Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

เอดิสัน มอเตอร์ ร่วมกับ สตาร์เลียน ผนึกกำลังซีไอเอ็มบี ไทย และเวิลด์ลีส ผลักดัน มอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า ฝีมือสตาร์ทอัพไทย

เอดิสัน มอเตอร์ สตาร์ทอัพไทย – สตาร์เลียน โรงงานผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ – เวิลด์ลีส สินเชื่อเช่าซื้อ – ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย Sustainable Banking ผนึกกำลังผลักดันพลังงานสะอาดหวังเปลี่ยนเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมอันยั่งยืน ด้วยการร่วมสนับสนุนมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า ที่เพิ่งเปิดตัวในงาน Mobile & EV Expo จัดโดย DTAC เพื่อบุกเบิกกระแสรถไฟฟ้าให้เกิดขึ้น ล่าสุด กลุ่มซีไอเอ็มบี ไทยได้เข้ามาเป็นผู้นำปล่อยกู้ ‘สินเชื่อไร้ฝุ่น’ โดยสนับสนุนสินเชื่อทั้งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า Edison Motors แบรนด์ของสตาร์ทอัพไทย และ TAILG (ไถ่หลิน) มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ดังติดอันดับ 2 ของจีน ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์นี้ได้จับมือกับทางสตาเลียน ให้เป็นโรงงานผู้ผลิต โดยทุกภาคส่วนร่วมมือกันสนับสนุนรถไฟฟ้า พร้อมแหล่งทุน โดยหวังผลักดันพลังงานสะอาด เพื่อสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่


นายณัฐพัชร เลิศวิริยะสวัสดิ์ Co-Founder/ CEO บริษัท เอดิสัน มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบัน 99% ของรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยใช้พลังงานน้ำมัน แม้จักรยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) จะเข้ามาไทยกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม เป็นที่มาของการก่อตั้ง Edison Motors สตาร์ทอัพคนไทยขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ภายใต้การนำของสองวิศวกรรุ่นใหม่ในปี 2560 ที่ต้องการสร้างรถ EV เพื่อเปลี่ยนมุมมองเดิมของตลาดที่มองว่ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าขับขี่ได้เพียงระยะใกล้ ใช้เวลาชาร์จนาน ประสิทธิภาพโดยรวมน่าผิดหวัง ไม่สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน

“เรานำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ดีที่สุดจากทุกมุมโลกผสานเข้ากับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการก้าวสู่การเป็นสัญลักษณ์ระดับโลกแห่งวงการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เกิดเป็นมอเตอร์ไซค์ EV รุ่น Edison VOLTA ที่สามารถขับขี่ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นระยะทางไกล 150 กิโลเมตร โดยใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ขับขี่ได้เร็วขึ้น ยั่งยืนขึ้น มีความคุ้มค่า ประหยัดต้นทุนพลังงานทั้งของผู้ใช้เองและส่วนรวมในระยะยาว ทั้งจากต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่ถูกกว่าน้ำมัน รวมถึงต้นทุนด้านการซ่อมบำรุง และสมรรถนะการใช้งานที่ดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดีต่อชั้นบรรยากาศและไม่สร้างมลพิษทางเสียงอีกด้วย EV เป็นทางออกอันสมบูรณ์แบบเพื่ออนาคตที่ดีกว่า รถ EV 1 คัน ช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานได้ 0.92บาท/กิโลเมตร ลดมลพิษ CO2ได้ 3.5g/km ถ้ามีคนใช้ EV เพิ่มเป็น 10,000 คัน จะช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานได้ 9,200 บาทต่อกิโลเมตร ลดมลพิษ CO2ได้ 35,000 g/km ยังไม่รวมถึง NOx ที่เป็นแก๊สอันตรายต่อสุขภาพและทำให้เสียชีวิตได้ โดยรถน้ำมันผลิตอยู่ที่ 1.8g/km” นายณัฐพัชร กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น Edison VOLTA มาพร้อมนวัตกรรมด้านคุณสมบัติใหม่ของตัวรถ ทั้งระบบ Battery Swap System (BSS) ทำให้รถชาร์จไฟฟ้าได้ทั้งแบบ on-board และ off-board ระบบ Body Swap Design (BSD) ส่งผลให้ตัวถังรถสามารถอัพเดทรุ่นและปรับแต่งแก้ไขได้ รวมไปถึงระบบเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน EDDI Connect บนแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ เข้าถึงพลังของสมาร์ทโฟนไปพร้อมกับประสบการณ์การขับขี่ ต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต เพราะรองรับการติดตั้งแอปพลิเคชั่นจำเป็นและยอดฮิตที่ผู้บริโภคนิยมใช้ มี GPS ระบุตำแหน่ง ช่วยให้ธุรกิจนำไปบริหารจัดการได้ดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์

