Categories
Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Glow Buddha Shelf

ออกแบบหิ้งพระสไตล์โมเดิร์นที่มีไฟส่องนำทางในยามค่ำคืน แบบเดินผ่านปุ๊บ ติดปั๊บ กับวงจรง่ายๆ ไม่ต้องใช้ไมโครฯ
 
ปัญหาอย่างหนึ่งในยามค่ำคืนที่หลายคนต้องพบเจอก็คือ ความมืด แน่นอนว่าทำให้คุณมองทางและข้าวของที่วางอยู่บนพื้นไม่เห็น ตอนแรกตั้งใจจะทำไฟส่องทางเดินธรรมดาๆ แต่พอชายตาเห็นพระพุทธรูปในบ้านที่วางไว้บนหลังตู้หนังสือที่ดูไม่ค่อยดีเอาเสียเลย งานนี้เลยต้องมิกซ์แอนด์แมทช์กันหน่อย จึงนำไอเดียไฟส่องทางมาผสานกับงานออกแบบหิ้งพระใหม่ ที่มีระบบไฟเปิดปิดอัตโนมัติคอยให้แสงสว่างเราได้ไปในตัว

โดยรูปแบบหิ้งพระที่เราจะสร้างกันก็จะมีลักษณะดังรูปที่ 1 ใช้แผ่น
พลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น รองรับพระพุทธรูปที่มีหน้าตักกว้าง 17 ซม. ได้พอดี แต่แนวคิดนี้คงไม่เหมาะกับบ้านที่มีห้องพระแบบเป็นกิจลักษณะนะครับ แต่เหมาะสำหรับบ้านเล็กๆ หรือห้องพักคอนโดฯ ที่มีพื้นที่จำกัด เรียกว่า รุกยืนปุ๊บ ไฟติดปั๊บ


รูปที่ 1 หิ้งพระที่ต้องการสร้าง

การทำงานของวงจร
จากวงจรรูปที่ 2 เริ่มจากเมื่อ ZX-PIR V2.0 ตรวจจับคนเดินผ่านได้ จะส่งกระแสไฟฟ้าไปจ่ายให้กับทรานซิสเตอร์ Q1 ส่งผลให้รีเลย์ต่อหน้าสัมผัสที่ตำแหน่ง C (commond) และ NC (normal close) เข้าด้วยกัน ทำให้ LED ทั้งชุดส่องพระและชุดส่องแจกันหลอดแก้วติดสว่าง โดยจะติดสว่างไปจนกว่าจะครบการหน่วงเวลาที่ปรับไว้ของ ZX-PIR V2.0 และเมื่อครบเวลาการหน่วงหาก ZX-PIR V2.0 ไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ ZX-PIR V2.0 ก็จะหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ Q1 รีเลย์จะหยุดการต่อหน้าสัมผัส C และ NC ทำให้ LED ทั้งสองชุดดับ

สร้างแผงวงจรควบคุมระบบไฟส่องสว่าง
เริ่มด้วยการเสียบอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์รุ่น uPCB02C ในตำแหน่งตามรูปที่ 3 จุดที่เป็นวงกลมสีแดงคือจุดติดตั้งขาอุปกรณ์ โดยให้ทำการคว้านรูติดตั้ง รีเลย์ และ IC1 ด้วยดอกสว่านขนาด 1 มม. หากไม่มีดอกสว่านอาจใช้ตะปูกดลงไปทั้งด้านบนและด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์จนสามารถเสียบอุปกรณ์ได้ ทำการบัดกรีแล้วเชื่อมต่อจุดเชื่อมต่อต่างๆ บนแผ่นวงจรพิมพ์ให้ครบ จากนั้นให้จัดเตรียมและเชื่อมต่อสายอุปกรณ์ต่อพ่วงต่อไปนี้
สายแจ๊กอะแดปเตอร์ตัวเมีย ใช้สายไฟ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายต่อ ZX-PIR V2.0 ใช้สาย IDC1MF จำนวน 3 เส้น
สายไฟเลี้ยง LED ส่องพระ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายไฟเลี้ยง LED ส่องหลอดแก้ว 2 เส้น ยาวเส้นละ 30 ซม. (2 ชุด)
สุดท้ายเชื่อมต่อจุดบัดกรีของอุปกรณ์ด้านล่างเข้าด้วยกันดังรูปที่ 4

