Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

Binance TH, Binance Charity และ CZ มอบความช่วยเหลือเร่งด่วนรวมมูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์ แก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในไทยและเมียนมา

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงประเทศไทย Binance Charity ร่วมกับนายฉางเผิง จ้าว (Changpeng Zhao หรือ CZ) ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Binance ได้ประกาศโครงการช่วยเหลือ โดยจะทำการแจกจ่ายความช่วยเหลือผ่านการแอร์ดรอปเหรียญ BNB รวมมูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้ใช้ Binance.com ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเมียนมา และผู้ใช้ของ Binance TH by Gulf Binance ที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือในภูมิภาคนี้

สำหรับประเทศไทย รายชื่อพื้นที่ที่ถือว่าได้รับผลกระทบสามารถตรวจสอบได้จากหน้า FAQ ของ Binance TH (https://www.binance.th/th/faq) และเว็บไซต์ของ Binance Charity (https://www.binance.charity/) โดยการระบุผู้ใช้ที่ได้รับสิทธิ์จะอ้างอิงจากที่อยู่ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับ Binance TH by Gulf Binance โดยคาดว่าผู้ใช้ที่มีสิทธิ์จะได้รับเงินช่วยเหลือภายในวันที่ 14 เมษายน 2568

“ในช่วงเวลาวิกฤต ทุกวินาทีล้วนมีความหมาย” CZ กล่าว “เทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการส่งต่อความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประสบภัย เราขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยื่นมือช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในช่วงเวลาสำคัญนี้” CZ กล่าวเสริม

นายริชาร์ด เทง ซีอีโอของ Binance กล่าวว่า “เรารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในเมียนมา ประเทศไทย และพื้นที่โดยรอบ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้เสียชีวิต ครอบครัวของพวกเขา และทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้ Binance ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความช่วยเหลือของเราจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ในบางส่วน”

นายนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ซีอีโอของ Binance TH by Gulf Binance กล่าว  “ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้ที่ต้องสูญเสียคนที่รักและขอส่งกำลังใจให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ เราได้ร่วมมือกับ Binance Charity เพื่อแสวงหาวิธีการที่สร้างสรรค์ในการช่วยเหลือในยามวิกฤต และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยที่เรามีต่อผู้ใช้และชุมชนโดยรวม นอกจากนี้เราขอเชิญชวนผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือหากเป็นไปได้ให้ส่งต่อความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นที่อาจเดือดร้อนมากกว่า เพื่อให้ความช่วยเหลือไปถึงผู้ที่จำเป็นได้รับอย่างทั่วถึง”

นอกจากนี้ Binance TH เห็นความสำคัญของการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานต่าง ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำกับการสุนัขตำรวจที่เป็นอีกกำลังหลักเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่ง Binance TH by Gulf Binance จะบริจาคเงินเพิ่มเติมจำนวน 200,000 บาท ให้กับ องค์การสุนัขกู้ภัยแห่งชาติ ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อช่วยสนับสนุนการฝึกสุนัขสำหรับภารกิจและปฏิบัติการพิเศษต่าง ๆ  

Binance Charity ยังคงยึดมั่นในพันธกิจในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการ ด้วยพลังของเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยก่อนหน้านี้ได้ดำเนินโครงการเพื่อสังคมในประเทศต่าง ๆ เช่น สเปน ตุรกี อาร์เจนตินา ลิเบีย เวียดนาม และอีกมากมาย

ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดอ่านเพิ่มเติมได้ที่หน้า FAQ

เกี่ยวกับ Binance Charity

Binance Charity คือองค์กรการกุศลชั้นนำที่ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อมอบความช่วยเหลือที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และทันท่วงทีในช่วงเวลาวิกฤต ด้วยการนำพลังของคริปโทเคอร์เรนซีและโซลูชัน Web3 มาปรับใช้ Binance Charity มีเป้าหมายเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือกับทรัพยากรที่จำเป็นในการฟื้นฟูชีวิตและชุมชน ด้วยพันธสัญญาอันแน่วแน่ต่อภารกิจด้านมนุษยธรรมทั่วโลก Binance Charity ยังคงเดินหน้าบุกเบิกแนวทางเชิงนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

เกี่ยวกับไบแนนซ์ ทีเอช บาย กัลฟ์ ไบแนนซ์ (BINANCE TH by Gulf Binance) 

บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf BINANCE) คือ บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ดิจิทัล แองเคอร์ โฮลดิ้งส์  จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายในเครือของไบแนนซ์ และบริษัท กัลฟ์ เอดจ์ จำกัด โดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากกระทรวงการคลังของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ก่อนที่จะเปิดให้บริการแพลตฟอร์ม BINANCE TH by Gulf BINANCE (“BINANCE TH”) ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน โดย BINANCE TH มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภูมิทัศน์คริปโตในประเทศไทย ด้วยการสร้างการยอมรับและสนับสนุนให้เกิดการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัล เน้นย้ำในการดูแลด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ เสริมสร้างความรู้ด้านดิจิทัล และการดำเนินงานภายใต้กฏระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชม เว็บไซต์ https://www.binance.th/th


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ปฏิบัติการกู้ภัยของทีม iRAP Robot มจพ. เดินหน้าสำรวจค้นหาผู้รอดชีวิต ในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อเป็นวันที่ 4 ใช้ทีมถึง 2 ทีม

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย “iRAP Robot” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  (มจพ.) ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว  พร้อมเดินหน้าสำรวจค้นหาผู้รอดชีวิตในพื้นที่เสี่ยงภัยต่อ นับจากวันที่ 28-31 มีนาคม  2568  วันนี้เป็นวันที่ 4 แล้ว   โดยทีมหุ่นยนต์กู้ภัย “iRAP Robot”  มจพ. มีผู้ประสานงานหลักทีมหุ่นยนต์กู้ภัย คือ นายพัฒนเดช ศรีอนันต์  ชื่อเล่นแพทหรือ โก๋แพท เป็นนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  (มจพ.) แจ้งความคืบหน้าตลอดบนเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/iraprobot

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย “iRAP Robot” รายงานสถานการณ์ถึงปฏิบัติการกู้ภัยของทีม iRAP Robot (KMUTNB) ที่เตรียมความพร้อมและได้เริ่มต้นภารกิจกู้ภัย โดยร่วมมือกับทีมกู้ภัยหน่วยต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยทีม iRAP Robot (KMUTNB) ในการสร้างแผนที่และสำรวจพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้หรือมีอันตราย  นำหุ่นยนต์กู้ภัย 2 -3 ตัว ในแต่ละวันจัดสรรไม่เหมือนกันตามภารกิจทั้งติดตั้งเซ็นเซอร์ LiDAR, กล้องตรวจจับความร้อน, แขนกลหยิบจับ, เซ็นเซอร์วัดออกซิเจน และระบบสร้างแผนที่ 3D รวมถึงหุ่นยนต์กู้ภัยขนาดเล็กที่มีความสามารถคล้ายกันในการสำรวจและสร้างแผนที่ 3D ได้ นอกจากนี้ ทีมยังได้ทดสอบระบบการสื่อสารและการควบคุมระยะไกล เพื่อให้มั่นใจว่าหุ่นยนต์จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังมีโดรน DJI Matrice 350RTK จำนวน 2 ลำ สำหรับสำรวจทางอากาศ  ซึ่ง มจพ. ได้จัดทีมหุ่นยนต์กู้ภัย “iRAP Robot” (KMUTNB) สนับสนุนในการปฎิบัติหน้าที่ครั้งนี้อย่างเต็มความสามารถ

การปฏิบัติงานภาคสนาม ทีม iRAP Robot (KMUTNB) ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ชั้นใต้ดินของตึกที่ถล่มร่วมกับทีมกู้ภัย USAR ในเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน จึงได้ส่งหุ่นยนต์ลงไปสำรวจและสร้างแผนที่ 3D ในรอบแรก ขณะนี้กำลังดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลแผนที่ 3D ที่ได้จากการใช้หุ่นยนต์สแกนข้อมูลสภาพแวดล้อม เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่กู้ภัย

