Categories
Gadget iBEAM the Series Toy คุณทำเองได้ (DIY)

หุ่นยนต์กระปุกออมสินจอมเขมือบ

ช่วงเวลานี้เชื่อว่าหลายคนคงมีเวลาอยู่กับบ้านกันมากขึ้น เรามาหากิจกรรมทำในครอบครัวกันดีกว่า หรือน้องๆ จะประดิษฐ์เป็นโครงงานส่งคุณครูก็เก๋ไก๋ไม่ใช่เล่นเลยนะเออ และนี่ก็คือกระปุกออมสินจอมเขมือบ ที่มีนจะทำงานเมื่อเราวางเหรียญให้แล้วมันก็จะยกเทเข้าปากตัวเองทันที ที่สำคัญไม่ต้องใช้หัวแร้งบัดกรีแต่อย่างใด

เครื่องมือและอุปกรณ์

  1. แผงวงจร i-BEAM (จะซื้อเฉพาะแผงวงจรหรือซื้อเป็นชุดหุ่นยนต์ i-Beam ก็ได้) (สั่งซื้อ i-Beam มาใช้งานคลิกที่นี่)
  2. แผงวงจรตรวจจับแสงอินฟราเรดสะท้อน (ZX-03 หากมีชุดหุ่นยนต์ i-Beam อยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อเพิ่ม) (สั่งซื้อ ZX-03 มาใช้งานคลิกที่นี่)
  3. เฟืองขับมอเตอร์ BO1 อัตราทด 120:1 (สั่งซืื้อชุดเฟืองมอเตอร์ BO1 มาใช้งานคลิกที่นี่)
  4. กระดาษแข็ง (Card Board) หนาไม่เกิน 3 มิลลิเมตร
  5. ลวดงานประดิษฐ์หรือสายไฟแข็งเบอร์ 4 สำหรับทำกลไกขยับแขนและยกปากให้อ้า
  6. ปืนยิงกาวซิลิโคน

เมื่อเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วก็มาลงมือประดิษฐ์กันได้เลยจ้า

ชมคลิปการประดิษฐ์จาก YOUTUBE

ขั้นตอนการประดิษฐ์

เริ่มจากส่วนหัว

1. ตัดกระดาษขนาด 8x8cm. จำนวน 4 ชิ้น ดังรูปที่ 1.1

2. ประกอบเข้าด้วยกันด้วยปืนกาว ดังรูปที่ 2.1 นำกระดาษแข็งอีกแผ่นมาทาบแล้วประกอบทำส่วนปิดหัวแล้วยึดด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 2.2 ถึง 2.4

3. ใช้คัตเตอร์กรีดทำปากให้เหนือปากกล่องขึ้นมาประมาณ 2cm. จากนั้นใช้คัตเตอร์กรีดด้านหน้าและด้านข้างทั้งซ้ายและขวา จะได้ส่วนหัวที่อ้าปากได้ดังรูปที่ 3.3

ส่วนของลำตัว

4. ตัดกระดาษขนาด 9×6.5cm 2 ชิ้น และ 8×6.5cm. 2 ชิ้น

5. ประกอบเป็นกล่องด้วยปืนกาวดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำกระดาษแข็งอีกแผ่นมาทาบแล้ววาดด้วยดินสอและตัดเพื่อใช้ประกอบเป็นส่วนปิด (ตัดมา 2 ชิ้น) เพื่อจะได้นำไปต่อกับส่วนหัวได้ดังรูปที่ 5.4

6. ประกอบส่วนหัวเข้ากับลำตัวด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 6.2

7. นำกระดาษแข็งอีกชิ้นที่ตัดไว้จากข้อ 5 มาประกบปิดกล่องลำตัวด้วยปืนกาว

ต่อเติมส่วนขา

8. นำกระดาษแข็ง 8×2.5cm. มาประกอบเป็นส่วนขาด้วยปืนกาวดังรูปที่ 8.2

ทำส่วนกลไก

9. ใช้ดินสอวาดไม้ไอติมให้เป็นรูปทรงดังรูปที่ 9.1 จากนั้นใช้สว่านเซาะให้เป็นรูปทรงวงรีและนำมาสวมกับแกนของเฟืองขับมอเตอร์ BO1 ดังรูปที่ 9.3 และ 9.4

