Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์ สิ่งประดิษฐ์ในประเทศ

วว. พัฒนา “เครื่องทับกล้วยแผ่นบางสำหรับ SMEs” ช่วยประหยัดพลังงาน เพิ่มอัตราการผลิต

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ (ศนอ.) ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา เครื่องทับกล้วยแผ่นบางสำหรับผู้ประกอบการ SMEs  โดยพัฒนาต่อยอดจากเครื่องทับกล้วยแบบกึ่งอัตโนมัติ รุ่นที่ 1”

หลักการทำงาน  เครื่องทับกล้วยแผ่นบาง เป็นนวัตกรรมที่สามารถทดแทนการใช้แรงงานคนในขั้นตอนการกดทับกล้วย ช่วยลดความเมื่อยล้า ช่วยเพิ่มอัตราการผลิต นอกจากนี้ยังได้ชิ้นกล้วยที่มีขนาดความบางสม่ำเสมอเท่ากันทุกแผ่น และสามารถปรับตั้งความหนาบาง ของชิ้นกล้วยได้บางสุดถึง 1 มิลลิเมตร โดย วว. พัฒนา  เครื่องทับกล้วยแผ่นบางสำหรับให้เลือกใช้งานจำนวน 2 รุ่น ดังนี้

รุ่นเล็กแบบตั้งโต๊ะ

1) สำหรับทับกล้วย ครั้งละ 1-2 แผ่น อัตราการทำงาน 30-50 แผ่น/ชั่วโมง

2) ระบบแผ่นกดทับกล้วย แบบหมุนทับชิ้นงาน ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์แบบแกนชักเดี่ยว

3) ใช้พลังงานไฟฟ้า 50 W 220 V แรงกดสูงสุด 200 กิโลกรัม

4) ติดตั้งระบบ Safety Switch แบบปุ่มกดคู่ ป้องกันมือกดโดยไม่ตั้งใจ

รุ่นกลางแบบมีขาตั้ง

1) สำหรับทับกล้วย ครั้งละ 2-4 แผ่น อัตราการทำงาน 100-200 แผ่น/ชั่วโมง

2) ระบบแผ่นกดทับกล้วย แบบเคลื่อนที่ขึ้นทับชิ้นงาน ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์แบบแกนชักคู่

3) ใช้พลังงานไฟฟ้า 120 W 220 V แรงกดสูงสุด 500 กิโลกรัม

4) ติดตั้งระบบ Safety Switch แบบปุ่มกดคู่ ป้องกันมือกดโดยไม่ตั้งใจ

วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนา บริการ วิเคราะห์ ทดสอบ และให้คำปรึกษาด้านอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่น   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสารสำคัญจากธรรมชาติในอาหาร โดยมีทีมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา มีเครือข่ายความร่วมมือจากภายในประเทศและต่างประเทศ มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานด้านผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ  เสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทยนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดโลก

วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเครื่องทับกล้วยแผ่นบางสู่เชิงพาณิชย์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call center  โทร. 0 2577 9000  หรือที่  0 2577 9133  (วีรยุทธ  พรหมจันทร์)


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์ สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ในประเทศ

วว. ให้บริการ Shared Service เปิดตัวนวัตกรรมเครื่องทอดสุญญากาศ ลดต้นทุนการผลิต ตอบโจทย์ผู้บริโภค

กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  มุ่งเน้นให้บริการ  Shared  Service   เสริมแกร่งผู้ประกอบการ  เปิดตัว นวัตกรรมเครื่องทอดสุญญากาศ    ช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านแปรรูปผลผลิตการเกษตร     ตอบโจทย์ผู้บริโภค     ระบุปริมาณการทอดต่อรอบ 65 กิโลกรัมต่อครั้ง  น้ำมันทอดในระบบนำมาใช้ซ้ำได้  20  ครั้ง  โดยยังมีประสิทธิภาพดี  ปลอดภัยต่อสุขภาพ  เนื่องจากเป็นการทอดระดับสุญญากาศ  -720  มิลลิเมตรปรอท  ทำให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปมีมูลค่าสูงขึ้น  ไม่อมน้ำมัน  มีอายุการเก็บรักษา 1 ปี  โดยยังคงคุณภาพด้าน กลิ่น  สี รสชาติของผลผลิต ใกล้เคียงธรรมชาติ

. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ  วว.   กล่าวว่า  วว.  มุ่งเน้นให้บริการ   Shared  Service    เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการด้วยองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  (วทน.)  ให้มีความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจ มีศักยภาพด้านขีดความสามารถการแข่งขันทั้งภายในและต่างประเทศ  นวัตกรรมเครื่องทอดสุญญากาศเป็นผลงานล่าสุด ซึ่ง โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร  (FISP)  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. วิจัยและพัฒนาขึ้น  เป็นการให้บริการใหม่ของ วว. เพื่อตอบสนองให้กับผู้ประกอบการหรือผู้สนใจทั่วไปที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการ ในด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ  ทุเรียน ขนุน  กล้วย  สับปะรด  ฟักทอง มันเทศ  กระเจี๊ยบ   เป็นต้น  ทั้งนี้การประกอบธุรกิจอาหารสุขภาพมีความจำเป็นยิ่ง ที่ต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยให้กระบวนการผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน

เครื่องทอดสุญญากาศ  หรือ Vacuum  fryer  มีปริมาณการทอดต่อรอบ 65 กิโลกรัม/ครั้ง   สร้างระดับสุญญากาศสูงสุดได้ถึง -720  มิลลิเมตรปรอท  อุณหภูมิที่ใช้ในการทอด 80-95 องศาเซลเซียส   โดยใช้เวลาทอด 60-80 นาที/ครั้ง (ขึ้นกับประเภทวัตถุดิบ) ปริมาณน้ำมันที่ใช้ในการทอดต่อรอบจำนวน  600 ลิตร สามารถนำน้ำมันมาใช้ทอดซ้ำได้ถึง  20 ครั้งต่อน้ำมัน 1 รอบ โดยน้ำมันยังมีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ ระบบสลัดน้ำมันภายหลังการทอดใช้เวลา 25  นาที  กำลังการผลิตต่อการใช้น้ำมัน 1 รอบ (600 ลิตร) ประมาณ 1,000-1,300 กิโลกรัม  โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทอดมีคุณภาพสม่ำเสมอ  ไม่อมน้ำมัน  ถูกหลักอนามัย  มีอายุการเก็บรักษาได้ 1 ปี และคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้านกลิ่น สี รสชาติ ยังคงใกล้เคียงธรรมชาติ 

“…วว. พร้อมให้บริการและพร้อมเป็นหุ้นส่วนในความสำเร็จของผู้ประกอบการทุกท่าน  สามารถติดต่อสอบถามเพื่อเข้ามาใช้บริการกับ วว. ได้ที่ โทร.  0 2577 9000  หรือมาติดต่อได้ที่สำนักงาน ณ เทคโนธานี คลองห้า  จังหวัดปทุมธานี นักวิจัยของเราพร้อมให้คำแนะนำแก่ท่านในการเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของท่าน  เราพร้อมช่วยสานฝันของท่านให้สำเร็จเป็นรูปธรรมด้วยราคามิตรภาพ เนื่องจาก วว. ต้องการสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่และช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการเดิม โดยที่ท่านไม่ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี…”   ผู้ว่าการ วว. กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัยและพัฒนา หรือรับคำแนะนำปรึกษาในการประกอบธุรกิจจาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000  โทรสาร 0 2577 9009  www.tistr.or.th  E-mail : tistr@tistr.or.th   Line@tistr  IG : tistr_ig 


Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์ สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ในประเทศ

มช. พัฒนาเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนปลายนิ้ว ช่วยโรงพยาบาลสู้โควิด

จากการระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน แม้มาตรการควบคุมโรคจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เชื้อไวรัสก็สามารถพัฒนากลายพันธุ์จนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ทำให้การสังเกตอาการป่วยเบื้องต้นด้วยตนเองไม่สามารถวัดได้ว่ามีความเสี่ยงที่ได้รับเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เช่น อุณหภูมิร่างกายไม่สูงขึ้น หรือไม่มีอาการไอ ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพ หลายคนหาซื้ออุปกรณ์ตัวช่วยเพื่อเช็คอาการเบื้องต้น รวมถึงอุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือด เพื่อเฝ้าระวังตรวจสอบความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของตัวเอง จนทำให้อุปกรณ์ชนิดนี้ที่ขายตามท้องตลาดมีราคาสูงขึ้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเกิดแนวคิดผลิตเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ในราคาที่ย่อมเยาและมีความแม่นยำสูง เพื่อให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย รองศาสตรจารย์ ดร.เอกรัฐ บุญเชียง อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านสารสนเทศทางสุขภาพเพื่อชุมชน ร่วมกับทีมวิจัยสถาบันวิทยสิริเมธี (Vistec) ได้ทำการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนด้วยปลายนิ้ว วางแผนออกแบบและสั่งชิ้นส่วนอุปกรณ์จากต่างประเทศ นำมาประกอบและตั้งค่าความแม่นยำในการตรวจวัด โดยอุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นมานี้สามารถวัดได้ทั้งค่าออกซิเจนในเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจ โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 2 % เท่านั้น ที่สำคัญคือ มีต้นทุนน้อยกว่าที่ขายตามท้องตลาดหลายเท่าตัว นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดพัฒนาแอปพลิเคชัน ชีวิต (Chivid) ที่สามารถเข้าสู่ระบบโดยผ่านแอปพลิเคชันไลน์และกรอกข้อมูลประวัติคนไข้ ถ่ายภาพเครื่องวัดในขณะใส่ที่นิ้วลงบนแอปพลิเคชัน ระบบจะจดบันทึกได้โดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องกรอกค่าออกซิเจนด้วยตนเอง ข้อมูลจะส่งถึงเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ทันที โดยลดการใกล้ชิดของผู้ป่วยและบุคลากร อีกทั้งการใช้งานสะดวกต่อคนชราที่อาศัยอยู่ที่บ้าน ซึ่งอาจจะลำบากต่อการอ่านค่าปริมาณออกซิเจน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถถ่ายภาพหน้าจอแสดงผล ส่งเข้าไปให้กับ แอปพลิเคชันเพื่อรายงานค่าต่าง ๆ อย่างละเอียด เป็นการช่วยลดระยะห่างระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

แม้เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนปลายนิ้วจะไม่ใช่อุปกรณ์ที่สามารถวินิจฉัยได้ว่า ผู้ใช้ติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ แต่สามารถใช้เฝ้าระวังอาการผิดปกติภายในร่างกาย สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ติดเชื้อ รวมทั้งใช้ติดตามอาการผิดปกติ ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับแพทย์ เพื่อให้สามารถมาพบแพทย์ได้อย่างทันท่วงทีเมื่อมีอาการผิดปกติ ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติ และพบแพทย์ได้เร็ว โอกาสที่โรคจะเพิ่มความรุนแรงหรือเสี่ยงเสียชีวิตก็จะน้อยลงไปด้วย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะที่มีความพร้อมและมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้า ทีมนักวิจัยที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ มุ่งเน้นการทำงานด้านสุขภาพเพื่อรับใช้สังคมให้เกิดประโยชน์สูงสุดและได้มาตรฐานในระดับสากล