รูปที่ 2 วงจรของหิ้งพระเรืองแสง

 

รูปที่ 3 การจัดวางอุปกรณ์ด้านบนและการเชื่อมต่อด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์

รูปที่ 4 แผ่นวงจรพิมพ์ที่ติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว

ลงมือสร้างหิ้งพระ
เริ่มจากนำแผ่นพลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น มาตัดให้ได้ชิ้นส่วนตามแบบ (ดาวน์โหลดแบบ) ด้วยคัตเตอร์ให้ครบทุกชิ้น จากนั้นลงมือประกอบตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย
(1) นำพลาสวูด L1 และ R1 ประกบกับ T1 ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำ F1 และ B1 ประกบเข้าไปจะได้ส่วนของฐานบนสำหรับวางองค์พระดังรูปที่ 5.3

(2) นำพลาสวูดแผ่น C1 และ C2 มาตัดทำมุม 45 องศาด้วยคัตเตอร์ ดังรูปที่ 6.2 จากนั้นใช้ไดร์เป่าลมร้อนดัดให้โค้งเป็นซุ้ม แล้วติดด้านที่ตัด 45 องศาเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 6.3

คลิกเพื่อชมวิดีโอตัวอย่างการดัดพลาสวูด

(3) นำซุ้มที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 มาติดบนฐานพระดังรูปที่ 7.1 และ 7.2

(4) นำ L2 และ R2 ประกบเข้ากับแผ่น T2 เพื่อสร้างเป็นฐานด้านล่างของหิ้งดังรูปที่ 8.1

(5) เจาะช่องแจกันหลอดแก้วบนแผ่น T2 โดยการนำหลอดแก้วมาทาบและเจาะเป็นช่องด้วยวงเวียนคัตเตอร์ โดยทำทั้งสองข้างของฐานหิ้งดังรูปที่ 9.1 และ 9.2

(6) จับฐานหิ้งหงายขึ้น ติดตั้งแผ่น i1 และ i2 และแผ่น B2 เข้ากับแผ่น T2 ดังรูปที่ 10

(7) บัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 30 ซม. เข้ากับ LED 8 มม. สีขาว ทั้งสองดวงดังรูปที่ 11.1 จากนั้นใช้สว่านเจาะรูที่แผ่น T2 ขนาด 2 มม. แล้วสอดสายไฟออกไปอีกด้าน

(8) นำเศษพลาสวูดทรงกลมที่ถูกตัดจากขั้นตอนที่ 5 มาเจาะรูให้พอดีกับ LED 8 มม. จากนั้นติดตั้งเข้ากับแผ่น B2 โดยให้ LED หงายขึ้นสำหรับส่องหลอดแก้วดังรูปที่ 12.3 ทำเหมือนกันทั้งสองข้างดังรูปที่ 12.3 ยึดพลาสวูดเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน

(9) ทำไฟส่ององค์พระพุทธรูป โดยบัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 10 ซม. เข้ากับ LED แถบอ่อนดังรูปที่ 13.1 ลอกกาวที่แถบ LED ออก แล้วติดที่ฐานของซุ้มดังรูปที่ 13.2 เจาะรู 2 มม. สอดสายไฟเข้าไปด้านในดังรูปที่ 13.3

(10) เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.3 ซม. ที่ด้านหน้าฐานซุ้มสำหรับติดตั้ง ZX-PIR V2.0 จากนั้นเจาะรูติดตั้งแจ็กอะแดปเตอร์ไว้ด้านหลัง นำชุดแผงวงจรตรวจจับลงติดตั้งในกล่อง สำหรับแผงวงจรให้ใช้สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็กขันยึดรูของแผ่นวงจรพิมพ์เข้ากับพลาสวูด ส่วน ZX-PIR V2.0 ยึดด้วยปืนยิงกาว แล้วเชื่อมต่อสายไฟของชุด LED ส่ององค์พระ ส่วนไฟส่องหลอดแก้วให้ต่อตัวต้านทาน 450 โอห์ม คั่นไว้ดวงละ 1 ตัว การต่อดูจากรูปวงที่ 2 ประกอบ เมื่อต่อเสร็จแล้วใช้เทปพันสายไฟพันหุ้มขาและตัวต้านทานให้เรียบร้อยดังรูปที่ 14.5