10. ใช้ลวดหรือสายไฟแข็ง มาดัดเป็นรูปตัวยู เพื่อใช้เป็นตัวกระเดื่องรับการตีจากไม้ไอติมที่เราติดตั้งไว้ในขั้นตอนที่ 9

11. ใช้คัตเตอร์เจาะส่วนหัวและลำตัวให้ทะลุถึงกัน

12. ติดตั้งเฟืองขับมอเตอร์ BO1 ในลักษณะตั้งขึ้น โดยเจาะรูด้านล่างให้ขนาดเท่ากับส่วนหัวของมอเตอร์ดังรูปที่ 12.2 จากนั้นสอดส่วนหัวมอเตอร์ลงด้านล่าง โดยระวังอย่าให้ใกล้กับลวดมากเกินไป เพราะจะทำให้เมื่อไม้ไอติมเหวี่ยงไปตีลวดแล้วจะทำให้ติดขัดได้ ควรวางให้ห่างออกมาเล็กน้อยหรือวางชุดเฟืองมอเตอร์เอนไปด้านหลังเล็กน้อยด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 12.5 และ 12.6

13. สอดลวดที่ดัดไว้จากขั้นตอนที่ 10 ลงไป (ดูวิดีโอการทำในยูทูป)

14. ทำส่วนถาดรับเหรียญที่เราจะฝังตัวตรวจจับแบบอินฟราเรดสะท้อน (ZX-03) ไว้ด้านใน ในตัวต้นแบบทำแบบสี่เหลี่ยมง่ายๆ และใช้ปืนยิงกาวยึดตัวตรวจจับไว้ด้านใน


15. ทำแขนโดยตัดกระดาษแข็งขนาดประมาณ 2x9cm จำนวน 4 ชิ้น นำมาประกบกันข้างละ 2 ชิ้น ด้วยปืนยิงกาว

16. ติดตั้งแขนโดยใช้ปลายลวดแทงทะลุออกมาดังรูปที่ 16.2 และพับลวดดังรูป 16.3 (ระวังอย่าให้แขนชิดกับลำตัวจนแน่นเกินไป) จากนั้นติดให้แน่นด้วยปืนยิงกาว

17. นำไม้ไอติมยึดระหว่างแขนทั้งสองข้างดังรูปที่ 17.2 จากนั้นนำชุดตัวตรวจจับที่ทำไว้ในขั้นตอนที่ 14 มาติดตั้งด้วยปืนยิงกาว

18. นำชุดแผงวงจร iBeam มาวางทาบด้านหลังเพื่อทำที่วางแผงวงจร ใช้ดินสอร่างตามรอยแผงวงจรดังรูปที่ 18.2 ตัดกระดาษแข็งมามาติดตามรูปทรงที่ร่างไว้ดังรูปที่ 18.3 และจะได้กะบะบรรจุแผงวงจร iBeam ดังรูปที่ 18.4 เจาะช่องสอดสายมอเตอร์ออกมาจากด้านในดังรูปที่ 18.5


19. ใช้ไม้กลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5cm ยาว 12cm. ทำเป็นเหมือนสกรูที่โผล่ออกมาจากหัวของแฟรงเกน ทำกลไกสำหรับอ้าปาก โดยการดัดสายไฟเป็นวงกลมคล้องกับไม้อีกปลายหนึ่งเสียบเข้ากับแขน จากนั้นตัดกระดาษแข็งทรง 6 เหลี่ยมทำเป็นหัวสกรูแล้วยึดเข้ากับปลายไม้กลมทั้ง 2 ด้าน ดังรูปที่ 19.3 ถึง 19.5


20. เสร็จแล้วหุ่นยนต์กระปุกออมสินจอมเขมือบของเรา

ต่อไปก็ระบายสีตามจินตนาการได้เลยจ้า


ปัญหาที่พบ

(1) การติดขัดของกลไกการยกแขน

  • แกนมอเตอร์ใกล้ลวดมากเกินไป ควรติดตั้งมอเตอร์เอนไปด้านหลังเล็กน้อย

(2) เหรียญไม่เข้าปาก

  • ระยะของลวดยกปากไม่เหมาะสม ลองย้ายตำแหน่งที่แขนออกมาเล็กน้อยเพื่อเพิ่มระยะการอ้าของปาก

ชมคลิปการประดิษฐ์จาก YOUTUBE


 

Categories
iBEAM the Series คุณทำเองได้ (DIY)