 

Categories
บทความ สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ต่างแดน เทคโนโลยี

3 นวัตกรรมหน้ากากเพื่อมนุษยชาติ

เริ่มจากวันที่เราตื่นตัวเรื่องฝุ่นจิ๋ว PM2.5 จนมาสู่การจู่โจมของ COVID-19 ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยและเริ่มดูชินตา ไม่เหมือนกับการสวมใส่ในช่วงแรกที่ทำเอาคนที่สวมใส่ดูกลายเป็นคนประหลาดไปเลย

ในบทความนี้เราลองมาดูนวัตกรรมการออกแบบหน้ากากอนามัยในยุคสมัยที่ต่อจากนี้เราจะเริ่มคุ้นชินและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่เราแทบทุกคนจะต้องพกติดตัวในที่สุด

Xiaomi mijia Purely

เริ่มจากแบรนด์ที่คุ้นเคย กับนวัตกรรมหน้ากากจากเสี่ยวมี่ Xiaomi mijia Purely ที่มีพัดลมติดตั้งอยู่ด้านหน้าของหน้ากาก เปรียบเหมือนมีเครื่องฟอกอากาศขนาดเล็กติดตั้งอยู่ที่หน้ากากเลยทีเดียว

โดยความแรงของพัดลมจะมี 3 ระดับ พัดลมสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง 4 ถึง 8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับระดับความแรงของพัดลมที่เปิด เมื่อพลังงานหมดก็สามารถชาร์จโดยการเชื่อมต่อสาย microUSB

โดยในชุดผู้ผลิตจะแถมแผ่นกรองที่มีความหนาแตกต่างกันสำหรับติดตั้งในช่องพัดลม และมีแผ่นหน้ากากสำหรับรองด้านในอีกหนึ่งแผ่น

อันนี้มีจำหน่ายจริงแล้วนะครับและราคาก็ไม่แรงมาก สนใจก็ลองเข้าไปซื้อหากันได้ตามลิงก์นี้เลย


Atmōs

หน้ากากสุดแนวที่ได้รับรางวัลในงาน CES2019 เห็นแล้วให้คิดถึงภาพยนตร์ไซไฟเป็นยิ่งนัก ด้วยรูปทรงล้ำสมัยที่ยากจะบรรยาย

หน้ากากทั่วไปจะใช้เพียงแผ่นกรองประเภท HEPA ซึ่งเป็นกรองที่มีความละเอียดสูง แต่หน้ากากตัวนี้มันปกป้องฝุ่นด้วยหลักการไหลเวียนของอากาศ ลองนึกถึงเมื่อคุณเดินเข้าห้างแล้วมีลมแรงๆ พัดลงมาที่ศรีษะของคุณ นั่นแหละครับวัตถุประสงค์ค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่หลักการจะต่างออกไป

โดยหน้ากาก Atmōs จะมีพัดลมทั้งหมด 2 ชุด ตัวแรกทำหน้าที่เป่าลมให้ไหลเข้าไปในหน้ากากที่ออกแบบให้ลมสามารถไหลผ่านบริเวณปากและจมูกของผู้สวมใส่โดยไม่ฟุ้งกระจายออกไปด้านนอก ทำให้ผู้สวมใส่ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ไหลเวียผ่านจมูกตลอดเวลา โดยอีกฝั่งของหน้ากากจะมีพัดลมอีกหนึ่งชุดที่ทำหน้าที่ดูดอากาศออกเพื่อสร้างการไหลเวียนของอากาศในหน้ากากนั่นเอง

ดูเหมือนง่ายๆ แต่ก็ต้องใช้หลักการออกแบบทางวิศวกรรมและผ่านการทดสอบมาหลายปีกว่าจะสามารถผลิตออกมาจำหน่ายได้สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปสั่งจองหน้ากากสุดแนวนี้ได้ที่ https://www.ao-air.com/


FIRE MASK

สำหรับนวัตกรรมหน้ากากชิ้นนี้ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ต้องการห่างไกลจากฝุ่น pm2.5 และโควิด แต่นวัตกรรมหน้ากากตัวนี้ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในไซต์งานก่อสร้าง หรือนักดับเพลิงเป็นหลัก

เนื่องจากควันไฟที่มักจะเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน นักออกแบบแดนกิมจิอย่าง Inyong Bang จึงได้มีแนวคิดออกแบบหน้ากากกันไฟนี้เพื่อป้องกันการสูดดมควันจนอาจทำให้หมดสติได้

ลักษณะของหน้ากากนักดับเพลิงนี้ก็จะมีรูปทรงคล้ายกับหน้ากากสำหรับกันสารพิษ เมื่อกดปุ่มที่ด้านหน้าของหน้ากากจะทำให้น้ำถูกฉีดกระจายไปยังเยื่อกระดาษอัดทันที โดยเยื่อกระดาษที่อิ่มตัวด้วยน้ำ จะช่วยปกป้องผู้สวมใส่จากก๊าซและควันที่เป็นอันตราย เพื่อช่วยซื้อเวลาอันมีค่าในการหลบหนีหรือช่วยดับไฟในที่เกิดเหตุ

