ผศ.ขวัญชัย เสวีนันท์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผู้สร้างนวัตกรรมเครื่องคัดแยกขนาดดอกดาวเรือง ชิ้นแรกของคนไทย ที่ได้รับอนุสิทธิบัตร เลขที่ 21280 จดทะเบียน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ไอเดียเกิดจากการมองเห็นปัญหาของเกษตรกรไทย ด้านอุปกรณ์ทุ่นแรง ด้านการใช้แรงงานในภาคเกษตรลดลง รวมถึงยังขาดแคลนนวัตกรรมเกษตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกในการทำงาน การลดระยะเวลา การลดจำนวนแรงงานคน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น โดยขนาดของเครื่องมีความกว้าง 1,220 ยาว 2,450 สูง 1,550 มิลลิเมตร ชุดโครงสร้างเครื่องจะประกอบไปด้วย ชุดถาดเขย่า ชุดลำเลียงและคัดแยก ชุดเปลี่ยนทิศทาง โครงเครื่องทำหน้าที่รองรับชิ้นส่วนต่าง ๆ ถาดเขย่าตัวที่ป้อนดอกดาวเรือง ทำให้ดอกดาวเรืองเคลื่อนที่ตกลงมายังชุดเปลี่ยนทิศทางที่ดึงและลำเลียงดอกดาวเรืองที่ตกลงมาในแบบดอกที่เป็นลักษณะคว่ำ เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกขนาด ชุดลำเลียงจะลำเลียงและคัดแยกขนาดของดอกดาวเรืองได้ทั้ง ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ชุดรองรับทำหน้าที่รองรับดอกดาวเรืองที่ตกลงมาจากชุดลำเลียงนำดอกดาวเรืองตกลงไปที่ตะกร้าด้านล่าง โดยที่ปลายของถาดรองรับมีตัวนับจำนวน การออกแบบและสร้างเครื่องคัดแยกขนาดดอกดาวเรืองนำไปใช้งานทางการเกษตร ที่สามารถควบคุมระยะเวลาในการคัดแยกและลดความผิดพลาดจากการคัดแยกขนาดดอกดาวเรือง ที่ครอบคลุมถึงการวางแผนการเพาะปลูกและสามารถเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพขนาดของดอกดาวเรืองให้สมบูรณ์มากขึ้น
ผศ. ขวัญชัย เปิดเผยว่า ตนเองและคณะทำงานได้ลงพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ชาวเกษตรกรทำการปลูกดาวเรืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งในภาพรวมแล้วชาวเกษตรกรที่เพาะปลูกดอกดาวเรืองเพื่อการขายส่งตามฤดูกาล และเมื่อมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดเพื่อส่งจำหน่ายมีจำนวนมาก ความต้องการของดอกดาวเรืองจึงมีเพียงพอ ในทางกลับกันด้านแรงงานและกำลังคนในการตัดและคัดแยกดอกดาวเรืองขาดแคลน และไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งทุกขั้นตอนของการคัดแยกดอกดาวเรืองยังใช้แรงงานคนที่มีทักษะและชำนาญสูงในการเก็บเกี่ยว และต้องมีประสบการณ์ในการทำงานลักษณะนี้ หากชาวเกษตรกรขาดทักษะและความชำนาญก็จะใช้ระยะเวลานาน และมีโอกาสในการคัดแยกดอกดาวเรืองผิดพลาด ส่งผลต่อคุณภาพของดาวเรืองอีกด้วย
ลักษณะเด่นของเครื่องคัดแยกดอกดาวเรืองสอดคล้องกับลักษณะการใช้งานชาวเกษตรกรที่ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก ด้วยมีขนาดของเครื่องที่ถูกออกแบบรองรับได้เป็นอย่างดีด้วยชุดโครงสร้างเครื่องอย่าง ชุดถาดเขย่า ชุดลำเลียงและคัดแยก เป็นต้น ด้านความแม่นยำของชุดลำเลียงก็จะ “ลำเลียงและคัดแยกขนาดของดอกดาวเรืองได้ทั้ง ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ได้ตามที่กำหนดไว้” เมื่อดอกดาวเรืองถูกชุดถาดเขย่าแล้ว ก็จะสู่กระบวนการลำเลียงและตกลงไปที่ตะกร้าที่รองรับไว้ด้านล่างของถาดรองรับดอกดาวเรืองพร้อมๆ กับตัวนับจำนวนดอกดาวเรือง จำนวนการคัดแยก 100 ดอกต่อ 3 นาที สำหรับงบประมาณที่ใช้สร้างเครื่อง 50,000 บาท ใช้เวลาสร้าง 2 เดือน
นวัตกรรมเครื่องคัดแยกดอกดาวเรืองนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวเกษตรกรและได้เสียงตอบรับที่ดี ประการสำคัญคือ สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายคือ การลดแรงงานคนของชาวเกษตรกร และยังช่วยในเรื่อง เวลาที่รวดเร็ว และประหยัดเวลาในการคัดแยกดอกดาวเรื่อง รวมถึงช่วยลดข้อผิดพลาดในการคัดแยกดอกดาวเรือง และนำไปต่อยอดความรู้โดยนำไปประยุกต์ใช้กับการเกษตรเพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น ลดต้นทุนและประหยัดค่าใช้จ่าย และยังสามารถวางแผนในการทำการเกษตรครั้งต่อไปได้ และรวมไปถึงผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ อนาคตสามารถใช้งานด้านอุตสาหกรรมเกษตรที่กว้างขวางมากขึ้นตามลำดับ ผศ. ขวัญชัย กล่าวท้ายที่สุด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ผศ.ขวัญชัย เสวีนันท์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทรศัพท์ 081-803-8767
ขวัญฤทัย ข่าว