Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ .มอบนวัตกรรมหุ่นยนต์ แก่ กระทรวง อว. สู้ภัยโควิค

อาจารย์ ดร. รักนรินทร์  แสนราช  รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง  พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.สราวุฒิ สืบแย้ม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการคลังและกิจการทั่วไป  รศ.ดร.สิทธิโชค  สุนทรโอภาส ประธานสภาคณาจารย์และพนักงาน ผศ.ดร.สถาพร วังฉาย  และทีมงานวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมมอบหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC และหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส แก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รับมอบโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ และโฆษกกระทรวงฯ คุณสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจกระทรวงฯ และรศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564

นวัตกรรมหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด 19 (Coronavirus  Disease 2019  (COVID-19))  และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ให้กับสถานพยาบาล และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นการออกแบบสร้างหุ่นฉายรังสี UVC ระบบควบคุมไร้สายด้วยคลื่นวิทยุ เพื่อฆ่าเชื้อไวรัส และเพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สู่สังคม  ขนาดหุ่นยนต์ประดู่แดงฉายแสง UVC 68x78x180 ซม.  และใช้หลอดรังสียูวีที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ได้แก่ หลอดไอปรอทแรงดันต่ำ เปล่งรังสี 254 nm/หลอดอะมัลกัม เปล่งรังสี 254 nm/ หลอด UV LED ที่เปล่งรังสีในช่วง 242-313 nm หรือ 260-265 nm ส่วนหุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) ฆ่าเชื้อโรค และไวรัส ถูกออกแบบให้ระบบควบคุมการเคลื่อนที่หุ่นยนต์เป็นแบบ “ไร้สาย” มีคุณสมบัติในการสร้างไอพ่นละอองฝอยละเอียดเฉลี่ย 50 ไมครอน เรียกว่าเป็นระบบการสร้างละอองฝอยแบบ ยูแอลวี (ULV cold fog generator) ด้วยปั๊มแรงดันสูง 12 บาร์ มีอัตราการไหล 1 ลิตรต่อนาที ใช้หัวฉีดพ่นจำนวน 16 หัวฉีด (หัวฉีดละเอียดชนิดพิเศษ) เพิ่มความสะดวกสบาย และสามารถเว้นระยะห่างจากรัศมีของการฉีดพ่นได้ ลดความเสี่ยงให้กับผู้ทำการฉีดพ่นจากการบังคับขับหุ่นยนต์ผ่านกล้อง ผ่านระบบสัญญาวิทยุ และมีจอแสดงผลกล้องจากหุ่นยนต์ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าของหุ่นยนต์  เพื่อช่วยให้ผู้บังคับสามารถควบคุมได้ง่ายสามารถปรับมุมได้ตามความเหมาะสมของสถานที่ และหมุนรอบแกน 120 องศา ทั้งนี้หุ่นยนต์ไอพ่นละอองฝอย (ULV) มีขนาด กว้าง 60 x ยาว 80 x สูง 150 เซนติเมตร มีโครงสร้างที่ทนต่อความชื้นสูง โดยเลือกใช้สแตนเลส 

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอเชิญชวนผู้ที่มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือด้านการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สามารถบริจาคได้ที่บัญชี “กองทุนพัฒนามหาวิทยาลัยและต้านภัยโควิด มจพ.” ธนาคารกรุงเทพ สาขา มจพ. เลขที่บัญชี 907-3-50043-2 ใบเสร็จรับเงินการบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02-555-2000 ต่อ 1604

 ขวัญฤทัย ข่าว/สมเกษ ถ่ายภาพ


Categories
Gadget iBEAM the Series Toy คุณทำเองได้ (DIY)

หุ่นยนต์กระปุกออมสินจอมเขมือบ

ช่วงเวลานี้เชื่อว่าหลายคนคงมีเวลาอยู่กับบ้านกันมากขึ้น เรามาหากิจกรรมทำในครอบครัวกันดีกว่า หรือน้องๆ จะประดิษฐ์เป็นโครงงานส่งคุณครูก็เก๋ไก๋ไม่ใช่เล่นเลยนะเออ และนี่ก็คือกระปุกออมสินจอมเขมือบ ที่มีนจะทำงานเมื่อเราวางเหรียญให้แล้วมันก็จะยกเทเข้าปากตัวเองทันที ที่สำคัญไม่ต้องใช้หัวแร้งบัดกรีแต่อย่างใด

เครื่องมือและอุปกรณ์

  1. แผงวงจร i-BEAM (จะซื้อเฉพาะแผงวงจรหรือซื้อเป็นชุดหุ่นยนต์ i-Beam ก็ได้) (สั่งซื้อ i-Beam มาใช้งานคลิกที่นี่)
  2. แผงวงจรตรวจจับแสงอินฟราเรดสะท้อน (ZX-03 หากมีชุดหุ่นยนต์ i-Beam อยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อเพิ่ม) (สั่งซื้อ ZX-03 มาใช้งานคลิกที่นี่)
  3. เฟืองขับมอเตอร์ BO1 อัตราทด 120:1 (สั่งซืื้อชุดเฟืองมอเตอร์ BO1 มาใช้งานคลิกที่นี่)
  4. กระดาษแข็ง (Card Board) หนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร
  5. ลวดงานประดิษฐ์หรือสายไฟแข็งเบอร์ 4 สำหรับทำกลไกขยับแขนและยกปากให้อ้า
  6. ปืนยิงกาวซิลิโคน