(11) สุดท้ายประกอบชุดลิ้นชัก เริ่มจากนำแผ่นฝาข้างลิ้นชัก 2 ชิ้น แผ่นฝาท้าย และแผ่นพื้นลิ้นชัก มาประกอบเข้ากับแผ่น F2 ดังรูปที่ 15.1 จะได้ลิ้นชักสำหรับเก็บหนังสือพระธรรม หรือเก็บข้าวของอื่นๆ ดังรูปที่ 15.2

(12) นำแจกันหลอดแก้วเสียบลงในรูทั้งสองด้าน แล้วทำการทดสอบ เริ่มจากเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 9 หรือ 12 V แต่ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ 9 V จะได้แสงสว่างกำลังดี ลองใช้มือเคลื่อนผ่านหน้าหิ้งไฟจะต้องติด และจะดับลงตามการปรับค่าการหน่วงเวลาที่ตัว ZX-PIR V2.0 ก็เป็นอันเสร็จจากนั้นก็นำองค์พระพุทธรูปมาวางได้เลย

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/4 วัตต์
R1 : 1 kΩ
R2.R3 : 450 Ω 2 ตัว
ตัวเก็บประจุอิเล็กทรอไลต์
C1 : 47 µF 25 V
C2 : 220 µF 25 V
อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 : LM2940
Q1 : BC337
D1,D2 : 1N4001 2 ตัว
LED สีขาวแบบแถบอ่อน 2 ชุด (3 ดวง/ชุด)
LED สีขาว 8 มม. 2 ดวง
อื่นๆ
โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR V2.0
รีเลย์ 5 โวลต์
แจ็กอะแดปเตอร์แบบยึดแท่น
สาย IDC1MF 3 เส้น
หลอดแก้วหรือหลอดทดลอง 2 หลอด
พลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. 7 แผ่น
แผ่นวงจรพิมพ์ uPCB02C
เครื่องมือ
กาวร้อน
มีดคัตเตอร์
ปืนยิงกาว
หัวแร้งและตะกั่วบัดกรี
หมายเหตุ : ZX-PIR V2.0, แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ uPCB02C และพลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. มีจำหน่ายที่ www.inex.co.th สอบถามเพิ่มเติมโทร 0-2747-7001-4

แล้วเราก็ได้ของแต่งบ้านชิ้นใหม่ ขั้นตอนอาจจะดูยุ่งยากไปหน่อยแต่ถ้าลงมือปฏิบัติแล้วจะรู้ว่าง่ายมากๆ

อย่างไรก็ตามการบูชาพระพุทธรูปนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อการบนบานสานกล่าวนะครับ เรามีติดบ้านไว้เพื่อระลึกถึงพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้เรานำมาปฏิบัติ เพื่อรู้ตามเห็นตามซึ่งอริยสัจ 4 ยังประโยชน์ให้ถึงซึ่งวิมุตติ ขอให้เจริญในธรรมและสนุกกับการประดิษฐ์ครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
รีวิว

Plastwood วัสดุสำหรับงานต้นแบบ

พลาสวูดคืออะไร? พลาสวูดคือ​แผ่นชีท​ชนิด​แข็งที่​ผลิตขึ้น​จาก PVC (Poly Vinyl Chloride) โดย​มี​วัตถุ​ประสงค์​เพื่อ​นำมา​ทดแทน​การ​ใช้​ไม้​ธรรมชาติ แผ่นพ​ลาส​วูดมี​ผู้ผลิต​หลาย​ราย ​แต่โดย​ปกติ​จะ​มี​ขนาด​ความ​กว้าง​มาตรฐาน​ที่ 120 เซนติเมตร

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Simple Tablet Stand

ทุกวันนี้ใครๆ ก็มีแท็บเล็ต สมาร์ตโฟน หรืออุปกรณ์อัจฉริยะพกพาอื่นๆ และหลายท่านก็ใช้มันเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิตอลบ้าง เครื่องเล่นไฟล์ภาพยนตร์บ้าง เพื่อสร้างความบันเทิงในครอบครัว แต่ด้วยความหลากหลายของยี่ห้อ ขนาด รูปทรง โดยเฉพาะทางผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