ล่าสุด รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า VOLTA ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพทางวิศวกรรมจากทีมงานสถาบันยานยนต์ไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการรับรองให้ใช้งานบนท้องถนนของไทยอย่างเป็นทางการ รวมถึงการทดสอบการขับขี่บนถนนเป็นระยะทางรวม 2,000 กิโลเมตรนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนรวม ซึ่งทางเอดิสันจับมือกับสตาร์เลียนให้เป็นโรงงานผลิตให้

นางอารีรัตน์ ศรีประทาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร The Stallions เปิดเผยว่า สตาร์เลียนเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนการผลิต Edison VOLTA ซึ่งหลังจากเปิดตัวไปเริ่มมีผู้สนใจเข้ามาสั่งจองแล้ว และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาไม่เกิน 6 เดือน พร้อมส่งมอบให้ลูกค้าได้ภายในเดือนกันยายน 2562 ขณะเดียวกัน สตาร์เลียนยังเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ไถ่หลิง นำเข้าจากประเทศจีนอีกด้วย เนื่องจาก EV ยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง บริษัทจึงเสนอทางเลือกที่หลากหลาย ไปพร้อมกับการศึกษาตลาด เรียนรู้ผู้บริโภค และปรับตัว เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ทุกวันนี้ องค์กรส่วนใหญ่ต่างทำ CSR เพื่อตอบแทนสังคม แต่ความร่วมมือในครั้งนี้ ธุรกิจนี้เป็น CSR ในตัวเอง

“เราเข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพคนไทย เราสัมผัสได้ถึง mindset ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มุ่งธุรกิจอย่างเดียว แต่ตระหนักถึงผลประโยชน์รวมของสังคมและความยั่งยืน ยกตัวอย่าง การออกแบบตัวรถที่ยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยน เพียงเปลี่ยนหน้ากากก็เหมือนได้รถใหม่โดยไม่จำเป็นต้องซื้อรถใหม่ ในระยะแรกมอเตอร์ไซค์ EV มีสนนราคาตั้งแต่ 40,000-120,000 บาทต่อคัน ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากบริษัท เวิลด์ลีส ที่ตระหนักถึงพลังของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้” นางอารีรัตน์ กล่าว

นายทวีพล เจริญกิตติคุณไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิลด์ลีส จำกัด (WL) ผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ในกลุ่มธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมสนับสนุนรถ EV ด้วยดอกเบี้ยพิเศษ แม้จะเป็นตลาดใหม่ แต่เป็นตลาดที่ต้องศึกษาเรียนรู้ไปด้วยกัน และตลาดคงเกิดไม่ได้หากขาดผู้ให้บริการสินเชื่อ ซึ่งบริษัทต้องการส่งเสริมพลังงานสะอาด จึงได้เตรียมโปรแกรม ‘สินเชื่อไร้ฝุ่น’ สำหรับเช่าซื้อรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ด้วยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 1.5% ต่อเดือน ถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยรถจักรยานยนต์ทั่วไปในท้องตลาด ที่ 1.9% ต่อเดือน ผ่อนนานสูงสุด 4 ปี โดยมีธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้บริการสำหรับลูกค้าที่สนใจ

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการสินเชื่อไร้ฝุ่นสอดคล้องกับพันธกิจของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และกลุ่มซีไอเอ็มบี ที่ต้องการทำ Sustainable Banking วันนี้ระบบขนส่งแห่งโลกยุคใหม่เพื่อความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้คิดค้น ผู้จำหน่าย ผู้สนับสนุนแหล่งทุน และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ใช้ กลุ่มเป้าหมายของเราในระยะแรก คือ ลูกค้าองค์กรและผู้ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับเทคโนโลยีใหม่ แต่ในระยะยาว ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือ ทุกคน