ทั้ง 3 รูปแบบนี้ก็คือตัวอย่างของนวัตกรรมหน้ากากที่มีการออกแบบทั้งที่จำหน่ายจริงและกำลังอยู่ในแผนการผลิต แน่นอนว่าในอนาคตเราคงมีโอกาสได้เห็นหน้ากากอนามัยหน้าตาแปลกๆ อีกมากมายทีเดียว แต่สิ่งที่อยากเห็นก็คือการผลิตออกมาจำหน่ายจริงในปรืมาณมากและราคาที่บริโภคอย่างเราจับต้องได้ เอาใจช่วยนักนวัตกรรมกันนะครับ


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์ สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ในประเทศ

วิศวะ พีไอเอ็ม ผุดไอเดีย “HAND ON” แอปพลิเคชันสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน คว้ารางวัล INNO for Change 2020 by NIDA

เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสังคมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งได้ถูกพัฒนาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้พิการ ปัจจุบันผู้พิการทางการได้ยินพบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ตามประเภทความพิการ ซึ่งมีผู้พิการประเภทการได้ยินหรือสื่อความหมายจำนวน 372,189 คน จากจำนวนทั้งหมด 1,995,767 คน จากข้อมูลดังกล่าวนักศึกษาชั้นปีที่3 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) มีความมุ่งหวังที่จะใช้ศักยภาพ ความรู้ เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งช่วยเหลือสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางการได้ยินให้มีชีวิตที่ดีขึ้น จึงระดมสมองเกิดเป็นแนวคิดนวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม “HAND ON” แอปพลิเคชันสำหรับผู้พิการทางการได้ยินที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพียงใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ส่งแข่งขันพร้อมรับรางวัลชนะเลิศจากงาน INNO for Change 2020 by NIDA โครงการประกวดแนวคิดนวัตกรรมของเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างสรรค์สังคม ภายใต้คอนเซปต์ “Innovation for Change” นำเสนอผลงานผ่านวิดีโอความยาว 10-15 นาที โดยการทำงานของแอปพลิเคชันแบ่งออกเป็น 5 ส่วนได้แก่

1. ส่วนการแปลภาษามือ สามารถแปลภาษาภาษามือเป็นตัวอักษร และแปลจากตัวอักษรเป็นภาษามือ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากพจนานุกรมภาษามือไทยอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้หลักการ Machine Learning และ Image Processing ได้แบบเรียลไทม์เพื่อลดช่องว่างการสื่อสารระหว่างผู้พิการทางการได้ยินและคนทั่วไป ทำให้ติดต่อสื่อสารได้รวดเร็ว เช่น การติดต่อราชการ การเข้ารับการรักษาพยาบาล

2. ส่วนของกระดานข่าว เป็นส่วนแสดงวิดีโอภาษามือรูปแบบของข่าวหรือเหตุการณ์ เกร็ดความรู้ต่างๆ เช่น การทำอาหาร การประดิษฐ์ของใช้ และอัดโหลดคลิปวิดีโอตัวเองลงได้เพื่อเป็นการแชร์ข้อมูล หรือขายสินค้าออนไลน์ได้

3. ส่วนของการแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นส่วนที่คอยแจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆ ผ่านการแปลภาษามือเป็นข้อความและรูปภาพเพื่อส่งไปขอความช่วยแหลือ พร้อมส่งสถานที่ปัจจุบันเพื่อระบุตำแหน่งที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

4. ส่วนของการประกาศหางานและจัดหางาน คือส่วนที่โพสต์เกี่ยวกับคุณสมบัติของตัวเองสำหรับผู้ว่าจ้างพิจารณา และยังเป็นส่วนที่หน่วยงานต่างๆ สามารถประกาศรับสมัครงานสำหรับคนพิการได้ เพื่อลดจำนวนอัตราการว่างงานของผู้พิการลง

5. ส่วนการแจ้งเตือนด้วยการสั่น สำหรับในกรณีที่อยู่ในที่สาธารณะ หรือเวลาข้ามถนน ส่วนนี้จะทำการสั่นเมื่อได้ยินเสียงดัง เช่น เสียงบีบแตร เสียงระเบิด เสียงปืน เป็นการป้องการเกิดอุบัติเหตุสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน

“HAND ON” เป็นอีกโปรเจกต์หนึ่งที่นำความรู้ด้านวิศวกรรมหลายวิชาจากที่ได้เรียน เช่น การเขียนโปรแกรมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาผสมผสานกับประสบการณ์ตรงจากการฝึกปฎิบัติงาน ตามแบบฉบับ Work-based Education สร้างสรรค์จนเป็นผลงาน เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาชั้นปีที่3 ทั้ง 3 คน จากสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม โดยนายศานติ ภูมิกาล 1 ในทีมผู้คิดค้นเล่าที่มาที่ไปว่า “เราเเบ่งงานเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนของการทำเเอปพลิเคชัน โดยเริ่มจากศึกษาข้อมูลและปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้พิการทางการได้ยิน และดีไซน์หน้าตาของแอปฯ ให้เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก กดไม่กี่ครั้งต้องเข้าถึงโหมดที่ต้องการได้เลย จากนั้นเขียนข้อมูลลงเว็บแอปพลิเคชั่น Pingendo และทำการแปลภาษามือและตรวจสอบผ่าน AI ที่ Teachable Machine เพื่อส่งข้อมูลไปยัง Cloud และสามารถประมวลผลไปยังแอปฯ ได้ทันที ส่วนการทำวิดีโอนำเสนอผลงาน เริ่มจากทำวางโครงเรื่องให้สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนทั่วไปได้เห็นภาพ การถ่ายทำ การเเสดง หาเสียงประกอบ เเละการตัดตัดต่อ เพื่อจะสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจในแบบที่ต้องการ”

