MSC จัดงานสัมมนา The Power of Data ตอบรับยุคของการนำข้อมูลทำตลาดเชิงรุกสร้างการเติบโตให้องค์กร

MSC จัดงานสัมมนา The Power of Data ตอบรับยุคของการนำข้อมูลทำตลาดเชิงรุกสร้างการเติบโตให้องค์กร

เมโทรซิสเต็มส์ฯ ผู้ให้บริการโซลูชั่นไอที ที่ดำเนินการมากว่า 35 ปี จัดงานสัมมนาประจำปี The Power of Data อัพเดตความรู้ให้กับองค์กรในการนำข้อมูลสร้างการเติบโต พร้อมกันนี้ได้เปิดตัว SuperApp ซึ่งพัฒนาโดยทีมงานเมโทรซิสเต็มส์เอง หลังชิมลางใช้งานกับฝ่ายขายที่มีกว่า 100 คน ช่วยเพิ่มยอดขาย

นายอรุณ ต่อเอกบัณฑิต กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์โซลูชั่น บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “The Power of Data” ว่า “ข้อมูลที่มีการจัดเก็บ และนำมาใช้อย่างถูกต้อง จะมีค่ามากกว่าน้ำมัน บริษัทเทคคอมพานีอย่างเช่น เฟซบุ๊ก และอเมซอน เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามาก เพราะบริษัทใช้บิ๊กดาต้าในการทำธุรกิจ” ดังนั้นแล้ว หากองค์กรต่างๆ สามารถนำฐานข้อมูลลูกค้าที่เก็บมาอย่างยาวนาน นำมาพัฒนาต่อยอดรวมถึงทำ Business Transformation เป็นความท้าทายอันดับต้นๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร และวันนี้เมโทรฯ พร้อมเปิดตัว SuperApp ERP และโซลูชั่นทางธุรกิจที่ครอบคลุมการจัดการในหลายมิติ เพื่อสร้างยอดขายให้กับลูกค้า โดยเป็นโซลูชั่นที่ช่วยเตรียมความพร้อมของข้อมูลเชิงลึก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนองค์กร

นายธีรภพ ลิ้มตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์โซลูชั่น เมโทรซิสเต็มส์ฯ กล่าวว่า “สถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยที่เร่งให้องค์กรธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงโดยใช้ Innovative Digital Model เข้ามาช่วย เพื่อชนะใจลูกค้า และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ด้วยประสบการณ์ของ เมโทรซิสเต็มส์ฯ จึงได้พัฒนา SuperApp ERP เพื่อตอบรับกับการทำตลาดในยุคดิจิทัลที่เป็นการทำตลาดเชิงรุก” SuperApp ERP ของเมโทรซิสเต็มส์ฯ มีจุดเด่นคือ ความยืดหยุ่นของระบบ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ทีมงานเมโทรซิสเต็มส์ฯ พัฒนาขึ้นมาเอง สามารถปรับระบบได้ตามความต้องการทางธุรกิจ แพลตฟอร์ม SuperApp ERP ประกอบด้วยระบบ RPA (Robotic Process Automation), CRM ระบบบริการจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า, Smart Messaging, Mobile App, e-Tax, และ Business Intelligence ทั้งนี้ ระบบ CRM หรือระบบบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้าแบบใหม่เน้นทำงานในเชิงรุก โดยระบบสามารถให้คำแนะนำกับทีมเซลล์ได้ว่าควรโฟกัสที่งานใด และติดตามลูกค้ารายใดเพื่อให้ยอดขายบรรลุเป้าหมาย รวมถึงสามารถเชื่อมโยงกับ Social Chatroom ในการดูประวัติของลูกค้า ว่าลูกค้าเป็นใคร มีประวัติการสั่งซื้ออย่างไรบ้าง

:บริหารจัดการดาต้าเพื่อสร้างการเติบโตให้องค์กร:

นายมีลาภ โสขุมา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์โซลูชั่น เมโทรซิสเต็มส์ฯ กล่าวว่า ในยุคของบิ๊กดาต้า และเอไอ องค์กรจำเป็นต้องสร้างมันสมอง และองค์ความรู้ให้อยู่ในระบบ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งก็คือการทำ Advance Analytics หรือการทำวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเพื่อให้องค์กรเข้าใจ และรู้จักลูกค้ามากยิ่งขึ้น การแข่งขันในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ในการสร้าง Personalized หรือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการที่ลูกค้าต้องการได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา
การจะทำวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงได้นั้น จำเป็นต้องทำดาต้าแวร์เฮ้าส์แบบรวมศูนย์ ซึ่งองค์กรสามารถพัฒนาระบบดาต้าแวร์เฮ้าส์ในระดับ Self Service Analytics คือ พนักงานฝ่ายอื่นๆ ในองค์กรสามารถดึงข้อมูลมาใช้ในส่วนงานของตนได้เอง หรือถ้าองค์กรเก็บข้อมูลในหลากหลายมิติมากขึ้น และมีข้อมูลมากพอ สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้ (Diversify) ตัวอย่างเช่น ธนาคารที่มีการเก็บข้อมูลทั้งฝั่งผู้บริโภคและฝั่งผู้ค้า ทำให้ธนาคารสร้างธุรกิจอื่นๆ ตามมา เช่น ขายประกัน หรือจะได้เห็นองค์กรต่างๆ ขยายไลน์ธุรกิจไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจดั้งเดิมหรือธุรกิจหลักขององค์กรอีกต่อไป

