Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Alarm Touch

สร้างสิ่งประดิษฐ์อันน่าฉงน แค่สัมผัสเส้นด้ายก็ส่งเสียงเตือน ไม่ต้องใช้เซนเซอร์อะไรให้ยุ่งยาก ติดตั้งเข้ากับกระเป๋าสะพายของน้องหนูกันหาย ใครหยิบเป็นต้องร้อง ดีมั้ยล่ะครับ หรือจะเอาไปแขวนไว้ที่ลูกบิดประตู
พอใครมาจับลูกบิด ก็จะส่งเสียงเพลงเตือนไม่ต้องเคาะประตูเลย

บ่อยครั้งที่บุตรหลานของท่าน มักประสบกับปัญหาของในกระเป๋าหายขณะอยู่ที่โรงเรียน ในเมื่อเราแก้ที่คนอื่นไม่ได้ ก็มาคิดวิธีเตือนง่ายๆ กันดีกว่า มองไปมองมา เจอด้ายนำไฟฟ้าที่ยังเหลืออยู่บนโต๊ะทำงาน เลยปิ๊งไอเดียในการใช้ด้ายนำไฟฟ้ามาเย็บไว้กับกระเป๋าในส่วนที่คนจะต้องจับ ก็คือหูหิ้ว แล้วก็ออกแบบวงจรอีกนิดหน่อยที่สามารถตรวจจับการสัมผัสได้ เพื่อซ่อนไว้ในกระเป๋า แล้วเอาด้ายนำไฟฟ้ามามัดเอาไว้ตรวจจับ

การทำงานของวงจร
จากวงจรในรูปที่ 1 เริ่มจากแหล่งจ่ายไฟที่ได้มาจากแบตเตอรี่ 4 ก้อนได้แรงดัน 6V ทำหน้าที่เลี้ยงวงจรทั้งหมดรวมทั้ง IC1 เบอร์ LM555 ที่ทำหน้าที่ 2 ประการด้วยกันคือ รับการกระตุ้นจากการสัมผัสและหน่วงเวลาเพื่อให้ไอซีเสียงเพลงทำงานด้วยระยะเวลาที่ต้องการ


รูปที่ 1 วงจรสมบูรณ์ของ Alarm Touch

ส่วนรับการกระตุ้นจากการสัมผัสจะมีตัวต้านทาน R1 และตัวเก็บประจุ C1 ต่อเป็นวงจรกรองความถี่ต่ำผ่าน เพื่อไม่ให้วงจรทำงานเมื่อเกิดสัญญาณรบกวนจากภายนอก เมื่อได้รับการกระตุ้น IC1 จะให้ขา 3 มีลอจิกเป็น “1” (แรงดันใกล้เคียงไฟเลี้ยง ) เป็นระยะเวลาประมาณ 11 วินาที ซึ่งคำนวณมาจากสูตรการหาค่าคาบเวลาของไอซี LM555

ค่าคาบเวลา = 1.1 x R2 x C2
แทนค่า C2 = 100 µF = 100 x 10-6
R2 = 100 kΩ
ค่าคาบเวลา = 1.1 x (100 x 10-6) x (100 x 103 )
= 11 วินาที

ซึ่งค่าคาบเวลานี้จะใช้เพื่อจ่ายไฟให้กับ IC2 ไอซีเสียงเพลงเบอร์ UM66 ขับเสียงเพลงไประยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะหยุดทำงาน โดยปกติไอซี UM66 สามารถขับลำโพงได้ทันทีโดยไม่ต้องต่อวงจรเพิ่ม แต่เสียงจะดังเบาเกินไปในที่นี้จึงใช้ทรานซิสเตอร์ Q1 เบอร์ BC547 ทำหน้าที่ขยายสัญญาณเสียง โดยมีตัวต้านทาน R3 ทำหน้าที่จำกัดกระแส

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/4w ±5% หรือ ±1%
R1 : 10kΩ 1 ตัว
R2 : 100kΩ 1 ตัว
R3 : 4.7kΩ 1 ตัว

ตัวเก็บประจุ
C1 : 33pF เซรามิก 1 ตัว
C2 : 100μF 16V อิเล็กทรอไลต์ 1 ตัว

อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 : ไอซี LM555 1 ตัว
IC2 : ไอซีเสียงเพลง UM66 1 ตัว
Q1 : ทรานซิสเตอร์ BC547 1 ตัว

อื่นๆ
ซ็อกเก็ตไอซี 8 ขา 1 ตัว
ลำโพง 0.5Ω 8W 1 ตัว
กะบะถ่านขนาด AAA 4 ก้อน 1 ตัว
แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ 1 แผ่น

การสร้าง
จากวงจรที่ไม่ซับซ้อน ใช้แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แผ่นเดียวก็เพียงพอ ก่อนอื่นหาแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ลักษณะดังแสดงในรูปที่ 2 ใช้สว่านเซาะเอาลายทองแดงออกบางส่วน จากนั้นตัดแผ่นวงจรพิมพ์ให้ครอบคลุมลายทองแดงตามเส้นประก็จะได้ขนาดที่เราจะนำไปใช้ลงอุปกรณ์


รูปที่ 2 ตัดแผ่นวงจรพิมพ์ตามเส้นประ (ด้านลายทองแดง)


รูปที่ 3 แสดงตำแหน่งการวางอุปกรณ์และการตัดลายทองแดง

การติดตั้งอุปกรณ์ลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ เริ่มจากลวดจั๊มก่อน แนะนำให้ใช้ขาของตัวต้านทาน แต่สำหรับจุดที่อยู่ใกล้กันมากๆ อาจใช้ตะกั่วถมลายทองแดงทั้งสองข้างให้เชื่อมถึงกันก็ได้ อ้อ อย่าลืมบัดกรีสายต่อระหว่างขา 8 และขา 4 ของไอซี LM555 ที่แผ่นวงจรพิมพ์ด้านล่างด้วยนะครับ

จากนั้นบัดกรีตัวต้านทาน,ตัวเก็บประจุ,ซ็อกเก็ตไอซี,ไอซี UM66 และทรานซิสเตอร์ตามลำดับ แล้วจึงค่อยบัดกรีสายไฟที่เชื่อมต่อไปยังกะบะถ่าน และลำโพง สุดท้ายให้ใช้ขาอุปกรณ์ทำเป็นห่วงดังรูปที่ 4 ตรงจุดสัมผัส จัดวางอุปกรณ์ทั้งหมดลงบนแผ่นเพลตพลาสติกเพื่อให้เป็นชิ้นเดียวกันจะได้สะดวกเวลานำไปใส่ในกระเป๋า

รูปที่ 4 การต่ออุปกรณ์เพื่อนำไปใช้งานจริง

จับ Alarm Touch ลงกระเป๋า
(1) เริ่มด้วยการหากระเป๋าใบเก่งของน้องหนู จากนั้นหาเศษผ้าที่มีสีโทนเดียวกันมาทำซองผ้าให้กับแผงวงจร อย่าลืมเย็บเก็บชายผ้ากันมันหลุดลุ่ยด้วย


รูปที่ 5 เย็บเป็นถุงผ้า

(2) เย็บ​แถบ​ตีนตุ๊กแก​ติด​ไว้​ด้านหลัง​ของ​ซอง​ผ้า​และ​อีก​ชิ้น​ที่​เป็น​คู่​ของ​มัน​ก็​เย็บ​ติด​ไว้​ด้านใน​ของ​กระเป๋า​ดัง​รูป​ที่ 6


รูปที่ 6 เย็บตีนตุ๊กแกติดซองผ้าและด้านในกระเป๋า

(3) นำ​ผ้า​มา​เย็บ​เป็น​ปลอกหุ้ม​ที่จับ​ของ​กระเป๋า​ส่วน​ที่​เอา​ไว้​หิ้ว​นั่นแหละ​ครับ แล้ว​ใช้​แถบ​ตีนตุ๊กแก​ติด​อีก​เช่นเคย แต่​ที่​พิเศษ​หน่อย​ก็​คือ​ให้​ใช้​ด้าย​นำ​ไฟฟ้า​เย็บ​เดิน​แนว​ดัง​รูป​ที่ 7 เหลือ​ปลาย​ด้าย​นำ​ไฟฟ้า​ให้​ยาว​ประมาณ 15 ซม.