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot (KMUTNB)  รายงานสถานการณ์ ปฏิบัติการกู้ภัยของทีม iRAP Robot (KMUTNB) ได้สรุปข้อมูลทั้งหมดเพื่อส่งต่อให้กับทีมเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย โดยได้รับความช่วยเหลือจากทางประเทศอิสราเอล โดยการสั่งการจากนายกรัฐมนตรีประเทศอิสราเอล  นายเบนจามิน เนทันยาฮู เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและต่อเนื่องของการดำเนินการ ภารกิจหลักก็คือการ Support ทีมขุดรื้อขุดค้นหา ว่าตอนนี้ขุดไปในระยะเท่าไหร่แล้ว โดยซอยแผนที่ 3D ส่งให้ทางทีมหน่วยงานกลาง   เว็บไซต์แสดง Maps 3D ของสถานที่เกิดเหตุ อัพเดทล่าสุด ทำโดยบุคลากรอาจารย์ จาก มจพ. อาจารย์ ดร.พชร  เครือวิทย์ ที่ลิงก์  http://npsurvey.thddns.net:3934/PC/viewer.html 

การส่งมอบแผนที่ 3D ฉบับสมบูรณ์ ทีม iRAP Robot (KMUTNB) ได้เสร็จสิ้นการสร้างแผนที่ 3D ของอาคารทั้งหมด ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งถือเป็นข้อมูลแผนที่ที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ในตอนนี้ โดยได้ส่งมอบแผนที่ให้กับทุกหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติการกู้ภัย เพื่อใช้ในการประเมินและวางแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

ขอขอบคุณข้อมูล 3D

ข้อมูลแผนที่ 3D ของอาคารตึกภายนอกจากโดรนสำรวจที่ได้รับจาก สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ (D.R.A.T.)

ข้อมูลแผนที่ 3D ของอาคารตึกภายในจากหุ่นยนต์กู้ภัยที่ได้จากทีม iRAP Robot (KMUTNB)

การใช้แผนที่ 3D ที่ได้รับการสร้างขึ้น ยังสามารถนำไปใช้ในการประเมินปริมาตรของซากอาคาร โดยการคำนวณน้ำหนักจากค่า density ของคอนกรีต ซึ่งจะช่วยในการประเมินเวลาและการดำเนินการขนย้ายซากออกจากพื้นที่เสียหาย

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย “iRAP Robot” ได้ลงปฎิบัติหน้าที่ จำนวน 2 ทีม ประกอบด้วย ทีมที่ 1 ประกอบด้วย 1.ผศ.ดร. จิรพันธ์ อินเทียม 2.นายพัฒนเดช ศรีอนันต์ 3.นายนภดล จำรัสศรี 4.นายชัยพฤกษ์ เลาหะพานิช 5.นายเนตินันท์ กุตนันท์ 6.นายธนกร กุลศรี 7.นายอาทิตย์ นาราเศรษฐกุล 8.นายเจษฎากร ชัยนราพิพัฒน์ และ 9.นายฐิติยศ ประกายธรรม ทีมที่ 2 ประกอบด้วย  1.รศ.ดร. กิตติชัย ธนทรัพย์สิน 2.ดร. สายันต์ พรายมี 3.นายภูมิทรรศน์ สังขพันธ์ 4.นายภูบดี บุญจริง 5.นายจิรกานต์ สุขเจริญ 6.นายเมธี มีเเสง 7.นายสุกฤษฎิ์ไชย หอมกระจาย 8.นายณภัทรจันทร์ลามและนายกลย์ภัทร์บุญเหลือและ

นอกจากนี้ทีม iRAP Robot (KMUTNB) ยังได้สนับสนุนกล้องโดรนรุ่นใหม่ล่าสุด DJI Zenmuse H30T ให้กับสมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ (D.R.A.T.) ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ค้นหาและสำรวจทางอากาศ  ทีม iRAP Robot (KMUTNB) ยังคงให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน และยืนยันถึงความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรนในการสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ในทุกด้าน

ขวัญฤทัย ข่าว/ข้อมูลภาพ โก๋แพท


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย “iRAP Robot” มจพ. ร่วมกับ อว.เข้าพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯตึก สตง. ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) แชมป์โลก 10 สมัย  ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งหุ่นยนต์ค้นหา พร้อมทั้งโดรน ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายโครงการอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง บริเวณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. ถล่มเกิดความเสียหาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและประสบภัย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม  2568

ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ.  นำโดย  รศ.ดร.กิตติชัย ธนทรัพย์สิน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เข้าช่วยเหลือโดยปฏิบัติภารกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและภาคเอกชน โดยนำหุ่นยนต์สำรวจ จำนวน 3 ตัว ไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติซ้ำซ้อน มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยกู้ภัย และเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงผู้ประสบภัยในสถานการณ์วิกฤติ ได้แก่ หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัยและหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก ออกแบบมาให้สามารถสร้างแผนที่สามมิติของพื้นที่ และเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เช่น อาคารที่ถล่มหรือพื้นที่จำกัดการเข้าถึง ข้อมูลที่หุ่นยนต์เก็บรวบรวมได้จะช่วยให้หน่วยกู้ภัยสามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก มีความคล่องตัวสูง เหมาะสำหรับการเข้าถึงพื้นที่แคบหรือซอกมุมต่างๆ พร้อมติดตั้งเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดระดับออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน เคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ต่างระดับ หรือเข้าถึงลำบาก รวมถึงการขึ้นบันไดได้อย่างมีเสถียรภาพ ถือเป็นจุดเด่น พร้อมทั้งติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิเพื่อใช้ประเมินสภาวะความร้อนในพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการวางแผนและตัดสินใจของเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ร่วมปฏิบัติงาน  ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot มจพ.  ใช้การ  ในขณะที่หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัย มาพร้อมแขนกลสำหรับหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ โดยตอนแรกในการเดินสำรวจบริเวณรอบอาคารและใช้หุ่นยนต์สำรวจเพื่อสร้างแผนที่ในพื้นที่โซนกู้ภัย B แล้วนำหุ่นยนต์ดังกล่าวเข้าพื้นที่รวมทั้งสนับสนุนทีมกู้ภัยและทีมช่วยเหลือ

ด้านกระทรวง อว.จะนำอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) จำนวน 2 ตัว เพื่อสนับสนุนภารกิจการสำรวจในครั้งนี้ด้วย โดยอากาศยานไร้ คนขับ โดรน DJI Mavic 3 Enterprise มีศักยภาพสูงมีกล้องที่มีความละเอียดสูงมีการซูมระยะไกลเพื่อใช้ในการสำรวจขอบเขตของความเสียหายจากแผ่นดินไหว

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะถูกนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย และสนับสนุนการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นการประเมินความเสียหายของโครงสร้าง เพื่อใช้ซ่อมแซมต่อไป

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มุ่งมั่นในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤติ และพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง และร่วมกันส่งกำลังใจให้กับทุกท่านที่ประสบภัยในครั้งนี้

ขวัญฤทัยข่าว


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ซิสโก้ร่วมกับ NVIDIA เปิดตัว “โครงสร้างพื้นฐาน AI ที่ปลอดภัยขั้นสูง”

กรุงเทพฯ, 26 มีนาคม 2568 — ซิสโก้ [NASDAQ: CSCO] ร่วมกับ NVIDIA เปิดตัวสถาปัตยกรรม AI factory ที่เน้นความปลอดภัยเป็นแกนหลัก ความร่วมมือกับ NVIDIA นี้ต่อยอดจากการขยายพันธมิตรที่ได้ประกาศไปเมื่อเดือนที่แล้ว โดยทั้งสองบริษัทได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วในการนำเสนอสถาปัตยกรรมอ้างอิงที่ผ่านการตรวจสอบแล้วในวันนี้ ทั้งสองบริษัทกำลังพัฒนา Cisco Secure AI Factory with NVIDIA เพื่อลดความซับซ้อนในการติดตั้ง จัดการ และรักษาความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐาน AI สำหรับองค์กรในทุกระดับ

ชัค ร็อบบินส์, ประธานกรรมการและซีอีโอของซิสโก้ กล่าวว่า “AI สามารถเปิดประตูสู่โอกาสที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับองค์กรธุรกิจ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างเครือข่ายและความปลอดภัยเข้าด้วยกัน โซลูชันที่น่าเชื่อถือและเปี่ยมด้วยนวัตกรรมของ Cisco และ NVIDIA จะเสริมศักยภาพให้ลูกค้าของเราสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย”

