Categories
Home & Garden Pets คุณทำเองได้ (DIY)

CAT FOUNTAIN

เห็นชื่ออย่าเพิ่งนึกว่ามันคือน้ำพุรูปแมวนะคร้า แต่มันคืออุปกรณ์ช่วยให้น้ำแมวที่กรองฝุ่นละอองได้ ทำให้เจ้าเหมียวได้เพลิดเพลินกับการกินน้ำมากยิ่งขึ้น เห็นมีขายในเว็บเยอะแยะแต่ราคาหลักพันเลยเชียวนะ ดูแล้วก็ไม่น่าจะยาก เลยลองทำเองซะเลย อิอิ

น้ำพุแมวเครื่องนี้จะช่วยให้น้ำในภาชนะได้หมุนเวียนตลอดเวลาเพื่อช่วยกรองฝุ่นละอองให้ลงไปอยู่ในวัสดุกรอง แต่เนื่องจากน้ำที่ให้เจ้าเหมียวก็เป็นน้ำกรองอยู่แล้ว เลยใช้วัสดุกรองหยาบๆ ก็พอ ในตัวที่ทำนี้ใช้หินกรวดก้อนเล็กๆ ไว้ดักจับฝุ่นหรือเศษขี้ผงให้นอนอยู่ตามซอกหินค่ะ

อุปกรณ์การประดิษฐ์
1. ภาชนะใส่น้ำแบบมีฝาปิด
2. ถ้วยพลาสติกขนาดใหญ่สำหรับครอบปั้มน้ำได้
3. ถ้วยพลาสติกขนาดเล็ก
4. หลอดดูดน้ำ
5. หินกรวดขนาดเล็ก
6. ปั้มน้ำไฟตรงขนาด 6 ถึง 12V 3W (สั่งซื้อคลิก)
7. อะแดปเตอร์ไฟตรง 6V

ขั้นตอนการประดิษฐ์
เมื่ออุปกรณ์พร้อม คนพร้อม แมวก็พร้อม (ตั้งนานแล้ว) จะรออะไรมาเริ่มกันเลยค่ะ

(1) นำถ้วยพลาสติกขนาดใหญ่มาเจาะรู 2 แถว ที่ขอบถ้วยโดยจำนวนของรูเจาะไม่ต้องรอบขอบถ้วย เอาแค่ครึ่งด้วยก็พอดังรูปที่ 1


รูปที่ 1 เจาะรูขอบถ้วยที่ครอบปั้มน้ำเพื่อให้น้ำเข้าไปภายใน

(2) คว้านก้นถ้วยพลาสติกขนาดใหญ่ให้ขนาดเท่ากับก้นของถ้วยเล็กดังรูปที่ 2.1 จากนั้นสอดถ้วยเล็กเข้าไปดังรูปที่ 2.2 จะได้ฐานน้ำพุ 2 ชั้น แนะนำว่ารูที่คว้านต้องมีขนาดพอดีหรือคับนิดหน่อยจะได้ไม่ต้องใช้กาวหรือสารเคมีมายึดถ้วย เพื่อความปลอดภัยของเจ้าเหมียว


รูปที่ 2 คว้านก้นถ้วยใบใหญ่และสอดถ้วยใบเล็ก

(3) เจาะรูก้นถ้วยเล็กให้พอดีกับหลอดดูดน้ำ เนื่องจากเราจะใช้หลอดดูดน้ำแทนการใช้สายยางต่อกับปั้มน้ำ
หมายเหตุ : ขออภัยนะค่ะในรูป 3.1 และ 3.2 จะเห็นว่าเป็นถ้วยคนละแบบเพราะเกิดความผิดพลาดของรูเจาะเลยต้องเปลี่ยนถ้วยใหม่ ^^


รูปที่ 3 เจาะรูก้นถ้วยใบเล็กขนาดเท่าหลอดดูด

(4) นำฝากล่องมาคว้านให้ขนาดกว้างกว่าถ้วยใบใหญ่ประมาณ 1 ซม. หรือหากไม่ต้องการปิดฝาก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย


รูปที่ 4 คว้านฝาภาชนะใส่น้ำ

(5) ติดตั้งปั้มน้ำไฟตรงลงไป แล้วนำถ้วยที่ประกอบกันและเจาะรูแล้วจากขั้นตอนที่ 3 มาวางครอบปั้มน้ำไว้ จากนั้นสวมหลอดดูดลงไปในท่อของปั้มน้ำแล้วตัดปลายหลอดดูดให้เสมอกับก้นถ้วย


รูปที่ 5 ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดลงในภาชนะใส่น้ำ

(6) นำหินกรวดไปล้างทำความสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วเทใส่ลงในภาชนะหรือจะใส่หินลงถุงผ้าก่อนก็ดีเพื่อง่ายในการล้างทำความสะอาดค่ะ จากนั้นเติมน้ำและเสียบอะแดปเตอร์เข้ากับปั้มน้ำไฟตรง แล้วปิดฝา


รูปที่ 6 ใส่หินกรวดสำหรับกรองฝุ่นละออง

(7) อันที่จริงมันเสร็จแล้วค่ะ แต่ดูแปลกๆ เลยหาวัสดุมาตกแต่งสักหน่อย ไหนๆ มันก็เป็นน้ำพุแล้วทำเป็นสวนเล็กๆ มันซะเลย โดยใช้อิฐลูกเต๋าและต้นไม้เทียม จัดเรียงให้ถูกใจแล้วยึดด้วยปืนยิงกาว


รูปที่ 7 ตกแต่งฝาปิดด้วยอิฐลูกเต๋าและต้นไม้เทียม

เสร็จแล้วจ้าน้ำพุแมวฝีมือป้าแจ่ม ลองให้เจ้าเหมียวมาตรวจสอบหน่อย แต่ดูมันจะตกใจเล็กน้อยเพราะไม่เคยเห็น ต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักกว่าจะกล้ากินน้ำ

ลองทำกันดูนะค่ะ งานนี้ตอนแรกจะให้ปั้มทำงานแบบอัตโนมัติเมื่อเจ้าเหมียวเดินมาแต่คุณพ่อบ้านไม่ว่างทำให้ซักที ใครมีความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็จัดการต่อได้เลยค่ะ แต่ของป้าเอาแค่นี้ก็ใช้ได้แล้ว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Straw LED Lamp

ประดิษฐ์โคมไฟ LED สำหรับอ่านหนังสือและส่องสว่างยามค่ำคืนแบบง่ายๆ จากวัสดุเหลือใช้

“เมื่อไหร่จะซื้อโคมไฟมาติดให้ซักที” เสียงเล็กๆ ที่ทรงพลังจากแม่บ้านของผม ผู้ชื่นชอบการอ่านหนังสือก่อนนอนเป็นยิ่งนัก ทำเอาเมกเกอร์อย่างเราเริ่มอยู่ไม่เป็นสุข ต้องทำอะไรบางอย่างแล้วล่ะสิ

ในเมื่อโจทย์ที่ได้รับคือไฟสำหรับอ่านหนังสือหัวเตียง จะไปซื้อมาก็มีแต่ราคาสูง แถมเสียเชิงเมกเกอร์อย่างเราเป็นอย่างยิ่ง ว่าแล้วก็ร่างแบบ ทำการคุ้ยๆ เขี่ยๆ ของเก่าในบ้านจนเจอแถบ LED ที่เคยซื้อเก็บไว้ ลองนำมาสอดกับหลอดดูดที่ได้มาจากร้านสะดวกซื้อ แม้ขนาดของหลอดจะเล็กไปหน่อยแต่ก็ไม่เป็นไร ได้แสงขาวๆ สำหรับอ่านหนังสือเป็นใช้ได้ มาดูกันเลยครับว่า ผู้เขียนใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

อุปกรณ์ที่ต้องใช้
1. LED แบบแถบ 6 ดวง
2. หลอดดูดแบบงอได้ 3 อัน
3. ตัวดูดกระจก ทำเป็นฐานยึด
4. แจ็กอะแดปเตอร์
5. สายไฟเส้นเล็กยาวประมาณ 30 ซม.
6. อะแดปเตอร์ไฟตรง 12V.
7. ลวด (เป็นอุปกรณ์เสริม)

เครื่องมือการประดิษฐ์
1. หัวแร้ง+ตะกั่วบัดกรี
2. ปืนยิงกาวพร้อมกาวแท่ง
3. คัตเตอร์

รูปที่ 1 อุปกรณ์ที่ต้องใช้

ขั้นตอนการประดิษฐ์
(1) บัดกรีสายไฟเส้นเล็กเข้ากับขั้วบวกและลบของ LED แบบแถบดังรูปที่


รูปที่ 2 บัดกรีสายไฟเข้ากับขั้วบวกและลบ ของ LED แบบแถบ

(2) นำหลอดดูดมาผ่ากลางให้สามารถสอด LED แบบแถบเข้าไปได้ดังรูปที่ 3 แต่หากผู้อ่านมีหลอดขนาดใหญ่พอสอด LED แบบแถบได้ก็ให้ข้ามขั้นตอนนี้ไปได้เลย (ตัวต้นแบบใช้หลอดจากร้านสะดวกซื้อเส้นผ่านศูนย์กลางมันเล็กไปหน่อย)


รูปที่ 3 ผ่าหลอดดูดเป็นแนวยาวเท่ากับ LED แบบแถบ

(3) ค่อยๆ แหวกเพื่อสอดสายไฟและ LED แบบแถบเข้าไปในหลอดดังรูปที่ 4


รูปที่ 4 บรรจุ LED แบบแถบเข้าไปในหลอดดูด

(4) ตัดหลอดอีก 1 ชิ้น ให้ความยาวเท่ากับ LED แบบแถบ ดังรูปที่ 5.1 แล้วผ่าตามแนวยาวดังรูปที่ 5.2 นำไปครอบ LED ดังรูปที่ 5.3 จะได้ตัวโคมดังรูปที่ 5.4


รูปที่ 5 ครอบหลอดอีกชิ้นเป็นโคม LED

(5) ต่อหลอดชิ้นใหม่เพื่อเพิ่มความสูงของโคม โดยให้สายไฟสอดเข้าในหลอดดังรูปที่ 6.1 สอดลวดยาวประมาณ 15 ซม. เข้าไปในหลอดดังรูปที่ 6.2 เพื่อเป็นช่วยรับน้ำหนักและดัดโค้งได้ตามต้องการ จากนั้นสอดปลายหลอดเข้ากับรูของตัวดูดกระจก ดังรูปที่ 6.4


รูปที่ 6 ต่อหลอดและเสริมลวด

(6) ทำตัวครอบปิดแจ็กอะแดปเตอร์ ในที่นี้ใช้ปลายของซิลิโคนแบบหลอดนำมาตัดให้ได้ขนาดตามต้องการแล้วยึดด้วยปืนยิงกาว


รูปที่ 7 ทำฝาครอบแจ็กอะแดปเตอร์

(7) บัดกรีปลายสายเข้ากับแจ็กอะแดปเตอร์ดังรูปที่ 8 แล้วยึดเข้ากับตัวดูดกระจกด้วยปืนยิงกาว