รูปที่ 7 หุ้มปลอกผ้าตรงหูจับของกระเป๋า

(4) ร้อยปลายด้ายนำไฟฟ้าที่เหลือไว้เข้ากับเข็มเย็บผ้าเบอร์ 7 แทงทะลุกระเป๋าเข้าไป เพื่อนำไปผูกกับขาอุปกรณ์ที่ทำเป็นห่วงไว้บนแผงวงจร เป็นอันเสร็จสิ้น


รูปที่ 8 ผูกด้ายนำไฟฟ้าที่แทงทะลุเข้ามาในกระเป๋าเข้ากับห่วงบนแผงวงจรที่ทำไว้

(5) ใส่แบตเตอรี่ขนาด AAA 3 ก้อนลงในกะบะถ่านให้เรียบร้อย แล้วใส่แผงวงจร Alarm Touch เข้าไปในถุงผ้า แปะเข้ากับตีนตุ๊กแกที่เย็บไว้ในขั้นตอนที่ 2


รูปที่ 9 สอดแผงวงจรที่ผู้ด้ายนำไฟฟ้าแล้วเข้าไปในถุงผ้า


รูปที่ 10 รูปหลังจากติดถุงผ้าเข้าไปในกระเป๋าแล้ว

ประโยชน์ในการนำไปใช้งาน
(1) นำไป​แขวน​ไว้​กับ​ลูกบิดประตู​เมื่อ​มี​คน​มา​จับ​ลูกบิดประตู​อีก​ด้าน​หนึ่ง วงจร​ก็​จะ​ส่งเสียง​เพลง​ทำให้​เรา​รู้ว่า​มี​คน​กำลัง​จะ​มาเยี่ยม​แล้ว

(2) ใช้ในที่ส่วนรวม เช่น วางไว้ในล็อกเกอร์ หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีชอบมารื้อของในกระเป๋า พอจับที่หูหิ้วของกระเป๋า Alarm Touch ก็จะส่งเสียงให้เรารู้ตัว

เพียงแค่​วงจร​ง่ายๆ กับ​อุปกรณ์​ไม่​กี่​ตัว​แถม​ยัง​ไม่​ต้อง​ทำ​แผ่น​วงจร​พิมพ์ ก็​สามารถ​สร้าง​เป็น​อุปกรณ์​เตือน​คน​มือบอน​ได้​แล้ว​ครับ


 

Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

Pillow Speaker

สำหรับผู้ที่รักในเสียงเพลง ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ ก็มักจะมีหูฟังคอยฟังเพลงอยู่ตลอดเวลา แล้วในยามนอนล่ะจะฟังอย่างไร ไอ้ครั้นจะใส่หูฟังนอนก็ไม่สะดวกเท่าไร  แต่ถ้าจะเปิดเครื่องเสียงล่ะก็ อาจจะเสียงดังเกินไป
จนรบกวนคนรอบข้างที่นอนอยู่ แล้วจะทำยังไงดีล่ะ นี่คือทางออกของผู้ที่รักเสียงเพลงครับ “Pillow Speaker” หรือหมอนลำโพงนั่นเอง จะใช้หนุนนอนเหมือนหมอนธรรมดาก็ได้ หรือจะใช้ฟังเพลงระหว่างนอนก็ดี แล้วเขาทำกันยังไงล่ะ ตามมาทางนี้เลย…

คิดแล้วยังเสียดายหูฟังคู่เก่งของกระผมไม่หาย ที่นอนทับจนสายขาด แต่จะโทษใครได้ล่ะก็ต้องโทษตัวเองนี่แหละ ที่อยากฟังเพลงก่อนนอน หากใครเคยเจอเรื่องแบบนี้ คงต้องหันมาดูไอเดียนี้กันแล้วครับ

Pillow Speaker สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องมีทักษะอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงลึกก็ทำได้แล้วครับ และที่สำคัญมันใช้งานได้ค่อนข้างดีทีเดียว เพราะขณะเราเอนศีรษะลงหมอน น้ำหนักศีรษะของเราจะกดหมอนลงไป ทำให้หูฟังที่ติดตั้งไว้ด้านในจะนูนขึ้นมาใกล้กับหูของเรา ทำให้สามารถได้ยินเสียงดนตรีได้อย่างชัดเจน แต่หากศีรษะใครเล็กก็หาหมอนที่มีขนาดไม่ใหญ่นักเวลานอนจะได้พอดี ลองมาดูการประดิษฐ์กันเลยครับ

เตรียมอุปกรณ์กันก่อน

รูปที่ 1 อุปกรณ์กองอยู่ตรงหน้าเตรียมลุย

1.หมอน ขนาดตามที่ต้องการ จำนวน 1 ใบ
2.หูฟังแบบครอบศรีษะ จำนวน 1 อัน
(จะใช้หูฟังเก่าที่ไม่ใช้แล้วก็ได้)
3.แจ็คสเตอริโอ ขนาด 3.5 ม.ม. จำนวน 1 ตัว
4.เข็มและด้าย (ด้ายให้ใช้สีตามสีพื้นของหมอน)
5.คัตเตอร์
6.กรรไกร
7.หัวแร้งและตะกั่วบัดกรี
8.ปลอกหมอน (แบบตามชอบ)
9. สายรัด

ขั้นตอน​การ​สร้าง​หมอน​ลำโพง
(1) ​นำ​หูฟัง​แบบ​ครอบ​ศีรษะ​ที่​เตรียมไว้​มา​ทำการ​แยก​เอา​ส่วน​ของ​ลำโพง​ออก​จากที่​ครอบ​


รูปที่ 2 หูฟังแบบครอบซื้อมือสองมาจากบ้านหม้ออันละ 30 กว่าบาท


รูปที่ 3 แยกส่วนประกอบหูฟังแบบครอบศีรษะ

(2) เมื่อ​แยกส่วน​หูฟัง​แล้ว จากนั้น​ก็​ทำการ​เลาะ​ตะเข็บ​ด้าน​ข้าง​ของ​หมอน​ออกด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อ​นำ​หูฟัง​เขัาไป​ติดตั้ง โดย​ใช้​คัตเตอร์​ค่อยๆ เลาะ​ด้าย​ออกมา


รูปที่ 4 เลาะตะเข็บข้างหมอนออกข้างใดข้างหนึ่ง

(3) สอด​หูฟัง​ที่​แยก​ไว้แล้ว เข้าไป​ติด​ด้านใน​ของ​หมอน โดยกะระยะให้หูฟังอยู่ 2 ด้านของศีรษะด้วยการทดลองกดตรงกลางหมอนหรือจะลองหนุนเพื่อทิ้งน้ำหนักของศีรษะลงตรงกลางหมอนเลยก็ดี จะทำให้เรารู้ระยะที่เหมาะสมของการติดตั้งหูฟัง เมื่อได้ตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วก็​ทำการ​ใช้ด้ายเย็บ​หูฟังติดกับหมอน เพื่อ​ไม่​ให้​หูฟัง​เลื่อนไป​มาได้


รูปที่ 5 หูฟังล่อนจ้อนเตรียมซุกในหมอน


รูปที่ 6 สอดเข้าไปในตำแหน่งเหมาะๆ


รูปที่ 7 เย็บหูฟังติดกับหมอน

(4) ​เก็บสายไว้ตามแนวตะเข็บขางหมอน แล้วปล่อยสายหูฟังออกมาด้านนอก ก่อนเย็บปิดผมใช้สายรัดล็อกสายสัญญาณส่วนที่อยู่ด้านใน เพื่อป้องกันสายหูฟังขาดเพราะอาจมีคนมาดึงปลายสาย (โดยเฉพาะแม่บ้านของกระผม) จากนั้นใช้ด้ายเย็บ​ปิดด้าน​ข้าง​ของ​หมอน​ให้สนิท


รูปที่ 8 สอดสายปลายสายหูฟังออกแล้วเย็บปิด

(5) เสร็จแล้วก็หาปลอกหมอนมาสวม หรืออาจวาดลวดลาย​บนปลอก​หมอน​ตามต้องการ โดย​ใช้​สี​สำหรับ​ย่อม​ผ้า เพื่อ​ความ​คงทน

(6) บัดกรีแจ็กสเตริโอตัวผู้ขนาด 3.5 มม. ที่ปลายสายสัญญาณก็เป็นอันพร้อมใช้แล้วครับ

การใช้งาน
แทบไม่ต้องอธิบาย ก็เสียบแจ๊กเข้ากับเครื่องเล่นเพลง แต่คุณภาพเสียงอาจไม่ดังสะใจเท่าการครอบกับหูโดยตรง แต่ยังไงก็สะดวกกว่าการครอบหูนอนก็แล้วกัน เพราะไม่มีสายเกะกะรุงรังกวนใจนะจะบอกให้


 

Categories
Gadget คุณทำเองได้ (DIY)

Brake lamp Tester

หากคุณอยากรู้ว่าไฟเบรคของคุณทำงานปกติหรือไม่ คุณจะต้องทำอย่างไร?

