Categories
Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

ทำฝาท่อน้ำทิ้งด้วยพลาสวูด

เชื่อว่าผู้อ่านที่มีบ้านเป็นทาวน์เฮ้าส์หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ในการต่อเติมพื้นที่หลังบ้านให้กลายเป็นห้องครัวเหมือนกับผม ปัญหาก็คือท่อน้ำหลังบ้านที่ไม่เพียงแต่ส่งกลิ่นเหม็นเท่านั้น

วันดีคืนดีก็มีแขกไม่ได้รับเชิญเลื้อยขึ้นมานอนอยู่ในครัวที่เราต่อเติมยังกับเป็นบ้านของตัวเอง



ลองดูตัวอย่างจากครัวที่ต่อเติมด้านหลังของบ้านผมเป็นตัวอย่างนะครับช่าง รับเหมาเดินท่อน้ำทิ้งจากรางน้ำฝนบนหลังคาเข้ามาในตัวบ้าน แทนที่จะฝังไว้ใต้พื้นแต่กลับปล่อยทิ้งไว้น่าตาเฉยโดยมีข้ออ้างสารพัดที่จะอธิบายกับเรา ตอนแรกก็ไม่ได้ติดใจอะไร พออยู่ๆไปฝนตกสิครับ สารพัดสิ่งไม่พึงประสงค์จากหลังคาก็ไหลเข้ามาในครัวเลอะเทอะไปหมด แถมบางวันเข้าบ้านมาต้องตกใจกับเจ้างูน้อยที่นอนอยู่ในครัว ผมเข้าใจว่ามันคงขึ้นมาจากท่อระบายน้ำที่ผมอยากจะปิดรูให้มิดชิด แต่ก็ปิดไม่ได้เพราะกลัวฝนตกแล้วน้ำจะไม่ระบายลงท่อ อ้อ อีกประการหนึ่งคือตอนฝนตกยังมีกลิ่นเหม็นขึ้นมาจากท่อระบายน้ำอีกต่างหาก แล้วจะทำยังไงดีล่ะครับงานนี้ หันไปหันมาเจอแผ่นพลาสวูด 5มม. ที่เตรียมไว้ทำโครงงานลงนิตยสาร the prototype electronics จึงปิ๊งไอเดียเลยครับ ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าพลาสวูดเป็นวัสดุที่สามารถตัด เจาะ เซาะ ง่ายโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด แถมยังโดนน้ำได้ไม่ผุไม่เป็นเชื้อรา ผมจึงนำมันมาทำเป็นฝาปิดท่อน้ำแล้วก็จัดการฝังท่อน้ำให้มันมุดหัวลงไปในฝาท่อพลาสวูดซะเลย

แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนครับ ว่าผมทำไว้นานแล้ว แต่พอดีจะเจาะรูทำเป็นฝาเลื่อนเปิดปิดสำหรับเวลาล้างหรือเทน้ำทิ้งจะได้สะดวก เพราะเมื่อก่อนผมใช้วิธีดึงท่อออกมาแล้วค่อยเทน้ำทิ้งออกจึงไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ไหนๆ จะทำแล้วก็เลยมาบอกต่อให้ท่านนักอ่านและรักการประดิษฐ์ได้ชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันไว้ครับ โดยจะขอเริ่มตั้งแต่การทำท่อน้ำเลยก็แล้วกัน

ขั้นตอนการทำเป็นฝาท่อน้ำทิ้ง
1.เริ่มจากนำแผ่นพลาสวูดมาวางทาบฝาท่อน้ำทิ้งเดิมแล้วตัดให้เท่ากับฝาท่อเดิมทุกประการ แล้วเจาะรูสำหรับต่อท่อน้ำทิ้งที่ลงมาจากหลังคาห้องครัวด้วยวงเวียนคัตเตอร์ แล้วลองสอดท่อน้ำทิ้งลงไปให้พอดีนะครับอย่างกว้างกว่าท่อมากนักเพราะจะทำให้ ยุงและแมลงต่างๆ ขึ้นมาจากท่อได้

2. ทำช่องสำหรับระบายน้ำยามที่ต้องการล้างทำความสะอาดครัว โดยการทำเป็นบานเลื่อนที่สามารถเปิดปิดได้ เริ่มจากการเจาะช่องเป็นวงกลมด้วยวงเวียนคัตเตอร์ขนาดจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็ตามใจชอบเลยครับ แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ควรมีเส้นผ้านศูนย์กลางกว้างเกิน 4 นิ้ว เพราะจะทำให้ความแข็งแรงของแผ่นพลาสวูดลดลง

3. เริ่มการทำบานเลื่อนโดยตัดพลาสวูดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้กว้างกว่ารูวงกลม ที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่2 ข้างละประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นทำบ่ารับบานเลื่อนโดยนตัดพลาสวูดเป็นแผ่นเล็กๆ สำหรับเป็นตัวบังคับบานเลื่อน และสำหรับเป็นบ่ากันไม่ให้หลาสวูดหลุดออกมา 2 ชิ้น

4. เมื่อได้ชิ้นส่วนตามต้องการแล้วก็มาเริ่มประกอบกันเลยครับ เริ่มจากนำแผ่นบานเลื่อนมาติดตั้งปุ่มสำหรับเป็นมือจับ ในที่นี้ผมใช้หมุดสแตนเลสซึ่งมีจำหน่ายที่โฮมโปรทุกสาขาครับ โดยเลื่อนแผ่นบานเลื่อนมายังตำแหน่งที่เหมาะสมและขันสกรูผ่านฐานรองลงไป สุดท้ายตามด้วยหัวหมุดสแตนเลสหมุนปิดเข้าไป ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้วครับดังรูปด้านล่าง

จากนั้นนำแผ่นบานเลื่อนมาทาบกับรูที่เจาะไว้ แล้วนำชิ้นที่ใช้รักษาระยะและบังคับบานเลื่อนมาจัดวางให้มีลักษณะดังรูปด้านล่างนี้

5. ยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้สกรูเกลียวปล่อยขันยึดอีกครั้งเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เนื่องจากชิ้นส่วนนี้อาจต้องโดนน้ำอยู่เป็นประจำหากยึดด้วยกาวร้อนเพียง อย่างเดียวอาจทำให้กาวเสื่อมสภาพได้เร็วและหลุดออกมาได้

6. ถึงตอนนี้เราก็จะได้ช่องที่เป็นบานเลื่อนที่สามารถเลื่อนเปิดและปิดได้สะดวกสบายคุณแม่บ้านไปเลย

หวังว่าเทคนิคเล็กๆ นี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เล็กๆ แต่ใหญ่สำหรับบางคนโดยเฉพาะผมได้นะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Toy คุณทำเองได้ (DIY)

ที่เสียบปากกาเรืองแสง

โครงงานการประดิษฐ์ของเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำได้สุดแสนจะง่ายดายไม่มีอะไรซับซ้อน เอาใจคนที่ชอบขีดๆ เขียนๆ กันซะหน่อย ด้วยการทำที่เสียบปากกาสุดเก๋ เพียงแค่เสียบก็มีไฟ แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ช่องเสียบปากกาแต่ละช่องจะได้แสงไฟที่แตกต่างกัน อะอะ.. คงสงสัยละซิว่า ถ้าเสียบปากกาพร้อมกันทั้งสามช่องจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเสียบพร้อมกันก็จะเกิดการผสมสีของ LED ทั้งสามสีเลยทีเดียว อะฮ่า…เป็นไงละแหล่มเลยใช่ไหม เป็นที่เสียบปากกาแถมยังเป็นโคมไฟไปในตัวด้วย เอาล่ะๆ  มาลงมือทำกันเลย

ขั้นตอนการสร้าง
(1) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 23 x 2 ซม. แล้วใช้ความร้อนงอแผ่นพลาสวูดดังรูปที่ 1.1 เสร็จแล้วเจาะช่องลงบนกล่องพลาสติกขนาด 9 x9 ซม.เพื่อเสียบแผ่นพลาสวูดลงไป ใช้ดินสอกำหนดจุดที่จะเจาะลงบนกล่องพลาสติกแล้วใช้สว่านเจาะ จะได้ออกมาดังรูปที่ 1.4

(2) เจาะรูกล่องพลาสติกเพื่อทำที่เสียบปากกา ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 1 มม. ขนาด 4 x 1.5 ซม. 3 ชิ้นแล้วพับครึ่งดังรูปที่ 2.1 ติดลงไปด้านใต้กล่องพลาสติก ใช้ปากกากำหนดจุดเพื่อเจาะช่องเสียบปากกา ใช้กระดาษกาวติดลงไปใต้กล่องพลาสติกเพื่อจะได้เห็นรอยที่กำหนดไว้ได้ชัดเจน แล้วใช้สว่านเจาะรูได้ออกมาดังรูปที่ 2.4

