Categories
Electronics Arts Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

โคมไฟสไตล์อาร์ตๆ ปิดเปิดอัตโนมัติ

โคมไฟเก๋ๆ หน้าตาประหลาด ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นการใช้งานที่จะทำให้คุณลืมโคมไฟตัวเก่าที่บ้านของคุณไปเลย! ด้วยการตรวจจับความเคลื่อนไหวของคุณยามต้องลุกจากเตียงไปทำภาระกิจส่วนตัวยามดึก และเมื่อคุณกลับมานอนตามเดิมมันก็จะค่อยๆหรี่แสงลงจนเหลือเพียงแสงสีน้ำเงินกล่อมคุณนอนสักครู่และจะดับไปเอง เจ๋งมั้ยล่ะ ถ้าชอบแล้วเรามาดูอุปกรณ์ที่ต้องใช้กันเลย

รายการอุปกรณ์
1. แผงวงจร i-BOX
2. ต้วต้านทาน 22Ω 1W 2 ตัว
3. LED สีขาว ขนาด 8 มม. 21 ดวง
4. LED สีน้ำเงิน ขนาด 8 มม. 21 ดวง
5. ZX-02 แผงวงจรตรวจจับแสง(คลิกสั่งซื้อ)
6. ZX-PIR โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว(คลิกสั่งซื้อ)
7. แจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียแบบติดตั้งบนหน้าปัด
8. สวิตช์กดติดปล่อยดับแบบติดตั้งบนหน้าปัด
9. ถ้วยกระดาษจำนวน 22 ใบ
10. ลูกบอลพลาสติกแข็ง ขนาดกลาง
11. ขาตั้งกล้องถ่ายภาพขนาดกลาง (คลิกสั่งซื้อ)
12. ชิ้นต่อพลาสติกแบบฉาก 6 ชิ้น และแบบตรง 3 ชิ้น
13. กระปุกพลาสติกแบบมีฝาปิด
14. แผ่นพลาสวูดขนาดขึ้นกับขนาดของกระปุกพลาสติก
15. นอต 6 มม.
16. สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็ก
17. ปืนยิงกาวร้อน(คลิกสั่งซื้อ)
18. กาวแท่ง
19. สายไฟขนาดเล็ก
20. เทปพันสายไฟหรือท่อหด
21. กาวสองหน้าอย่างหนา
22. อะแดปเตอร์ไฟตรง 4.5 หรือไม่เกิน 6V

การสร้าง
(1) คว้านลูกบอลให้มีขนาดเท่ากับกระปุกพลาสติกจะได้ช่องวงกลมที่สามารถใส่กระปุกพลาสติกเข้าไปได้ดังรูปที่ 1


(2) นำก้นถ้วยกระดาษมาวางทาบแล้วใช้ดินสอวาดลงไปบนลูกบอลให้ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนทั่วลูกบอล โดยให้ขอบของรูปวงกลมชิดกัน เมื่อวาดจนทั่วแล้วเราก็จะได้จำนวนของถ้วยกระดาษและ LED ที่ต้องใช้จริง โดยใช้ LED สีขาวกับสีน้ำเงินอย่างละครึ่งของจำนวน LED ทั้งหมด จากนั้นทำการเจาะรูบริเวณกึ่งกลางของรูปวงกลมทั้งหมดที่วาดไว้ ดังรูปที่ 2.1 เสร็จแล้วมาเจาะรูขนาดเล็กที่ก้นถ้วยกระดาษ 2 รู พอให้ขา LED สอดเข้าไปได้ดังรูปที่ 2.2 จากนั้นเสียบ LED เข้าไปด้านในของถ้วยดังรูปที่ 2.3 แล้วยึด LED เข้ากับถ้วยกระดาษด้วยปืนกาวดังรูปที่ 2.4

(3) บัดกรีสายไฟเส้นเล็ก 2 เส้นเข้ากับขา LED และใช้ปากกาเมจิกแต้มสีไว้ที่ปลายข้างหนึ่งของสายไฟข้างที่เป็นขั้วลบดังรูปที่ 3.1 จากนั้นใช้เทปพันสายไฟพันจุดบัดกรีเพื่อป้องกันการลัดวงจรดังรูปที่ 3.3

(4) สอดปลายสายไฟเข้าไปในรูของลูกบอล แล้วยึดถ้วยกระดาษที่ติดตั้ง LED เข้ากับลูกบอลด้วยปืนยิงกาวร้อนดงรูปที่ 4 สำหรับการติดตั้งถ้วยบนลูกบอลนั้นให้สลับสีของ LED ทั้งสองสีไปมา

(5) เมื่อสอดสายเข้าลงมาในลูกบอลและติดตั้งถ้วยจนครบแล้ว ให้แบ่งสายไฟออกเป็น 2 ชุด โดยเป็นของ LED สีขาว 1 ชุด อีกชุดเป็นของ LED สีน้ำเงิน แล้วปอกสายเพื่อบัดกรีสายของแต่ละชุดแยกกันไว้ นำตัวต้านทาน 22Ω 1W บัดกรีคั่นระหว่างขาแอโนด (ขั้วบวก) ของ LED กับสายต่อมอเตอร์ดังรูปที่ 5

(6) ตัดแผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. ให้มีขนาดพอดีกับฝาของกระปุกพลาสติก จากนั้นเจาะรูตรงกลางแผ่นพลาสวูดให้มีขนาดเท่ากับนอต 6 มม. ใส่นอตเข้ากับแผ่นพลาสวูดแล้วยึดด้วยปืนยิงกาว

(7) เจาะรูที่แผ่นพลาสวูดเพื่อติดตั้งแจ็กอะแดปเตอร์และเจาะรูที่ฝาของกระปุกพลาสติกให้มีขนาดใหญ่กว่าแจ็กอะแดปเตอร์เล็กน้อย จากนั้นยึดแจ็กอะแดปเตอร์เข้ากับแผ่นพลาสวูดด้วยปืนกาวดังรูปที่ 7

(8) ประกอบชิ้นต่อพลาสติกแบบฉากและแบบตรงเข้าด้วยกัน จำนวน 3 ชิ้น เพื่อเป็นฐานรองแผงวงจร i-BOX 3.0 จากนั้นยึดชิ้นต่อพลาสติกเข้ากับฝากระปุกด้านในด้วยสกรูเกลียวปล่อยตัวเล็ก จากนั้นยึดแผ่นพลาสวูดที่มีแจ็กอะแดปเตอร์กับนอต 6 มม. ติดตั้งอยู่เข้ากับฝากระปุกพลาสติกด้านนอก ดังรูปที่ 8

(9) ต่อสายสวิตช์ RUN ของแผงวงจร i-BOX 3.0 ออกมาด้านนอกเพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยบัดกรีสายไฟเส้นเล็กเข้ากับสวิตซ์กดติดปล่อยดับดังรูปที่ 9.1 จากนั้นบัดกรีปลายสายไฟอีกด้านคร่อมกับสวิตช์ RUN บนแผงวงจร i-BOX 3.0 ดังรูปที่ 9.2 เจาะรูลูกบอลให้มีขนาดพอดีกับสวิตซ์กดติดปล่อยดับแล้วติดตั้งลงไปดังรูปที่ 9.3 และ 9.4

(10) ติดตั้งแผงวงจร i-BOX 3.0 เข้ากับฐานรองด้วยกาวสองหน้าดังรูปที่ 10.1 จากนั้นเจาะรูด้านข้างของกระปุกพลาสติกเพื่อสอดสายของแผงวงจรตรวจจับเข้ามาดังรูปที่ 10.2

(11) เจาะรูลูกบอลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. จำนวน 2 รู เพื่อติดตั้งแผงวงจรตรวจจับแสง (ZX-02) และโมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว (ZX-PIR) โดยให้สายสัญญาณลอดรูลงไปแล้วสอดเข้ากับรูด้านข้างของกระปุกพลาสติกดังรูปที่ 11.1 จากนั้นเสียบสายของแผงวงจรตรวจจับแสงเข้ากับช่อง sensor0 และเสียบสายของโมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหวเข้ากับช่อง sensor3 เสียบสายต่อ LED สีขาวกับช่อง MotorA และสีน้ำเงินกับช่อง MotorB เชื่อมต่อสายไฟเลี้ยงจากแจ็กอะแดปเตอร์เข้ากับเทอร์มินอลบล็อกให้อยู่ในลักษณะบวกในลบนอก ดูการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทั้งหมดได้ในรูปที่ 12 สุดท้ายเปิดสวิตช์เพาเวอร์บนแผงวงจร i-BOX 3.0 ไว้ ปิดฝากระปุกพลาสติกให้เรียบร้อย สอดกระปุกพลาสติกเข้าไปในตัวโคมไฟ

(12) เจาะก้นถ้วยกระดาษนำไปครอบโมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหวดังรูปที่ 13 เพื่อจำกัดทิศทางในการตรวจจับความเคลื่อนไหว หากไม่ครอบเอาไว้เวลาเรานอนดิ้นไปมาตัวโมดูลจะตรวจพบความเคลื่อนไหวของเราได้

(13) ติดตั้งโคมไฟเข้ากับขาตั้งกล้องโดยการประกบแป้นขาตั้งกล้องเข้ากับนอตที่ฝังไว้ที่แผ่นพลาดวูดแล้วขันล็ฮกให้แน่นดังรูปที่ 14

ดาวน์โหลดโปรแกรม
เริ่มจากการเปิดโปรแกรม Logo Blocks ขึ้นมา แล้วลากบล็อกตามรูปที่ 15 เสร็จแล้วเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 4.5V จ่ายไฟให้กับระบบ จากนั้นเสียบสาย CX-4 เข้ากับแผงวงจร i-BOX 3.0 เพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมลงไป กดสวิตช์ RUN โคมไฟก็จะเริ่มทำการตรวจสอบเงื่อนไขของโปรแกรม แล้ว

การทำงานของโปรแกรม
เนื่องจากเจ้า Afro Lighting มีการตรวจจับที่สำคัญอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ ตรวจสอบสภาพแสงว่ามืดหรือไม่ และตรวจสอบความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต ดังนั้นการตรวจสอบจึงแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลักดังนี้

ส่วนที่ 1
เริ่มด้วยการตรวจสอบสภาพแสงด้วยแผงวงจรตรวจจับแสง ที่จุดต่อ sensor0 ว่ายังมีแสงสว่างอยู่หรือไม่ หากยังมีแสงสว่างโปรแกรมจะไปทำงานที่บล็อกคำสั่ง ab, off และวนตรวจสอบไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบว่าสภาพแสงมืดลง ในส่วนนี้บางบ้านอาจมีระบบตั้งเวลาปิดไฟอัตโนมัติหากตรวจสอบแค่มืดแล้วโคมไฟติดก็จะทำให้โคมไฟสว่างโดยไม่จำเป็น จึงมีการตรวจสอบเงื่อนไขเพิ่มเติมก็คือมีความเคลื่อนไหวที่จุดต่อ sensor3 หรือไม่ หากพบการเคลื่อนไหวด้วยก็แสดงว่าเงื่อนไขเป็นจริง โปรแกรมจึงสั่งให้มีการจ่ายไฟออกมาที่พอร์ตของมอเตอร์ a และ b ในขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญเพราะเราจะใช้เทคนิคการตั้งค่ากำลังไฟฟ้า ที่จ่ายออกมาทางช่องต่อมอเตอร์นี้มีระดับพลังงานที่สอดคล้องกับการหน่วงเวลา โดยให้ค่อยๆ ลดกำลังไฟฟ้าลงจน LED ดับลงในที่สุด ระยะเวลาในการขับ LED สามารถแก้ไขค่าหน่วงเวลาได้ตามต้องการเลยค่ะ