รูปที่ 8 บัดกรีสายไฟและติดตั้งแจ็กอะแดปเตอร์เข้ากับฝาครอบ

เพียงเท่านี้คุณก็ได้โคมไฟอ่านหนังสือประจำหัวเตียง การใช้งานก็เพียงเสียบอะแดปเตอร์ LED ก็สว่างผ่านการกรองแสงไม่ให้จ้าเกินไปด้วยหลอดดูดสีขาวขุ่น และยังปรับก้มเงยได้อีกต่างหาก

ลองทำกันดูนะครับ หรือจะนำไอเดียไปดัดแปลงใช้กับ LED แบบดวงเดี่ยวและใช้กะบะถ่านเอาก็ย่อมได้ สำหรับฉบับนี้ขอนำโคมไฟไปอวดแม่บ้านก่อนล่ะคร้าบ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Pets คุณทำเองได้ (DIY)

Cat Tent

ประดิษฐ์เต็นท์หรือบ้านให้แมวด้วยวัสดุหาง่ายจากในบ้านของคุณ

Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

เครื่องเพาะถั่วงอก ระบบน้ำหยด

ลงมือสร้างเครื่องเพาะถั่วงอกประจำครัวเรือนที่หน่วงเวลาการรดน้ำได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า

การเพาะถั่วงอกนั้นจริงแล้วเป็นเรื่องไม่ยากหากมีเวลาดูแล หมั่นรดน้ำทุก 3 หรือ 4 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยก็ต้องรดเช้าและเย็นอย่าให้ขาด แต่ภารกิจของคนเมืองที่ต้องเร่งรีบออกจากบ้านก่อนไก่ตื่นเพื่อหลีกเลี่ยงความคับคั่งของการจราจร ผลสุดท้ายลืมสิคร๊าบ แต่จะดีแค่ไหน หากหน้าที่นี้ปล่อยให้ระบบน้ำหยดเป็นผู้ดูแลการรดน้ำแทนเรา

อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไป ถั่วงอกจะสมบูรณ์ ขาวอวบ น่ารับประทานได้นั้น การรดน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ แต่ถ้าจะเอาให้ง่ายก็ใช้เครื่องตั้งเวลามาควบคุมวาล์วไฟฟ้าหรือปั้มน้ำให้รดน้ำตามเวลาที่เราต้องการ แต่แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องตามมานอกจากค่าไฟแล้วยังมีค่าเครื่องตั้งเวลากับวาล์วไฟฟ้า(โซลินอยด์วาล์ว) ดังนั้นการทำระบบน้ำหยดพักน้ำไว้ในถัง แล้วใช้ระบบกาลักน้ำ (Siphon) ดึงน้ำจากถังพักไหลลงไปยังตะกร้าเพาะถั่วจึงเป็นทางเลือกที่น่าจะตอบโจทย์นี้

หากยังนึกภาพไม่ออกลองดูหลักการทำงานของเครื่องเพาะถั่วงอกในหน้าถัดไปครับ

เตรียมอุปกรณ์ (ไม่รวมเครื่องมือช่าง)
1. ภาชนะทึบแสง 2 ใบ ทรงกลมก็ดี ทรงเหลี่ยมก็ได้
2. ตะกร้ารูปทรงและขนาดที่สามารถใส่ลงในภาชนะตามข้อ 1 ได้ 1 ใบ
3. ท่อ PVC ขนาด 4 หุนพร้อมหัวอุด
4. ก้านลูกโป่ง หรือหลอดกาแฟ
5. หัวน้ำหยด
6. ข้อต่อ 4 หุน สำหรับต่อจากวาล์วน้ำให้ขนาดเข้ากับสายยางได้
7. สายยางเล็ก (ท่อ PE)
8. วาล์วน้ำ (สต๊อปวาล์ว)
9. กาวซิลิโคน
10. พลาสวูดหรือแผ่นพลาสติกอะคริลิก



รูปที่ 1 อุปกรณ์หลักๆ สำหรับทำเครื่องเพาะถั่วงอกระบบน้ำหยด

หลักการทำงานของเครื่องเพาะถั่วงอกระบบน้ำหยด
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนการสร้าง เรามาดูหลักการทำงานกันก่อนจะได้เห็นภาพรวมของการทำงาน เพื่อการจัดเตรียมอุปกรณ์อย่างไม่ขาดตกบกพร่องกันนะครับ
1. เริ่มจากเปิดน้ำเข้าถังบน หัวน้ำหยดจะปล่อยให้น้ำหยดลงถังน้ำอย่างช้าๆ (มากน้อยขึ้นอยู่กับการปรับวาล์วน้ำและหัวน้ำหยดด้วย)
2. เมื่อระดับน้ำสูงจนถึงปลายท่อระดับ (ในที่นี้คือก้านลูกโป่ง) น้ำจะค่อยๆ ไหลลงท่อ แต่จะไหลลงอย่างช้าๆ
3. เมื่อน้ำภายในท่อไหลเข้าไปแทนที่อากาศทั้งหมดระบบกาลักน้ำ (Siphon) ก็เริ่มสูบน้ำลงด้านล่าง ตอนนี้น้ำจะไหลผ่านแผ่นกระจายน้ำที่เป็นแผ่นพลาสติกเจาะรูไว้ทั่วทั้งแผ่นลงไปยังตะกร้าที่บรรจุเมล็ดถั่วไว้
4. น้ำที่ผ่านตะกร้าจะไหลออกทางท่อน้ำทิ้งด้านล่าง

โดยระบบจะทำงานซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้มั่นใจได้ว่าถั่วของเราจะได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ และได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลา 3 วันแน่นอน

รูปที่ 2 แสดงโครงสร้างของเครื่องเพาะถั่วงอก

ขั้นตอนการสร้าง
สำหรับขั้นตอนการสร้าง ผู้เขียนจะอ้างอิงจากภาพประกอบที่ 2 ซึ่งเป็นภาพวาดโครงสร้างและส่วนประกอบของเครื่อง
(1) นำตะกร้ามาตัดขอบออกดังรูปที่ 3 จะได้ตะกร้าที่ใส่ลงในถังน้ำได้พอดี แต่หากท่านที่มีตะกร้าขนาดพอดีกับถังน้ำอยู่แล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปเลย


รูปที่ 3 การตัดขอบปากตะกร้าให้ใส่ลงในถังน้ำได้พอดี

(2) ตัดท่อ PVC ขนาด 3 หรือ 4 หุน ก็ได้ เป็นชิ้นเล็กๆ นำมาผูกติดก้นตะกร้าด้วยสายรัด (การหนุนให้ก้นตะกร้าสูงจากพื้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดถั่วถูกน้ำขังจนทำให้เน่าได้) ดังรูปที่ 4



รูปที่ 4 ใช้ท่อ PVC หนุนตะกร้าป้องกันน้ำขัง

(3) เจาะรูที่ก้นถังน้ำให้พอดีกับท่อน้ำทิ้งขนาด 4 หุน ที่เตรียมไว้ จากนั้นใช้กาวซิลิโคนอุดภายในถังน้ำเพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมจากรอยเจาะ


รูปที่ 5 การติดตั้งท่อน้ำทิ้ง

(4) ทำแผ่นกระจายน้ำโดยตัดแผ่นพลาสวูดหนา 3 หรือ 5 มม. ให้ขนาดสามารถปิดลงไปกึ่งกลางของถังน้ำได้ดังรูป 6.3 (ถังน้ำส่วนใหญ่มีรูปทรงก้นเล็กปากบาน) แล้วตัดพลาสวูดชิ้นเล็กๆ ไว้เป็นที่จับติดด้วยกาวร้อนตรงกลางแผ่นจากนั้นเจาะรูด้วยดอกสว่าน 3 มม. ให้ทั่วทั้งแผ่นให้น้ำกระจายได้ทั่วตะกร้าดังรูปที่ 6.4


รูปที่ 6 ตัดแผ่นกระจายน้ำ

(5) นำสายยางขนาดเล็กมาหุ้มแผ่นกระจายน้ำเพื่อให้แผ่นกระจายน้ำแนบสนิทกับถังน้ำโดยไม่หลุดล่วงได้ง่าย โดยใช้กรรไกรผ่ากลางสายยางดังรูปที่ 7.2 แล้วนำไปหุ้มที่ขอบของแผ่นให้รอบดังรูปที่ 7.3


รูปที่ 7 การหุ้มขอบแผ่นกระจายน้ำ

(6) ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. สำหรับทำฝาปิดถังล่างขนาดเท่ากับปากถังแล้วเจาะรูกลางแผ่นสำหรับสอดท่อน้ำจากถังบน


รูปที่ 8 ทำฝาปิดถังล่าง

(7) นำถังอีกใบมาเจาะรูกลางถังขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ถึง 3 ซม. จากนั้นตัดแผ่นพลาสวูดเป็นทรงกลมมาแปะทับรูที่เจาะไว้ที่ก้นถัง เจาะรูให้มีขนาดเท่ากับก้านลูกโป่ง (ให้คับก้านลูกโป่ง) ดังรูปที่ 9.1 จากนั้นนำก้านลูกโป่งสอดเข้าไปในรู โดยให้ความสูงพอประมาณหรือเท่ากับระดับน้ำที่เราต้องการ


รูปที่ 9 ทำท่อระดับจากก้านลูกโป่ง

(8) นำท่อ 4 หุน มาบากให้มีรูปทรงดังรูปที่ 10.1 โดยความสูงของท่อขึ้นกับความสูงของท่อระดับ (ก้านลูกโป่ง) แต่ต้องสูงกว่าท่อระดับ 1 ถึง 2 มม. จากนั้นครอบหัวอุดแล้วนำไปวางสวมท่อระดับดังรูปที่ 10.4


รูปที่ 10 ทำท่อระบบไซฟอน

(9) ติดตั้งหัวน้ำหยดเข้ากับส่วนบนของถังน้ำดังรูปที่ 11.1 ส่วนปลายสายอีกด้านก็ต่อเข้ากับหัวต่อท่อ 4 หุนดังรูปที่ 11.2 สุดท้ายสวมท่ออ่อนเข้ากับน้ำทิ้งของถังน้ำล่าง ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการสร้างแล้วครับ


รูปที่ 11 ติดตั้งหัวน้ำหยดและท่อน้ำทิ้ง

ขั้นตอนการใช้งาน
(1) นำเมล็ดถั่วเขียวแช่น้ำอุ่นไว้ประมาณ 4 ชั่วโมง
(2) เทเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำอุ่นแล้วลงตะกร้า
(3) ปิดแผ่นกระจายน้ำให้ได้ระดับดับไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
(4) ปิดฝาของถังน้ำใบล่าง
(5) นำถังบนมาวางซ้อนให้ก้านลูกโป่งสอดลงในรูของฝาปิด
(6) เปิดวาล์วน้ำน้อยๆ แล้วปรับหัวน้ำหยดให้ได้ปริมาณน้ำประมาณ 1 ชั่วโมงต่อ 500 มิลลิลิตร (ใช้น้ำ 3 ชั่วโมงต่อ 1.5 ลิตร)
(7) ทิ้งไว้ 2 ถึง 3 วัน แล้วลองเปิดดูผลผลิต



