“ดีป้า” จับมือ “การท่าเรือฯ” สานต่อความร่วมมือ  พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังสู่ Smart City ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

“ดีป้า” จับมือ “การท่าเรือฯ” สานต่อความร่วมมือ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังสู่ Smart City ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

24 มกราคม 2565กรุงเทพมหานคร – ดีป้า และ การท่าเรือฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนา Smart City ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ เดินหน้าสานต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ยกระดับการบริหารจัดการสภาพการจราจรในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อขับเคลื่อนสู่ท่าเรือที่ได้มาตรฐานระดับโลก ก่อนเดินหน้าประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมด้วย เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนา Smart City ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ณ อาคารดีป้า ลาดพร้าว

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวสืบเนื่องมาจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่มุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ทั้งการส่งออกและนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางเรือและรถบรรทุก เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลสำหรับผู้ให้บริการท่าเรือ รถไฟ รถบรรทุกขนส่งสินค้า ผู้ให้บริการคลังสินค้า ตลอดจนผู้นำเข้า-ส่งออก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านอื่น ๆ

พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสภาพการจราจรในพื้นที่ท่าเรือฯ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็วแก่ผู้ใช้บริการ ลดความแออัด และระยะเวลารอคอย ลดต้นทุนด้านการขนส่ง รวมถึงมลพิษทางสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนท่าเรือแหลมฉบังสู่การเป็นท่าเรือที่ได้มาตรฐานระดับโลก และรองรับการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ซึ่งประเมินว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจมากกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี

ด้าน เรือโท ยุทธนา กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาประยุกต์ใช้กับท่าเรือแหลมฉบังจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการ และสามารถนำมาใช้เป็นฐานข้อมูล (Big Data) ที่สำคัญ เพื่อต่อยอดไปสู่การเป็นฐานข้อมูลด้านการขนส่งของท่าเรือแหลมฉบังและภาคตะวันออก อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีการจัดเก็บและการบริหารฐานข้อมูล รองรับการทำงานระหว่างหน่วยงาน และการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลข้อมูล อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมขนส่ง และประชาชนในชุมชนโดยรอบ

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนา Smart City ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะให้ความสำคัญกับการจัดให้มีบริการอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการต่อยอดระบบจองคิวรถบรรทุก (Truck Queue) ของท่าเรือฯ โดยภาพรวมการบริหารจัดการด้วยแพลตฟอร์มและการวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังจะพัฒนาโดยใช้กรอบการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองของ ดีป้า ซึ่งมีแหล่งข้อมูลต้นทาง อาทิ ข้อมูลการเดินรถ ข้อมูลจากหัวรถลาก ข้อมูลตู้คอนเทนเนอร์ ข้อมูลตารางเรือ สายเรือ และอื่น ๆ จากท่าเรือเอกชน รวมถึงข้อมูลประกอบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการจราจร อากาศ CCTV และข้อมูลที่ได้จากระบบให้บริการที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ โดยรวบรวมผ่านระบบ Smart Port Xchange Engine ซึ่งมีองค์ประกอบหลักตามกรอบการพัฒนาคือ Data Catalog, Data Exchange และ Data Governance จากนั้นนำมาสร้างเป็นบริการใหม่ ได้แก่ Smart Port Traffic, Smart Truck, Smart Port e-Payment, Smart Backhaul และ Smart Port Analytics อีกทั้งยังมีการให้บริการ Open Data สำหรับผู้ที่สนใจ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการปรับเปลี่ยนการทำงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และเหมาะสม