ทำให้ซองที่ผลิตออกมา ยากที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ครบถ้วน เช่น ช่องหูฟังไม่ตรง บ้างก็ช่องลำโพงไม่ตรง ทำให้เสียงเบาเกินไป นี่จึงเป็นที่มาของขาตั้งแท็ปเล็ตราคาประหยัดสุดคุ้มตัวนี้ หากสนใจก็มาเริ่มประดิษฐ์กันเลย

(1) เตรียมพลาสวูดขนาด 2.5 x 12 ซม. จำนวน 2 ชิ้น ดังรูป

(2) บากร่องของพลาสวูดทั้งสองชิ้นโดยวัดให้ได้ขนาดดังรูป

(3) เมื่อบากร่องเสร็จแล้วนำมาเกาะกันไว้ดังรูป

(4) นำแท็บเล็ตมาวางทาบด้านบนเพื่อหาตำแหน่ง ความกว้างของร่องและมุมเอียงที่เหมาะสม แล้วใช้ดินสอวาดเป็นแนวตามขนาดและความเอียงที่ต้องการดังรูป

(5) ใช้คัตเตอร์บากพลาสวูดให้เป็นร่อง โดยตั้งใบมีดให้ตรงแล้วค่อยๆ กดลงไปจนได้ระดับที่วาดไว้ดังรูป

(6) นำไปทาบกับพลาสวูดอีกชิ้นหนึ่งแล้วบากเป็นร่องเช่นเดียวกัน จะได้พลาสวูด 2 ชิ้นที่บากเป็นร่องชิ้นละ 2 ร่องดังรูป

(7) ขั้นตอนสุดท้ายเพียงนำพลาสวูดทั้ง 2 ชิ้นมาวางไขว้กันให้แนวของร่องที่เราบากไว้ในขั้นตอนที่แล้วหันไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรองรับตัวอุปกรณ์ดังรูป

เพียงแค่นี้ก็ได้แท่นวางแท็บเล็ตอย่างง่ายๆ จากวัสดุที่เราคุ้ยเคย สามารถถอดแยกชิ้นเพื่อพกพาใส่กระเป๋าเสื้อไปกับเราได้ทุกที่

ผ่านไปอีกหนึ่งไอเดียง่ายๆ ที่นำมาแนะนำ โอกาสหน้าจะมีไอเดียการประดิษฐ์อะไรอีกก็อย่าลืมติดตามให้ได้นะครับ สำหรับตอนนี้ขอลาไปก่อน

หมายเหตุ : แผ่นพลาสวูดขนาด A4 มีจำหน่ายที่ www.inex.co.th 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Pets คุณทำเองได้ (DIY)

ขั้นตอนการสร้างห้องน้ำแมว

มีบรรดาคนรักแมว ถามกันเข้ามามากเหลือเกินเกี่ยวกับวิธีการสร้างห้องน้ำแมวด้วยตัวเอง ตอนนี้ก็จัดไปเลยครับ ซึ่งอันที่จริงแล้วห้องน้ำแมวนี้เคยทำไว้ตั้งนานแล้วและตีพิมพ์ลงในนิตยสาร The Prototype Electronics ฉบับที่ 15

 แต่จะมีส่วนวงจรอิเล็กทรอนกิส์เข้าไปเกี่ยวข้อง 
ดูแล้วค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้นผมจึงตัดมาแนะนำเฉพาะส่วนของการทำโครงสร้างห้องน้ำแมวรับรองว่าง่ายและสามารถวางหรือติดตั้งไว้ภาพในบ้านได้อย่างลงตัว

อุปกรณ์การสร้าง
1. ถังพลาสติกเอนกประสงค์ทรงเหลี่ยม

2. พลาสวูดหนา 5 มม. ใช้ทำหลังคา ขนาดกว้างยาวบอกไม่ได้ขึ้นกับขนาดถังพลาสติก
3. กาวร้อน หรือกาวซูเปอร์กลู ใช้ยึดพลาสวูด
4. คัตเตอร์+แผ่นรองตัด
5. มือจับหรือห่วงสำหรับดึงกะบะทรายออกมาเก็บอึ