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ส่งมอบผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ งานวิจัยและพัฒนาส่วนประกอบระบบการจัดเก็บและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำโดย รศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ รศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดร.เต็มสิริ ทรัพย์สมาน ผู้จัดการโครงการ และทีมวิจัย ส่งมอบผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ งานวิจัยและพัฒนาส่วนประกอบระบบการจัดเก็บและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ


Research and Development of Automated Storage and Retrieval System (AS/RS) Component ให้กับบริษัทระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุงจำกัด (REPCO) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีเมนต์ไทย (SCG)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาเครื่องจัดเก็บและเรียกคืนสินค้า วิจัยและพัฒนาโปรแกรมระบบจัดการคลังสินค้า และระบบควบคุมคลังสินค้า

เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 6.30 – 16.00 น. ณ บริษัท นวพลาสติกอุตสาหกรรม จำกัด จังหวัดระยอง


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. MOU พร้อมเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ “นักบินพาณิชย์ตรี”

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และโรงเรียนการบินศรีราชา เอวิเอชั่น พร้อมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (หลักสูตรนานาชาติ) ในวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุม 328 อาคาร 81 คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดทำโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ร่วมกัน โดยนักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ สามารถเลือกเรียนในหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ของโรงเรียนการบินศรีราชา เอวิเอชั่น ควบคู่ไปกับการเรียนในหลักสูตรปกติ มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี นับตั้งแต่วันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

กิจกรรมความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ และโรงเรียนการบินศรีราชา เอวิเอชั่น เช่น ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันดำเนินโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี โดยให้นักศึกษาในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ สามารถเลือกเข้าร่วมเรียนในหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ของโรงเรียนการบินศรีราชา เอวิเอชั่น ควบคู่กันไป ต้องมีนักศึกษาในแต่ละรุ่น จำนวนไม่น้อยกว่า 6 คน การรับสมัครและการคัดเลือกนักศึกษาเข้าร่วมโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี ให้เป็นไปตามความเห็นชอบของทั้งสองฝ่าย รวมถึงสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากร อาจารย์และนักศึกษา เพื่อการเรียนการสอน และการวิจัยร่วมกัน ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมและโครงการอื่น ๆ ในการสร้างองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมการบินและพัฒนาบุคลากรด้านการบินร่วมกัน

สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โทรศัพท์ 0-2555-2000 ต่อ 8315, 8308

ขวัญฤทัย ข่าว/ดร.ปิยลักษณ์ ภาพถ่าย


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. จัดบรรยายพิเศษ “ความสำคัญของคณิตศาสตร์และการคำนวณในงานวิศวกรรม”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ความสำคัญของคณิตศาสตร์และการคำนวณในงานวิศวกรรม” วิทยากรบรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ เดชะอำไพ ในวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 9.00-12.00 น. ห้องประชุมวิจิตรวาที ชั้น 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาคาร 81

ขอเชิญคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาที่สนใจ เข้าร่วมฟังบรรยายพิเศษ ดังกล่าวได้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ นางสาวฉวีวรรณ สิทธิ์ดา ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โทรศัพท์. 02-555-2000 ต่อ 8134 หรือ 086-3026906

ขวัญฤทัย ข่าว/วฉวีวรรณ ภาพถ่าย


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. กวาด 4 รางวัลชนะเลิศการแข่งขัน TEACHING ACADEMY AWARD 2019

คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นเจ้าภาพจัดโครงการแข่งขัน TEACHING ACADEMY AWARD 2019 (8th) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปรากฏว่าคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) คว้า 4 รางวัลชนะเลิศ จากประเภท

1. สื่อประกอบการเรียนการสอนนวัตกรรมฮาร์ดแวร์

2. การสอนวิชาทฤษฎี (กลุ่มสาขาวิชาอุตสาหการ/การผลิต/การเชื่อม)

3. การสอนวิชาทฤษฎี ( กลุ่มสาขาวิชาคอมพิวเตอร์) และ

4. การแข่งขันประเภทรีวิวประกอบเพลง

โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานโครงการแข่งขัน TEACHING ACADEMY AWARD 2019 (8th) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต โดยเครือข่ายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานตามภารกิจต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านประกันคุณภาพทางการศึกษา การถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการของผู้มีผลงานดีเด่น ด้านกิจกรรมนักศึกษา ด้านการจัดการเรียนการสอนการวิจัยและพัฒนาการบริการทางวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