เมื่อเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วก็มาลงมือประดิษฐ์กันได้เลยจ้า

ชมคลิปการประดิษฐ์จาก YOUTUBE

ขั้นตอนการประดิษฐ์

เริ่มจากส่วนหัว

1. ตัดกระดาษขนาด 8x8cm. จำนวน 4 ชิ้น ดังรูปที่ 1.1

2. ประกอบเข้าด้วยกันด้วยปืนกาว ดังรูปที่ 2.1 นำกระดาษแข็งอีกแผ่นมาทาบแล้วประกอบทำส่วนปิดหัวแล้วยึดด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 2.2 ถึง 2.4

3. ใช้คัตเตอร์กรีดทำปากให้เหนือปากกล่องขึ้นมาประมาณ 2cm. จากนั้นใช้คัตเตอร์กรีดด้านหน้าและด้านข้างทั้งซ้ายและขวา จะได้ส่วนหัวที่อ้าปากได้ดังรูปที่ 3.3

ส่วนของลำตัว

4. ตัดกระดาษขนาด 9×6.5cm 2 ชิ้น และ 8×6.5cm. 2 ชิ้น

5. ประกอบเป็นกล่องด้วยปืนกาวดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำกระดาษแข็งอีกแผ่นมาทาบแล้ววาดด้วยดินสอและตัดเพื่อใช้ประกอบเป็นส่วนปิด (ตัดมา 2 ชิ้น) เพื่อจะได้นำไปต่อกับส่วนหัวได้ดังรูปที่ 5.4

6. ประกอบส่วนหัวเข้ากับลำตัวด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 6.2

7. นำกระดาษแข็งอีกชิ้นที่ตัดไว้จากข้อ 5 มาประกบปิดกล่องลำตัวด้วยปืนกาว

ต่อเติมส่วนขา

8. นำกระดาษแข็ง 8×2.5cm. มาประกอบเป็นส่วนขาด้วยปืนกาวดังรูปที่ 8.2

ทำส่วนกลไก

9. ใช้ดินสอวาดไม้ไอติมให้เป็นรูปทรงดังรูปที่ 9.1 จากนั้นใช้สว่านเซาะให้เป็นรูปทรงวงรีและนำมาสวมกับแกนของเฟืองขับมอเตอร์ BO1 ดังรูปที่ 9.3 และ 9.4

10. ใช้ลวดหรือสายไฟแข็ง มาดัดเป็นรูปตัวยู เพื่อใช้เป็นตัวกระเดื่องรับการตีจากไม้ไอติมที่เราติดตั้งไว้ในขั้นตอนที่ 9

11. ใช้คัตเตอร์เจาะส่วนหัวและลำตัวให้ทะลุถึงกัน

12. ติดตั้งเฟืองขับมอเตอร์ BO1 ในลักษณะตั้งขึ้น โดยเจาะรูด้านล่างให้ขนาดเท่ากับส่วนหัวของมอเตอร์ดังรูปที่ 12.2 จากนั้นสอดส่วนหัวมอเตอร์ลงด้านล่าง โดยระวังอย่าให้ใกล้กับลวดมากเกินไป เพราะจะทำให้เมื่อไม้ไอติมเหวี่ยงไปตีลวดแล้วจะทำให้ติดขัดได้ ควรวางให้ห่างออกมาเล็กน้อยหรือวางชุดเฟืองมอเตอร์เอนไปด้านหลังเล็กน้อยด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 12.5 และ 12.6

13. สอดลวดที่ดัดไว้จากขั้นตอนที่ 10 ลงไป (ดูวิดีโอการทำในยูทูป)

14. ทำส่วนถาดรับเหรียญที่เราจะฝังตัวตรวจจับแบบอินฟราเรดสะท้อน (ZX-03) ไว้ด้านใน ในตัวต้นแบบทำแบบสี่เหลี่ยมง่ายๆ และใช้ปืนยิงกาวยึดตัวตรวจจับไว้ด้านใน


15. ทำแขนโดยตัดกระดาษแข็งขนาดประมาณ 2x9cm จำนวน 4 ชิ้น นำมาประกบกันข้างละ 2 ชิ้น ด้วยปืนยิงกาว

16. ติดตั้งแขนโดยใช้ปลายลวดแทงทะลุออกมาดังรูปที่ 16.2 และพับลวดดังรูป 16.3 (ระวังอย่าให้แขนชิดกับลำตัวจนแน่นเกินไป) จากนั้นติดให้แน่นด้วยปืนยิงกาว