ขั้นตอนการสร้าง
สำหรับขั้นตอนการทำ อาจมีหลายขั้นตอนหน่อยนะครับ ขอให้ใจเย็นๆ น้องเหมียวเป็นกำลังใจให้อยู่นะ โดยผมได้เปลี่ยนจากกะบะทรายธรรมดามาใช้เป็นกล่องเอนกประสงค์ที่ซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าราคาไม่เกินใบละ 150 บาท เพราะมันทั้งใหญ่และลึกเผื่อเจ้าเหมียวตอนโตได้

(1) จากนั้นใช้แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. กว้าง 60 ยาว 120 ซม. มาพับครึ่งเป็นหลังคาด้วยปืนเป่าลมร้อนก็จะได้หลังคาดังรูปที่ 1

(2) นำหลังคาที่ได้มาทาบบนแผ่นพลาสวูดเพื่อวาดแบบจั่วให้พอดีกับแนวโค้งจากการดัด ให้ทำทั้ง 2 ด้าน จะได้รูปจั่วจำนวน 2 แผ่นดังรูปที่ 1 แล้วตัดออกมาด้วยคัตเตอร์แล้วประกอบเข้ากับหลังคาด้วยกาวร้อนหรือกาวตราช้างดังรูปที่ 2

(3) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาดกว้างเท่ากับ 2 ใน 3 ของกล่องพลาสติกเอนกประสงค์ส่วนความสูงให้เท่ากับความสูงของกล่องพลาสติก เพื่อกั้นเป็นห้องเล็กๆ ให้เจ้าเหมียวเดินเข้าออกสลับไปมา เพื่อกันเจ้าเหมียวไม่ให้กระโจนออกมาทันทีหลังจากเสร็จกิจเพราะทรายที่ติดเท้าออกมาจะได้หล่นอยู่ในกล่องดังรูปที่ 3

(4) ใช้คัตเตอร์เจาะกล่องพลาสติกเป็นทางเข้าด้านขวาให้กว้างประมาณ 1 ใน 3 ของกล่องแล้วใช้ตะไบลบคมของเศษพลาสติกออกให้เรียบร้อย มิฉะนั้นอาจทำให้เจ้าเหมียวได้รับบาดเจ็บได้
 
(5) ตัดแผ่นพลาสวูดทำกะบะทรายขนาดสูง 15 ซม. ส่วนความกว้างและยาวเท่ากับช่องด้านในของกล่องพลาสติก จากนั้นนำมาประกอบเป็นกะบะสำหรับใส่ทราย โดยเสริมความแข็งแรงด้วยเหล็กฉากดังรูปที่ 4 เพราะเราต้องดึงเข้าออกมาทำความสะอาดทุกวัน จากนั้นขันตะขอเกลียวหรือมือจับเข้าไป เพื่อใช้เป็นตัวจับดึงกะบะทรายออกมาทำความสะอาด สำหรับขั้นตอนนี้อาจไปหาซื้อกะบะพลาสติกสี่เหลี่ยมที่มีขายตามห้างสรรพสินค้ามาวางเลยก็ได้แต่ช่องอาจไม่พอดีกับถังพลาสติก
(6) ใช้คัตเตอร์เจาะกล่องพลาสติกเป็นช่องสี่เหลี่ยมด้านข้างสำหรับดึงกะบะทรายเข้าออกให้ช่องพอดีกับขนาดของกะบะทรายที่เตรียมไว้ในขั้นตอนที่แล้ว โดยแนวการเจาะให้เจาะเสมอก้นกล่องพลาสติก เพื่อความสะดวกในการดึงกะบะทรายออกมาทำความสะอาดดังรูปที่ 5 อาจติดล้อหรือรางเลื่อนเข้าไปด้วยก็ได้
เอาล่ะครับ การสร้างก็เรียบร้อยแล้วให้เจ้าเหมียวมาทดสอบได้เลย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

ทำฝาท่อน้ำทิ้งด้วยพลาสวูด

เชื่อว่าผู้อ่านที่มีบ้านเป็นทาวน์เฮ้าส์หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ในการต่อเติมพื้นที่หลังบ้านให้กลายเป็นห้องครัวเหมือนกับผม ปัญหาก็คือท่อน้ำหลังบ้านที่ไม่เพียงแต่ส่งกลิ่นเหม็นเท่านั้น