เครื่องรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติด้วยแผงวงจร iBEAM

บ่อยครั้งที่เราต้องออกไปทำธุระหรือไปเที่ยวต่างจังหวัดหลายวัน จะทำยังไงดีเมื่อต้นไม้ของเรากำลังมีใบเขียวขจีสวยงาม แต่หากขาดน้ำต้นไม้ของเราคงต้องเหี่ยวแห้งเป็นแน่ เหตุการณ์นี้แก้ไขได้ไม่ยากด้วยการสร้างเครื่องมือสำหรับรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ

ชมวิดีโอการสร้างคลิกเลย

หลักการทำงาน

ใช้หัววัดที่ประดิษฐ์เองด้วยแท่งโลหะ 2 ชิ้น สำหรับปักลงไปในดิน โดยอาศัยแผงวงจรสำเร็จรูปสำหรับควบคุมหุ่นยนต์เดินตามเส้น iBEAM เป็นตัวควบคุม เมื่อดินแห้งจะเกิดสภาวะความต้านทานสูงระหว่างแท่งวัดทั้งสองแท่ง แผงวงจร iBEAM จะส่งแรงดันไฟฟ้าจ่ายให้กับแผงวงจรรีเลย์เพื่อต่อหน้าสัมผัส จ่ายไฟให้กับปั้มน้ำทำการรดน้ำต้นไม้

รายการอุปกรณ์

  1. แผงวงจร iBEAM (ลิงก์สั่งซื้อสินค้า)
  2. แผงวงจรรีเลย์ RELAY1i (ลิงก์สั่งซื้อสินค้า)
  3. ปั้มน้ำ 220 โวลต์
  4. สายยาง
  5. หัวพ่นขนาดเล็ก
  6. อะแดปเตอร์ไฟตรง 9 โวลต์ (ลิงก์สั่งซื้อสินค้า)
  7. เทอร์มินอล (เต๋าต่อสาย) 3 ช่อง
  8. สายปลั้กสำเร็จรูป
  9. แท่งโลหะสำหรับใช้เป็นหัววัดดิน 2 แท่ง (ลิงก์สำหรับซื้อแท่งทองเหลือง)
  10. ฉนวนยางหรือวัสดุที่ไม่นำไฟฟ้าสำหรับเสียบติดตั้งแท่งโลหะ
  11. พลาสวูดหนา 3 มม. ขนาด A4 จำนวน 2 แผ่น (ลิงก์สั่งซื้อสินค้า)
  12. พลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 จำนวน 1 แผ่น (ลิงก์สั่งซื้อสินค้า)
  13. ถังหรือกล่องพลาสติกใส่น้ำ
  14. สายไฟแบบ IDC 1MF 4 เส้น (ลิงก์สั่งซื้อสาย IDC เลือกความยาวที่เหมาะสม)
  15. ตัวต้านทาน 1 กิโลโอห์ม
  16. สายไฟสำหรับตัววัดความชื้นในดิน ยาว 1 เมตร 2 เส้น
  17. เต้ารับเดี่ยว 1 ตัว
  18. กาวร้อน

ขั้นตอนการประดิษฐ์

1. วัดขนาดถังภายใน สำหรับทำแผ่นปิดด้านใน แล้วตัดด้วยพลาสวูด 3 มม. ให้ได้ขนาดตามที่วัดไว้ ดังรูปที่ 1.1 และ 1.2

2. ตัดพลาสวูดแผ่นหนา 5 มม. เป็นชิ้นเล็กๆ จำนวน 6 ชิ้น เพื่อทำเป็นบ่ารองแผ่นปิดด้านใน ที่ตัดจากขั้นตอนที่ 1 และติดตั้งด้านในกล่องด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 2

3. วางปั้มน้ำในกล่องแล้วเจาะรูแผ่นพลาสวูดที่ได้จากจากขั้นตอนที่ 1 สำหรับสอดสายยางดังรูป

4. บากมุมสำหรับสอดสายไฟของปั้มน้ำขึ้นมา

5. จัดวางอุปกรณ์ไว้ด้านซ้ายให้มีพื้นที่ว่างสำหรับตัดทำช่องเติมน้ำดังรูป

6. ติดตั้งชุดวัดความชื้นในดินโดย นำตัวต้านทานปรับค่าได้เสียบเข้ากับช่อง IDC ตัวเมียที่บอร์ด iBEAM บัดกรีสายไฟเข้ากับแท่งโลหะและขั้วสาย IDC ด้านตัวผู้ จากนั้นเสียบสาย IDC ด้านตัวเมียเข้ากับตัวผู้ของบอร์ด iBEAM ดังรูป 6.4

7. เชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกันดังรูปวาดที่ 7

8. ทดสอบโดยการนำแท่งวัดจุ่มน้ำไว้เมื่อเสียบปลั้กและเปิดสวิตช์ปั้มน้ำจะต้องยังไม่ทำงาน หากปั้มทำงานทันทีให้ปรับตัวต้านทานปรับค่าได้บนบอร์ด iBEAM จนปั้มน้ำหยุดทำงาน และเมื่อยกแท่งวัดขึ้นจากน้ำปั้มน้ำจะต้องทำงานทันที

 

9. ใช้สว่านดอกเล็กเจาะรูด้านข้างกล่องแล้วใช้สกรูเกลียวปล่อยขนาดเล็กขันยึดบ่าพลาสวูดที่ติดไว้ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 2 เพื่อทำให้บ่าพลาสวูดมีความแข็งแรง

10. ตัดแผ่นพลาสวูดแผ่นหนา 3 มม. ปิดด้านข้างให้ขอบสูงเสมอกับถังน้ำดังรูปที่ 10.1 จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน และตัดพลาสวูดแผ่นปิดด้านบนของกล่องดังรูปที่ 10.3 และเจาะช่องเปิดสำหรับซ่อมบำรุงดังรูปที่ 10.4 ตัดพลาสวูดทำเป็นบ่ารับแผ่นเปิดยึดด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 10.6 แล้วใช้วัสดุอะไรก็ได้ยึดบนฝาทั้งฝาเปิดเติมน้ำ และฝาเปิดสำหรับซ่อมบำรุง เพื่อเป็นมือจับ

11. ใช้กาวร้อนยึดแผ่นบนเข้ากับแผ่นขอบที่ดังรูป

12. นำไปทดสอบกับกระถางปลูก

ในบางครั้งเมื่อความชื้นในดินเริ่มเปลี่ยนจากแห้งเป็นเปียก หรือเปียกเป็นแห้ง พบว่าหน้าสัมผัสของรีเลย์จะสั่นรัวๆ ในช่วงเวลาประมาณ 5 ถึง 10 วินาที

วิธีแก้ไข
ทำความสะอาดแท่งวัด และเสียบลงในดินให้ลึกขึ้นจะทำให้ค่าการนำกระแสไฟฟ้าระหว่างแท่งต่อทำได้ดีขึ้น

นี่อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการรดน้ำต้นไม้อัตโนมัตินะครับ แต่ก็สามารถใช้แก้ขัดได้ในกรณีที่เราไม่อยู่บ้านหลายวัน

ชมวิดีโอการสร้างคลิกเลย


 

Categories
iBEAM the Series Pets คุณทำเองได้ (DIY)

ของเล่นแมวจากหุ่นยนต์ iBEAM

พบกับแนวคิดนอกกรอบในการทำโครงงานจากแผงวงจรควบคุมอัตโนมัติ มาสู่ของเล่นสำหรับเจ้าหน้าขนตัวโปรด

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่กับคนมานาน มีสัญชาติญาณในการล่าสูง ชอบวิ่งเล่นสนุกสนานซุกซน ของเล่นแมวจึงจัดว่า เป็นอุปกรณ์ที่ดีที่จะทำให้แมวรู้สึกสนุกสนาน โดยของเล่นแมวมีด้วยกันหลายแบบ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าคุณสามารถสร้างของเล่นแมวที่มีการตอบสนองกับมันได้โดยอัตโนมัติ

หัวใจหลักของโครงงานนี้คือ แผงวงจร iBEAM ที่ใช้ไอซีออปแอมป์เป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำงานร่วมกับโมดูลตรวจจับและวัดระยะทางด้วยแสงอินฟราเรด เมื่อแมวเข้ามาใกล้ วงจรจะขับมอเตอร์ทำงาน เพื่อทำให้ของเล่นเคลื่อนที่ออกห่างจากแมวไปด้วยระยะห่างค่าหนึ่งแล้วหยุด เมื่อแมวเข้ามาใกล้อีก วงจรจะขับมอเตอร์ให้ทำงานเพื่อทำให้ของเล่นเคลื่อนที่ห่างจากแมวอีกครั้ง ในรูปที่ 1 แสดงโครงสร้างการทำงานของโครงงานของเล่นสำหรับแมว