ส่วนที่ 2
เป็นการตรวจสอบความเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว เพราะหลังจากโปรแกรมทำงานในส่วนการตรวจจับที่ 1 จบลงแล้ว จะยังไม่วนไปตรวจสอบส่วนที่ 1 เพราะติดคำสั่ง waituntil เพื่อรอจนกว่า sensor3 ตรวจพบความเคลื่อนไหว โปรแกรมจึงสั่งให้จ่ายไฟออกทางช่องต่อมอเตอร์ โดยในส่วนนี้จะให้ความสำคัญกับกำลังไฟฟ้าและการหน่วงเวลาติดสว่างของ LED เป็นพิเศษ เพื่อให้คุณได้รับแสงสว่างในช่วงเวลาที่กำลังเดินออกจากห้องไปทำธุระ และเมื่อคุณกลับเข้ามาในห้องอีกครั้ง โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหวก็จะทำงานอีกครั้ง โคมไฟก็จะติด เพื่อให้คุณได้กลับมายังเตียงนอนอย่างสะดวกสบาย จากนั้นโปรแกรมจะหยุดอยู่ที่คำสั่ง waituntil เพื่อรอตรวจจับความเคลื่อนไหวอีกครั้ง

นี่คืออีกหนึ่งไอเดียในการประยุกต์แผงวงจร i-BOX ที่มากับชุดหุ่นยนต์อัตโนมัติขนาดเล็ก Robo-Circle จากบริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

Glow Buddha Shelf

ออกแบบหิ้งพระสไตล์โมเดิร์นที่มีไฟส่องนำทางในยามค่ำคืน แบบเดินผ่านปุ๊บ ติดปั๊บ กับวงจรง่ายๆ ไม่ต้องใช้ไมโครฯ
 
ปัญหาอย่างหนึ่งในยามค่ำคืนที่หลายคนต้องพบเจอก็คือ ความมืด แน่นอนว่าทำให้คุณมองทางและข้าวของที่วางอยู่บนพื้นไม่เห็น ตอนแรกตั้งใจจะทำไฟส่องทางเดินธรรมดาๆ แต่พอชายตาเห็นพระพุทธรูปในบ้านที่วางไว้บนหลังตู้หนังสือที่ดูไม่ค่อยดีเอาเสียเลย งานนี้เลยต้องมิกซ์แอนด์แมทช์กันหน่อย จึงนำไอเดียไฟส่องทางมาผสานกับงานออกแบบหิ้งพระใหม่ ที่มีระบบไฟเปิดปิดอัตโนมัติคอยให้แสงสว่างเราได้ไปในตัว

โดยรูปแบบหิ้งพระที่เราจะสร้างกันก็จะมีลักษณะดังรูปที่ 1 ใช้แผ่น
พลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น รองรับพระพุทธรูปที่มีหน้าตักกว้าง 17 ซม. ได้พอดี แต่แนวคิดนี้คงไม่เหมาะกับบ้านที่มีห้องพระแบบเป็นกิจลักษณะนะครับ แต่เหมาะสำหรับบ้านเล็กๆ หรือห้องพักคอนโดฯ ที่มีพื้นที่จำกัด เรียกว่า รุกยืนปุ๊บ ไฟติดปั๊บ


รูปที่ 1 หิ้งพระที่ต้องการสร้าง

การทำงานของวงจร
จากวงจรรูปที่ 2 เริ่มจากเมื่อ ZX-PIR V2.0 ตรวจจับคนเดินผ่านได้ จะส่งกระแสไฟฟ้าไปจ่ายให้กับทรานซิสเตอร์ Q1 ส่งผลให้รีเลย์ต่อหน้าสัมผัสที่ตำแหน่ง C (commond) และ NC (normal close) เข้าด้วยกัน ทำให้ LED ทั้งชุดส่องพระและชุดส่องแจกันหลอดแก้วติดสว่าง โดยจะติดสว่างไปจนกว่าจะครบการหน่วงเวลาที่ปรับไว้ของ ZX-PIR V2.0 และเมื่อครบเวลาการหน่วงหาก ZX-PIR V2.0 ไม่พบความเคลื่อนไหวใดๆ ZX-PIR V2.0 ก็จะหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ Q1 รีเลย์จะหยุดการต่อหน้าสัมผัส C และ NC ทำให้ LED ทั้งสองชุดดับ

สร้างแผงวงจรควบคุมระบบไฟส่องสว่าง
เริ่มด้วยการเสียบอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์รุ่น uPCB02C ในตำแหน่งตามรูปที่ 3 จุดที่เป็นวงกลมสีแดงคือจุดติดตั้งขาอุปกรณ์ โดยให้ทำการคว้านรูติดตั้ง รีเลย์ และ IC1 ด้วยดอกสว่านขนาด 1 มม. หากไม่มีดอกสว่านอาจใช้ตะปูกดลงไปทั้งด้านบนและด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์จนสามารถเสียบอุปกรณ์ได้ ทำการบัดกรีแล้วเชื่อมต่อจุดเชื่อมต่อต่างๆ บนแผ่นวงจรพิมพ์ให้ครบ จากนั้นให้จัดเตรียมและเชื่อมต่อสายอุปกรณ์ต่อพ่วงต่อไปนี้
สายแจ๊กอะแดปเตอร์ตัวเมีย ใช้สายไฟ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายต่อ ZX-PIR V2.0 ใช้สาย IDC1MF จำนวน 3 เส้น
สายไฟเลี้ยง LED ส่องพระ 2 เส้น ยาวเส้นละ 10 ซม.
สายไฟเลี้ยง LED ส่องหลอดแก้ว 2 เส้น ยาวเส้นละ 30 ซม. (2 ชุด)
สุดท้ายเชื่อมต่อจุดบัดกรีของอุปกรณ์ด้านล่างเข้าด้วยกันดังรูปที่ 4

รูปที่ 2 วงจรของหิ้งพระเรืองแสง

 

รูปที่ 3 การจัดวางอุปกรณ์ด้านบนและการเชื่อมต่อด้านล่างของแผ่นวงจรพิมพ์

รูปที่ 4 แผ่นวงจรพิมพ์ที่ติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว

ลงมือสร้างหิ้งพระ
เริ่มจากนำแผ่นพลาสวูดขนาด A4 จำนวน 7 แผ่น มาตัดให้ได้ชิ้นส่วนตามแบบ (ดาวน์โหลดแบบ) ด้วยคัตเตอร์ให้ครบทุกชิ้น จากนั้นลงมือประกอบตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้เลย
(1) นำพลาสวูด L1 และ R1 ประกบกับ T1 ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำ F1 และ B1 ประกบเข้าไปจะได้ส่วนของฐานบนสำหรับวางองค์พระดังรูปที่ 5.3

(2) นำพลาสวูดแผ่น C1 และ C2 มาตัดทำมุม 45 องศาด้วยคัตเตอร์ ดังรูปที่ 6.2 จากนั้นใช้ไดร์เป่าลมร้อนดัดให้โค้งเป็นซุ้ม แล้วติดด้านที่ตัด 45 องศาเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 6.3

คลิกเพื่อชมวิดีโอตัวอย่างการดัดพลาสวูด

(3) นำซุ้มที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 มาติดบนฐานพระดังรูปที่ 7.1 และ 7.2

(4) นำ L2 และ R2 ประกบเข้ากับแผ่น T2 เพื่อสร้างเป็นฐานด้านล่างของหิ้งดังรูปที่ 8.1

(5) เจาะช่องแจกันหลอดแก้วบนแผ่น T2 โดยการนำหลอดแก้วมาทาบและเจาะเป็นช่องด้วยวงเวียนคัตเตอร์ โดยทำทั้งสองข้างของฐานหิ้งดังรูปที่ 9.1 และ 9.2

(6) จับฐานหิ้งหงายขึ้น ติดตั้งแผ่น i1 และ i2 และแผ่น B2 เข้ากับแผ่น T2 ดังรูปที่ 10

(7) บัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 30 ซม. เข้ากับ LED 8 มม. สีขาว ทั้งสองดวงดังรูปที่ 11.1 จากนั้นใช้สว่านเจาะรูที่แผ่น T2 ขนาด 2 มม. แล้วสอดสายไฟออกไปอีกด้าน

(8) นำเศษพลาสวูดทรงกลมที่ถูกตัดจากขั้นตอนที่ 5 มาเจาะรูให้พอดีกับ LED 8 มม. จากนั้นติดตั้งเข้ากับแผ่น B2 โดยให้ LED หงายขึ้นสำหรับส่องหลอดแก้วดังรูปที่ 12.3 ทำเหมือนกันทั้งสองข้างดังรูปที่ 12.3 ยึดพลาสวูดเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน

(9) ทำไฟส่ององค์พระพุทธรูป โดยบัดกรีสายไฟเส้นเล็กยาว 10 ซม. เข้ากับ LED แถบอ่อนดังรูปที่ 13.1 ลอกกาวที่แถบ LED ออก แล้วติดที่ฐานของซุ้มดังรูปที่ 13.2 เจาะรู 2 มม. สอดสายไฟเข้าไปด้านในดังรูปที่ 13.3

(10) เจาะรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.3 ซม. ที่ด้านหน้าฐานซุ้มสำหรับติดตั้ง ZX-PIR V2.0 จากนั้นเจาะรูติดตั้งแจ็กอะแดปเตอร์ไว้ด้านหลัง นำชุดแผงวงจรตรวจจับลงติดตั้งในกล่อง สำหรับแผงวงจรให้ใช้สกรูเกลียวปล่อยตัวเล็กขันยึดรูของแผ่นวงจรพิมพ์เข้ากับพลาสวูด ส่วน ZX-PIR V2.0 ยึดด้วยปืนยิงกาว แล้วเชื่อมต่อสายไฟของชุด LED ส่ององค์พระ ส่วนไฟส่องหลอดแก้วให้ต่อตัวต้านทาน 450 โอห์ม คั่นไว้ดวงละ 1 ตัว การต่อดูจากรูปวงที่ 2 ประกอบ เมื่อต่อเสร็จแล้วใช้เทปพันสายไฟพันหุ้มขาและตัวต้านทานให้เรียบร้อยดังรูปที่ 14.5

(11) สุดท้ายประกอบชุดลิ้นชัก เริ่มจากนำแผ่นฝาข้างลิ้นชัก 2 ชิ้น แผ่นฝาท้าย และแผ่นพื้นลิ้นชัก มาประกอบเข้ากับแผ่น F2 ดังรูปที่ 15.1 จะได้ลิ้นชักสำหรับเก็บหนังสือพระธรรม หรือเก็บข้าวของอื่นๆ ดังรูปที่ 15.2

(12) นำแจกันหลอดแก้วเสียบลงในรูทั้งสองด้าน แล้วทำการทดสอบ เริ่มจากเสียบอะแดปเตอร์ไฟตรง 9 หรือ 12 V แต่ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ 9 V จะได้แสงสว่างกำลังดี ลองใช้มือเคลื่อนผ่านหน้าหิ้งไฟจะต้องติด และจะดับลงตามการปรับค่าการหน่วงเวลาที่ตัว ZX-PIR V2.0 ก็เป็นอันเสร็จจากนั้นก็นำองค์พระพุทธรูปมาวางได้เลย