ทางด้านนางสาวเพ็ญนภา สุขเพ็ง สมาชิกในทีมกล่าวหลังจากที่ได้ทำผลงานชิ้นนี้ว่า “ได้พัฒนาตนเองมากขึ้น ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ ก้าวข้าม Comfort Zone ของตัวเอง เคยกลัวสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น กลัวการเขียนโค้ดดิ้ง (Coding) เเต่พอได้ลองทำเเล้วมันไม่ยากอย่างที่คิด เพียงเเค่กล้าที่จะเรียนรู้เเละลงมือทำ และที่สำคัญมี ดร.ศรัณย์ ฉัตรธัญญกิจ และอาจารย์ภาคภูมิ ปฐมภาคย์ อาจารย์ประจำสาขาฯ เป็นที่ปรึกษาโครงการ คอยสอนเขียนโปรแกรม เขียนแอปฯ ช่วยในการจัดสรรงาน เเนะนำว่าต้องทำอะไรบ้าง สนับสนุนทุกขั้นตอนในการถ่ายทำวิดีโอ”

ปิดท้ายด้วย นายศิฎฒิภัต ธรรมเกสร กล่าวว่า “ชิ้นงานตอนนี้ยังถือว่าเป็น Prototype ซึ่งในระยะแรกแอปพลิเคชันรองรับเฉพาะระบบแอนดรอยด์ หลังจากนี้วางแผนคิดต่อยอดให้สามารถใช้งานได้จริงสมบูรณ์เเบบ 100% ในขั้นตอนต่อไปอยากจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลของผู้พิการเพิ่มว่าเขามีความต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เราสามารถนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกเขาในด้านใดอีก และเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานภาษามือจากผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้นเเละครอบคลุม”

นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของนักศึกษาพีไอเอ็ม ที่นำการศึกษาและเทคโนโลยีมาประยุกต์สร้างสรรค์ขึ้นเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีถือเป็นความหวังของกลุ่มผู้พิการอย่างมาก เพราะจะเข้ามามีบทบาทให้ความเป็นอยู่ของพวกเขาสะดวกขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเอง ดำเนินชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม อยู่ในสังคมอย่างไร้อุปสรรค ในขณะเดียวกันโครงการนี้ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาด้านวิศวกรรมไปอีกขั้น และจุดประกายความคิด ปลุกความเป็นนักสร้างนวัตกรรม ริเริ่มทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีใหม่ทั้งความคิด การผลิต ทำงานร่วมกัน ไปจนถึงการพัฒนาต่อยอดไปสู่งานในอนาคต ทั้งนี้เทคโนโลยียังมีศักยภาพอีกมหาศาลที่จะนำมาใช้เพื่อสร้างสิ่งดีๆ เป็นประโยชน์ให้แก่สังคม และทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้อีกมาก


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์ สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ในประเทศ

รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ผลงานนักศึกษาคณะครุศาสตร์ฯ มจพ. วิ่งจ่ายยาอัตโนมัติถึงเตียงผู้ป่วย

เรื่องโดย : ขวัญฤทัย

รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสผู้ป่วยให้กับคุณพยาบาล และนี่คือนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ผลงานของ นายเกียรติศักดิ์ เพ็ชรมาก และ นางสาวกนิษฐา โกอินต๊ะ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยมีผศ.ดร.ดวงกมล โพธิ์นาค เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

คุณสมบัติของระบบรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ

ตัวรถเข็นใช้บอร์ด Arduino Mega เป็นหน่วยประมวลผลหลัก และพัฒนาโค้ดด้วยภาษา C++
• มีโมดูล ESP8266 เป็นตัวเชื่อมต่อ WiFi
• รถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะมีขนาดกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร สูง 65 เซนติเมตร
• โครงรถเข็นใช้เหล็กกล่องขนาด 1×1 นิ้ว
• ใช้แผ่นอะคริลิก สีขาวขุ่น หนา 5 มิลลิเมตร เป็นแผ่นปิดโครงรถเข็น
• ใช้มอเตอร์เกียร์ขนาด 12V ความเร็วรอบ 50rpm จำนวน 2 ตัว ในการขับเคลื่อน
• ลิ้นชักบรรจุยามีขนาด 16 x 10 x 22 ซ.ม. (กว้าง x ยาว x สูง)
• ส่วนระบบฐานข้อมูลใช้โฮสต์ Firebase ในการเก็บข้อมูลตำแหน่งยา และใช้ SQL ในการเก็บประวัติการจ่ายยา
• ใช้ภาษา HTML ภาษา PHP และ JavaScript ในการสร้างส่วนของเว็บแอปพลิเคชั่น
• ใช้แหล่งจ่ายไฟจากแบตเตอรี่ 12V 20A
• มีวงจรรักษาระดับแรงดันเมื่อแบตเตอรี่มีแรงดันไฟต่ำ
• มีวงจรประจุแบตเตอรี่ในตัว เมื่อต้องการประจุแบตเตอรี่ใหม่สามารถเสียบปลั้กไฟ 220 โวลต์ ได้ทันที ทำให้สะดวกในการประจุแบตเตอรี่ใหม่ และระบบตัดไฟอัตโนมัติเมื่อประจุแบตเตอรี่เต็มแล้ว