เจนเซน หวง, ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ NVIDIA กล่าวว่า “AI factories กำลังเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรม และความปลอดภัยต้องถูกสร้างเข้าไปในทุกเลเยอร์ เพื่อปกป้องข้อมูล แอปพลิเคชัน และโครงสร้างพื้นฐาน โดย NVIDIA และ Cisco กำลังร่วมกันสร้างพิมพ์เขียวสำหรับ AI ที่ปลอดภัย มอบรากฐานที่องค์กรต่างๆ ต้องการเพื่อขยายการใช้งาน AI ได้อย่างมั่นใจ ในขณะที่ปกป้องทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของพวกเขา”

การพัฒนาและส่งมอบแอปพลิเคชัน AI ต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพสูง ขยายขนาดหรือสเกลได้ รวมถึงชุดเครื่องมือซอฟต์แวร์ AI  โดยการรักษาความปลอดภัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานและซอฟต์แวร์ AI นี้ต้องการสถาปัตยกรรมใหม่ที่ฝังระบบความปลอดภัยในทุกเลเยอร์ของระบบ AI ซึ่งสามารถขยายตัวและปรับเปลี่ยนโดยอัตโนมัติเมื่อโครงสร้างพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไป ความร่วมมือระหว่าง Cisco และ NVIDIA บนแพลตฟอร์มเครือข่าย NVIDIA Spectrum-XTM Ethernet สร้างรากฐานสำหรับ Cisco Secure AI Factory with NVIDIA ซิสโก้กำลังบูรณาการโซลูชันความปลอดภัยอย่าง Cisco Hypershield เพื่อช่วยปกป้องเวิร์กโหลด AI ขณะที่ Cisco AI Defense ช่วยปกป้องการพัฒนา การติดตั้ง และการใช้งานโมเดลและแอปพลิเคชัน AI  โดย Cisco และ NVIDIA จะมอบความยืดหยุ่นให้ลูกค้าในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานตามความต้องการด้าน AI เฉพาะของพวกเขา โดยไม่กระทบต่อความเรียบง่ายในการดำเนินงานหรือความปลอดภัย

การสร้าง Secure AI Factory

AI factories – ศูนย์ข้อมูลที่สร้างขึ้นเฉพาะเพื่อรองรับเวิร์กโหลด AI – ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบที่แบ่งเป็นโมดูล ขยายขนาดหรือสเกลได้ และคล่องตัวมากขึ้น แต่องค์กรต่างๆ ต้องมองไกลกว่าแค่ประสิทธิภาพการประมวลผลเพียงอย่างเดียว AI factories ต้องรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัยที่ซับซ้อนและเกิดขึ้นใหม่ รายงาน Cisco State of AI Security ที่เผยแพร่ล่าสุดได้วิเคราะห์เวกเตอร์ภัยคุกคามเฉพาะด้าน AI หลายสิบรายการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ AI กว่า 700 ฉบับ เพื่อชี้ให้เห็นพัฒนาการสำคัญในแลนสเคปด้านความปลอดภัย AI ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรที่รับมือกับความท้าทายทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน AI และความปลอดภัยไปพร้อมกันจะมีความคล่องตัวมากขึ้น ขยายระบบได้เร็วขึ้น และสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้รวดเร็วกว่า

Cisco Secure AI Factory with NVIDIA คาดว่าจะพัฒนาต่อยอดจากความสามารถเฉพาะตัวของทั้งสองบริษัทในการนำเสนอเครือข่าย AI ที่ยืดหยุ่นและตัวเลือกเทคโนโลยีแบบครบวงจร (full-stack) ที่ใช้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมร่วมกัน ความร่วมมือนี้จะนำเทคโนโลยีจาก Cisco, NVIDIA และพันธมิตรในอีโคซิสเต็มมารวมกันเป็นสถาปัตยกรรม AI factory ที่ปลอดภัยสำหรับลูกค้าองค์กร ซึ่งประกอบด้วย:

  • ระบบคอมพิวต์: Cisco UCS AI servers ที่พัฒนาบนเทคโนโลยี NVIDIA HGX™ และ NVIDIA MGX™ สำหรับการประมวลผลความเร็วสูง
  • ระบบเครือข่าย: โซลูชัน Cisco Nexus Hyperfabric AI และ Nexus networking ที่ขับเคลื่อนด้วย Silicon One และเครือข่าย NVIDIA Spectrum-X Ethernet
  • ระบบจัดเก็บข้อมูล: ระบบจัดเก็บข้อมูลประสิทธิภาพสูงจากพันธมิตรที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ Pure Storage, Hitachi Vantara, NetApp และ VAST Data
  • ซอฟต์แวร์: แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ NVIDIA AI Enterprise เพื่อปรับปรุงการพัฒนาและการติดตั้งเวิร์กโหลด agentic AI ระดับการผลิต

Cisco Secure AI Factory ร่วมกับ NVIDIA สร้างความปลอดภัยในทุกระดับชั้น:

  • การรักษาความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐาน: Cisco Hybrid Mesh Firewall มอบการจัดการความปลอดภัยแบบครบวงจรและนโยบายที่สอดคล้องกันในหลายจุดของการบังคับใช้ รวมถึงสวิตช์เครือข่าย ไฟร์วอลล์แบบดั้งเดิม และเอเจนต์ของเวิร์กโหลด แนวทางแบบบูรณาการนี้ช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยที่แพร่หลายและสอดคล้องกัน ตั้งแต่การตรวจสอบแพ็กเก็ตเชิงลึกไปจนถึงการครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานอย่างกว้างขวาง เพื่อตรวจจับ ปิดกั้น และยับยั้งผู้ประสงค์ร้าย Cisco Hypershield (ส่วนหนึ่งของ Hybrid Mesh Firewall) จะขยายการบังคับใช้ความปลอดภัยแบบแพร่หลายและ zero-trust ไปยังทุกโหนด AI ในอนาคต โดยการบูรณาการกับ NVIDIA BlueField-3 DPUs
  • การรักษาความปลอดภัยเวิร์กโหลด: Cisco Hypershield ป้องกันการเคลื่อนไหวแนวขนาน (lateral movement) ของผู้ประสงค์ร้ายและการลดช่องโหว่เชิงรุกโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งแพตช์ ทั้งหมดนี้ควบคุมจากอินเทอร์เฟซการจัดการเพียงแห่งเดียว ด้วยการตรวจสอบและควบคุมการทำงานของโปรเซส การเข้าถึงไฟล์ และกิจกรรมเครือข่าย Hypershield มอบการมองเห็นเชิงลึกและการบังคับใช้ขณะรันไทม์อย่างแม่นยำภายในเวิร์กโหลด AI การปรับปรุงในอนาคตจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับการป้องกันเวิร์กโหลดยิ่งขึ้น ผ่านการบูรณาการกับ NVIDIA BlueField-3’s DOCA AppShield เพื่อตรวจจับภัยคุกคามเวิร์กโหลดแบบเรียลไทม์ในเครื่องเสมือนและคอนเทนเนอร์ที่เน้น AI
  • การรักษาความปลอดภัยแอปพลิเคชัน AI: Cisco AI Defense ช่วยให้ทีมงานด้านความปลอดภัยและ AI มีเครื่องมือที่ครอบคลุมเพื่อปกป้องแอปพลิเคชัน AI จากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (เช่น พฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามนโยบาย พฤติกรรมที่เป็นอันตราย) และความเสี่ยงด้านความมั่นคง (เช่น prompt injection, ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล) ตลอดวงจรการพัฒนา AI Defense ผสานรวมเข้ากับเวิร์กโฟลว์ CI/CD ที่มีอยู่เพื่อให้การทดสอบช่องโหว่อัตโนมัติและชั้นความปลอดภัยรันไทม์ร่วมกันสำหรับโมเดลและแอปพลิเคชันต่างๆ นอกจากนี้ AI Defense ยังช่วยให้บริษัทต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยของ AI ด้วยการผสานรวมเพียงครั้งเดียว รวมถึง NIST, MITRE ATLAS และ OWASP LLM Top 10 การปรับปรุงในอนาคตรวมถึงการผสานรวมกับ NVIDIA AI Enterprise เพื่อปรับปรุงเวิร์กโฟลว์ความปลอดภัยของ AI ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Cisco และ NVIDIA ต่างนำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน AI ของลูกค้ามาผสานรวมกัน โดยทั้งสองบริษัทสามารถนำเสนอรูปแบบการติดตั้งที่ยืดหยุ่นควบคู่ไปกับสถาปัตยกรรมอ้างอิงที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว Secure AI จะมอบโครงสร้างพื้นฐาน AI ที่มีประสิทธิภาพสูงและขยายขนาดได้ให้กับลูกค้าองค์กร ซึ่งรองรับลูกค้าในทุกขั้นตอนของการเดินทาง และฝังความปลอดภัยไว้ตลอดทั้งกระบวนการ