(3) ตัดสายแพ 4 เส้น ยาว 20 ซม. ปอกปลายสายแพดังรูปที่ 3.1 เสร็จแล้วนำเทปโลหะนำไฟฟ้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาด 4 x 1.5 ซม. ติดสายแพ 3 เส้นเข้ากับแผ่นพลาสวูดหนา 1 มม. ซึ่งติดกับกล่องพลาสติกจากขั้นตอนที่ (2)

(4) ตัดแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ขนาด 6 x 0.5 ซม. บัดกรีตะกั่วลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อใช้เป็นหน้าสัมผัสสวิตช์ดังรูปที่ 4.2 ใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์เข้ากับด้านในของแผ่นพลาสวูดขนาด 1 ซม.ซึ่งติดกับกล่องพลาสติกจากขั้นตอนที่ (2) ดังรูปที่ 4.3 ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 5 x 0.5 ซม.ติดลงบนกล่องพลาสติก

(5) เสร็จแล้วติดกะบะถ่าน AAA ลงไป แล้วบัดกรีเชื่อมต่อสายแพที่เหลือ 1 เส้นเข้ากับขั้วลบของกะบะถ่าน ส่วนสายไฟขั้วบวกของกะบะถ่านให้บัดกรีเข้ากับแผ่นวงจรเอนกประสงค์ ดังรูปที่ 5.3 เสร็จแล้วจัดเก็บสายไฟให้เรียบร้อยจะได้ออกมาดังรูปที่ 5.4

(6) เชื่อมต่อวงจร  ตัดกระดาษแข็งสีขาววงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 ซม. จากนั้นตัดกระดาษสีขาวขนาด 15.5 x 4 ซม. ติดเข้ากับกระดาษแข็งวงกลม จะได้ออกมาดังรูปที่ 6.2 ต่อไปบัดกรี LED สีเขียว, ฟ้า และแดงเป็นชุด ชุดละ 3 ดวง โดยมีตัวต้านทาน 100Ω และ 68Ω เป็นตัวจำกัดกระแส บัดกรีลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ขนาด 2 x 1 ซม. ดังรูปที่ 6.3 จากนั้นนำเศษขาอุปกรณ์มาเชื่อมวงจรเข้าด้วยกันดังรูปที่ 6.5

(7) สอดสายแพขึ้นมาด้านบนของกล่องพลาสติกดังรูปที่ 7.1 นำแท่งพลาสวูดที่งอไว้จากขั้นตอนที่ (1.1) เสียบลงในช่องที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่ (1.4) ใช้ปืนยิงกาวยึดกล่องพลาสติกเข้ากับแท่งพลาสวูด เสร็จแล้วตัดกระดาษที่ทำเป็นโคมไฟจากขั้นตอนที่ (6.2) เพื่อให้สอดสายแพเข้ามาได้ดังรูปที่ 7.4 จากนั้นบัดกรีสายแพที่ติดเทปโลหะเข้ากับขาแอโนด (A) ของแผ่นวงจรพิมพ์ทั้ง 3 จุด โดยเลือกได้ตามต้องการ ส่วนอีก 1 เส้น คือกราวด์ ให้บัดกรีเข้ากับจุด (K) ของแผ่นวงจรพิมพ์ เมื่อบัดกรีเรียบร้อยก็ติดแผ่นวงจรพิมพ์ลงในกระบอกกระดาษที่ทำหน้าที่เป็นโคมไฟดังรูปที่ 7.6

(8) ใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดสายแพและโคมไฟเข้ากับแท่งพลาสวูด เสร็จสมบูรณ์แล้วจะได้ออกมาดังรูปที่ 8.3 เสร็จแล้วใช้ปากกาเสียบลงไปในช่องเสียบปากกาเพื่อทดสอบ LED

(9)  ทำขวดโหลเพื่อประดับตกแต่ง  นำขวดโหลใสขนาดเล็กมาประดับตกแต่ง
โดยใช้หินกรวดก้อนเล็กๆ สีใดก็ได้เทลงไปในขวด นำต้นไม้พลาสติกขนาดเล็กตกแต่งลงไปในขวด ขั้นตอนนี้จะใช้วัสดุและตกแต่งแบบไหนก็ได้แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน
(10) การใช้งาน เสียบปากกาลงไปในช่อง แผ่นสวิตช์ที่ติดเทปตะกั่วนำไฟฟ้าไปสัมผัสกับแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลไปยัง LED แต่ละสีแล้วเปล่งแสงออกมา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Pets คุณทำเองได้ (DIY)

ประดิษฐ์เครื่องให้อาหารแมวอัตโนมัติ

หากคุณประสบปัญหาในการเทอาหารเม็ดไว้เยอะๆ ก่อนออกไปทำงาน แต่เจ้าเหมียวก็กินแค่นิดเดียว พออาหารหมดกลิ่นหอม มันก็ไม่ยอมกินอีกเลย ต้องเททิ้งแล้วตักให้ใหม่ ทำให้สิ้นเปลืองค่าอาหารและยังทำให้เจ้าเหมียวเสียสุขภาพจากการไม่ยอมกินอาหารเก่าของมัน

เราขอเสนอ CatFeeder สิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยคุณเทอาหารทีละนิดจนกว่าเจ้าเหมียวจะอิ่มแล้วเดินไปที่อื่น เครื่องก็จะหยุดทำงานและยังสามารถเทอาหารได้อีก เมื่อเจ้าเหมียวเดินกลับมาที่ชามอาหารของมันอีกครั้ง

อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วในตอนต้นว่า นี่เป็นปัญหาของคนเลี้ยงแมวจริงๆ เพราะจากประสบการณ์ของผมที่ต้องออกจากบ้านแต่เช้าและเทอาหารเอาไว้เผื่อให้กินถึงตอนเย็น ปรากฏว่า แต่ละวันอาหารยุบไปนิดเดียวเท่านั้น บังคับให้กินยังไงก็ไม่ยอม สุดท้ายต้องเทให้ใหม่ถึงจะยอมกิน บางคน ก็บอกว่ามันยุ่งยากขนาดนี้ก็อย่าไปเลี้ยงมันเสียเลยดีกว่า แต่อย่าลืมนะครับว่าหากคุณไม่มีเจ้าเหมียวอยู่ที่บ้าน พวกหนูที่คอยกินเศษอาหารในครัว ของคุณจะร่าเริงขนาดไหน แม้จะปิดทุกช่องทางจนมั่นใจแล้วว่าหนูไม่สามารถเข้ามาได้ก็ตาม จากประสบการณ์อีกเช่นกัน หนูมันกัดฝ้าเพดานจนขาดทะลุแล้วกระโดดลงมาในบ้านหน้าตาเฉยเลย ดังนั้นคนรักแมวอย่างกระผมจึงไม่ลังเลที่จะหาเจ้าเหมียวมาอยู่ในบ้าน อย่างน้อยพวกหนูมันก็ยังเกรงใจและไม่เคยกัดฝ้าเพดานบ้านผมอีกเลย จบบริบูรณ์

อ๊ะ…จบแค่เรื่องเล่าประสบการณ์ครับ แต่ภาระกิจการทำโครงงานเอาใจเจ้าเหมียวยังต้องดำเนินต่อไป ใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็แล้วเสร็จ โดยเฉพาะคนที่ไม่เก่งอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมก็สร้างตามได้ไม่ยาก เพราะใช้อุปกรณ์ร่วมเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น เอาล่ะเรามาลองสร้างกันแบบทีละขั้นตอนกันเลย


โปรดทราบ! เนื่องจากทางผู้ผลิตโมดูล POP-168 กำลังจะหยุดผลิตแล้วครับ ทำให้ไม่มีสายสำหรับดาวน์โหลดจำหน่ายแล้ว 
ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ใช้แผงวงจร  i-Duino UNO R3B แทน ข้อดีก็คือหากคุณใช้  i-Duino UNO R3B คุณก็ตัดขั้นตอนการสร้างแผงวงจรออกไปได้เลย 

โดยสามารถสั่งซื้อได้จากลิงก์ด้านล่างนี้


ง่ายสุดๆ กับการควบคุมด้วยบอร์ด micro:bit

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับน้องๆ ที่ไม่เคยเขียนโปรแกรม สามารถสร้างระบบควบคุมเครื่องให้อาหารแมวอัตโนมัติด้วยบอร์ด micro:bit (ไมโครบิต) อ่านบทความต่อไปนี้ได้เลยจ้า


