เห็นรับน้องใหม่กันแต่ละที มีแต่คนเหม็นหน้าพี่ว้ากแสนโหด ตะโกนอยู่ได้ทั้งวัน แต่ใครจะรู้ว่าหลังจากนั้นพี่แกต้องมานั่งกินยารักษาคอหอยกันเป็น อาทิตย์ เฮ้อ.. ถ้ายังไงๆ ก็ต้องว้าก มันก็ต้องหาเครื่องทุ่นแรงกันหน่อยสิครับพี่
ด้วยสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ สร้างจากขวดน้ำพลาสติกและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกไม่กี่ตัวก็สำเร็จเสร็จเป็นโทรโข่ง อย่างนี้น้องๆ สามารถทำไปให้พี่ว้าก และคนที่ชอบว้าก ถือติดมือไว้คนละอันเลย
การทำงานของวงจร
เมื่อกดสวิตช์แล้วพูด ไมโครโฟน MIC1 จะทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าผ่านตัวเก็บประจุ C2 ไปเข้าขา 3 ของไอซีออปแอมป์เบอร์ TLC2272 ทำหน้าที่ขยายสัญญาณที่รับมาจากไมโครโฟนให้แรงขึ้นแล้วส่งออกทางขา 1 ผ่าน VR1 ค่า 100kΩ แบบเกือกม้า ทำหน้าที่ปรับอัตราขยายสัญญาณให้มีระดับความแรงที่เหมาะสม (หากปรับอัตราขยายสัญญาณนี้แรงเกินไป อาจทำให้เกิดการหวีดหรือไมค์หอน) จากนั้นสัญญาณนี้จะถูกส่งผ่านให้กับ VR2 ค่า 10kΩ สำหรับปรับความแรงสัญญาณตามความต้องการของผู้ใช้งานก่อนส่งไปเข้าขา 3 ของไอซีออปแอมป์ยอดนิยมเบอร์ LM386 เพื่อขยายสัญญาณออกทางขา 5 ไปขับลำโพง
รูปที่ 1 แสดงวงจรของ Megaphone
ดังนั้นระดับความแรงของสัญญาณเสียงที่ออกลำโพงจะขึ้นอยู่กับการปรับ VR2 10kΩ พูดง่ายๆ ก็คือทำหน้าที่เพิ่มและลดระดับความดังของเสียงที่ออกทางลำโพงหรือเป็นโวลุ่มปรับเสียงนั่นเอง
การลงอุปกรณ์และปรับแต่ง
รูปที่ 2 แสดงลายทองแดงของแผ่นวงจรพิมพ์ (ดาวน์โหลดลายวงจรพิมพ์ขนาดเท่าจริง)
รูปที่ 3 แสดงการวางอุปกรณ์บนแผ่นวงจรพิมพ์
(1) เริ่มจากทำแผ่นวงจรพิมพ์ตามลายทองแดงที่แสดงในรูปที่ 2 แล้วบัดกรีลงอุปกรณ์ตามรูปที่ 3 ไล่ลำดับการวางและค่อยบัดกรีจากอุปกรณ์ตัวเตี้ยที่สุดไปถึงตัวที่สูงที่สุดก็คือตัวเก็บประจุ สำหรับมือใหม่ไม่ควรบัดกรีไอซีตรงๆ เพราะความร้อนจากปลายหัวแร้งอาจทำให้ไอซีได้รับความเสียหาย ควรใส่ซ็อกเก็ตไอซีด้วย เมื่อติดตั้งอุปกรณ์บนแผ่นวงจรพิมพ์เสร็จแล้วก็เดินสายกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ คอนเดนเซอร์ไมค์ ให้บัดกรีสายไฟออกมาทั้ง 2 ขั้วโดยให้สายมีความยาวกว่าขวดน้ำเล็กน้อย , สวิตช์กดติดปล่อยดับ, โวลลุ่ม 10kΩ , ลำโพง และขั้วแบตเตอรี่ 9V
(2) เมื่อบัดกรีและเดินสายอุปกรณ์เรียบร้อย ทดลองต่อแบตเตอรี่ 9V แล้วกดสวิตช์กดติดปล่อยดับค้างไว้ หมุนโวลุ่ม 10kΩ ทวนเข็มนาฬิกาจนสุด (คือการเร่งให้ดังที่สุด) อาจทำให้เกิดเสียงหอน ให้ค่อยๆ ปรับ VR1 แบบเกือกม้าอย่างช้าๆ จนเสียงหอนนั้นหายไป แล้วปรับโวลุ่ม 10kΩ ตามเข็มนาฬิกาไปจนสุด (คือการลดเสียงให้เบาที่สุด) แล้วลองพูดใส่ไมค์ไปเรื่อยๆ พร้อมกับค่อยๆ หมุนโวลุ่มทวนเข็ม เสียงจะต้องดังขึ้นเรื่อยๆ เป็นอันเสร็จการปรับแต่ง
รูปที่ 4 การต่อสายไปใช้งาน
ขั้นตอนการสร้าง
(1) นำฝาขวดพลาสติกมาเจาะรูสำหรับติดตั้งคอนเดนเซอร์ไมค์ ดังรูปที่ 5 จากนั้นปลดสายไฟที่ต่อไว้กับแผงวงจรจากขั้นตอนการปรับแต่งออกมา ใช้กระดาษแข็งตัดเป็นวงกลมมาปิดเอาไว้ เพื่อช่วยป้องกันสัญญาณของไมโครโฟนไปรบกวน ลำโพงทำให้ลดอาการเสียงหวีดหรือไมค์หอนขณะพูด