Cisco Secure AI Factory with NVIDIA จะมีตัวเลือกการติดตั้งแบบครบวงจรที่ยืดหยุ่น ประกอบด้วย:

  • พร้อมติดตั้งใช้งานทันที: ด้วยการใช้ Cisco Nexus Hyperfabric AI ร่วมกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัยของ Cisco และเทคโนโลยีของ NVIDIA ลูกค้าสามารถติดตั้งโซลูชัน AI แบบบูรณาการในแนวตั้งที่ทำงานอัตโนมัติและลดความซับซ้อนของ AI factory lifecycle ที่ปลอดภัย ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการติดตั้ง และการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
  • สร้างด้วยตนเอง: ด้วยองค์ประกอบแบบโมดูลาร์ที่ปรับแต่งได้จาก Cisco, NVIDIA และพันธมิตรอีโคซิสเต็มด้านสตอเรจของทั้งสองบริษัท ลูกค้าสามารถผสานโครงสร้างพื้นฐานปัจจุบันของพวกเขาและสร้างโซลูชันที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับสภาพแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละองค์กร

แพทริค มัวร์เฮด, ผู้ก่อตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหัวหน้านักวิเคราะห์ของ Moor Insights & Strategy กล่าวว่า “ในตลาดที่ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วเช่นทุกวันนี้ ธุรกิจต่างๆ ต้องการมากกว่าแค่เทคโนโลยี พวกเขาต้องการโซลูชันแบบครบวงจรที่แก้ไขความท้าทายเร่งด่วนที่สุด โดย Cisco และ NVIDIA ได้รวมจุดแข็งของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกันเพื่อส่งมอบโซลูชันแบบบูรณาการ ซึ่งผมเชื่อว่าจะขับเคลื่อนนวัตกรรม ทำให้การติดตั้งง่ายขึ้น และปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ แม้ว่า AI จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การผสานกันของทั้งสองบริษัทนี้อาจเป็นเหมือน ‘ปุ่มที่ทำให้ทุกอย่างง่าย’ สำหรับโครงสร้างพื้นฐาน AI การทำให้โครงสร้างพื้นฐาน AI ง่ายต่อการนำมาใช้และจัดการมากขึ้น จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล และบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น”

วีระ อารีรัตนศักดิ์, กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทย และเมียนมาร์  กล่าวว่า”ธุรกิจในปัจจุบันกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากในการนำ AI มาใช้งาน ในขณะที่องค์กรต่างๆ กำลังเร่งการนำ AI มาใช้ จำเป็นต้องมั่นใจว่าไม่ได้ละทิ้งความปลอดภัยด้าน AI เพื่อแลกกับความเร็ว  Cisco Secure AI factory ร่วมกับ NVIDIA เป็นโซลูชันแรกและหนึ่งเดียวในตลาดที่วางรากฐานความปลอดภัยด้าน AI ไว้ในทุกระดับของชุดโซลูชัน ความร่วมมือกับ NVIDIA ครั้งนี้จะเสริมศักยภาพให้ธุรกิจในประเทศไทยมีความมั่นใจในการนำไปปรับใช้ จัดการ และรักษาความปลอดภัยโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและขยายขนาดได้ตามความต้องการของธุรกิจ”

ซิสโก้ และ NVIDIA: การเดินทางสู่สถาปัตยกรรมที่ได้รับการตรวจสอบและเป็นหนึ่งเดียว

การดำเนินการอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญในการตอบสนองความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน AI ในปัจจุบัน และ ซิสโก้กับ NVIDIA ได้มีความก้าวหน้าในฐานะส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่ประกาศไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซิสโก้ได้พัฒนาสถาปัตยกรรมอ้างอิงใหม่ที่มีตัวเลือกการติดตั้งสำหรับ Cisco Nexus Hyperfabric AI หรือ Cisco Nexus 9000 Series Switches ซึ่งผ่านการตรวจสอบและพัฒนาตามสถาปัตยกรรมอ้างอิง NVIDIA Enterprise สำหรับ HGX H200 และ Spectrum-X 

ความพร้อมใช้งาน

โซลูชันที่พัฒนาขึ้นบนสถาปัตยกรรม Cisco Secure AI Factory with NVIDIA จะพร้อมจำหน่ายก่อนสิ้นปี 2568 ทั้งนี้ องค์ประกอบเทคโนโลยีแต่ละส่วนจำนวนมากที่รวมอยู่ในสถาปัตยกรรมอ้างอิงนี้มีจำหน่ายแล้วในปัจจุบัน

เกี่ยวกับ ซิสโก้ (Cisco)

Cisco (NASDAQ: CSCO)  ผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่ปฏิวัติวิธีการเชื่อมต่อและการรักษาความปลอดภัยให้กับองค์กรในยุค AI  เป็นเวลากว่า 40 ปีที่ซิสโก้ได้เชื่อมต่อโลกอย่างปลอดภัย ด้วยโซลูชันและบริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI ชั้นนำในอุตสาหกรรม ซิสโก้ช่วยให้ลูกค้า พันธมิตร และชุมชนสามารถปลดล็อกนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพ และเสริมความแข็งแกร่งด้านดิจิทัล ด้วยจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ซิสโก้ยังคงมุ่งมั่นสร้างอนาคตที่เชื่อมต่อและครอบคลุมให้มากขึ้นสำหรับทุกคน ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ The Newsroom และติดตามเราได้ที่ @Cisco


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ.ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน TOP 5 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด กทม. จากการจัดอันดับโดย EduRank ในสาขาสถาปัตยกรรม

คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มจพ.ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน TOP 5 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดใน กทม. จากผลการจัดอันดับโดย EduRank ในสาขาสถาปัตยกรรม   

คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน TOP 5 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในกรุงเทพมหานคร จากผลการจัดอันดับโดย EduRank ในสาขาสถาปัตยกรรม  เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ด้วยความโดดเด่นในหลักสูตรของเราสถาปัตยกรรม Architecture,ออกแบบภายใน Interior Design,ออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเซรามิกส์ Innovative Ceramics Product Design,ศิลปประยุกต์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ Applied Art and Product Design,การจัดการงานออกแบบภายในและพัฒนาธุรกิจ Interior Design Management and Business Development และสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบเพื่อความยั่งยืน Master/Doctor of Architecture (Innovation and Designing for Sustainability)   

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จนี้คือก้าวสำคัญของการเป็นผู้นำทางการออกแบบและนวัตกรรมด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:https://edurank.org/art-design/architecture/bangkok/


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มัดรวมสูตรสำเร็จ EcoStruxure™ IT ปี 2024 พร้อมเจาะลึกพัฒนาการก้าวต่อไป ในปี 2025

ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย ผู้นำด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น สำหรับการบริหารจัดการพลังงานและระบบอัตโนมัติ เปิดเผยถึงความสำเร็จของเส้นทางในการพัฒนา EcoStruxure IT ในปีที่ผ่านมา พร้อมแผนงานปี 2025 ว่ายังคงมุ่งเน้นที่การช่วยให้ลูกค้าใช้ซอฟต์แวร์ Data Center Infrastructure Management (DCIM) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที มีความยืดหยุ่น ปลอดภัย และยั่งยืนมากที่สุด ในทุกที่

ท่ามกลางความท้าทายที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนของการใช้งานไฮบริดไอที นับเป็นโอกาสดีที่จะหันมาทบทวนว่า EcoStruxure IT ช่วยให้องค์กรลูกค้าเติบโตอย่างไรบ้าง และระบบของเราช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานไอทีมีความยืดหยุ่น ปลอดภัยและยั่งยืนอย่างไรบ้าง