สร้างแผงวงจรเชื่อมต่อ

(1) เริ่มจากหาซื้อแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ ในที่นี้ผมเลือกใช้แบบ uPCB01C ดังรูปที่ 3 เพราะแบบนี้ มีจุดสำหรับบัดกรีแจ็กแบบ RJ-11 ซึ่งสำหรับดาวน์โหลดโปรแกรมให้กับโมดูล POP-168 ที่ใช้เป็นตัวควบคุมหลัก และยังมีจุดติดตั้งสวิตช์เลื่อน 3 ขา และแจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียด้วย โดยแผ่นวงจรพิมพ์สามารถสั่งซื้อได้ที่ www.inex.co.th เป็นแผ่นงวจรพิมพ์แบบสองหน้าเพลตทรูโฮลสกรีนสวยงาม

หมายเหตุ : แผ่นวงจรพิมพ์ที่เห็นในภาพประกอบด้านล่างเป็นแบบที่ทำขึ้นเองนะครับ ของจริงที่มีจำหน่ายจะสวยกว่านี้

(2) ติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ สังเกตที่จุดติดตั้งโมดูล POP-168 ให้ติดตั้งคอนเน็กเตอร์ IDC 12 ขา ตัวเมีย เพื่อทำเป็นซ็อกเก็ต สำหรับนำโมดูล POP-168 มาติดตั้ง อุปกรณ์ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนภาคจ่ายไฟ จากนั้นใช้สายไฟเชื่อมแต่ละจุดเข้าด้วยกันดังรูป ขั้นตอนนี้ไม่ต้องรีบให้ตรวจดูความเรียบร้อยให้ดี เสร็จแล้วจะได้แผงวงจรควบคุมดังรูป

(3) เตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสำหรับติดตั้งเข้ากับกล่องที่เรากำลังจะสร้างในขั้นตอนต่อไปดังรูป ได้แก่ โมดูลวัดระยะทาง GP2D120 , แผงวงจรสวิตช์ ZX-01ZX-LED , เซอร์โวมอเตอร์แบบมาตรฐาน, โมดูล POP-168 (สินค้าเลิกผลิตแล้ว) และแผงวงจรเชื่อมต่อที่เราพึ่งสร้างเสร็จ


โปรดทราบ! เนื่องจากทางผู้ผลิตโมดูล POP-168 กำลังจะหยุดผลิตแล้วครับ ทำให้ไม่มีสายสำหรับดาวน์โหลดจำหน่ายแล้ว 
ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ใช้แผงวงจร i-Duino UNO R3B แทน ข้อดีก็คือหากคุณใช้  i-Duino UNO R3B คุณก็ตัดขั้นตอนการสร้างแผงวงจรออกไปได้เลย 

โดยสามารถสั่งซื้อได้จากลิงก์ด้านล่างนี้


สร้างกลไกให้อาหารแมว

ความจริงแล้วไอเดียนี้มาจาก www.instructables.com แต่เป็นการให้แมวตบลูกบอลเพื่อเปิดปากขวดน้ำพลาสติกให้อาหารหล่นลงมา แต่พอลองทำใช้เองบ้างก็ปรากฏว่า เจ้าเหมียวของผมมันตบทิ้งตบขว้างสนุกไปเลย จึงต้องมาต่อยอดเอาอีกนิดหน่อย โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้ครับ

ส่วนบรรจุและกลไกปล่อยอาหาร

เตรียมอุปกรณ์หลักดังรูปที่ 5 ได้แก่กระป๋องพลาสติกที่มีฝาปิดมิดชิดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางด้านใน 8.5 ซม., ขวดน้ำพลาสติก, ลูกบอลพลาสติกหรือลูกปิงปอง, ตะขอเกลียวตัว L ขนาดเล็ก, หนังยาง  ต่อไปเริ่มลงมือประดิษฐ์กันได้เลย

(1) เริ่มจากนำขวดน้ำมาตัดบริเวณปากขวดเป็นเหมือนกรวยดังรูป จากนั้นเจาะรูก้นกระป๋องพลาสติกขนาดเท่ากับปากขวดน้ำพลาสติกดังรูป ขั้นตอนนี้ต้องค่อยๆ เจาะโดยใช้สว่านดอกเล็กเจาะไล่ไปเรื่อยจนครบรอบวงแล้วค่อยมาไล่เซาะอีกรอบ นำกรวยขวดน้ำใส่ลงไปในกระป๋องพลาสติกให้ปากขวดน้ำโผล่ออกมาด้านนอกแล้วปิดฝาขวดเพื่อยึดขวดน้ำให้ติดกับกระป๋องดังรูป แล้วคว้านรูฝาขวดน้ำจะได้ช่องสำหรับปล่อยอาหาร

(2) ยึดตะขอเกลียวเข้ากับฝาของกระป๋องพลาสติกและลูกบอล ใช้คีมบีบพับตะขอเข้ามาดังรูปที่ 7.1 จากนั้นนำหนังยางมาคล้องกับตะขอของลูกบอลแล้วสอดหนังยางเข้าทางปากขวดดังรูปที่ 7.2 แล้วดึงไปคล้องกับตะขอของฝาปิดกระป๋องดังรูปที่ 7.3 เป็นอันเสร็จขั้นตอนของส่วนบรรจุอาหารและกลไกปล่อยอาหาร

ส่วนโครงสร้างเครื่องให้อาหาร

(1) ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ให้ได้ขนาดและจำนวนตามรูปต่อไปนี้

 

(2) เริ่มประกอบแผ่นพลาสวูด SideA และ Back เข้าด้วยกันดังรูปที่ 9.1 นำกระบอกสำหรับใส่ช้อน (หาซื้อได้จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป) ยึดกับแผ่นพลาสวูดด้วยสกรูเกลียวปล่อยขนาดเล็กสำหรับรองรับส่วนบรรจุและกลไกปล่อยอาหารดังรูปที่ 9.2 จากนั้นประกอบแผ่น SideB , Bottom และ F3 เข้าด้วยกัน ก็จะได้โครงสร้างหลักที่แน่นหนา

(3) ทำบานหน้าต่างเปิดปิดสำหรับซ่อมบำรุงโดยนำแผ่น F1 มาติดบานพับขนาดเล็กเข้ากับแผ่น SideB จำนวน 2 ตัว ดังรูปที่ 10.1 และติดตั้งบานพับในแนวราบดังรูปที่ 10.3 จากนั้นนำแม่เหล็กถาวรยึดกับแผ่น SideA ด้านในสำหรับดูดบานพันที่ติดไว้ในแนวราบดังรูปที่ 10.4 เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวล็อกบานหน้าต่าง

(4) เจาะแผ่น F2 เป็นช่องเพื่อติดตั้งโมดูลวัดระยะทางที่เราจะใช้เป็นตัวตรวจจับแมวดังรูปที่ 11.2 จากนั้นติดตั้งเข้ากับโครงสร้างด้วยกาวร้อน

(5) ตัดพลาสวูดเป็นก้านเล็กๆ แล้วยึดกับก้านของเซอร์โวมอเตอร์ดังรูปที่ 12.1 จากนั้นนำส่วนบรรจุอาหารและกลไกใส่ลงไปในกระบอกเก็บช้อนจะเห็นลูกบอลพลาสติกยื่นลงมาด้านล่าง ให้หาตำแหน่งที่ก้านพลาสวูดสามารถตีโดนลูกบอลได้ จากนั้นติดตั้งเซอร์โวมอเตอร์ในตำแหน่งดังกล่าวด้วยปืนกาวดังรูปที่ 12.2

(6) ติดตั้งแผงวงจรเชื่อมต่อเข้ากับด้านในบานหน้าต่าง เจาะรูด้านบนของบานหน้าต่างเพื่อติดตั้งแผงวงจร ZX-LED เพื่อใช้เป็นไฟแสดงสถานะเมื่อเซอร์โวมอเตอร์ทำงานดังรูปที่ 13.1 และสุดท้ายติดตั้งแผงวงจร ZX-SWITCH ไว้ด้านขวามือนอกตัวเครื่องสำหรับเป็นสวิตช์กดเทอาหารด้วยตัวเอง อ้อ! เกือบลืมแผ่น Tray ให้นำไปติดตั้งไว้ใต้ลูกบอลด้วยปืนยิงกาวทำมุมเอียงลงมาเพื่อใช้เป็นถาดบังคับให้อาหารไหลลงมาในถ้วยน้องเหมียวพอดีของผมใช้วงเวียนคัตเตอร์ตัดให้โค้งรับกับถ้วยดังรูปที่ 13.3 และ 13.4

