อีกปัญหาที่หลายคนแก้ไม่ตกของแอร์ หรือเครื่องปรับอากาศ ก็คือแอร์ตัดนานเกินไป คือเมื่อเปิดแอร์ตอนเข้านอนแล้วแรกๆ ก็ทำความเย็นปกติดี แต่พอกลางดึกกลับไม่เย็นขึ้นมา หลายคนเลือกวิธีปรับลดอุณหภูมิที่รีโมตคอนโทรล หรือจากปกติเคยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 27 องศาเซลเซียส ก็เย็นจนต้องห่มผ้า แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ต้องปรับลดอุณหภูมิลงมาเหลือเพียง 23 องศาเซลเซียส แอร์ถึงจะทำความเย็นได้เหมือนเมื่อก่อน ทั้งที่เพิ่งเรียกช่างมาล้างแอร์ไปได้ไม่นาน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เรามาแก้ปัญหานี้ด้วยกันครับ
วิเคราะห์หาสาเหตุเสียก่อน
อาการแอร์ตัดนานเกินไป เกิดจากการตรวจจับอุณหภูมิของเซ็นเซอร์ ทำงานผิดปกติไปจากเดิม โดยปกติเซ็นเซอร์ที่เครื่องปรับอากาศใช้สำหรับตรวจจับอุณหภูมิ นั้นก็คือเทอร์มิสเตอร์ หรือตัวต้านทานที่ค่าความต้านทานแปรผันตามอุณหภูมิ ทั่วไปจะใช้แบบอุณหภูมิลดค่าความต้านทานเพิ่ม และมีเจ้าเซ็นเซอร์นี้ติดตั้งอยู่ 2 ตัวด้วยกันคือ
1. เซ็นเซอร์ตรวจจับอุณภูมิลมกลับหรือตรวจจับอุณหภูมิของห้องนั่นเองครับ มีลักษณะเหมือนหัวไม้ขีดไฟ มีกระเปาะสีดำ ปกติมักติดตั้งอยู่ด้านหน้าของแผงคอยล์เย็น เพื่อตรวจสอบว่าอุณหภูมิในห้องลดลงถึงค่าที่เราตั้งไว้ที่รีโมตคอนโทรลเลอร์หรือยัง ถ้าถึงแล้วก็จะสั่งให้ตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ (คอนเดนซิ่งยูนิต)
2. เซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิท่อสารทำความเย็น (น้ำยาแอร์) มีลักษณะเป็นทรงกระบอกตัวกระเปาะทำจากโลหะ ส่วนมากทำจากทองแดง เมื่อท่อเย็นจัด (สัมพันธ์กับเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณภูมิลมกลับ) ก็สั่งตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์เช่นกัน เซ็นเซอร์ตัวนี้ติดตั้งอยู่ติดกับท่อ บริเวณขวามือของแผงคอยล์เย็น (อีวาพอเลเตอร์)
หมายเหตุ : เครื่องปรับอากาศบางรุ่น ตรวจจับสารทำความเย็น (น้ำยาแอร์หมด)โดยอาศัยเซ็นเซอร์จับอุณหภูมิท่อ หากเครื่องปรับอากาศทำงานสักระยะแล้วท่อไม่เย็นจะสั่งปิดระบบทันที
รูปแสดงเหตุการณ์ที่เซ็นเซอร์ทั้ง 2 ตัวทำการตรวจจับอุณหภูมิ
จากรูปด้านบนจะเห็นว่าเหตุการณ์ที่ 3 เป็นสาเหตุให้แอร์ของเราไม่ยอมสั่งให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน ทั้งที่เซ็นเซอร์ตัวที่ 1 ก็รับรู้ได้ถึงอุณหภูมิห้องที่สูงขึ้นแล้ว แต่เซ็นเซอร์ตัวที่ 2 กลับบอกว่าท่อยังเย็นอยู่ยังไม่ต้องสั่งให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน
ดังนั้นเราจะเห็นว่าเซ็นเซอร์อุณหภูมิทั้งสองตัวนี้ต้องทำงานสัมพันธ์กัน แต่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณภูมิลมกลับนั้นไม่เป็นสาเหตของปัญหานี้ครับ เพราะมันติดตั้งอยู่ด้านนอก จึงแห้งไม่เปียกชื้นและไม่สกปรกอะไร ต่างจากเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิท่อสารทำความเย็นที่ต้องเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลาขณะเราใช้งานเครื่องปรับอากาศทำให้มีโอกาสเกิดคราบสกปรกที่ผิวของกระเปาะโลหะบนตัวมัน
เมื่อคราบสกปรกจับตัวมากขึ้นทำให้เมื่อเปิดแอร์นานๆ ความชื้นจะสะสมอยู่กับคราบสกปรกเหล่านี้ ทำให้ค่าความต้านทานภายในตัวมันลดลงช้ามากๆ หรือเปลี่ยนแปลงได้ช้ากว่าปกตินั่นเอง ทำให้แผงวงจรควบคุมเข้าใจว่าท่อยังเย็นอยู่จึงไม่ยอมสั่งให้ชุดคอนเดนซิ่งยูนิต (คอยล์ร้อน) ทำงานครับ
วิธีแก้ไขเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิท่อสารทำความเย็นสกปรก
1. สับเบรกเกอร์ตัดไฟก่อน จากนั้นถอดบานสวิงออกจากหน้ากากของเครื่องปรับอากาศ โดยแต่ละรุ่นจะมีวิธีการถอดไม่เหมือนกัน ให้ค่อยๆ พิจารณาเอา (ระวังสลักหักด้วยนะครับ)
2. คลายสกรูยึดหน้ากากทั้ง 2 ด้าน ของเครื่องออก (บางรุ่นอาจมีตำแหน่งที่ต่างไปจากนี้)
3. ใช้มือประคองด้านซ้ายและขวาของหน้ากากแล้วค่อยๆ ขยับดึงหน้ากากจากส่วนล่างออกมาแล้วงัดขึ้นด้านบนดังรูป
4. ถอดเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิท่อสารทำความเย็นออกมา โดยใช้ไขควงตัวเล็กดันออกมาจากช่องเสียบ (ห้ามจับสายดึงออกมาเด็ดขาดอาจทำให้สายขาดจากหัวเซ็นเซอร์ได้)
5. ใช้กระดาษทรายขัดคราบสกปรกออกให้สะอาด จากนั้นใส่กลับที่เดิม แล้วประกอบหน้ากากและบานสวิงเข้าตามเดิม
เพียงแค่นี้ แอร์ของเราก็กลับมาทำความเย็นได้ตามปกติแล้วล่ะครับ ลองทำตามดูนะครับ รับรองว่าหายไปอีกหลายปีเลยทีเดียว จนกว่ามันจะสกปรกอีกก็ถอดออกมาขัดอีก เว้นแต่ว่ามันจะเสื่อมสภาพจนใช้งานไม่ได้ อันนี้ต้องซื้อมาเปลี่ยนแล้วล่ะครับ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