การอัปเดตและพัฒนาต่อเนื่องเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างความสำเร็จบางส่วนในการดำเนินการปีที่ผ่านมา ซึ่งทีมงาน EcoStruxure IT ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ทั้งสำหรับการใช้งานแบบ On-Premise และ Cloud-Based เพื่อช่วยให้การดำเนินงานของลูกค้าง่ายขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น ได้แก่

  • นโยบายในการแจ้งเตือน (alarm threshold policies) ใน IT Expert สามารถตั้งค่าการแจ้งเตือนโดยใช้เงื่อนไขขั้นสูง เช่น กำหนดให้แจ้งเตือนหากอุณหภูมิสูงเกิน 25 องศาจากค่าปกตินานเกิน 30 นาที ช่วยลดจำนวนการแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็นและทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น
  • วิดเจ็ต “Service Contracts and Visits” บนแดชบอร์ดของ IT Expert ช่วยให้องค์กรดูภาพรวมของอุปกรณ์ทั้งหมดได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว พร้อมแจ้งให้ทราบว่าอุปกรณ์ใดอยู่ภายใต้สัญญาบริการ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะได้รับการอัปเดตทุกสัปดาห์
  • การบันทึกเหตุการณ์ (Windows event logging) สำหรับ PowerChute ช่วยให้สามารถบันทึกทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบได้ โดยจะรวบรวมข้อมูลไว้ที่ส่วนกลางเพื่อให้สามารถติดตามเหตุการณ์เหล่านั้นได้ง่ายขึ้น  นอกจากนี้ ยังรองรับ Syslog สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการส่งบันทึกเหตุการณ์ไปที่ Syslog Server ส่วนกลางได้ด้วย
  • ขยายการรองรับ PowerChute vCLS สำหรับทุกการตั้งค่า UPSช่วยให้เลือกปิดระบบเฉพาะส่วนที่จำเป็นได้อย่างยืดหยุ่น
  • รองรับ LDAP (Lightweight Directory Access Protocol) บน Network Management Card (NMC) ช่วยให้ลูกค้าสามารถตั้งค่าอุปกรณ์เพื่อใช้ LDAP Server เพื่อยืนยันตัวตนได้จากระยะไกล เช่นในการใช้ Microsoft Active Directory และ OpenLDAP
  • PowerChute Network Shutdown สามารถตั้งค่าให้รันคำสั่งบนระบบได้จากระยะไกล เช่น Storage Array หรือ Backup Server ผ่านการเชื่อมต่อ SSH ซึ่งให้ประโยชน์ในการจัดการระบบจัดเก็บข้อมูลหรือระบบอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน ที่อาจจำเป็นต้องปิดระบบให้เรียบร้อย พร้อมกับอุปกรณ์ที่เหลืออื่นๆ
  • การรวมศูนย์ Syslog ของ Data Center Expert จากหลากหลายระบบ ช่วยให้จัดการเรื่องการบันทึกเหตุการณ์ในระบบได้ง่ายขึ้น

เหล่านี้ คือการดำเนินการสำหรับลูกค้าในปีที่ผ่าน ด้วยการอัปเกรดและเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานไอทีทำงานได้ประสิทธิภาพมากขึ้น จัดการได้ง่ายขึ้น

ปรับปรุงฟีเจอร์ด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง

ความปลอดภัยทางไซเบอร์คือสิ่งที่อุตสาหกรรมให้ความสำคัญมานาน และองค์กรธุรกิจ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น การรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้ปลอดภัยเป็นงานที่ท้าทายและมีความซับซ้อนมากขึ้น จึงทำให้ทีมงาน EcoStruxure IT เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้

ด้วยการใช้งานยูพีเอสและตู้แร็คจำนวนนับหลายพันในดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งแต่ละเครื่องมีรหัสผ่านเพื่อรักษาความปลอดภัย การดูแลเรื่องเหล่านี้ จึงเป็นงานที่ยากและท้าทายมาก โดยปัจจุบัน IT Expert มีตัวเลือกให้สามารถตั้งค่าเพื่อเชื่อมต่อและเปลี่ยนรหัสผู้ใช้ และรหัสผ่านของทุกอุปกรณ์ได้พร้อมกันทีเดียว จึงช่วยองค์กรลดเวลาในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งสามารถดำเนินการระยะไกลผ่านระบบคลาวด์ได้

ในทำนองเดียวกัน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้เพิ่มความปลอดภัยให้กับ Data Center Expert โดยเปลี่ยนโปรโตคอลการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์และ DCE จาก SNMPv1 เป็น SNMPv3 ได้อย่างง่ายดายเพียงกดปุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าเรียกร้อง และบริษัทฯ ยินดีที่ได้ช่วยให้ทำเรื่องนี้เป็นจริง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้มีการประกาศว่าแพลตฟอร์ม EcoStruxure IT NMC ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนดโดยคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานอิเล็กทรอนิกส์ (IEC) และในเดือนตุลาคม ยังได้ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญของอุตสาหกรรม ว่า NMC ของเราได้รับการรับรองด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในระดับสูง จน กลายเป็น DCIM NMC ตัวแรกที่ได้รับการรับรอง IEC 62443-4-2 Security Level 2 (SL2) จาก IEC

ชไนเดอร์ อิเล็คทริคมุ่งเน้นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างจริงจัง และการรับรองที่ยกระดับไปอีกขั้นจากหน่วยงานอิสระช่วยยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของผู้จำหน่ายรายนั้นๆ ที่ออกแบบมาสำหรับศูนย์ข้อมูลและสภาพแวดล้อมไอทีแบบกระจายศูนย์ ผ่านการทดสอบและประเมินเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ เรายังได้รับการรับรองว่ากระบวนการพัฒนาของเราสอดคล้องตามมาตรฐาน ISASecure® Secure Development Lifecycle Assurance (SDLA) อีกด้วย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังช่วยบริษัทต่างๆ แก้โจทย์ที่เป็นปัญหาท้าทายในการตามอัปเดตเฟิร์มแวร์ โดยระบบ EcoStruxure IT Secure NMC System (SNS) ช่วยจัดการเรื่องของเฟิร์มแวร์ได้ในตัวด้วยเครื่องมือใหม่เฉพาะสำหรับดูแลเรื่องนี้  ซึ่ง SNS Tool ช่วยลดกระบวนการที่ยุ่งยากในการค้นหาและติดตั้งเฟิร์มแวร์ล่าสุดบนอุปกรณ์ทั้งหมด ช่วยให้ดำเนินการได้เร็วขึ้นถึง 90%

ในแง่ของความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังมีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์เหนือชั้นไปอีกขั้น ด้วยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พร้อมการรับรองมาตรฐานถึงสองรายการ ช่วยให้ลูกค้าจัดการและอัปเดตระบบได้สะดวกและง่ายดายขึ้น

การรายงานความยั่งยืนรูปแบบใหม่ด้วยระบบอัตโนมัติ

หนึ่งในการพัฒนาที่น่าจับตามองที่สุด ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก คือการที่ทีม EcoStruxure IT ได้นำเสนอฟีเจอร์การออกรายงานด้านความยั่งยืนแบบใหม่ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นฟีเจอร์ล้ำหน้าของสายผลิตภัณฑ์ EcoStruxure IT ที่ช่วยให้องค์กรสามารถคำนวณและรายงานข้อมูลด้านความยั่งยืนได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส ไม่ต้องเสียเวลานั่งทำเองนานๆ ขุมพลังของ AI ช่วยให้องค์กรควบคุมข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมภายในดาต้าเซ็นเตอร์

ฟีเจอร์การรายงานใหม่ที่ผ่านการปรับปรุงและพัฒนา และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากอุตสาหกรรม เปิดให้ใช้งานสำหรับผู้ใช้ EcoStruxure IT ทุกคนตั้งแต่เดือนเมษายนในปีที่ผ่านมา ก่อนที่ข้อบังคับด้านประสิทธิภาพพลังงานของสหภาพยุโรป (Energy Efficiency Directive หรือ EDD) จะมีผลบังคับใช้ เนื่องจาก EED เรียกร้องให้ประเทศในสหภาพยุโรปลดการใช้พลังงานพร้อมรายงานข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพหลักของดาต้าเซ็นเตอร์ เพราะความยั่งยืนคือหนึ่งในวิธีที่ช่วยจำกัดการใช้พลังงาน ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน และลดของเสียในดาต้าเซ็นเตอร์ ทำให้ DCIM มีบทบาทสำคัญมาก และชไนเดอร์ อิเล็คทริคก็เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงเข้ามาช่วยลูกค้าจัดการทรัพย์สินไอที อีกทั้งให้การสนับสนุนเรื่องการรายงานที่สอดคล้องตามกูฏข้อบังคับ