รูปที่ 12 ขั้นตอนการใช้งาน

หลังจากผ่านไป 2 วัน ลองเปิดดูผลผลิตกันสักหน่อยครับ ผลที่ออกมาก็เป็นดังรูปที่ 13.1 และวันที่ 3 เป็นดังรูปที่ 13.2 นำไปล้างและรับประทานได้เลย


รูปที่ 13 ผลผลิตในวันที่ 2 และ 3

เพียงเท่านี้เราก็จะได้เครื่องเพาะถั่วงอกที่รดน้ำให้เราทุก 3 ชั่วโมง(อยู่ที่การปรับหัวน้ำหยด) แล้วล่ะครับ แนะนำให้รับประทานแบบปรุงสุกจะดีที่สุด สำหรับคนที่ชื่นชอบการรับประทานแบบดิบๆ ก็ต้องดูแลเรื่องปริมาณให้เหมาะสมด้วยนะ เพราะหากมากเกินไปย่อมมีโทษเสมอ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

รางปลูกต้นไม้แนวตั้ง

เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คอนโดและบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่มีพื้นที่จำกัด ด้วยสวนแนวตั้ง จากวัสดุที่คุณคุ้นเคย

นับวันราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ยิ่งมีราคาสูงขึ้นทุกปี ยิ่งมีข่าวโครงการรถไฟฟ้าจะสร้างผ่านด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ มนุษย์เงินเดือนทั่วไปก็คงได้อาศัยทาวน์เฮ้าส์ที่ราคายังพอกัดฟันซื้อได้ แต่ขึ้นชื่อว่าทาวน์เฮ้าส์ คงจะนึกออกใช่มั้ยล่ะครับ ว่าพื้นที่มันจำกัดแค่ไหน จะลงดินปลูกต้นไม้ก็ได้แค่กระหย่อมหลุมเดียว และนอกจากพื้นที่จำกัดแล้วโผล่มาหน้าบ้านยังต้องถูกบังคับให้ส่งยิ้มกับเพื่อนบ้านทุกคราไป ก็เพราะรั้วแต่ละหลังใช้ร่วมกัน แถมยังเป็นแค่ลูกกรงเหล็ก ดูแล้วมันชั่งไม่เป็นส่วนตัวเสียจริงๆ ว่าแล้วเราจะรอช้าอยู่ทำไมมาทำบ้านหลังน้อยของเราให้เขียวขจีแบบไม่สิ้นเปลืองพื้นที่อันน้อยนิดและยังช่วยบดบังสายตายามต้องการความเป็นส่วนตัวอีกด้วย

ขยายความสักนิดถึงอุปกรณ์ที่ว่าคุณคุ้นเคย ก็ลองแหงนมองขึ้นไปนอกตัวบ้านหรือระเบียงคอนโดของคุณตรงคอนเดนซิ่งยูนิต (คอยล์ร้อน) ดูสิครับ คุณก็จะพบอุปกรณ์ที่คุ้นเคย (แต่ไม่เคยได้ใช้เอง) ใช่แล้วครับมันคือรางครอบท่อแอร์นั่นเอง สาเหตุที่เลือกใช้รางครอบท่อแอร์ ก็เพราะว่ามันตัด เจาะง่าย และที่สำคัญราคาถูกคือ 1 เส้นยาว 2 เมตร ในราคาไม่ถึงร้อยบาท จะตัดผิด เจาะพลาดก็ยังไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากนัก เมื่อรู้แล้วว่าเจ้าอุปกรณ์หลักที่ว่ามันคืออะไร ดียังไง ก็มาจัดเตรียมหาซื้ออุปกรณ์กันก่อนครับ

เตรียมอุปกรณ์
• รางครอบท่อแอร์ 1 เส้น
• แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม.
• เชือกไนล่อน
• ดินถุง
• กากมะพร้าวสับ
• ต้นไม้ที่ต้องการปลูก (แนะนำพวกไม้ตระกูลเฟิร์นหรือพืชผักสวนครัว)
• เลื่อยมือ

ขั้นตอนการประดิษฐ์
(1) นำรางครอบท่อแอร์มาตัดด้วยเลื่อยมือให้ได้ความยาวตามต้องการ โดยในตัวต้นแบบนี้ ตัดที่ 50 ซม. จำนวน 3 ท่อน เพื่อทำเป็นรางปลูก 3 ชั้นดังรูปที่ 1


(2) เจาะรูสำหรับระบายน้ำด้านล่าง ด้วยดอกสว่านขนาด 3 มม. ดังรูปที่ 2

(3) เจาะรูสำหรับนำต้นไม้ลงปลูก รางละ 3 รู ต้นไม้จะได้ไม่เบียดกันจนเกินไปดังรูปที่ 3

(4) ทำแผ่นปิดราง 2 ด้าน โดยนำรางมาวางทาบกับแผ่นพลาสวูดแล้ววาดด้วยดินสอดังรูปที่ 4.1 จากนั้นใช้คัตเตอร์หรือสว่านมือขนาดเล็ก(แนะนำสว่านมือ Dremel รุ่น 3000 N-10 สั่งซื้อได้ที่ www.inex.co.th)ตัดตามรอยดินสอและขัดด้วยกระดาษทรายละเอียด จะได้แผ่นปิดรางครอบท่อ โดยทำ 2 แผ่นต่อ 1 ราง ดังนั้นผมต้องตัดแผ่นพลาสวูดทั้งหมด 6 แผ่น

(5) ยึดแผ่นปิดรางโดยการตัดพลาสวูดเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาด 1×2.5 ซม.ดังรูปที่ 5.1 แล้วยึดด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 5.3 ทำให้ครบทั้ง 3 รางจะได้รางปลูกที่ยึดฝาปิดด้านข้างแล้วจำนวน 3 รางดังรูปที่ 5.5

(6) เจาะรูสำหรับร้อยเชือก โดยให้เจาะในตำแหน่งทะแยงระหว่างส่วนรางด้านล่างและส่วนฝาครอบ เพื่อให้เวลาแขวนต้นไม้จะได้เอียงเข้ามาให้เราได้เชยชมและสัมผัสความเขียวขจีของต้นไม้ได้อย่างเต็มอิ่ม

(7) ร้อยเชือกไนล่อนเข้าในรูที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่แล้ว โดยให้ร้อยจากรางปลูกแถวบนก่อน เมื่อร้อยจากฝาลงมาส่วนล่างแล้วให้มัดเป็นปมกันเอาไว้ดังรูปที่ 7.3 จากนั้นก็ร้อยรางชั้นล่างถัดไปแล้วก็มัดปมเช่นกัน ทำจนครบทั้ง 3 ชั้น แล้วนำไปแขวนตามตำแหน่งที่ต้องการได้เลย

(8) โรยกากมะพร้าวสับบางๆ ลงในรางปลูก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับดิน แล้วใส่ดินลงไปให้เต็ม เมื่อทำครบทุกรางแล้วก็นำต้นไม้ลงปลูกได้เลย

เมื่อลงต้นไม้เสร็จก็รดน้ำให้ชุ่ม เป็นอันเสร็จสิ้นการทำสวนแนวตั้งแบบรางปลูก 3 ชั้น แล้วล่ะครับ ส่วนการให้ปุ๋ยไม่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีโดยตรง เพราะจะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดมากเกินไป แนะนำให้ใช้ปุ๋ยคอก(มูลสัตว์) ผสมกับดินก้ามปูก็ได้ แล้วโรยไม่ต้องมาก โดยให้สัปดาห์ละครั้งก็พอ แต่น้ำสำคัญมากเพราะรางปลูกมีขนาดเล็ก ควรให้เช้าเย็นอย่างสม่ำเสมอ

ทำกันง่ายๆ ไม่ต้องใช้ฝีมือการประดิษฐ์มากมาย ก็ได้สวนแนวตั้งในราคาหลักร้อยแล้ว ลองทำกันดูนะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Smartphone Holder for Car

ประดิษฐ์ที่จับยึดสมาร์ตโฟนเพื่อทำหน้าที่เป็นกล้องติดหน้ารถและแผนที่นำทาง โดยไม่ต้องยึดกับกระจกหน้ารถ ทำได้ด้วยพลาสวูด A4 เพียงแผ่นเดียว

แค่เห็นภาพผู้อ่านคงร้องอ๋อโดยไม่ต้องบรรยายอะไรมาก ว่าเจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้มันเอาไว้ทำอะไร แต่ก็แฝงด้วยความสงสัยกันต่อว่าจะทำไปเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่แบบนี้มันก็มีขายกันให้เกลื่อนตลาดแถมยังราคาหลักร้อยต้นๆ ซื้อเค้าไม่ดีกว่าเหรอ? แน่นอนครับว่าซื้อเอาทั้งสะดวกและสวยงาม แต่หากใครที่ต้องจอดรถกลางแดดทุกวันคงจะรู้ซึ้งถึงความร้อนที่สะสมอยู่หน้ากระจกรถของเราทำให้เจ้าตัวดูดกระจกที่เราซื้อมาไม่สามารถทานทนได้และจำต้องลาจากเราไปในเวลาอันแสนสั้น

ดังนั้นอุปกรณ์นี้จึงเป็นอีกทางเลือกของคนจอดรถกลางแจ้งและต้องการใช้สมาร์ตโฟนทำหน้าที่เป็นกล้องหน้ารถหรือใช้งานแผนที่สำหรับนำทาง โดยอุปกรณ์นี้ออกแบบให้เสียบเข้ากับที่บังแดดในรถ ลองมาดูอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมกันก่อน

เตรียมอุปกรณ์
1. ตัวจับสมาร์ตโฟน (ถอดจากไม้ Selfie)
2. แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 (ซื้อได้ที่ www.inex.co.th)
3. สกรู 3×15 มม. พร้อมนอต 1 ชุด
4. สกรู 4×20 มม. พร้อมนอตตัวเมียแบบหางปลา 1 ชุด
5. กาวร้อน
6. ปืนเป่าลมร้อน
7. คัตเตอร์
8. กระดาษทราย

ขั้นตอนการประดิษฐ์
(1) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 10×29 ซม. นำมาพับครึ่ง ด้วยปืนเป่าลมร้อน โดยการเป่าให้ความร้อนทั้งสองด้านของแนวที่ต้องการพับ เมื่อเห็นว่าแผ่นพลาสวูดเริ่มอ่อนตัวแล้ว ให้นำไปทาบกับวัสดุอะไรก็ได้ที่มีความหนาใกล้เคียงกับที่บังแดด (ในที่นี้ใช้พลาสวูด 10 มม.) แล้วพับให้แนบกับวัสดุที่นำมาทาบดังรูปที่ 1.3 รอให้พลาสวูดเย็นลงค่อยดึงออกมาจะได้ขาหนีบกับที่บังแดดรถยนต์ดังรูปที่ 1.4


(2) ตัดพลาสวูดขนาด 3×4 ซม. 2 ชิ้น และขนาด 3×5 ซม. 1 ชิ้น เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 มม. ทั้งสามชิ้น จากนั้นนำชิ้น 3×5 ซม. มาทาบกับส่วนพับของตัวหนีบดังรูปที่ 2.2 ใช้ดินสอวาดตามแนวโค้ง แล้วตัดให้ได้ส่วนโค้งตามแนวดินสอดังรูปที่ 2.4 แล้วยึดกับส่วนโค้งของตัวหนีบด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 2.5