รูปที่ 1 ไดอะแกรมการทำงานของ KittenToys ของเล่นสำหรับแมว

รู้จักกับ GP2D120/GP2Y0A41 โมดูลวัดระยะทางด้วยแสงอินฟราเรด

GP2D120 และ GP2Y0A41 เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดระยะทางด้วยแสงอินฟราเรด โดยภายในตัวโมดูลจะมีอุปกรณ์หลัก 2 ตัวคือ LED อินฟราเรดและตัวรับแสงอินฟราเรดแบบอะเรย์ โดย LED จะขับแสงอินฟราเรดผ่านเลนส์นูนเพื่อโฟกัสแสงให้มีความเข้มมากที่สุดไปยังจุดใดจุดหนึ่ง เมื่อแสงกระทบวัตถุจะเกิดการสะท้อนและกระเจิงของแสงไปในทิศทางต่างๆ แสงส่วนหนึ่งจะสะท้อนกลับมายังภาครับ โดยมีเลนส์ภาครับทำหน้าที่รวมแสงและกำหนดจุดตกกระทบ แสงจะถูกส่งผ่านไปยังโฟโต้ทรานซิสเตอร์จำนวนมากที่ต้อเรียงตัวกันเป็นส่วนรับแสงหรืออะเรย์รับแสง ตำแหน่งที่แสงตก กระทบนี้จะถูกนำมาคำนวณหาระยะทางจากภาคส่งไปยังวัตถุได้

รูปที่ 2 หน้าตาและการจัดสายสัญญาณของโมดูลวัดระยะทางเบอร์ GP2D120/GP2Y0A41

คุณสมบัติทางเทคนิคที่สำคัญ
• ใช้การตรวจจับระยะทางด้วยการสะท้อนแสงอินฟราเรด
• วัดระยะทางได้ 4 ถึง 30 เซนติเมตร
• ไฟเลี้ยงที่เหมาะสมคือ +4.5 ถึง +5V ต้องการกระแสไฟฟ้าที่การวัดระยะทางสูงสุด 50mA
• ให้เอาต์พุตเป็นแรงดันในย่าน +0.4 ถึง +2.4V ที่ไฟเลี้ยง +5V
• ใช้งานได้โดยไม่ต้องต่ออุปกรณ์ภายนอกเพิ่มเติม

ในรูปที่ 3 เป็นกราฟแสดงผลการทำงานของโมดูล GP2D120 และ GP2Y0A41 (ทำงานเหมือนกันทุกประการ) จะเห็นได้ว่า ที่ระยะทางตรวจจับใกล้แรงดันเอาต์พุตที่ได้จะมีค่าสูง และลดลงเมื่อระยะทางที่วัดได้เพิ่มขึ้น

รูปที่ 3 กราฟแสดงผลการทำงานของโมดูล ​GP2D120 และ GP2Y0A41

เตรียมอุปกรณ์
จัดหาอุปกรณ์ตามรูปที่ 4 โดยแผงวงจร iBEAM และโมดูล GP2D120 หรือ GP2Y0A41 และอุปกรณ์ส่วนใหญ่จัดซื้อได้จาก INEX ที่ www.inex.co.th

รูปที่ 4 อุปกรณ์ทั้งหมดที่ต้องใช้ในโครงงานของเล่นของแมว KittenToy

การสร้าง
เริ่มจากโครงสร้าง
(1) สวมล้อพลาสติกเข้าที่แกนหมุนของชุดมอเตอร์พร้อมเฟืองขับรุ่น BO2-120:1 ที่มีการติดตั้งตัวยึด (motor holder) ไว้แล้ว ขันยึดให้แน่นด้วยสกรูเกลียวปล่อย 2 มม. ตามรูปที่ 5

รูปที่ 5

(2) นำสกรู 3×10 มม. 2 ตัว ร้อยเข้ารูกลางของฉากโลหะ 2×5 รู ทั้ง 2 ชิ้น เพื่อเตรียมไว้ยึดอุปกรณ์ในขั้นตอนถัดไป ตามรูปที่ 6

รูปที่ 6

(3) นำฉากโลหะจากขั้นตอนที่ (2) ยึดเข้ากับแผ่นฐานกลม โดยติดฉากโลหะทั้งสองชิ้นในทิศทางตรงข้ามกันตามตำแหน่งในรูปที่ 7