วันดีคืนดีก็มีแขกไม่ได้รับเชิญเลื้อยขึ้นมานอนอยู่ในครัวที่เราต่อเติมยังกับเป็นบ้านของตัวเอง



ลองดูตัวอย่างจากครัวที่ต่อเติมด้านหลังของบ้านผมเป็นตัวอย่างนะครับช่าง รับเหมาเดินท่อน้ำทิ้งจากรางน้ำฝนบนหลังคาเข้ามาในตัวบ้าน แทนที่จะฝังไว้ใต้พื้นแต่กลับปล่อยทิ้งไว้น่าตาเฉยโดยมีข้ออ้างสารพัดที่จะอธิบายกับเรา ตอนแรกก็ไม่ได้ติดใจอะไร พออยู่ๆไปฝนตกสิครับ สารพัดสิ่งไม่พึงประสงค์จากหลังคาก็ไหลเข้ามาในครัวเลอะเทอะไปหมด แถมบางวันเข้าบ้านมาต้องตกใจกับเจ้างูน้อยที่นอนอยู่ในครัว ผมเข้าใจว่ามันคงขึ้นมาจากท่อระบายน้ำที่ผมอยากจะปิดรูให้มิดชิด แต่ก็ปิดไม่ได้เพราะกลัวฝนตกแล้วน้ำจะไม่ระบายลงท่อ อ้อ อีกประการหนึ่งคือตอนฝนตกยังมีกลิ่นเหม็นขึ้นมาจากท่อระบายน้ำอีกต่างหาก แล้วจะทำยังไงดีล่ะครับงานนี้ หันไปหันมาเจอแผ่นพลาสวูด 5มม. ที่เตรียมไว้ทำโครงงานลงนิตยสาร the prototype electronics จึงปิ๊งไอเดียเลยครับ ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าพลาสวูดเป็นวัสดุที่สามารถตัด เจาะ เซาะ ง่ายโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด แถมยังโดนน้ำได้ไม่ผุไม่เป็นเชื้อรา ผมจึงนำมันมาทำเป็นฝาปิดท่อน้ำแล้วก็จัดการฝังท่อน้ำให้มันมุดหัวลงไปในฝาท่อพลาสวูดซะเลย

แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนครับ ว่าผมทำไว้นานแล้ว แต่พอดีจะเจาะรูทำเป็นฝาเลื่อนเปิดปิดสำหรับเวลาล้างหรือเทน้ำทิ้งจะได้สะดวก เพราะเมื่อก่อนผมใช้วิธีดึงท่อออกมาแล้วค่อยเทน้ำทิ้งออกจึงไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ไหนๆ จะทำแล้วก็เลยมาบอกต่อให้ท่านนักอ่านและรักการประดิษฐ์ได้ชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันไว้ครับ โดยจะขอเริ่มตั้งแต่การทำท่อน้ำเลยก็แล้วกัน

ขั้นตอนการทำเป็นฝาท่อน้ำทิ้ง
1.เริ่มจากนำแผ่นพลาสวูดมาวางทาบฝาท่อน้ำทิ้งเดิมแล้วตัดให้เท่ากับฝาท่อเดิมทุกประการ แล้วเจาะรูสำหรับต่อท่อน้ำทิ้งที่ลงมาจากหลังคาห้องครัวด้วยวงเวียนคัตเตอร์ แล้วลองสอดท่อน้ำทิ้งลงไปให้พอดีนะครับอย่างกว้างกว่าท่อมากนักเพราะจะทำให้ ยุงและแมลงต่างๆ ขึ้นมาจากท่อได้

2. ทำช่องสำหรับระบายน้ำยามที่ต้องการล้างทำความสะอาดครัว โดยการทำเป็นบานเลื่อนที่สามารถเปิดปิดได้ เริ่มจากการเจาะช่องเป็นวงกลมด้วยวงเวียนคัตเตอร์ขนาดจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็ตามใจชอบเลยครับ แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ควรมีเส้นผ้านศูนย์กลางกว้างเกิน 4 นิ้ว เพราะจะทำให้ความแข็งแรงของแผ่นพลาสวูดลดลง