(3) นำพลาสวูดขนาด 3×4 ซม. ที่ตัดไว้จากขั้นตอนที่แล้วมาประกบเข้าด้วยกันด้วยสกรูขนาด 4×20 มม.และขันล็อกด้วยนอตแบบหางปลาดังรูปที่ 3.2


(4) นำตัวจับสมาร์ตโฟนมาทาบกับพลาสวูดแล้วตัดให้ได้ขนาดเท่ากับฐานของตัวจับ หรืออาจใหญ่กว่าเล็กน้อยก็ได้ จากนั้นเจาะรูขนาด 3 มม. สำหรับร้อยสกรู แล้วยึดตัวจับสมาร์ตโฟนเข้ากับแผ่นพลาสวูดด้วยสกรู 3×15 มม. และล็อกด้วยนอตจะได้ดังรูปที่ 4.4

(5) นำชุดตัวหนีบกับฐานตัวจับสมาร์ตโฟนมาประกอบกันด้วยกาวร้อนโดยวางให้คร่อมนอตดังรูปที่ 5.2 ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย จะได้อุปกรณ์ยึดสมาร์ตโฟนเข้ากับที่บังแดดหน้ารถดังรูปที่ 5.3

การใช้งาน
สำหรับคนที่ต้องการนำไปใช้เป็นกล้องติดหน้ารถ แนะนำให้ลงแอปพลิเคชั่นก่อน สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์แนะนำแอปฯที่ชื่อว่า AutoGuard กับ AutoBoy BlackBox นะครับ (ส่วน iOS ไม่รู้ครับ) เพราะมีฟังก์ชั่นที่เหมาะกับการใช้งาน ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือมีการตรวจจับการสั่นหรือกระแทกอย่างรุนแรงของสมาร์ตโฟน นั่นก็หมายความว่ารถเราอาจกำลังเกิดอุบัติเหตุและสามารถเลือกได้ว่าจะให้โทรออกไปยังเบอร์ที่เราระบุไว้หรือไม่ เมื่อลงแอปฯ และตั้งค่าเรียบร้อยแล้ว ก็เพียงนำไปเสียบไว้กับที่บังแดดดังรูปที่ 6 และปรับมุมก้มเงยได้ตามต้องการด้วยนอตหางปลาก็เป็นอันเรียบร้อยพร้อมเดินทางแล้วจ้า

ลองทำใช้กันดูนะครับ ง่ายๆ ประหยัดงบ ไม่ต้องดูดกระจกให้ลุ้นว่าสมาร์ตโฟนของเราจะล่วงลงมาเมื่อไหร่


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Toy คุณทำเองได้ (DIY)

ประดิษฐ์หุ่นยนต์ผู้โดดเดี่ยว

เมื่อตุ๊กตาขี้กลัวตัวน้อยต้องคอยซ่อนตัวอยู่ในกล่องตามลำพัง
โครงงานของเล่นน่ารักๆ กับเจ้าตุ๊กตากระดาษ ที่คอยหลบซ่อนตัวอยู่ในกล่อง หากมีเสียงดังเจ้าตุ๊กตาก็จะส่งเสียงและพากล่องวิ่งไปมา แต่จะแอบเปิดฝามาดูเมื่อข้างนอกไม่มีเสียงรบกวน

เตรียมอุปกรณ์

การจะทำให้โครงงานของเล่นให้ดูมีชีวิตชีวานั้น แน่นอนล่ะครับว่าต้องใช้ระบบสมองกลหรือไมโครคอนโทรลเลอร์เข้าช่วยประมวลผล แต่จะให้ง่ายและใช้งานได้ทันที ก็เป็นต้องชุด Robo-Circle3S แต่ต้องเพิ่มอุปกรณ์อีกเล็กน้อย มาดูรายการอุปกรณ์กันเลย
1. แผงวงจร i-BOX3S
2. มอเตอร์ BO2 อัตราทด 120:1
3. มอเตอร์ BO1 2 เอาต์พุต อัตราทด 120:1
4. แผงวงจร ZX-SOUND
5. แผงวงจร ZX-POTH (ปัจจุบันมีจำหน่ายเป็นรุ่น ZX-POTV ผู้อ่านต้องดัดแปลงเล็กน้อย)
6. ล้อกลมพร้อมยาง
7. พลาสวูดขนาด A4 จำนวน 1 แผ่น
8. กะบะถ่าน AA 4 ก้อน
9. กล่องกระดาษทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 14×14 ซม. สูง 12 ซม.

การสร้าง
ประดิษฐ์ส่วนกลไกการเคลื่อนที่
(1) เริ่มด้วยการนำแผ่นพลาสวูดมาตัดให้ได้ขนาด 5×14 ซม. 1 แผ่นเพื่อใช้เป็นแผ่นฐาน และขนาด 3×6 ซม. 2 แผ่นเพื่อใช้เป็นแผ่นหนุนเพื่อให้ล้อสัมผัสพื้นได้พอดีดังรูปที่ 1.1 จากนั้นใช้เทปโฟมสองหน้าอย่างหนาแปะด้านบนของแผ่น 3×6 ซม. 1 แผ่น ดังรูปที่ 1.2 แล้วใช้ปืนยิงกาวยึดเข้าด้วยกันจะได้แผ่นพลาดวูดที่ซ้อนกันสำหรับยึดชุดเฟืองขับมอเตอร์ดังรูปที่ 1.3

(2) นำชุดแผ่นฐานติดตั้งลงในกล่อง ใช้ดินสอวาดแนวของล้อเอาไว้ จากน้ันใช้คัตเตอร์ตัดเป็นร่องสำหรับให้ล้อโผล่ลงไปด้านล่างของกล่องได้ สำหรับขนาดของช่องควรเจาะให้กว้างกว่าขอบล้อเล็กน้อยเพื่อความสะดวกในการติดตั้งดังรูปที่ 2.3 ถึง 2.5 เมื่อเจาะเสร็จแล้วติดตั้งแผ่นฐานลงไปยึดด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 2.6 สุดท้ายแกะเทปโฟมสองหน้าที่ด้านบนของแผ่นฐานออกแล้วนำชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO2 มาแปะลงไป โดยให้ตำแหน่งของล้ออยู่กึ่งกลางของช่องที่เราเจาะไว้เมื่อติดตั้งแล้วจะเห็นว่าล้อโผล่ออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นดังรูปที่ 2.8 ทดลองวางกล่องลงบนพื้น กล่องจะแนบกับพื้นเกือบสนิทและดูไม่ออกว่าด้านล่างมีล้ออยู่

(3) ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 7.5×14 ซม. เพื่อใช้เป็นแผ่นฐานติดตั้งชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 และแผงวงจร ZX-POTH จากนั้นนำชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 และแผงวงจร ZX-POTH มาจัดวาง โดยตำแหน่งการวางนี้ต้องให้แกนหมุนของเฟืองขับมอเตอร์เยื้องมาทางขวา ดังรูปที่ 3 จะเยื้องมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับขนาดของตัวตุ๊กตาที่นำมาใช้ เพื่อหลีกการชนตัวตุ๊กตาที่เราจะติดตั้งในขั้นตอนสุดท้าย เมื่อวางได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วให้ใช้ปืนยิงกาวยึดชุดเฟืองขับมอเตอร์เอาไว้ ส่วนแผงวงจร ZX-POTH ยังไม่ต้องยึด

(4) ตัดแผ่นฐานเป็นร่องกว้าง 7 มม. ให้ตรงกับแนวแกนสีชมพูของชุดเฟืองขับมอเตอร์ดังรูปที่ 4.1 จากนั้นตัดเศษพลาสวูดให้ได้รูปทรงรูปตัว L ดังรูปที่ 4.2 สำหรับใช้เป็นแขนดันฝากล่องส่วนแขนจะยาวมากหรือน้อยขึ้นกับว่าต้องให้กล่องเปิดมากน้อยเพียงใด จากนั้นนำส่วนปลายด้านหนึ่งไปกดเข้ากับแกนของชุดเฟืองขับมอเตอร์ให้เป็นร่องแล้วใช้คัตเตอร์ค่อยๆ เซาะให้ร่องลึกลงไปประมาณ 1/3 ของความหนาพลาสวูดดังรูปที่ 4.3 แล้วเจาะรูตรงกึ่งกลางร่องใช้สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็กขันยึดชิ้นส่วนแขนเข้ากับแกนของชุดเฟืองขับมอเตอร์ดังรูปที่ 4.4 ชุดส่วนแขนจะต้องลงร่องที่บากไว้ได้

(5) ตัดพลาสวูดขนาด 2×10 ซม. จำนวน 4 ชิ้น สำหรับใช้เป็นขาติ้งตั้งชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 และแขนดันฝากล่อง จากนั้นใช้ปืนยิงกาวติดกับแผ่นฐานดังรูปที่ 5.2 ตัดแผ่นพลาสวูดขนาด 9×10 ซม. สำหรับบังคับตัวตุ๊กตาให้ขึ้นลงในช่องและยังเพิ่มความแข็งแรงให้กับชุดแผ่นฐานด้วย แล้วใช้ปืนยิงกาวติดเข้ากับแผ่นฐานดังรูปที่ 5.3

(6) นำแผงวงจร ZX-POTH มาติดตั้งด้วยปืนยิงกาวแล้วใช้ท่อหดเป็นตัวเชื่อมระหว่างแกนสีขาวของชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 เข้ากับแกนของแผงวงจร ZX-POTH ดังรูปที่ 6.2 เพื่อให้ ZX-POTH เป็นตัวกำหนดองศาการหมุน

โดยก่อนหุ้มท่อหดให้หมุนแขนดันฝากล่องลงมาให้ระดับของปลายแขนต่ำกว่าแผ่นฐานดังรูปที่ 6.3 แล้วหมุนแกนของ ZX-POTH ตามเข็มนาฬิกาจนเกือบสุดแล้วจึงหุ้มท่อหดโดยใช้ความร้อนเป่า

(7) นำสายไฟเส้นเล็กมาบัดกรีเชื่อมกับขั้วของสวิตช์ RUN ของแผงวงจร i-BOX3S ดังรูปที่ 7

(8) นำแผงวงจร i-BOX3S , แผงวงจร ZX-SOUND และกะบะถ่าน AA 4 ก้อนพร้อมบรรจุแบตเตอรี่ติดตั้งกับชุดฐานดังรูปที่ 8 จากนั้นเชื่อมต่อสายของแผงวงจรและชุดเฟืองขับมอเตอร์เข้ากับแผงวงจร i-BOX3S ดังนี้
• ZX-SOUND ต่อเข้ากับช่อง SENSOR 0
• ZX-POTH ต่อเข้ากับช่อง SENSOR 2
• ชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO1 ต่อเข้ากับช่อง A ที่ขั้วสีดำ
• ชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO2 ต่อเข้ากับช่อง B ที่ขั้วสีดำ