รูปที่ 7

(4) หงายแผ่นฐานขึ้นมา แล้วนำกล่องรองกะบะถ่านมาสวมเข้ากับ สกรู 3×10 มม. ที่ยึดกับฉากโลหะไว้ แล้วขันยึดให้แน่นด้วยนอต 3 มม. ทั้ง 2 จุด ดังรูปที่ 8

รูปที่ 8

(5) นำชุดมอเตอร์พร้อมเฟืองขับมายึดกับด้านตั้งฉากของฉากโลหะ 2×5 รูทั้งสองตัวที่ยึดกับแผ่นฐานไว้แล้วด้วยสกรู 3×6 มม. ในลักษณะตามรูปที่ 9

รูปที่ 9

(6) นำแบตเตอรี่ AA จำนวน 4 ก้อนบรรจุลงในกะบะถ่าน จากนั้นนำไปติดตั้งบนกล่องรองกะบะถ่าน ดังรูปที่ 10

รูปที่ 10

(7) ยึดโมดูลวัดระยะทาง GP2D120 กับฉากโลหะ 2×3 รู ด้วยสกรู 3×6 มม. และนอต 3 มม. ขันยึดให้แน่น ทำเช่นเดียวกันทั้งสองข้าง ดังรูปที่ 11

รูปที่ 11

(8) นำฉากโลหะ 2×5 รูมายึดกับแผงวงจร iBEAM โดยวางฉากโลหะด้านยาว 5 รู ขนานกับแผงวงจร iBEAM จากนั้นยึดด้วยสกรู 3×6 มม. และนอต 3 มม. ขันยึดให้แน่นตามรูปที่ 12.1 จากนั้นนำโมดูล GP2D120 จากขั้นตอนที่ (7) มายึดกับแผงวงจร iBEAM ด้วยสกรูหัวตัด 3×5 มม. ดังรูปที่ 12.2 เชื่อมต่อสายสัญญาณจากโมดูล GP2D120 เข้าที่ช่องอินพุดด้านซ้าย (LEFT_Sensor) ของแผงวงจร iBEAM ดังรูปที่ 12.3

รูปที่ 12 ติดตั้งโมดูล GP2D120 เข้ากับแผงวงจร iBEAM

ประกอบร่าง
(9) นำแผ่นฐานที่ยึดมอเตอร์และกะบะถ่านแล้วมาประกอบกับส่วนควบคุมและตัวตรวจจับ ต่อสายไฟของกะบะถ่านเข้าที่ช่อง POWER ของแผงวงจร iBEAM และต่อสายไฟของมอเตอร์เข้าที่จุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายของแผงวงจร iBEAM ดังรูปที่ 13

รูปที่ 13 เตรียมการประกอบร่างของโครงงาน

(10) ตัดด้ายเชือกร่มยาว 10 เซนติเมตร ประมาณ 30 เส้น เรียงให้ดีและใช้เทปใสติดปลายด้านใดด้านหนึ่ง จากนั้นนำไปติดกับปลายหลอดพลาสติก เพื่อใช้เป็นพู่ล่อให้แมวมาเขี่ยเล่น นำหลอดที่ติดด้ายเชือกร่มแล้วเสียบเข้ากับโครงของส่วนควบคุมและมอเตอร์ โดยให้หลอดพลาสติกอยู่ตรงด้านเดียวกับโมดูลวัดระยะทางดังรูปที่ 14.2 จะได้โครงของชิ้นงานที่พร้อมสำหรับการทดสอบต่อไป

