Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

แก้ไขปัญหาการจราจรในประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะด้านข้อมูลและระบุตำแหน่ง (Location Intelligence)

โดย อาบิจิต เซนกุปตา ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ ประจำประเทศอินเดีย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ HERE Technologies

เมืองต่าง ๆ ในปัจจุบันต่างกำลังเผชิญกับแรงกดดันที่ถาโถมเพิ่มขึ้นเพื่อปรับปรุงระบบจราจรให้ลื่นไหลและเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่ต้องลดมลภาวะที่เกิดขึ้น และเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนไปพร้อมกัน เทคโนโลยีถนนอัจฉริยะ (Smart road technologies) มีความสามารถทำให้ถนนหนทางต่าง ๆ มีความอัจริยะและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และยังช่วยให้ผู้วางผังเมืองและภาครัฐมีส่วนสนับสนุนการใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในอันดับ 9 ของโลก โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบการสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการขับรถด้วยความเร็วเพิ่มขึ้น 4% ขณะที่อุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับช่วงวันหยุดต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องเร่งด่วนและอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนให้เหลือไม่เกิน 12 ต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ.2570 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “Vision Zero” ภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งแผนดังกล่าวจะช่วยลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และสร้างความมั่นใจให้ทุกคนสามารถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย มีสุขภาวะที่ดี และเดินทางได้อย่างเท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม การไม่มีแผนดำเนินงานที่ชัดเจนและขาดเครื่องมือติดตามผลลัพธ์การทำงาน จะส่งผลเสียมาถึงกระบวนการติดตั้งและการวิเคราะห์หาโซลูชันที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งในแง่การบริหารจัดการการจราจรให้ดียิ่งขึ้น และการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการสัญจรบนถนนที่คับคั่งได้ดียิ่งขึ้น

เอาชนะปัญหาจราจรด้วยความเข้าใจรูปแบบการสัญจร

กว่า 10 ปีมาแล้ว แบบจำลองการจราจรเผยให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพบนท้องถนนที่ต้องปรับปรุง โดยรวบรวมข้อมูลมามาจากระบบเซนเซอร์และกล้องตรวจจับบนท้องถนนเพื่อมอนิเตอร์ความเร็วและจำนวนยานพาหนะ อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายแพงและยังมีข้อจำกัดในการเก็บข้อมูล เช่น  ตัวกล้องที่เกิดการชำรุดเสียหายง่ายและเสี่ยงต่อการถูกก่อกวน หรือ กล้องสามารถบันทึกข้อมูลได้ในระยะเวลาไม่นานพอ ขณะที่ “ความคับคั่งของการจราจร” จะยังไม่สามารถถูกบันทึกไว้ในกล้อง เป็นต้น

ปัจจุบัน การใช้ข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์และโซลูชันวิเคราะห์ขั้นสูงช่วยทรานฟอร์มเครื่องมือการทำงานของนักวางแผนการขนส่ง, หน่วยงานของภาครัฐ, และผู้กำหนดนโยบายไปสู่ดิจิทัล ด้วยอุปกรณ์เคลื่อนที่หลายล้านเครื่องที่ถูกใช้ภายในยานพาหนะ รวมถึงเซนเซอร์ นับว่าเรามีข้อมูล ‘Big Data’ จำนวนมหาศาลมากพอที่จะนำมาใช้วิเคราะห์ปัญหาการจราจรได้อย่างเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น

การวิเคราะห์ข้อมูลการจราจรจะช่วยไขข้อสงสัยต่าง ๆ ได้ เช่น  เราจะบรรเทาความแออัดบนท้องถนนในชั่วโมงเร่งด่วนได้อย่างไร? หรือ โซนการก่อสร้างมีผลต่อการจราจรมากน้อยแค่ไหน? ความเร็วที่สามารถขับผ่านวงเวียนควรมีเท่าไร? หรือ อยากทราบว่ามีที่จอดรถว่างบริเวณใดบ้าง? ฯลฯ และเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดบนท้องถนน ข้อมูลระบุตำแหน่งการจราจรกว่าล้านล้านจุดจะถูกจัดเก็บและนำไปใช้งานในแต่ละวันบน Location Technology Platform ของ HERE Technologies ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือแม้แต่ผู้ขับขี่บนท้องถนนเข้าถึงสถานการณ์การจราจรภายในเมือง และนำไปใช้วางแผนการเดินทางตามวัตถุประสงค์การเดินทางต่าง ๆ

ระบบประมวลผลการจราจรของ HERE จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนนด้วยซอฟต์แวร์การติดตามและจำลองผลลัพธ์ ช่วยให้บริษัทประกันภัย ผู้จัดการด้านการขนส่ง และผู้บริโภค ใช้สิทธิประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัยที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น เช่น อ้างอิงจากการบันทึกข้อมูลและพฤติกรรมการขับขี่ ฯลฯ นอกจากนี้ ระบบ HERE Traffic API ยังจะช่วยคลี่คลายความตึงเครียดบนท้องถนนในแต่ละวัน ด้วยการให้ข้อมูลเชิงลึก ได้แก่ อุบัติเหตุบนท้องถนนแบบเรียลไทม์, ระดับความคล่องตัวของการจราจรภายหลังจากเกิดเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุจราจรที่สำคัญ ๆ

ทำให้ปัญหาการจราจรกลายเป็นอดีต

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2593 70% ของจำนวนประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง  ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาความแออัด แต่นั่นเป็นเพียงส่วนยอดปัญหาบนภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ในกรณีเลวร้ายที่สุดคือชาวเมืองในกรุงเทพฯ และกรุงจาการ์ตาอพยพหนีจากเมืองเพื่อเลี่ยงความแออัดและปัญหามลพิษ

