การพัฒนาปืนยาวไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) สำหรับนักทำลายใต้น้ำจู่โจมขนาด .338 นิ้ว ผลงานทีมของ รศ.สถาพร ชาตาคม อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยคณะทำงานประกอบด้วย ผศ.ดร. กิตติภัฎ รัตนจันทร์ ผศ.ณรงค์เดช พัฒนไพบูลย์ อาจารย์ภาวัช จันทสร ผศ.ดร.สุนทร สิทธิสุกลเจริญ ผศ.ดร.ศรายุทธ เงินทอง ผศ.วัชระ ลายลักษณ์ ผศ.ประมุข เจนกิตติยนต์ และนายทินกร สวัสดิสาร อีกหนึ่งชิ้นงานวิจัยต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการพัฒนาปืนไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) ขนาด .338 นิ้ว ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่าง มจพ. สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (Army Research and Development Office) กองทัพบกไทย (RTA: Royal Thai Army) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ชื่อขณะนั้น โดยต้นแบบปืนไรเฟิลซุ่มยิงขนาด .338 นิ้ว ได้มีการสร้างและทดสอบไปแล้วระยะหนึ่ง โครงการต้นแบบปืนยาวไรเฟิลซุ่มยิงขนาด .338 นิ้ว เป็นการศึกษาความต้องการด้านเทคนิคของปืนซุ่มยิง และถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับกองพลรบพิเศษ กองทัพบก และนักทำลายใต้น้ำจู่โจม กองทัพเรือ ปืนไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) ขนาด .338 นิ้ว ที่มีขนาดค่อนข้างกระทัดรัด มีน้ำหนักโดยประมาณ 6.5 กิโลกรัม ปืนไรเฟิลนี้สามารถพับพันท้ายเพื่อช่วยลดความยาวของปืน และปรับเปลี่ยนพันท้ายให้เหมาะสมกับการใช้งาน ทำให้สะดวกในการใส่ในกระเป๋าเป้สะพายหลัง ไม่เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนที่ มีการปรับปรุงในส่วนข้อมูลด้านเทคนิค และข้อมูลด้านการยศาสตร์ของทหารไทยมาทำการพัฒนารูปทรงภายนอกของปืน เพื่อพัฒนาปืนไรเฟิลซุ่มยิงขนาด .338 นิ้ว ที่เหมาะกับสรีระ และภารกิจของกองพลรบพิเศษ และนักทำลายใต้น้ำจู่โจม โดยสุดท้ายของโครงการต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปืนไรเฟิลที่มีความแม่นยำสูงนี้ให้กับ กองพลรบพิเศษ กองทัพบก และกองสนับสนุน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ โดยต้นแบบปืนยาวไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) ขนาด .338 นิ้ว มีประสิทธิภาพการซุมยิงที่ทำลายใต้น้ำจู่โจมมีความเที่ยงตรงและแม่นยำสูง ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแม่นยำและมีความแข็งแรงดี
รศ.สถาพร เล่าให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปในช่วง ปี 2559 เป็นเฟสแรกที่ทีมงานและนักวิจัยได้เริ่มพัฒนาปืนไรเฟิลซุ่มยิง โดยได้รับงบประมาณสนับสุนนจากสำนักวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขณะนั้น มาจากแนวคิดของงานวิจัยเพื่อช่วยสร้างความมั่งคงชายแดนภาคใต้ “การพัฒนาปืนลูกซองอัตโนมัติสำหรับการต่อสู่ระยะประชิดต้นแบบ เพื่อสนับสนุนหน่วยทหาร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้”
วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาปืนยาวซุ่มยิงขนาด .338 นิ้ว ที่เหมาะกับสรีระ และภารกิจของกองพลรบพิเศษ และนักทำลายใต้น้ำจู่โจม การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตปืนยาวที่มีความแม่นยำสูงให้กับ กองพลรบพิเศษ กองทัพบก และกองสนับสนุน หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ
ลักษณะเด่นของต้นแบบปืนไรเฟิลซุมยิง (Sniper Rifle) ขนาด .338 คณะวิจัยได้สร้างเครื่องขึ้นเกลียวลำกล้อง เพื่อเพิ่มระยะหวังผลและความแม่นยำของกระสุนปืน ด้านความแข็งแรงของชิ้นส่วนที่สำคัญใช้โปรแกรมทางด้านไฟไนต์เอลิเมนต์ (FEM) ช่วยวิเคราะห์ และการจำลองการทำงานของปืนด้วยโปรแกรมด้าน 3D ใช้เทคนิคการยศาสตร์ของทหารไทยมาพัฒนารูปทรงภายนอกของปืน สามารถพับเก็บพันท้ายได้ คณะวิจัยได้ทำการทดสอบปืนไรเฟิลซุ่มยิง ที่ประเมินโดยผู้แทนจาก สกอ. และ สวพ.ทบ. อย่างเป็นทางการ เมื่อ 18 กรกฎาคม 2560 เป็นการการทดลองยิงด้วยกระสุนจริง โดยในการทดสอบทำการยิงด้วยกระสุน .338 ลาปัวแม็กนั่ม 250 gr (จัดหามาพร้อมกล้องเล็ง) และตั้งเป้ายิงที่ระยะ 200 หลา ในการปรับตั้งและเล็งปืนจะมีนายทหารประจำโครงการมาให้คำแนะนำ โดยผลการทดสอบประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี กลุ่มกระสุนเฉลี่ยเกาะกลุ่มอยู่ที่ 1.5 MOA (วัดที่ระยะ 200 หลา)
ประโยชน์จากการพัฒนาต้นแบบปืนยาวไรเฟิลซุ่มยิง (Sniper Rifle) สำหรับนักทำลายใต้น้ำจู่โจมขนาด .338 นิ้ว เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศให้มีความเข้มแข็งลดการนำเข้าสินค้ายุทธภัณฑ์ที่มีราคาสูงจากต่างประเทศและสามารถต่อยอดพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่จะผลิตอาวุธประจำกายในกองทัพของประเทศได้ เช่น การผลิตปืนเล็กยาวที่ใช้ในกองทัพ การผลิตปืนพกสั้นที่ใช้ในกองทัพ และยังสามารถที่จะใช้องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยนี้เพื่อดำรงสภาพและยืดอายุยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ในกองทัพได้และหากนำไปทำในเชิงพาณิชย์เราต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อ จัดหาปืนไรเฟิลซุ่มยิง และอะไหล่ในการบำรุงรักษาที่มีราคาสูง (กระบอกละประมาณ 500,000 บาท) จากต่างประเทศ
โดยงานวิจัยนี้สามารถทำการผลิตปืนไรเฟิลซุ่มยิงระยะไกลนี้มีค่าใช้จ่ายต่อกระบอกประมาณ 40,000 บาท (เมื่อผลิตจำนวนรวม 50 กระบอก) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำไปทดสอบให้ได้ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ (กมย.) เพื่อนำไปขยายผลในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
สอบถามรายละเอียดได้ที่ รศ.สถาพร ชาตาคม อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องกล วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์.0-2555-2000 ต่อ 6210 หรือ 0-2587-3921
ขวัญฤทัย ข่าว-ภาพ