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/4 วัตต์
R1 : 1 kΩ
R2.R3 : 450 Ω 2 ตัว
ตัวเก็บประจุอิเล็กทรอไลต์
C1 : 47 µF 25 V
C2 : 220 µF 25 V
อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ
IC1 : LM2940
Q1 : BC337
D1,D2 : 1N4001 2 ตัว
LED สีขาวแบบแถบอ่อน 2 ชุด (3 ดวง/ชุด)
LED สีขาว 8 มม. 2 ดวง
อื่นๆ
โมดูลตรวจจับความเคลื่อนไหว ZX-PIR V2.0
รีเลย์ 5 โวลต์
แจ็กอะแดปเตอร์แบบยึดแท่น
สาย IDC1MF 3 เส้น
หลอดแก้วหรือหลอดทดลอง 2 หลอด
พลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. 7 แผ่น
แผ่นวงจรพิมพ์ uPCB02C
เครื่องมือ
กาวร้อน
มีดคัตเตอร์
ปืนยิงกาว
หัวแร้งและตะกั่วบัดกรี
หมายเหตุ : ZX-PIR V2.0, แผ่นวงจรพิมพ์อเนกประสงค์ uPCB02C และพลาสวูดขนาด A4 หนา 5 มม. มีจำหน่ายที่ www.inex.co.th สอบถามเพิ่มเติมโทร 0-2747-7001-4

แล้วเราก็ได้ของแต่งบ้านชิ้นใหม่ ขั้นตอนอาจจะดูยุ่งยากไปหน่อยแต่ถ้าลงมือปฏิบัติแล้วจะรู้ว่าง่ายมากๆ

อย่างไรก็ตามการบูชาพระพุทธรูปนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อการบนบานสานกล่าวนะครับ เรามีติดบ้านไว้เพื่อระลึกถึงพระธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้เรานำมาปฏิบัติ เพื่อรู้ตามเห็นตามซึ่งอริยสัจ 4 ยังประโยชน์ให้ถึงซึ่งวิมุตติ ขอให้เจริญในธรรมและสนุกกับการประดิษฐ์ครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

ตู้รับจดหมายแจ้งเตือนด้วย LED

หากคุณเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับจดหมายและเอกสาร ไม่ควรพลาดโครงงานนี้ ตู้รับจดหมายกันฝนพร้อมมีแสงไฟแสดงสถานะจดหมายในตู้ติดสว่างในยามค่ำคืน

ชวนท่านนักประดิษฐ์สร้างตู้รับจดหมายกันน้ำสำหรับเกาะรั้วแบบมีไฟเตือนสถานะเมื่อมีจดหมายเข้า โดยใช้วงจรง่ายๆ ทำได้ทุกคน (ขอให้ใช้หัวแร้งเป็นก็พอ)

หลายท่านคงเคยเห็นโคมไฟสนามโซลาร์เซลที่ปัจจุบันมีขายกันตามห้างสรรพสินค้าและร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป สนนราคาก็ประมาณหนึ่งร้อยบาทปลายๆ จนถึงหลายร้อยบาทหรือหลักพันก็มี (แต่หลักพันนี่ไม่เคยใช้ครับ) โคมไฟเหล่านี้เหมาะสำหรับใช้ประดับสวนเพื่อความสวยงามและบอกตำแหน่งเป็นหลัก ที่น่าสนใจก็คือ ราคาค่าตัวของมันสุดแสนจะถูก เหมาะที่เราจะเอามารื้อประกอบเป็นสิ่งประดิษฐ์ของเรา ว่าแล้วก็มาดูอุปกรณ์ที่จะต้องใช้กันก่อนเลยครับ

เตรียมวัสดุและอุปกรณ์

1. ชุดโคมไฟโซลาร์เซลล์ (คลิกสั่งซื้อ) 
2. แลตชิ่งรีเลย์ เบอร์ AL-D 5 W-K (คลิกสั่งซื้อ)
3. กะบะถ่าน AA 3 ก้อน (คลิกสั่งซื้อ)
4. แบตเตอรี่ AA 3 ก้อน
5. ไมโคร (ลิมิต) สวิตช์แบบมีก้าน 2 ตัว
6. แผ่นพลาสวูดหนา 5 มม. (ขนาดที่ต้องใช้ดูจากรูปที่ 1)
7. เสารองโลหะยาว 1 นิ้ว 6 ตัว
8. สกรู 3×15 มม. 6 ตัว
9. แผ่น PVC สีขาวหนา 0.5 มม. แบบโปร่งแสง 1 แผ่น
10. กาวซิลิโคนสีขาว หรือใส (สั่งซื้้อคลิก)
11. กาวร้อน (สั่งซื้อคลิก)
12. ปืนยิงกาวร้อน (สั่งซื้อคลิก)
หมายเหตุ : แลตชิ่งรีเลย์มีจำหน่ายที่ บริษัท อีเลคทรอนิคส์ ซอร์ซ จำกัด โทร : 0-2623-9460-6

รูปที่ 1 รูปวาดส่วนประกอบของตู้รับจดหมาย

รูปที่ 2 แสดงการเชื่อมต่อวงจรกับอุปกรณ์จริง

หลักการทำงาน
จากรูปที่ 2 แสดงการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยการทำงานเริ่มจากไมโครสวิตช์ SW1 ตรวจจับการเปิดปิดฝาช่องใส่จดหมาย และ SW2 ตรวจจับการเปิดปิดฝาด้านหลังตู้ ปกติไมโครสวิตช์จะถูกกดอยู่ยังไม่มีกระแสไฟจ่ายให้กับขดลวดของรีเลย์ จนกระทั่งบุรุษไปรษณีย์มาเปิดฝาเพื่อใส่จดหมายช่วงเวลานี้เองก้านสวิตช์ SW1 จะถูกยกขึ้นทำให้มีกระแสไฟไหลผ่านขั้ว C และ NC ไปเลี้ยงขดลวดที่ 1 ของแลตชิ่งรีเลย์ที่ขา 10 ทำให้หน้าสัมผัสที่ขา 2 และ 3 ของแลตชิ่งรีเลย์ต่อถึงกันและยังคงต่อค้างอยู่อย่างนั้นแม้ SW1 จะถูกกดลงตามเดิมแล้วก็ตาม แต่ LED จะยังไม่ทำงานจนกว่าแสงสว่างภายนอกจะมืดลง

เมื่อถึงยามค่ำที่เรากลับถึงบ้านก็จะพบกับแสงสว่างจาก LED ที่เตือนเราว่ามีจดหมายอยู่ในตู้และเปิดฝาหลังตู้หยิบจดหมายก้าน SW2 จะถูกยกขึ้นทำให้มีกระแสไฟไปเลี้ยงขดลวดที่ 2 ของแลตชิ่งรีเลย์ที่ขา 1 และ 5 หน้าสัมผัสที่ขา 2 และ 3 จะแยกออกจากกันทำให้ LED ดับลง การทำงานของวงจรก็มีเพียงเท่านี้ ที่เหลือก็งานฝีมือล้วนๆ

การสร้างตู้จดหมายเกาะรั้ว
ก่อนอื่นต้องบอกว่าตู้รับจดหมายนี้ออกแบบเผื่อเอาไว้สำหรับบ้านทาวน์เฮ้าส์ที่ส่วนมากเหล็กสำหรับทำรั้วจะใช้เหล็กกล่องขนาดไม่เกิน 2 นิ้ว และที่สำคัญรั้วต้องเปิดแบบบานพับไม่ใช่รั้วแบบเลื่อนเหมือนบ้านเดี่ยว เอาล่ะครับก่อนอื่นทำการตัดแผ่นพลาสวูดตามแบบในรูปที่ 1 ให้ครบจากนั้นประกอบตามขั้นตอนต่อไปนี้

(1) นำแผ่น A1 , B1 และ B2 ประกอบกันยึดด้วยกาวร้อนเพื่อใช้เป็นโครงสร้างหลักดังรูปที่ 3 (ในรูปเป็นตัวต้นแบบยังไม่ได้แยกแผ่น A2 ออกมา)

(2) นำแผ่น C1 และ C2 ประกอบด้านบนสำหรับเป็นช่องรับจดหมายดังรูปที่ 4

(3) นำแผ่น E1, E2 และ E3 ติดด้านในตรงช่องของแผ่น A2 เพื่อกัน ฝาตู้ด้านหลังดังรูปที่ 5.2 และ 5.3

 

(4) ตัดเศษพลาสวูดเป็นแท่งขนาดกว้าง 0.5 ซม. ยาว 3 ซม. จากนั้นเหลาให้เป็นแท่งทรงกลมสำหรับใช้เป็นก้านกดไมโครสวิตช์ดังรูปที่ 6.2 หรืออาจใช้ไม้ตะเกียบกลมมาตัดก็ได้เช่นกัน

(5) เจาะรูด้านขวาของแผ่น C2 ให้มีขนาดเท่ากับก้านพลาสวูดทรงกลมที่ทำจากขั้นตอนที่ 4 โดยให้ก้านพลาสวูดสามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงรูได้คล่อง จากนั้นนำเศษพลาสวูดขนาดเล็กติดเข้ากับก้านพลาสวูดทรงกลมด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 7.3 นำไมโครสวิตช์มาติดตั้งยึดด้วยปืนยิงกาว ใช้นิ้วทดลองกดเบาๆ เมื่อปล่อยมือ ก้านพลาสวูดจะต้องสามารถกระเด้งขึ้นเองได้สะดวก

(6) ติดเศษพลาสวูดสำหรับเป็นตัวดันก้านไมโครสวิตช์ SW2 ที่แผ่น A2 ด้วยกาวร้อน (ฝาหลังตู้) ดังรูปที่ 8.1 แล้วติดตั้งไมโครสวิตช์ SW2 กับแผ่น A1 ด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 8.2

(7) ติดตั้งแผ่น D1 ไว้ด้านบน โดยยึดด้วยบานพับเข้ากับด้านหลังตู้ (A1) ดังรูปที่ 9.2 จากนั้นติด D2, D3 และ D4 เป็นกันสาดด้านล่างแผ่น D1 ในตำแหน่งด้านซ้าย ขวา และหลัง

(8) นำชุดโคมไฟสนามโซลาร์เซลมารื้อเอาเฉพาะแผงรับแสงอาทิตย์ และวงจร สำหรับกะบะถ่านต้องใช้คีมตัดค่อยๆ เล็มทีละนิดจดได้เฉพาะกะบะถ่านดังรูปที่ 10.4

(9) ติดตั้งแผงรับแสงอาทิตย์ไว้บนแผ่น D1 (หลังคา) บริเวณมุมขวาโดยเจาะรูสำหรับสอดสายลงไปด้านล่างและเจาะอีกรูที่แผ่น A1 (หลังตู้) สำหรับสอดสายเข้าในตู้ดังรูปที่ 11.2 ยึดแผงรับแสงอาทิตย์ด้วยปืนยิงกาว จากนั้นใช้กาวซิลิโคนยาแนวให้รอบแผ่นรับแสงอาทิตย์เพื่อกันน้ำเข้า

(10) ประกอบแผ่น J เข้ากับด้านหน้าดังรูปที่ 12.1 แล้วเจาะช่อง สี่เหลี่ยมสำหรับให้ LED ส่องแสงออกมาดังรูปที่ 12.2 จากนั้นตัดพลาสวูด เป็นกรอบนำแผ่น PVC สีขาวแบบโปร่งแสงติดกับช่องที่เจาะไว้ด้วยกาวร้อนแล้วแปะกรอบพลาสวูดทับลงไปอีกชั้น โดยขั้นตอนนี้อาจออกแบบเป็นรูปทรงอื่นเช่นวงกลม หรือฉลุลวดลาย ตามความชอบส่วนตัวได้เลย