รูปที่ 14 ยึดพู่เข้ากับโครงของส่วนควบคุม

ทดสอบการใช้งานและตั้งค่าอุปกรณ์
(1) ถอดสายมอเตอร์ที่เสียบกับจุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายของแผงวงจร iBEAM ออกก่อน เพื่อให้ปรับค่าตัวต้านทานบนแผงวงจร iBEAM ได้ง่ายขึ้น
(2) เปิดสวิตช์ไฟเลี้ยงของแผงวงจร iBEAM จะเห็น LED สีเขียวบนแผงวงจรควบคุมติดสว่าง หากไม่ติด อาจต่อสายไฟเลี้ยงจากกะบะถ่าน 4 ช่องผิดขั้ว หรือต่อสายไม่แน่น ทำการแก้ไขให้ถูกต้อง
(3) นำมือไปวางตรงบริเวณพู่เชือกร่มที่ปลายหลอด แล้วค่อยๆ ปรับค่าตัวต้านทานที่ตำแหน่ง LEFT Sensor ของแผงวงจร iBEAM จนกว่า LED สีแดงที่แสดงสถานะเอาต์พุตของจุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายจะติดสว่าง
(4) เลื่อนมือให้ห่างออกไปประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นปรับค่าตัวต้านทานที่ตำแหน่ง LEFT Sensor ของแผงวงจร iBEAM จนกว่า LED สีแดงที่แสดงสถานะเอาต์พุตของจุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายจะดับ เป็นอันเสร็จสิ้นการปรับแต่ง
(5) ปิดสวิตช์ของแผงวงจร iBEAM ต่อมอเตอร์เข้ากับจุดต่อเอาต์พุตด้านซ้ายให้เรียบร้อย
(6) เปิดสวิตช์และทดสอบการใช้งาน โดยนำมือเข้าใกล้บริเวณพู่เชือกร่ม จะทำให้วงจรทำงาน มอเตอร์ถูกขับ ทำให้ตัวชิ้นงานหมุนห่างออกไป

ตกแต่งอุปกรณ์ของเล่นแมว
เนื่องจากอุปกรณ์ทั้งหมดถูกติดตั้งอยู่โดดๆ จึงทำให้อาจถูกแมวที่มาเล่นกัดสายไฟเสียหายได้ จึงจำเป็นจะต้องใช้กล่องหรือภาชนะอื่นๆ มาครอบตัวโครงงาน มีขั้นตอนการทำและตกแต่งชิ้นงานดังนี้

(1) เตรียมสายไฟสำหรับทำสวิตซ์เปิดปิดจากภายนอก เนื่องจากเมื่อนำกล่องมาครอบแผงวงจรแล้ว จะเปิดสวิตช์จากแผงวงจร iBEAM โดยตรงไม่ได้ โดยตัดสายไฟอ่อนยาวประมาณ 10 เซนติเมตร จำนวน 2 เส้น บัดกรีเข้ากับสวิตชฺเปิดปิด ดังรูปที่ 15

รูปที่ 15 บัดกรีสายไฟให้แก่สวิตช์เปิดปิดภายนอก

(2) นำภาชนะหรือกล่องมาเจาะให้เป็นช่องให้โมดูลวัดระยะทางทำการตรวจจับวัตถุได้ และเจาะรูทางด้านหลังเพื่อใช้ติดตั้งสวิตซ์เปิดปิด อาจตกแต่งด้วยดวงตาตุ๊กตาหรือโบว์ต่างๆ ได้ตามใจชอบ ดังตัวอย่างในรูปที่ 16

รูปที่ 16 ตัวอย่างกล่องบรรจุ, แนวทางการตกแต่งกล่อง และการติดตั้งสวิตช์เปิดปิดเพิ่มเติมให้แก่โครงงานของเล่นแมว

(3) นำกล่องที่ทำเสร็จแล้วมาครอบชุดอุปกรณ์ควบคุม โดย
(3.1) ปลดสายไฟบวกของกะบะถ่านออกจากแผงวงจร iBEAM จากนั้นต่อสายไฟของสวิตช์เปิดปิดภายนอกอนุกรมกับสายไฟบวกของกะบะถ่านโดยใช้เทปพันสายไฟ เพื่อใช้สวิตช์ภายนอกในการเปิดปิดไฟเลี้ยงวงจร
(3.2) ต่อสายไฟลบของสวิตช์เปิดปิดเข้ากับขั้วบวก(+) ของแผงวงจร iBEAM
(3.3) สายไฟขั้วลบของกะบะถ่าน (สีดำ) ต่อเข้ากับขั้วลบ (-) ของแผงวงจร iBEAM
(3.4) เปิดสวิตช์ที่แผงวงจร iBEAM ไว้ตลอดเวลา (แต่อย่าเพิ่งเปิดสวิตซ์ที่อยู่บนกล่อง)
(3.5) นำกล่องครอบวงจรทั้งหมด แล้วยึดติดด้วยเทปใส จะได้ผลงานดังรูปที่ 17

รูปที่ 17 ตัดต่อสายไฟเลี้ยงเข้ากับสวิตช์เปิดปิดภายนอกของโครงงานของเล่นแมว

รูปที่ 18 KittenToy ที่เสร็จแล้วพร้อมใช้งาน


 

Exit mobile version