Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

กฟผ. เปิดบูท ‘EGAT Carbon Neutrality Land: ตะลุยดินแดนไฟฟ้า ความเป็นกลางทางคาร์บอน

กฟผ. เปิดบูท ‘EGAT Carbon Neutrality Land: ตะลุยดินแดนไฟฟ้า ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ชวนเยาวชนร่วมผจญภัยค้นหาไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีพิชิตคาร์บอน ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 ส.ค.

กรุงเทพฯ, สิงหาคม 2566 – นายเมธาวัจน์ พงศ์รดาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ EGAT Carbon Neutrality Land: ตะลุยดินแดนไฟฟ้า ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 มีเยาวชนและประชาชนสนใจเยี่ยมชมบูท กฟผ. จำนวนมาก ณ อาคาร 11 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

นายเมธาวัจน์ พงศ์รดาภิรมย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์องค์การ กฟผ. เปิดเผยว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติถือเป็นงานที่ช่วยกระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ในปีนี้ กฟผ. จึงได้ร่วมจัดนิทรรศการ EGAT Carbon Neutrality Land: ตะลุยดินแดนไฟฟ้า ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยแบ่งฐานการเรียนรู้ออกเป็นทั้งหมด 6 โซน ได้แก่ โซนที่ 1: พลังงานหมุนเวียน ชวนเรียนรู้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ พร้อมสนุกสนานไปกับภารกิจผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โซนที่ 2: ห้องเรียนสีเขียว ชวนทำความรู้จักห้องเรียนสีเขียว แหล่งเรียนรู้ด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่ร่วมกิจกรรมกับโครงการห้องเรียนสีเขียวแล้วกว่า 1,300 แห่ง โซนที่ 3: ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 จำลองบ้านประหยัดพลังงานพร้อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากเบอร์ 5 และร่วมสนุกเก็บสะสมไอเท็มประหยัดพลังงาน โซนที่ 4: EV Station สร้างความมั่นใจรองรับทุกการเดินทางของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าด้วยสถานีชาร์จ EleX by EGAT รวม 130 สถานีทั่วประเทศ เพียงใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน EleXA พร้อมร่วมสนุกเกมขับรถ EV เที่ยวศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. 8 แห่ง ทั่วประเทศ โซนที่ 5: ปลูกป่าล้านไร่ เรียนรู้ปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกผ่านต้นไม้แต่ละชนิด อาทิ สัก มะค่าโมง ยางนา ประดู่ ตะเคียนทอง โกงกาง ซึ่งปลูกอยู่ในป่าประเภทต่าง ๆ ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) และโซนที่ 6: สนามเด็กเล่น ชวนน้อง ๆ ร่วมสนุกกับเกมสุดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันประกวดวาดภาพระบายสีหัวข้อ “EGAT LAND ดินเเดนในฝัน” ซึ่งเปิดรับผลงานทางอีเมลจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 66 และประกาศผลการแข่งขันในวันที่ 20 สิงหาคม 66 ลุ้นชิงรางวัลสุดสร้างสรรค์ และร่วมแข่งขันกีฬา E-Sports สุดมัน ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00 – 19.00 น. ณ อาคาร 9-11 อิมแพ็ค เมืองทองธานี หรือติดตามรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก ห้องเรียนสีเขียว กฟผ. page: www.facebook.com/glr.egat

ภายในงาน กฟผ. ยังเตรียมจัดพิธีมอบรางวัล EGAT Green Learning Society ให้แก่โรงเรียนที่เป็นแบบอย่างที่ดีและมีผลงานโดดเด่นในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวรวม 7 กิจกรรม ได้แก่ 1) โรงเรียนสีเขียว เบอร์ 5 ส่งเสริมให้โรงเรียนบูรณาการองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมกับทุกกิจกรรมของโรงเรียน 2) กิจกรรม EGAT Green Seed 3) กิจกรรม EGAT Green Talk เพื่อต่อยอดศักยภาพเยาวชนในโครงการห้องเรียนสีเขียวสู่การเป็นนักสื่อสารและผู้นำเยาวชนด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม 4) โรงเรียนคาร์บอนต่ำ ลดการใช้ไฟฟ้าและการจัดการขยะที่โรงเรียน 5) โรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชน ลดการใช้ไฟฟ้าที่บ้านนักเรียน 6) โรงเรียนสีเขียว ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และ 7) อาคารเบอร์ 5 ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนที่มีการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จากผลการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนและครอบครัวนักเรียนกว่า 1.23 แสนครัวเรือน ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าสะสมได้กว่า 42.73 ล้านหน่วย ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าสะสมได้กว่า 187 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศสะสมได้กว่า 22 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ คาดว่าในปีนี้จะลดการใช้พลังงานได้ปริมาณมากเช่นเดียวกัน สอดรับนโยบายการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน


 

Exit mobile version