(11) ติดตั้งกะบะถ่าน AA 3 ก้อนไว้ด้านล่างของแผ่น C1 ส่วนแลตชิ่งรีเลย์ก็หาที่เหมาะๆ ติดไว้ด้วยปืนกาว ส่วนชุดวงจรไฟแสดงสถานะติดไว้ใต้แผ่น C2 โดยให้ LED ยื่นออกมากึ่งกลางของช่องแผ่น J ที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่ 10 ดังรูปที่ 13.2

เพิ่มเติมอีกนิดในรูปที่ 13.1 จะเห็นว่ามีแบตเตอรี่บรรจุไว้เพียง 2 ก้อน เป็นเพราะว่าขั้นตอนนี้ไมโครสวิตช์ถูกปล่อยลอยไว้ และเพื่อป้องกันไม่ให้มีกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยงขดลวดรีเลย์ตลอดเวลาจึงต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อน

(12) ประกอบแผ่น F , G ดังรูปที่ 14.1 และแผ่น H สำหรับปิดก้นตู้รับจดหมายด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 14.2

(13) ประกอบแผ่น L1 และ L2 เข้ากับแผ่น K ดังรูปที่ 15

(14) ประกอบชิ้นรั้วเข้ากับแผ่น i ด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 16

(15) เจาะรูสำหรับยึดเสารองโลหะที่แผ่น K ด้วยสว่านแล้วยึดสกรูขนาด 3×15 มม. ดังรูปที่ 17.1 อาจเจาะหลายรูหน่อยเผื่อตอนติดตั้งไปเจอเอาแนวเหล็กรั้วเข้าจะได้เลี่ยงไปยึดรูอื่นได้ จากนั้นเจาะรูที่แผ่น G ให้ตรงกับแนวเสารองโลหะดังรูปที่ 17.3 และ 17.4

(16) ประกอบชุดรั้วกับแผ่น K ที่เจาะรูและยึดเสารองโลหะไว้แล้วด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 18 ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการทำตู้รับจดหมายแล้วครับ

การติดตั้ง
นำตู้รับจดหมายไปคล้องกับรั้วดังรูปที่ 19.1 จากนั้นนำชุดยึดที่มีแนวรั้วสำหรับปลูกต้นไม้ไปประกบดังรูปที่ 19.2 เปิดฝาหลังตู้ขันสกรู 3×15 มม. เข้าไปดังรูปที่ 19.3 ก็เป็นอันเรียบร้อย ขั้นตอนสุดท้ายก็นำไม้ดอกสวยๆ ไปลงปลูกในกะบะดังรูปที่ 20

การใช้งาน
บรรจุแบตเตอรี่ AA 3 ก้อน ลงในกะบะถ่านให้เรียบร้อย จากนั้นก็รอบุรุษไปรษณีย์มาเปิดตู้จดหมายแลตชิ่งรีเลย์ก็จะต่อหน้าสัมผัสให้กับ LED พอเวลากลางคืน LED ก็จะติดสว่างทำให้เรารู้ว่ามีจดหมายในตู้ และเมื่อเปิดฝาออกแลตชิ่งรีเลย์ก็จะตัดหน้าสัมผัสทำให้ LED ดับทันที

ลองทำดูนะครับสำหรับคนที่ชอบแต่งบ้านและไม่ต้องการเหมือนใคร และที่สำคัญแทบไม่ต้องใช้ทักษะทางอิเล็กทรอนิกส์เลยก็สร้างได้แล้ว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Electronics Arts Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

สร้างงานศิลป์ ระบายสีด้วย LED

สร้างสรรค์งานศิลป์จากแสงของ LED ที่ควบคุมความสว่างและช่วงเวลาของแสงได้

เมื่อพูดถึง LED แล้วคุณนึกถึงอะไร แน่นอนว่าต้องคิดถึงสีสันที่ชวนหลงใหลอันหลากหลายของมัน ยิ่งนับวัน LED ยิ่งมีวิวัฒนาการสามารถสร้างเป็นเฉดสีใหม่ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้นึกสนุกขึ้นมาได้ว่า หากเราระบายสีลงบนผืนผ้าด้วย LED ล่ะ จะออกมาเป็นยังไง

นั่นล่ะครับ จึงเป็นที่มาของโครงงานนี้ และด้วยความเป็นคนชอบประดิษฐ์ของแต่งบ้านจึงไม่รอช้าจัดหาอุปกรณ์มาทดลองประดิษฐ์ให้รู้แจ้งกันไปเลยว่าจะออกมาหน้าตายังไง

แนวคิดการออกแบบ
เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสร้างแนะนำให้หาซื้อภาพวาดที่เขาลงสีไว้แล้วดังรูปที่ 1 จะเหลือพื้นที่ให้จิตกร LED ก็คือส่วนพื้นหลัง ซึ่งจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากท้องฟ้า จึงเหมาะสำหรับมือใหม่ใจร้อนทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วว่าภาพที่เราต้องลงสีคือท้องฟ้า คราวนี้ก็มาเรียงร้อยเรื่องราวโดยแนวความคิดของภาพนี้ก็จะเน้นไปที่บรรยากาศสบายๆ แห่งท้องทุ่งของหนุ่มบ้านไร่ที่ตอนท้ายก็ได้หวานใจไฮโซมาครอบครอง โดยแบ่งกลุ่ม LED ออกเป็น 5 กลุ่มได้แก่

(1) ดวงอาทิตย์ ใช้ LED สีแดง 8 มม. แบบความสว่างสูง ส่องจากด้านหลังเพื่อให้ดูเหมือนพระอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า

(2) ท้องฟ้าส่วนล่าง ใช้ LED สีฟ้า 3 มม. แบบความสว่างสูง จำนวน 18 ดวง

(3) ท้องฟ้าส่วนบน ใช้ LED สีน้ำเงิน 8 มม. 15 ดวง

(4) หน้าต่างบ้านใช้ LED สีเหลือง 5 มม. 5 ดวง

(5) พระจันทร์ ใช้ LED สีเหลือง 8 มม. 1 ดวง

ต่อไปก็มาลำดับเนื้อเรื่องกันสักนิดก่อนจะเริ่มประดิษฐ์กันจริงๆ โดยเริ่มจาก เมื่อแสงสว่างในบ้านเริ่มลดลง ดวงอาทิตย์ก็จะติดขึ้นและค่อยๆ หรี่ลงจนดับ พร้อมกับการติดขึ้นของ LED ชุดที่ 2 นั่นก็คือท้องฟ้าส่วนล่างที่จะค่อยๆ เพิ่มความสว่างขึ้น ตามด้วย LED ชุดที่ 3 ท้องฟ้าส่วนบน ก็จะติดและค่อยๆ เพิ่มความสว่างขึ้นเช่นกัน จากนั้นไฟที่หน้าต่างบ้านคนก็ติดขึ้น และปิดท้ายด้วยดวงจันทร์ที่ค่อยๆ สว่างขึ้นจนเห็นชัดเจนเต็มดวง

ขั้นตอนการประดิษฐ์
เมื่อรู้ถึงแนวคิดและลำดับการทำงานของ LED แต่ละชุดไปแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาที่ทุกท่านรอคอย เรามาเริ่มลงมือประดิษฐ์กันเลยครับ

(1) นำกระดาษขนาด B4 หรือกระดาษลอกแบบแผ่นใหญ่ มาวางทับด้านหลังภาพ แล้วใช้ดินสอวาดตามรูปดังรูปที่ 2.2 จากนั้นใช้คัตเตอร์หรือกรรไกรตัดกระดาษ B4 ออกมาเราจะได้แบบของแผ่นกั้นแสงไม่ให้ส่องผ่านตำแหน่งที่เป็นลวดลายที่ได้ลงสีไว้แล้วดังรูปที่ 2.3

(2) ทำส่วนกั้นแสงโดยการนำกระดาษที่ตัดเป็นแบบทาบกับแผ่นยางดังรูปที่ 3.1 แล้วลากเส้นตามแบบด้วยดินสอแล้วตัดแผ่นยางออกมาตามแบบที่วาดไว้ (ขออภัยทำเพลินจนลืมถ่ายรูป)

(3) ตัดพลาสวูดดังรูปที่ 4 สำหรับทำเป็นกรอบเสริมด้านนอกเพิ่มพื้นที่ในการติดตั้งแผงวงจรควบคุม โดยความยาวขึ้นกับขนาดของกรอบรูปที่เราซื้อมา ส่วนความกว้างคือ 5 ซม.

(4) ติดแผ่นยางที่ตัดไว้จากขั้นตอนที่ 2 ลงไปด้านหลังภาพด้วยปืนยิงกาว แล้วติดตั้ง LED ต่อขนานกันลงไปบนแผ่นยางในบางตำแหน่งก่อนทดลองจ่ายไฟ +3V ด้วยแบตเตอรี่ CR2032 เพื่อดูความสว่างด้านหน้าของภาพว่าเกิดเงาสะท้อนหรือไม่ หากเกิดเงาของแผ่นยางพาดผ่านให้แก้ไขโดยการรีดแผ่นยางให้แนบสนิทกับพื้นรูปภาพ จากนั้นติดตั้งแผ่นพลาสวูดเข้ากับกรอบรูปดังรูปที่ 5

(5) ตัดพลาสวูดทำกรอบด้านหน้าเพื่อความสวยงามโดยขนาดขึ้นกับภาพที่ซื้อมาให้มีลักษณะดังรูปที่ 6.1 แล้วนำมาติดตั้งดังรูปที่ 6.3 ด้วยกาวร้อนจะได้กรอบรูปพลาสวูดห่อหุ้มภาพเขียนเอาไว้

(6) ติดตั้ง LED ลงในตำแหน่งที่ต้องการด้วยปืนยิงกาวดังรูปที่ 7

(7) เชื่อมต่อตัวต้านทานเข้ากับ LED แต่ละชุด จากนั้นบัดกรีสายต่อมอเตอร์เข้ากับชุด LED ทั้งหมดจำนวน 5 ชุดดังรูปวาดที่ 8 จะได้ชุดไฟ LED สำหรับระบายสร้างบรรยากาศพร้อมนำไปเชื่อมต่อแผงวงจรไมโครคอน โทรลเลอร์รุ่น i-BOX 3S ที่พัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาโลโก้ดังรูปที่ 9 แล้ว

 

(8) เชื่อมต่อแผงวงจรตรวจจับแสง (ZX-02) เข้ากับช่อง SENSOR 3 ของแผงวงจร i-BOX3S จากนั้นบัดกรีสายไฟเส้นเล็กเข้ากับขั้วของสวิตช์กดติดปล่อยดับในตำแหน่ง RUN ดังรูปวาดที่ 8 เพื่อความสะดวกในการใช้งาน เพราะแผงวงจร i-BOX3S จะทำงานเมื่อกดสวิตช์ RUN

(9) ติดตั้งแผงวงจร i-BOX3S และกะบะแบตเตอรี่ 4 ก้อน ไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วยปืนยิงกาว ไม่ให้บดบังแสงของ LED ขณะทำงานส่องกระทบกับผืนผ้าดังรูปที่ 10