17. นำไม้ไอติมยึดระหว่างแขนทั้งสองข้างดังรูปที่ 17.2 จากนั้นนำชุดตัวตรวจจับที่ทำไว้ในขั้นตอนที่ 14 มาติดตั้งด้วยปืนยิงกาว

18. นำชุดแผงวงจร iBeam มาวางทาบด้านหลังเพื่อทำที่วางแผงวงจร ใช้ดินสอร่างตามรอยแผงวงจรดังรูปที่ 18.2 ตัดกระดาษแข็งมามาติดตามรูปทรงที่ร่างไว้ดังรูปที่ 18.3 และจะได้กะบะบรรจุแผงวงจร iBeam ดังรูปที่ 18.4 เจาะช่องสอดสายมอเตอร์ออกมาจากด้านในดังรูปที่ 18.5


19. ใช้ไม้กลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5cm ยาว 12cm. ทำเป็นเหมือนสกรูที่โผล่ออกมาจากหัวของแฟรงเกน ทำกลไกสำหรับอ้าปาก โดยการดัดสายไฟเป็นวงกลมคล้องกับไม้อีกปลายหนึ่งเสียบเข้ากับแขน จากนั้นตัดกระดาษแข็งทรง 6 เหลี่ยมทำเป็นหัวสกรูแล้วยึดเข้ากับปลายไม้กลมทั้ง 2 ด้าน ดังรูปที่ 19.3 ถึง 19.5


20. เสร็จแล้วหุ่นยนต์กระปุกออมสินจอมเขมือบของเรา

ต่อไปก็ระบายสีตามจินตนาการได้เลยจ้า


ปัญหาที่พบ

(1) การติดขัดของกลไกการยกแขน

  • แกนมอเตอร์ใกล้ลวดมากเกินไป ควรติดตั้งมอเตอร์เอนไปด้านหลังเล็กน้อย

(2) เหรียญไม่เข้าปาก

  • ระยะของลวดยกปากไม่เหมาะสม ลองย้ายตำแหน่งที่แขนออกมาเล็กน้อยเพื่อเพิ่มระยะการอ้าของปาก

ชมคลิปการประดิษฐ์จาก YOUTUBE


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มช. ผุดนวัตกรรมหุ่นยนต์ห่อมะม่วง หนุนเกษตรกรรมยุคดิจิทัล ขับเคลื่อนด้วย AI

หากพูดถึงผลไม้ที่ขึ้นแท่นเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ มะม่วง ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีขั้นตอนและวิธีการดูแลที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น นั่นคือการห่อผลมะม่วงให้ได้ผลเป็นสีเหลืองทองและสวยงาม แต่ปัญหาของเกษตรกรที่พบคือ การห่อที่มีความคลาดเคลื่อน ทำให้ผลมะม่วงเกิดเชื้อราและมีแมลงเข้าไปทำลายเปลือกและเนื้อ ทำให้เกิดความไม่สวยงามของตัวผลมะม่วง ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ทำการพัฒนาหุ่นยนต์ระบบ AI ในการช่วยห่อมะม่วงขึ้นมา เพื่อความแม่นยำ ลดการสูญเสียและเพิ่มความสะดวกให้แก่เกษตรกร

หุ่นยนต์ห่อมะม่วงระบบ AI เป็นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์โรโบติกส์เข้ามาใช้ในสวน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการทำงาน เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์ต้องมีเรื่องของระบบการเซนเซอร์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการรับรู้เรื่องสภาพแวดล้อมภายนอก รวมทั้งหุ่นยนต์ต้องหาผลมะม่วงได้ด้วยตัวเอง โดยหุ่นยนต์จะถูกควบคุมด้วยระบบ AI ผสานกับเทคโนโลยีการตรวจจับวัตถุเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถตรวจจับสีของมะม่วงได้ว่าตรงไหนเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง มีการติดกล้องขนาดเล็กไว้ที่ตัวหุ่นยนต์ จากนั้นจะส่งข้อมูลไปที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีการวัดระยะความห่างของมะม่วงได้อย่างแม่นยำ ทำให้การห่อมะม่วงแต่ละครั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การห่อที่ถูกต้อง เพียงแค่นำถุงคาร์บอนไปติดตั้งที่ปลายแขนของหุ่นยนต์ เครื่องก็จะใช้การตรวจจับของระบบ AI สั่งการได้ทันที

ในอนาคตสามารถที่จะนำหุ่นยนต์ไปทดลองกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ได้ รวมถึงการพัฒนาให้หุ่นยนต์มีความสามารถในการช่วยตัดแต่งกิ่งที่มีขนาดเล็ก ไปจนถึงเรื่องของการเก็บข้อมูลทางสถิติว่าจำนวนผลมะม่วงที่เก็บได้ในแต่ละต้นแต่ละปีเป็นเท่าไหร่ สำหรับนวัตกรรมชิ้นนี้ถือว่ามีความแม่นยำที่สูงมากในการห่อมะม่วง ช่วยลดปัญหาการห่อของชาวสวน ทั้งในเรื่องการจ้างแรงงาน ซึ่งลักษณะแรงงานโดยทั่วไปต้องอยู่กลางแดด เผชิญกับความเหนื่อยล้า ความเร่งรีบในการห่อ และเรื่องของการห่อผิดขนาด จากนวัตกรรมหุ่นยนต์ห่อมะม่วงนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่พัฒนาและต่อยอดมากจากการประกวดแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ โดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดครั้งนี้และนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยให้สามารถใช้งานได้จริง รวมถึงเพิ่มมูลค่าทางการผลิตให้กับเกษตรกรได้ในอนาคต