สำหรับส่วนโครงสร้างก็มีเพียงเท่านี้ ต่อไปมาดูส่วนของการพัฒนาโปรแกรมกันบ้าง

การพัฒนาโปรแกรมควบคุม

สำหรับซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาโปรแกรมนี้ ผมใช้ Arduino เวอร์ชั่น 0022 ดาวน์โหลดได้จาก www.arduino.cc/en/Main/Software มีให้เลือกใช้ทั้ง Windows, MAC และ Linux

เมื่อติดตั้งซอฟต์แวร์เรียบร้อยแล้ว ให้เรียกโปรแกรมขึ้นมาแล้วเลือกประเภทของบอร์ดที่ต้องการใช้ ให้คลิกที่ Tools > Board > Arduino Mini ดังรูปที่ 14 และหากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไม่มีพอร์ตอนุกรมจะต้องใช้ตัวแปลงพอร์ต หากใช้ UCON-232 ของ INEX จะมีไดรเวอร์มาให้ในชุด แต่ในที่นี้ผมใช้ UCON-4 ที่มีหัวเป็นขั้วต่อพอร์ต USB และปลายเป็นปลั๊ก

โมดูล่าร์ 4 ขาที่เคยแนะนำการสร้างใน TPE ฉบับที่ 10 โดยต้องดาวน์โหลดไดรเวอร์ที่ http://www.parallax.com/tabid/530/Default.aspx มาติดตั้ง

เมื่อติดตั้งไดรเวอร์และเสียบ UCON-4 เข้ากับจุดต่อ USB ของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ให้เลือกพอร์ตให้ถูกต้อง หากเป็นเครื่อง MAC ให้ไปที่ Tools > Serial Port > /dev/tty.usbserial-A600eR3w ดังรูปที่ 15 หากเครื่องที่ใช้เป็น Windows ก็ทำเหมือนกันแต่จะเป็นการเลือกพอร์ต com แทน

 

 

เมื่อตั้งค่าต่างๆ เรียบร้อยแล้วให้นำโมดูล POP-168 ติดตั้งบนแผงวงจรเชื่อมต่อให้ถูกต้อง จากนั้นนำปลายสายอีกด้านต่อเข้ากับแจ็ก RJ-11 ที่ติดตั้งบนแผงวงจรเชื่อมต่อ จากนั้น ดาวน์โหลดโค้ดโปรแกรม catfeeder.pde

หลังจากดาวน์โหลดมาแล้วให้เรียกเปิดด้วยซอฟต์แวร์ Arduino แล้วทำการคอมไพล์โดยการกดปุ่ม เสร็จแล้วเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 7.5V  เพื่อจ่ายไฟเลี้ยงเข้าระบบ จะเห็น LED สีเขียวบนโมดูล POP-168 สว่างขึ้น เมื่อทุกอย่างพร้อม ให้ทำการกดสวิตช์กดติดปล่อยดับบนโมดูล POP-168 ค้างไว้ ตามด้วยการกดสวิตช์ RESET บนแผงวงจรเชื่อมต่อหนึ่งครั้งแล้วปล่อย ตามด้วยการปล่อยมือจากสวิตช์กดติดปล่อยดับบนโมดูล POP-168 จะเห็น LED สีน้ำเงินสว่างขึ้น แสดงว่าโมดูล POP-168 พร้อมรับโปรแกรมแล้ว ให้กดปุ่ม Upload ที่หน้าจอ เพื่ออัปโหลดโปรแกรมลงโมดูล POP-168

การทำงานของโปรแกรม

หลังจากอัปโหลดโปรแกรมเสร็จแล้ว ให้กดสวิตช์ RESET บนบอร์ดควบคุม โปรแกรมจะเริ่มทำงาน โดยรูปที่ 16 เป็นโฟลวชาร์ตแสดงการทำงานของโปรแกรมโดยจะเริ่มตรวจสอบเงื่อนไขหลัก 2 เงื่อนไขได้แก่

1. ตรวจสอบค่าจาก GP2D120 (เซนเซอร์วัดระยะทาง) ที่เราได้กำหนดไว้ในโปรแกรมคือ 270 หากเทียบเป็นระยะทางก็ได้ประมาณ 8 ซม. เมื่อรับค่าได้มากกว่าหมายความว่า มีวัตถุเข้ามาในระยะทำการ ให้เซอร์โวมอเตอร์หมุนไป-กลับเพื่อตีลูกบอลเปิดช่องให้อาหารหล่นลงมา แล้วหยุดหน่วงเวลา 25 วินาที เพื่อรอให้แมวกินอาหารเสร็จ เมื่อครบเวลาที่กำหนดแล้ว โปรแกรมจะกลับไปเริ่มตรวจสอบใหม่

2. ตรวจสอบการกดสวิตช์ที่แผงวงจร ZX-SWITCH ค่าที่ได้เป็น 0 หรือไม่ หากเป็น 0 จะสั่งให้เซอร์โวมอเตอร์หมุนเพื่อตีลูกบอลแล้วค้างไว้ จนกว่าจะปล่อยสวิตช์หรือมีค่าเป็น 1 เซอร์โวมอเตอร์จึงหมุนกลับ

อย่างไรก็ตาม แม้ GP2D120 (เซนเซอร์วัดระยะทาง) จะตรวจสอบพบวัตถุกีดขวางและเข้าสู่คำสั่งหน่วงเวลา 25 วินาที แต่หากขณะนั้นมีการกด ZX-SWITCH เกิดขึ้น โปรแกรมจะกระโดดไปสู่เงื่อนไขที่ 2 โดยไม่สนใจการหน่วงเวลานั้น แต่ยังคงนับเวลาของการหน่วงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปล่อย ZX-SWITCH หากยังอยู่ในช่วงของการหน่วงเวลาก็จะกลับมาหน่วงเวลาต่อ

การปรับแต่ง

จากการทดสอบพบว่า อาหารที่หล่นลงมาไม่สม่ำเสมอแต่มากสุดอยู่ที่ประมาณ 10 เม็ด และน้อยสุดคือไม่ออกมาเลยเนื่องจากรูปทรงของอาหารแมวเป็นรูปดาวทำให้บางจังหวะเกิดการติดขัด อาจต้องรอรอบการหมุนของเซอร์โวมอเตอร์วนมาอีกรอบ นั่นหมายความว่าแมวต้องมาดมที่ถ้วยอาหารอีกครั้งดังนั้นจึงไม่ควรหน่วงเวลานานเกิน 30 วินาที

การนำไปใช้งาน

เปิดฝาส่วนบรรจุอาหารแล้วใส่อาหารลงไปตามต้องการ เปิดสวิตช์ค้างเอาไว้เพื่อความสะดวกในการใช้งาน จากนั้นเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 7.5V รอแมวมาดมถ้วยใส่อาหาร GP2D120 จะพบสิ่งกีดขวางนั่นก็คือเจ้าเหมียว ระบบทำการจ่ายอาหารให้ ส่วน ZX-SWITCH มีไว้สำหรับทดสอบหรือกดปล่อยอาหารด้วยตนเอง

หวังว่าคงไม่ยุ่งยากเกินไปนะครับสำหรับคนรักแมวทั้งหลาย งานนี้อาจต้องฝึกเจ้าเหมียวนิดหน่อยให้มันเกิดความเคยชินกับเสียงฟืดฟาดของเซอร์โวมอเตอร์ แต่เจ้าเหมียวของผมแทบไม่ต้องฝึก มันไม่สนใจอะไรทั้งนั้น เพราะฉันจะกินซะอย่าง

*******************************************************************
รายการอุปกรณ์
*******************************************************************

ตัวเก็บประจุ
C1 – 0.1μF 67V โพลีเอสเตอร์
C2, C4, C5 – 470μF 25V อิเล็กทรอไลต์ 3 ตัว
C3 – 10μF 16V

อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 – LM2940-5.0
BD1 – ไดโอดบริดจ์ตัวถังกลมขนาด 1A 50V

อุปกรณ์ขั้วต่อและสวิตช์
K1 – แจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียแบบลงแผ่นวงจรพิมพ์
K2 – แจ็กโมดูล่าร์ RJ-11 แบบลงแผ่นวงจรพิมพ์
S1 – สวิตช์เลื่อน 3 ขา ลงแผ่นวงจรพิมพ์
S2 – สวิตช์กดติดปล่อยดับแบบลงแผ่นวงจรพิมพ์
J1 ถึง J3 – ขั้วต่อ JST 3 ขา สำหรับติดตั้งแผงวงจรต่างๆ 3 ตัว
คอนเน็กเตอร์ IDC 3 ขา ตัวผู้ ใช้เป็นขั้วต่อเซอร์โวมอเตอร์
คอนเน็กเตอร์ IDC 12 ขาตัวเมียแถวเดี่ยว สำหรับติดตั้งโมดูล POP-168 จำนวน 2 ตัว