คำตอบอยู่ที่นี่แล้วครับ ด้วยนวัตกรรมใหม่แห่งมนุษยชาติได้กำเนิดขึ้นแล้วที่นี่ที่เดียว กับอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบไฟเบรครถยนต์ ที่ใช้หลักการทำงานสุดแสนจะง่ายดาย แต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพในการทำงาน อาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพียงไม่กี่ชิ้น กับฝีมือด้านการประดิษฐ์อีกเล็กน้อย ก็ได้ตุ๊กตาจุ๊บๆ ดูดติดไฟเบรคยามต้องการทดสอบว่าไฟเบรคของคุณยังทำงานปกติดีหรือไม่

​สิ่ง​ประดิษฐ์​ขนาดเล็ก​ก​ะทัด​รัด แต่ช่วย​ลดภาระคน​​ใช้​รถยนต์ เพราะ​ใน​ยาม​ที่​ต้องการ​ตรวจสอบ​ว่า​ไฟ​เบรค​ทำงาน​ดี​อยู่​หรือไม่ วิธี​ที่​ง่าย​ที่สุด​คือ เรียก​คน​มา​ช่วย​ดู​ที่​ท้าย​รถ​ขณะ​เรา​เหยียบ​เบรค หาก​ปกติ​ดี ไฟ​เบรค​ที่​ควร​ติด ก็​จะ​ติด แล้ว​ถ้าหากไม่มี​แม้​ใคร​สัก​คน​มา​ช่วย​ดู​ให้​ล่ะ​ จะทำไง​ดี..ง่าย​ที่สุด​ก็​หาทาง​จอด​รถ​ไว้หน้า​กระจก จากนั้น​ดู​การ​ทำงาน​ผ่าน​กระจก​มอง​หลังแต่ไอ้กระจกที่ว่านั้นจะหาได้ที่ไหนหนอ งั้นเรามา​ออกแรง​นิดหน่อย กับ​ลงทุน​เล็กน้อย มา​สร้างตัว​ช่วย​ตรวจสอบ​การ​ทำงาน​ของ​ไฟ​เบรค​กันดีกว่า

แนวคิด
ถ้าหาก​ไฟ​เบรค​มี​สภาพ​ดี เวลา​เหยียบ​เบรค ไฟ​ต้อง​ติด​สว่าง ถ้า​ไฟ​เบรค​เสีย มัน​ก็​ไม่ติด ดังนั้น​การ​ตรวจสอบ​จึง​ใช้​แสง​ของ​ไฟ​เบรค​นี่​ล่ะ​ครับ อุปกรณ์​ตรวจจับ​แสง​ที่​หา​ง่าย​ราคาถูก​คือ LDR หรือ​ตัว​ต้านทาน​แปร​ค่า​ตาม​แสง ใน​ภาวะ​ที่​ไม่มี​แสง​มา​กระทบ มัน​จะ​มี​ค่า​ความ​ต้านทาน​สูง​และ​ลดลง​เมื่อ​ได้รับ​แสง เมื่อ LDR ได้รับ​แสง​ก็​จะ​ทำให้​วงจร​ทำงาน​แล้ว​ขับ LED ให้​กะพริบ และ​กะพริบ​ไป​ตลอด​จนกระทั่ง​ปิดสวิตช์​จ่ายไฟ ดังนั้น​ใน​การ​ใช้งาน​จึง​ให้​นำ​ชุด​ตรวจสอบ​นี้​ไป​ติด​เข้าที่​ตำแหน่ง​ของ​ไฟ​เบรค แล้ว​เปิดสวิตช์จ่ายไฟ พอ​เหยียบ​เบรค แล้ว​ไฟ​เบรค​ทำงาน​ปกติ LDR จะ​ได้รับ​แสง​จาก​ไฟ​เบรค วงจร​จึง​ทำงาน แสดงผล​ด้วย​ไฟกะพริบ


รูป​ที่ 1 แสดง​วงจร​สมบูรณ์​ของ Break lamp Tester

วงจร​และ​การ​ทำงาน
แสดง​ใน​รูป​ที่ 1 อุปกรณ์​ที่​เป็น​หัวใจ​หลัก​คือ LDR1 และ SCR1 โดย​ใน​ภาวะ​ปกติ LDR1 ไม่​ได้รับ​แสง จะ​มี​ค่า​ความ​ต้านทาน​สูงมาก จน​ไม่มี​กระแสไฟฟ้า​ไหล​เข้าที่​ขาเกต (G) ของ SCR1 ทำให้ SCR1 ไม่ทำงาน เมื่อ LDR1 ได้รับ​แสงสว่าง​มากพอ ค่า​ความ​ต้านทาน​ลดลง จึง​เริ่มมี​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน LDR1 ไป​ยัง​ขาเกต​ของ SCR1 ได้ ทำให้ SCR1 ทำงาน เกิด​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน​ตัว​มัน​ไป​ทำให้ LED1 และ LED2 ทำงาน

LED1 และ LED2 เป็น LED แบบ​พิเศษ​หน่อย​ครับ มัน​เป็น​แบบ​กะพริบ​ได้​เมื่อ​ได้รับ​แรงดัน​ไบแอส​ตรง ดังนั้น​เมื่อ SCR1 ทำงาน​ก็​จะ​มี​แรงดัน​ไบแอส​ตรง​ให้​แก่ LED1 และ LED2 ทำให้​มัน​ทำงาน เป็น​ไฟกะพริบ 2 ดวง

ตัว​ต้านทาน R1 มี​ความ​สำคัญมาก ใน​ภาวะ​ที่ LED1 และ LED2 ดับ (เพราะ​การ​ทำงาน​เป็น​ไฟกะพริบ​จะ​ต้อง​มี​ช่วงเวลา​หนึ่ง​ที่​ดับ) หาก​ไม่มี R1 จะ​ทำให้เกิด​ภาวะ​วงจรเปิด ทำให้​มี​แรงดัน​ตก​คร่อม​ที่​ขา A (แอโนด) และ K (แคโทด) ของ SCR1 ส่งผลให้​มัน​หยุด​ทำงาน​เอง​ได้ เมื่อ​มี R1 ต่อ​เข้าไป จะ​ทำให้​มี​กระแสไฟฟ้า​ไหล 2 ทาง​คือ ทาง​หนึ่ง​ผ่าน LED1 กับ LED2 และ​ทาง​หนึ่ง​ผ่าน R1 ใน​สภาวะ​ที่ LED1 และ LED2 ดับ ก็​ยังคงมี​กระแสไฟฟ้า​ไหลผ่าน R1 ทำให้​แรงดัน​ที่​ขา A และ K ของ SCR1 ยังคงมี​อยู่ SCR1 จึง​ยัง​ทำงาน​อยู่​ต่อไป​ได้ จนกว่า​จะ​มี​การ​ปิดสวิตช์​จ่ายไฟ​เลี้ยง กระแสไฟฟ้า​ที่​ไหลผ่าน R1 เรียกว่า กระแส​โฮลดิ้ง (Holding current) ควร​มี​ค่า​อย่าง​น้อย 5.8mA

การ​สร้าง
วงจร​นี้​มี​อุปกรณ์​ไม่​กี่​ตัว จึง​ไม่​จำเป็น​ต้อง​ออกแบบ​ลาย​วงจร​พิมพ์ สำหรับ​ตัว​ต้น​แบบผม​ใช้​แผ่น​วงจร​พิมพ์​เอ​นก​ประสงค์​ดัง​รูป​ที่ 2 มา​ตัด​เป็น​วงกลม​ขนาด​เส้น​ผ่า​นศูนย์กลาง 2.5 ซม. ให้​สามารถ​ใส่ลง​ไป​ใน​ตัว​ตุ๊กตา​ได้


รูป​ที่ 2 ขวดเครื่องปรุงแฟนซีใช้เป็นตุ๊กตาและแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ที่เลือกใช้

การ​ติดตั้ง​อุปกรณ์​ให้​ติดตั้ง​ด้าน​ลาย​ทองแดง​โดย​บัดกรี​แปะ​ลง​ไป​เหมือน​การ​บัดกรี​พวก​อุปกรณ์ SMD ดัง​รูปที่ 3 และในรูปที่ 4 จะเป็นรูปวาดการวางอุปกรณ์ทั้งบนแผ่นวงจรพิมพ์และอุปกรณ์ที่ต้องใช้การโยงสายไฟเพื่อติดตั้งกับหัวตุ๊กตา สำหรับกะบะถ่านให้ติดตั้งด้านบนของแผ่นวงจรพิมพ์​แต่รอไว้ติดตั้งในขั้นตอนประกอบเป็นตุ๊กตาเพราะกะบะถ่านจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยยึดเกาะกับตุ๊กตา


รูป​ที่ 3 ลักษณะการบัดกรีอุปกรณ์


รูป​ที่ 4 รูปแบบการต่อวงจรเช็กไฟเบรค

เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วก็มาทำการทดสอบ เริ่มด้วยการจ่ายไฟ +3V จากนั้นหาแสงไฟที่มีความสว่างพอๆ กับไฟเบรค แล้วส่องเข้าหา LDR จะทำให้ LED ติดและกะพริบ หากไม่ติดให้ทำการ​ปรับ​ความ​ไว​ใน​การ​ตรวจจับ​แสง​ของ​วงจร ด้วย​การ​ปรับ​ค่า​ของ VR1 ​ในขณะยังส่องไฟให้กับ LDR อยู่ โดยให้ค่อยๆ หมุน VR1 จน LED ติด ก็จะได้จุดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานแล้วครับ

การ​ประกอบ​เป็น​ตุ๊กตาจุ๊บๆ
(1) ติดตั้ง LDR เข้ากับกึ่งกลางของตัวดูดกระจก โดยเจาะรูขนาดเล็ก 2 รู พอให้ขาของ LDR สอดเข้าไปได้ จากนั้นดัน LDR เข้าไปจนแนบสนิทกับตัวดูดกระจก แล้วแยกขา LDR ออกไปคนละด้านแล้วใช้สายไฟขนาดเล็กบัดกรีจากขา LDR ไปยังแผงวงจรดังรูปที่ 4 จากนั้นใช้กาวซิลิโคนใสปิดรูที่ขา LDR สอดเข้าไปเพื่อให้ตัวดูดกระจกยังสามารถรักษาความเป็นสุญญากาศขณะดูดติดกับท้ายรถได้ดังเดิม


