มจพ. เปิดตัว มินิบัสไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะระบบรอง

มจพ. เปิดตัว มินิบัสไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะระบบรอง

.ดร.ธานินทร์  ศิลป์จารุ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ประธานพิธีแถลงข่าวเปิดตัวรถมินิบัสไฟฟ้า สำหรับระบบขนส่งสาธารณะระบบรอง  (Electric Mini Bus Prototype for Feeder Public Transport System)  พร้อมด้วย ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย  รศ.ดร.กัมปนาท เทียนน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ของโครงการ   และ ผศ.ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกูล  ผอ. กลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ ผู้แทนบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมพิธี  ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์   2568  ณ ห้องประชุม   Cloud 9  ชั้น 9  อาคารสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ.

โครงการวิจัยมินิบัสไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะระบบรอง  ได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.. 2566 จัดสรรโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และมี บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด  หน่วยงานเข้าร่วมโครงการ     

สำหรับรถมินิบัสไฟฟ้าคันนี้ มีขนาด 7 เมตร จำนวน 18 ที่นั่ง รองรับการใช้บริการของผู้พิการ สามารถวิ่งได้ระยะทาง 100 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และที่สำคัญ สามารถรองรับการอัดประจุไฟฟ้าได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ DC , AC  และแบบไร้สาย พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัย มจพ. นำโดย ผศ.ดร.ชัยยุทธ์ สัมภวะคุปต์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องต้นกำลัง วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ผู้ร่วมวิจัย รศ.ดร.กัมปนาท เทียนน้อย รศ. ดร.ธวัชชัย วงศ์ช่าง ผศ.ดร.วัลลภ กิติสาธร ผศ.ดร.ธีรวัฒน์ คลับคล้าย อ.ดร. วัยอาจ สายคง และ อ.ดร. สุนทรโอษฐงาม

สำหรับเป้าหมายของทีมวิจัยที่มีต่อผลงานชิ้นนี้ มุ่งหวังให้เกิดการใช้ประโยชน์รถมินิบัสไฟฟ้าอย่างแท้จริง เช่น การให้บริการสำหรับบุคลากร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของ มจพ. ที่ต้องการใช้บริการในเส้นทางที่กำหนด เพื่อเดินทางไปกลับ ระหว่าง มจพ. กับจุดหยุดรถที่เชื่อมต่อกับแนวเส้นทางวิ่งของโครงการรถไฟฟ้า หรือการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งสาธารณะมากขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ชีวิตประจำวันที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมการใช้ Local Content ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าและต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้อย่างยั่งยืน