อื่นๆ
โมดูล GP2Y0A41 , แผงวงจรสวิตช์ ZX-01ZX-LED, เซอร์โวมอเตอร์มาตรฐาน, สายต่อวงจร, UCON-4 ตัวแปลงพอร์ต USB เป็นพอร์ตอนุกรม

อุปกรณ์โครงสร้างและวัสดุการประดิษฐ์
กระป๋องพลาสติกเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 8.5 ซ.ม., กระบอกเก็บช้อน, ขวดน้ำดื่มพลาสติก, ลูกบอลพลาสติกหรือลูกปิงปอง, ตะขอเกลียวตัว L ขนาดเล็ก 2 ตัว, แม่เหล็กถาวรขนาดเล็ก, บานพับขนาดเล็ก, แผ่นพลาสวูดขนาด A4 จำนวน 5 แผ่น, กาวร้อน, ปืนยิงกาวพร้อมกาวแท่ง


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Electronics Arts Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

กระถางต้นไม้สื่ออารมณ์

มาฝึกให้เด็กๆ สนุกกับการดูแลต้นไม้ในบ้าน ไม่ให้เหี่ยวเฉาด้วยโครงงานนี้ Emotional POT ที่เหมือนมีต้นไม้เป็นเพื่อน โดยมันจะแสดงหน้าเศร้าบอกเรายามที่ดินเริ่มแห้ง และยิ้มยามดินชุ่มชื้น

โครงงานนี้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความชื่นชอบส่วนตัวจริงๆ ครับ เพราะการปลูกต้นไม้ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลายยามละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี และก็เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงรู้สึกเช่นเดียวกันที่สำคัญหากทำไว้ให้เด็กๆ ได้เล่นก็น่าจะเป็นของเล่นที่สอนให้พวกเขาได้รู้จักฝึกดูแลต้นไม้ได้อีกด้วย

เจ้า Emotional POT นี้ใช้หลักคิดง่ายๆ คือ เราจะตรวจสอบสภาพของดิน เมื่อดินชื้นจะให้มันแสดงหน้ายิ้ม และเมื่อดินแห้งจะต้องแสดงหน้าเศร้าหรือบึ้งนั่นเอง โดยใช้อุปกรณ์มาต่อกันเป็นวงจรง่ายๆ ที่นักอิเล็กทรอนิกส์มือใหม่และเก่าทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพื่อทำหน้าที่ตรวจจับความต้านทานของดิน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาออกแบบหน้าตากันเสียก่อนว่าจะให้ยิ้มยังไง และบึ้งแบบไหนจะได้รู้ว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

การออกแบบหน้าตา
สำหรับตัวต้นแบบผมใช้ LED แบบความสว่างสูงสีฟ้านำมาจัดเรียงกันบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบจุดไข่ปลาขนาดเล็กดังรูปที่ 1 จากนั้นบัดกรีขา K (แคโทด) ของ LED ทุกดวงเข้าด้วยกัน ส่วนขา A (แอโนด) บัดกรีแยกเป็นชุด จะได้ LED ทั้งหมด 5 ชุด ดังรูปที่ 2 เมื่อทำหน้าตาเสร็จแล้วก็มาดูวงจรที่จะใช้งานกันสักนิดนะครับ ดังรูปที่ 3

การทำงานของวงจร

วงจรนี้จะอาศัยทรานซิสเตอร์ Q1 และ Q2 เป็นตัวควบคุมการทำงานโดยที่จุด P ทั้งสองจุดจะถูกปักลงดิน โดยหากดินแห้งก็จะมีความต้านทานมาก กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านดินที่จุด P ได้ ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้ขา B ของ Q2 แทน ทำให้ Q2 ทำงานขับ Ry1 ให้ทำงาน รีเลย์ทำการต่อหน้าสัมผัส NO จ่ายไฟให้กับ LED 4 ดวงของชุดที่แสดงหน้าบึ้ง
ในทางกลับกันหากดินมีความชื้นค่าความต้านทานในดินต่ำ จึงมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจุด P ไปเข้าขา B ของ Q1 ทำให้ Q1 ทำงานและ Q2 จึงหยุดทำงาน หน้าสัมผัสของรีเลย์จึงกลับมาอยู่ที่ NC ซึ่งมีแรงดันจ่ายไปยัง LED 4 ดวงที่แสดงเป็นหน้ายิ้ม สำหรับความไวในการตรวจจับความชื้นปรับได้จาก VR1 ส่วน LED อีก 3 ชุดที่เหลือไม่มีผลใดๆ ต่อการทำงานของวงจรครับ เพราะมันจะติดตลอดเวลาที่เราจ่ายไฟเข้าวงจร

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์

เนื่องจากโครงงานนี้มีอุปกรณ์ไม่มาก จึงไม่ต้องเสียเวลาทำแผ่นวงจรพิมพ์ โดยวงจรตรวจจับความชื้นตัวต้นแบบนี้ผมใช้แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบไอซีบอร์ดมีลักษณะเป็นลายทองแดงแบ่งเป็นแถวยาวหลายแถว โดยมีจุดที่ต้องทำให้ลายทองแดงขาดจากกัน 3 จุด อยู่ใต้ตัวถังของรีเลย์ และจุดเชื่อมต่อที่เป็นเส้นสีดำตามรูปที่ 4 ใช้เศษขาอุปกรณ์ก็ได้ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับให้ดูการวางอุปกรณ์ตามรูปที่ 4 ได้เลย เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วให้ตรวจดูความเรียบร้อย

โดยเฉพาะช่องระหว่างลายทองแดงที่มักจะมีเศษตะกั่วจากการบัดกรีไปติดอยู่ อาจใช้แปรงขัดออกก็ได้ ต่อไปทำการเชื่อมแผงวงจรส่วนหน้าเข้ากับส่วนควบคุมด้วยสายแพ 6 เส้น โดยเผื่อความยาวของสายแพให้เท่ากับความสูงของกระถางก็เป็นอันเรียบร้อย พร้อมรับการทดสอบ

ทดสอบการทำงานของวงจร

เริ่มทดสอบโดยการนำอะแดปเตอร์ไฟตรง 6 ถึง 9V มาต่อเพื่อจ่ายไฟ LED จำนวน 4 ชุดคือ คิ้วซ้าย,คิ้วขวา,ตา+กึ่งกลางปาก และ หน้าบึ้ง จะต้องติด และเมื่อนำปลายสายของจุด P มาสัมผัสกัน LED ชุดปากยิ้มจะติดแทน แสดงว่า วงจรพร้อมทำงานแล้วครับ ต่อไปก็เป็นการสร้างกระถางน่ารักๆ ให้วงจรพักพิง