ด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของอาจารย์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร อันจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการกระตุ้นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย และเพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทั้งในแง่ของการยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีความทันสมัย และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ


 

Categories
รีวิว

iBEAM ชุดหุ่นยนต์เคลื่อนที่ตามเส้นแบบไม่ต้องเขียนโปรแกรม

เรามาดูบอร์ดควบคุมอัตโนมัติที่ผู้ใช้ไม่ต้องเขียนโปรแกรมกันบ้างนะครับ ในตอนนี้เรามารู้จักกับชุดหุ่นยนต์ iBEAM กัน อันที่จริงแล้วไม่ได้ใช้แค่การควบคุมมอเตอร์ให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่เท่านั้น แต่บอร์ด iBEAM ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างโครงงานอัตโนมัติอย่างง่ายๆ ได้อีกหลากหลาย แต่ในตอนนี้ขอแนะนำเฉพาะตัวชุดที่ผู้ขายจัดมาให้เป็นชุดก่อนก็แล้วกัน

คลิกเพื่อชมวิดีโออุปกรณ์ในกล่อง


คลิกเพื่อชมวิดีโอการประกอบ

iBEAM คือชุดหุ่นยนต์เคลื่อนที่ตามเส้นแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม โดยอาศัยวงจรจรอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐานคือไอซีออปแอมป์มาทำหน้าที่เปรียบเทียบแรงดันที่เกิดขึ้นจากตัวตรวจจับแสงสะท้อนอินฟราเรด กับแรงดันอ้างอิงของวงจร นำผลการเปรียบเทียบที่ได้นั้นไปควบคุมให้มอเตอร์ทำงานหหรือหยุดทำงานนั่นเอง

ออกแบบและผลิตจำหน่าย โดย บริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด หรือ INEX

อุปกรณ์ในชุด
1. แผงวงจร iBEAM
2. ชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 (87:1) (1 Output) (สาย IDC สีดำ)
3. ล้อพลาสติก 3 1/2 นิ้ว สำหรับชุดเฟืองขับมอเตอร์ รุ่น BO-2
4. ยางขอบล้อ
5. แผ่นฐานแบบกริดขนาด 80 x 80 มม.
6. ZX-03 แผงวงจรตรวจจับอินฟราเรดสะท้อน
7. กล่องใส่กะบะถ่าน 4 ก้อน
8. แท่งต่อ/ชิ้นต่อพลาสติก/ชุดนอต
9. เหล็กฉาก 2×3 แบบวงรี
10. เทปพันสายไฟ
11. คู่มือการใช้งาน

การประกอบก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ทำตามคู่มือไปเรื่อยๆ ก็จะได้หุ่นยนต์ 2 ล้อ ที่มีเซนเซอร์หรือตัวตรวจจับแสงสะท้อน 2 ตัวติดตั้งไว้ด้านล่างของแผ่นฐานหุ่นยนต์

 

การทดสอบ
ก่อนอื่นเราก็มาสร้างสนามสำหรับให้หุ่นยนต์ขของเราเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่เราต้องการซะก่อน โดยการใช้เทปพันสายไฟสีดำ ติดบนกระดาษขาวหรือฟิวเจอร์บอร์ดสีขาวก็ดี การติดให้ติดเป็นเส้นทางไม่คดเคี้ยวจนเกินไปแล้วให้ส่วนปลายมาบรรจบกับจุดเริ่มต้นเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างต่อเนื่องได้

จากนั้นใส่ถ่าน AA จำนวน 4 ก้อนลงในกะบะถ่านที่ติดอยู่กับตัวแผงวงจร แล้วนำหุ่นยนต์วางคร่อมเส้นสีดำ จากนั้นเปิดสวิตช์ที่แผงวงจร iBEAM หากไม่สามารถตรวจจับเส้นได้ เราต้องปรับตัวต้านทานปรับค่าได้ที่แผงวงจรซะก่อน โดยการยกต้วหุ่นยนต์ขึ้นจากพื้นเล็กน้อยไม่เกิน 2-3 ซม. แล้วค่อยๆ ปรับตัวต้านทานปรับค่าได้ทีละข้างจนกว่ามอเตอร์ข้างนั้นจะหยุดหมุน เพียงแค่นี้หุ่นยนต์ iBEAM ของเราก็เคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่เราออกแบบไว้ได้แล้วครับ