สำหรับงบประมาณที่ใช้ประมาณสองหมื่นบาท ใช้ระยะเวลาในการประดิษฐ์ต้นแบบ 4 เดือน นับว่าเป็นนวัตกรรมการจ่ายยาที่ยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย โดยนำเอาเทคโนโลยีด้านเว็บแอปพลิเคชั่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มาช่วยในการการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล

การทำงานของรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ
เมื่อเริ่มใช้งานพยาบาลจะกดสวิตช์เลื่อนลิ้นชักออกมาเพื่อนำยาใส่ลงในลิ้นชักแต่ละช่องของรถเข็น แล้วจึงระบุข้อมูลตำแหน่งของยาและเตียงผู้ป่วยลงในฐานข้อมูลผ่านหน้าเว็บแอปพลิเคชั่น จากนั้นรถเข็นจะทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยโมดูล ESP8266 เพื่อดึงข้อมูลตำแหน่งยาและเตียงผู้ป่วย จะวิ่งไปยังเตียงของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ  จากนั้นรางลิ้นชักที่บรรจุยาอยู่จะเลื่อนออกอัตโนมัติโดยอาศัยมอเตอร์เกียร์ เป็นตัวส่งกำลังให้ลิ้นชักทำการเปิด – ปิด โดยภายในลิ้นชักจะมีตัวตรวจจับ (sensor) มือของผู้ป่วยในการหยิบยา

เมื่อลิ้นชักเปิดแล้วระบบจะหน่วงเวลาเพื่อรอให้ผู้ป่วยหยิบยา 2 นาที หากไม่ได้หยิบยาในระยะเวลาที่กำหนดระบบจะปิดลิ้นชักและวิ่งไปจ่ายยายังเตียงถัดไป แต่หากผู้ป่วยรับยาแล้วลิ้นชักจะทำการปิดและไปจ่ายยายังเตียงถัดไปเช่นกัน ในขณะที่รถเข็นกำลังเคลื่อนที่ไปจ่ายยา หากพบสิ่งกีดขวางในระยะน้อยกว่า 50 เซนติเมตร รถเข็นจะหยุดและส่งสัญญาณเสียงเตือน และเมื่อไม่มีสิ่งกีดขวางจะเคลื่อนที่ต่อโดยอัตโนมัติ

ระบบของรถเข็นยังได้ออกแบบการใช้งานเป็น 2 ระดับ คือระดับผู้ใช้งาน และผู้ดูแลระบบ ในส่วนของผู้ใช้งานก็คือพยาบาลจะสามารถเพิ่มตำแหน่งจ่ายยา และเรียกดูประวัติการจ่ายยาของผู้ป่วยได้ และในส่วนของผู้ดูแลระบบจะสามารถเพิ่มข้อมูลตำแหน่งยา เรียกดูประวัติการจ่ายยา สมัครสมาชิก และระบบการจัดการสมาชิก

และนี่คือนวัตกรรมรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะต้นแบบ ที่สามารถเพิ่มความสะดวกในการจ่ายยาให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่ช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอย่างพยาบาล และที่สำคัญลดความเสี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 หรือโรคติดต่ออื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาในเชิงพาณิชย์

สอบถามรายละเอียดได้ที่
ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)
หรือที่ ผศ.ดร.ดวงกมล โพธิ์นาค โทรศัพท์ 064-639-4888 หรือนายเกียรติศักดิ์ เพ็ชรมาก โทรศัพท์ 0907080272 และนางสาวกนิษฐา โกอินต๊ะ โทรศัพท์ 0907796372


 

Categories
ข่าวประชาสัมพันธ์ สิ่งประดิษฐ์ในประเทศ

ฝีมือนักศึกษา มจพ. สร้างตู้รับซื้อขวดน้ำอัตโนมัติช่วยลดโลกร้อนส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ผลงานวิจัย เรื่อง ตู้รับซื้อขวดน้ำอัตโนมัติ ผลงานของนายชาญชัย ช้างเผือก และนายพจน์ปกรณ์ เทียนมานักศึกษาสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ผศ.ดร.ดวงกมล โพธิ์นาค เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ผลงานวิจัยตู้รับซื้อขวดน้ำอัตโนมัติ เป็นการพัฒนาด้าน ระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อขายขวดน้ำให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขั้น

โดยวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวกับ การรีไซเคิลและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ระยะเวลาในการทำวิจัย 1 ปี

ใช้งบประมาณ 20,000 บาท

ซึ่งขณะนี้ได้เปิดใช้แล้ว ติดตั้งบริเวณหน้าห้องสมาคมศิษย์เก่า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ตึก 52 สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ตู้รับซื้อขวดน้ำอัตโนมัติ” เป็นไอเดียที่เริ่ดๆ แค่คลิ๊กเดียวจบบนสมาร์ทโฟน และสามารถตอบโจทย์เกี่ยวกับลดโลกร้อนและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการรีไซเคิลขวดพลาสติกที่พบเห็นอยู่ในองค์กร หรือโดยทั่วไปที่นับวันก็มีเพิ่มมากขึ้น ช่วยแชร์ประสบการณ์ดี ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะ ปัญหาภาวะโลกร้อน รวมถึงการสร้างจิตสำนึกดูแลโลก อนุรักษ์โลก เพราะนอกจากจะเป็นวิธีการลดขยะประเภทพลาสติกแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูคค่าของขวดพลาสติกได้ “แบบเก็บสะสมแต้มแลกเงินได้จริง” และสามารถสมัครสมาชิกบนสมาร์ทโฟน หรือผ่านระบบเว็บไซต์ได้ทันที แถมยังตอบโจทย์กรีน “Green” ให้มหาวิทยาลัยด้วย