การสร้างกระถางต้นไม้
ในขั้นตอนนี้ผมถือว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความอดทนพอสมควร แต่โชคดีที่ในโลกนี้มีพลาสวูด จึงทำให้งานของผมเสร็จได้อย่างรวดเร็ว มาเริ่มกันเลยครับ
(1) นำพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 ที่ซื้อมาจาก TPE Shop ตัดตามแบบดังรูปที่ 5 นำชิ้นส่วนที่เป็นผนังของกระถางทั้ง 4 ชิ้นมาเฉือนขอบด้านข้างด้วยคัตเตอร์ให้ได้มุมประมาณ 45 องศา จากนั้นเจาะช่องของชิ้น A ที่จะใช้เป็นด้านหน้า แล้วนำพลาสวูดทั้ง 4 ชิ้น (A, B, C และ D) มาประกอบกันโดยใช้กระดาษกาวแปะเพื่อช่วยประคองไว้ดังรูปที่ 6.3 จากนั้นยึดด้วยกาวร้อนหรือกาวตราช้างก็จะได้โครงสร้างกระถางที่แน่นหนา ต่อไปอุดร่องด้านในกระถางเพื่อเสริมความแข็งแรงด้วยกาวซิลิโคนสีขาวแบบแห้งเร็วดังรูปที่ 6.4 เสร็จแล้วรอให้ซิลิโคนแห้งประมาณ 1 ชั่วโมง
(2) นำพลาสวูดส่วนฐาน E มาบากเป็นร่องขนาด 5 x 20 มม. จากนั้นนำแผงวงจรแสดงอารมณ์และสายไฟสำหรับวัดความต้านทานในดินมาพาดไว้ที่ปากกระถางก่อน แล้วจึงวางแผ่นฐานลงไปในกระถางดังรูปที่ 7 โดยแผ่นฐานนี้จะไม่ลงไปสุดก้นกระถาง เพราะเราต้องการเหลือพื้นที่ส่วนล่างไว้ติดตั้งแผงวงจรควบคุมนั่นเอง จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แผ่นฐาน E ก็จะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรงของกระถางได้เป็นอย่างดี
(3) การสร้างห้องให้กับแผงวงจรแสดงอารมณ์ ให้ตัดแผ่น PVC สีขาวชนิดที่แสงผ่านได้ให้มีขนาดกว้างกว่าช่องด้านหน้าของผนังกระถางเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นแผ่นหน้ากากกรองแสง แล้วใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดด้านในกระถางดังรูปที่ 8.1 ต่อไปติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ด้วยการนำแผ่นพลาสวูด F ที่มีรูปทรงเหมือนผนังกระถางแต่สั้นกว่า (ดูจากแบบรูปที่ 5) มายึดเข้ากับแผ่นพลาสวูด G ด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้ดอกสว่านขนาด 3 มม. คว้านรูของแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อให้สามารถสอดสกรูเกลียวปล่อยขนาดจิ๋วเข้าไปได้ จากนั้นก็ขันสกรูยึดแผงวงจรแสดงอารมณ์ดังรูปที่ 8.2 แต่อย่าให้แน่นมากเพราะจะทำให้แผ่นวงจรพิมพ์แตกหักได้ ต่อไปให้วางแผ่นพลาสวูด F ที่ติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ให้ระยะห่างระหว่าง LED กับแผ่นPVC ห่างกันเล็กน้อยประมาณ 2 ถึง 3 มม. จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แล้วนำกาวซิลิโคนมาอุดตามร่องเพื่อความเรียบร้อยและกันน้ำรั่วซึมในกรณีที่นำกระถางไปปลูกพืชน้ำ
(4) การติดตั้งแผงวงจรควบคุมให้คว่ำกระถางลงแล้วใช้ดอกสว่าน 3 มม. คว้านรูแผ่นวงจรพิมพ์ จากนั้นนำสกรูเกลียวปล่อยตัวจิ๋วขันยึดเข้าไปได้เลย ต่อไปเจาะรูเพื่อติดตั้งตัวต้านทานปรับค่าได้และแจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียดังรูปที่ 9.2
(5) ทำฝาปิดด้านบนด้วยแผ่นพลาสวูด H ขนาด 3 x 8.9 ซม. และพลาสวูด i และ J เป็นขา 2 ข้างสำหรับเป็นตัวล็อกไม่ให้ฝาหลุดออกมาโดยง่าย นำมาประกอบกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 10.1 เพียงเท่านี้คุณก็จะได้กระถางต้นไม้เล็กๆ น่ารัก ที่สร้างด้วยฝีมือตัวเองแล้วล่ะครับ
การนำไปใช้งานและปรับแต่ง
หาพรรณไม้สำหรับปลูกในร่ม เช่น ว่านต่างๆ บอน เฟิร์น พลูด่าง ฯลฯพรรณไม้พวกนี้จะไม่มีรากแก้วและไม่ต้องการแสงแดดมาก จึงเหมาะที่จะปลูกในร่ม การให้น้ำก็จะให้เมื่อดินแห้งเท่านั้น จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโครงงานนี้
 
เมื่อเตรียมพรรณไม้แล้ว ก็นำดินปลูกใส่ลงในกระถาง ทำการเสียบแจ็กอะแดปเตอร์เข้าที่ด้านหลังกระถาง หากดินที่ใส่ลงในกระถางแห้ง กระถางจะต้องแสดงหน้าบึ้ง แต่หากพบว่าแสดงหน้ายิ้มอยู่ให้ค่อยๆ ปรับตัวต้านทานปรับค่าได้ด้านหลังกระถาง เพื่อปรับความไว้ในการตรวจจับว่าต้องการให้ดินแห้งขนาดไหนจึงจะแสดงหน้าบึ้ง ในทางตรงกันข้ามเมื่อลองฉีดน้ำ (แนะนำให้ใช้กระบอกฉีดเอานะครับเพราะหากใช้วิธีรดน้ำอาจมีปริมาณน้ำมากเกินไปทำให้ต้นไม้เฉาได้) กระถางจะแสดงหน้ายิ้มก็เป็นอันสำเร็จพร้อมใช้งาน จากนั้นนำพรรณไม้ลงปลูกได้เลยครับ
ทิ้งท้ายอีกนิดครับ จากหลักการทำงานของวงจร ท่านสามารถนำวงจรนี้ไปใช้ในงานระบบใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน เพราะโครงงานนี้ใช้รีเลย์เป็นตัวจ่ายไฟให้ LED ดังนั้นหากเปลี่ยนจากการจ่ายไฟให้ LED เป็นจ่ายให้ปั้มน้ำขนาดเล็กแทนเพื่อรดน้ำต้นไม้ในสวนหน้าบ้านของคุณก็ย่อมได้ แต่อย่าลืมว่า ปั้มน้ำต้องการกระแสไฟฟ้าสูงกว่า LED มาก ดังนั้นต้องคำนึงถึงการทนกระแสที่หน้าสัมผัสของรีเลย์ด้วย ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกต้นไม้ครับ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Electronics Arts คุณทำเองได้ (DIY)

Creativity with Name Card

ใส่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มคุณค่าให้นามบัตรของคุณ

นามบัตรใครคิดว่าไม่สำคัญ เพราะในโลกของธุรกิจ คุณจำเป็นต้องมีสิ่งบ่งบอกความเป็นตัวตนว่าคุณคือใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน นามบัตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ในเมื่อมันมีความสำคัญอย่างมากและใครๆ ก็ต้องการแจกนามบัตรของตนให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ดังนั้นการออกแบบให้นามบัตรของเราควรค่าแก่การจดจำจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

จึงขอแนะนำไอเดียการออกแบบนามบัตรให้มีประโยชน์มากขึ้นโดยการเพิ่มความสามารถให้มันทำหน้าที่เป็นไฟฉาย โดยใช้อุปกรณ์หลักเพียง 2 ตัว คือแบตเตอรี่ CR2032 ขนาด 3V และ LED 3 มม. หนึ่งดวง

เตรียมอุปกรณ์
1. แบตเตอรี่ CR2032 ขนาด 3V
2. LED 3 มม. สีตามใจชอบ
3. กระดาษการ์ด 190 แกรม
4. เทปกาวสองหน้าอย่างบาง
5. กระดาษไขหรือกระดาษสา ขนาด 4×4 ซม.

ขั้นตอนการประดิษฐ์
(1) ออกแบบนามบัตรให้มีขนาดมาตรฐาน แต่มีรูปทรงดังรูปที่ 1 แล้วสั่งพิมพ์ลงบนกระดาษการ์ด 190 แกรม จะได้นามบัตรที่มีลักษณะเหมือนนามบัตร 2 ใบต่อชนกัน โดยมีปีกด้านข้าง จากนั้นตัดและเจาะรูกลมสำหรับให้แสงจาก LED ส่องสว่างออกมาได้ แล้วพับให้ได้รูปทรงดังรูปที่ 2

(2) ติดกระดาษไขทับรูด้านในเป็นตัวกรองแสง LED ด้วยเทปกาวสองหน้าอย่างบางดังรูปที่ 3

(3) นำแบตเตอรี่ CR2032 มาติดเทปด้านขั้วบวกไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อกันขาแอโนดของ LED ไม่ให้สัมผัสกับขั้วบวกของแบตเตอรี่ดังรูปที่ 4.1 จากนั้นนำ LED มาต่อคร่อมเข้ากับแบตเตอรี่ดังรูป 4.2 ติดเทปกาวใสยึดขาแคโถดกับขั้วลบของแบตเตอรี่ แล้วติดลงไปให้ตรงกับตำแหน่งของสัญลักษณ์ที่ได้ออกแบบไว้ดังรูปที่ 4.3

4. ติดเทปกาวสองหน้าบนปีกทั้ง 3 ด้านของนามบัตร ลอกแถบกาวออกแล้วพับประกบกันก็จะได้นามบัตรไฟฉายดังรูปที่ 4.4 แล้วครับ

เพียงง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน แต่เชื่อมั้ยครับว่ามันมีประสิทธิภาพในการสร้างการจดจำได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยผู้รับก็คงยังไม่ทิ้งจนกว่าแบตเตอรี่จะหมด แต่การจะแจกนามบัตรให้ใครก็ควรดูหน้าดูตาคนรับหน่อยก็แล้วกัน เพราะนามบัตรของเราไม่ใช่ใบละบาทนะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