(9) วางเครื่องมือการประกอบแล้วมาเริ่มเขียนโปรแกรมกันก่อน เพราะหากประกอบจนเสร็จแล้วค่อยมาเขียนทีหลังจะทำให้การปรับแต่งยุ่งยาก เริ่มจากหาค่าตำแหน่งเปิดปิดฝากล่องจาก ZX-POTH และค่าความดังเสียง จาก ZX-SOUND โดยเสียบสาย UCON-200 เปิดสวิตช์แผงวงจร i-BOX3S เปิดโปรแกรม Logo-Blocks ขึ้นมารับค่าจาก ZX-SOUND ด้วยคำสั่ง send ir แล้วเปลี่ยนบล็อกตัวเลขสีน้ำเงินเป็นบล็อกชื่อ sensor ดังรูปที่ 9.1 ดับเบิ้ลคลิกเพื่อเลือกตำแหน่งของจุดต่อตัวตรวจจับที่ต้องการรับค่า ดาวน์โหลดโค้ดนี้ลง i-BOX3S ไปที่เมนู Projects เลือก Cricket Monitor จะปรากฏหน้าต่างขึ้นมาดังรูปที่ 9.2 เมื่อกดสวิตช์ RUN ที่ i-BOX3S จะปรากฏตัวเลขค่าที่รับมาจากแผงวงจรที่เรากำหนดทันที

(10) เมื่อได้ค่าตัวเลขจากแผงวงจร ZX-SOUND และ ZX-POTH มาแล้วเราก็สามารถเขียนโปรแกรมอย่างง่ายๆ ได้ด้วยซอฟต์แวร์ Logo-Blocks แต่เพื่อให้การเขียนโปรแกรมของเราง่ายขึ้นจึงต้องสร้างโปรแกรมย่อยขึ้นมา จะเห็นว่ามีโปรแกรมย่อยอยู่ทั้งหมด 5 ส่วนได้แก่

(10.1) open ส่วนควบคุมการเปิดปิดฝากล่อง
เริ่มจากกำหนด Power ระดับ 3 จะได้ไม่หมุนเร็วเกินไป บังคับทิศทางด้วยบล็อกคำสั่ง thatway สั่งมอเตอร์ a หมุนจนกว่า ZX-POTH จะมีค่าน้อยกว่า 18 (ค่าที่ฝาเปิดจนเกือบสุด) เมื่อมีค่าน้อยกว่า 18 สั่งกลับทางหมุนด้วยบล็อก thisway เพื่อช่วยหยุดแบบทันทีหน่วงเวลา 0.02 วินาที จบด้วยคำสั่ง brake เพื่อยังคงค้างการทำงานไว้ฝากล่องจะได้ไม่ตกลงมา

(10.2) close ควบคุมการปิดฝากล่อง
ทำงานเหมือนกับ open แต่กลับทิศทางกัน และมอเตอร์หมุนจนกระทั่ง ZX-POTH มีค่ามากกว่า 280 ก็ให้หยุดการทำงาน แต่การหยุดจะใช้คำสั่ง off เพื่อประหยัดพลังงาน

(10.3) move-r และ move-l
ใช้ควบคุมชุดเฟืองขับมอเตอร์ BO2 ทั้งสองชุดคำสั่งนี้ทำงานเหมือนกันแต่ต่างกันที่ทิศทางการหมุนเท่านั้น

(10.4) talk
ใช้สร้างเสียงตัวโน้ตแบบต่างๆ เปรียบเสมือนว่าเจ้าตุ๊กตาในกล่องกำลังโต้ตอบกับเราว่า อย่ามายุ่งนะ โดยในส่วนนี้เพิ่มตัวโน้ตได้ตามใจชอบ

เมื่อได้โปรแกรมย่อยครบทั้ง 5 ส่วนแล้ว ก็มาเขียนโปรแกรมหลักสำหรับการควบคุมทั้งระบบกันดังรูปที่ 10.5

การทำงานของโปรแกรมหลักเริ่มจากใช้คำสั่ง loop เพื่อวนรอบการทำงานทั้งหมด ใช้คำสั่ง if then else กำหนดเงื่อนไขหลักเป็น 2 กรณี คือ
(1) หาก ZX-SOUND มีค่ามากกว่า 40 (ภายนอกมีเสียงดังหรือไม่ปลอดภัย) ให้ทำงานตามเงื่อนไขทางซ้ายคือส่งเสียงร้องด้วยโปรแกรมย่อย talk แล้ววิ่งหนีด้วยโปรแกรมย่อย move-l และ move-r ตามลำดับ รอ 2 วินาทีค่อยไปตรวจสอบเงื่อนไขหลัก
(2) ZX-SOUND มีค่าไม่ถึง 40 เงื่อนไขเป็นเท็จ ให้ทำงานตามเงื่อนไขทางขวามือที่มีคำสั่ง if then สร้างเงื่อนไขอีกชั้นหนึ่งเอาไว้คือ หาก ZX-SOUND มีค่าเท่ากับ 1 ให้เรียกโปรแกรมย่อยชื่อ open เพื่อเปิดฝากล่องค้างไว้ 2 วินาที แล้วสั่งโปรแกรม close ทำงาน

สาเหตุที่ต้องมีการสร้างเงื่อนไขแบบค่าตายตัวเท่ากับ 1 เท่านั้น ก็เพราะว่าค่าที่ได้จาก ZX-SOUND มีความไวมาก และผันผวนพอสมควรจึงต้องกำหนดค่าไว้ที่เกือบต่ำสุดเพราะว่าต้องการให้เสียงภายนอกเงียบจริงๆ จึงค่อยสั่งให้เปิดฝา หากไม่กำหนดส่วนนี้ โอกาสที่โปรแกรมจะเข้าสู่เงื่อนไขแรกจะเกิดขึ้นน้อยมากและทำให้ฝาของกล่องเปิดปิดตลอดเวลา

เมื่อการตั้งค่าและปรับแต่งเรียบร้อยแล้วก็ทำการโปรแกรมลงใน i-BOX3S ได้เลย ต่อไปก็ลงมือประกอบร่างกันต่อ


 

(11) ยกฝากล่องขึ้นประมาณ 1 ซม. ใช้ดินสอขีดเส้นทำเครื่องหมายเอาไว้ ตัดเศษพลาสวูดขนาด 0.5×14 ซม. ใช้ปืนยิงกาวติดแท่งพลาสวูดเข้ากับด้านหลังกล่องดังรูปที่ 11.1 จากนั้นนำฝากล่องมาครอบแล้วใช้เทปใสแปะฝากล่องเข้ากับแท่งพลาสวูดดังรูปที่ 11.2

(12) ทำสวิตช์ RUN แบบง่ายๆ โดยเจาะรูกึ่งกลางของด้านหลังกล่องให้สายไฟเส้นเล็กที่ต่อพ่วงกับสวิตช์ RUN ของแผงวงจร i-BOX3S โผล่ออกมาได้ดังรูปที่ 12.1 แล้วยึดสายไฟด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 12.2 ใช้เทปโฟมสองหน้าอย่างหนาแปะขนาบสองข้างของสายไฟดังรูปที่ 12.3

(13) ตัดกระดาษแข็งสีอะไรก็ได้ตามต้องการให้มีขนาดกว้างและยาวกว่าเทปโฟมสองหน้าและสายไฟที่เตรียมไว้จากขั้นตอนที่แล้ว เตรียมกระดาษตะกั่วให้มีความกว้างประมาณ 1/3 ของกระดาษแข็งดังรูปที่ 13.1 แล้วแปะกระดาษตะกั่วเข้ากับกระดาษแข็งด้วยเทปกาวสองหน้าอย่างบางดังรูปที่ 13.2 เวลาใช้งานก็เพียงกดส่วนล่างของกระดาษแข็งที่ติดกระดาษตะกั่วเอาไว้ จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้

(14) ติดตั้งอุปกรณ์ทุกชิ้นลงในกล่องให้เรียบร้อยดังรูปที่ 14 ทดลองเปิดปิดฝากล่องเข้าออก ฝากล่องต้องเปิดปิดได้สะดวกไม่ติดขัดแม้แต่นิดเดียว ก็เป็นอันใช้ได้

(15) นำตุ๊กตากระดาษที่เตรียมไว้มาติดตั้ง ในที่นี้ผมใช้ตุ๊กตากระดาษ DARwin-OP ที่ทาง INEX และ TPE จัดทำขึ้นสำหรับแจกลูกค้า โดยใช้เทปใสแปะส่วนหัวของตุ๊กตาเข้ากับฝากล่องด้านในดังรูปที่ 15.1 เพียงเท่านี้ก็ได้ของขวัญสุดพิเศษที่ไม่มีขายที่ไหนหรือจะเอาไว้ให้เจ้าเหมียวที่บ้านเล่นก็ยัง

การใช้งาน
การใช้งานก็เพียงเปิดสวิตช์แล้ววางชุดแขนดันฝากล่องลงไปจากนั้นก็กดสวิตช์ RUN ด้านหลังปล่อยให้เจ้าตุ๊กตาตัวน้อยคอยแอบมองผู้คน แต่อย่าส่งเสียงดังนะเดี๋ยวจะวิ่งหนีเตลิดไปกันใหญ่

เอาล่ะครับคราวนี้ก็จะได้มีของขวัญน่ารักๆ เอาไว้สร้างความประหลาดใจให้เด็กๆ หรือคนพิเศษของคุณกันแล้ว ทั้งภูมิใจ และที่สำคัญไม่เหมือนใครแน่นอน ลองสร้างตามกันดูนะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Electronics Arts Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

โคมไฟสไตล์อาร์ตๆ ปิดเปิดอัตโนมัติ

โคมไฟเก๋ๆ หน้าตาประหลาด ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่จะทำให้คุณลืมโคมไฟตัวเก่าที่บ้านของคุณไปเลย! ด้วยการตรวจจับความเคลื่อนไหวของคุณยามต้องลุกจากเตียงไปทำภาระกิจส่วนตัวยามดึก และเมื่อคุณกลับมานอนตามเดิมมันก็จะค่อยๆหรี่แสงลงจนเหลือเพียงแสงสีน้ำเงินกล่อมคุณนอนสักครู่และจะดับไปเอง เจ๋งมั้ยล่ะ ถ้าชอบแล้วเรามาดูอุปกรณ์ที่ต้องใช้กันเลย

รายการอุปกรณ์
1. แผงวงจร i-BOX
2. ต้วต้านทาน 22Ω 1W 2 ตัว
3. LED สีขาว ขนาด 8 มม. 21 ดวง
4. LED สีน้ำเงิน ขนาด 8 มม. 21 ดวง
5. ZX-02 แผงวงจรตรวจจับแสง(คลิกสั่งซื้อ)
6. ZX-PIR โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว(คลิกสั่งซื้อ)
7. แจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียแบบติดตั้งบนหน้าปัด
8. สวิตช์กดติดปล่อยดับแบบติดตั้งบนหน้าปัด
9. ถ้วยกระดาษจำนวน 22 ใบ
10. ลูกบอลพลาสติกแข็ง ขนาดกลาง
11. ขาตั้งกล้องถ่ายภาพขนาดกลาง (คลิกสั่งซื้อ)
12. ชิ้นต่อพลาสติกแบบฉาก 6 ชิ้น และแบบตรง 3 ชิ้น
13. กระปุกพลาสติกแบบมีฝาปิด
14. แผ่นพลาสวูดขนาดขึ้นกับขนาดของกระปุกพลาสติก
15. นอต 6 มม.
16. สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็ก
17. ปืนยิงกาวร้อน(คลิกสั่งซื้อ)
18. กาวแท่ง
19. สายไฟขนาดเล็ก
20. เทปพันสายไฟหรือท่อหด
21. กาวสองหน้าอย่างหนา
22. อะแดปเตอร์ไฟตรง 4.5 หรือไม่เกิน 6V