หลักการตรวจจับเส้น
ทำไมหุ่นยนต์จึงเคลื่อนที่ไปตามเส้นได้ ก็อย่างที่ได้เกลิ่นไปตอนต้นแล้วว่าอาศัยหลักการเปรียบเทียบแรงดัน แต่เพื่อให้ง่ายในการทำความเข้าใจ เรามาดูภาพประกอบในกรณีเมื่อตัวตรวจจับด้านใดด้านหนึ่งพบเส้นสีดำกันครับ

จากภาพด้านบนจะเห็นว่า เมื่อตัวตรวจจับแสงสะท้อนด้านซ้ายพบเส้นสีดำ จะส่งแรงดันต่ำกลับมายังแผงวงจรทำให้มีแรงดันอ้างอิงที่แผงวจรมีค่าสูงกว่า ไอซีออปแอมป์ด้านซ้ายจะให้แรงดันเอาต์พุตขาออกเป็น 0 โวลต์ เป็นผลให้มอเตอร์ด้านซ้ายหยุดหมุน ในขณะที่ตัวตรวจจับแสงสะท้อนด้านขวาพบพื้นสีขาวมอเตอร์จะยังหมุนอยู่ทำให้หุ่นยนต์ค่อยๆ เลี้ยวไปทางซ้าย จนตำแหน่งของตัวตรวจจับทั้งด้านซ้าายและขวากลับมาคร่อมเส้นอีกครั้ง หุ่นยนต์จึงเคลื่อนที่ตรงไปข้างหน้า

บทสรุป
iBEAM นับเป็นชุดเรียนรู้การทำงานของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถฝึกให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การหยิบจับเครื่องมือ และที่สำคัญ iBEAM ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ทำโครงงานแบบควบคุมอัตโนมัติได้อีกด้วย แล้วพบกันใหม่กับ iBEAM the series

ซื้อได้ที่ไหน
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้ 2 แหล่ง (เท่าที่เรารู้)

  1. สั่งซื้อทาง Lazada ส่งฟรีถึงบ้านพร้อมชำระเงินปลายทาง
  2. สั่งซื้อทางเว็บของผู้ผลิต www.inex.co.th

 

Categories
Toy คุณทำเองได้ (DIY)

ประดิษฐ์หุ่นยนต์ผู้โดดเดี่ยว

เมื่อตุ๊กตาขี้กลัวตัวน้อยต้องคอยซ่อนตัวอยู่ในกล่องตามลำพัง
โครงงานของเล่นน่ารักๆ กับเจ้าตุ๊กตากระดาษ ที่คอยหลบซ่อนตัวอยู่ในกล่อง หากมีเสียงดังเจ้าตุ๊กตาก็จะส่งเสียงและพากล่องวิ่งไปมา แต่จะแอบเปิดฝามาดูเมื่อข้างนอกไม่มีเสียงรบกวน

เตรียมอุปกรณ์

การจะทำให้โครงงานของเล่นให้ดูมีชีวิตชีวานั้น แน่นอนล่ะครับว่าต้องใช้ระบบสมองกลหรือไมโครคอนโทรลเลอร์เข้าช่วยประมวลผล แต่จะให้ง่ายและใช้งานได้ทันที ก็เป็นต้องชุด Robo-Circle3S แต่ต้องเพิ่มอุปกรณ์อีกเล็กน้อย มาดูรายการอุปกรณ์กันเลย
1. แผงวงจร i-BOX3S
2. มอเตอร์ BO2 อัตราทด 120:1
3. มอเตอร์ BO1 2 เอาต์พุต อัตราทด 120:1
4. แผงวงจร ZX-SOUND
5. แผงวงจร ZX-POTH (ปัจจุบันมีจำหน่ายเป็นรุ่น ZX-POTV ผู้อ่านต้องดัดแปลงเล็กน้อย)
6. ล้อกลมพร้อมยาง
7. พลาสวูดขนาด A4 จำนวน 1 แผ่น
8. กะบะถ่าน AA 4 ก้อน
9. กล่องกระดาษทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 14×14 ซม. สูง 12 ซม.

การสร้าง
ประดิษฐ์ส่วนกลไกการเคลื่อนที่
(1) เริ่มด้วยการนำแผ่นพลาสวูดมาตัดให้ได้ขนาด 5×14 ซม. 1 แผ่นเพื่อใช้เป็นแผ่นฐาน และขนาด 3×6 ซม. 2 แผ่นเพื่อใช้เป็นแผ่นหนุนเพื่อให้ล้อสัมผัสพื้นได้พอดีดังรูปที่ 1.1 จากนั้นใช้เทปโฟมสองหน้าอย่างหนาแปะด้านบนของแผ่น 3×6 ซม. 1 แผ่น ดังรูปที่ 1.2 แล้วใช้ปืนยิงกาวยึดเข้าด้วยกันจะได้แผ่นพลาดวูดที่ซ้อนกันสำหรับยึดชุดเฟืองขับมอเตอร์ดังรูปที่ 1.3