การแข่งขันดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การแข่งขันประเภทการสอนของกลุ่มสาขาวิชาต่าง ๆ ประเภทสื่อประกอบการเรียนการสอนนวัตกรรมฮาร์ดแวร์ การแข่งขันประเภทการสร้างสื่อประกอบการเรียนการสอนนวัตกรรมซอฟต์แวร์ และการแข่งขันประกวดร้องเพลงลูกทุ่งและรีวิวประกอบเพลง ทั้งนี้มีผู้เข้างาน 400 คน จาก 10 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

(1) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

(2) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

(3) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

(4) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

(5) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

(6) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

(7) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

(8) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

(9) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ

(10) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอแสดงความยินดีกับทุกๆ สถาบันการศึกษาในครั้งนี้ด้วย แต่ละทีมฝีมือคุณภาพสมศักดิ์ศรีทุกทีม


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ETDA โชว์ความสำเร็จงาน Thailand e-Commerce Week 2019 คึกคัก ดันผู้ประกอบการไทยโตด้วยอีคอมเมิร์ซ พร้อมตั้งเป้าปี 62 สร้าง Workforce 1 ล้านคน

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เผยงาน Thailand e-commerce Week 2019 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2562 ประสบความสำเร็จเกินคาด ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้การตอบรับล้นหลาม มีผู้เข้าร่วมชมงานกว่าหมื่นคน มั่นใจแพ็ตฟอร์ม Young talent สามารถต่อยอดขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพื่อสร้าง Workforce รุ่นใหม่ รองรับ e-Commerce Park พร้อมตั้งเป้าผุด Silicon Valley ด้านอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรของประเทศไทย

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.)หรือ ETDA กล่าวว่าการจัดงาน Thailand e-commerce Week 2019 ภายใต้แนวคิด e-Commerce In The Park , e-Commerce is now #หาเงินก่อนไม่รอแล้วนะ ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซและผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมากจนทำให้ในช่วง 3 วันมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน


การจัดงานในครั้งนี้ ยังได้มีการเปิดตัว “Young talent Platform” เพื่อรองรับ Workforce โดยระดมสมองจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ Start up ต่างๆ และจะเป็น Platform แรกของประเทศ ที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้าน e-Commerce อย่างครบวงจร ตั้งแต่ให้คำปรึกษาในการทำธุรกิจ e-Commerceหางาน หาเงินทุน จับคู่ธุรกิจ สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ e-Leaning พร้อมกับเชื่อมต่อกับ e-Marketplace รวมทั้งให้บริการจดทะเบียนธุรกิจของภาครัฐ สร้าง Community ให้ Young Talent ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันก็ให้บริการด้าน e-Commerce เช่น Logistics, Payment, Online Marketing พร้อมตั้งเป้าให้เกิด Silicon Valley (ซิลิคอน วัลเล่ย์) ด้านอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรของประเทศไทย และยังมีการมอบรางวัล “Thailand e-Commerce Awards: People’s Choice 2019” สำหรับสุดยอดธุรกิจออนไลน์ขวัญใจคนไทยแห่งปี ให้แก่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ และพิเศษสุดของปีนี้ที่เปิดโอกาศให้กับนิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการประกวดผลิตสื่อสร้างสรรค์และแผนธุรกิจ เพื่อสนับสนุนอีคอมเมิร์ซไทยในกิจกรรม”รวมพลังยังทะเล้น (Young Talent)” 3 ด้าน ทั้ง Viral VDO, Jingle และBusiness Pitching มูลค่าเงินรางวัลกว่า 300,000 บาท อีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ์ โดยการลงนามกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจในยุคดิจิทัลในการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดบุคลากร (Workforce) ที่มีความรู้และทักษะที่ทันสมัยในยุคดิจิทัล เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และ Enterprise รวมทั้งการลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)เพื่อร่วมกันพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Consumer Protection) ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาปัจจุบันและการรับมือกับสถานการณ์ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังก่อให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจของผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และโลจิสติกส์ ที่จะสามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ และยังเป็นการจุดประกายให้เกิดผู้ประกอบการออนไลน์หน้าใหม่ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ไทยสามารถรักษาอันดับ 1 ในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของอาเซียนได้ โดยในปี 2561 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซพุ่งสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท และปี 2562 คาดว่าเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของ B2C (Business to Consumer) รวมทั้งจำนวนผู้ค้าออนไลน์ และนักช้อปออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุค รวมทั้งการพัฒนาของเครื่องมือสื่อสารการทำตลาด และจำนวนคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วยราคาการใช้งานที่ถูกลง ล้วนส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังมีโอกาสเติบโต ทั้งจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
“เทรนด์การทำตลาดอีคอมเมิร์ซหลังจากนี้ จะเป็นการนำข้อมูล หรือ Big Data มาพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ ที่พบว่าใช้บิ๊กดาต้าวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ๆ 100% , ใช้เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคอย่างแม่นยำและการวางแผนด้านการตลาด 92.85% และใช้วิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม กำหนดยุทธศาสตร์การจำหน่ายสินค้า 85.71% รวมทั้งธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์มีการใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาช่วยดำเนินธุรกิจด้านการบริหารและจัดการบริหารลูกค้าแล้ว 76.93% และกลุ่มที่ยังไม่มีการพัฒนาด้าน AI 23.07%” นางสุรางคณา กล่าว
ทั้งนี้ ETDA ยังเตรียมต่อยอดความสำเร็จจากการจัดงานในครั้งนี้ สำหรับพัฒนาการจัดงาน Thailand e-Commerce Week 2020 เพื่อรองรับนักธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่จะขยายตลาดเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับ e-Commerce Park ที่จะเป็นศูนย์กลางด้านอีคอมเมิร์ซอย่างครบวงจรแห่งแรกในไทยต่อไป