ที่ ชไนเดอร์ อิเล็คทริคเราได้ดำเนินโครงการ Green IT ร่วมกับทีม CIO  และพบว่าเครื่องมือต่างๆ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ใช้งานได้ง่ายเสมอไป ทำให้ไม่สามารถจัดการกับข้อมูลได้ตามต้องการ และบางครั้งข้อมูลก็ไม่สมบูรณ์ เรื่องนี้ จึงเป็นแรงขับเคลื่อน ให้เราสร้างการเปลี่ยนแปลง และผลลัพธ์จากเรื่องนี้ ก็คือการที่เราออกมาตรวัดการรายงานความยั่งยืนแบบใหม่ ที่ช่วยให้ลูกค้าก้าวข้ามความท้าทายในการออกรายงานความยั่งยืน เพื่อช่วยให้จัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

มุมมองของชไนเดอร์ อิเล็คทริค สำหรับปี 2025

เป็นการมองไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่น เพราะที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เรามั่นใจว่าทีม EcoStruxure IT จะยังคงสร้างนวัตกรรมและต่อยอดจากความสำเร็จขึ้นไปอีก ด้วยการตระหนักดีว่า สภาพแวดล้อมไอทีแบบไฮบริดจะทวีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเวลาที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในดาต้าเซ็นเตอร์ เป้าหมายหลักของเรามีความชัดเจนมาก นั่นคือการสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้า เพื่อช่วยให้ลูกค้าเตรียมพร้อมในการรับมือกับทุกความท้าทาย พร้อมกับภารกิจในการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที ที่มีความยืดหยุ่น ปลอดภัย และยั่งยืนที่สุดในทุกที่ ทุกเวลา

Tags: DC ProfessionalDCIMEcoStruxure ITIT ProfessionalKevin Brown


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

อีริคสัน และ Telstra บุกเบิกการใช้ Programmable Network เป็นแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก

ด้วยความร่วมมือครั้งสำคัญกับอีริคสัน (NASDAQ: ERIC) ผู้ใช้งานมือถือบนเครือข่ายของ Telstra ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารชั้นนำในออสเตรเลีย จะเป็นผู้ใช้กลุ่มแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จะได้รับประสบการณ์จากเครือข่ายที่ตั้งโปรแกรมได้ประสิทธิภาพสูง หรือ Programmable Network พร้อมเทคโนโลยี 5G Advanced

ภายใต้ข้อตกลงระยะเวลาสี่ปี Telstra จะอัปเกรด Radio Access Network (RAN) ด้วยโซลูชันฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่ที่รองรับ Open RAN และซอฟต์แวร์ 5G Advanced ของอีริคสัน นอกจากนี้ยังนำ AI และระบบอัตโนมัติมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเครือข่ายผ่านความสามารถในการตรวจจับและซ่อมแซมตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ Telstra ด้วยเครือข่าย 5G ที่ล้ำสมัย ทนทาน และมีความเสถียรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก Programmable Program ของ Telstra จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เป็นนวัตกรรมและมีความสามารถปรับแต่งการเชื่อมต่อที่เหนือกว่าตามความต้องการเฉพาะของผู้ใช้งานมือถือบนเครือข่ายของ Telstra รวมถึงบริการใหม่ ๆ ที่อิงตามประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังเตรียมจะเปิดเครือข่ายให้กับนักสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีจากอีโคซิสเต็มส์ที่กว้างขึ้นผ่าน Network APIs (Application Programming Interfaces)

ด้วยการนำไปใช้และการเร่งการใช้งาน Network APIs รวมถึงศักยภาพของ APIs สามารถเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยการประกาศร่วมทุนครั้งสำคัญระหว่างผู้ก่อตั้งหลักอย่าง อีริคสัน และ Telstra ภายใต้ชื่อ Aduna เมื่อไม่นานนี้ ได้ยกระดับความสามารถเครือข่าย 5G Advanced ใหม่ของ Telstra ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการส่งมอบบริการ API-based services ดังกล่าว

ความสามารถประสิทธิภาพสูงของโซลูชัน 5G Standalone (5G SA) ที่เกี่ยวข้องยังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเปิดใช้งานยูสเคสใหม่ ๆ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมของนักพัฒนาที่จะทำให้ Industry 4.0 เกิดเป็นจริงได้ในประเทศออสเตรเลีย

นาง Vicki Brady ซีอีโอของ Telstra กล่าวว่า “เราอยู่ท่ามกลางจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งความต้องการของลูกค้าด้านเทคโนโลยีและการเชื่อมต่อมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลงในวิธีการส่งมอบและใช้งานการเชื่อมต่อ ในขณะที่ความต้องการใช้งานดาต้าเน็ตบนมือถือของเครือข่ายเราเองเพิ่มขึ้นสามเท่าช่วงห้าปีที่ผ่านมา

“ความร่วมมือกับอีริคสันครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของผู้ให้บริการด้านการสื่อสารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เรามีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาบริการและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้คลื่นความถี่ 5G ของเราให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคนับล้านได้รับประสบการณ์ใช้งาน 5G ที่ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านความสม่ำเสมอของประสิทธิภาพ ความเสถียร และความเร็วเครือข่ายที่ดีขึ้น”

“ด้วย Programmable Network เราจะเปลี่ยนจากบริการแบบ One-Size-Fits-All ไปสู่การส่งมอบยูสเคสที่มีความซับซ้อนและเป็นโมเดลทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์การเชื่อมต่อที่แตกต่างและปรับแต่งให้เหมาะกับลูกค้ายิ่งขึ้น”

นาย Börje Ekholm ประธานและซีอีโอของอีริคสันกล่าวว่า “Programmable Networks ที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรและประเทศ โดย Telstra คือ ผู้นำพันธมิตรรายแรก ๆ ของอีริคสันที่เริ่มเปิดใช้งาน และกำลังจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อ 5G Standalone ของเรา การเชื่อมต่อเครือข่ายที่เร็วขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และแตกต่างนี้จะปรับเปลี่ยนประสบการณ์ของทั้งผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจ พร้อมช่วยให้นักพัฒนาใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับการทดลอง สร้างนวัตกรรม และสร้างแอปพลิเคชันที่สำคัญ ภายในดีลนี้ Telstra ยังมอบประสิทธิภาพการใช้งานเครือข่ายให้ชาวออสเตรเลีย ตั้งแต่นักพัฒนารายบุคคลไปจนถึงอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อร่วมกันเสริมสร้างให้ออสเตรเลียสามารถแข่งขันบนเวทีโลก เราพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Telstra เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง”

ประโยชน์ด้านอื่น ๆ สำหรับ TELSTRA

แผนอัปเกรดเครือข่าย 5G ครั้งใหญ่ของ Telstra จะเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนด้านคลื่นความถี่และการดำเนินงานของ Telstra ให้สูงสุด โดยเครือข่ายใหม่นี้ตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพ 5G มากขึ้นเป็นสองเท่า พร้อมยกระดับการใช้งานให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้กว้างขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเร็วในการอัปโหลดและดาวน์โหลดข้อมูล และช่วยประหยัดพลังงาน

นอกจากนี้ ยังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการให้บริการมือถือแบบเดิมที่เน้น One-Size-Fits-All ไปสู่ Differentiated Connectivity ซึ่งผู้บริโภคและองค์กรสามารถสร้างประสบการณ์ในบริการของตนเองได้