รูป​ที่ 5 ติดตั้ง LDR เข้ากับตัวดูดกระจก

(2) นำฝาของขวดเครื่องปรุงที่เป็นเหมือนหัวตุ๊กตา มาตัดส่วนที่เป็นรูสำหรับเทเครื่องปรุงออก เจาะรูตรงดวงตา 2 ข้างด้วยดอกสว่านขนาด 3 มม. เพื่อติดตั้ง LED 2 ดวง และรูด้านข้าง 2 ข้าง สำหรับร้อยสกรู 3 มม. ยาว 25 มม. เพื่อยึดตัวดูดกระจก สุดท้ายให้เจาะรูสำหรับติดตั้งสวิตช์เปิดปิด

(3) นำแผงวงจรที่ลงอุปกรณ์และโยงสายไฟเรียบร้อยแล้วติดตั้งลงไปด้านในดังรูปที่ 6 จากนั้นติดตั้งสวิตช์สำหรับเปิดปิด และ LED ทั้ง 2 ดวงเข้ากับรูที่เจาะไว้ตรงดวงตาด้วยปืนกาวซิลิโคนดังรูปที่ 6 สำหรับแสดงสภาวะไฟเบรค


รูป​ที่ 6 ติดตั้งแผ่นวงจรพิมพ์ลงไปด้านใน รวมทั้งส่วนที่ใช้การโยงสายสวิตช์เปิดปิด และ LED แสดงสภาวะไฟเบรค

(4) บัดกรีกะบะถ่าน 3V รุ่น CR2032 ไว้ด้านบนของแผ่นวงจรพิมพ์ ด้วยขนาดของกะบะถ่านที่มีขนาดกว้างกว่าส่วนหัวของตุ๊กตาเล็กน้อย เมื่อบัดกรีแล้วจึงทำให้แผ่นวงจรพิมพ์ด้านในถูกยึดติดเข้ากับหัวตุ๊กตาได้อย่างแน่นหนาดังรูปที่ 7


รูป​ที่ 7 การติดตั้งกะบะถ่านรุ่น CR2032 จะเห็นว่ากะบะถ่านมีขนาดกว้างกว่าหัวคุ๊กตาเล็กน้อยเมื่อติดตั้งแล้วทำให้แผ่นวงจรพิมพ์ด้านในถูกยึดเอาไว้อย่างแน่นหนา

(5) ตกแต่งช่องติดตั้งสวิตช์ด้วยสติ๊กเกอร์ลายหนัง แล้วนำฝาครอบสวิตช์มาสวมลงไปดังรูปที่ 8


รูป​ที่ 8 ตกแต่งตรงลอยเจาะสวิตช์ด้วยสติกเกอร์และสวมฝาครอบลงไป

(6) ติดตั้งตัวดูดกระจกเข้าส่วนหัวตุ๊กตาด้วยการใช้สกรู 3 มม. ยาว 30 มม. ร้อยเข้าไปตรงรูด้านข้างของหัวตุ๊กตาสอดทะลุห่วงของตัวดูดกระจกโดยให้ร้อยทะลุไปอีกด้านของของหัวตุ๊กตาแล้วล็อกด้วยนอตตัวเมียดังรูปที่ 9


รูป​ที่ 9 ติดตั้งตัวดูดกระจกด้วยชุดสกรู 3 มม. ยาว 30 มม.

เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ การใช้งานก็เพียงนำไปจุ๊บไว้กับฝาครอบไฟเบรคแล้วก็เดินไปเหยียบคันเบรค หาก LED ติดก็แสดงว่าไฟเบรคของเราทำงานปกติ เป็นไงครับลงทุนเพียงไม่กี่บาทก็สร้างความสะดวกให้กับชีวิตได้ ที่สำคัญยังไม่เคยเห็นมีขายในท้องตลาด อาจทำไปจำหน่ายก็เข้าท่าดีนะครับ


 

Categories
Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Pyramid Frame Light

สร้างสรรค์งานศิลปะด้วย LED

สร้างงานศิลปะประยุกต์ด้วย LED เปลี่ยนสีเอง ให้แสงส่องลอดผ่านช่องแคบๆ ออกมาจากปิระมิดจำลองดูลึกลับ อาจใช้ประดับบนโต๊ะทำงาน หรือใช้ทับกระดาษก็ยังได้ลองทำเล่นกันดูนะครับ เพราะโครงงานนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็น่าจะเสร็จ

เตรียมอุปกรณ์
1. LED แบบเปลี่ยนสีได้เอง
2. กระดาษแข็ง
3. กระดาษชานอ้อย
4. แฟ้มพลาสติกสีขาวขุ่น
5. แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์
6. กะบะถ่าน AA 2 ก้อน 1 อัน
7. สวิตช์เปิด-ปิด เลือกใช้สวิตช์ปรอท
8. กาวสองหน้าอย่างบาง และอย่างหนา

ขั้นตอนการสร้าง
1. ตัดแบบของกล่องปีระมิดตามแบบในรูปที่ 1 โดยให้มีฐานกว้างประมาณ 11 ซม.


รูปที่ 1 แบบของกล่องปิระมิด

2. เจาะเป็นช่องสามเหลี่ยมดังรูปที่ 2 ทั้ง 4 ด้าน


รูปที่ 2 ตัดกระดาษแข็งตามแบบแล้วเจาะช่องสามเหลี่ยม

3. ตัดแฟ้มพลาสติกอ่อนสีขาวขุ่นแบบที่แสงส่องผ่านได้ เป็นรูปสามเหลี่ยมดังรูปที่ 3 แปะด้านในกล่องปีระมิด


รูปที่ 3 แปะแฟ้มกลาสติกไว้ด้านในทั้ง 4 ด้าน

4. ตัดกระดาษชานอ้อยให้เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเท่ากับกล่องปีระมิด จากนั้นใช้คัตเตอร์ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ น้อยๆ นำไปติดบนปีระมิดด้วยกาวสองหน้าอย่างบาง โดยติดให้มีระยะห่างของแต่ละชิ้นประมาณ 1-2 มม. เพื่อเป็นช่องให้แสงส่องออกมาได้


รูปที่ 4 นำกระดาษชานอ้อยตัดเป็นชิ้นส่วนมาแปะด้วยกาวสองหน้าอย่างบาง

5. ติดตั้งสวิตช์ปรอท และ LED 4 ดวง บนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์


รูปที่ 5 การต่อวงจร

6. ใช้กาวสองหน้ายึดแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์ติดกับกะบะถ่าน


รูปที่ 6 บัดกรีอุปกรณ์ลงบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แล้วติดบนกะบะถ่าน AA 2 ก้อน

การใช้งาน
เนื่องจากใช้สวิตช์ปรอทในการตรวจจับการเอียงเพื่อให้ LED ทำงาน ดังนั้นเมื่อเราวางตั้งขึ้น สารปรอทภายในหลอดแก้วก็จะไหลไปอยู่ส่วนกลางระหว่างขั้วไฟฟ้าทั้งสองทำให้กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงวงจรทำให้เกิดแสงสีเปลี่ยนสลับไป-มา จนยากจะบรรยาย และหากต้องการปิด ก็เพียงแต่เอียงเจ้าปิระมิดน้อย สารปรอทที่อยู่ในหลอดแก้วก็จะไหลไปอีกทางก็ไม่สามารถนำไฟไฟ้าได้ ก็ถือเป็นการปิดการทำงานครับ

ง่ายๆ แค่นี้ก็สร้างสรรค์เป็นงานอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีศิลปะได้แล้ว ดีไซเนอร์ที่เพิ่งเริ่มสนใจงานอิเล็กทรอนิกส์ และต้องการนำงานไปประยุกต์ให้ลูกค้าก็ลองทำกันดูนะครับ


 

Categories
Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Auto Lamp

สร้างโคมไฟดีไซด์โมเดิร์นที่เปิดปิดและปรับความสว่าง ได้เองอย่างง่ายๆ

แนวคิด

โคมไฟอัตโนมัตินี้ถูกออกแบบให้สามารถปรับความสว่างได้อัตโนมัติ ตามสภาพแสงในบริเวณนั้น โดยให้ดับในสภาพแสงสว่างปกติและเริ่มสว่างเมื่อแสงสว่างลดน้อยลง ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ AA เพียง 4 ก้อนทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่าโคมไฟปกติ โคมไฟนี้ใช้งานง่าย สามารถเคลื่อนที่ย้ายได้สะดวก วงจรของโคมไฟอัตโนมัตินี้เป็นวงจรง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำมันขึ้นมาเองได้ ดังรูปที่ 1

รายการอุปกรณ์ของแผงวงจร
R1 – LDR ขนาดเล็ก 1 อัน
R2 – ตัวต้านทาน 3.9 kΩ ¼ w 5 % 1 ตัว
R3 – ตัวต้านทาน 1.5 kΩ ¼ w 5 % 1 ตัว
R4 – ตัวต้านทาน 47 kΩ ¼ w 5 % 1 ตัว
R5,R6,R7,R8,R9 – ตัวต้านทาน 68Ω ¼ w 5% 5 ตัว
Q1, Q2 – ทรานซิสเตอร์ เบอร์2N3904 2 ตัว
LED1 ถึง LED5 – LED ความสว่างสูงสีขาว 5 มม. 5 ดวง
กระบะสำหรับใส่แบตเตอรี่ AA 4 ก้อน 1 อัน