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

“ดีป้า”เปิดเวทีประลองไอเดีย ประกวดออกแบบมาสคอต“รัก”

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เชิญชวน นักศึกษา นักออกแบบ และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ต้อนรับเดือนแห่งความรัก โดยการร่วมส่งผลงานประกวดออกแบบมาสคอต“รัก”ในโครงการ“THAILAND PAVILION 2020 MASCOT DESIGN CONTEST”พร้อมชิงตั๋วเครื่องบินไป-กลับ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมโอกาสชมมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมการจัดแสดงนิทรรศการระดับโลกในงาน World Expo 2020 Dubai ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2563 – 10 เมษายน 2564 ซึ่งงาน World EXPO นับเป็นงานที่ติด1 ใน 3 ของงานมหกรรมระดับโลก ที่มีความยิ่งใหญ่บนเวทีระดับสากล ซึ่งเป็นการแสดงภาพลักษณ์อันดี และแสดงศักยภาพของประเทศไทย โดยมีประเทศเข้าร่วมงานกว่า 180 ประเทศจากทั่วโลก

โดยแนวคิดการออกแบบมาสคอต ประจำอาคารแสดงประเทศไทยนั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทยที่มาจากพวงมาลัย โดยได้หยิกยก “ดอกรัก” มาจากพวงมาลัยที่คนไทยมอบให้ผู้มาเยือน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับ และยังเป็นที่มาของงานผนังตกแต่งอาคารแสดงประเทศไทยที่มีรูปแบบการจัดวางองค์ประกอบคล้ายกับการร้อยมาลัยได้อย่างมีเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยที่พวงมาลัยได้ถูกดัดแปลงให้เข้ากับ ยุคดิจิทัล ด้วยลายเส้นที่สานต่อกันเป็นรูปร่าง เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อของคนไทย วัฒนธรรม และวิถีชีวิต เพื่อเป็น “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” อันเป็นแนวคิดหลักของอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion )

ชื่อมาสคอต ภายใต้ชื่อ“รัก” ในภาษาอังกฤษได้ดัดแปลงเขียนให้ชาวต่างชาติเข้าใจได้ง่าย โดยใช้ชื่อว่า“Luck” ซึ่งแสดงถึงความหมายที่ดี ทั้งความรักของคนไทยต่อนานาชาติ รวมถึงความโชคดี ซึ่งมาสคอตตัวแทนอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) จะมีบุคคลิก Smart & Friendly เป็นมิตร และเป็นที่รักของผู้พบเห็น