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยี

โซลูชันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย Open RAN-ready Massive MIMO และโซลูชัน RAN Compute ใหม่ของอีริคสัน รวมถึงการสมัครใช้บริการ 5G Advanced ล่าสุดของอีริคสัน เพื่อนำเสนอบริการใหม่ ขับเคลื่อนประสิทธิภาพการดำเนินงาน และเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรวมถึง Ericsson Intelligent Automation Platform (EIAP) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจัดการและระบบอัตโนมัติเครือข่ายแบบเปิด (Open RAN) ที่มีอุปกรณ์จากหลายผู้ผลิต (Multi-vendor) และเทคโนโลยีหลากหลาย (Multi-technology) ทั้ง 4G และ 5G RAN

EIAP จะปรับปรุงการจัดการเครือข่ายและระบบอัตโนมัติโดยใช้ EIAP และเครื่องมือในระบบนิเวศนักพัฒนาเพื่อสร้างและติดตั้งแอปพลิเคชันที่กำหนดเอง (rApps) ที่ใช้เทคนิคอัตโนมัติขั้นสูง รวมถึงการเรียนรู้ของเครื่องและ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายและส่งมอบการดำเนินงานที่ยั่งยืนที่ดีขึ้น

การขยายความร่วมมือล่าสุดนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือระยะยาวระหว่างอีริคสันและ Telstra ในด้านเครือข่าย RAN ระบบ Core เครือข่ายใยแก้วนำแสง (Optical) ระบบถ่ายโอนข้อมูล (Transport) และระบบสนับสนุนธุรกิจ (Business Support Systems)

ADUNA

ADUNA เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมระดับโลก ซึ่งนอกเหนือจากอีริคสันและ Telstra สมาชิกผู้ก่อตั้ง Aduna ยังประกอบไปด้วย América Móvil, AT&T, Bharti Airtel, Deutsche Telekom, Orange, Reliance Jio, Singtel, Telefonica, T-Mobile, Verizon และ Vodafone

บริษัทร่วมทุนแห่งนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นในเดือนกันยายนปี 2024 โดยมีการประกาศชื่อบริษัทในเดือนมกราคม ปี 2025 มีเป้าหมายเพื่อรวบรวมและจำหน่าย Network APIs ในระดับโลก เพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมในบริการดิจิทัลต่าง ๆ

พันธมิตรต่าง ๆ จะเปิดให้นักพัฒนาหลายล้านคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงความสามารถการพัฒนาขั้นสูงในเครือข่ายของตน ผ่านแพลตฟอร์มระดับโลกสำหรับ Network APIs ทั้งหมด โดยความร่วมนี้ตั้งเป้าขับเคลื่อนยูสเคสใหม่ ๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่าง ๆ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

มจพ. ต้อนรับเอกอัครราชทูต โรมาเนียประจำประเทศไทย หารือการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการและมอบทุนการศึกษา จำนวน 2 ทุน

.ดร. ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) .ดร.เสาวณิต  สุขภารังษี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับ H.E. Mrs.Daniela-Brînduşa Băzăvan (ดานีเอลาบรึนดูชา เบอเซอวัน)เอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐโรมาเนียประจำประเทศไทย  ร่วมประชุมเพื่อหารือการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษา เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และมอบทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาชาวโรมันเนีย จำนวน 2 ทุน ในสาขาวิชาการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจโลจิสติกส์  วิทยาลัยนานาชาติ  ในวันจันทร์ที่  10 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมประชุมสำนักงานกองงานสภามหาวิทยาลัย อาคารนวมินทรราชินี  มจพ. จากนั้น เป็นการบรรยาพิเศษ  Embassy Talk : Insight into Romania’s Trade Landscape and Cultural Heritage โดยได้รับเกียรติจาก H.E. Mrs. Daniela-Brînduşa Băzăvan เอกอัครราชทูตโรมาเนียประจำประเทศไทย เป็นวิทยากรบรรยาย

ณ ห้องประชุม IC 401 อาคารวิทยาลัยนานาชาติ และเข้าเยี่ยมชมคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์

ขวัญฤทัย ข่าว/สมเกษ ถ่ายภาพ


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

จับตา 5 เทรนด์นวัตกรรมก่อสร้างสู่ทางออก Carbon Net Zero เพิ่มโอกาสอสังหาฯ-ก่อสร้างไทย ในงาน The NOVA Expo 2025

EEC Academy เผย 5 เทรนด์นวัตกรรมก่อสร้างยุคใหม่ ชี้ทิศทางการปรับตัวภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง สู่เป้าหมายประชาคมโลก ผ่านงาน The Nova Expo 2025 ผนึกองค์กรชั้นนำภาครัฐ&เอกสาร และ Thai ESCO สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย ผลักดันอสังหาฯ ไทยคาร์บอนเป็นศูนย์ ผ่านรูปแบบ “Climate Finance and Investment” พร้อมไกด์เทรนด์ธุรกิจ Energy Service Company ทั้งรูปแบบการปรับปรุงและธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ “พลังงานความเย็น” จากการสนับสนุนนโยบายโลก กองทุนนานาชาติ นโยบายรัฐไทย แบงก์ชาติ และธนาคารชั้นนำไทย ขนเทคโนโลยีล้ำสมัยและนวัตกรรมสีเขียวแห่งอนาคต ที่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เพิ่มโอกาสและทางรอดภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคการก่อสร้างไทยและโลก สู่สังคม Carbon Net Zero พร้อมจัดงานใหญ่แห่งปี The Nova Expo 2025 “นวัตกรรมสีเขียวเปลี่ยนโลก” ระหว่าง 12 – 14 มีนาคม 2568 นี้ ที่ BITEC บางนา จัดเต็มเทรนด์ใหม่และองค์ความรู้ ระดับวงการอสังหาฯ-ก่อสร้าง จากกูรูผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปของวงการ

ดร. เกชา ธีระโกเมน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือ EEC Academy เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศคิดเป็น GDP ราว 7 – 8% ของ GDP คิดเป็น มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการก่อสร้างอยู่ที่ 1.5 – 2 ล้านล้านบาทต่อปี ก่อให้เกิดการจ้างงานตั้งแต่การค้าไปจนถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอุตสาหกรรมปลดปล่อยคาร์บอนมากกว่า 40% ของการปลดปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของโลก

ดังนั้นเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ ยกระดับสังคม ชุมชน สู่ความยั่งยืนแห่งอนาคต ประชาคมโลกต่างให้ความสำคัญกับแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอน เช่นเดียวกับผู้ผลิตและผู้พัฒนาโครงการต่างๆ ในวงการก่อสร้างทั้งในไทยและทั่วโลก ต่างหันมาให้ความสำคัญกับนวัตกรรมสีเขียว เพื่อสร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และมุ่งเป็นส่วนหนึ่งไปสู่การสร้าง Carbon Net Zero เพื่อส่งเสริมสุขภาวะและสุขภาพที่ดี

การมุ่งไปสู่แนวทางนี้ผู้พัฒนาโครงการก่อสร้าง ต่างต้องมีเทคโนโลยีชั้นสูงและองค์ความรู้ เพื่อเป็นเครื่องมือยกระดับประสิทธิภาพอาคาร บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด (EEC Academy) ในฐานะผู้นำด้านการออกแบบทางวิศวกรรมงานระบบที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ตอบรับเทรนด์โลกสีเขียว ผ่านการจัดงาน “The NOVA Expo 2025” งานแห่งปีของวงการอสังหาฯ-ก่อสร้างซึ่งจัดต่อเนื่องมาหลายปี ที่รวบรวมเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างสมัยใหม่

ทั้งนี้ ดร. เกชา ชี้ถึงสาเหตุสำคัญของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างว่า เกิดจากปัจจัยหลักๆ ที่ประกอบด้วย

1.วัสดุก่อสร้างที่มาจากกระบวนการผลิต ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 8%

2.การใช้พลังงาน โดยเฉพาะประเทศเขตร้อนอย่างเมืองไทย ที่มีการใช้พลังงานจากอุปกรณ์ทำความเย็นให้กับ อาคารสูงถึง 60-70% ของการใช้พลังงานทั้งหมด

3.ขาดกระบวนการคัดแยกและกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ

4.การขนส่ง ด้วยระยะทางการขนส่งและรถขนส่ง ยังใช้พลังงานเชื้อเพลิง

“การรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ควรต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ได้แก่ การออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและการออกแบบอาคารใช้พลังงานต่ำหรือ Passive Design, การเลือกใช้วัสดุที่ยั่งยืน, ภาครัฐควรมีมาตรฐานสนับสนุนการรับรองตามมาตรฐานอาคารเขียว และที่สำคัญที่สุดการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากกริดไฟฟ้า และสนับสนุนการใช้วัสดุรีไซเคิล ลดการเกิดขยะ และสามารถนำไปใช้ใหม่ได้ เพื่อให้เกิด Circular Economy Model” ดร. เกชา กล่าว