(10) ต่อสาย LED ทุกจุดเข้ากับจุดต่อมอเตอร์โดยให้ LED ชุดท้องฟ้า ส่วนล่างต่อกับ MOTOR-B, ท้องฟ้าส่วนบนต่อกับ MOTOR-A, หน้าต่างต่อเข้ากับ MOTOR-C, ดวงอาทิตย์ต่อกับ MOTOR-D ช่อง Forward (ขั้วต่อสีขาว) , ดวงจันทร์ต่อกับ MOTOR-D ช่อง Backward (ขั้วต่อสีดำ)

(11) เจาะรูขนาด 3 มม. ที่กรอบด้านบนสำหรับติดตั้งแผงวงจรตรวจจับแสงดังรูปที่ 11.1 และ 11.2 และเจาะรูติดตั้งสวิตช์ RUN ที่ต่อพ่วงมาจากแผงวงจร i-BOX3S

 

(12) เปิดโปรแกรม Logo Blocks ขึ้นมา แล้วลากบล็อกมาวางเชื่อมต่อกันตามรูปที่ 12 ส่วนค่าตัวเลขของ SENSOR 3 สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่จะนำภาพไปติดตั้ง จากนั้นดาวน์โหลดโปรแกรมลงสู่แผงวงจร i-BOX3S กดสวิตช์ RUN เพื่อทดสอบการทำงานดังรูปที่ 13

(13) เมื่อโปรแกรมทำงานตามต้องการได้แล้ว มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการนำกระดาษขาวมาปิดบัง LED เอาไว้นอกจากจะช่วยไม่ให้แสงกระเจิงออกภายนอกแล้วยังช่วยสะท้อนแสงให้กระทบกับผืนผ้าได้ดีขึ้นอีกด้วย จากนั้นตัดเศษพลาสวูดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเจาะรูสำหรับแขวนผนังดังรูปที่ 14 ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการประดิษฐ์แล้วครับ

 

ปัญหาและการปรับแต่ง
สำหรับการปรับแต่งนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ปัญหาที่พบมักเกิดจากแสงของ LED เมื่อส่องกระทบกับผืนผ้าแล้วเป็นดวงๆ ไม่กระเจิงหรือดูไม่แนบเนียนเหมือนการระบายสี ให้ขยับเลื่อน LED เข้าไปในแผ่นยางดังภาพวาดที่ 15 ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้ว ส่วนความหนักเบาของสีก็ขึ้นอยู่กับค่าตัวต้านทานที่ต่อกับ LED แต่ละชุดด้วยนะครับ แต่หากไม่ต้องการเปลี่ยนค่าตัวต้านทานก็สามารถตั้งค่าจากโปรแกรม Logo Blocks ได้ด้วยการกำหนดที่บล็อกคำสั่ง setpower

การปรับแต่งคงมีเพียงเท่านี้ เพราะแผงวงจรที่ใช้ในโครงงานนี้ก็สำเร็จรูปมาให้พร้อมใช้งานอยู่แล้ว ที่เหลือก็อยู่ที่ความอุตสาหะของแต่ละท่านแล้วล่ะครับ ก็ขอให้สนุกกับงานศิลป์ในแบบของคุณได้ ณ บัดนี้

รายการอุปกรณ์
ตัวต้านทาน 1/2 หรือ 1/4 วัตต์ ±5%
R1 = 30Ω
R2 = 20Ω
R3,R4,R5 = 47Ω   3 ตัว
LED สีฟ้า แบบขุ่น 3มม. 16 ดวง
LED สีฟ้า แบบขุ่น 8มม. 20 ดวง LED สีเหลือง แบบขุ่น 5มม. 5 ดวง
LED สีแดง แบบขุ่น 8มม. 1 ดวง LED สีเหลือง แบบขุ่น 8มม. 1 ดวง
สายต่อมอเตอร์ 5 เส้น
แผงวงจรตรวจจับแสง ZX-02
แผงวงจร i-BOX3S
สายไฟเส้นเล็กหรือสายแพ กรอบภาพเขียนสีน้ำ
พลาสวูด 5 มม. ขนาดขึ้นกับกรอบภาพเขียนที่ซื้อมา
หมายเหตุ : แผงวงจร i-BOX 3Sแผงวงจรตรวจจับแสง สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.inex.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Gadget Home & Garden Lighting คุณทำเองได้ (DIY)

สอนประดิษฐ์รองเท้าไฟฉาย

อยากเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน แต่ไม่อยากเปิดไฟหัวเตียงเพราะกลัวแสงไฟจะรบกวนคนนอนข้างๆ หรือกระทั่งน้ำท่วมบ้านโดนตัดไฟต้องการไฟฉายแต่ไม่รู้วางไว้ที่ไหน

สิ่งประดิษฐ์นี้จะมาช่วยคุณได้ นั่นคือรองเท้าติดไฟ เพียงแค่คุณสวมรองเท้าคู่นี้เข้าไป จะทำให้คุณหมดปัญหาในเรื่องของแสงสว่างยามค่ำคืน การใช้งานเพียงสวมรองเท้าแล้วเดิน ก็จะมีแสงไฟส่องออกมาจากปลายของรองเท้า โอ้ว !! มันยอดมากเลยใช่ไหม ลงมือทำกันเลย

เตรียมอุปกรณ์
รองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน 1 คู่
กะบะถ่าน CR2032   1 อัน
ถ่าน  CR2032  3V   1 ก้อน
LED สีขาวขนาด 8 มม.    1 ดวง/ข้าง
แถบตีนตุ๊กแก ขนาด 4 x 1.5 ซม. 1 เส้น
สายไฟเส้นเล็กๆ
กาวร้อน  (กาวตราช้าง)
เข็มและด้าย

ลงมือประดิษฐ์กันเลย
(1) ขั้นตอนแรกนำรองเท้าใส่ในบ้านมา 1 คู่ หาซื้อได้ตามร้านไดโซ ที่ขายสินค้าราคาเดียวเพียง 60 บาท จากนั้นใช้คัตเตอร์หรือที่เลาะด้ายเลาะส้นรองเท้าออกประมาณ 5 ซม. ดังรูปที่ 1.1

(2) ขั้นต่อไปวางกะบะถ่านแล้วขีดเส้นเพื่อกำหนดตำแหน่งสำหรับติดตั้ง แล้วใช้คัตเตอร์เจาะตามรอยที่ขีดไว้ลึกลงไป โดยเผื่อให้กะบะถ่านโผล่ขึ้นมาประมาณ 1 มม.

(3) ต่อไปเป็นขั้นตอนการเชื่อมต่อวงจร ดัดขา LED สีขาวขนาด 8 มม. ดังรูปที่ 3.1 บัดกรีสายไฟเข้ากับขาของ LED แล้วนำ LED เสียบเข้าร่องส่วนปลายของรองเท้าเพื่อซ่อนขา LED และสายไฟดังรูปที่ 3.3 เก็บสายไฟให้เรียบร้อยโดยเหน็บเข้าร่องด้านข้างของรองเท้าดังรูปที่ 3.4 เจาะรูเล็กๆ ด้านข้างรองเท้าแล้วสอดสายไฟเข้าไปดังรูปที่ 3.6 เมื่อสอดสายไฟเข้าไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะนำกะบะถ่านไปวาง ให้ใช้คีมดัดขั้วกะบะถ่านด้านขั้วบวกขึ้นดังรูปที่ 3.8 แล้ววางลงไปในรูที่เจาะไว้ในขั้นตอนที่ 2 บัดกรีสายไฟให้เรียบร้อยตามรูปการเชื่อมต่ออุปกรณ์ ต้องสังเกตขั้วบวกขั้วลบในการต่อให้ดี เพราะถ้าผิดขั้วอาจทำให้ LED พังได้

 

(4) เย็บเก็บชายให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้ผ้าหลุดลุ่ย ดังรูปที่ 4.1  นำแถบตีนตุ๊กแกขนาด 4 x 1.5 ซม. ทากาวร้อนแล้วติดลงไปดังรูปที่ 4.2 เมื่อติดแถบตีนตีนตุ๊กแกเพื่อใช้เปิด-ปิดเวลาเปลี่ยนแบตเตอรี่เสร็จแล้วให้ปิดส้นรองเท้าลง แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ด้วยอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้น คุณก็สามารถเดินไปทั่วบ้าน โดยไม่ต้องเปิดไฟเลยสักดวงก็ได้


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

Categories
Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

ทำฝาท่อน้ำทิ้งด้วยพลาสวูด

เชื่อว่าผู้อ่านที่มีบ้านเป็นทาวน์เฮ้าส์หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ในการต่อเติมพื้นที่หลังบ้านให้กลายเป็นห้องครัวเหมือนกับผม ปัญหาก็คือท่อน้ำหลังบ้านที่ไม่เพียงแต่ส่งกลิ่นเหม็นเท่านั้น

วันดีคืนดีก็มีแขกไม่ได้รับเชิญเลื้อยขึ้นมานอนอยู่ในครัวที่เราต่อเติมยังกับเป็นบ้านของตัวเอง



ลองดูตัวอย่างจากครัวที่ต่อเติมด้านหลังของบ้านผมเป็นตัวอย่างนะครับช่าง รับเหมาเดินท่อน้ำทิ้งจากรางน้ำฝนบนหลังคาเข้ามาในตัวบ้าน แทนที่จะฝังไว้ใต้พื้นแต่กลับปล่อยทิ้งไว้น่าตาเฉยโดยมีข้ออ้างสารพัดที่จะอธิบายกับเรา ตอนแรกก็ไม่ได้ติดใจอะไร พออยู่ๆไปฝนตกสิครับ สารพัดสิ่งไม่พึงประสงค์จากหลังคาก็ไหลเข้ามาในครัวเลอะเทอะไปหมด แถมบางวันเข้าบ้านมาต้องตกใจกับเจ้างูน้อยที่นอนอยู่ในครัว ผมเข้าใจว่ามันคงขึ้นมาจากท่อระบายน้ำที่ผมอยากจะปิดรูให้มิดชิด แต่ก็ปิดไม่ได้เพราะกลัวฝนตกแล้วน้ำจะไม่ระบายลงท่อ อ้อ อีกประการหนึ่งคือตอนฝนตกยังมีกลิ่นเหม็นขึ้นมาจากท่อระบายน้ำอีกต่างหาก แล้วจะทำยังไงดีล่ะครับงานนี้ หันไปหันมาเจอแผ่นพลาสวูด 5มม. ที่เตรียมไว้ทำโครงงานลงนิตยสาร the prototype electronics จึงปิ๊งไอเดียเลยครับ ก็อย่างที่ทราบกันดีว่าพลาสวูดเป็นวัสดุที่สามารถตัด เจาะ เซาะ ง่ายโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษแต่อย่างใด แถมยังโดนน้ำได้ไม่ผุไม่เป็นเชื้อรา ผมจึงนำมันมาทำเป็นฝาปิดท่อน้ำแล้วก็จัดการฝังท่อน้ำให้มันมุดหัวลงไปในฝาท่อพลาสวูดซะเลย

แต่ต้องขอบอกไว้ก่อนครับ ว่าผมทำไว้นานแล้ว แต่พอดีจะเจาะรูทำเป็นฝาเลื่อนเปิดปิดสำหรับเวลาล้างหรือเทน้ำทิ้งจะได้สะดวก เพราะเมื่อก่อนผมใช้วิธีดึงท่อออกมาแล้วค่อยเทน้ำทิ้งออกจึงไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ไหนๆ จะทำแล้วก็เลยมาบอกต่อให้ท่านนักอ่านและรักการประดิษฐ์ได้ชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันไว้ครับ โดยจะขอเริ่มตั้งแต่การทำท่อน้ำเลยก็แล้วกัน