สำหรับผู้สนใจเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบมาสคอต “รัก” ในโครงการ“THAILAND PAVILION 2020 MASCOT DESIGN CONTEST” ออก แบบ รัก สามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 10 มีนาคม 2562 และประกาศผลผู้ชนะวันที่ 15 มีนาคม 2562 สามารถดูรายละเอียดและสมัครเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ : expo2020dubaithailand.com และ Facebook : EXPO 2020 DUBAI THAILAND หรือแนบใบสมัครได้ที่ info@thailandexpo2020.com


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดใหญ่ศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ ฉลอง 20 ปี

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานครบรอบ 20 ปี ชูแนวคิด “ขับเคลื่อนสู่มาตรฐานและนวัตกรรม” (Driving Toward Standardization and Innovation) พร้อมพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการทดสอบ 5 หวังรองรับการขยายงานบริการมาตรฐานและทดสอบในอนาคต หนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสู่ Smart Electronics เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชื่อมโยงและต่อยอดไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เช่น Smart Farming, Smart Health, Smart Factory, Smart Vehicle เผยข้อมูลส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2561 มีมูลค่า 62,108.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 คาดปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 หรือมีมูลค่าราว 64,133.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลักจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปาฐกถาพิเศษในงาน 20 ปี สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง “อุตสาหกรรมไทยกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคตและนวัตกรรม (Thai Industry : Industry Transformation and Innovation)” ว่าสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงผันผวน โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของประชากรโลก และเข้ามามีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นยุคที่เรียกว่า Disruptive Technology เทคโนโลยีจะเข้ามาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทำให้แต่ละประเทศต้องคิดกลยุทธ์เพื่อรักษาระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศตนเอง โดยเร่งสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศในทุก ๆ ด้าน ต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ เป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และปรับเปลี่ยนจากการให้บริการพื้นฐานเป็นบริการที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

“อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตมานานกว่า 40 ปี และเป็นห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปโดยเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น อุตสาหกรรมไฟฟ้าฯ จึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่ Smart Electronics ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงไปกับแทบทุกอุตสาหกรรมในอนาคต โดยจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหลายๆ กลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ Smart Farming, Smart Health, Smart Factory, Smart Vehicle เป็นต้น

และเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง กระทรวงฯจึงได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานจัดตั้งศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Industry Transformation Center : ITC ) มีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการเพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ เป็นศูนย์กลางที่ดึงความหลากหลายของหน่วยงานที่มีความชำนาญด้านการออกแบบและวิศวกรรมจากผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก จากสถาบันเครือข่ายผู้ประกอบการ จากสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ มาให้บริการแก่ภาคเอกชน ซึ่งมีสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยร่วมที่สำคัญ และได้ดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Design Lab – EDL) เพื่อช่วยส่งเสริม พัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ครบวงจร ซึ่งถือเป็นหน่วยงานเครือข่ายของศูนย์ ITC ด้วย”

นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวชี้แจงถึงข้อมูลสถานการณ์การส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ว่า ในปี 2561 ภาพรวมมีมูลค่าการส่งออก 62,108.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 แบ่งเป็น 1) สินค้าไฟฟ้า 17,491.67 ล้านเหรียญสหรัฐ(+1.01%) 2) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 38,063.26 ล้านเหรียญสหรัฐ (+4.27%) และ 3)สินค้าไฟฟ้ากำลัง 6,553.59 ล้านเหรียญสหรัฐ(+2.63%) ทั้งนี้สัดส่วนประเทศตลาดส่งออกหลักในภาพรวม 5 อันดับ ได้แก่ อาเซียน ร้อยละ 18.47(+5.38%) สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 17.89(-2.30%) สหภาพยุโรป ร้อยละ 14.46(+8.64%) ญี่ปุ่น ร้อยละ 11.50(+12.19%) และจีน ร้อยละ 9.03(-0.49%) ตามลำดับ

นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยสินค้าไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ(+9.73%) โดยเฉพาะญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ส่วนสินค้าที่ปรับตัวลดลง อาทิ เครื่องอุปกรณ์สําหรับป้องกันวงจรไฟฟ้า(-3.19%) ปรับตัวลดลงในตลาดส่งออกหลัก อาทิ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก ตู้เย็น(-6.59%) ปรับตัวลดลงในจีนค่อนข้างมาก และญี่ปุ่นเล็กน้อย กล้องถ่ายบันทึกภาพ (-3.93%)ปรับตัวลดลงในตลาดส่งออกหลัก อาทิ จีน สหภาพยุโรป และอาเซียน เป็นต้น เนื่องจากผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา กับ จีน ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการปรับตัวลดลง

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาดส่งออกหลัก ยกเว้นตลาดจีนมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย อาทิ ญี่ปุ่น(+9.56) จากเครื่องโทรศัพท์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integrated Circuit) และเครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนา เป็นต้น และสหภาพยุโรป(+8.91) จากอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integrated Circuit) และเครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนา เป็นต้น ส่วนสินค้าไฟฟ้ากำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาดส่งออกหลัก ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกา อาทิ จีน(+19.71) จากแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้า และโซล่าเซลล์ เป็นต้น และญี่ปุ่น(+13.17) จากสายไฟฟ้า ชุดสายไฟ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และเครื่องเปลี่ยนไฟฟ้า เป็นต้น

“สำหรับแนวโน้มปี 2562 ประมาณการว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 โดยในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.38 และอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.56 ส่วนการส่งออก ในภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.26 หรือมีมูลค่าราว 64,133.26 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.55 เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดส่งออกหลักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีสถานประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,419 ราย แบ่งเป็นขนาดเล็ก 1,503 ราย ขนาดกลาง 530 ราย และขนาดใหญ่ 386 ราย โดยสถานประกอบการขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการสัญชาติไทย มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมรวมจำนวน 753,357 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันไฟฟ้าฯ ได้จัดงานครบรอบ 20 ปี โดยชูแนวคิด “ขับเคลื่อนสู่มาตรฐานและนวัตกรรม” พร้อมจัดพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการทดสอบ 5 และจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ ภายในบริเวณศูนย์ปฏิบัติการและมาตรฐาน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นิคมอุตสาหกรรมบางปู

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯได้มุ่งมั่นในการดำเนินงานตามภารกิจหลักเพื่อขับเคลื่อน ส่งเสริม และสนับสนุนงานวิชาการและงานบริการ ด้านการมาตรฐาน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ได้พัฒนาขีดความสามารถและขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร ซึ่งได้มีการพัฒนาและขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ หรือ Product Testing และการสอบเทียบ หรือ Calibration โดยห้องปฏิบัติการทดสอบและการสอบเทียบได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17025 การบริการด้านการตรวจคุณภาพโรงงาน หรือ Factory inspection โดยได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17020 และการบริการด้านการรับรองผลิตภัณฑ์ หรือ Product Certification โดยได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน ISO/IEC 17065 นอกจากนี้ยังได้ดำเนินภารกิจด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับรองและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ภายใต้ข้อตกลงร่วม ASEAN EE MRA ทั้งยังได้สมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยรับรองและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของ IECEE CB Scheme ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (HOUS) กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ส่องสว่าง (LITE) และกลุ่มมาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า(EMC)

ขณะเดียวกันยังมีภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากร ฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ทั้งหลักสูตรด้านพื้นฐานทั่วไป หลักสูตรด้านการบริหารจัดการและผลิตภาพ หลักสูตรด้านเทคโนโลยี นับจนถึงปัจจุบัน มีผู้ผ่านการอบรม จำนวนทั้งสิ้นกว่า 190,000 คน รวมทั้งมีภารกิจหลักด้านการดำเนินการศึกษาวิเคราะห์วิจัยเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายของภาครัฐ และการพัฒนาจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และภารกิจในการบริการเกี่ยวกับระบบรับรองสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้แก่ผู้ประกอบการตามมาตรการของรัฐเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและบรรเทาผลกระทบจากข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้การจัดสร้างอาคารห้องปฏิบัติการทดสอบ 5 ขึ้น เพื่อรองรับการขยายขอบข่ายการให้บริการด้านการมาตรฐาน การทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ของสถาบันฯในอนาคตได้อีกอย่างน้อย 3 – 5 ปี อาทิ การทดสอบอุปกรณ์ EV Charger การทดสอบเครื่องปรับอากาศระบบ Multi-Split รวมทั้งรองรับงานมาตรฐานอื่นๆ และ Smart Electronics เป็นต้น


 

Exit mobile version