การสร้าง
(1) คว้านลูกบอลให้มีขนาดเท่ากับกระปุกพลาสติกจะได้ช่องวงกลมที่สามารถใส่กระปุกพลาสติกเข้าไปได้ดังรูปที่ 1


(2) นำก้นถ้วยกระดาษมาวางทาบแล้วใช้ดินสอวาดลงไปบนลูกบอลให้ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนทั่วลูกบอล โดยให้ขอบของรูปวงกลมชิดกัน เมื่อวาดจนทั่วแล้วเราก็จะได้จำนวนของถ้วยกระดาษและ LED ที่ต้องใช้จริง โดยใช้ LED สีขาวกับสีน้ำเงินอย่างละครึ่งของจำนวน LED ทั้งหมด จากนั้นทำการเจาะรูบริเวณกึ่งกลางของรูปวงกลมทั้งหมดที่วาดไว้ ดังรูปที่ 2.1 เสร็จแล้วมาเจาะรูขนาดเล็กที่ก้นถ้วยกระดาษ 2 รู พอให้ขา LED สอดเข้าไปได้ดังรูปที่ 2.2 จากนั้นเสียบ LED เข้าไปด้านในของถ้วยดังรูปที่ 2.3 แล้วยึด LED เข้ากับถ้วยกระดาษด้วยปืนกาวดังรูปที่ 2.4

(3) บัดกรีสายไฟเส้นเล็ก 2 เส้นเข้ากับขา LED และใช้ปากกาเมจิกแต้มสีไว้ที่ปลายข้างหนึ่งของสายไฟข้างที่เป็นขั้วลบดังรูปที่ 3.1 จากนั้นใช้เทปพันสายไฟพันจุดบัดกรีเพื่อป้องกันการลัดวงจรดังรูปที่ 3.3

(4) สอดปลายสายไฟเข้าไปในรูของลูกบอล แล้วยึดถ้วยกระดาษที่ติดตั้ง LED เข้ากับลูกบอลด้วยปืนยิงกาวร้อนดงรูปที่ 4 สำหรับการติดตั้งถ้วยบนลูกบอลนั้นให้สลับสีของ LED ทั้งสองสีไปมา

(5) เมื่อสอดสายเข้าลงมาในลูกบอลและติดตั้งถ้วยจนครบแล้ว ให้แบ่งสายไฟออกเป็น 2 ชุด โดยเป็นของ LED สีขาว 1 ชุด อีกชุดเป็นของ LED สีน้ำเงิน แล้วปอกสายเพื่อบัดกรีสายของแต่ละชุดแยกกันไว้ นำตัวต้านทาน 22Ω 1W บัดกรีคั่นระหว่างขาแอโนด (ขั้วบวก) ของ LED กับสายต่อมอเตอร์ดังรูปที่ 5

(6) ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ให้มีขนาดพอดีกับฝาของกระปุกพลาสติก จากนั้นเจาะรูตรงกลางแผ่นพลาสวูดให้มีขนาดเท่ากับนอต 6 มม. ใส่นอตเข้ากับแผ่นพลาสวูดแล้วยึดด้วยปืนยิงกาว

(7) เจาะรูที่แผ่นพลาสวูดเพื่อติดตั้งแจ็กอะแดปเตอร์และเจาะรูที่ฝาของกระปุกพลาสติกให้มีขนาดใหญ่กว่าแจ็กอะแดปเตอร์เล็กน้อย จากนั้นยึดแจ็กอะแดปเตอร์เข้ากับแผ่นพลาสวูดด้วยปืนกาวดังรูปที่ 7

(8) ประกอบชิ้นต่อพลาสติกแบบฉากและแบบตรงเข้าด้วยกัน จำนวน 3 ชิ้น เพื่อเป็นฐานรองแผงวงจร i-BOX 3.0 จากนั้นยึดชิ้นต่อพลาสติกเข้ากับฝากระปุกด้านในด้วยสกรูเกลียวปล่อยตัวเล็ก จากนั้นยึดแผ่นพลาสวูดที่มีแจ็กอะแดปเตอร์กับนอต 6 มม. ติดตั้งอยู่เข้ากับฝากระปุกพลาสติกด้านนอก ดังรูปที่ 8

(9) ต่อสายสวิตช์ RUN ของแผงวงจร i-BOX 3.0 ออกมาด้านนอกเพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยบัดกรีสายไฟเส้นเล็กเข้ากับสวิตซ์กดติดปล่อยดับดังรูปที่ 9.1 จากนั้นบัดกรีปลายสายไฟอีกด้านคร่อมกับสวิตช์ RUN บนแผงวงจร i-BOX 3.0 ดังรูปที่ 9.2 เจาะรูลูกบอลให้มีขนาดพอดีกับสวิตซ์กดติดปล่อยดับแล้วติดตั้งลงไปดังรูปที่ 9.3 และ 9.4

(10) ติดตั้งแผงวงจร i-BOX 3.0 เข้ากับฐานรองด้วยกาวสองหน้าดังรูปที่ 10.1 จากนั้นเจาะรูด้านข้างของกระปุกพลาสติกเพื่อสอดสายของแผงวงจรตรวจจับเข้ามาดังรูปที่ 10.2

(11) เจาะรูลูกบอลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. จำนวน 2 รู เพื่อติดตั้งแผงวงจรตรวจจับแสง (ZX-02) และโมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว (ZX-PIR) โดยให้สายสัญญาณลอดรูลงไปแล้วสอดเข้ากับรูด้านข้างของกระปุกพลาสติกดังรูปที่ 11.1 จากนั้นเสียบสายของแผงวงจรตรวจจับแสงเข้ากับช่อง sensor0 และเสียบสายของโมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหวเข้ากับช่อง sensor3 เสียบสายต่อ LED สีขาวกับช่อง MotorA และสีน้ำเงินกับช่อง MotorB เชื่อมต่อสายไฟเลี้ยงจากแจ็กอะแดปเตอร์เข้ากับเทอร์มินอลบล็อกให้อยู่ในลักษณะบวกในลบนอก ดูการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดได้ในรูปที่ 12 สุดท้ายเปิดสวิตช์เพาเวอร์บนแผงวงจร i-BOX 3.0 ไว้ ปิดฝากระปุกพลาสติกให้เรียบร้อย สอดกระปุกพลาสติกเข้าไปในตัวโคมไฟ

(12) เจาะก้นถ้วยกระดาษนำไปครอบโมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหวดังรูปที่ 13 เพื่อจำกัดทิศทางในการตรวจจับความเคลื่อนไหว หากไม่ครอบเอาไว้เวลาเรานอนดิ้นไปมาตัวโมดูลจะตรวจพบความเคลื่อนไหวของเราได้

(13) ติดตั้งโคมไฟเข้ากับขาตั้งกล้องโดยการประกบแป้นขาตั้งกล้องเข้ากับนอตที่ฝังไว้ที่แผ่นพลาดวูดแล้วขันล็ฮกให้แน่นดังรูปที่ 14

ดาวน์โหลดโปรแกรม
เริ่มจากการเปิดโปรแกรม Logo Blocks ขึ้นมา แล้วลากบล็อกตามรูปที่ 15 เสร็จแล้วเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 4.5V จ่ายไฟให้กับระบบ จากนั้นเสียบสาย CX-4 เข้ากับแผงวงจร i-BOX 3.0 เพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมลงไป กดสวิตช์ RUN โคมไฟก็จะเริ่มทำการตรวจสอบเงื่อนไขของโปรแกรม แล้ว

การทำงานของโปรแกรม
เนื่องจากเจ้า Afro Lighting มีการตรวจจับที่สำคัญอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ ตรวจสอบสภาพแสงว่ามืดหรือไม่ และตรวจสอบความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นการตรวจสอบจึงแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลักดังนี้

ส่วนที่ 1
เริ่มด้วยการตรวจสอบสภาพแสงด้วยแผงวงจรตรวจจับแสง ที่จุดต่อ sensor0 ว่ายังมีแสงสว่างอยู่หรือไม่ หากยังมีแสงสว่างโปรแกรมจะไปทำงานที่บล็อกคำสั่ง ab, off และวนตรวจสอบไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบว่าสภาพแสงมืดลง ในส่วนนี้บางบ้านอาจมีระบบตั้งเวลาปิดไฟอัตโนมัติหากตรวจสอบแค่มืดแล้วโคมไฟติดก็จะทำให้โคมไฟสว่างโดยไม่จำเป็น จึงมีการตรวจสอบเงื่อนไขเพิ่มเติมก็คือมีความเคลื่อนไหวที่จุดต่อ sensor3 หรือไม่ หากพบการเคลื่อนไหวด้วยก็แสดงว่าเงื่อนไขเป็นจริง โปรแกรมจึงสั่งให้มีการจ่ายไฟออกมาที่พอร์ตของมอเตอร์ a และ b ในขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญเพราะเราจะใช้เทคนิคการตั้งค่ากำลังไฟฟ้า ที่จ่ายออกมาทางช่องต่อมอเตอร์นี้มีระดับพลังงานที่สอดคล้องกับการหน่วงเวลา โดยให้ค่อยๆ ลดกำลังไฟฟ้าลงจน LED ดับลงในที่สุด ระยะเวลาในการขับ LED สามารถแก้ไขค่าหน่วงเวลาได้ตามต้องการเลยค่ะ

ส่วนที่ 2
เป็นการตรวจสอบความเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว เพราะหลังจากโปรแกรมทำงานในส่วนการตรวจจับที่ 1 จบลงแล้ว จะยังไม่วนไปตรวจสอบส่วนที่ 1 เพราะติดคำสั่ง waituntil เพื่อรอจนกว่า sensor3 ตรวจพบความเคลื่อนไหว โปรแกรมจึงสั่งให้จ่ายไฟออกทางช่องต่อมอเตอร์ โดยในส่วนนี้จะให้ความสำคัญกับกำลังไฟฟ้าและการหน่วงเวลาติดสว่างของ LED เป็นพิเศษ เพื่อให้คุณได้รับแสงสว่างในช่วงเวลาที่กำลังเดินออกจากห้องไปทำธุระ และเมื่อคุณกลับเข้ามาในห้องอีกครั้ง โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหวก็จะทำงานอีกครั้ง โคมไฟก็จะติด เพื่อให้คุณได้กลับมายังเตียงนอนอย่างสะดวกสบาย จากนั้นโปรแกรมจะหยุดอยู่ที่คำสั่ง waituntil เพื่อรอตรวจจับความเคลื่อนไหวอีกครั้ง

นี่คืออีกหนึ่งไอเดียในการประยุกต์แผงวงจร i-BOX ที่มากับชุดหุ่นยนต์อัตโนมัติขนาดเล็ก Robo-Circle จากบริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Glow Buddha Shelf