“พจน์ปกรณ์” เล่าให้ฟังถึงแนวคิดและความเป็นมาของงานวิจัยชิ้นนี้ว่า เกิดจากเห็นการทิ้งขยะในมหาวิทยาลัยที่แต่ละวันมีปริมาณมากทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น สืบเนื่องมาจากจำนวนนักศึกษาและบุคลากร ส่วนมากขยะที่พบจะเป็นขวดน้ำดื่มพลาสติก มีการนำไปทิ้งลงถังขยะอย่างไม่ถูกต้อง และเกิดผลเสียภายในมหาวิทยาลัย ส่งผลต่อสภาพสิ่งแวดล้อม เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้มีการรณรงค์ลดขยะพลาสติกภายในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้ “ผม” และเพื่อนมีแนวคิดพัฒนาตู้รับซื้อขวดน้ำอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างรายได้จากการเพิ่มมูลค่าจากขยะขวดพลาสติกเป็นเงินให้กับบุคลากร และนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย ทำให้ขวดน้ำดื่มพลาสติกมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น

จุดเด่นของตู้รับซื้อขวดน้ำอัตโนมัติ

สามารถสมัครสมาชิกผ่านสมาร์ทโฟน และเช็คยอดเงินผ่านเว็บไซต์ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่าน bit.ly/grm-website หรือ สแกน QR code จากหน้าตู้รับซื้อขวดน้ำอัตโนมัติ ระบบของตู้จะมีการจัดการแยกตัวขวดน้ำดื่มกับแยกฝาขวดน้ำดื่มไว้ให้เพื่อได้ง่ายต่อการนำไปขายต่อ การจัดการยอดเงินของตู้รับซื้อขวดน้ำอัตโนมัติ จะทำแบบเรียลไทม์ พร้อมยอดเงินจะทำการอัพเดททันที มีการจัดการเรื่องน้ำก้นขวดได้ เพราะมีการรับขวดน้ำโดยใช้แกนพลาสติกในการรับขวดน้ำ และมีที่รองรับน้ำที่อยู่ก้นขวดภายในตู้

ลักษณะทั่วไปของตู้

“ชาญชัย” อธิบายถึงลักษณะเด่นของตู้รับซื้อขวดน้ำว่า การออกแบบจะเน้นใช้วัสดุที่ประกอบง่าย โดยเลือกวัสดุทำมาจาก “อะลูมิเนียมโปรไฟล์” ที่มีความแข็งแรง สามารถปรับระดับได้ น้ำหนักเบา มีความคงทน เคลื่อนที่สะดวก โดยออกแบบให้ตู้มีขนาดสูง 170 เซนติเมตร ลึก 120 เซนติเมตร ความกว้าง 70 เซนติเมตร และมีน้ำหนักโดยประมาณ 50 กิโลกรัม

ตัวตู้เองมีแกนรับในการหมุนเพื่อบังคับให้เปิดฝาขวดน้ำดื่มออกและใส่ในช่องรับฝา ก่อนที่จะนำขวดน้ำดื่มใส่เข้าระบบ เนื่องจากการซื้อขายขวดน้ำดื่มจะต้องแยกพลาสติกที่แตกต่างกันออกก่อนที่จะรีไซเคิลทุกครั้ง อีกทั้งตู้นี้ยังสามารถคัดแยกน้ำที่เหลืออยู่ในขวดน้ำดื่มออกได้อีกด้วย

“ตู้รับซื้อขวดน้ำอัตโนมัติ” สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อนำตู้รับซื้อขวดน้ำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยที่ผู้ขายไม่ต้องมีการเก็บสะสมขวดน้ำไว้ที่บ้านจำนวนมาก เพื่อนำไปขายคราวเดียว ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่บ้านไม่เพียงพอ ไม่คุ้มกับเงินที่ได้ และผู้รับซื้อเองมีระบบการจัดการได้ง่าย สามารถนำออกไปขายต่อได้ทันที หรืออาจจะเป็นการร่วมมือกับน้ำดื่มยี่ห้อต่างๆ เพื่อติดโลโก้ของตัวเครื่อง ไว้ที่ขวดน้ำดื่ม จะสามารถบอกได้ว่าขวดน้ำดื่มนี้สามารถขายกับตู้รับซื้อขวดน้ำดื่มนี้ได้เป็นการทำธุรกิจร่วมกันอย่างหนึ่ง หรือใช้เพื่อการสะสมแต้ม เช่น ในโรงเรียนทำเป็นระบบเก็บสะสมแต้มเพื่อนำมาแลกอุปกรณ์การเรียนให้กับเด็กนักเรียน หรือ สำนักงานบริษัททำเป็นระบบการสะสมแต้มเพื่อแลเครื่องดื่ม เป็นส่วนลดภายในองค์กร ยังช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในองค์กร และสถานศึกษาได้อีกด้วย

สอบถามรายละเอียดได้ที่ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทรศัพท์ 02-913-2500 ต่อ 3234


 