(2) นำชุดแผ่นฐานติดตั้งลงในกล่อง ใช้ดินสอวาดแนวของล้อเอาไว้ จากน้ันใช้คัตเตอร์ตัดเป็นร่องสำหรับให้ล้อโผล่ลงไปด้านล่างของกล่องได้ สำหรับขนาดของช่องควรเจาะให้กว้างกว่าขอบล้อเล็กน้อยเพื่อความสะดวกในการติดตั้งดังรูปที่ 2.3 ถึง 2.5 เมื่อเจาะเสร็จแล้วติดตั้งแผ่นฐานลงไปยึดด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 2.6 สุดท้ายแกะเทปโฟมสองหน้าที่ด้านบนของแผ่นฐานออกแล้วนำชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO2 มาแปะลงไป โดยให้ตำแหน่งของล้ออยู่กึ่งกลางของช่องที่เราเจาะไว้เมื่อติดตั้งแล้วจะเห็นว่าล้อโผล่ออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นดังรูปที่ 2.8 ทดลองวางกล่องลงบนพื้น กล่องจะแนบกับพื้นเกือบสนิทและดูไม่ออกว่าด้านล่างมีล้ออยู่

(3) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 7.5×14 ซม. เพื่อใช้เป็นแผ่นฐานติดตั้งชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 และแผงวงจร ZX-POTH จากนั้นนำชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 และแผงวงจร ZX-POTH มาจัดวาง โดยตำแหน่งการวางนี้ต้องให้แกนหมุนของเฟืองขับมอเตอร์เยื้องมาทางขวา ดังรูปที่ 3 จะเยื้องมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาดของตัวตุ๊กตาที่นำมาใช้ เพื่อหลีกการชนตัวตุ๊กตาที่เราจะติดตั้งในขั้นตอนสุดท้าย เมื่อวางได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วให้ใช้ปืนยิงกาวยึดชุดเฟืองขับมอเตอร์เอาไว้ ส่วนแผงวงจร ZX-POTH ยังไม่ต้องยึด

(4) ตัดแผ่นฐานเป็นร่องกว้าง 7 มม. ให้ตรงกับแนวแกนสีชมพูของชุดเฟืองขับมอเตอร์ดังรูปที่ 4.1 จากนั้นตัดเศษพลาสวูดให้ได้รูปทรงรูปตัว L ดังรูปที่ 4.2 สำหรับใช้เป็นแขนดันฝากล่องส่วนแขนจะยาวมากหรือน้อยขึ้นกับว่าต้องให้กล่องเปิดมากน้อยเพียงใด จากนั้นนำส่วนปลายด้านหนึ่งไปกดเข้ากับแกนของชุดเฟืองขับมอเตอร์ให้เป็นร่องแล้วใช้คัตเตอร์ค่อยๆ เซาะให้ร่องลึกลงไปประมาณ 1/3 ของความหนาพลาสวูดดังรูปที่ 4.3 แล้วเจาะรูตรงกึ่งกลางร่องใช้สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็กขันยึดชิ้นส่วนแขนเข้ากับแกนของชุดเฟืองขับมอเตอร์ดังรูปที่ 4.4 ชุดส่วนแขนจะต้องลงร่องที่บากไว้ได้

(5) ตัดพลาสวูดขนาด 2×10 ซม. จำนวน 4 ชิ้น สำหรับใช้เป็นขาติ้งตั้งชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 และแขนดันฝากล่อง จากนั้นใช้ปืนยิงกาวติดกับแผ่นฐานดังรูปที่ 5.2 ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 9×10 ซม. สำหรับบังคับตัวตุ๊กตาให้ขึ้นลงในช่องและยังเพิ่มความแข็งแรงให้กับชุดแผ่นฐานด้วย แล้วใช้ปืนยิงกาวติดเข้ากับแผ่นฐานดังรูปที่ 5.3

(6) นำแผงวงจร ZX-POTH มาติดตั้งด้วยปืนยิงกาวแล้วใช้ท่อหดเป็นตัวเชื่อมระหว่างแกนสีขาวของชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 เข้ากับแกนของแผงวงจร ZX-POTH ดังรูปที่ 6.2 เพื่อให้ ZX-POTH เป็นตัวกำหนดองศาการหมุน

โดยก่อนหุ้มท่อหดให้หมุนแขนดันฝากล่องลงมาให้ระดับของปลายแขนต่ำกว่าแผ่นฐานดังรูปที่ 6.3 แล้วหมุนแกนของ ZX-POTH ตามเข็มนาฬิกาจนเกือบสุดแล้วจึงหุ้มท่อหดโดยใช้ความร้อนเป่า

(7) นำสายไฟเส้นเล็กมาบัดกรีเชื่อมกับขั้วของสวิตช์ RUN ของแผงวงจร i-BOX3S ดังรูปที่ 7