3. เริ่มการทำบานเลื่อนโดยตัดพลาสวูดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้กว้างกว่ารูวงกลม ที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่2 ข้างละประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นทำบ่ารับบานเลื่อนโดยนตัดพลาสวูดเป็นแผ่นเล็กๆ สำหรับเป็นตัวบังคับบานเลื่อน และสำหรับเป็นบ่ากันไม่ให้หลาสวูดหลุดออกมา 2 ชิ้น

4. เมื่อได้ชิ้นส่วนตามต้องการแล้วก็มาเริ่มประกอบกันเลยครับ เริ่มจากนำแผ่นบานเลื่อนมาติดตั้งปุ่มสำหรับเป็นมือจับ ในที่นี้ผมใช้หมุดสแตนเลสซึ่งมีจำหน่ายที่โฮมโปรทุกสาขาครับ โดยเลื่อนแผ่นบานเลื่อนมายังตำแหน่งที่เหมาะสมและขันสกรูผ่านฐานรองลงไป สุดท้ายตามด้วยหัวหมุดสแตนเลสหมุนปิดเข้าไป ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้วครับดังรูปด้านล่าง

จากนั้นนำแผ่นบานเลื่อนมาทาบกับรูที่เจาะไว้ แล้วนำชิ้นที่ใช้รักษาระยะและบังคับบานเลื่อนมาจัดวางให้มีลักษณะดังรูปด้านล่างนี้

5. ยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้สกรูเกลียวปล่อยขันยึดอีกครั้งเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เนื่องจากชิ้นส่วนนี้อาจต้องโดนน้ำอยู่เป็นประจำหากยึดด้วยกาวร้อนเพียง อย่างเดียวอาจทำให้กาวเสื่อมสภาพได้เร็วและหลุดออกมาได้

6. ถึงตอนนี้เราก็จะได้ช่องที่เป็นบานเลื่อนที่สามารถเลื่อนเปิดและปิดได้สะดวกสบายคุณแม่บ้านไปเลย

หวังว่าเทคนิคเล็กๆ นี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เล็กๆ แต่ใหญ่สำหรับบางคนโดยเฉพาะผมได้นะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Fixit (ซ่อมได้) Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

3 ขั้นตอนการดัดขึ้นรูปพลาสวูดด้วยความร้อน

จากที่ได้แนะนำกันไปในบทความ “พลาสวูดวัสดุสำหรับงานต้นแบบ” ว่ามันคือวัสดุสำหรับการสร้างงานต้นแบบที่ใช้ทำโครงสร้างได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณสมบัติเป็น PVC (Poly Vinyl Chloride) จึงทำให้มันสามารถดัดขึ้นรูปได้

ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาสาธิตการดัดพลาสวูด ด้วยไดร์เป่าลมร้อนกันครับ โดยวิธีการนี้ผมเคยใช้สร้างต้นแบบมาหลายครั้งแล้ว นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้รูปทรงของชิ้นงานที่โค้งมนตามความต้องการ

สำหรับพลาสวูดที่จะนำมาดัดนั้น ผมใช้พลาสวูดหนา 5 มม. เพราะต้นแบบที่ผมทำไม่ว่าจะเป็นหลังคาของห้องน้ำแมว, กล่องโครงสร้างของวาล์วเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ, แจกัน ฯลฯ ล้วนเป็นต้นแบบที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงสามารถใช้พลาสวูดที่มีความหนาเพียง 5 มม. ได้ เรามาดูวิธีกันเลยครับ

วิธีการดัดพลาสวูด

1. ใช้ไดร์เป่าลมร้อน(ไม่ใช่ไดร์เป่าผม) ไล่เป่าให้ทั่วบริเวณที่เราต้องการดัดดังรูปที่ 1 จนพลาสวูดเริ่มอ่อนตัว

2. จากนั้นก็เริ่มพับพลาสวูดด้วยความรวดเร็วให้ได้องศาตามต้องการ โดยอาจใช้ท่อน้ำเป็นตัวช่วยประคอง ไม่ให้พลาสวูดบิดตัวดังรูปที่ 2

3. ประคองพลาสวูดเอาไว้จนกว่าพลาสวูดจะเย็นตัว เพียงแค่นี้คุณก็จะได้ชิ้นงานพับขึ้นรูปตามต้องการแล้วครับ

นี่ก็เป็นอีกเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะมีมาเล่าให้อ่านกันเป็นประจำกับ www.inventor.in.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Exit mobile version