รายการอุปกรณ์ของโคม
• แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด 50 x 50 ซม.
• แผ่นอะครีลิกสีขาวโปร่งแสงหนา 1 มม. ขนาด 30 x 30 ซม.
• กาวร้อน
• กาวยาง
• สายไฟอ่อน
• แผ่นยางอัดสีน้ำตาล
• น้ำยาประสานพลาสติก

หลักการทำงาน

วงจรโคมไฟอัตโนมัตินี้ เราใช้ LDR เป็นตัวควบคุมความสว่างของ LED ดังนั้นวงจรนี้จึงใช้ไฟเลี้ยงวงจรเพียง 6 V โดยใช้แบตเตอรี่ AA 4 ก้อน โดยเมื่อจ่ายไฟเลี้ยงเข้าวงจร LDR ก็จะเริ่มรับแสงเพื่อปรับความต้านทานภายในตัวมัน จึงส่งผลให้ความสว่างของโคมไฟเปลี่ยนไป ซึ่งการปรับความสว่างและหรี่ของโคมไฟนั้น ได้กำหนดเอาไว้ในช่วงที่เหมาะสมกับไฟในห้องทำงาน แต่ถ้าท่านต้องการจะปรับเปลี่ยนก็ให้ปรับค่าตัวต้านทาน R2
การต่อทรานซิสเตอร์ในวงจรอัตโนมัตินี้จะสังเกตได้ว่า ใช้การต่อแบบดาร์ลิงตัน ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถให้อัตราการขยายที่สูง การจัดวงจรทรานซิสเตอร์แบบนี้เป็นผลงานการคิดค้นของ ซิดนีย์ ดาร์ลิงตัน

รูปที่ 1 วงจรของ Automatic Lamp

การประกอบวงจร
ก่อนการประกอบวงจรเรามาเริ่มจากการทำแผ่นวงจรพิมพ์ จากนั้นก็ลงอุปกรณ์ตามแบบในรูปที่ 3 โดยใส่และบัดกรีอุปกรณ์ตัวที่เตี้ยที่สุดก่อน แล้วไล่ลำดับความสูงขึ้นมาเรื่อยๆ

รูปที่ 2 ลายทองแดงของแผ่นวงจรพิมพ์ Automatic Lamp (ดาวน์โหลดลายวงจรพิมพ์ขนาดเท่าจริง)

รูปที่ 3 แบบการลงอุปกรณ์ Automatic Lamp

การทดสอบวงจร
เมื่อเราต่อวงจรเสร็จแล้ว คราวนี้เรามาทดสอบกันว่ามันสามารถใช้งานได้หรือไม่ วิธีการทดสอบก็เป็นวิธีง่ายๆ เริ่มจากการใส่แบตเตอรี่ AA 4 ก้อนเข้าไป นำโคมไฟไปวางไว้ในที่มีแสงสว่างเพียงพอ LED ทั้ง 5 ดวงจะต้องดับ และถ้านำไปไว้ในที่มืด LED จะติด หากไม่มีที่มืดให้ทดสอบโดยใช้มือมาบัง LDR ไว้

ลงมือสร้างโคมไฟกันเถอะ
สำหรับตัวโคมไฟนี้ได้ออกแบบให้มีรูปทรงเป็นต้นเสาสไตล์ญี่ปุ่น แต่จะเรียกอย่างไรก็ไม่สำคัญ ขอให้เวิร์กก่อนก็แล้วกันเป็นใช้ได้
ก่อนทำการสร้างเราจะแบ่งโคมไฟนี้ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนฝาครอบที่ฝัง LDR กับแผงวงจร, ส่วนโคมส่องสว่างที่เป็นอะครีลิกสีขาว และส่วนลำตัวสำหรับตั้งกับพื้นและติดตั้งกะบะถ่าน ดังนั้นผมจะขออธิบายแต่ละส่วนเรียงลำดับกันไปนะครับ

ส่วนฝาครอบ
(1) เริ่มจากการตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด 8×2.5 ซม. 2 แผ่น , 7×2.5 ซม. 2 แผ่น ขนาด 8×8 ซม. 1 แผ่น ด้วยคัตเตอร์ จากนั้นประกอบเข้าด้วยกันดังรูปที่ 4 แล้วนำแผ่นยางอัดสีน้ำตาลมาแปะเพื่อความอาร์ตให้รอบ โดยการปาดกาวยางบางๆ ลงบนพลาสวูดแล้วก็ติดด้วยแผ่นยางตามลงไป

รูปที่ 4 ตัดพลาสวูดหนา 5 มม. ให้ได้ขนาดตามนี้

(2) ติดตั้ง LDR โดยเจาะรูขนาด 3 มม. แล้วสอดขา LDR ลงไปหุ้มขา LDR ด้วยฉนวนกันลัดวงจร (อาจใช้เทปพันสายไฟหรือเทปใสก็ได้) และต่อสายไฟยาวๆ ออกมาประมาณ 5 ซม. แล้วบัดกรีกับแผงวงจรด้านลายทองแดงดังรูปที่ 5

รูปที่ 5 การติดตั้งและต่อสายไฟให้กับ LDR

(3) ยึดแผงวงจรด้วยสกรูเกลียวปล่อย

ส่วนโคมส่องสว่าง
(1) ตัดแผ่นอะครีลิกสีขาวหนา 1 มม. ให้ได้ขนาด 7×15 จำนวน 4 แผ่น

(2) นำมาประกอบกันดังรูปที่ 6 โดยใช้น้ำยาประสานพลาสติกเป็นตัวทำละลาย

รูปที่ 6 โคมที่ประกอบจากอะครีลิก 1 มม.

ส่วนโคม
(1) ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด 20×8 ซม. 2 แผ่น, ขนาด 20×7 ซม. 2 แผ่น และขนาด 7×7 ซม. 1 แผ่น สำหรับเป็นแผ่นฐานรับโคมอะครีลิก แล้วประกอบเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน โดยเปิดฝาด้านใดด้านหนึ่งไว้เดินสายจากแบตเตอรี่ขึ้นไปหาแผงวงจร

(2) ติดตั้งกะบะถ่าน AA 4 ก้อน ด้วยกาวสองหน้าอย่างหนาโดยให้ด้านที่เป็นสายไฟออกหันออกมาด้านนอกดังรูปที่ 7

รูปที่ 7 ประกอบแผ่นพลาสวูดส่วนลำตัวโคมไฟและติดตั้งกะบะถ่าน AA 4 ก้อน

ประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกัน

รูปที่ 8 การเดินสายภายใน

(1) เดินสายไฟเลี้ยงวงจรในโคมอะครีลิก โดยเผื่อสายให้ยาวถึงกะบะถ่านที่ติดตั้งไว้ด้านล่างของส่วนลำตัวดังรูปที่ 8.1

(2) เจาะรู 3 มม. ที่ส่วนฐานสำหรับรองรับโคมอะครีลิกหรือพอให้สายไฟสอดผ่านได้ที่มุม 2 ฝั่งแล้วสอดสายเข้าไปดังรูปที่ 8.2

(3) บัดกรีสายที่สอดเข้าไปกับกะบะถ่านทั้ง 2 เส้นให้เรียบร้อยดังรูปที่ 8.3 จากนั้นก็ปิดแผ่นพลาสวูดที่เหลือได้เลยครับ

(4) ส่วนปลายสายไฟอีกด้านหนึ่งก็บัดกรีเข้ากับแผงวงจรดังรูปที่ 8.4

(5) ทำการประกอบเข้าด้วยกัน โดยสวมส่วนหัวเข้ากับโคมอะครีลิก ก่อน แล้วจึงค่อยไปสวมกับลำตัว ซึ่งเมื่อสวมแล้วตัวโคมอะครีลิกจะวางอยู่บนแผ่นฐานของลำตัวพอดีดังรูปที่ 9.1

(6) ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากทุกอย่างถูกประกอบเข้าด้วยกันแล้ว ให้นำแผ่นยางอัดมาติดที่ลำตัวด้วยกาวยาง

รูปที่ 9 การประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกันแล้วตกแต่งพื้นผิวด้วยแผ่นยางอัด

เสร็จแล้วครับขั้นตอนอันยุ่งยากก็มีเพียงเท่านี้ ต่อไปก็เพียงจ่ายไฟเข้าโดยการนำแบตเตอรี่ AA 4 ก้อน มาใส่ในกะบะถ่าน วงจรก็จะเริ่มทำงานทันที ทดลองนำมือไปค่อยๆ บังแสงอย่างช้าๆ จะเห็นว่าแสงจากโคมไฟจะก็จะค่อยๆ สว่างขึ้นตามความมืดที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง


 

Categories
iBEAM the Series Pets คุณทำเองได้ (DIY)

ของเล่นแมวจากหุ่นยนต์ iBEAM

พบกับแนวคิดนอกกรอบในการทำโครงงานจากแผงวงจรควบคุมอัตโนมัติ มาสู่ของเล่นสำหรับเจ้าหน้าขนตัวโปรด