:เตรียมพร้อมระบบไอทีรับ PDPA:
นายวิทวัช จันทร์คู่ ผู้จัดการฝ่ายที่ปรึกษาด้านเทคนิค เมโทรซิสเต็มส์ฯ กล่าวว่า ฝ่ายไอทีต้องเตรียมระบบไอทีให้พร้อม เพื่อให้ตอบรับกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) โดยต้องบริหารจัดการข้อมูลทั้งในส่วนของการเก็บข้อมูล การใช้ข้อมูล และการเปิดเผยข้อมูล

ในการเตรียมระบบข้อมูลมี 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1) ระบบการค้นหาข้อมูล (Discover) : เริ่มต้นจากการแยกข้อมูลว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลสำคัญ และจัดเก็บอยู่ส่วนใด และแบ่งประเภท ข้อมูลใด คือ ข้อมูลส่วนบุคคลธรรมดา หรือเป็นข้อมูลสำคัญต้องมีคำอธิบายอย่างชัดเจน
2) ระบบการจัดเก็บข้อมูล (Manage) จะนำนโยบายข้อมูลมาใช้ให้ตรงกับชุดฐานข้อมูลใด มีการนำข้อมูลไปใช้อย่างไรบ้าง ในแต่ละขั้นตอนเก็บข้อมูล มีผลกระทบต่อส่วนงานใดบ้าง หรือหากผู้ใช้ขอดูข้อมูล ฝ่ายไอทีต้องเตรียมระบบเพื่อช่วยตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้งาน
3) การปกป้องข้อมูล (Protect): เริ่มต้นจากคัดเลือกระบบความปลอดภัย รวมถึงการให้สิทธิเข้าถึงข้อมูลของคนในองค์กร จากนั้นออกแบบระบบไอที และพัฒนาเรื่องผลกระทบของความเป็นส่วนตัวของข้อมูลแต่ละชุด
4) การทดสอบระบบ (Detect Response) ว่ามีช่องโหว่จุดใดบ้าง และทำการแก้ไข
ความท้าทายในยุคของบิ๊กดาต้า คือ การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการปกป้องข้อมูลเพิ่มขึ้นเพราะข้อมูลมากขึ้น ช่องโหว่ในระบบมีมากขึ้นต้องคอยติดตามปกป้องข้อมูลให้ทันกับสถานการณ์ รวมถึงความท้าท้ายอื่นๆ คือ อุปกรณ์ IoT จำนวนมากที่มีแอปพลิเคชันใช้งานในการเชื่อมต่อเข้าระบบ และสุดท้ายคือความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human Error) เป็นความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเผชิญ ความท้าทายเหล่านี้ เมโทรซิสเต็มส์ฯ มีบริการที่มาช่วย คือ MICSC (Metro Intelligence Cyber Security Center) เป็นศูนย์บริการด้านระบบรักษาความปลอดภัยจากเมโทรซิสเต็มส์ฯ ที่ให้บริการในการตรวจจับสิ่งแปลกปลอม และช่องโหว่ในระบบ (Detect) และทำการแก้ไข (Response)
1) การตรวจสอบช่องโหว่ในระบบ (Detect)
2) การวินิจฉัยระบบ (Investigate) เมื่อมีความเสี่ยง จะหาให้ว่าต้นเหตุเกิดจากตรงไหน
3) การทำรายงานการวินิจฉัยระบบ
4) ระบบอัตโนมัติ (Automate) เพื่อทำคำสั่งมากขึ้น

ศูนย์ MICSC มีเจ้าหน้าที่เทคนิคด้านระบบรักษาความปลอดภัยทั้ง tier 1 และ tier 2 ในการเฝ้าระวังภัยให้ 24 ชั่วโมง ศูนย์ฯ ของเมโทรซิสเต็มส์ฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย ISO 27001
:ก้าวสู่ธุรกิจใหม่ด้วยดิจิทัล:

นายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ช่วงโควิดยอดขายผ่านออนไลน์ แพลต์ฟอร์มเพิ่มขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนยอดขายหน้าร้านของซีเอ็ดที่มีกว่า 300 สาขาได้ที่ต้องปิดไปในช่วงโควิด ซึ่งสถานการณ์โควิดเป็นปัจจัยเร่งแผนการต่างๆ ให้เกิดเร็วขึ้น จากที่เคยวางแผนจะทำ eBook พอเกิดโควิดเป็นปัจจัยเร่งให้ทำโครงการแพลตฟอร์ม eBook สำเร็จเร็วขึ้น และทำให้ซีเอ็ดเกิดบิสซิเนสโมเดลใหม่ในการขายหนังสือ นั่นคือ pay per read” การสร้างแพลตฟอร์ม eBook ได้นั้นทำให้ซีเอ็ดเปิดธุรกิจใหม่ในการขายแพลตฟอร์ม หากองค์กรใดต้องการสร้าง e-Library ซีเอ็ดสามารถให้บริการได้ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากโดยเฉพาะสถาบันการศึกษา และทางซีเอ็ดได้ขยายบริการไปยังบริการส่วนอื่นๆ เช่น รวมถึงทำให้เกิดโมเดลในการขายหนังสือในรูปแบบใหม่ คือ ผลิตออกมาเป็น eBook ทีละบทก่อน และขายทีละบท หากการตอบรับดีค่อยรวมเล่มขาย หรือตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม นอกจากนี้แล้ว ทำให้หน้าร้านในแต่ละสาขามีการปรับหน้าร้านและหนังสือขายดีให้เข้ากับแต่ละสาขา

นายไกรเทพ พิสัยกุล ผู้จัดการ ฝ่ายประจำสำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด บริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัด และบริษัท บริษัท เอสบีพี ดิจิทัลเซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า “บุญรอดเป็นองค์กรไทย ที่ก่อตั้งมากว่า 80 ปี และมีส่วนในการทำงานแบบแมนนวลในระดับหนึ่ง แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้บุญรอดปรับสู่ดิจิทัลมากขึ้น จากการที่ต้องทำงานจากที่บ้าน แม้ว่ายังไม่สามารถทำงานบนดิจิทัลได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม” บุญรอดได้ปรับใช้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ และส่วนงานภายในในการใช้ดิจิทัลมากขึ้น เช่น การโอนเงินเดือน แต่สำหรับโมเดลในการขายผ่านออนไลน์ ด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถขายเบียร์ผ่านออนไลน์ รวมถึงทางบุญรอดจำหน่ายผ่านผู้ค้า สิ่งที่บุญรอดจะทำ คือ ทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เพราะบุญรอดมีนโยบายสร้างการเติบโตไปพร้อมกับพาร์เนอร์ ดังนั้นแล้ว เซลล์ต้องรู้จักร้านค้า บุญรอดได้นำระบบวิเคราะห์เข้ามาช่วยดูว่าเซลล์ในแต่ละพื้นที่ดูแลร้านค้าได้ดีอย่างไร รวมถึงได้นำเอไอเข้ามาใน chat bot ของไลน์เพื่อคุยกับลูกค้า

นายจีรยุทธ์ กาญจนมยูร ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายไอที บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “ช่วงโควิด ทำให้เราต้องปรับตัวในคืนวันที่ประกาศหยุดในช่วงโควิด ทำให้เกิดการออกแบบการบริการใหม่ๆ ในส่วนของสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ปิดไม่ได้ เช่น การขายแบบโทรมาสั่งและรับของ (pick up order) สั่งซื้อจากบนรถ (drive through) การสั่งซื้อบนระบบแชท (chat and shop)” เดอะมอลล์มีเป้าหมายทางธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้าตั้งเป้าเป็น retail entertainment เป็นศูนย์รวมของคนกรุงเทพ มีห้างใหม่เกิดขึ้น ดังนั้นแล้ว ไอทีจำเป็นต้องตอบรับกับธุรกิจ

เกี่ยวกับ บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมโทรซิสเต็มส์ฯ เป็นคู่ค้า และพันธมิตรในการวางระบบไอทีสำหรับองค์กร ดำเนินงานมามากกว่า 35 ปีในประเทศไทย ให้บริการครบวงจร นับตั้งแต่ให้บริการคำปรึกษา ออกแบบระบบ ติดตั้งระบบ และฝึกอบรม เมโทรซิสเต็มส์ฯ ได้รับการยอมรับ และไว้วางใจว่าเป็นคู่ค้าที่มีคุณค่าทางด้านไอทีในประเทศไทย ด้วยบุคลากรมืออาชีพ