(8) นำแผงวงจร i-BOX3S , แผงวงจร ZX-SOUND และกะบะถ่าน AA 4 ก้อนพร้อมบรรจุแบตเตอรี่ติดตั้งกับชุดฐานดังรูปที่ 8 จากนั้นเชื่อมต่อสายของแผงวงจรและชุดเฟืองขับมอเตอร์เข้ากับแผงวงจร i-BOX3S ดังนี้
• ZX-SOUND ต่อเข้ากับช่อง SENSOR 0
• ZX-POTH ต่อเข้ากับช่อง SENSOR 2
• ชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 ต่อเข้ากับช่อง A ที่ขั้วสีดำ
• ชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO2 ต่อเข้ากับช่อง B ที่ขั้วสีดำ

(9) วางเครื่องมือการประกอบแล้วมาเริ่มเขียนโปรแกรมกันก่อน เพราะหากประกอบจนเสร็จแล้วค่อยมาเขียนทีหลังจะทำให้การปรับแต่งยุ่งยาก เริ่มจากหาค่าตำแหน่งเปิดปิดฝากล่องจาก ZX-POTH และค่าความดังเสียง จาก ZX-SOUND โดยเสียบสาย UCON-200 เปิดสวิตช์แผงวงจร i-BOX3S เปิดโปรแกรม Logo-Blocks ขึ้นมารับค่าจาก ZX-SOUND ด้วยคำสั่ง send ir แล้วเปลี่ยนบล็อกตัวเลขสีน้ำเงินเป็นบล็อกชื่อ sensor ดังรูปที่ 9.1 ดับเบิ้ลคลิกเพื่อเลือกตำแหน่งของจุดต่อตัวตรวจจับที่ต้องการรับค่า ดาวน์โหลดโค้ดนี้ลง i-BOX3S ไปที่เมนู Projects เลือก Cricket Monitor จะปรากฏหน้าต่างขึ้นมาดังรูปที่ 9.2 เมื่อกดสวิตช์ RUN ที่ i-BOX3S จะปรากฏตัวเลขค่าที่รับมาจากแผงวงจรที่เรากำหนดทันที

(10) เมื่อได้ค่าตัวเลขจากแผงวงจร ZX-SOUND และ ZX-POTH มาแล้วเราก็สามารถเขียนโปรแกรมอย่างง่ายๆ ได้ด้วยซอฟต์แวร์ Logo-Blocks แต่เพื่อให้การเขียนโปรแกรมของเราง่ายขึ้นจึงต้องสร้างโปรแกรมย่อยขึ้นมา จะเห็นว่ามีโปรแกรมย่อยอยู่ทั้งหมด 5 ส่วนได้แก่

(10.1) open ส่วนควบคุมการเปิดปิดฝากล่อง
เริ่มจากกำหนด Power ระดับ 3 จะได้ไม่หมุนเร็วเกินไป บังคับทิศทางด้วยบล็อกคำสั่ง thatway สั่งมอเตอร์ a หมุนจนกว่า ZX-POTH จะมีค่าน้อยกว่า 18 (ค่าที่ฝาเปิดจนเกือบสุด) เมื่อมีค่าน้อยกว่า 18 สั่งกลับทางหมุนด้วยบล็อก thisway เพื่อช่วยหยุดแบบทันทีหน่วงเวลา 0.02 วินาที จบด้วยคำสั่ง brake เพื่อยังคงค้างการทำงานไว้ฝากล่องจะได้ไม่ตกลงมา

(10.2) close ควบคุมการปิดฝากล่อง
ทำงานเหมือนกับ open แต่กลับทิศทางกัน และมอเตอร์หมุนจนกระทั่ง ZX-POTH มีค่ามากกว่า 280 ก็ให้หยุดการทำงาน แต่การหยุดจะใช้คำสั่ง off เพื่อประหยัดพลังงาน

(10.3) move-r และ move-l
ใช้ควบคุมชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO2 ทั้งสองชุดคำสั่งนี้ทำงานเหมือนกันแต่ต่างกันที่ทิศทางการหมุนเท่านั้น

(10.4) talk
ใช้สร้างเสียงตัวโน้ตแบบต่างๆ เปรียบเสมือนว่าเจ้าตุ๊กตาในกล่องกำลังโต้ตอบกับเราว่า อย่ามายุ่งนะ โดยในส่วนนี้เพิ่มตัวโน้ตได้ตามใจชอบ

เมื่อได้โปรแกรมย่อยครบทั้ง 5 ส่วนแล้ว ก็มาเขียนโปรแกรมหลักสำหรับการควบคุมทั้งระบบกันดังรูปที่ 10.5

การทำงานของโปรแกรมหลักเริ่มจากใช้คำสั่ง loop เพื่อวนรอบการทำงานทั้งหมด ใช้คำสั่ง if then else กำหนดเงื่อนไขหลักเป็น 2 กรณี คือ
(1) หาก ZX-SOUND มีค่ามากกว่า 40 (ภายนอกมีเสียงดังหรือไม่ปลอดภัย) ให้ทำงานตามเงื่อนไขทางซ้ายคือส่งเสียงร้องด้วยโปรแกรมย่อย talk แล้ววิ่งหนีด้วยโปรแกรมย่อย move-l และ move-r ตามลำดับ รอ 2 วินาทีค่อยไปตรวจสอบเงื่อนไขหลัก
(2) ZX-SOUND มีค่าไม่ถึง 40 เงื่อนไขเป็นเท็จ ให้ทำงานตามเงื่อนไขทางขวามือที่มีคำสั่ง if then สร้างเงื่อนไขอีกชั้นหนึ่งเอาไว้คือ หาก ZX-SOUND มีค่าเท่ากับ 1 ให้เรียกโปรแกรมย่อยชื่อ open เพื่อเปิดฝากล่องค้างไว้ 2 วินาที แล้วสั่งโปรแกรม close ทำงาน