ออกแบบหิ้งพระสไตล์โมเดิร์นที่มีไฟส่องนำทางในยามค่ำคืน แบบเดินผ่านปุ๊บ ติดปั๊บ กับวงจรง่ายๆ ไม่ต้องใช้ไมโครฯ
 
ปัญหาอย่างหนึ่งในยามค่ำคืนที่หลายคนต้องพบเจอก็คือ ความมืด แน่นอนว่าทำให้คุณมองทางและข้าวของที่วางอยู่บนพื้นไม่เห็น ตอนแรกตั้งใจจะทำไฟส่องทางเดินธรรมดาๆ แต่พอชายตาเห็นพระพุทธรูปในบ้านที่วางไว้บนหลังตู้หนังสือที่ดูไม่ค่อยดีเอาเสียเลย งานนี้เลยต้องมิกซ์แอนด์แมทช์กันหน่อย จึงนำไอเดียไฟส่องทางมาผสานกับงานออกแบบหิ้งพระใหม่ ที่มีระบบไฟเปิดปิดอัตโนมัติคอยให้แสงสว่างเราได้ไปในตัว

โดยรูปแบบหิ้งพระที่เราจะสร้างกันก็จะมีลักษณะดังรูปที่ 1 ใช้แผ่น
พลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น รองรับพระพุทธรูปที่มีหน้าตักกว้าง 17 ซม. ได้พอดี แต่แนวคิดนี้คงไม่เหมาะกับบ้านที่มีห้องพระแบบเป็นกิจลักษณะนะครับ แต่เหมาะสำหรับบ้านเล็กๆ หรือห้องพักคอนโดฯ ที่มีพื้นที่จำกัด เรียกว่า รุกยืนปุ๊บ ไฟติดปั๊บ


รูปที่ 1 หิ้งพระที่ต้องการสร้าง

การทำงานของวงจร
จากวงจรรูปที่ 2 เริ่มจากเมื่อ ZX-PIR V2.0 ตรวจจับคนเดินผ่านได้ จะส่งกระแสไฟฟ้าไปจ่ายให้กับทรานซิสเตอร์ Q1 ส่งผลให้รีเลย์ต่อหน้าสัมผัสที่ตำแหน่ง C (commond) และ NC (normal close) เข้าด้วยกัน ทำให้ LED ทั้งชุดส่องพระและชุดส่องแจกันหลอดแก้วติดสว่าง โดยจะติดสว่างไปจนกว่าจะครบการหน่วงเวลาที่ปรับไว้ของ ZX-PIR V2.0 และเมื่อครบเวลาการหน่วงหาก ZX-PIR V2.0 ไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ ZX-PIR V2.0 ก็จะหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ Q1 รีเลย์จะหยุดการต่อหน้าสัมผัส C และ NC ทำให้ LED ทั้งสองชุดดับ

สร้างแผงวงจรควบคุมระบบไฟส่องสว่าง
เริ่มด้วยการเสียบอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์รุ่น uPCB02C ในตำแหน่งตามรูปที่ 3 จุดที่เป็นวงกลมสีแดงคือจุดติดตั้งขาอุปกรณ์ โดยให้ทำการคว้านรูติดตั้ง รีเลย์ และ IC1 ด้วยดอกสว่านขนาด 1 มม. หากไม่มีดอกสว่านอาจใช้ตะปูกดลงไปทั้งด้านบนและด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์จนสามารถเสียบอุปกรณ์ได้ ทำการบัดกรีแล้วเชื่อมต่อจุดเชื่อมต่อต่างๆ บนแผ่นวงจรพิมพ์ให้ครบ จากนั้นให้จัดเตรียมและเชื่อมต่อสายอุปกรณ์ต่อพ่วงต่อไปนี้
สายแจ๊กอะแดปเตอร์ตัวเมีย ใช้สายไฟ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายต่อ ZX-PIR V2.0 ใช้สาย IDC1MF จำนวน 3 เส้น
สายไฟเลี้ยง LED ส่องพระ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายไฟเลี้ยง LED ส่องหลอดแก้ว 2 เส้น ยาวเส้นละ 30 ซม. (2 ชุด)
สุดท้ายเชื่อมต่อจุดบัดกรีของอุปกรณ์ด้านล่างเข้าด้วยกันดังรูปที่ 4

รูปที่ 2 วงจรของหิ้งพระเรืองแสง

 

รูปที่ 3 การจัดวางอุปกรณ์ด้านบนและการเชื่อมต่อด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์

รูปที่ 4 แผ่นวงจรพิมพ์ที่ติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว

ลงมือสร้างหิ้งพระ
เริ่มจากนำแผ่นพลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น มาตัดให้ได้ชิ้นส่วนตามแบบ (ดาวน์โหลดแบบ) ด้วยคัตเตอร์ให้ครบทุกชิ้น จากนั้นลงมือประกอบตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย
(1) นำพลาสวูด L1 และ R1 ประกบกับ T1 ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำ F1 และ B1 ประกบเข้าไปจะได้ส่วนของฐานบนสำหรับวางองค์พระดังรูปที่ 5.3

(2) นำพลาสวูดแผ่น C1 และ C2 มาตัดทำมุม 45 องศาด้วยคัตเตอร์ ดังรูปที่ 6.2 จากนั้นใช้ไดร์เป่าลมร้อนดัดให้โค้งเป็นซุ้ม แล้วติดด้านที่ตัด 45 องศาเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 6.3

คลิกเพื่อชมวิดีโอตัวอย่างการดัดพลาสวูด

(3) นำซุ้มที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 มาติดบนฐานพระดังรูปที่ 7.1 และ 7.2

(4) นำ L2 และ R2 ประกบเข้ากับแผ่น T2 เพื่อสร้างเป็นฐานด้านล่างของหิ้งดังรูปที่ 8.1

(5) เจาะช่องแจกันหลอดแก้วบนแผ่น T2 โดยการนำหลอดแก้วมาทาบและเจาะเป็นช่องด้วยวงเวียนคัตเตอร์ โดยทำทั้งสองข้างของฐานหิ้งดังรูปที่ 9.1 และ 9.2

(6) จับฐานหิ้งหงายขึ้น ติดตั้งแผ่น i1 และ i2 และแผ่น B2 เข้ากับแผ่น T2 ดังรูปที่ 10

(7) บัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 30 ซม. เข้ากับ LED 8 มม. สีขาว ทั้งสองดวงดังรูปที่ 11.1 จากนั้นใช้สว่านเจาะรูที่แผ่น T2 ขนาด 2 มม. แล้วสอดสายไฟออกไปอีกด้าน

(8) นำเศษพลาสวูดทรงกลมที่ถูกตัดจากขั้นตอนที่ 5 มาเจาะรูให้พอดีกับ LED 8 มม. จากนั้นติดตั้งเข้ากับแผ่น B2 โดยให้ LED หงายขึ้นสำหรับส่องหลอดแก้วดังรูปที่ 12.3 ทำเหมือนกันทั้งสองข้างดังรูปที่ 12.3 ยึดพลาสวูดเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน

(9) ทำไฟส่ององค์พระพุทธรูป โดยบัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 10 ซม. เข้ากับ LED แถบอ่อนดังรูปที่ 13.1 ลอกกาวที่แถบ LED ออก แล้วติดที่ฐานของซุ้มดังรูปที่ 13.2 เจาะรู 2 มม. สอดสายไฟเข้าไปด้านในดังรูปที่ 13.3

(10) เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.3 ซม. ที่ด้านหน้าฐานซุ้มสำหรับติดตั้ง ZX-PIR V2.0 จากนั้นเจาะรูติดตั้งแจ็กอะแดปเตอร์ไว้ด้านหลัง นำชุดแผงวงจรตรวจจับลงติดตั้งในกล่อง สำหรับแผงวงจรให้ใช้สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็กขันยึดรูของแผ่นวงจรพิมพ์เข้ากับพลาสวูด ส่วน ZX-PIR V2.0 ยึดด้วยปืนยิงกาว แล้วเชื่อมต่อสายไฟของชุด LED ส่ององค์พระ ส่วนไฟส่องหลอดแก้วให้ต่อตัวต้านทาน 450 โอห์ม คั่นไว้ดวงละ 1 ตัว การต่อดูจากรูปวงที่ 2 ประกอบ เมื่อต่อเสร็จแล้วใช้เทปพันสายไฟพันหุ้มขาและตัวต้านทานให้เรียบร้อยดังรูปที่ 14.5

(11) สุดท้ายประกอบชุดลิ้นชัก เริ่มจากนำแผ่นฝาข้างลิ้นชัก 2 ชิ้น แผ่นฝาท้าย และแผ่นพื้นลิ้นชัก มาประกอบเข้ากับแผ่น F2 ดังรูปที่ 15.1 จะได้ลิ้นชักสำหรับเก็บหนังสือพระธรรม หรือเก็บข้าวของอื่นๆ ดังรูปที่ 15.2

(12) นำแจกันหลอดแก้วเสียบลงในรูทั้งสองด้าน แล้วทำการทดสอบ เริ่มจากเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 9 หรือ 12 V แต่ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ 9 V จะได้แสงสว่างกำลังดี ลองใช้มือเคลื่อนผ่านหน้าหิ้งไฟจะต้องติด และจะดับลงตามการปรับค่าการหน่วงเวลาที่ตัว ZX-PIR V2.0 ก็เป็นอันเสร็จจากนั้นก็นำองค์พระพุทธรูปมาวางได้เลย

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/4 วัตต์
R1 : 1 kΩ
R2.R3 : 450 Ω 2 ตัว
ตัวเก็บประจุอิเล็กทรอไลต์
C1 : 47 µF 25 V
C2 : 220 µF 25 V
อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 : LM2940
Q1 : BC337
D1,D2 : 1N4001 2 ตัว
LED สีขาวแบบแถบอ่อน 2 ชุด (3 ดวง/ชุด)
LED สีขาว 8 มม. 2 ดวง
อื่นๆ
โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR V2.0
รีเลย์ 5 โวลต์
แจ็กอะแดปเตอร์แบบยึดแท่น
สาย IDC1MF 3 เส้น
หลอดแก้วหรือหลอดทดลอง 2 หลอด
พลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. 7 แผ่น
แผ่นวงจรพิมพ์ uPCB02C
เครื่องมือ
กาวร้อน
มีดคัตเตอร์
ปืนยิงกาว
หัวแร้งและตะกั่วบัดกรี
หมายเหตุ : ZX-PIR V2.0, แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ uPCB02C และพลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. มีจำหน่ายที่ www.inex.co.th สอบถามเพิ่มเติมโทร 0-2747-7001-4

แล้วเราก็ได้ของแต่งบ้านชิ้นใหม่ ขั้นตอนอาจจะดูยุ่งยากไปหน่อยแต่ถ้าลงมือปฏิบัติแล้วจะรู้ว่าง่ายมากๆ

อย่างไรก็ตามการบูชาพระพุทธรูปนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อการบนบานสานกล่าวนะครับ เรามีติดบ้านไว้เพื่อระลึกถึงพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้เรานำมาปฏิบัติ เพื่อรู้ตามเห็นตามซึ่งอริยสัจ 4 ยังประโยชน์ให้ถึงซึ่งวิมุตติ ขอให้เจริญในธรรมและสนุกกับการประดิษฐ์ครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Basic electronics คุณทำเองได้ (DIY) บทความ ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์