ขั้นตอนการทำเป็นฝาท่อน้ำทิ้ง
1.เริ่มจากนำแผ่นพลาสวูดมาวางทาบฝาท่อน้ำทิ้งเดิมแล้วตัดให้เท่ากับฝาท่อเดิมทุกประการ แล้วเจาะรูสำหรับต่อท่อน้ำทิ้งที่ลงมาจากหลังคาห้องครัวด้วยวงเวียนคัตเตอร์ แล้วลองสอดท่อน้ำทิ้งลงไปให้พอดีนะครับอย่างกว้างกว่าท่อมากนักเพราะจะทำให้ ยุงและแมลงต่างๆ ขึ้นมาจากท่อได้

2. ทำช่องสำหรับระบายน้ำยามที่ต้องการล้างทำความสะอาดครัว โดยการทำเป็นบานเลื่อนที่สามารถเปิดปิดได้ เริ่มจากการเจาะช่องเป็นวงกลมด้วยวงเวียนคัตเตอร์ขนาดจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ก็ตามใจชอบเลยครับ แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ควรมีเส้นผ้านศูนย์กลางกว้างเกิน 4 นิ้ว เพราะจะทำให้ความแข็งแรงของแผ่นพลาสวูดลดลง

3. เริ่มการทำบานเลื่อนโดยตัดพลาสวูดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้กว้างกว่ารูวงกลม ที่เจาะไว้จากขั้นตอนที่2 ข้างละประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นทำบ่ารับบานเลื่อนโดยนตัดพลาสวูดเป็นแผ่นเล็กๆ สำหรับเป็นตัวบังคับบานเลื่อน และสำหรับเป็นบ่ากันไม่ให้หลาสวูดหลุดออกมา 2 ชิ้น

4. เมื่อได้ชิ้นส่วนตามต้องการแล้วก็มาเริ่มประกอบกันเลยครับ เริ่มจากนำแผ่นบานเลื่อนมาติดตั้งปุ่มสำหรับเป็นมือจับ ในที่นี้ผมใช้หมุดสแตนเลสซึ่งมีจำหน่ายที่โฮมโปรทุกสาขาครับ โดยเลื่อนแผ่นบานเลื่อนมายังตำแหน่งที่เหมาะสมและขันสกรูผ่านฐานรองลงไป สุดท้ายตามด้วยหัวหมุดสแตนเลสหมุนปิดเข้าไป ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้วครับดังรูปด้านล่าง

จากนั้นนำแผ่นบานเลื่อนมาทาบกับรูที่เจาะไว้ แล้วนำชิ้นที่ใช้รักษาระยะและบังคับบานเลื่อนมาจัดวางให้มีลักษณะดังรูปด้านล่างนี้

5. ยึดชิ้นส่วนเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้สกรูเกลียวปล่อยขันยึดอีกครั้งเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เนื่องจากชิ้นส่วนนี้อาจต้องโดนน้ำอยู่เป็นประจำหากยึดด้วยกาวร้อนเพียง อย่างเดียวอาจทำให้กาวเสื่อมสภาพได้เร็วและหลุดออกมาได้

6. ถึงตอนนี้เราก็จะได้ช่องที่เป็นบานเลื่อนที่สามารถเลื่อนเปิดและปิดได้สะดวกสบายคุณแม่บ้านไปเลย

หวังว่าเทคนิคเล็กๆ นี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เล็กๆ แต่ใหญ่สำหรับบางคนโดยเฉพาะผมได้นะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าครับ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Electronics Arts Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

กระถางต้นไม้สื่ออารมณ์

มาฝึกให้เด็กๆ สนุกกับการดูแลต้นไม้ในบ้าน ไม่ให้เหี่ยวเฉาด้วยโครงงานนี้ Emotional POT ที่เหมือนมีต้นไม้เป็นเพื่อน โดยมันจะแสดงหน้าเศร้าบอกเรายามที่ดินเริ่มแห้ง และยิ้มยามดินชุ่มชื้น

โครงงานนี้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยความชื่นชอบส่วนตัวจริงๆ ครับ เพราะการปลูกต้นไม้ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลายยามละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี และก็เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงรู้สึกเช่นเดียวกันที่สำคัญหากทำไว้ให้เด็กๆ ได้เล่นก็น่าจะเป็นของเล่นที่สอนให้พวกเขาได้รู้จักฝึกดูแลต้นไม้ได้อีกด้วย

เจ้า Emotional POT นี้ใช้หลักคิดง่ายๆ คือ เราจะตรวจสอบสภาพของดิน เมื่อดินชื้นจะให้มันแสดงหน้ายิ้ม และเมื่อดินแห้งจะต้องแสดงหน้าเศร้าหรือบึ้งนั่นเอง โดยใช้อุปกรณ์มาต่อกันเป็นวงจรง่ายๆ ที่นักอิเล็กทรอนิกส์มือใหม่และเก่าทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพื่อทำหน้าที่ตรวจจับความต้านทานของดิน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาออกแบบหน้าตากันเสียก่อนว่าจะให้ยิ้มยังไง และบึ้งแบบไหนจะได้รู้ว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง

การออกแบบหน้าตา
สำหรับตัวต้นแบบผมใช้ LED แบบความสว่างสูงสีฟ้านำมาจัดเรียงกันบนแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบจุดไข่ปลาขนาดเล็กดังรูปที่ 1 จากนั้นบัดกรีขา K (แคโทด) ของ LED ทุกดวงเข้าด้วยกัน ส่วนขา A (แอโนด) บัดกรีแยกเป็นชุด จะได้ LED ทั้งหมด 5 ชุด ดังรูปที่ 2 เมื่อทำหน้าตาเสร็จแล้วก็มาดูวงจรที่จะใช้งานกันสักนิดนะครับ ดังรูปที่ 3

การทำงานของวงจร

วงจรนี้จะอาศัยทรานซิสเตอร์ Q1 และ Q2 เป็นตัวควบคุมการทำงานโดยที่จุด P ทั้งสองจุดจะถูกปักลงดิน โดยหากดินแห้งก็จะมีความต้านทานมาก กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านดินที่จุด P ได้ ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้ขา B ของ Q2 แทน ทำให้ Q2 ทำงานขับ Ry1 ให้ทำงาน รีเลย์ทำการต่อหน้าสัมผัส NO จ่ายไฟให้กับ LED 4 ดวงของชุดที่แสดงหน้าบึ้ง
ในทางกลับกันหากดินมีความชื้นค่าความต้านทานในดินต่ำ จึงมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจุด P ไปเข้าขา B ของ Q1 ทำให้ Q1 ทำงานและ Q2 จึงหยุดทำงาน หน้าสัมผัสของรีเลย์จึงกลับมาอยู่ที่ NC ซึ่งมีแรงดันจ่ายไปยัง LED 4 ดวงที่แสดงเป็นหน้ายิ้ม สำหรับความไวในการตรวจจับความชื้นปรับได้จาก VR1 ส่วน LED อีก 3 ชุดที่เหลือไม่มีผลใดๆ ต่อการทำงานของวงจรครับ เพราะมันจะติดตลอดเวลาที่เราจ่ายไฟเข้าวงจร

การติดตั้งอุปกรณ์ลงแผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์

เนื่องจากโครงงานนี้มีอุปกรณ์ไม่มาก จึงไม่ต้องเสียเวลาทำแผ่นวงจรพิมพ์ โดยวงจรตรวจจับความชื้นตัวต้นแบบนี้ผมใช้แผ่นวงจรพิมพ์เอนกประสงค์แบบไอซีบอร์ดมีลักษณะเป็นลายทองแดงแบ่งเป็นแถวยาวหลายแถว โดยมีจุดที่ต้องทำให้ลายทองแดงขาดจากกัน 3 จุด อยู่ใต้ตัวถังของรีเลย์ และจุดเชื่อมต่อที่เป็นเส้นสีดำตามรูปที่ 4 ใช้เศษขาอุปกรณ์ก็ได้ นอกนั้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับให้ดูการวางอุปกรณ์ตามรูปที่ 4 ได้เลย เมื่อบัดกรีอุปกรณ์เรียบร้อยแล้วให้ตรวจดูความเรียบร้อย

โดยเฉพาะช่องระหว่างลายทองแดงที่มักจะมีเศษตะกั่วจากการบัดกรีไปติดอยู่ อาจใช้แปรงขัดออกก็ได้ ต่อไปทำการเชื่อมแผงวงจรส่วนหน้าเข้ากับส่วนควบคุมด้วยสายแพ 6 เส้น โดยเผื่อความยาวของสายแพให้เท่ากับความสูงของกระถางก็เป็นอันเรียบร้อย พร้อมรับการทดสอบ

ทดสอบการทำงานของวงจร

เริ่มทดสอบโดยการนำอะแดปเตอร์ไฟตรง 6 ถึง 9V มาต่อเพื่อจ่ายไฟ LED จำนวน 4 ชุดคือ คิ้วซ้าย,คิ้วขวา,ตา+กึ่งกลางปาก และ หน้าบึ้ง จะต้องติด และเมื่อนำปลายสายของจุด P มาสัมผัสกัน LED ชุดปากยิ้มจะติดแทน แสดงว่า วงจรพร้อมทำงานแล้วครับ ต่อไปก็เป็นการสร้างกระถางน่ารักๆ ให้วงจรพักพิง