สาเหตุที่ต้องมีการสร้างเงื่อนไขแบบค่าตายตัวเท่ากับ 1 เท่านั้น ก็เพราะว่าค่าที่ได้จาก ZX-SOUND มีความไวมาก และผันผวนพอสมควรจึงต้องกำหนดค่าไว้ที่เกือบต่ำสุดเพราะว่าต้องการให้เสียงภายนอกเงียบจริงๆ จึงค่อยสั่งให้เปิดฝา หากไม่กำหนดส่วนนี้ โอกาสที่โปรแกรมจะเข้าสู่เงื่อนไขแรกจะเกิดขึ้นน้อยมากและทำให้ฝาของกล่องเปิดปิดตลอดเวลา

เมื่อการตั้งค่าและปรับแต่งเรียบร้อยแล้วก็ทำการโปรแกรมลงใน i-BOX3S ได้เลย ต่อไปก็ลงมือประกอบร่างกันต่อ


 

(11) ยกฝากล่องขึ้นประมาณ 1 ซม. ใช้ดินสอขีดเส้นทำเครื่องหมายเอาไว้ ตัดเศษพลาสวูดขนาด 0.5×14 ซม. ใช้ปืนยิงกาวติดแท่งพลาสวูดเข้ากับด้านหลังกล่องดังรูปที่ 11.1 จากนั้นนำฝากล่องมาครอบแล้วใช้เทปใสแปะฝากล่องเข้ากับแท่งพลาสวูดดังรูปที่ 11.2

(12) ทำสวิตช์ RUN แบบง่ายๆ โดยเจาะรูกึ่งกลางของด้านหลังกล่องให้สายไฟเส้นเล็กที่ต่อพ่วงกับสวิตช์ RUN ของแผงวงจร i-BOX3S โผล่ออกมาได้ดังรูปที่ 12.1 แล้วยึดสายไฟด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 12.2 ใช้เทปโฟมสองหน้าอย่างหนาแปะขนาบสองข้างของสายไฟดังรูปที่ 12.3

(13) ตัดกระดาษแข็งสีอะไรก็ได้ตามต้องการให้มีขนาดกว้างและยาวกว่าเทปโฟมสองหน้าและสายไฟที่เตรียมไว้จากขั้นตอนที่แล้ว เตรียมกระดาษตะกั่วให้มีความกว้างประมาณ 1/3 ของกระดาษแข็งดังรูปที่ 13.1 แล้วแปะกระดาษตะกั่วเข้ากับกระดาษแข็งด้วยเทปกาวสองหน้าอย่างบางดังรูปที่ 13.2 เวลาใช้งานก็เพียงกดส่วนล่างของกระดาษแข็งที่ติดกระดาษตะกั่วเอาไว้ จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้

(14) ติดตั้งอุปกรณ์ทุกชิ้นลงในกล่องให้เรียบร้อยดังรูปที่ 14 ทดลองเปิดปิดฝากล่องเข้าออก ฝากล่องต้องเปิดปิดได้สะดวกไม่ติดขัดแม้แต่นิดเดียว ก็เป็นอันใช้ได้

(15) นำตุ๊กตากระดาษที่เตรียมไว้มาติดตั้ง ในที่นี้ผมใช้ตุ๊กตากระดาษ DARwin-OP ที่ทาง INEX และ TPE จัดทำขึ้นสำหรับแจกลูกค้า โดยใช้เทปใสแปะส่วนหัวของตุ๊กตาเข้ากับฝากล่องด้านในดังรูปที่ 15.1 เพียงเท่านี้ก็ได้ของขวัญสุดพิเศษที่ไม่มีขายที่ไหนหรือจะเอาไว้ให้เจ้าเหมียวที่บ้านเล่นก็ยัง

การใช้งาน
การใช้งานก็เพียงเปิดสวิตช์แล้ววางชุดแขนดันฝากล่องลงไปจากนั้นก็กดสวิตช์ RUN ด้านหลังปล่อยให้เจ้าตุ๊กตาตัวน้อยคอยแอบมองผู้คน แต่อย่าส่งเสียงดังนะเดี๋ยวจะวิ่งหนีเตลิดไปกันใหญ่

เอาล่ะครับคราวนี้ก็จะได้มีของขวัญน่ารักๆ เอาไว้สร้างความประหลาดใจให้เด็กๆ หรือคนพิเศษของคุณกันแล้ว ทั้งภูมิใจ และที่สำคัญไม่เหมือนใครแน่นอน ลองสร้างตามกันดูนะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Exit mobile version