวูด i และ J เป็นขา 2 ข้างสำหรับเป็นตัวล็อกไม่ให้ฝาหลุดออกมาโดยง่าย นำมาประกอบกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 10.1 เพียงเท่านี้คุณก็จะได้กระถางต้นไม้เล็กๆ น่ารัก ที่สร้างด้วยฝีมือตัวเองแล้วล่ะครับ
การนำไปใช้งานและปรับแต่ง
หาพรรณไม้สำหรับปลูกในร่ม เช่น ว่านต่างๆ บอน เฟิร์น พลูด่าง ฯลฯพรรณไม้พวกนี้จะไม่มีรากแก้วและไม่ต้องการแสงแดดมาก จึงเหมาะที่จะปลูกในร่ม การให้น้ำก็จะให้เมื่อดินแห้งเท่านั้น จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโครงงานนี้
 
เมื่อเตรียมพรรณไม้แล้ว ก็นำดินปลูกใส่ลงในกระถาง ทำการเสียบแจ็กอะแดปเตอร์เข้าที่ด้านหลังกระถาง หากดินที่ใส่ลงในกระถางแห้ง กระถางจะต้องแสดงหน้าบึ้ง แต่หากพบว่าแสดงหน้ายิ้มอยู่ให้ค่อยๆ ปรับตัวต้านทานปรับค่าได้ด้านหลังกระถาง เพื่อปรับความไว้ในการตรวจจับว่าต้องการให้ดินแห้งขนาดไหนจึงจะแสดงหน้าบึ้ง ในทางตรงกันข้ามเมื่อลองฉีดน้ำ (แนะนำให้ใช้กระบอกฉีดเอานะครับเพราะหากใช้วิธีรดน้ำอาจมีปริมาณน้ำมากเกินไปทำให้ต้นไม้เฉาได้) กระถางจะแสดงหน้ายิ้มก็เป็นอันสำเร็จพร้อมใช้งาน จากนั้นนำพรรณไม้ลงปลูกได้เลยครับ
ทิ้งท้ายอีกนิดครับ จากหลักการทำงานของวงจร ท่านสามารถนำวงจรนี้ไปใช้ในงานระบบใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน เพราะโครงงานนี้ใช้รีเลย์เป็นตัวจ่ายไฟให้ LED ดังนั้นหากเปลี่ยนจากการจ่ายไฟให้ LED เป็นจ่ายให้ปั้มน้ำขนาดเล็กแทนเพื่อรดน้ำต้นไม้ในสวนหน้าบ้านของคุณก็ย่อมได้ แต่อย่าลืมว่า ปั้มน้ำต้องการกระแสไฟฟ้าสูงกว่า LED มาก ดังนั้นต้องคำนึงถึงการทนกระแสที่หน้าสัมผัสของรีเลย์ด้วย ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกต้นไม้ครับ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Exit mobile version