รูปที่ 5 ติดตั้งคอนเดนเซอร์ไมค์
(2) นำขวดน้ำพลาสติกหรือขวดน้ำอัดลมขนาด 1.25 ลิตร ตัดส่วนก้นขวดออกพอประมาณ แล้วเจาะรูติดตั้งสวิตช์กดติดปล่อยดับและโวลุ่มในตำแหน่งที่มือของผู้ใช้งานสามารถกดได้ถนัดดังรูปที่ 6
รูปที่ 6 ตำแหน่งการเจาะรูติดตั้งสวิตช์และโวลุ่ม
(3) พอเตรียมขวดน้ำเรียบร้อยแล้วก็มาถึงขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ลงไป ลำดับแรกให้นำฝาขวดที่ติดตั้งคอนเดนเซอร์ไมค์ไว้จากขั้นตอนที่ (2) สอดปลายสายคอนเดนเซอร์ไมค์เข่าทางปากขวด เพื่อนำมาต่อกับแผงวงจร จากนั้นติดตั้งสวิตช์และตามด้วยโวลุ่มก็จะช่วยให้แผงวงจรถูกยึดกับขวดไปด้วย แต่ไม่ควรวางใจ ให้เสริมความแข็งแรงด้วยกาวสองหน้าอีกที อ๊ะๆ อย่าลืมใส่แบตเตอรี่ 9V ในขั้นตอนนี้นะครับ
(4) ขั้นตอนสุดท้ายนี้เป็นส่วนของการติดตั้งตัวลำโพง ให้นำกระดาษแข็งหรือแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด (พีพี บอร์ด) หนาประมาณ 3 ถึง 5 มิลลิเมตร ตัดเป็นแผ่นวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับก้นขวดที่ถูกตัดออกไป เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับยึดลำโพง แล้วใช้กาวสองหน้ายึดเข้ากับแม่เหล็กของลำโพง เมื่อแน่นหนาดีแล้ว ก็ให้ยัดเข้าไปในขวดพลาสติกดังรูปที่ 7 ก็เป็นอันเสร็จการติดตั้งลงขวดแล้วครับ
รูปที่ 7 Megaphone แบบเสร็จสมบูรณ์
การทดสอบ
หลังจากประกอบเสร็จแล้วก็มาทดสอบเสียงกันก่อนจะนำไปมอบให้กับพี่ว้ากของเรา โดยเริ่มจากการกดสวิตช์กดติดปล่อยดับค้างไว้แล้วลองพูดเข้าที่ไมค์ จะต้องได้ยินเสียงออกทางลำโพง หากเงียบเหมือนเป่าครก ก็ให้ลองหมุนโวลุ่มจนได้ยินเสียงก็เท่านี้เองครับ
เท่านี้ก็เรียบร้อยแล้วครับสำหรับสิ่งประดิษฐ์ช่วยว้าก ง่ายๆ แค่นี้ลองทำเล่นกันดูครับ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ก็ตลาดซะขนาดนี้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ขอให้สนุกกับของเล่นใหม่และถูกใจคนชอบว้ากนะครับ
รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน ¼ W 5%
R1 – 1kΩ 1 ตัว
R2 – 10 kΩ 1ตัว
R3, R4 – 100 kΩ 2 ตัว
R5 – 4.7 kΩ 1 ตัว
R6 – 10Ω 1 ตัว
VR1 – 100 kΩ แบบเกือกม้า 1 ตัว
VR2 – 10kΩ แบบโปเทนชิโอมิเตอร์ 1 ตัว
ตัวเก็บประจุชนิดโพลีเอสเตอร์
C2, C5, C6 – 0.1µF 50V หรือ 63V 3 ตัว
ตัวเก็บประจุชนิดบอิเล็กทรอไลต์
C1 – 47µF 16V หรือ 25V 1 ตัว
C3 – 100µF 16V 1 ตัว
C4 – 22µF 16V หรือ 50V 1 ตัว
C7 – 470µF 16V 1 ตัว
คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน 1 ตัว
อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 – TLC 2272 1 ตัว
IC2 – LM 386N-1 1 ตัว
อื่นๆ
สวิตช์กดติดปล่อยดับ 1 ตัว
ซ็อกเก็ตไอซี 8 ขา 2 ตัว
ลูกบิดสำหรับ VR2 1 ตัว
ลำโพงขนาด 0.25W 8Ω 1 ตัว
ขวดน้ำขนาด 1.25 ลิตร 1 ขวด
แบตเตอรี่ 9V 1 ก้อน
ขั้วแบตเตอรี่สำหรับแบตเตอรี่ 9V 1 อัน
แผ่นกระดาษแข็งหรือฟิวเจอร์บอร์ด หนา 3 ถึง 5 มม.
ขนาด 1×1 ฟุต