อุปกรณ์ป้องกันน้ำล้นบ่อปลา

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการจัดสวนหย่อมหน้าบ้านขนาดเล็ก โดยเฉพาะสวนน้ำและเลี้ยงปลาไว้ในบ่อสำเร็จรูป (บ่อที่ซื้อมาวางแล้วใส่น้ำใช้ทันที) คงจะทราบกันดีว่ายามเข้าสู่ฤดูฝน ให้ทุกข์ใจกับปัญหาน้ำล้นบ่อเป็นยิ่งนัก สาเหตุที่ทุกข์ใจน่ะหรือครับ ก็เมื่อฝนตกมากๆ ปริมาณน้ำในบ่อปลาที่เพิ่มขึ้นทำให้เจ้าปลาตัวน้อยๆ แทนที่จะแหวกไว้ในบ่อปลามันดันออกมาว่ายบนพื้นดินซะอย่างนั้น ดูแล้วมันคงไม่สนุกเท่าไหร่มั้ง

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่นี้จะช่วยคุณได้ เพราะมันใช้อุปกรณ์บ้านๆ มาช่วยในการรักษาระดับน้ำในบ่อให้อยู่ในระดับที่เราต้องการได้ โดยมันจะทำการสูบน้ำออกเมื่อปริมาณน้ำในบ่อเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับที่เรากำหนด งานนี้ไม่มีไมโครฯ ไม่ต้องเขียนโปรแกรม ทำให้คุณพ่อบ้านอย่างเราๆ ก็ลงมือสร้างให้เสร็จได้ภายในเวลาอันสั้น (หากอุปกรณ์ครบ) โดยมีโครงสร้างง่ายๆ ดังรูปที่ 1 เห็นแล้วเป็นต้องร้อง อ๋อ..

หลักการทำงาน
เมื่อระดับน้ำอยู่ในระดับปกติ สวิตช์ปรอทจะยังไม่ต่อวงจร ทุกอย่างจึงเงียบสงบ ปั้มน้ำไม่ทำงาน แต่เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นทำให้ลูกปิงปองที่ฝังสวิตช์ปรอทไว้ลอยสูงขึ้น ส่งผลให้สวิตช์ปรอทอยู่ในแนวตั้งจึงมีกระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้กับรีเลย์เพื่อทำการต่อหน้าสัมผัส ทำให้ปั้มน้ำทำงานสูบน้ำออกจากบ่อ จนระดับน้ำเริ่มลดลงถึงระดับที่ต้องการ ลูกปิงปองก็ค่อยๆ ลดระดับตามผิวน้ำลงมา ทำให้สวิตช์ปรอทกลับมาอยู่ในแนวนอนจึงไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายให้รีเลย์ ปั้มน้ำจึงหยุดทำงานตามไปด้วยดังรูปที่ 1 

ต่อไปมาดูการสร้างกันเลยครับ

การสร้าง
(1) เริ่มด้วยการทำลูกลอยที่ถือว่าเป็นพระเอกของงานนี้ โดยนำลูก

ปิงปองหรือบอลพลาสติกอะไรก็ได้ที่ลอยน้ำได้ ในที่นี้ผมใช้ลูกกอล์ฟเด็กเล่น ซึ่งเป็นพลาสติกด้านในกลวงคล้ายลูกปิงปอง เจาะรูให้กว้างพอที่จะสอดสวิตช์ปรอทเข้าไปได้

(2) ตัดขาสวิตช์ปรอทให้เหลือความยาวประมาณ 3 มม. จากนั้นนำสายชีลด์สเตอริโอ (เส้นเล็ก) มาบัดกรีเข้ากับขาของสวิตช์ปรอทแล้วหุ้มด้วยท่อหดดังรูปที่ 2.1 เพื่อกันขาช็อตกัน จากนั้นหุ้มด้วยท่อหดขนาดใหญ่ดังรูปที่ 2.2 แล้วสอดตัวสวิตช์ปรอทเข้าไปด้านในลูกปิงปองดังรูปที่ 2.3 โดยต้องให้สวิตช์ปรอทตั้งตรง แล้วใช้กาวซิลิโคนอุดรูไม่ให้น้ำเข้าได้ รอให้กาวแห้งก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำลูกลอยครับ

(3) เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำท่อตรวจสอบระดับดังรูปที่ 3 ความยาวของท่อ PVC ขนาด 4 นิ้วนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความลึกของบ่อปลา โดยตัดให้สูงกว่าระดับน้ำของบ่อประมาณ 20 ซม. หรือเผื่อสูงกว่านั้นก็ได้

(4) ทำร่องสำหรับปรับระดับลูกลอยโดยนำท่อ PVC 4 นิ้ว มาเซาะเป็นร่องยาวประมาณ 25 ซม. กว้าง 3 มม. สำหรับร้อยนอตขนาด 3×15 มม. ดังรูปที่ 4.2 จากนั้นนำฝาครอบมาสวมด้านล่างแล้วเจาะรูระบายน้ำ โดยเจาะให้เหนือขอบของฝาครอบขึ้นมาจะได้รูสำหรับระบายน้ำดังรูป 4.3

(5) นำชุดลูกลอยมาพันยึดกับสรู 3×15 มม. โดยใช้นอตตัวเมียล็อกตำแหน่งดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำไปติดตั้งในท่อตรวจสอบระดับน้ำดังรูปที่ 5.2 แล้วล็อกตำแหน่งที่เราต้องการตรวจจับระดับน้ำด้วยนอตตัวเมียดังรูปที่ 5.3 ส่วนปลายสายสอดขึ้นด้านบนรอการต่อวงจร

(6) วางปั้มน้ำลงไปในฝาครอบด้านล่างดังรูปที่ 6.1 ตัดหัวปลั๊กออกแล้วเดินสายไฟพร้อมสายยางน้ำออกขึ้นมาด้านบน จากนั้นติดตั้งกะบะถ่าน AA 4 ก้อนและรีเลย์ 5V ไว้ภายในฝาครอบด้านบนยึดด้วยปืนกาวดังรูปที่ 6.2 จากนั้นเจาะรูสอดชุดปลั๊กสายไฟแล้วทำการต่อวงจรตามรูปที่ 1 เมื่อต่อวงจรเสร็จแล้วควรใช้กาวซิลิโคนหยอดทับจุดต่อของไฟ 220Vac และตัวรีเลย์ให้มิดชิดเพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่เมื่อนำไปวางในบ่อแล้วอุปกรณ์ของเราเกิดล้มลงในน้ำ ปิดท้ายด้วยการใส่แบตเตอรี่ AA จำนวน 4 ก้อนลงไปในกะบะถ่าน ดังรูปที่ 6.3

(7) ยึดสายไฟเข้าด้วยปืนกาว เจาะรูสอดท่อปั้มน้ำออกมาด้านบน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน

จากขั้นตอนการสร้างที่ผ่านมาหากมีภาพไหนที่ไม่ชัดหรือยังนึกไม่ออกแนะนำให้ย้อนไปดูรูปที่ 1 ครับ

การใช้งาน
เพียงหาตำแหน่งเหมาะๆ เพื่อนำเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ลงไปวางในบ่อปลาในวันฝนตก โดยแนะนำให้นำหินก้อนใหญ่ๆ วางทับด้านบนไม่ให้อุปกรณ์ของเราล้มได้ แล้วเสียบปลั๊กทิ้งไว้ เมื่อฝนตกลงมาในบ่อจนระดับน้ำสูงขึ้นถึงระดับที่ลูกลอยยกตัวขึ้นดังรูปที่ 8 ปั้มน้ำก็จะเริ่มทำการสูบน้ำออกจากบ่อทันที

ข้อควรระวัง
เนื่องจากโครงงานนี้ผมนำไปควบคุมปั้มน้ำ 220Vac ก่อนทำการปรับแต่งหรือแก้ไขส่วนหนึ่งสวนใดของอุปกรณ์ ต้องถอดปลั๊กไฟออกก่อนทุกครั้ง และไม่ควรวางอุปกรณ์ทิ้งไว้เป็นการถาวรเพราะสภาพแสงแดดที่ร้อนจัดตอนกลางวันและน้ำในบ่ออาจส่งผลให้เกิดละอองน้ำ (การควบแน่น) จับภายในสวิตช์ปรอทและรีเลย์ได้หากกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยจากไฟ 220Vac คุณก็สามารถหาซื้อปั้มน้ำ 12V ที่ใช้กับที่ฉีดน้ำปัดกระจกในรถยนต์มาใช้ได้ โดยใช้อะแดปเตอร์ 12V ต่อแทนปลั๊กไฟบ้านได้เลย

การประยุกต์ใช้งาน
คุณสามารถนำเทคนิคของโครงงานนี้ไปใช้กับงานที่ต้องการรักษาระดับน้ำได้ 