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่กับคนมานาน มีสัญชาติญาณในการล่าสูง ชอบวิ่งเล่นสนุกสนานซุกซน ของเล่นแมวจึงจัดว่า เป็นอุปกรณ์ที่ดีที่จะทำให้แมวรู้สึกสนุกสนาน โดยของเล่นแมวมีด้วยกันหลายแบบ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าคุณสามารถสร้างของเล่นแมวที่มีการตอบสนองกับมันได้โดยอัตโนมัติ

หัวใจหลักของโครงงานนี้คือ แผงวงจร iBEAM ที่ใช้ไอซีออปแอมป์เป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำงานร่วมกับโมดูลตรวจจับและวัดระยะทางด้วยแสงอินฟราเรด เมื่อแมวเข้ามาใกล้ วงจรจะขับมอเตอร์ทำงาน เพื่อทำให้ของเล่นเคลื่อนที่ออกห่างจากแมวไปด้วยระยะห่างค่าหนึ่งแล้วหยุด เมื่อแมวเข้ามาใกล้อีก วงจรจะขับมอเตอร์ให้ทำงานเพื่อทำให้ของเล่นเคลื่อนที่ห่างจากแมวอีกครั้ง ในรูปที่ 1 แสดงโครงสร้างการทำงานของโครงงานของเล่นสำหรับแมว

รูปที่ 1 ไดอะแกรมการทำงานของ KittenToys ของเล่นสำหรับแมว

รู้จักกับ GP2D120/GP2Y0A41 โมดูลวัดระยะทางด้วยแสงอินฟราเรด

GP2D120 และ GP2Y0A41 เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดระยะทางด้วยแสงอินฟราเรด โดยภายในตัวโมดูลจะมีอุปกรณ์หลัก 2 ตัวคือ LED อินฟราเรดและตัวรับแสงอินฟราเรดแบบอะเรย์ โดย LED จะขับแสงอินฟราเรดผ่านเลนส์นูนเพื่อโฟกัสแสงให้มีความเข้มมากที่สุดไปยังจุดใดจุดหนึ่ง เมื่อแสงกระทบวัตถุจะเกิดการสะท้อนและกระเจิงของแสงไปในทิศทางต่างๆ แสงส่วนหนึ่งจะสะท้อนกลับมายังภาครับ โดยมีเลนส์ภาครับทำหน้าที่รวมแสงและกำหนดจุดตกกระทบ แสงจะถูกส่งผ่านไปยังโฟโต้ทรานซิสเตอร์จำนวนมากที่ต้อเรียงตัวกันเป็นส่วนรับแสงหรืออะเรย์รับแสง ตำแหน่งที่แสงตก กระทบนี้จะถูกนำมาคำนวณหาระยะทางจากภาคส่งไปยังวัตถุได้

รูปที่ 2 หน้าตาและการจัดสายสัญญาณของโมดูลวัดระยะทางเบอร์ GP2D120/GP2Y0A41

คุณสมบัติทางเทคนิคที่สำคัญ
• ใช้การตรวจจับระยะทางด้วยการสะท้อนแสงอินฟราเรด
• วัดระยะทางได้ 4 ถึง 30 เซนติเมตร
• ไฟเลี้ยงที่เหมาะสมคือ +4.5 ถึง +5V ต้องการกระแสไฟฟ้าที่การวัดระยะทางสูงสุด 50mA
• ให้เอาต์พุตเป็นแรงดันในย่าน +0.4 ถึง +2.4V ที่ไฟเลี้ยง +5V
• ใช้งานได้โดยไม่ต้องต่ออุปกรณ์ภายนอกเพิ่มเติม

ในรูปที่ 3 เป็นกราฟแสดงผลการทำงานของโมดูล GP2D120 และ GP2Y0A41 (ทำงานเหมือนกันทุกประการ) จะเห็นได้ว่า ที่ระยะทางตรวจจับใกล้แรงดันเอาต์พุตที่ได้จะมีค่าสูง และลดลงเมื่อระยะทางที่วัดได้เพิ่มขึ้น

รูปที่ 3 กราฟแสดงผลการทำงานของโมดูล ​GP2D120 และ GP2Y0A41

เตรียมอุปกรณ์
จัดหาอุปกรณ์ตามรูปที่ 4 โดยแผงวงจร iBEAM และโมดูล GP2D120 หรือ GP2Y0A41 และอุปกรณ์ส่วนใหญ่จัดซื้อได้จาก INEX ที่ www.inex.co.th

รูปที่ 4 อุปกรณ์ทั้งหมดที่ต้องใช้ในโครงงานของเล่นของแมว KittenToy

การสร้าง
เริ่มจากโครงสร้าง
(1) สวมล้อพลาสติกเข้าที่แกนหมุนของชุดมอเตอร์พร้อมเฟืองขับรุ่น BO2-120:1 ที่มีการติดตั้งตัวยึด (motor holder) ไว้แล้ว ขันยึดให้แน่นด้วยสกรูเกลียวปล่อย 2 มม. ตามรูปที่ 5

รูปที่ 5

(2) นำสกรู 3×10 มม. 2 ตัว ร้อยเข้ารูกลางของฉากโลหะ 2×5 รู ทั้ง 2 ชิ้น เพื่อเตรียมไว้ยึดอุปกรณ์ในขั้นตอนถัดไป ตามรูปที่ 6

รูปที่ 6

(3) นำฉากโลหะจากขั้นตอนที่ (2) ยึดเข้ากับแผ่นฐานกลม โดยติดฉากโลหะทั้งสองชิ้นในทิศทางตรงข้ามกันตามตำแหน่งในรูปที่ 7

รูปที่ 7

(4) หงายแผ่นฐานขึ้นมา แล้วนำกล่องรองกะบะถ่านมาสวมเข้ากับ สกรู 3×10 มม. ที่ยึดกับฉากโลหะไว้ แล้วขันยึดให้แน่นด้วยนอต 3 มม. ทั้ง 2 จุด ดังรูปที่ 8

รูปที่ 8

(5) นำชุดมอเตอร์พร้อมเฟืองขับมายึดกับด้านตั้งฉากของฉากโลหะ 2×5 รูทั้งสองตัวที่ยึดกับแผ่นฐานไว้แล้วด้วยสกรู 3×6 มม. ในลักษณะตามรูปที่ 9

รูปที่ 9

(6) นำแบตเตอรี่ AA จำนวน 4 ก้อนบรรจุลงในกะบะถ่าน จากนั้นนำไปติดตั้งบนกล่องรองกะบะถ่าน ดังรูปที่ 10

รูปที่ 10

(7) ยึดโมดูลวัดระยะทาง GP2D120 กับฉากโลหะ 2×3 รู ด้วยสกรู 3×6 มม. และนอต 3 มม. ขันยึดให้แน่น ทำเช่นเดียวกันทั้งสองข้าง ดังรูปที่ 11

รูปที่ 11

(8) นำฉากโลหะ 2×5 รูมายึดกับแผงวงจร iBEAM โดยวางฉากโลหะด้านยาว 5 รู ขนานกับแผงวงจร iBEAM จากนั้นยึดด้วยสกรู 3×6 มม. และนอต 3 มม. ขันยึดให้แน่นตามรูปที่ 12.1 จากนั้นนำโมดูล GP2D120 จากขั้นตอนที่ (7) มายึดกับแผงวงจร iBEAM ด้วยสกรูหัวตัด 3×5 มม. ดังรูปที่ 12.2 เชื่อมต่อสายสัญญาณจากโมดูล GP2D120 เข้าที่ช่องอินพุดด้านซ้าย (LEFT_Sensor) ของแผงวงจร iBEAM ดังรูปที่ 12.3

รูปที่ 12 ติดตั้งโมดูล GP2D120 เข้ากับแผงวงจร iBEAM

ประกอบร่าง
(9) นำแผ่นฐานที่ยึดมอเตอร์และกะบะถ่านแล้วมาประกอบกับส่วนควบคุมและตัวตรวจจับ ต่อสายไฟของกะบะถ่านเข้าที่ช่อง POWER ของแผงวงจร iBEAM และต่อสายไฟของมอเตอร์เข้าที่จุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายของแผงวงจร iBEAM ดังรูปที่ 13

รูปที่ 13 เตรียมการประกอบร่างของโครงงาน

(10) ตัดด้ายเชือกร่มยาว 10 เซนติเมตร ประมาณ 30 เส้น เรียงให้ดีและใช้เทปใสติดปลายด้านใดด้านหนึ่ง จากนั้นนำไปติดกับปลายหลอดพลาสติก เพื่อใช้เป็นพู่ล่อให้แมวมาเขี่ยเล่น นำหลอดที่ติดด้ายเชือกร่มแล้วเสียบเข้ากับโครงของส่วนควบคุมและมอเตอร์ โดยให้หลอดพลาสติกอยู่ตรงด้านเดียวกับโมดูลวัดระยะทางดังรูปที่ 14.2 จะได้โครงของชิ้นงานที่พร้อมสำหรับการทดสอบต่อไป