10 ขั้นตอนทำแผ่นวงจรพิมพ์ต้นแบบ

สำหรับตอนนี้เป็นบทความในเชิงเทคนิคพื้นฐาน เพื่อสร้างแผ่นวงจรพิมพ์สำหรับสร้างเป็นชิ้นงานต้นแบบให้กับสิ่งประดิษฐ์และสินค้าของเรา โดยนำเสนอแบบกระชับด้วยภาพที่ชัดเจน ลองมาทำความเข้าใจกันดูนะครับ แต่ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยทำแล้วโดยเฉพาะผู้ที่ศึกษามาทางสายอาชีวะ

เตรียมอุปกรณ์
1.แผ่น​วงจร​พิมพ์​แบบ​หน้า​เดียวหา​ซื้อ​ได้​จาก​ร้าน​ขาย​อะไหล่​อิเล็กทรอนิกส์
2.แผ่นใส​แบบ​ถ่ายเอกสาร​ได้
3.เฟ​อริก​คลอไรด์ (Ferric Chloride) สาร​สำหรับ​ทำ​สารละลาย​กัด​ทองแดง​หรือ​น้ำยา​กัด​ทองแดง หา​ซื้อ​ได้จาก​ร้าน​ขาย​อะไหล่​อิเล็กทรอนิกส์
4.กระดาษ​ทราย​ละอียดสำหรับ​ทำความ​สะอาด​แผ่น​วงจร​พิมพ์
5.ภาชนะ​พลาสติก​สำหรับ​ใส่น้ำยา​กัด​ทองแดง แนะนำ​ให้​ใช้แบบ​ที่​มี​ลักษณะ​เป็น​ถาด​หรือ​กะบะ ขนาด​ขึ้นอยู่กับ​ขนาด​ของ​แผ่น​วงจร​พิมพ์​ที่​ใช้
6.ปากกา​เคมี​กันน้ำ มี​จำหน่าย​ตาม​ร้าน​เครื่องเขียน​ชั้นนำ
7.เตารีด
8.สว่าน​
9.ดอก​สว่าน​สำหรับ​เจาะ​รู​ใส่​อุปกรณ์ ขนาด 0.8 มม., 1 มม. และ 3 มม. หรือ 1/32 นิ้ว, 1/16 นิ้ว และ 1/8 นิ้ว
10.ยางสน​สำหรับเคลือบ​แผ่น​วงจร​พิมพ์ หา​ซื้อ​ได้​จาก​ร้าน​ขาย​เครื่องมือ​ช่าง​หรือ​ร้านขายยา​แผนโบราณ
11.ทินเนอร์​สำหรับ​ละลาย​ยางสน​

เริ่มขั้นตอนการสร้าง
1.นำลายทองแดงที่ได้ถ่ายเอกสารลงแผ่นใสโดยลาย​ทอง​แดง​ของ​แผ่น​วงจร​พิมพ์​ที่​จะ​นำไป​ถ่าย​ลง​บน​แผ่น​ใส​ ​ต้อง​เป็น​ลาย​ทอง​แดง​ที่​กลับด้าน​จาก​ลาย​ทอง​แดง​ที่​ต้องการ​พิมพ์​ลง​บน​แ​แผ่น​วงจร​พิมพ์​จริง ​ก็หมายความว่าลาย​ทองแดงที่เราได้จากหนังสือ ตามปกติ​แล้ว​เค้า​จะ​กลับ​ด้าน​มา​ให้แล้วสังเกตได้​จาก​ตัวอักษร​ที่​ปรากฏบน​ลาย​ทองแดง​จะ​อ่าน​รู้เรื่อง เมื่อ​นำไป​ถ่ายเอกสาร​ลง​บน​แผ่นใส(หรือใช้เครื่องพิมพ์เลเซอร์ก็ได้)​จะ​ต้อง​บอก​คน​ถ่าย​ให้​ถ่ายกลับกระจก สังเกต​จาก​ตัวอักษร​ที่​ปรากฏบน​ลาย​ทองแดง​จะ​กลับ​ด้าน
2. ใช้​กระดาษ​ทราย​น้ำ​เบอร์​ละเอียด​มาก เช่น เบอร์ 400 ขึ้น​ไป​หรือ​แผ่น​ใย​ขัด​สังเคราะห์ (แผ่น​สก็อต​ไบรต์) มาขัด​ทำความ​สะอาด​แผ่น​วงจร​พิมพ์​ด้วย​ผงซักฟอก​หรือ​น้ำยา​ล้างจาน จน​ไม่มี​ออกไซด์หรือ​คราบ​สกปรก​หลงเหลือ
3.นำ​แผ่นใส​ประกบ​เข้ากับ​แผ่น​วงจร​พิมพ์ โดย​นำ​ด้าน​ที่​มี​หมึก​พิมพ์​ของ​แผ่นใส​ประกบ​เข้ากับ​ด้าน​ทองแดง​ของ​แผ่น​วงจร​พิมพ์ แล้วใช้​เทปใส​ยึด​ให้​แน่น เพื่อกัน​แผ่นใส​เลื่อนดังรูปด้านล่างนี้

4. รีด​แผ่นใส​ด้วย​เตารีด (อ้อ เสียบปลั๊กด้วยนะครับ) โดยก่อนรีด​ให้ใช้ผ้า​เรียบ​บางๆ วาง​ทับแผ่นใส​​ไว้เพื่อ​ป้องกัน​ความ​ร้อน​จะทำให้แผ่นใสละลายได้​ ความ​ร้อน​จาก​เตารีด​จะ​ทำให้​หมึก​พิมพ์บน​แผ่นใส​​หลุด​ออก​ไป​ติด​บน​แผ่น​วงจร​พิมพ์​แทน รีด​จน​แน่ใจ​ว่า​ลาย​ทองแดง​ทั้งหมด​หลุด​ไป​ติด​ที่​แผ่น​วงจร​พิมพ์​ แล้วจึงลอกแผ่นใสออกมาดังรูป

5. ตรวจดูความสมบูรณ์ของลายบนแผ่นวงจรพิมพ์อีกครั้ง หากพบว่าลายบางส่วนขาดหายไปให้ทำการซ่อมแซมด้วยปากกาเคมีแบบกันน้ำเช่นปากกาสำหรับเขียนแผ่นซีดี

6. นำ​กรดกัดปริ้นท์หรือเฟ​อริก​คลอไรด์ มาผสม​น้ำลง​ใน​ภาชนะ​พลาสติก ห้าม​ใช้​ภาชนะ​ที่​เป็น​โลหะ​อย่าง​เด็ดขาด โดย​ถ้า​ผสม​เข้มข้น​จะ​ใช้เวลา​ใน​การ​กัด​ทองแดง​น้อยลง หรือ​อาจ​ใช้​น้ำยา​กัด​แผ่น​วงจร​พิมพ์ของ Future kit ซึ่ง​มี​จำหน่าย​ใน​ร้าน​ขาย​อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​ย่าน​บ้าน​หม้อ​ก็ได้ซึ่ง​จะ​สะดวก​กว่า​มาก​เพราะ​สามารถ​ใช้ได้​ทันที

7. นำ​แผ่น​วงจร​พิมพ์​ที่​ต้องการกัดลาย จุ่ม​ลง​ไปจากนั้น​เขย่า​ภาชนะ​​เบาๆ จนลาย​ทองแดง​ส่วน​ที่​ไม่​ต้องการ​ออก​หมด ก็จะ​ได้แผ่น​วงจร​พิมพ์​ที่​กัด​ลาย​เสร็จ​เรียบร้อย ดัง​​รูป แล้วนำ​แผ่น​วงจร​พิมพ์​ที่​กัด​ลาย​เสร็จ​แล้ว ล้างด้วย​น้ำสะอาด

ข้อ​ควร​ระวัง​คือ ห้าม​เอา​มือ​จุ่ม​ลง​ใน​สารละลาย เพราะ​อาจจะ​เกิด​อาการ​แพ้และ​เป็น​ผื่น​แดง​ได้ หาก​สารละลาย​หรือ​น้ำยา​กระเด็น​โดน​มือควร​รีบ​ล้าง​ทันที​ด้วย​น้ำสะอาดทันที

8. เตรียม​ดอก​สว่าน​ขนาด 0.8 หรือ 0.9 มม. หรือ 1/32 นิ้ว เจาะรู​สำหรับ​ติดตั้ง​อุปกรณ์​บน​แผ่น​วงจร​พิมพ์ หาก​เป็น​รู​ของ​ตัว​ต้านทาน​ขนาด 1/4 วัตต์, ตัว​เก็บ​ประจุ, ซ็อกเก็ต​ไอซี, ทรานซิสเตอร์​กำลัง​ต่ำ ควร​ใช้ดอก​สว่าน​ขนาด 0.8 หรือ 0.9 มม. หรือ 1/32 นิ้ว ถ้า​เป็น​ไดโอด, ทรานซิสเตอร์​กำลัง​สูง, ไอซี​เรกูเลเตอร์ หรือ​คอ​นเน็กเตอร์ ควร​ใช้​ดอก​สว่าน 1 มม. หรือ 1/16 นิ้ว และ​รู​สำหรับ​ยึด​แผ่น​วงจร​พิมพ์​ควร​ใช้​ดอก​สว่าน​ขนาด 3 มม. หรือ 1 หุน

9. ​ใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดที่เตรียมไว้​ขัดหมึก​พิมพ์​ออก โดย​ให้​ขัดเบาๆ เพื่อ​ไม่ให้​​ลาย​ทองแดง​เสียหาย หรือ​อาจ​ใช้​ทินเนอร์​เช็ด​ออก​ก็ได้ สุดท้ายล้างด้วย​น้ำยา​ล้างจาน​และ​​น้ำสะอาด ​เช็ดให้แห้ง

10. นำ​ยางสน​มา​ละลาย​กับ​ทินเนอร์​เพื่อ​ทำเป็น​น้ำยา​เคลือบ​ลาย​ทองแดงกันสนิม​และ​ช่วย​ใน​การ​บัดกรี แต่​ปัจจุบัน​มี​การ​จำหน่าย​น้ำยา​เคลือบ​แผ่น​วงจร​พิมพ์สำเร็จรูป ลองหาดูแถว​ร้าน​ที่​จำหน่าย​แผ่น​วงจร​พิมพ์​และ​น้ำยา​กัด​ลาย​ทองแดง จากนั้นใช้​แปรง​ทาสีขนาดเล็กจุ่ม​ยางสน​ที่​ละลายแล้วทาลงบนลายทองแดงให้ทั่วจากนั้นทิ้งไว้ให้แห้ง เพียง 10 ขั้นตอน เราก็จะได้แผ่นวงจรพิมพ์สำหรับสิ่งประดิษฐ์ของเราแล้วครับ​

อย่างไรก็ตามยังมีแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับงานต้นแบบมากมาย ช่วยให้งานต้นแบบของคุณเสร็จได้อย่างรวดเร็ว ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ขอบคุณเนื้อเรื่องและภาพประกอบจากนิตยสาร The Prototype Electronics


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Exit mobile version