Categories
สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ต่างแดน

Candy Cane หมอนสำหรับนักเดินทาง

เมื่อกล่าวถึงหมอนสำหรับนักเดินทาง คุณจะจินตนาการภาพมันเป็นยังไง? หลายคนคงคิดถึงหมอนหนุนคอทรงโค้งตามปกติ เวลาจะงีบหลับก็คล้องติดคอไว้แบบนั้นใช่มั้ยล่ะครับ ในแง่ของฟังก์ชั่นการใช้งานผมว่ามันเวิร์กนะ แต่การพกพาล่ะ ด้วยขนาดของมันคุณต้องยัดมันลงไปในกระเป๋าเดินทาง ทำให้สิ้นเปลืองเนื้อที่เป็นอย่างมาก (มากจริงๆ) งั้นเรามาดูกันว่าหมอนสำหรับนักเดินทางที่ผู้เขียนภูมิใจนำเสนอมันดียังไง

Candy Cane คืออะไร

จะว่าไปแล้วมันก็คือหมอนหนุนคอนี่แหละครับ แต่มันเป็นหมอนหนุนคอที่เวลาเก็บแล้วมีขนาดเล็ก น้ำหนักเพียง 125 กรัม ขนาดเมื่อจัดเก็บแล้วพอๆ กับเวลาเราม้วนถุงเท้า 1 คู่เข้าด้วยกันอย่างนั้นเลย หมอน Candy Cane เป็นหนึ่งในโครงการที่กำลังระดมทุนอยู่ใน www.kickstarter.com โดยชื่อ Candy Cane มาจากคำเปรียบเปรยที่ว่าเวลาใช้งานมันคุณจะได้นอนหลับฝันหวานไปเลย อะไรประมาณนี้

คุณสมบัติและการใช้งาน

ผิวชั้นนอกผลิตจากผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศดีเยี่ยม (เค้าว่างั้น) คล้ายกับเสื้อผ้าของนักกีฬา เวลาจะใช้งานก็เพียงใช้ปากเป่าลมเข้าไปเบาๆ หรือจะเป็นลมจากช่องแอร์ของรุโดยสารก็ยังได้ เจ้า CandyCane ก็จะพองออกมา เมื่อพองได้ที่ก็ปิดปากกันลมไหลออกโดยบริเวณปากช่องลมเข้าจะเป็นแถบแม่เหล็กทำให้ปิดได้อยากรวดเร็วแล้วก็ม้วนปากมันเพื่อกันลมไหลออก ง่ายๆ แค่นี้เองครับ

เวลาเก็บก็ไล่ลมออกแล้วม้วนเก็บเข้าไป ขนาดของมันก็จะเล็กกลมกลืนไปกับอุปกรณ์ในกระเป๋นเดินทางของเรา

ทีมงานผู้ออกแบบเคลมว่า เจ้า CandyCane นี้ได้คัดสรรค์วัสดุที่ดีที่สุด และตัดเย็บโดยช่างฝีมือที่เก่งที่สุด และยังรองรับกับศรีษะของผู้ใช้งานได้ทุกวัยอีกด้วย ซึ่งหลังจากโครงการนี้เข้าร่วมระดมทุนเพียงไม่กี่วันก็ทะลุเป้า $15,000 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ วันที่เขียนต้นฉบับนี้ยอดทะลุไปถึง $38,905 กันเลยทีเดียว

นี่แหละครับสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่านวัตกรรมอย่างแท้จริง มีทั้งการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุที่ลงตัว ทำให้การระดมทุนของพวกเขาใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน หากท่านสนใจก็เข้าไปดูเงื่อนไขกันได้ที่ www.kickstarter.com

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.kickstarter.com


 

Categories
สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ต่างแดน

ALOFT SPEAKER CONCEPT

เมื่อพูดถึงลำโพงบลูทูธคุณเห็นภาพแบบไหนกันบ้าง แน่นอนว่าแทบทุกคนคงนึกถึงเจ้ากล่องรูปทรงเลขาคณิตที่ต้องไว้บนโต๊ะ แต่ทุกสิ่งจะเปลี่ยนไป เมื่อลำโพงบลูทูธถูกออกแบบให้ใช้งานเป็นขาชั้นวางของ ทำให้ห้องของคุณดูสวยงามและมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติมอีกด้วย

ลำโพงบลูทูธที่ว่านี้ได้รับการออกแบบโดยนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากนิวยอร์ค นามว่า Hyeonil Jeong แนวทางการออกแบบของเขามุ่งเน้นไปที่การใช้งานร่วมกับโครงสร้างและกลไกที่พบในสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเขาให้ชื่อลำโพงบลูทูธแบบนี้ว่า ALOFT SPEAKER CONCEPT

ผู้ออกแบบ : Hyeonil Jeong

ALOFT SPEAKER CONCEPT จะเป็นลำโพงระบบไร้สาย Bluetooth และแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปวางในที่ต่างๆ ได้ตามต้องการ

ปัจจุบัน Hyeonil Jeong ได้ทำงานในโครงการต่างๆ เช่นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์การจัดแสดงนิทรรศการและการออกแบบนิทรรศการ

ข้อมูลจาก : http://www.yankodesign.com/


 

Categories
สิ่งประดิษฐ์ สิ่งประดิษฐ์ต่างแดน

Emotional Backpack For Cyclists

นักปั่นจักรยานส่วนใหญ่ต้องมีกระเป๋าสะพายหลังคู่ใจไว้ใส่สัมภาระไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำดื่ม ผ้าเช็ดหน้า และอื่นๆ อีกมากมายตามแต่ความจำเป็นของแต่ละคน นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักออกแบบผู้นี้ได้ออกแบบ Gadget โดนใจชิ้นนี้ขึ้นมา

Exit mobile version