รูปที่ 14 ยึดพู่เข้ากับโครงของส่วนควบคุม

ทดสอบการใช้งานและตั้งค่าอุปกรณ์
(1) ถอดสายมอเตอร์ที่เสียบกับจุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายของแผงวงจร iBEAM ออกก่อน เพื่อให้ปรับค่าตัวต้านทานบนแผงวงจร iBEAM ได้ง่ายขึ้น
(2) เปิดสวิตช์ไฟเลี้ยงของแผงวงจร iBEAM จะเห็น LED สีเขียวบนแผงวงจรควบคุมติดสว่าง หากไม่ติด อาจต่อสายไฟเลี้ยงจากกะบะถ่าน 4 ช่องผิดขั้ว หรือต่อสายไม่แน่น ทำการแก้ไขให้ถูกต้อง
(3) นำมือไปวางตรงบริเวณพู่เชือกร่มที่ปลายหลอด แล้วค่อยๆ ปรับค่าตัวต้านทานที่ตำแหน่ง LEFT Sensor ของแผงวงจร iBEAM จนกว่า LED สีแดงที่แสดงสถานะเอาต์พุตของจุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายจะติดสว่าง
(4) เลื่อนมือให้ห่างออกไปประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นปรับค่าตัวต้านทานที่ตำแหน่ง LEFT Sensor ของแผงวงจร iBEAM จนกว่า LED สีแดงที่แสดงสถานะเอาต์พุตของจุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายจะดับ เป็นอันเสร็จสิ้นการปรับแต่ง
(5) ปิดสวิตช์ของแผงวงจร iBEAM ต่อมอเตอร์เข้ากับจุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายให้เรียบร้อย
(6) เปิดสวิตช์และทดสอบการใช้งาน โดยนำมือเข้าใกล้บริเวณพู่เชือกร่ม จะทำให้วงจรทำงาน มอเตอร์ถูกขับ ทำให้ตัวชิ้นงานหมุนห่างออกไป

ตกแต่งอุปกรณ์ของเล่นแมว
เนื่องจากอุปกรณ์ทั้งหมดถูกติดตั้งอยู่โดดๆ จึงทำให้อาจถูกแมวที่มาเล่นกัดสายไฟเสียหายได้ จึงจำเป็นจะต้องใช้กล่องหรือภาชนะอื่นๆ มาครอบตัวโครงงาน มีขั้นตอนการทำและตกแต่งชิ้นงานดังนี้

(1) เตรียมสายไฟสำหรับทำสวิตซ์เปิดปิดจากภายนอก เนื่องจากเมื่อนำกล่องมาครอบแผงวงจรแล้ว จะเปิดสวิตช์จากแผงวงจร iBEAM โดยตรงไม่ได้ โดยตัดสายไฟอ่อนยาวประมาณ 10 เซนติเมตร จำนวน 2 เส้น บัดกรีเข้ากับสวิตชฺเปิดปิด ดังรูปที่ 15

รูปที่ 15 บัดกรีสายไฟให้แก่สวิตช์เปิดปิดภายนอก

(2) นำภาชนะหรือกล่องมาเจาะให้เป็นช่องให้โมดูลวัดระยะทางทำการตรวจจับวัตถุได้ และเจาะรูทางด้านหลังเพื่อใช้ติดตั้งสวิตซ์เปิดปิด อาจตกแต่งด้วยดวงตาตุ๊กตาหรือโบว์ต่างๆ ได้ตามใจชอบ ดังตัวอย่างในรูปที่ 16

รูปที่ 16 ตัวอย่างกล่องบรรจุ, แนวทางการตกแต่งกล่อง และการติดตั้งสวิตช์เปิดปิดเพิ่มเติมให้แก่โครงงานของเล่นแมว

(3) นำกล่องที่ทำเสร็จแล้วมาครอบชุดอุปกรณ์ควบคุม โดย
(3.1) ปลดสายไฟบวกของกะบะถ่านออกจากแผงวงจร iBEAM จากนั้นต่อสายไฟของสวิตช์เปิดปิดภายนอกอนุกรมกับสายไฟบวกของกะบะถ่านโดยใช้เทปพันสายไฟ เพื่อใช้สวิตช์ภายนอกในการเปิดปิดไฟเลี้ยงวงจร
(3.2) ต่อสายไฟลบของสวิตช์เปิดปิดเข้ากับขั้วบวก(+) ของแผงวงจร iBEAM
(3.3) สายไฟขั้วลบของกะบะถ่าน (สีดำ) ต่อเข้ากับขั้วลบ (-) ของแผงวงจร iBEAM
(3.4) เปิดสวิตช์ที่แผงวงจร iBEAM ไว้ตลอดเวลา (แต่อย่าเพิ่งเปิดสวิตซ์ที่อยู่บนกล่อง)
(3.5) นำกล่องครอบวงจรทั้งหมด แล้วยึดติดด้วยเทปใส จะได้ผลงานดังรูปที่ 17

รูปที่ 17 ตัดต่อสายไฟเลี้ยงเข้ากับสวิตช์เปิดปิดภายนอกของโครงงานของเล่นแมว

รูปที่ 18 KittenToy ที่เสร็จแล้วพร้อมใช้งาน


 

Categories
Fixit (ซ่อมได้) คุณทำเองได้ (DIY)

แอร์น้ำหยด

ปัญหาแอร์มีน้ำหยดออกทางด้านล่างตัวเครื่องนั้นเกิดได้ 2 ลักษณะด้วยกันคือ

Categories
Fixit (ซ่อมได้) คุณทำเองได้ (DIY)

ปัญหาแอร์พ่นน้ำ

คำว่าแอร์พ่นน้ำในที่นี้หมายถึง มีน้ำกระเด็นออกมาจากช่องลมหน้าเครื่องปรับอากาศ มีลักษณะคล้ายกับละอองฝน เราลองมาวิเคราะห์กันดูครับว่ามันเกิดมาจากสาเหตุอะไร

Categories
Fixit (ซ่อมได้) คุณทำเองได้ (DIY)

แก้ปัญหาแอร์ตัดนาน

อีกปัญหาที่หลายคนแก้ไม่ตกของแอร์ หรือเครื่องปรับอากาศ ก็คือแอร์ตัดนานเกินไป คือเมื่อเปิดแอร์ตอนเข้านอนแล้วแรกๆ ก็ทำความเย็นปกติดี แต่พอกลางดึกกลับไม่เย็นขึ้นมา หลายคนเลือกวิธีปรับลดอุณหภูมิที่รีโมตคอนโทรล หรือจากปกติเคยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 27 องศาเซลเซียส ก็เย็นจนต้องห่มผ้า แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ต้องปรับลดอุณหภูมิลงมาเหลือเพียง 23 องศาเซลเซียส แอร์ถึงจะทำความเย็นได้เหมือนเมื่อก่อน ทั้งที่เพิ่งเรียกช่างมาล้างแอร์ไปได้ไม่นาน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เรามาแก้ปัญหานี้ด้วยกันครับ

วิเคราะห์หาสาเหตุเสียก่อน
อาการแอร์ตัดนานเกินไป เกิดจากการตรวจจับอุณหภูมิของเซ็นเซอร์ ทำงานผิดปกติไปจากเดิม โดยปกติเซ็นเซอร์ที่เครื่องปรับอากาศใช้สำหรับตรวจจับอุณหภูมิ นั้นก็คือเทอร์มิสเตอร์ หรือตัวต้านทานที่ค่าความต้านทานแปรผันตามอุณหภูมิ ทั่วไปจะใช้แบบอุณหภูมิลดค่าความต้านทานเพิ่ม และมีเจ้าเซ็นเซอร์นี้ติดตั้งอยู่ 2 ตัวด้วยกันคือ


1. เซ็นเซอร์ตรวจจับอุณภูมิลมกลับหรือตรวจจับอุณหภูมิของห้องนั่นเองครับ มีลักษณะเหมือนหัวไม้ขีดไฟ มีกระเปาะสีดำ ปกติมักติดตั้งอยู่ด้านหน้าของแผงคอยล์เย็น เพื่อตรวจสอบว่าอุณหภูมิในห้องลดลงถึงค่าที่เราตั้งไว้ที่รีโมตคอนโทรลเลอร์หรือยัง ถ้าถึงแล้วก็จะสั่งให้ตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ (คอนเดนซิ่งยูนิต)

2. เซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิท่อสารทำความเย็น (น้ำยาแอร์) มีลักษณะเป็นทรงกระบอกตัวกระเปาะทำจากโลหะ ส่วนมากทำจากทองแดง เมื่อท่อเย็นจัด (สัมพันธ์กับเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณภูมิลมกลับ) ก็สั่งตัดการทำงานของคอมเพรสเซอร์เช่นกัน เซ็นเซอร์ตัวนี้ติดตั้งอยู่ติดกับท่อ บริเวณขวามือของแผงคอยล์เย็น (อีวาพอเลเตอร์)

หมายเหตุ : เครื่องปรับอากาศบางรุ่น ตรวจจับสารทำความเย็น (น้ำยาแอร์หมด)โดยอาศัยเซ็นเซอร์จับอุณหภูมิท่อ หากเครื่องปรับอากาศทำงานสักระยะแล้วท่อไม่เย็นจะสั่งปิดระบบทันที

รูปแสดงเหตุการณ์ที่เซ็นเซอร์ทั้ง 2 ตัวทำการตรวจจับอุณหภูมิ

จากรูปด้านบนจะเห็นว่าเหตุการณ์ที่ 3 เป็นสาเหตุให้แอร์ของเราไม่ยอมสั่งให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน ทั้งที่เซ็นเซอร์ตัวที่ 1 ก็รับรู้ได้ถึงอุณหภูมิห้องที่สูงขึ้นแล้ว แต่เซ็นเซอร์ตัวที่ 2 กลับบอกว่าท่อยังเย็นอยู่ยังไม่ต้องสั่งให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน

ดังนั้นเราจะเห็นว่าเซ็นเซอร์อุณหภูมิทั้งสองตัวนี้ต้องทำงานสัมพันธ์กัน แต่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณภูมิลมกลับนั้นไม่เป็นสาเหตของปัญหานี้ครับ เพราะมันติดตั้งอยู่ด้านนอก จึงแห้งไม่เปียกชื้นและไม่สกปรกอะไร ต่างจากเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิท่อสารทำความเย็นที่ต้องเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลาขณะเราใช้งานเครื่องปรับอากาศทำให้มีโอกาสเกิดคราบสกปรกที่ผิวของกระเปาะโลหะบนตัวมัน

เมื่อคราบสกปรกจับตัวมากขึ้นทำให้เมื่อเปิดแอร์นานๆ ความชื้นจะสะสมอยู่กับคราบสกปรกเหล่านี้ ทำให้ค่าความต้านทานภายในตัวมันลดลงช้ามากๆ หรือเปลี่ยนแปลงได้ช้ากว่าปกตินั่นเอง ทำให้แผงวงจรควบคุมเข้าใจว่าท่อยังเย็นอยู่จึงไม่ยอมสั่งให้ชุดคอนเดนซิ่งยูนิต (คอยล์ร้อน) ทำงานครับ

วิธีแก้ไขเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิท่อสารทำความเย็นสกปรก
1. สับเบรกเกอร์ตัดไฟก่อน จากนั้นถอดบานสวิงออกจากหน้ากากของเครื่องปรับอากาศ โดยแต่ละรุ่นจะมีวิธีการถอดไม่เหมือนกัน ให้ค่อยๆ พิจารณาเอา (ระวังสลักหักด้วยนะครับ)


รูปแสดงการถอดบานสวิงแอร์

2. คลายสกรูยึดหน้ากากทั้ง 2 ด้าน ของเครื่องออก (บางรุ่นอาจมีตำแหน่งที่ต่างไปจากนี้)



รูปการตำแหน่งสกรูยึดหน้ากาก

3. ใช้มือประคองด้านซ้ายและขวาของหน้ากากแล้วค่อยๆ ขยับดึงหน้ากากจากส่วนล่างออกมาแล้วงัดขึ้นด้านบนดังรูป


รูปแสดงทิศทางการถอดหน้ากาก

4. ถอดเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิท่อสารทำความเย็นออกมา โดยใช้ไขควงตัวเล็กดันออกมาจากช่องเสียบ (ห้ามจับสายดึงออกมาเด็ดขาดอาจทำให้สายขาดจากหัวเซ็นเซอร์ได้)


5. ใช้กระดาษทรายขัดคราบสกปรกออกให้สะอาด จากนั้นใส่กลับที่เดิม แล้วประกอบหน้ากากและบานสวิงเข้าตามเดิม

เพียงแค่นี้ แอร์ของเราก็กลับมาทำความเย็นได้ตามปกติแล้วล่ะครับ ลองทำตามดูนะครับ รับรองว่าหายไปอีกหลายปีเลยทีเดียว จนกว่ามันจะสกปรกอีกก็ถอดออกมาขัดอีก เว้นแต่ว่ามันจะเสื่อมสภาพจนใช้งานไม่ได้ อันนี้ต้องซื้อมาเปลี่ยนแล้วล่ะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Fixit (ซ่อมได้) คุณทำเองได้ (DIY)

แก้ปัญหาพัดลมหมุนช้า

หลายคนคงเคยประสบกับปัญหา พัดลมที่บ้านอยู่ๆ ก็มีอาการหมุนช้า ไม่แรงเหมือนเคย ปกติเคยเปิดเบอร์ 1 ก็ลมกำลังดี แต่ตอนนี้ต้องเปิดเบอร์ 3 ถึงจะหมุน บางคนเจอแบบไม่หมุนเลยก็มี ปัญหานี้แก้ไขได้ไม่ยาก และไม่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงแต่ประการใด เพียงใช้ไขควงตัวเดียวก็สามารถซ่อมได้แล้วครับ

สาเหตุ
เนื่องจากพัดลมที่เราใช้กันตามบ้านนั้น ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ 1 เฟส แต่การจะทำให้มอเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าเพียง 1 เฟส (ที่ความถี่ไฟฟ้า 50Hz)  หมุนได้นั้นย่อมต้องอาศัยตัวช่วยในการชดเชยเฟสของไฟฟ้าที่หายไปช่วงระยะหนึ่ง นั่นก็คือตัวเก็บประจุ หรือคาปาซิเตอร์นั่นเอง

แน่นอนว่าการนำคาปาซิเตอร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้งานนั้น ย่อมมีค่าความเสื่อม โดยจะเสื่อมเร็วหรือช้าเพียงใดขึ้นอยู่กับคุณภาพของคาปาซิเตอร์ที่ผู้ผลิตเลือกใช้งานด้วยและระยะเวลาการใช้งาน ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เกิดจากอาการเสื่อมของสารประกอบที่บรรจุภายในตัวมันเอง ทำให้ค่าความจุภายในลดลงมอเตอร์จึงไม่สามารถหมุนออกตัวได้หรือออกตัวได้แต่หมุนได้ช้าลง(องศาของเฟสแคบลง)

การตรวจสอบ
วิธีตรวจสอบว่าคาปาซิเตอร์ตัวดังกล่าวเสียหรือค่าความจุลดลงหรือไม่นั้น อาจดูจากรูปทรงที่เปลี่ยนไปของมันเช่นตัวถังบวม บิดเบี้ยว หรือปริแตก แต่หากไม่พบความผิดปกติที่ตัวถังก็ไม่ได้หมายความว่าคาปาซิเตอร์ตัวนั้นยังดีอยู่ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการใช้มิเตอร์วัดค่าความจุ

ขั้นตอนการเปลี่ยนคาปาซิเตอร์
1. ใช้ไขควง คลายสกรู 2 จุด คือบริเวณก้านสลักหมุน และส่วนท้ายของฝาครอบมอเตอร์ดังรูป แล้วดึงฝาครอบออกมา


คลายสกรูก้านสลักหมุน


คลายสกรูส่วนท้ายของฝาครอบ


ดึงฝาครอบออก

2. เมื่อดึงฝาครอบมอเตอร์ออกมา จะพบกับเจ้าคาปาซิเตอร์ขนาด 1.5µF (อ่านว่า-หนึ่งจุดห้าไมโครฟารัด) ยึดด้วยสกรูหนึ่งตัว ให้ทำการคลายสกรูแล้วใช้คีมตัดสายไฟออกมาดังรูป



3. ตรวจดูตัวถังว่ามีความผิดปกติหรือไม่ สำหรับตัวที่ผมถอดออกมานี้ ไม่มีความผิดปกติแต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องวัดค่าความจุด้วยมัลติมิเตอร์ ดังรูป
*แต่หากท่านผู้อ่านไม่มีมัลติมิเตอร์ที่สามารถวัดค่าความจุได้ก็คงต้องลองเสี่ยงไปซื้อมาเลยครับ ตัวละไม่เกิน 50 บาท


ปรับมิเตอร์ไปที่ย่านการวัดตัวเก็บประจุ จะมีสัญลักษณ์ -||- ประมาณนี้ โดยมิเตอร์ดิจิตอลจะอ่านค่าแปลงเป็นหน่วยที่เหมาะสมให้เราอ่านได้ง่าย จากรูปอ่านได้ 1.34µF ลดลงจาก 1.5µF

4. ให้นำตัวอย่างไปซื้อที่ร้านจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือร้านจำหน่ายอะไหล่แอร์ (บอกร้านแอร์ว่าซื้อแค๊ปพัดลม) ราคาตัวละไม่เกิน 50 บาท เมื่อได้มาแล้วทดลองวัดค่าอีกครับดังรูป อ้อ เวลาวัดที่ขั้วของตัวเก็บประจุห้ามใช้นิ้วมือจับหัววัดกับขาอุปกรณ์นะครับเพราะจะทำให้ค่าที่ได้คลาดเคลื่อน หรืออาจจับข้างเดียวก็ได้


ตัวที่ซื้อมาใหม่ครับ


ทดลองวัดค่าได้ 1.5µF เป๊ะๆ เลย 

5. นำตัวที่ซื้อมาใหม่ติดตั้งเข้าไปตามเดิมโดยปอกสายไฟแล้วพันเข้าไปกับสายเส้นเดิมนั่นแหละครับ แล้วพันด้วยเทปพันสายไฟให้เรียบร้อย จากนั้นจึงใช้สรูยึดเข้าไปตามเดิม


ต่อสายไฟเข้ากับสายเดิม


ใช้สกรูยึดให้เรียบร้อย

จากนั้นก็ประกอบฝาครอบเข้า่ไปตามเดิมก็เป็นอันเสร็จ เราก็จะได้พัดลมกลับมาหมุนได้เร็วตามเดิมแล้วล่ะครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Exit mobile version