• นำไปใช้เป็นลูกลอยอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตัดต่อโซลินอยด์วาล์วแทน
ลูกลอยแบบเดิมที่มักจะมีปัญหาลูกยางเสื่อมกั้นน้ำไม่อยู่
• วัดระดับน้ำของเครื่องซักผ้าแบบฝาบน (สำหรับเครื่องซักผ้ารุ่นเก่า) โดยทำก้านติดตั้งลูกลอยกับฝาปิดเครื่องซักผ้าควบคุมโซลินอยด์วาล์วให้ปิดน้ำเมื่อถึงระดับที่เราต้องการก็ได้
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโครงงานง่ายๆ (แต่ใช้จริง) ที่คัดสรรมาให้ได้ลับฝีมือเชิงช่างกันเป็นประจำ แต่ไม่ว่าโครงงานจะง่ายแค่ไหนก็อย่าลืมเรื่องความปลอดภัยไว้ก่อนนะครับ

**********************************************
รายการอุปกรณ์
**********************************************

– ท่อ PVC 4 นิ้ว ยาว 50 ซม. หรือขึ้นอยู่กับความลึกของบ่อ
– ฝาครอบ 4 นิ้ว
– ปั้มน้ำ 220V ขนาดที่ใส่ในท่อ PVC 4 นิ้วได้ พร้อมสายยาง
– รีเลย์ 5V 5A
– กะบะถ่านขนาด AA 4 ก้อน แบบมีสายต่อ
– สวิตช์ปรอท
– ลูกปิงปอง
– สายชีลด์สเตริโอขนาดเล็กหรือสายไฟอ่อนๆ
สำหรับทำสายสวิตช์ลูกลอย
– สายไฟสำเร็จพร้อมปลั๊ก
– ท่อหดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มม. ยาว 1 ฟุต
– สกรู 3×15 มม. 1 ตัว
– นอต 3 มม. จำนวน 3 ตัว
– กาวซิลิโคนใสสำหรับหยอดทับอุปกรณ์เพื่อกันน้ำ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Fixit (ซ่อมได้) Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

แก้ปัญหาชักโครกกดไม่ลง

ปัญหาชักโครกกดไม่ลงแบบนี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยพบเจอเป็นแน่ แล้วคำว่ากดไม่ลงเนี่ยมันหมายถึงอะไร ส้วมเต็มหรือว่ามีสิ่งสกปรกอุดตัน หากเป็นอย่างที่กล่าวมา มันขำๆ ครับ

เพราะเห็นกันอยู่ว่า หากส้วมเต็มก็เรียกรถจากเขตหรือเทศบาลมาสูบออก และหากมีสิ่งสกปรกอุดตัน ก็อาจใช้น้ำยาอย่างโซดาไฟ หรือน้ำหมักชีวภาพเทราดลงไปเพื่อช่วยย่อยสลายสิ่งสกปรกต่างๆ ได้

แต่ที่จะมาแนะนำ และบอกเล่ากันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะผู้เขียนเองก็ประสบปัญหานี้และก็ได้ลองทำแล้วพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้จริงๆ ครับ

ปัญหานี้เกิดจากการวางแนวท่อระบายอากาศตั้งแต่ตอนติดตั้งของช่าง เช่นปลายท่อวางไว้ใกล้พื้นดินมากเกินไป ทำให้ท่อระบายอากาศมีสิ่งสกปรกหรือสัตว์เลื้อยคลายต่างๆ เข้าไปอาศัยอยู่ทำให้เกิดการอุดตันจึงไม่สามารถระบายอากาศได้ดี ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกับบ้านทาวน์เฮ้าส์ ทาวโฮม จึงทำให้เมื่อกดชักโครกแล้วอากาศระบายไม่สะดวกเกิดน้ำเออขึ้นมาในอ่างชักโครก โดยขั้นตอนการแก้ไขก็ง่ายมากๆ ให้สังเกตุที่ฐานของชักโครก จะมีช่องเล็กๆ ที่ถูกอุดด้วยปูนยาแนว ซึ่งปกติแล้วช่องเล็กๆ นี้ ผู้ผลิตออกแบบไว้สำหรับใช้สกรูหรือพุกยึดกับพื้นห้องน้ำเพื่อความแน่นหนา ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ฝั่งละหนึ่งรู ดังรูปด้านล่าง เจ้ารูนี้แหละครับที่ช่างส่วนใหญ่ใช้ปูนยาแนวอุดเอาไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้น๊อตหรือสกรูเจาะยึดให้เรา เลยกลายเป็นเรื่องดีรึเปล่าอันนี้แล้วแต่จะมองนะครับ โดยหากช่างไม่ได้ยึดไว้ก็ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากรูที่ว่านี้มาช่วยระบายอากาศได้อีกทางครับ

 

วิธีเปิดรูก็ง่ายมากๆ ใช้เพียงตะปูหนึ่งตัวและค้อนหนึ่งอัน จากนั้นค่อยๆ นำค้อนตอกตะปูลงไป จนเป็นรูดังรูปด้านล่างนี้ครับ อ๊ะๆ แต่หากตอกลงไปแล้วรู้สึกว่ามันแข็งก็แสดงว่าเจอหัวสกรูเข้าให้แล้วดังนั้นหากเจอหัวสกรูที่ยึดชักโครกกับพื้นอยู่ก็อย่าฝืนทำต่อนะครับเดี๋ยวชักโครกจะแตกเอาเสียก่อน

 

หากเจาะได้แล้วก็เอาแค่รูเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้วครับ จากนั้นทดลองกดชักโครกดู จะได้ยินเสียงลมเคลื่อนตัวออกจากรูนี้ และน้ำก็จะไหลลงได้ดีขึ้น

เตือนอีกครั้ง
นี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความจริงแล้วรูนี้ต้องปิดไว้นะครับ เพราะมันเป็นรูที่อยู่ติดกับท่อทิ้งสิ่งปฏิกูลทั้งหลายที่จะไหลลงไปในถัง แต่ที่เราต้องเจาะรูก็เพราะมันสุดวิสัย 

สุดท้ายอย่าลืมตามช่างมาแก้ไขท่อระบายอากาศให้เรียบร้อย

หมายเหตุ. บางคนพบปัญหาน้ำไหลย้อนขึ้นมาจากรูที่เจาะนี้ ดังนั้นจึงควรเจาะรูเท่าตะปูแค่รูเดียวเท่านั้นหากเจาะมากกว่านี้ อาจทำให้แก้ไขได้ลำบาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Fixit (ซ่อมได้) Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

3 ขั้นตอนการดัดขึ้นรูปพลาสวูดด้วยความร้อน

จากที่ได้แนะนำกันไปในบทความ “พลาสวูดวัสดุสำหรับงานต้นแบบ” ว่ามันคือวัสดุสำหรับการสร้างงานต้นแบบที่ใช้ทำโครงสร้างได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณสมบัติเป็น PVC (Poly Vinyl Chloride) จึงทำให้มันสามารถดัดขึ้นรูปได้

ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาสาธิตการดัดพลาสวูด ด้วยไดร์เป่าลมร้อนกันครับ โดยวิธีการนี้ผมเคยใช้สร้างต้นแบบมาหลายครั้งแล้ว นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้รูปทรงของชิ้นงานที่โค้งมนตามความต้องการ

สำหรับพลาสวูดที่จะนำมาดัดนั้น ผมใช้พลาสวูดหนา 5 มม. เพราะต้นแบบที่ผมทำไม่ว่าจะเป็นหลังคาของห้องน้ำแมว, กล่องโครงสร้างของวาล์วเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ, แจกัน ฯลฯ ล้วนเป็นต้นแบบที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงสามารถใช้พลาสวูดที่มีความหนาเพียง 5 มม. ได้ เรามาดูวิธีกันเลยครับ

วิธีการดัดพลาสวูด

1. ใช้ไดร์เป่าลมร้อน(ไม่ใช่ไดร์เป่าผม) ไล่เป่าให้ทั่วบริเวณที่เราต้องการดัดดังรูปที่ 1 จนพลาสวูดเริ่มอ่อนตัว

2. จากนั้นก็เริ่มพับพลาสวูดด้วยความรวดเร็วให้ได้องศาตามต้องการ โดยอาจใช้ท่อน้ำเป็นตัวช่วยประคอง ไม่ให้พลาสวูดบิดตัวดังรูปที่ 2

3. ประคองพลาสวูดเอาไว้จนกว่าพลาสวูดจะเย็นตัว เพียงแค่นี้คุณก็จะได้ชิ้นงานพับขึ้นรูปตามต้องการแล้วครับ

นี่ก็เป็นอีกเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะมีมาเล่าให้อ่านกันเป็นประจำกับ www.inventor.in.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Exit mobile version