หลาย ๆ เมืองได้ดำเนินการเพื่อลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจราจรไปบ้างแล้ว อาทิ ประเทศสิงค์โปร์ที่จัดทำเครือข่ายทางด่วนและอุโมงค์ถนนที่มีระยะทางยาว 160 กิโลเมตร พร้อมติดตั้งแกดเจ็ตเซ็นเซอร์ และกล้องเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการจราจร เวลาการเดินทาง และความต้องการใช้ถนนเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้สัญจรใช้วางแผนเดินทาง พร้อมยังได้กำหนดไว้ในแผนแม่บทของชาติ Smart Mobility 2030 master plan ที่ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะมาเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถของเครือข่ายบนท้องถนนอย่างสูงสุด ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการตรวจสอบและควบคุมปริมาณการจราจร ช่วยทำให้ถนนปลอดภัยยิ่งขึ้น 

หายใจได้เต็มปอด ห่างจากปัญหาจราจร

นอกจากการจราจรที่หนาแน่นและอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ปัญหามลพิษทางอากาศยังเป็นอีกหนึ่งผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นจากการจราจร เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในอากาศของประเทศไทยสูงกว่าค่าคุณภาพมาตรฐานที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดถึง 4  เท่า หมายความว่าคนไทยกำลังสูดดมอากาศที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้เมื่อปีก่อนยังมีข้อมูลบ่งชี้ที่สอดคล้องกัน คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิต 29,000 รายในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากคุณภาพอากาศ

จำนวนยานพาหนะส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดและความต้องการหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งกลายเป็นวิถีการเดินทางปกติไปแล้ว พวกเรารู้สึกสบายใจเมื่อได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ผู้วางผังเมืองสามารถรับรู้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการจราจร จุดที่เกิดปัญหาความคับคั่งได้อย่างเจาะจง และวิธีการแก้ไขได้ด้วยข้อมูลแบบเรียลไทม์ ข้อมูลการคาดการณ์ และข้อมูลการจราจรในอดีต

และเป็นเรื่องน่ายินดี ที่วันนี้เรากำลังก้าวไปสู่การพัฒนาและนำรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (หรือ EV) มาใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดมลพิษได้อย่างชัดเจนด้วยเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ใช่ฟอสซิล เมื่อรวมเข้ากับการสมัครใช้แอปพลิเคชันแผนที่ระบุตำแหน่งในรถยนต์ จะสามารถช่วยให้ผู้ใช้เลือกขับรถในเวลาที่จำนวนรถยนต์โดยรวมบนท้องถนนไม่มากได้ เพื่ออากาศที่สะอาดขึ้น ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต่ำลง รวมถึงเมืองที่มีความยั่งยืนมากขึ้น

การคุ้มครองข้อมูลของผู้บริโภคในระบบขนส่ง

ผลการศึกษาจากผู้ใช้งาน HERE Technologies ทั่วโลก ระบุว่า ผู้บริโภค 80% ไม่ไว้วางใจว่าบริการต่างๆ ที่รวบรวมข้อมูลตำแหน่งของตนจะจัดการกับข้อมูลดังกล่าวได้ตามที่ควร ขณะผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถามในจำนวนใกล้เคียงกันระบุว่า พวกเขารู้สึกเครียด ประหม่า ที่ต้องแชร์ข้อมูล Location ให้กับผู้อื่น เป็นที่ชัดเจนว่าองค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องจัดการข้อมูลตำแหน่งอย่างระมัดระวัง และต้องสอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละประเทศที่บริษัทเข้าไปเปิดดำเนินกิจการ เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย (PDPA)

บริษัทจำเป็นต้องรู้ว่าเมื่อใดควรจะขอความยินยอมจากผู้ใช้เพื่อนำข้อมูลของพวกเขาไปใช้ และต้องมีความโปร่งใสในการรักษาความเป็นส่วนบุคคลหรือวิธีการที่ไม่เปิดเผยข้อมูล ซึ่งทั้งสองประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่บริษัทต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ การเลือกประเด็นด้านความปลอดภัยของข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งอาจไม่ได้เหมาะสมกับทุก ๆ สถานการณ์เสมอไป

สิ่งนี้เป็นปัญหาสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่รวบรวมข้อมูลเพื่อให้บริการที่หลากหลาย ตั้งแต่ข้อมูลการจราจรไปจนถึงพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลที่สามในการสร้างบริการใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม การทำให้แน่ใจว่าประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับนั้นจะต้องสอดคล้องและถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่รักษาความพึงพอใจของผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กันนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย 

อนาคตจะเป็นอย่างไร?

เมืองที่มีระบบบริหารจัดการความแออัดและเมืองใดก็ตามที่กำลังวางแผนที่จะเปิดใช้งานระบบจัดการดังกล่าว จะต้องใช้ข้อมูล  Location Intelligence เพื่อให้แน่ใจว่าแผนงานจะประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ เทคโนโลยีการระบุตำแหน่ง (Location Technology) สามารถช่วยเมืองต่าง ๆ ระบุตำแหน่งที่แน่นอนซึ่งช่วยจัดการความแออัดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ Location-Based Data ยังสามารถใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย การตรวจสอบการจราจร ทำความเข้าใจความต้องการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง รวมถึงระบบการบำรุงรักษา และการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจถึงประสิทธิภาพของโซนที่มีความคับคั่งได้ดีมากยิ่งขึ้น


Exit mobile version