การสร้างกระถางต้นไม้
ในขั้นตอนนี้ผมถือว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความอดทนพอสมควร แต่โชคดีที่ในโลกนี้มีพลาสวูด จึงทำให้งานของผมเสร็จได้อย่างรวดเร็ว มาเริ่มกันเลยครับ
(1) นำพลาสวูดหนา 5 มม. ขนาด A4 ที่ซื้อมาจาก TPE Shop ตัดตามแบบดังรูปที่ 5 นำชิ้นส่วนที่เป็นผนังของกระถางทั้ง 4 ชิ้นมาเฉือนขอบด้านข้างด้วยคัตเตอร์ให้ได้มุมประมาณ 45 องศา จากนั้นเจาะช่องของชิ้น A ที่จะใช้เป็นด้านหน้า แล้วนำพลาสวูดทั้ง 4 ชิ้น (A, B, C และ D) มาประกอบกันโดยใช้กระดาษกาวแปะเพื่อช่วยประคองไว้ดังรูปที่ 6.3 จากนั้นยึดด้วยกาวร้อนหรือกาวตราช้างก็จะได้โครงสร้างกระถางที่แน่นหนา ต่อไปอุดร่องด้านในกระถางเพื่อเสริมความแข็งแรงด้วยกาวซิลิโคนสีขาวแบบแห้งเร็วดังรูปที่ 6.4 เสร็จแล้วรอให้ซิลิโคนแห้งประมาณ 1 ชั่วโมง
(2) นำพลาสวูดส่วนฐาน E มาบากเป็นร่องขนาด 5 x 20 มม. จากนั้นนำแผงวงจรแสดงอารมณ์และสายไฟสำหรับวัดความต้านทานในดินมาพาดไว้ที่ปากกระถางก่อน แล้วจึงวางแผ่นฐานลงไปในกระถางดังรูปที่ 7 โดยแผ่นฐานนี้จะไม่ลงไปสุดก้นกระถาง เพราะเราต้องการเหลือพื้นที่ส่วนล่างไว้ติดตั้งแผงวงจรควบคุมนั่นเอง จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แผ่นฐาน E ก็จะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรงของกระถางได้เป็นอย่างดี
(3) การสร้างห้องให้กับแผงวงจรแสดงอารมณ์ ให้ตัดแผ่น PVC สีขาวชนิดที่แสงผ่านได้ให้มีขนาดกว้างกว่าช่องด้านหน้าของผนังกระถางเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นแผ่นหน้ากากกรองแสง แล้วใช้กาวสองหน้าอย่างบางติดด้านในกระถางดังรูปที่ 8.1 ต่อไปติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ด้วยการนำแผ่นพลาสวูด F ที่มีรูปทรงเหมือนผนังกระถางแต่สั้นกว่า (ดูจากแบบรูปที่ 5) มายึดเข้ากับแผ่นพลาสวูด G ด้วยกาวร้อน จากนั้นใช้ดอกสว่านขนาด 3 มม. คว้านรูของแผ่นวงจรพิมพ์เพื่อให้สามารถสอดสกรูเกลียวปล่อยขนาดจิ๋วเข้าไปได้ จากนั้นก็ขันสกรูยึดแผงวงจรแสดงอารมณ์ดังรูปที่ 8.2 แต่อย่าให้แน่นมากเพราะจะทำให้แผ่นวงจรพิมพ์แตกหักได้ ต่อไปให้วางแผ่นพลาสวูด F ที่ติดตั้งแผงวงจรแสดงอารมณ์ให้ระยะห่างระหว่าง LED กับแผ่นPVC ห่างกันเล็กน้อยประมาณ 2 ถึง 3 มม. จากนั้นยึดด้วยกาวร้อน แล้วนำกาวซิลิโคนมาอุดตามร่องเพื่อความเรียบร้อยและกันน้ำรั่วซึมในกรณีที่นำกระถางไปปลูกพืชน้ำ
(4) การติดตั้งแผงวงจรควบคุมให้คว่ำกระถางลงแล้วใช้ดอกสว่าน 3 มม. คว้านรูแผ่นวงจรพิมพ์ จากนั้นนำสกรูเกลียวปล่อยตัวจิ๋วขันยึดเข้าไปได้เลย ต่อไปเจาะรูเพื่อติดตั้งตัวต้านทานปรับค่าได้และแจ็กอะแดปเตอร์ตัวเมียดังรูปที่ 9.2
(5) ทำฝาปิดด้านบนด้วยแผ่นพลาสวูด H ขนาด 3 x 8.9 ซม. และพลาสวูด i และ J เป็นขา 2 ข้างสำหรับเป็นตัวล็อกไม่ให้ฝาหลุดออกมาโดยง่าย นำมาประกอบกันด้วยกาวร้อนดังรูปที่ 10.1 เพียงเท่านี้คุณก็จะได้กระถางต้นไม้เล็กๆ น่ารัก ที่สร้างด้วยฝีมือตัวเองแล้วล่ะครับ
การนำไปใช้งานและปรับแต่ง
หาพรรณไม้สำหรับปลูกในร่ม เช่น ว่านต่างๆ บอน เฟิร์น พลูด่าง ฯลฯพรรณไม้พวกนี้จะไม่มีรากแก้วและไม่ต้องการแสงแดดมาก จึงเหมาะที่จะปลูกในร่ม การให้น้ำก็จะให้เมื่อดินแห้งเท่านั้น จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับโครงงานนี้
 
เมื่อเตรียมพรรณไม้แล้ว ก็นำดินปลูกใส่ลงในกระถาง ทำการเสียบแจ็กอะแดปเตอร์เข้าที่ด้านหลังกระถาง หากดินที่ใส่ลงในกระถางแห้ง กระถางจะต้องแสดงหน้าบึ้ง แต่หากพบว่าแสดงหน้ายิ้มอยู่ให้ค่อยๆ ปรับตัวต้านทานปรับค่าได้ด้านหลังกระถาง เพื่อปรับความไว้ในการตรวจจับว่าต้องการให้ดินแห้งขนาดไหนจึงจะแสดงหน้าบึ้ง ในทางตรงกันข้ามเมื่อลองฉีดน้ำ (แนะนำให้ใช้กระบอกฉีดเอานะครับเพราะหากใช้วิธีรดน้ำอาจมีปริมาณน้ำมากเกินไปทำให้ต้นไม้เฉาได้) กระถางจะแสดงหน้ายิ้มก็เป็นอันสำเร็จพร้อมใช้งาน จากนั้นนำพรรณไม้ลงปลูกได้เลยครับ
ทิ้งท้ายอีกนิดครับ จากหลักการทำงานของวงจร ท่านสามารถนำวงจรนี้ไปใช้ในงานระบบใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน เพราะโครงงานนี้ใช้รีเลย์เป็นตัวจ่ายไฟให้ LED ดังนั้นหากเปลี่ยนจากการจ่ายไฟให้ LED เป็นจ่ายให้ปั้มน้ำขนาดเล็กแทนเพื่อรดน้ำต้นไม้ในสวนหน้าบ้านของคุณก็ย่อมได้ แต่อย่าลืมว่า ปั้มน้ำต้องการกระแสไฟฟ้าสูงกว่า LED มาก ดังนั้นต้องคำนึงถึงการทนกระแสที่หน้าสัมผัสของรีเลย์ด้วย ขอให้ทุกท่านสนุกกับการปลูกต้นไม้ครับ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Gadget Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

อุปกรณ์ป้องกันน้ำล้นบ่อปลา

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการจัดสวนหย่อมหน้าบ้านขนาดเล็ก โดยเฉพาะสวนน้ำและเลี้ยงปลาไว้ในบ่อสำเร็จรูป (บ่อที่ซื้อมาวางแล้วใส่น้ำใช้ทันที) คงจะทราบกันดีว่ายามเข้าสู่ฤดูฝน ให้ทุกข์ใจกับปัญหาน้ำล้นบ่อเป็นยิ่งนัก สาเหตุที่ทุกข์ใจน่ะหรือครับ ก็เมื่อฝนตกมากๆ ปริมาณน้ำในบ่อปลาที่เพิ่มขึ้นทำให้เจ้าปลาตัวน้อยๆ แทนที่จะแหวกไว้ในบ่อปลามันดันออกมาว่ายบนพื้นดินซะอย่างนั้น ดูแล้วมันคงไม่สนุกเท่าไหร่มั้ง

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่นี้จะช่วยคุณได้ เพราะมันใช้อุปกรณ์บ้านๆ มาช่วยในการรักษาระดับน้ำในบ่อให้อยู่ในระดับที่เราต้องการได้ โดยมันจะทำการสูบน้ำออกเมื่อปริมาณน้ำในบ่อเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับที่เรากำหนด งานนี้ไม่มีไมโครฯ ไม่ต้องเขียนโปรแกรม ทำให้คุณพ่อบ้านอย่างเราๆ ก็ลงมือสร้างให้เสร็จได้ภายในเวลาอันสั้น (หากอุปกรณ์ครบ) โดยมีโครงสร้างง่ายๆ ดังรูปที่ 1 เห็นแล้วเป็นต้องร้อง อ๋อ..

หลักการทำงาน
เมื่อระดับน้ำอยู่ในระดับปกติ สวิตช์ปรอทจะยังไม่ต่อวงจร ทุกอย่างจึงเงียบสงบ ปั้มน้ำไม่ทำงาน แต่เมื่อระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นทำให้ลูกปิงปองที่ฝังสวิตช์ปรอทไว้ลอยสูงขึ้น ส่งผลให้สวิตช์ปรอทอยู่ในแนวตั้งจึงมีกระแสไฟฟ้าไหลไปจ่ายให้กับรีเลย์เพื่อทำการต่อหน้าสัมผัส ทำให้ปั้มน้ำทำงานสูบน้ำออกจากบ่อ จนระดับน้ำเริ่มลดลงถึงระดับที่ต้องการ ลูกปิงปองก็ค่อยๆ ลดระดับตามผิวน้ำลงมา ทำให้สวิตช์ปรอทกลับมาอยู่ในแนวนอนจึงไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายให้รีเลย์ ปั้มน้ำจึงหยุดทำงานตามไปด้วยดังรูปที่ 1 

ต่อไปมาดูการสร้างกันเลยครับ

การสร้าง
(1) เริ่มด้วยการทำลูกลอยที่ถือว่าเป็นพระเอกของงานนี้ โดยนำลูก

ปิงปองหรือบอลพลาสติกอะไรก็ได้ที่ลอยน้ำได้ ในที่นี้ผมใช้ลูกกอล์ฟเด็กเล่น ซึ่งเป็นพลาสติกด้านในกลวงคล้ายลูกปิงปอง เจาะรูให้กว้างพอที่จะสอดสวิตช์ปรอทเข้าไปได้

(2) ตัดขาสวิตช์ปรอทให้เหลือความยาวประมาณ 3 มม. จากนั้นนำสายชีลด์สเตอริโอ (เส้นเล็ก) มาบัดกรีเข้ากับขาของสวิตช์ปรอทแล้วหุ้มด้วยท่อหดดังรูปที่ 2.1 เพื่อกันขาช็อตกัน จากนั้นหุ้มด้วยท่อหดขนาดใหญ่ดังรูปที่ 2.2 แล้วสอดตัวสวิตช์ปรอทเข้าไปด้านในลูกปิงปองดังรูปที่ 2.3 โดยต้องให้สวิตช์ปรอทตั้งตรง แล้วใช้กาวซิลิโคนอุดรูไม่ให้น้ำเข้าได้ รอให้กาวแห้งก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำลูกลอยครับ

(3) เตรียมอุปกรณ์สำหรับทำท่อตรวจสอบระดับดังรูปที่ 3 ความยาวของท่อ PVC ขนาด 4 นิ้วนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความลึกของบ่อปลา โดยตัดให้สูงกว่าระดับน้ำของบ่อประมาณ 20 ซม. หรือเผื่อสูงกว่านั้นก็ได้

(4) ทำร่องสำหรับปรับระดับลูกลอยโดยนำท่อ PVC 4 นิ้ว มาเซาะเป็นร่องยาวประมาณ 25 ซม. กว้าง 3 มม. สำหรับร้อยนอตขนาด 3×15 มม. ดังรูปที่ 4.2 จากนั้นนำฝาครอบมาสวมด้านล่างแล้วเจาะรูระบายน้ำ โดยเจาะให้เหนือขอบของฝาครอบขึ้นมาจะได้รูสำหรับระบายน้ำดังรูป 4.3

(5) นำชุดลูกลอยมาพันยึดกับสรู 3×15 มม. โดยใช้นอตตัวเมียล็อกตำแหน่งดังรูปที่ 5.1 จากนั้นนำไปติดตั้งในท่อตรวจสอบระดับน้ำดังรูปที่ 5.2 แล้วล็อกตำแหน่งที่เราต้องการตรวจจับระดับน้ำด้วยนอตตัวเมียดังรูปที่ 5.3 ส่วนปลายสายสอดขึ้นด้านบนรอการต่อวงจร

(6) วางปั้มน้ำลงไปในฝาครอบด้านล่างดังรูปที่ 6.1 ตัดหัวปลั๊กออกแล้วเดินสายไฟพร้อมสายยางน้ำออกขึ้นมาด้านบน จากนั้นติดตั้งกะบะถ่าน AA 4 ก้อนและรีเลย์ 5V ไว้ภายในฝาครอบด้านบนยึดด้วยปืนกาวดังรูปที่ 6.2 จากนั้นเจาะรูสอดชุดปลั๊กสายไฟแล้วทำการต่อวงจรตามรูปที่ 1 เมื่อต่อวงจรเสร็จแล้วควรใช้กาวซิลิโคนหยอดทับจุดต่อของไฟ 220Vac และตัวรีเลย์ให้มิดชิดเพื่อป้องกันอันตรายในกรณีที่เมื่อนำไปวางในบ่อแล้วอุปกรณ์ของเราเกิดล้มลงในน้ำ ปิดท้ายด้วยการใส่แบตเตอรี่ AA จำนวน 4 ก้อนลงไปในกะบะถ่าน ดังรูปที่ 6.3