นอกจากนี้ ดร. เกชา ยังเผยถึงเทรนด์นวัตกรรมการก่อสร้างที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและถูกนำมาใช้ในการยกระดับการก่อสร้าง โดยหลักๆ จะมีอยู่ 5 เทรนด์เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่

1.การออกแบบและวางผังเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Green Design and Planning for Carbon Reduction) อาทิ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ การวางทิศทางอาคารเพื่อป้องกันความร้อน การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คำนึงตั้งแต่ก่อนสร้างไปถึงการใช้งานอาคารไปอีก 30 ปี โดยมีเครื่องมือสำคัญอย่าง เครื่องคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint Calculator) การประเมินวงจรชีวิตอาคาร (Lifecycle Assessment) และระบบรับรองอาคารยั่งยืน

2.การก่อสร้างแบบสำเร็จรูปและโมดูลาร์ (Green Modular and Materials Construction) เทคนิคการก่อสร้างที่ประกอบบางส่วนจากโรงงาน มาช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ลดการเกิดเศษวัสดุ โดยมีเทคโนโลยีการพิมพ์ 3D และหุ่นยนต์ก่อสร้าง (Construction Robotics) เข้ามามีบทบาทสำคัญ

3.เทคโนโลยีสีเขียวและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Green Innovative Tech) ด้วยการใช้ระบบ IoT, AI และระบบอัจฉริยะ (Smart Systems) เข้ามามีส่วนในการออกแบบ ก่อสร้าง ควบคุมงานก่อสร้าง และบริหารงานอาคาร การนำ AI เข้ามาทำนายรูปแบบการใช้พลังงานและปรับระบบเรียลไทม์ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ลดต้นทุนการดำเนินงาน และยืดอายุการใช้งานของอาคาร โดยมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ Digital Twins (แบบจำลองเสมือนของอาคาร) ระบบทำความเย็นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สมัยใหม่, สารทำความเย็นจากธรรมชาติ, เครื่องปรับอากาศแบบไร้ท่อ, การทำความเย็นด้วยพลังงานความร้อนใต้พิภพ, การทำความเย็นโดยอิสระ DOAS (Dedicated Outdoor Air System ระบบอากาศแยกส่วน)

4.เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ (Green Operation Quality) อาทิ การให้บริการพลังงานความเย็น ไม่ว่าจะเป็น Cooling as a Service (CaaS), Performance Guarantee รวมถึงการให้บริการบริหารระบบบำบัดน้ำเสีย (Smart Waste Water Management) ที่จะมาช่วยดูแลและบริหารจัดการระบบอาคารที่มีความซับซ้อน

5.เทคโนโลยีพลังงานสีเขียวที่เกิดขึ้นมากมาย (Green Innovation Energy) เช่น RE100 หรือการใช้พลังงานสะอาด 100%, พลังงานไฮโดรเจน, ระบบกักเก็บพลังงาน, ESCO หรือ Energy Service Company, ระบบทำความเย็นจากศูนย์กลางหรือ District Cooling System ซึ่งควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การให้ความรู้ความเข้าใจถึงผลดีด้านสิ่งแวดล้อมและประโยชน์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยีเหล่านี้

องค์ความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ผู้ขับเคลื่อนวงการอสังหาฯ ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้าง สามารถมาอัปเดตกันได้ภายในงาน The Nova Expo 2025 งานใหญ่แห่งปี ที่รวบรวมเทคโนโลยีล้ำสมัยและนวัตกรรมสีเขียวแห่งอนาคต จากความร่วมมือกันทุกภาคส่วนของสังคมและพันธมิตรชั้นนำได้แสดงพลังเพื่อเพิ่มโอกาสและทางรอดภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคการก่อสร้างไทยและโลกใบนี้สู่สังคม ZERO CARBON พร้อมทั้งเปิดตัวพลังงานรูปแบบใหม่ รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยผู้ร่วมงานจะมีโอกาสฟังเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญจากตัวจริงของวงการก่อสร้าง 

สำหรับงาน The Nova Expo 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2568 ตลอด 3 วันเต็ม ฟรี!  ที่ BITEC บางนา โดยภายในงาน The Nova Expo 2025 ยังได้ร่วมกับ Thai ESCO สมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย ผนึกพลังครั้งยิ่งใหญ่ ผลักดันอสังหาฯ ไทยคาร์บอนเป็นศูนย์ ผ่านรูปแบบ “Climate Finance and Investment” พร้อมนำเสนอเทรนด์ธุรกิจ Energy Service Company ที่มีแนวโน้มเติบโตในไทยและระดับนานาชาติ ทั้งรูปแบบการปรับปรุงการใช้พลังงาน และธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ “พลังงานความเย็น” จากการสนับสนุนจากนโยบายโลก กองทุนนานาชาติ นโยบายรัฐไทย แบงก์ชาติ และธนาคารชั้นนำของไทย

ครั้งแรกในไทยกับความชัดเจนขั้นสุด ที่จะมาเคลียร์ประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับจาก Green Fund, ESG Fund, Taxonomy พบกับการเสวนาบนเวทีใหญ่จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในวงการจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และงานเสวนากับตัวจริงระดับโลกจาก Cooling as a Service Company ทั้ง Keppel, BNSP และ UNISUS

“การก้าวเข้าสู่สังคม Carbon Net Zero จะเกิดขึ้นไม่ได้หากทุกฝ่ายไม่ร่วมมือกัน เราจะเห็นประเทศที่พัฒนาแล้วหันมาให้ความสนใจและสนับสนุน รวมทั้งลงทุนในกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอน หากประเทศไทยมีพลังงานสีเขียวที่เป็นที่ยอมรับระดับสากลจะสามารถดึงดูดนักลงทุนและสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้เกิดขึ้นกับประเทศได้ EEC Academy ในฐานะองค์กรที่มีความรู้ในภาคธุรกิจการก่อสร้างจึงพร้อมเดินหน้าผลักดันและสร้างองค์ความรู้ เตรียมความพร้อมเรื่องพลังงานสีเขียวให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตอันใกล้ สู่เป้าหมายประเทศไทยต้องเป็นแหล่งพลังงานสีเขียว” ดร. เกชา กล่าวในตอนท้าย

งานนี้ชมฟรี!  The Nova Expo 2025 จัดขึ้นระหว่าง 12-14 มีนาคม 2568 ตลอด 3 วันเต็ม ที่ BITEC บางนา สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/The-Nova-Expo-2025  หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/thenovaexpo 


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์

คณะบริหารธุรกิจ มจพ.วิทยาเขตระยอง รับสมัครนักศึกษาโควตาพื้นที่ภาคตะวันออก TCAS68

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขต ระยอง เปิดรับสมัครนักศึกษา

โควตาพื้นที่ภาคตะวันออก TCAS68  ประจำปีการศึกษา 2568  รับสมัครตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2568 สาขาวิชาที่เปิดรับสมัคร  ได้แก่

1) สาขาวิชาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ (BIBLA)
 2) สาขาวิชาการบัญชี (BACC)
3) สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ (BCOM)
4) สาขาวิชาการตลาดดิจิทัล (BDIM)

สมัครออนไลน์ที่เว็บไซต์ http://www.admission.kmutnb.ac.th

วันที่ 10 เมษายน 2568  ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์
วันที่ 21 เมษายน 2568  สอบสัมภาษณ์ (ออนไลน์)
วันที่ 23 เมษายน 2568  ประกาศผลสอบคัดเลือก

สอบถามรายละเอียดได้ที่ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขต ระยอง  โทรศัพท์  038-627-021, 065-641-4744  และติดตามข้อมูลการรับสมัคร / ประกาศผลได้ที่ เพจคณะบริหารธุรกิจ มจพ.วิทยาเขตระยอง หรือที่เว็บไซต์ คณะบริหารธุรกิจ https://fba.kmutnb.ac.th/main/

ขวัญฤทัย ข่าว


Exit mobile version