(7) ยึดสายไฟเข้าด้วยปืนกาว เจาะรูสอดท่อปั้มน้ำออกมาด้านบน ก็เป็นอันเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน

จากขั้นตอนการสร้างที่ผ่านมาหากมีภาพไหนที่ไม่ชัดหรือยังนึกไม่ออกแนะนำให้ย้อนไปดูรูปที่ 1 ครับ

การใช้งาน
เพียงหาตำแหน่งเหมาะๆ เพื่อนำเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ลงไปวางในบ่อปลาในวันฝนตก โดยแนะนำให้นำหินก้อนใหญ่ๆ วางทับด้านบนไม่ให้อุปกรณ์ของเราล้มได้ แล้วเสียบปลั๊กทิ้งไว้ เมื่อฝนตกลงมาในบ่อจนระดับน้ำสูงขึ้นถึงระดับที่ลูกลอยยกตัวขึ้นดังรูปที่ 8 ปั้มน้ำก็จะเริ่มทำการสูบน้ำออกจากบ่อทันที

ข้อควรระวัง
เนื่องจากโครงงานนี้ผมนำไปควบคุมปั้มน้ำ 220Vac ก่อนทำการปรับแต่งหรือแก้ไขส่วนหนึ่งสวนใดของอุปกรณ์ ต้องถอดปลั๊กไฟออกก่อนทุกครั้ง และไม่ควรวางอุปกรณ์ทิ้งไว้เป็นการถาวรเพราะสภาพแสงแดดที่ร้อนจัดตอนกลางวันและน้ำในบ่ออาจส่งผลให้เกิดละอองน้ำ (การควบแน่น) จับภายในสวิตช์ปรอทและรีเลย์ได้หากกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยจากไฟ 220Vac คุณก็สามารถหาซื้อปั้มน้ำ 12V ที่ใช้กับที่ฉีดน้ำปัดกระจกในรถยนต์มาใช้ได้ โดยใช้อะแดปเตอร์ 12V ต่อแทนปลั๊กไฟบ้านได้เลย

การประยุกต์ใช้งาน
คุณสามารถนำเทคนิคของโครงงานนี้ไปใช้กับงานที่ต้องการรักษาระดับน้ำได้ 

• นำไปใช้เป็นลูกลอยอิเล็กทรอนิกส์เพื่อตัดต่อโซลินอยด์วาล์วแทน
ลูกลอยแบบเดิมที่มักจะมีปัญหาลูกยางเสื่อมกั้นน้ำไม่อยู่
• วัดระดับน้ำของเครื่องซักผ้าแบบฝาบน (สำหรับเครื่องซักผ้ารุ่นเก่า) โดยทำก้านติดตั้งลูกลอยกับฝาปิดเครื่องซักผ้าควบคุมโซลินอยด์วาล์วให้ปิดน้ำเมื่อถึงระดับที่เราต้องการก็ได้
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโครงงานง่ายๆ (แต่ใช้จริง) ที่คัดสรรมาให้ได้ลับฝีมือเชิงช่างกันเป็นประจำ แต่ไม่ว่าโครงงานจะง่ายแค่ไหนก็อย่าลืมเรื่องความปลอดภัยไว้ก่อนนะครับ

**********************************************
รายการอุปกรณ์
**********************************************

– ท่อ PVC 4 นิ้ว ยาว 50 ซม. หรือขึ้นอยู่กับความลึกของบ่อ
– ฝาครอบ 4 นิ้ว
– ปั้มน้ำ 220V ขนาดที่ใส่ในท่อ PVC 4 นิ้วได้ พร้อมสายยาง
– รีเลย์ 5V 5A
– กะบะถ่านขนาด AA 4 ก้อน แบบมีสายต่อ
– สวิตช์ปรอท
– ลูกปิงปอง
– สายชีลด์สเตริโอขนาดเล็กหรือสายไฟอ่อนๆ
สำหรับทำสายสวิตช์ลูกลอย
– สายไฟสำเร็จพร้อมปลั๊ก
– ท่อหดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 มม. ยาว 1 ฟุต
– สกรู 3×15 มม. 1 ตัว
– นอต 3 มม. จำนวน 3 ตัว
– กาวซิลิโคนใสสำหรับหยอดทับอุปกรณ์เพื่อกันน้ำ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Fixit (ซ่อมได้) Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

แก้ปัญหาชักโครกกดไม่ลง

ปัญหาชักโครกกดไม่ลงแบบนี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยพบเจอเป็นแน่ แล้วคำว่ากดไม่ลงเนี่ยมันหมายถึงอะไร ส้วมเต็มหรือว่ามีสิ่งสกปรกอุดตัน หากเป็นอย่างที่กล่าวมา มันขำๆ ครับ

เพราะเห็นกันอยู่ว่า หากส้วมเต็มก็เรียกรถจากเขตหรือเทศบาลมาสูบออก และหากมีสิ่งสกปรกอุดตัน ก็อาจใช้น้ำยาอย่างโซดาไฟ หรือน้ำหมักชีวภาพเทราดลงไปเพื่อช่วยย่อยสลายสิ่งสกปรกต่างๆ ได้

แต่ที่จะมาแนะนำ และบอกเล่ากันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะผู้เขียนเองก็ประสบปัญหานี้และก็ได้ลองทำแล้วพบว่าสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้จริงๆ ครับ

ปัญหานี้เกิดจากการวางแนวท่อระบายอากาศตั้งแต่ตอนติดตั้งของช่าง เช่นปลายท่อวางไว้ใกล้พื้นดินมากเกินไป ทำให้ท่อระบายอากาศมีสิ่งสกปรกหรือสัตว์เลื้อยคลายต่างๆ เข้าไปอาศัยอยู่ทำให้เกิดการอุดตันจึงไม่สามารถระบายอากาศได้ดี ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกับบ้านทาวน์เฮ้าส์ ทาวโฮม จึงทำให้เมื่อกดชักโครกแล้วอากาศระบายไม่สะดวกเกิดน้ำเออขึ้นมาในอ่างชักโครก โดยขั้นตอนการแก้ไขก็ง่ายมากๆ ให้สังเกตุที่ฐานของชักโครก จะมีช่องเล็กๆ ที่ถูกอุดด้วยปูนยาแนว ซึ่งปกติแล้วช่องเล็กๆ นี้ ผู้ผลิตออกแบบไว้สำหรับใช้สกรูหรือพุกยึดกับพื้นห้องน้ำเพื่อความแน่นหนา ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ฝั่งละหนึ่งรู ดังรูปด้านล่าง เจ้ารูนี้แหละครับที่ช่างส่วนใหญ่ใช้ปูนยาแนวอุดเอาไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้น๊อตหรือสกรูเจาะยึดให้เรา เลยกลายเป็นเรื่องดีรึเปล่าอันนี้แล้วแต่จะมองนะครับ โดยหากช่างไม่ได้ยึดไว้ก็ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากรูที่ว่านี้มาช่วยระบายอากาศได้อีกทางครับ

 

วิธีเปิดรูก็ง่ายมากๆ ใช้เพียงตะปูหนึ่งตัวและค้อนหนึ่งอัน จากนั้นค่อยๆ นำค้อนตอกตะปูลงไป จนเป็นรูดังรูปด้านล่างนี้ครับ อ๊ะๆ แต่หากตอกลงไปแล้วรู้สึกว่ามันแข็งก็แสดงว่าเจอหัวสกรูเข้าให้แล้วดังนั้นหากเจอหัวสกรูที่ยึดชักโครกกับพื้นอยู่ก็อย่าฝืนทำต่อนะครับเดี๋ยวชักโครกจะแตกเอาเสียก่อน

 

หากเจาะได้แล้วก็เอาแค่รูเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้วครับ จากนั้นทดลองกดชักโครกดู จะได้ยินเสียงลมเคลื่อนตัวออกจากรูนี้ และน้ำก็จะไหลลงได้ดีขึ้น

เตือนอีกครั้ง
นี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ความจริงแล้วรูนี้ต้องปิดไว้นะครับ เพราะมันเป็นรูที่อยู่ติดกับท่อทิ้งสิ่งปฏิกูลทั้งหลายที่จะไหลลงไปในถัง แต่ที่เราต้องเจาะรูก็เพราะมันสุดวิสัย 

สุดท้ายอย่าลืมตามช่างมาแก้ไขท่อระบายอากาศให้เรียบร้อย

หมายเหตุ. บางคนพบปัญหาน้ำไหลย้อนขึ้นมาจากรูที่เจาะนี้ ดังนั้นจึงควรเจาะรูเท่าตะปูแค่รูเดียวเท่านั้นหากเจาะมากกว่านี้ อาจทำให้แก้ไขได้ลำบาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Categories
Fixit (ซ่อมได้) Home & Garden คุณทำเองได้ (DIY)

3 ขั้นตอนการดัดขึ้นรูปพลาสวูดด้วยความร้อน

จากที่ได้แนะนำกันไปในบทความ “พลาสวูดวัสดุสำหรับงานต้นแบบ” ว่ามันคือวัสดุสำหรับการสร้างงานต้นแบบที่ใช้ทำโครงสร้างได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณสมบัติเป็น PVC (Poly Vinyl Chloride) จึงทำให้มันสามารถดัดขึ้นรูปได้

ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาสาธิตการดัดพลาสวูด ด้วยไดร์เป่าลมร้อนกันครับ โดยวิธีการนี้ผมเคยใช้สร้างต้นแบบมาหลายครั้งแล้ว นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ได้รูปทรงของชิ้นงานที่โค้งมนตามความต้องการ

สำหรับพลาสวูดที่จะนำมาดัดนั้น ผมใช้พลาสวูดหนา 5 มม. เพราะต้นแบบที่ผมทำไม่ว่าจะเป็นหลังคาของห้องน้ำแมว, กล่องโครงสร้างของวาล์วเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ, แจกัน ฯลฯ ล้วนเป็นต้นแบบที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงสามารถใช้พลาสวูดที่มีความหนาเพียง 5 มม. ได้ เรามาดูวิธีกันเลยครับ

วิธีการดัดพลาสวูด

1. ใช้ไดร์เป่าลมร้อน(ไม่ใช่ไดร์เป่าผม) ไล่เป่าให้ทั่วบริเวณที่เราต้องการดัดดังรูปที่ 1 จนพลาสวูดเริ่มอ่อนตัว

2. จากนั้นก็เริ่มพับพลาสวูดด้วยความรวดเร็วให้ได้องศาตามต้องการ โดยอาจใช้ท่อน้ำเป็นตัวช่วยประคอง ไม่ให้พลาสวูดบิดตัวดังรูปที่ 2

3. ประคองพลาสวูดเอาไว้จนกว่าพลาสวูดจะเย็นตัว เพียงแค่นี้คุณก็จะได้ชิ้นงานพับขึ้นรูปตามต้องการแล้วครับ

นี่ก็เป็นอีกเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่จะมีมาเล่าให้อ่านกันเป็นประจำกับ www.inventor.in.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Exit mobile version